วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สุภาษิต-สำนวนไทยเกี่ยวกับสัตว์

 

รวมสำนวน สุภาษิต-สำนวนไทยเกี่ยวกับสัตว์

กา

กาเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป หมายถึง สูญหายไปในทันที

กาหลงรัง หมายถึง ผู้ที่หลงติดอยู่บ้านใดบ้านหนึ่งแล้วไม่ยอมกลับบ้านตน, คนเร่ร่อน

กาหน้าดำเขาจำหน้าได้ หมายถึง คุ้นเคยกันจนจำได้ถนัดชัดเจน แม้จะห่างหายไปนาน

กาตาแววเห็นธนู หมายถึง ขี้ขลาด, กลัว

กาคาบพริก หมายถึง คนผิวดำแต่งตัวด้วยชุดสีแดง


กระต่าย

กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ชายหนุ่มที่หมายปองหญิงสาวที่มีฐานะสูงกว่าตน

กระต่ายสามขา หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับผิด

กระต่ายแหย่เสือ หมายถึง การล้อเล่น ท้าทายผู้ที่มีอำนาจบารมีมากกว่า อาจทำให้เกิดอันตรายได้

กระต่ายตื่นตูม หมายถึง ตกใจเกินเหตุโดยไม่สำรวจให้ถ่องแท้ก่อน


กบ

กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังบัญชาไปเรื่อยๆ ไม่ถูกใจสักที

กบในกะลาครอบ หมายถึง คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์

กบเกิดใต้บัวบาน หมายถึง อยู่ใกล้สิ่งที่ดีงามแต่กลับไม่รู้ค่า

 

ไก่

ไก่ได้พลอย หมายถึง ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เปรียบกับไก่เวลาที่มันคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดกรวดหินดินทราย หรือเพชรพลอยก็ไม่มีค่าสำหรับไก่

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง  หมายถึง คนเราจะสวย หล่อ ดูดีได้ ต้องรู้จักการแต่งเนื้อแต่งตัว เปรียบกับไก่ที่ไม่ได้สวยเพราะเนื้อหนัง แต่สวยด้วยขนของมัน

ไก่รองบ่อน หมายถึง ผู้ที่อยู่ในฐานะตัวสำรอง จะเรียกมาใช้เมื่อไรก็ได้

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้เรื่องราวความลับของอีกฝ่าย

ไก่แก่แม่ปลาช่อน หมายถึง กล่าวถึงผู้หญิงที่ค่อนข้างมีอายุที่มีเล่ห์เหลี่ยม มีกริยาจัดจ้าน

ลูกไก่อยู่ในกำมือ หมายถึง ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจไม่มีทางหนีหรือต่อสู้ได้

 

กิ้งก่า

กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง อวดดีจนลืมฐานะตัวเอง ได้ดีแล้วลืมตัว

 

วัว

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี หมายถึง เมื่อลูกทำผิดควรอบรบสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน ทำโทษบ้างตามสมควร

วัวหายล้อมคอก หมายถึง คิดป้องกันเมื่อเสียหายไปแล้ว

วัวลืมตีน หมายถึง คนที่ได้ดีแล้วลืมตัว

วัวแก่เคี้ยวหญ้าอ่อน หมายถึง ชายแก่ได้สาวรุ่นเป็นภรรยา

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หมายถึง ความเดือดร้อนที่เกิดซ้ำซ้อนขึ้นมา

ตีวัวกระทบคราด หมายถึง การกระทำสิ่งใดเพื่อให้กระเทือนอีกฝ่าย เนื่องจากโกรธแต่ทำอะไรเขาโดยตรงไม่ได้

โตเป็นวัวเป็นควาย หมายถึง โตแล้วไม่มีความคิด

 

ควาย

สีซอให้ควายฟัง หมายถึง สอนความดีให้คนโง่ฟัง แต่ก็ไม่มีประโยชน์

ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว หมายถึง ซื้อของเมื่อมีคนต้องการมาก ย่อมได้ของราคาแพง

เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน หมายถึง ยุยงสองฝ่ายให้มีเรื่องกัน

อยู่บ้านท่านอย่างนิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น หมายถึง พึ่งพาอาศัยใครก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

 

งู

ขว้างงูให้พ้นคอ หมายถึง ปัดเรื่องร้ายไม่พ้นตัว

จับงูข้างหาง หมายถึง ทำสิ่งที่อันตรายจะเกิดกับตัวเองได้

เฒ่าหัวงู หมายถึง คนแก่เจ้าเล่ห์

หมองูตายเพราะงู หมายถึง พลาดพลั้งในสิ่งที่ชำนาญ

ล้วงคองูเห่า หมายถึง บังอาจลักขโมยทรัพย์สินจากผู้น่าเกรงขามหรือมีอิทธิพล

ตีงูให้กากิน หมายถึง การลงทุนลงแรงทำสิ่งใดแล้ว แต่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ผลประโยชน์กลายเป็นของคนอื่น แล้วตัวเองกลับได้ผลร้ายหรืออันตราย

 

จระเข้

จระเข้ขวางคลอง หมายถึง ทำอะไรขัดขวางผู้อื่น

จระเข้ฟาดหาง หมายถึง ใช้อำนาจหรือกำลังระรานโดยไม่เลือกหน้า

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ หมายถึง สอนผู้ที่รู้และมีความชำนาญในเรื่องนั้นดีอยู่แล้ว

หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง หนีไปพบอันตรายที่ร้ายพอกัน

น้ำตาจระเข้ หมายถึง ความทุกข์โศกของผู้มีอำนาจที่ไม่อาจแสดงออกมาให้ใครเห็น

 

ช้าง

ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง ลงทุนทำการใหญ่โตเกินสมควร

ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หมายถึง การทำความชั่วหรือความผิดร้ายแรงแม้จะพยายามกลบเกลื่อนปกปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด ต้องมีคนรู้จนได้

เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง หมายถึง ทำตามอย่างเขาเรื่อยไป

อ้อยเข้าปากช้าง หมายถึง ของที่ผู้อื่นได้ไปแล้วเอาคืนได้ยาก

ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ หมายถึง ดูคนให้ดูจากเชื้อสาย

ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง ทำไม่รู้เรื่อง ประหยัดที่ควรจ่าย จ่ายที่ควรประหยัด

 

นก

นกปีกหัก หมายถึง ตกอยู่ในสภาพพลาดพลั้งหรือลำบาก

นกสองหัว หมายถึง ทำตัวเข้าเป็นพวกทั้งสองฝ่าย

ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว หมายถึง ทำงานอย่างเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว หมายถึง ทำอะไรพอเหมาะกับฐานะหรือความสามารถของตน

ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ หมายถึง ว่าอะไรว่าตามกัน

นกมีหู หนูมีปีก หมายถึง คนกลับกลอกเข้าพวกได้ทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของตน

ลูกนกลูกกา หมายถึง คนที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

นกไร้ไม้โหด หมายถึง คนที่ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัยของใคร

 

ปลา

จับปลาสองมือ หมายถึง ทำสองฝักสองฝ่ายไม่แน่นอนข้างใด

น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา หมายถึง เป็นทีหรือเป็นโอกาสคนละครั้ง

(ปลา)กระดี่ได้น้ำ  หมายถึง อาการระริกระรี้ดีใจจนเกินงาม

ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง เป็นอันตรายเพราะคำพูดตัวเอง

ตีปลาหน้าไซ หมายถึง การพูดหรือการกระทำที่ทำลาย ขัดขวาง ผลประโยชน์ของผู้อื่น ทำให้กิจการที่ผู้อื่นกำลังดำเนินไปด้วยดีต้องหยุดชะงัก

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หมายถึง ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้ที่ด้อยกว่า

 

แมว

แมวไม่อยู่หนูร่าเริง หมายถึง หัวหน้า ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ไม่อยู่ ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้น้อยเลยร่าเริงกัน

ย้อมแมวขาย  หมายถึง เอาของเลวไปแปลงหลอกว่าเป็นของดี

 

ลิง

ยื่นแก้วให้วานร หมายถึง เอาของดีมีค่าไปยื่นกับผู้ที่ไม่รู้คุณค่า

ลิงหลอกเจ้า หมายถึง กิริยาล้อเลียนผู้ใหญ่เมื่อผู้ใหญ่เผลอ

ลิงได้แก้ว หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่ได้มาหรือที่มีอยู่

 

เสือ

เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ขู่ให้กลัว

จับเสือมือเปล่า หมายถึง ทำการโดยไม่ต้องลงทุน

ปากเสือปากจระเข้ หมายถึง ท่ามกลางอันตราย

รู้ว่าเสืออย่าเอาเรือเข้าไปจอด รู้ว่ามอดอย่าเอาไม้เข้าไปขวาง หมายถึง กระทำในสิ่งที่ไม่รู้ว่าอาจมีอันตรายมาถึงตัว ซึ่งการกระทำอาจเกิดจากความโง่เขลา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เสือไว้ลาย หมายถึง คนมีความสามารถ ทำอะไรย่อมแสดงฝีไม้ลายมือ

 

หมา

ชิงหมาเกิด หมายถึง ว่าคนที่เลวกว่าหมา

เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ทำตามคำผู้ใหญ่มักไม่ผิดพลาดหรืออันตราย

เล่นกับหมาหมาเลียปาก เล่นกับสากสากตีหัว หมายถึง เล่นกับเด็กๆ ย่อมลามปาม

หมาจนตรอก หมายถึง ไม่มีทางไป

หมาหมู่ หมายถึง ใช้พวกมากเข้ารุม

หมาหวงก้าง หมายถึง หวงผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ มาก

หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง ดีแต่พูดหรือแสดงท่าทางว่าตัวเองเก่ง แต่ไม่กล้าจริง

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ หมายถึง เรื่องย่อมมาจากมีสาเหตุขึ้นก่อน

หมากัดอย่ากัดตอบ หมายถึงอย่าโต้ตอบกับคนพาล

หมาลอบกัด หมายถึง ลอบทำร้าย

หมาเห่าไม่กัด หมายถึง ปากเก่ง ดีแต่พูด แต่ไม่ทำใคร

หุงข้าวประชดหมา หมายถึง ทำประชดให้เสียหายมากขึ้น

ขี้หมูราขี้หมาแห้ง หมายถึง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

 

หมู

ดินพอกหางหมู หมายถึง นิสัยที่ปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม เกียจคร้านไม่ยอมทำสิ่งนั้นให้สำเร็จโดยเร็ว จนในที่สุดก็พอกพูนจนทำสำเร็จได้ยาก

ยื่นหมูยื่นแมว หมายถึง แลกเปลี่ยนโดยมีของให้รับพร้อมๆ กัน

 

เต่า

ข้าเก่าเต่าเลี้ยง หมายถึง คนที่เคยรับใช้หรือเลี้ยงดูมานาน

โง่เง่าเต่าตุ่น หมายถึง โง่เหลือขนาด ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เต่าใหญ่ไข่กลบ หมายถึง ทำผิดแล้วพยายามกลบเกลื่อนปิดบังความผิดไม่ให้คนอื่นรับรู้

 

คน

คนดีผีคุ้ม หมายถึง คนทำดีย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา คอยคุ้มครอง ไม่มีภัย

คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หมายถึง การทำอะไรที่มีความเสี่ยงไม่ควรทำตามลำพัง

คนตายขายคนเป็น หมายถึง จัดงานศพใหญ่โตอาจทำให้สิ้นเปลืองจนถึงขั้นยากจน เดือดร้อนเพราะคนที่ตายไปแล้ว

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า หมายถึง คนที่มีความคิดเห็นสวนทางกัน คนไม่เคยเห็นเคยเจอก็อยากเห็นอยากเจอ คนที่เคยเห็นเคยเจอแล้วก็ไม่อยากอยู่ในสภาพนั้น

คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ หมายถึง คนรักมีน้อยกว่าคนที่เกลียดชัง

คนล้มอย่าข้าม หมายถึง อย่าดูถูกคนที่พลาดพลั้งหรือตกต่ำ

คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบหาสมาคมกับใครควรพินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อน

อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา หมายถึง ให้อภัยคนที่ขาดสติ

คนจรหมอนหมิ่น หมายถึง คนพเนจรไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง คบคนชั่วก็ถูกชักพาไปทำชั่ว คบคนดีก็จะพากันทำดี

 

 

เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5

เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5



ย้อนกลับไปเกือบ 150 ปีก่อน บนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในเอเชียอย่างยากที่จะยับยั้ง ความคิด”อย่างฝรั่ง” มีอิทธิพลมากถึงขนาดกลืนกลินวัฒนธรรมในบางประเทศไปจนหมดสิ้น ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดอ่าน และตั้งรับเรื่องนี้ด้วยการให้เหล่าราชวงศ์ทั้งผู้น้อง พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ทุกองค์ เล่าเรียนภาษาอังกฤษให้แตกฉาน ซึ่งอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงถือเป็นกษัตริย์ในทวีปเอเชียคนหนึ่งเลยทีเดียว ที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามเมื่อพระองค์ทรงพบปะกับกษัตริย์ และพระราชินีของประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสามารถตรัสสนธนาได้อย่างเป็นกันเอง และสนิทสนมกับเหล่าบรรดาเชื้อพระวงศ์ตะวันตกอย่างแน่นแฟ้น อันนำเอาประโยชน์ต่างๆ มาสู่สยามมากมาย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน เป็นครูและลูกศิษย์ที่มีความผูกพันธ์กันตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงพระเยาว์ แต่ด้วยความที่เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เมื่อคราวโตขึ้น แม้ทั้งคู่จะนัดแนะเจอกันสักขนาดไหน ก็มีเหตุให้การพบปะกันนั้นต้องเป็นการล้มเหลวไปทุกครั้งจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งต้องจบชีวิตไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้พบหน้ากันเลย สร้างความโศรกเศร้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้ทรงบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ “ความทรงจำ”พระนิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลังจากที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จกลับจากการประพาสอินเดีย ได้ทรงริเริ่มความคิดขึ้นมาหนึ่งอย่าง คือในปี พ.ศ.2415 ทรงได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ อันเป็นความคิดที่ทรงดำริมานานแล้ว แต่ไม่สามารถหาครูผู้สอนได้ แต่ในเวลานั้น ได้มีครูชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางมาเยี่ยมน้าชายของเขาในสยาม เขาคนนั้นคือ นาย “ฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน” เขาผู้นี้คือหลานชายของหลวงรัถยาพิบาลบัญชา (กัปตัน Samuel Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษผู้รับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาการกองโปลิศ(กรมตำรวจ)ของสยามเป็นคนแรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบ ก็ทรงโปรดให้ว่าจ้างไว้เป็นครูนั่นเอง
ในเหล่าบรรดาลูกศิษย์ที่ได้ร่วมเรียนในเวลานั้นมีเชื้อพระวงศ์อยู่หลายพระองค์ รวมทั้งเหล่าบรรดามหาดเล็กด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าบรรดาเจ้านายผู้พี่ เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจต้องช่วยราชการ รวมไปถึงพวกบรรดามหาดเล็กก็ติดงานหน้าที่ ทำให้เหลือจำนวนนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด เหลือเพียงเจ้านายที่เป็นลูกศิษย์รัก (Favorite Pulpils) เพียง 4 พระองค์เท่านั้น อันได้แก่ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ, สมเด็จพระราชปิตุลาฯ,สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในช่วงแรกที่ทรงได้เปิดการเรียนการสอน ก็ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล เพราะศิษย์ก็ไม่เข้าใจภาษาของครู ครูก็ไม่เข้าใจภาษาของศิษย์ ต้องคอยเปิดหนังสือ “สัพพะพะวะจะนะ” อันเป็นพจนานุกรมที่สังฆราชปาลกัวทรงแต่งไว้ อย่างเป็นประจำ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าว่า มีครั้งหนึ่ง ท่านทรงได้แกล้งเพื่อนนักเรียน จนถูกครูแป๊ตเตอร์สันจับให้ยืนขึ้นบนเก้าอี้ที่มุมห้องเป็นเวลา 15 นาที ท่านเล่าว่าครั้งนั้นอาจถือเป็นครั้งแรกที่เด็กชาวไทยถูกทำโทษด้วยวิธีแบบฝรั่ง เมื่อเพื่อนนักเรียนต่างไม่เคยเห็น ก็พากันจ้องดูกันอย่างสนใจ พร้อมกับหัวเราะเยาะกันสนุกสนาน ด้วยความอับอายทำให้ท่านเหงื่อแตกโทรมไปหมดทั้งตัวหลังจากนั้นมาก็เข็ดหลาบ ไม่กล้าทำผิดอีกเลย
เมื่อเวลาล่วงเลยไป เจ้านายรุ่นพี่ทั้งสองพระองค์ก็เจริญพระชันษาขึ้น ต้องออกไปช่วยราชการบ้านเมือง ทำให้นักเรียนเหลือเพียง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรสรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนกระทั่งถึงปีระกา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงไปผนวชเป็นสามเณร ทำให้เหลือท่านเป็นลูกศิษย์รักของครูเพียงคนเดียวในท้ายที่สุด
เมื่อท่านเป็นลูกศิษย์ที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวทำให้ทรงใกล้ชิดกับครูแป๊ตเตอร์สันเป็นอย่างมาก เมื่อร่ำเรียนเสร็จแล้ว ครูแป๊ตเตอร์สันจะไปทำธุระที่ไหน หรือไปพบเพื่อนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบางกอกก็จะชักชวนให้พระองค์ทรงขึ้นรถไปด้วย ทำให้พระองค์ทรงคุ้นชินกับชาวต่างชาติตั้งแต่ในเวลานั้นเป็นต้นมา

เมื่อครบตามสัญญาการว่าจ้างที่ทำไว้กับสยาม 3 ปี ครูแป๊ตเตอร์สันก็ได้ออกจากสยาม และถูกรัฐบาลอังกฤษส่งไปเป็นครูที่เกาะมอรีเซียส ในมหาสมุทรอินเดียต่อไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของครูแป๊ตเตอร์สันอีกเลย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ในสมัยรัชกาลที่ ๖ อยู่ดีๆวันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงได้รับจดหมายจ่าหน้าถึงท่านว่า“ถึง พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” อันเป็นชื่อในวัยเด็กของท่าน คนที่ไปรษณีย์บางคนมีความรู้เรื่อง
ประวัติอยู่บ้าง จึงได้ทำการส่งมาให้ท่านถูก เมื่อเปิดซองทอดพระเนตรดูท่านก็ทรงดีใจเป็นอันมากเมื่อพบว่าเป็นจดหมายของครูชาวต่างชาติที่ท่านรักในวัยเด็ก ในจดหมายบอกเล่าเรื่องราวของครูแป๊ตเตอร์สันที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันตัวเขาได้เกษียณราชการและกลับไปอยู่ที่เกาะอังกฤษเรียบร้อยแล้วโดยได้อาศัยอยู่กับหลานชายที่เป็นนักพรตตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต อยู่ดีๆ นึกคิดถึงศิษย์เก่าในสยาม จึงได้ทำการเขียนจดหมายมาถามถึงว่า ศิษย์รักของท่านทั้ง 4 พระองค์ยังเป็นอยู่สบายดีรึเปล่า แต่ในเวลานั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และสมเด็จพระมหาสมณฯ ได้ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วเหลือแต่เพียงสมเด็จพระปิตุลาฯ และตัวท่าน ท่านจึงได้นำเอาจดหมายฉบับนั้นไปถวายสมเด็จพระปิตุลาฯ ทอดพระเนตร เมื่อสมเด็จพระปิตุลาฯทรงอ่านจดหมายก็ดีใจเป็นอันมาก ทรงได้เขียนจดหมายตอบ พร้อมพระรูป และเงินไปประทานเช่นเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง อีกทั้งท่านยังได้ทรงอธิบายไปถึงครูแป๊ตเตอร์สันในจดหมายว่า ปัจจุบันท่านใช้ชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนยศเมื่อทรงได้ช่วยราชการเมื่อเจริญพรรษาขึ้น ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ไม่นานก็มีจดหมายตอบจากครูแป๊ตเตอร์สันมาอีกครั้งว่า เสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ เพราะในปี 2434 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อนานมาแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ครูแป๊ตเตอร์สันกลับไปเยี่ยมบ้านที่อังกฤษพอดี มีข่าวครึกโครมว่ามีเจ้านายไทยพระองค์หนึ่งนามว่า “ปริ๊นซ์ ดำรง” ทรงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนได้ข่าวก็มาถามครูแป๊ตเตอร์สันว่ารู้จัก ปริ๊นซ์ ดำรง หรือไม่ ท่านก็ได้ตอบกลับไปว่า ไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่อปริ๊นซ์ ดำรงเลย และแสดงความเสียใจว่า “ไม่รู้เลย ว่าคือศิษย์รักของตัวเอง ถ้ารู้จะรีบไปหา” หลังจากนั้นพระองค์กับครูแป๊ตเตอร์สันก็ทรงเขียนจดหมายติดต่อกันเรื่อยมา

จนกระทั่งในปี 2473 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปพบครูรักของท่านในวัยเด็กให้ได้ ซึ่งเวลานั้นครูแป๊ตเตอร์สันมีอายุถึง 85 ปีแล้ว และอาศัยอยู่ที่เมืองคลอยส์เตอร์ กะว่าเมื่อไปพบจะทรงชวนฉายพระรูปฉายาลักษณ์ร่วมกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเด็ก เพื่อเอามาให้ลูกหลานของพระองค์ดู เมื่อท่านทรงเดินทางไปถึงกรุงลอนดอน เหล่าบรรดานักหนังสือพิมพ์ก็มารุมทำข่าว เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ ทุกคนถามท่านว่า “ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน” ท่านจึงได้ทรงตอบว่า เรียนในบ้านเมืองของตนเอง พวกนักหนังสือพิมพ์ก็พากันแปลกใจว่าใครไปสอนให้ ท่านจึงทรงตอบว่า
ชื่อมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แป๊ตเตอร์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันกลับมาอาศัยอยู่ที่เกาะอังกฤษแล้ว และจะทรงพยายามไปพบครูที่เมืองคลอยส์เตอร์ให้ได้ จากนั้นหนังสือพิมพ์จึงพากันตีพิมพ์ขึ้นสรรเสริญครูแป๊ตเตอร์สันกันอย่างแพร่หลายโด่งดังไปทั่วอังกฤษ จนกระทั่งพระองค์ทรงเสร็จสิ้นธุระในลอนดอน จึงได้ทรงให้อุปทูตติดต่อไปยังหลานชายของครูแป๊ตเตอร์สันที่เป็นนักพรต ว่าพระองค์มีพระประสงค์จะไปพบมิสเตอร์แป๊ตเตอร์สัน จะสะดวกวันใดบ้าง แต่คำตอบที่ได้ก็สร้างความตกใจให้พระองค์เป็นอย่างมาก หลานชายผู้เป็นนักพรตได้ตอบว่าตอนนี้ครูแป๊ตเตอร์สันประสบกับโรคชรา มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย และตั้งแต่ที่ได้ยินข่าวจาก
วิทยุว่าพระองค์ทรงเดินทางมาที่อังกฤษ ก็คิดจะบอกให้ครูแป๊ตเตอร์สันทราบ เพราะท่านทรงรักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาก แต่ด้วยที่มีอาการแทรกซ้อนมากเหลือเกิน จึงได้เอาไปปรึกษากับหมอก่อน ซึ่งหมอได้สั่งห้ามบอกครูเด็ดขาดเพราะเกรงว่าอารมณ์ความยินดีที่จะจู่โจมขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงทรงทราบดังนั้นก็จนใจ เพราะทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล หลังจากพระองค์ทรงออกจากกรุงลอนดอนมาได้ไม่นาน ก็ได้รับจดหมายจากนักพรตว่า ครูแป๊ตเตอร์สัน ถึงแก่กรรมแล้ว สร้างความโศรกเศร้าเสียใจให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก และเสียดายที่ไม่ได้พบครูที่ท่านรักในวัยเด็กสมประสงค์ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเศร้าทีเดียว เรื่องของพระองค์ท่านได้สอนให้เรารู้อย่างหนึ่งว่าบางครั้งโอกาสกับโชคชะตามักเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในที บางครั้งโอกาสที่เราได้รับ อาจไม่ได้ถูกยอมรับจากโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตมาเสมอไป 13 ปีต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสิ้นพระชนม์ในปี 2486

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ใน รัชกาลที่ 6

 

ละครชีวิต “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ใน รัชกาลที่ 6 

ที่ทรงขอแยกทาง บั้นปลายพระชนม์สุดสลด


พระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์) 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงครองพระองค์เป็นโสดมานาน ก็ทรงมีพระราชดําริที่จะอภิเษกสมรสเพื่อให้มีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ แต่เมื่อทรงคบหาใกล้ชิดกับสตรีผู้สูงศักดิ์นางใดแล้วก็ยังไม่ทรงพอพระราชหฤทัย บางครั้งทรงหมั้นหมายประกาศให้ประชาชนรับรู้แล้วก็ทรงถอนหมั้นเสียโดยทรงให้เหตุผลว่า “ไม่สบพระอัธยาศัยบางประการ”

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัย ในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และหม่อมหลวงตาด ประสูติเมื่อปีกุน วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 และถือว่าเป็นพระนัดดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเชื้อสายขัตติยราชโดยตรงทั้งสายพระบิดา และพระมารดา โดยเฉพาะท่านย่าคือ เจ้าจอมมารดาเขียนนั้นเป็นศิลปินด้านนาฏศิลป์ที่มีชื่อท่านหนึ่ง

สาเหตุที่ทรงเกิดความสนพระทัยในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล เพราะพระบิดาในหม่อมเจ้าหญิงเป็นเจ้าของละครคณะ “ปรีดาลัย” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านละครร้องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหม่อมเจ้าหญิงเองก็เป็นตัวละครของพระบิดา จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสชักชวนให้ไปแสดงละครในวังร่วมกับพระองค์ นับว่าเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด ละครสังคีตบทพระราชนิพนธ์ เช่น เรื่องกุศโลบาย วิวาหพระสมุทร ซึ่งต้องพระอุปนิสัยในรัชกาลที่ 6 อย่างยิ่ง เพราะโปรดการละครเหมือนกัน

นอกจากนั้นหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์จากวรรณคดีไทย และงานนิพนธ์ ของพระบิดาอย่างแตกฉาน จนสามารถพระนิพนธ์โคลงกลอนได้เฉียบขาดเจริญรอยตามพระบิดา ตรงกับพระอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดงานกวีนิพนธ์เช่นเดียวกัน

นับว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกันที่สุด ตรงกับคํากล่าวที่ว่า “คุยกันรู้เรื่อง”

ไม่เพียงเท่านั้น หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังมีรูปโฉมงดงามสมกับที่รับบทนางเอกละครในราชสํานัก เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ชมทั่วไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมทั้งลายพระราชหัตถเลขาว่า “ให้แม่ติ๋วพร้อมด้วยดวงจิต และขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย”


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระนางเธอลักษมีลาวัณ 

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลได้พระนิพนธ์บทกลอนทูลสนองตอบดังนี้

อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้

หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต

อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด

ขอถวายไม่คิดขัดจํานง

อะไรเป็นความสราญวานรับสั่ง

จะถวายได้ดังพระประสงค์

ขอเพียงแต่ทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง

อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย

การถวายบทกลอนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นนี้ ทําให้ทรงเพิ่มความรักต่อหม่อมเจ้าหญิงเป็น อย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสตรีเจ้าบทเจ้ากลอนซึ่งหามิได้ง่ายนัก 

พระราชทานนามใหม่ และสถาปนาอิสริยยศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลให้ใหม่เป็น หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ต่อมาได้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ และครั้งสุดท้าย สถาปนาอิสริยยศเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนคู่คล้องพระกรในฐานะมเหสี พร้อมทั้งทรงจารึกใต้ภาพว่า “ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโตด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2463”

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศว่าขอมีชายาแต่เพียงผู้เดียวตามแบบอย่างวิถีชีวิตของชาวตะวันตก 

บทกลอนพระราชทานประทับใจ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนที่แสดงถึงความรักอันสุดซึ้งเป็นจํานวนมาก พระราชทานแด่มเหสีดังเช่น

นั่งคํานึงถึงน้องผู้ต้องจิต

แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี

ความรักรุกทุกทิวาและราตรี

บได้มีสร่างรักสักเวลา

ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง

เห็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา

ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา

ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์

อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์

ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น

ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน

ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย

ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่ชม

ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย

ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป

ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย

พระนางเธอลักษมีลาวัณ (พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)

สิ้นสุดวันหวานอันแสนสั้น

ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงครองรักกับพระนางเธอลักษมีลาวัณ ครบรอบปี แล้ว แต่พระนางเธอฯ ก็หาได้ทรงครรภ์ให้กําเนิดรัชทายาทไม่ ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศต่างเฝ้ารอชม พระโอรสองค์น้อยอย่างใจจดใจจ่อ

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสขอแยกทางดําเนินชีวิตกับพระนาง เธอฯ โดยจะทรงอภิเษกสมรสกับสตรีคนใหม่ เพื่อทรงหวังให้กําเนิดรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตําหนัก เครื่องเพชร เงินบํานาญ เพื่อให้พระนางเธอฯ ดํารงพระชนมชีพอย่างมิต้องเดือดร้อน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสตรีท่านต่อมา และจัดงานอภิเษกสมรสตามแบบอย่างของชาวตะวันตกอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 3 ครั้ง เพราะสตรีที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยหาได้มีประสูติ กาลองค์รัชทายาทไม่ นับตั้งแต่พระสุจริตสุดา สนมเอก มิได้ทรงครรภ์เลย ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายานั้นทรงครรภ์แต่ก็ตกเสีย คงมีเพียงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มเหสีองค์สุดท้ายทรงครรภ์ใกล้มีประสูติกาล แต่ก็เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกําลังประชวรหนัก และพระมเหสีได้มีประสูติกาลเป็นพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว

นับเป็นการสิ้นสุดรัชทายาทเชื้อสายในพระองค์แต่เพียงนั้น

หนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลําพังต่อมา โดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและนิพนธ์นวนิยายไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องยั่วรัก ชีวิตหวาม เสื่อมเสียงสาป รักที่ถูกรังแก โชคเชื่อมชีวิต เรือนใจที่ไร้ค่า ภัยรักของฉันจลา โดยใช้นามปากกาว่า “ปัทมะ” ส่วนบทละครที่นิพนธ์ไว้เช่นเรื่อง เบอร์หก หาเหตุหึง ปรีดาลัย ออนพาเหรด ใช้นามปากกาว่า “วรรณพิมล”


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์) 

พระนางเธอฯ ทรงตระหนักแน่แท้แล้วว่าหนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ ดังคําโคลงที่ทรงนิพนธ์ว่า

เขียนกลอนพออ่านได้      ดับเข็ญ

อันปากกาย่อมเป็น         เพื่อนแท้

แทนฉายส่ายสอดเห็น     กระจ่าง

สุขทุกข์ปลุกปลอบแก้     กล่าวค้านเตือนกัน


ตั้งคณะละคร สืบสานศิลปะการแสดง

ด้วยพระทัยรักในศิลปะการแสดงมาก่อนเก่า จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยสืบสานจากพระบิดา โดยจัดเป็นละครร้องมีทํานองทั้งเพลงไทยและเพลงสากล มีระบําเบิกโรงก่อนแสดงละครเรื่อง วงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่บรรเลง เป็นเพลงแบบโอเปร่าตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงที่ ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมนคร โรงมหรสพนาครเขษม

นอกจากนั้นยังจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทรงยุบเลิกคณะละคร เพราะพระชนมายุเริ่มเข้าสู่วัยชรา 


ชีวิตที่เงียบเหงาไร้ญาติขาดมิตร

เนื่องจากพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเป็นศิลปินทั้งงานนิพนธ์และการละคร ประกอบกับชีวิตที่ผกผันหลายด้านอาจเป็นสาเหตุให้ทรงเครียด พระอารมณ์หงุดหงิดง่าย เมื่อมาดํารงพระชนมชีพที่วังลักษมีวิลาศ ถนนพญาไท ในวัย 62 ชันษา จึงไม่มีพระประยูรญาติมาอยู่ด้วย เพราะเข้าใกล้พระองค์ไม่ค่อยติด ดังเช่นพระนัดดาชายท่านหนึ่งเคยพาภรรยามาอยู่ด้วยเพื่อเป็นเพื่อน แต่พระนางเธอฯ ก็ไม่โปรดหลานสะใภ้ จึงต้องย้ายกันออกไปทั้งสามีภรรยา ส่วนพระนัดดาคนอื่น ๆ จะมาเยี่ยมเยียนบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงทราบว่ามีคนตําหนิพระองค์เรื่องอารมณ์ร้าย จึงนิพนธ์คํากลอนบันทึกไว้ว่า

ฉันไม่บ้าแม้ใครบ้ามาว่าฉัน

ก็คนนั้นนั่นแหละบ้าจึงว่าเขา

เราไม่บ้าแม้ใครบ้ามาว่าเรา

มันก็เข้าคนที่ว่าเป็นบ้าเอง


นอกจากนั้นยังทรงบรรยายความขมขื่นในชีวิตดังนี้

เคยโด่งเด่นคนเห็นเป็นพลุดัง

สวยสะพรั่งแพรวพราวขาวเวหา

แล้วตกต่ำดิ่งดําคร่ำลงมา

อยู่กับพื้นคนพามองหน้าดู

เบื่อชีวิตไม่คิดจะอย่างนี้

เบื่อเต็มทีระทมขมขื่นหลาย

เบื่อลําบากยากไร้ไม่สบาย

เบื่ออยากตายทุกข์ทนอยู่คนเดียว

ยามชราหูตาต่างมัวมืด

จิตชาดหนังย่นรุ่นความสวย

ไม้ใกล้ฝั่งนั่งคอยเวลาม้วย

เพราะเหตุด้วยดูโลกโศกเศร้านาน

อนาถหนอโลกนี้ชีวิตมนุษย์

ยามสาวสุดสูงเด่นเป็นดวงแข

ยามชราเอือมระอาคนรังแก

ช่างไม่แน่เหมือนหวังดังคาดเดา

อนิจจาโอ้ว่าตัวเรา

ตรมเศร้าโศกสลดหมดสุข

ขมขื่นกลืนแต่ความทุกข์

ทรยุคยากไร้ไข้ครอง

ลําบากยากแค้นแสนสาหัส

อัตคัดผู้คนปรนสนอง

มีแต่ศัตรูจู่ปอง

ครอบครองย่ำยีบีฑา

เจ็บจนทนทุกข์ถึงที่

ไม่มีญาติมิตรมาหา

บ่นไปก็ไร้ราคา

นิ่งเสียดีกว่าบ้าไป


หาคนรับใช้ช่วยงานสวน

พระนางเธอฯ ทรงใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้แก้เหงา และโปรดพันธุ์ไม้ที่มีความหมาย เช่น ฟอร์เก็ตมีน็อต พุทธรักษา บานไม่รู้โรย ทรงทํางานในตําหนักด้วยพระองค์เองอย่างโดดเดี่ยวปราศจากคนรับใช้ พระประยูรญาติเคยเตือนพระสติว่าอยู่คนเดียวน่าจะไม่ปลอดภัย แต่พระนางเธอฯ ทรงรักชีวิตสันโดษ และทรงมั่นพระทัยว่าตําหนักอยู่ใกล้โรงพักพญาไท นอกจากนั้นยังทรงมีพระแสงปืนพกติดพระวรกายไว้ตลอดเวลา 

เมื่อต้นไม้ในบริเวณวังเจริญขึ้น จึงทรงหาคนรับใช้ซึ่งเป็นคนงานมาจากต่างจังหวัด โดยให้พักในเรือนไม้ใกล้ตําหนัก เพื่อช่วยทําความสะอาดและตกแต่งต้นไม้ คนรับใช้ส่วนมากจะมาอยู่กันทั้งสามีภรรยา แต่มัก จะอยู่ได้ไม่นาน ด้วยพระนางเธอฯ ทรงมีระเบียบเข้มงวดมาก และมักจะกริ้วอยู่เสมอเมื่อคนรับใช้ทํางานไม่สบพระทัย

พระนางเธอฯ ทรงบันทึกความเบื่อหน่ายเกี่ยวกับคนรับใช้ไว้ดังนี้

ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปลี่ยวเปล่า

ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว

ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย

ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรําคาญ

บ้างเข้ามาทําท่าเป็นบ้างั่ง

เรียกจะสั่งทําใดไม่ขอขาน

สั่งอย่างโง้นทําอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน

ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน

พอไล่ไปมาใหม่อยู่ไม่ช้า

แรกทําท่าดีเด่นเป็นขยัน

พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน

คนขยันโกงยับเห็นกับตา

เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้

เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา

มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา

เรารู้ว่าข่มเหงเพลงทารุณ

คนรับใช้ชุดสุดท้ายก่อนปิดฉากชีวิต

ครั้งสุดท้ายทรงรับคนสวนชื่อ นายวิรัช กาญจนภัย กับนายแสง หอมจันทร์ เข้ามาทํางาน โดยคนเหล่านี้รู้เพียงว่าพระนางเธอฯ เป็นเจ้าองค์หนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าพระองค์เคยดํารงตําแหน่งมเหสีในพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระราชอํานาจสูงสุด 

เนื่องจากพระนางเธอฯ มักจะกริ้วคนสวนเหล่านี้ที่ทํางานไม่ถูกพระทัย จึงทําให้มันไม่เคารพรักในพระองค์ ประกอบกับเห็นว่าพระนางเธอฯ ประทับเพียงลําพัง และคงจะมีทรัพย์สมบัติอยู่บนตําหนักมิใช่น้อย จึงวางแผนกันว่าเมื่อมีโอกาสจะต้องโจรกรรมของมีค่าให้ได้

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 พระนางเธอฯ เสด็จลงมาปลูกต้นไม้ และทรงบ่นคนสวนว่าไม่ดูแลถอนหญ้า ขณะที่พระองค์กําลังประทับนั่งพรวนดินอยู่นั้น นายวิรัชได้ถือชะแลงเหล็กย่องเข้ามาด้านหลังแล้วฟาดไปบนพระเศียรเต็มแรง จนพระวรกายฟุบลงกับพื้นดินสิ้นพระชนม์ทันที ส่วนนายแสงเพื่อนคู่หูก็รีบเข้ามาช่วยลากพระศพที่ชุ่มไปด้วยพระโลหิตเข้าไปซุกไว้ในโรงรถ แล้วรีบขึ้นไปบนตําหนักค้นหาของมีค่าได้เครื่องเพชรจํานวนมากก่อนที่จะพากันหลบหนีออกจากวังไป

แม้ภายหลังตํารวจจะติดตามจับตัวฆาตกรได้ แต่ศาลก็พิพากษาเพียงจําคุกตลอดชีวิต เพราะคําสารภาพของจําเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี

ชีวิตที่สูงสุดและต่ำสุดยิ่งกว่าละคร

แม้พระนางเธอลักษมีลาวัณจะทรงจากโลกนี้ไปนานปีแล้ว แต่ชีวิตของพระองค์ควรค่าแก่การรําลึกถึง เพราะเป็นชีวิตที่เคยสูงส่งด้วยชาติตระกูลในขัตติยวงศ์ สูงด้วยทรงเป็นมเหสีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชอํานาจเหนือคนทั้งประเทศ สูงด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติของศิลปินด้านการละครและอักษรศาสตร์ที่ยากยิ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แต่บั้นปลายชีวิตของพระองค์กลับตกต่ำสุดด้วยการสิ้นพระชนม์จากน้ำมือของคนรับใช้ผู้ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ต่ำทั้งอาวุธชะแลงเหล็กเก่า ๆ ที่ใช้ประหาร ต่ำทั้งพื้นพสุธาที่ฟุบพระพักตร์ลงไปสิ้นพระทัย และต่ำสุดเมื่อพระศพถูกลากไปซุกอยู่ในโรงรถซึ่งคับแคบและมืดมิด

จากอดีตพระนางเธอลักษมีลาวัณเคยโปรดการนิพนธ์นวนิยายที่มีตัวละครหลากหลายชีวิต แต่พระนางเธอฯ หาทรงทราบไม่ว่าละครชีวิตของพระองค์นั้นจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจยิ่งกว่านวนิยายหลายเท่านัก 

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567

ที่สุดแห่งเจ้าจอม รัชกาลที่ ๕

ที่สุดแห่งเจ้าจอม ร.5

ร.5 มีเจ้าจอมมารดา 27 คน
เจ้าจอม 116 คน
รวม 143 คน

1.เจ้าจอมคนแรกสุด
(นับจากเวลาประสูติพระเจ้าลูกเธอ)
คือ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ แข พึ่งบุญ
เดิมเป็นพระพี่เลี้ยง ร.5
ขณะเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 14 ปี
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แข
ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของ ร.5
คือพระองค์เจ้าผ่องประไพ
2.เจ้าจอมที่เป็นรักแรกสุด
คือ เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค
ร.4 โปรดสู่ขอมาเป็นสะใภ้หลวง
ตามราชประเพณี
ร.5 โปรดแต่งตั้งเป็น
เจ้าคุณจอมมารดา
เหนือกว่าพระสนมทั้งปวง
เจ้าคุณจอมมารดาแพ
ประสูติพระราชธิดาล้วน 3 พระองค์
3.เจ้าจอมที่ประสูติพระราชบุตร
มากที่สุด มี 2 คน
คือเจ้าจอมมารดาแสง กัลยาณมิตร
ประสูติพระราชโอรส 2
พระราชธิดา 2 รวม 4 พระองค์
และเจ้าจอมมารดาพร้อม
ประสูติพระราชโอรส 1
พระราชธิดา 3 รวม 4 พระองค์
4. เจ้าจอมจากสกุลบุนนาค
มีมากที่สุดรวม 21 คน
(ไม่รวมพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
ซึ่งมีเชื้อสายบุนนาคเช่นกัน)
ล้วนเป็นหลานเหลนลื่อ
ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต)
ประกอบด้วย
1. เจ้าคุณจอมมารดาแพ
2. เจ้าจอมมารดาโหมด
3. เจ้าจอมมารดาอ่อน
4. เจ้าจอมเอี่ยม
5. เจ้าจอมเอิบ
6. เจ้าจอมอาบ
7. เจ้าจอมเอื้อน
8. เจ้าจอมแส
9. เจ้าจอมแก้ว
10. เจ้าจอมแถม
11. เจ้าจอมโหมด
12. เจ้าจอมพิศว์
13. เจ้าจอมอ้น
14. เจ้าจอมเหลียน
15. เจ้าจอมเลียม
16. เจ้าจอมอบ
17. เจ้าจอมเชย
18. เจ้าจอมปุก
19. เจ้าจอมจีน
20. เจ้าจอมเยื้อน
21. เจ้าจอมวอน
5. เจ้าจอมที่มีอายุยืนมากที่สุด
คือเจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค
เกิดปลาย ร.4 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2411
ถึงแก่อนิจกรรมใน ร.9 วันที่ 29 มกราคม 2512 (100 ปี)
เจ้าจอมมารดาอ่อน เป็นพี่คนโต
ของกลุ่มเจ้าจอม “ก๊กออ”
ประสูติพระราชธิดา 2 พระองค์
คือพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
กับพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา
และตกพระโลหิตไม่เป็นพระองค์อีก 2 ครั้ง
เจ้าจอมมารดาอ่อนอายุยืนมาก
จนพระราชธิดา
ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อน
ทั้ง 2 พระองค์
6. เจ้าจอมที่ถวายตัวเป็นคนท้ายสุด
คือเจ้าจอมแส บุนนาค
น้องสาวต่างแม่ของกลุ่มเจ้าจอม “ก๊กออ”
ถวายตัวในปี 2451 ขณะอายุ 16 ปี
ถวายตัวได้เพียง 2 ปี
ร.5 ก็สวรรคตในปี 2453
เจ้าจอมแส มีอายุยืนยาวถึงสมัย ร.9
ถึงแก่อนิจกรรม 7 ตุลาคม 2521 (86 ปี)
บางแห่งว่า
เจ้าจอมแถม บุนนาค
ถวายตัวเป็นคนสุดท้าย
ซึ่งอย่างไรก็ตาม
ทั้งสองท่านก็ถวายตัวในปีเดียวกัน
7. เจ้าจอมที่มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้าย
คือเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์
ถวายตัวปี 2449 ขณะอายุ 15 ปี
ถึงแก่อนิจกรรมสมัย ร.9
วันที่ 3 มิถุนายน 2526 (93 ปี)
8. เจ้าจอมที่เกือบได้เป็นเจ้าจอมมารดา
เนื่องจากตั้งครรภ์แต่แท้งเสียก่อน
คือเจ้าจอมเอี่ยม กลุ่มเจ้าจอมก๊กออ
แท้ง 2 ครั้ง
เจ้าจอมเจิม ธิดาพระยาวิเศษสัจธาดา
แท้ง 1 ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้าจอม ร.5
ที่น่าสนใจ เช่น
เจ้าจอมที่ลาบวชชีตลอดชีวิต
เจ้าจอมที่โกหกว่าตั้งครรภ์
เจ้าจอมนับถือมุสลิม
เจ้าจอมนับถือศาสนาพราหมณ์
เจ้าจอมเชื้อสายจีน
เจ้าจอมที่ขอลาออกเพื่อสมรสใหม่
เจ้าจอมที่ได้บรรดาศักดิ์เป็น “คุณท้าวนาง”


























เนื้อเพลง