วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน โอรสพระเจ้ากรุงจีน กษัตริย์ขอมหนีตาย หรือลูกท้าวแสนปม

 

พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน

โอรสพระเจ้ากรุงจีน กษัตริย์ขอมหนีตาย หรือลูกท้าวแสนปม





พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี และเสวยราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรก จึงเป็นที่สงสัยกันว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นใครมาจากไหน จึงมาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ ๖๗๔ ปีมาแล้ว ทั้งยังไม่มีการบันทึกไว้อย่างศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย เรื่องราวของพระเจ้าอู่ทองจึงมีข้อสันนิษฐานกันมากมาย ส่วนใหญ่ก็เหมือนนิยายที่ต่างคนต่างแต่ง นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจึงต้องค้นคว้าหาหลักฐานมาพิสูจน์กันว่า แท้ที่จริงแล้วพระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหนกันแน่

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง (3 เมษายน พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 1912 ทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1893 มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับภูมิหลังของพระเจ้าอู่ทอง รวมทั้งอาจเป็นเชื้อสายของพ่อขุนมังราย

จดหมายเหตุโหรระบุว่าพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีเสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 676 (ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1857) ได้ทรงสถาปนาเมืองหลวงขึ้นในบริเวณที่หนองโสนเมื่อ จ.ศ. 712 ปีขาล โทศก วันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 หรือ 12 มีนาคม พ.ศ. 1893 ตามปฏิทินไทยสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อครองราชย์ได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถึงปีระกา พ.ศ. 1912 เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 19 ปี

แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระองค์พระราชสมภพที่ไหน และมาจากเมืองไหน เอกสารทางประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศขัดแย้งกัน โดยมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของพระเจ้าอู่ทองดังนี้


ที่ว่าเป็นโอรสพระเจ้ากรุงจีนถูกเนรเทศมา ก็ดูเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ และหลายสิ่งก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผู้แปลบันทึกนี้ของกรมศิลปากรได้โน้ตท้ายหน้าไว้ว่า อย่างเมืองที่อ้างว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้าง เช่น พริบพลี ก็มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกัมพูชา ส่วน พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร มีอยู่ในศิลาจารึกตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมาแล้ว ที่ว่าพระเจ้าอู่ทองไปประทับอยู่กัมพูชา ๙ ปี และสร้างนครวัดขึ้นก่อนกลับมาสวรรคตที่กรุงศรีอยุธยา พงศาวดารไทยต่างระบุว่าพระเจ้าอู่ทองทรงส่งพระราเมศวรไปตีเมืองพระนครแต่ไม่สำเร็จ จึงรับสั่งให้ขุนหลวงพะงั่ว พระเชษฐาพระมเหสีจากสุพรรณบุรีให้ไปช่วยหลาน

อีกแนวคิดหนึ่งว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นขอมในราชวงศ์วรมันที่ครองอาณาจักรกัมพูชามาถึง ๕๐๐ ปี แต่ในปี พ.ศ.๑๘๗๙ เป็นต้นมา ราชวงศ์วรมันก็สิ้นสุดลง กษัตริย์ราชวงศ์ใหม่มีชื่อว่า ตระซอกเปรแอม หรือ พระเจ้าแตงหวาน มาจากสามัญชน และกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าจนสิ้นซาก ทำให้กลุ่มราชวงศ์วรมันต้องหนีตายมาพึ่งพรรคพวกที่ลพบุรี อีกกลุ่มได้มาตั้งเมืองใหม่ขึ้นคือกรุงศรีอยุธยาในอีก ๑๔ ปีต่อมา ซึ่งกลุ่มนี้มีพระเจ้าอู่ทองเป็นหัวหน้า ทั้งฝ่ายกัมพูชาใหม่ยังเรียกกลุ่มวรมันที่ถูกกำจัดออกไปว่าเป็นพวกสยาม และเรียกชื่อเมืองพระนครใหม่ว่า เสียมเรียบ หมายถึงสยามถูกขจัดออกไปหมดนั่นเอง แนวคิดนี้ยังสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า ชาวกัมพูชาในปัจจุบันไม่ใช่เชื้อสายของขอม แต่เป็นพวกจามจากชายแดนที่ขอมเอามาเป็นทาส ตอนนั้นขอมรุ่งเรืองใช้ชีวิตหรูหรา แต่ละคนมีทาสกันมากมาย ในที่สุดทาสที่มีตาแตงหวานเป็นหัวหน้าก็ยึดอำนาจเจ้านายเสียเลย

แนวคิดอีกแนวหนึ่งอ้างว่า พระเจ้าอู่ทองก็คือลูกของท้าวแสนปมนั่นเอง เรื่องนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า ใน พ.ศ.๑๘๖๓ ท้าวแสนปมได้ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อเมืองเทพนคร และขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิริไชยเชียงแสน ต่อมามีพระราชโอรสองค์แรก จึงได้เอาทองคำมาทำพระอู่ให้บรรทม ปรากฏพระนามสืบต่อมาว่า เจ้าอู่ทอง เมื่อพระเจ้าสิริไชยเชียงแสนทิวงคตเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๗ เจ้าอู่ทองจึงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ต่อมาจึงมาสถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ใน พ.ศ.๑๘๙๓ และทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นเค้าโครงบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มาของพระเจ้าอู่ทองที่ได้รับความเชื่อถือกันมากที่สุดในยุคก่อนหน้านี้ เป็นแนวคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ซึ่งเสด็จไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ และได้ไปทอดพระเนตรเมืองอู่ทอง ต่อมาทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“มีตำนานทางเมืองสุพรรณบุรีเชื่อถือกันมาจนทุกวันนี้ว่า เดิมพระเจ้าอู่ทองอยู่ทางเมืองสุพรรณบุรี เมืองของพระเจ้าอู่ทองก็ยังมีอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ในระหว่างเมืองสุพรรณบุรีทุกวันนี้กับเมืองกาญจนบุรี

ข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองอู่ทองเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๖๕ พ.ศ.๒๔๔๖ ได้เห็นเมืองโบราณมีเชิงเทินกำแพงเมืองใหญ่โต

ความคิดเห็นเกิดแก่ข้าพเจ้าในครั้งนั้นว่า ที่เรียกในศิลาจารึกและหนังสือโบราณว่าเมืองสุพรรณภูมิหรือสุวรรณภูมินั้น จะหมายว่าเมืองอู่ทองนี้เอง มิใช่เมืองสุพรรณบุรีทุกวันนี้ที่ตั้งเมื่อภายหลัง

คำว่าสุวรรณภูมิเป็นภาษามคธ แปลว่าที่เกิดทองหรือที่มีทอง ในภาษาไทยก็ตรงกับคำว่าอู่ทอง เช่นที่พูดกันว่าอู่ข้าวอู่น้ำ เพราะฉะนั้นชื่อเมืองอู่ทองนี้เป็นชื่อภาษาไทยของเมืองสุวรรณภูมินั้นเอง

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็คิดเห็นตลอดไปว่าที่เรียกพระเจ้าอู่ทองนั้น เห็นจะไม่ใช่มาจากบรรทมเปลทองอย่างพงศาวดารว่าเป็นแน่แล้ว คงจะเป็นพระนามที่เรียกเจ้าผู้ปกครองเมืองอู่ทอง อย่างเราเรียกพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าน่าน เจ้าองค์ใดครองเมืองอู่ทองก็เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองทุกองค์

เพราะฉะนั้นพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยานี้ จะเป็นโอรสนัดดาสืบพระวงศ์มาแต่ผู้ใด และได้มีประวัติแต่เดิมมาอย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนจะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา คงเป็นเจ้าครองเมืองอู่ทอง หรือที่เรียกในภาษามคธว่าเมืองสุวรรณภูมิอยู่ก่อนจริงดังตำนานเมืองสุพรรณ

ความคิดอย่างนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนลงในรายงานตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี พิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๖๗ พ.ศ.๒๔๔๘ ต่อมาสมาชิกในโบราณคดีสโมสรได้รับความคิดเห็นเช่นนี้ว่าเป็นถูกต้อง”

ความคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองทรงครองราชย์อยู่ที่เมืองอู่ทองก่อนมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งใหม่นี้ ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวาง แต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ กรมศิลปากรได้เชิญ ศาสตราจารย์ ช็อง บัว เซอริเยร์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ประเทศฝรั่งเศส มาช่วยสำรวจโบราณสถานในประเทศไทย และได้สรุปผลสำรวจไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ว่า เมืองอู่ทองที่เชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เป็นเมืองร้างไปก่อนที่จะมีการสร้างกรุงศรีอยุธยาราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าอู่ทองจะอพยพมาจากเมืองอู่ทอง

เรื่องนี้ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ซึ่งเคยสำรวจเมืองอู่ทอง ได้เขียนบทความในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๐๖ เปิดเผยผลสำรวจมาแล้วว่า เมืองอู่ทองร้างมาก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี

ต่อมารองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นบุตรของอาจารย์มานิต เคยสำรวจเมืองอู่ทอง ละโว้ และอยุธยา ตลอดจนแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มาแล้ว ได้เขียนบทความเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๙ ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากไหนก่อนที่จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ครองกรุงอโยธยาซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีวัดพนัญเชิงซึ่งสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงมาสร้างราชธานีใหม่ที่ฝั่งตรงข้าม

ส่วนอาจารย์มานิตได้ค้นคว้าเอกสารโบราณหลายฉบับ และได้เขียนบทความชื่อ

“สมเด็จพระรามาธิบดีศรีอโยธยา” ซึ่งคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้รวบรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “เฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว” เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ และอยุธยาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓

บทความนี้ได้ลำดับเรื่องราวของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๑๖๒๕ มีกษัตริย์ปกครอง ๑๐ พระองค์ ซึ่งพระองค์ที่ ๑๐ ก็คือ พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๘๗ ก่อนจะย้ายราชธานีใน พ.ศ.๑๘๙๓

จึงสรุปในขณะนี้ได้ว่า พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากเมืองจีนหรือเขมร แต่เป็นกษัตริย์ที่ครองกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๘๙๓  

การสถาปนากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีเป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพระราเมศวร รัชทายาทให้ไปครองเมืองลพบุรี

การสงครามกับเขมร

ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่ง ขอม ซึ่งก็เป็นมาด้วยดีจนกระทั่งกษัตริย์ขอมสวรรคต เนื่องจากการปฏิวัติขอมของนายแตงหวาน ชนชั้นแรงงานได้ยึดอำนาจจากชนชั้นปกครอง  และครองเมืองแทนซึ่งรู้จักในนาม พระบาทตระซ็อกประแอม หรือ พระบาทสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1  ซึ่งพระราชนัดดานาม พระบรมลำพงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระบรมลำพงศ์ก็แปรพักตร์ไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ทรงยกทัพไปช่วย เพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับพระสหาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 จึงสามารถตีเมืองนครธมแตกได้ พระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง พระราชโอรสเป็นกษัตริย์ปกครองอังกอร์ .. จนกระทั่งเมื่อน้องชายของพระบรมลำพงศ์ซึ่งไปลี้ภัยในประเทศลาวได้ยึดเมืองกลับคืนมาและได้สวมมงกุฎที่นั่นในนามพระเจ้าศรีสุริโยวงษ์ที่ 1 

ตรากฎหมาย

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงประกาศใช้กฎหมายถึง 10 ฉบับ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติลักษณะพยาน
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง
  • พระราชบัญญัติลักษณะรับฟ้อง
  • พระราชบัญญัติลักษณะลักพา
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาราษฎร์
  • พระราชบัญญัติลักษณ์โจร
  • พระราชบัญญัติเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน
  • พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย
  • พระราชบัญญัติลักษณะโจรว่าด้วยโจร

ในประวัติศาสตร์บางแหล่งบอกว่ามีมากกว่านี้ แต่เท่าที่หาหลักฐานได้ มีเพียงเท่านี้เท่านั้น

การศาสนา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างวัดต่าง ๆ เช่น วัดพุทไธศวรรย์ (สร้างปี พ.ศ. 1876) วัดป่าแก้ว (สร้างปี พ.ศ. 1900) และวัดพระราม (สร้างปี พ.ศ. 1912)

การสงครามกับสุโขทัย

รัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยานั้นคาบเกี่บวกับรัชสมัยของ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สุโขทัยมิอาจต้านทานความแข็งแกร่งของอยุธยาได้ แม้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไท จะเสด็จไปประทับที่สองแคว (พิษณุโลก) เพื่อเตรียมรับศึกอยุธยาแล้วก็ตาม

แต่สุดท้ายพระมหาธรรมราชาลิไทก็ได้เจรจาประนีประนอมยอมให้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคู่กับสุโขทัย และทั้งสองนครนี้ก็เป็นไมตรีต่อกันมาจนตลอดรัชกาลของพระองค์

การค้าขาย และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

ในด้านไมตรีกับต่างประเทศในสมัยเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ฝรั่งกับญี่ปุ่นยังไม่มีมาค้าขาย แต่การไปมาค้าขายกับเมืองจีน, แขก, จาม, ชวา, มลายู ตลอดจนอินเดีย, เปอร์เซีย และ ลังกานั้นไปถึงกันมานานแล้ว

สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ราชวงศ์อู่ทองของไทย ตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน พระเจ้าหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิงเมื่อทราบว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นอิสรภาพก็แต่งให้ หลุย จงจุ่น เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงแต่งให้ราชทูตออกไปเมืองจีนพร้อมกับราชทูตจีน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในคราวนั้นด้วย

พระโอรส

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับการยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่สหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี พ.ศ. 2505 และนอกจากจะทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ยังทรงวางรากฐานความเจริญไว้ให้กับประเทศไทยอีกหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน โบราณคดี การศึกษา วรรณคดี อักษรศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์ เป็นต้น



แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเปรียบสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสมือนเพ็ชรประดับพระมงกุฎ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านทรงเป็นผู้มีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในการปฏิรูประบบราชการของแผ่นดิน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 4 รัชกาล

  •  ประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนามเดิมคือพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระโอรสองค์ที่ 57 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 เวลา 4 นาฬิกา 17 นาที ตรงกับวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ จ.ศ. 1224

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอนั้น ทรงเขียนลายพระราชหัตถ์ เป็น 2 ฉบับ ฉบับ 1 เป็นอักษรภาษาไทย อีกฉบับ 1 เป็นอักษรอริยกะ เมื่อพระเจ้า ลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นองค์ชายจะได้พระราชทานพระขรรค์ 1 เล่มกับปืนพก 1 กระบอก ครั้นประสูติได้ 3 วัน จะจัดให้มีพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จลงเป็นประธาน ทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมพระราชทาน

พระนาม “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” ที่ได้รับพระราชทานมานั้น ในทางพระศาสนาถือว่าเป็นสิริมงคล เป็นทั้งพระนามพระพุทธเจ้าและพระนามของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงมีเกียรติในการอุปถัมภกพระพุทธศาสนา และตามหนังสือ “ความทรงจำ” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เอานามคุณตาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาพระราชทาน ซึ่งท่านชื่อ “ดิศ” เป็นพระยาบำเรอภักดีอยู่ในเวลานั้น เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความซื่อตรง และความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง


การศึกษาขั้นต้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับการศึกษาแบบราชกุมารครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงเริ่มเรียนอักษรตั้งแต่มีพระชนมายุก่อนครบ 3 พรรษา มีคุณแสง เสมียน เป็นครูสอน ไม่นานนักก็ย้ายไปเรียนกับคุณปาน เป็นธิดาสมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ โดยมีสมุดหนังสือปฐม ก.กา ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใช้เป็นแบบเรียน ทรงเรียนจนอ่านหนังสือได้แตกฉาน จนอ่านหนังสือเป็นเล่ม เช่น สามก๊ก

การศึกษาภาคปฏิบัติในราชสำนักของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มเมื่อพระชนม์ได้ 4 พรรษา ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาเพื่อทรงใช้สอยเสมอ บางครั้งก็ตามเสด็จออกนอกวัง และครั้งหลังสุดได้ตามเสด็จไปดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากอินเดีย และโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในกรมมหาดเล็กคู่กับโรงเรียนสอนภาษาไทย มีมิสเตอร์ฟรานซิล จอร์ช แบตเตอร์สัน ชาวอังกฤษเป็นผู้สอน และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงศึกษาในโรงเรียนนี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2417 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีพระชนมายุครบ 13 พรรษา ทรงรับราชการประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษาขั้นกลาง

พ.ศ. 2418 เดือน 8 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงผนวชเป็นสามเณร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับที่วัดบวรนิเวศกับสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีพระกิจวัตร คือ เวลา 19.00 น. ต้องทรงฟังคำสอนพระธรรมวินัยทุกวัน จนถึงเวลา 20.00 น. จึงทำวัตรค่ำ และซ้อมสวดมนต์ไปจนถึง 23.00 น. พระองค์ทรงท่อง “อนุญญาสิโข” ได้แม่นยำ และมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดมาก และให้เข้าเฝ้าเสมอฯ โดยทรงเล่าเรื่องโบราณต่าง ๆ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ฟัง เป็นเหตุให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสนพระทัยวิชาประวัติศาสตร์และการศาสนา และพระองค์ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองเป็นอย่างมาก ทำให้ได้สมญาว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์”

นอกจากนี้ ยังทรงเรียนคาถาอาคมและวิชาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันด้วยเวทย์มนต์และเครื่องรางต่าง ๆ ซึ่งทรงเชื่อถืออย่างมาก อาจารย์ที่สำคัญคือ นักองค์วัตถา น้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา และทรงสะสมเครื่องรางของขลังเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2418 ในช่วงออกพรรษาเมื่อกลับจากนำกฐินพระราชทานไปทอดที่วัดคงคารามเพชรบุรีแล้ว กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงลาสิกขาบทจากสามเณร

การศึกษาขั้นปลาย

เมื่อลาสิกขาบทจากสามเณร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็ก เมื่อพระชนม์ได้ 14 พรรษา ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารในสำนักของหลวงรัดรณยุทธ (เล็ก) ซึ่งประจำอยู่ในวังบริเวณวัดพระแก้ว ขณะเมื่อยังเป็นพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ศึกษาอยู่เป็นเวลาหนึ่งปีจึงสำเร็จหลักสูตรนักเรียนนายร้อย ได้รับพระราชทานยศทหารเป็นร้อยตรีทหารมหาดเล็กในปี พ.ศ. 2420 ตั้งแต่ชันษายังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์

พระกรณียกิจเมื่อแรกทรงรับราชการ

พระองค์ทรงได้รับราชการทหารในตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ดังนี้

พ.ศ. 2420 เป็นนายร้อยตรีทหารราบ ตำแหน่งผู้บังคับกองแตรวง

พ.ศ. 2422 เป็นว่าที่นายร้อยโท ตำแหน่งผู้บังคับการทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็ก

พ.ศ. 2422 เป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งราชองครักษ์ประจำพระองค์ และว่ากรมครัวเข้าต้น

พ.ศ. 2423 เป็นนายพันตรี ตำแหน่งผู้รับพระบรมราชโองการ และว่ากรมกองแก้วจินดา (ปืนใหญ่)

พ.ศ. 2428 เป็นนายพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กและราชองครักษ์ประจำพระองค์

กรมทหารมหาดเล็กเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 และทรงสนับสนุนเจ้านายชั้นต่าง ๆ ให้มาสมัครเรียน จนกิจการเจริญก้าวหน้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ทหารมหาดเล็กภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนที่พระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ เรียกว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ในปี 2425 เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการฝึกสอนไปถึงผู้ที่จะเข้ารับราชการอย่างอื่นด้วย และยังทรงมีรับสั่งให้จัดตั้งโรงเรียนให้แพร่หลายออกไปฝึกสอนราษฎรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงมีหน้าที่จัดโรงเรียนอันเป็นการฝ่ายพลเรือน เพิ่มขึ้นแต่ในเวลาเมื่อยังเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ดังนั้นถือได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของประเทศไทย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นใหม่ และโปรดให้กรมนี้ขึ้นอยู่กับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ มีหน้าที่จัดทำแผนที่ตามชายแดนของประเทศให้เรียบร้อย การที่พระองค์เจ้าดิศวรกุมารได้ทรงมีโอกาสบังคับบัญชากรมแผนที่ ทำให้พระองค์คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศของชาติ และทราบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรับหน้าที่จัดการปกครองในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมพยาบาล และกรมพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเคยเป็นกรมอิสระอยู่ก่อน เข้ากับกรมศึกษาธิการ ยกขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ และทรงแต่งตั้งให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นพระยศในขณะนั้น) เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการคนแรก และเมื่องานราชการดำเนินไปได้ด้วยดี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพย้ายขาดจากตำแหน่งทางทหาร มารับราชการทางฝ่ายพลเรือนด้านเดียวในปี พ.ศ. 2433

พระประวัติเมื่อดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย

เมื่อมีการแก้ไขระเบียบการปกครองแผ่นดินวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่สำคัญสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งนี้สามารถปฏิรูปและวางรากฐานงานของกระทรวงมหาดไทย เพื่อยึดถือเป็นหลักในการขยายกิจการงานปกครอง ออกสู่หัวเมืองต่าง ๆ ภายในราชอาณาจักรต่อไป ซึ่งกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงวางรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

ในปีพ.ศ. 2442 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนกรมหมื่นดำรงราชานุภาพขึ้นเป็นกรมหลวงฯ ดำรงตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ และพระองค์ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตลอดสมัยรัชกาลที่ 5

ในปีพ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ยังททรงวางพระราชหฤทัยให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อไปอีก จนกระทั่งได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2458 เนื่องมาจากเหตุผลด้านสุขภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานที่เป็นภาระหนัก รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งเสนาบดียาวนานถึง 23 ปีเศษ

ในปีพ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ เลื่อนกรมหลวงดำรงราชานุภาพให้มีฐานันดรเป็นกรมพระยาอันเป็นหลักฐานในการประกาศถึงคุณความดีที่ได้ทรงดำเนินกิจการงานปกครองและทำนุบำรุงประชาราษฎร และบ้านเมืองได้ตามพระราชประสงค์อันมาจากการวางรากฐานมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ยังทรงรับราชการในตำแหน่งพิเศษอื่นอีกหลายตำแหน่ง ดังนี้

พ.ศ. 2437 เป็นรัฐมนตรี

พ.ศ. 2438 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 1

พ.ศ. 2439 เป็นสาราณียกรหอพระสมุดวชิรญาณ

พ.ศ. 2440 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 2

พ.ศ. 2443 เป็นกรรมการจัดตั้งหอพุทธสาสนสังคหะ

พ.ศ. 2444 เป็นผู้ได้รับเลือกเข้าเป็นผู้บำรุงราชกรีฑาสโมสร

พ.ศ. 2446 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3

พ.ศ. 2447 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 4 ได้รับเลือกเป็นอนูปถัมภกสยามสมาคม

พ.ศ. 2448 เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญารเมื่อทรงตั้งเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร

พ.ศ. 2451 เป็นกรรมการตรวจกฎหมายลักษณะอาญา

พ.ศ. 2453 เป็นกรรมการสภานายกจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

พ.ศ. 2457 เป็นกรรมการตรวจโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

อนึ่ง พระองค์ทรงมีโอกาสตามเสร็จรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2439 และ 2444 และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2440 และพ.ศ. 2450

ภายหลังพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

เมื่อทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ 7 วัน ก็ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2458 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา เทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ สิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และในปีเดียวกันนั้น ทรงได้รับพระราชทานยศทหารเป็นนายพลเอก ราชองครักษ์พิเศษอีกด้วย

สุภาษิต-สำนวนไทยเกี่ยวกับสัตว์

 

รวมสำนวน สุภาษิต-สำนวนไทยเกี่ยวกับสัตว์

กา

กาเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป หมายถึง สูญหายไปในทันที

กาหลงรัง หมายถึง ผู้ที่หลงติดอยู่บ้านใดบ้านหนึ่งแล้วไม่ยอมกลับบ้านตน, คนเร่ร่อน

กาหน้าดำเขาจำหน้าได้ หมายถึง คุ้นเคยกันจนจำได้ถนัดชัดเจน แม้จะห่างหายไปนาน

กาตาแววเห็นธนู หมายถึง ขี้ขลาด, กลัว

กาคาบพริก หมายถึง คนผิวดำแต่งตัวด้วยชุดสีแดง


กระต่าย

กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ชายหนุ่มที่หมายปองหญิงสาวที่มีฐานะสูงกว่าตน

กระต่ายสามขา หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับผิด

กระต่ายแหย่เสือ หมายถึง การล้อเล่น ท้าทายผู้ที่มีอำนาจบารมีมากกว่า อาจทำให้เกิดอันตรายได้

กระต่ายตื่นตูม หมายถึง ตกใจเกินเหตุโดยไม่สำรวจให้ถ่องแท้ก่อน


กบ

กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังบัญชาไปเรื่อยๆ ไม่ถูกใจสักที

กบในกะลาครอบ หมายถึง คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์

กบเกิดใต้บัวบาน หมายถึง อยู่ใกล้สิ่งที่ดีงามแต่กลับไม่รู้ค่า

 

ไก่

ไก่ได้พลอย หมายถึง ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เปรียบกับไก่เวลาที่มันคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดกรวดหินดินทราย หรือเพชรพลอยก็ไม่มีค่าสำหรับไก่

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง  หมายถึง คนเราจะสวย หล่อ ดูดีได้ ต้องรู้จักการแต่งเนื้อแต่งตัว เปรียบกับไก่ที่ไม่ได้สวยเพราะเนื้อหนัง แต่สวยด้วยขนของมัน

ไก่รองบ่อน หมายถึง ผู้ที่อยู่ในฐานะตัวสำรอง จะเรียกมาใช้เมื่อไรก็ได้

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้เรื่องราวความลับของอีกฝ่าย

ไก่แก่แม่ปลาช่อน หมายถึง กล่าวถึงผู้หญิงที่ค่อนข้างมีอายุที่มีเล่ห์เหลี่ยม มีกริยาจัดจ้าน

ลูกไก่อยู่ในกำมือ หมายถึง ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจไม่มีทางหนีหรือต่อสู้ได้

 

กิ้งก่า

กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง อวดดีจนลืมฐานะตัวเอง ได้ดีแล้วลืมตัว

 

วัว

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี หมายถึง เมื่อลูกทำผิดควรอบรบสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน ทำโทษบ้างตามสมควร

วัวหายล้อมคอก หมายถึง คิดป้องกันเมื่อเสียหายไปแล้ว

วัวลืมตีน หมายถึง คนที่ได้ดีแล้วลืมตัว

วัวแก่เคี้ยวหญ้าอ่อน หมายถึง ชายแก่ได้สาวรุ่นเป็นภรรยา

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หมายถึง ความเดือดร้อนที่เกิดซ้ำซ้อนขึ้นมา

ตีวัวกระทบคราด หมายถึง การกระทำสิ่งใดเพื่อให้กระเทือนอีกฝ่าย เนื่องจากโกรธแต่ทำอะไรเขาโดยตรงไม่ได้

โตเป็นวัวเป็นควาย หมายถึง โตแล้วไม่มีความคิด

 

ควาย

สีซอให้ควายฟัง หมายถึง สอนความดีให้คนโง่ฟัง แต่ก็ไม่มีประโยชน์

ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว หมายถึง ซื้อของเมื่อมีคนต้องการมาก ย่อมได้ของราคาแพง

เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน หมายถึง ยุยงสองฝ่ายให้มีเรื่องกัน

อยู่บ้านท่านอย่างนิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น หมายถึง พึ่งพาอาศัยใครก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

 

งู

ขว้างงูให้พ้นคอ หมายถึง ปัดเรื่องร้ายไม่พ้นตัว

จับงูข้างหาง หมายถึง ทำสิ่งที่อันตรายจะเกิดกับตัวเองได้

เฒ่าหัวงู หมายถึง คนแก่เจ้าเล่ห์

หมองูตายเพราะงู หมายถึง พลาดพลั้งในสิ่งที่ชำนาญ

ล้วงคองูเห่า หมายถึง บังอาจลักขโมยทรัพย์สินจากผู้น่าเกรงขามหรือมีอิทธิพล

ตีงูให้กากิน หมายถึง การลงทุนลงแรงทำสิ่งใดแล้ว แต่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ผลประโยชน์กลายเป็นของคนอื่น แล้วตัวเองกลับได้ผลร้ายหรืออันตราย

 

จระเข้

จระเข้ขวางคลอง หมายถึง ทำอะไรขัดขวางผู้อื่น

จระเข้ฟาดหาง หมายถึง ใช้อำนาจหรือกำลังระรานโดยไม่เลือกหน้า

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ หมายถึง สอนผู้ที่รู้และมีความชำนาญในเรื่องนั้นดีอยู่แล้ว

หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง หนีไปพบอันตรายที่ร้ายพอกัน

น้ำตาจระเข้ หมายถึง ความทุกข์โศกของผู้มีอำนาจที่ไม่อาจแสดงออกมาให้ใครเห็น

 

ช้าง

ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง ลงทุนทำการใหญ่โตเกินสมควร

ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หมายถึง การทำความชั่วหรือความผิดร้ายแรงแม้จะพยายามกลบเกลื่อนปกปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด ต้องมีคนรู้จนได้

เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง หมายถึง ทำตามอย่างเขาเรื่อยไป

อ้อยเข้าปากช้าง หมายถึง ของที่ผู้อื่นได้ไปแล้วเอาคืนได้ยาก

ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ หมายถึง ดูคนให้ดูจากเชื้อสาย

ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง ทำไม่รู้เรื่อง ประหยัดที่ควรจ่าย จ่ายที่ควรประหยัด

 

นก

นกปีกหัก หมายถึง ตกอยู่ในสภาพพลาดพลั้งหรือลำบาก

นกสองหัว หมายถึง ทำตัวเข้าเป็นพวกทั้งสองฝ่าย

ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว หมายถึง ทำงานอย่างเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว หมายถึง ทำอะไรพอเหมาะกับฐานะหรือความสามารถของตน

ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ หมายถึง ว่าอะไรว่าตามกัน

นกมีหู หนูมีปีก หมายถึง คนกลับกลอกเข้าพวกได้ทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของตน

ลูกนกลูกกา หมายถึง คนที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

นกไร้ไม้โหด หมายถึง คนที่ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัยของใคร

 

ปลา

จับปลาสองมือ หมายถึง ทำสองฝักสองฝ่ายไม่แน่นอนข้างใด

น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา หมายถึง เป็นทีหรือเป็นโอกาสคนละครั้ง

(ปลา)กระดี่ได้น้ำ  หมายถึง อาการระริกระรี้ดีใจจนเกินงาม

ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง เป็นอันตรายเพราะคำพูดตัวเอง

ตีปลาหน้าไซ หมายถึง การพูดหรือการกระทำที่ทำลาย ขัดขวาง ผลประโยชน์ของผู้อื่น ทำให้กิจการที่ผู้อื่นกำลังดำเนินไปด้วยดีต้องหยุดชะงัก

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หมายถึง ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้ที่ด้อยกว่า

 

แมว

แมวไม่อยู่หนูร่าเริง หมายถึง หัวหน้า ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ไม่อยู่ ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้น้อยเลยร่าเริงกัน

ย้อมแมวขาย  หมายถึง เอาของเลวไปแปลงหลอกว่าเป็นของดี

 

ลิง

ยื่นแก้วให้วานร หมายถึง เอาของดีมีค่าไปยื่นกับผู้ที่ไม่รู้คุณค่า

ลิงหลอกเจ้า หมายถึง กิริยาล้อเลียนผู้ใหญ่เมื่อผู้ใหญ่เผลอ

ลิงได้แก้ว หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่ได้มาหรือที่มีอยู่

 

เสือ

เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ขู่ให้กลัว

จับเสือมือเปล่า หมายถึง ทำการโดยไม่ต้องลงทุน

ปากเสือปากจระเข้ หมายถึง ท่ามกลางอันตราย

รู้ว่าเสืออย่าเอาเรือเข้าไปจอด รู้ว่ามอดอย่าเอาไม้เข้าไปขวาง หมายถึง กระทำในสิ่งที่ไม่รู้ว่าอาจมีอันตรายมาถึงตัว ซึ่งการกระทำอาจเกิดจากความโง่เขลา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เสือไว้ลาย หมายถึง คนมีความสามารถ ทำอะไรย่อมแสดงฝีไม้ลายมือ

 

หมา

ชิงหมาเกิด หมายถึง ว่าคนที่เลวกว่าหมา

เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ทำตามคำผู้ใหญ่มักไม่ผิดพลาดหรืออันตราย

เล่นกับหมาหมาเลียปาก เล่นกับสากสากตีหัว หมายถึง เล่นกับเด็กๆ ย่อมลามปาม

หมาจนตรอก หมายถึง ไม่มีทางไป

หมาหมู่ หมายถึง ใช้พวกมากเข้ารุม

หมาหวงก้าง หมายถึง หวงผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ มาก

หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง ดีแต่พูดหรือแสดงท่าทางว่าตัวเองเก่ง แต่ไม่กล้าจริง

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ หมายถึง เรื่องย่อมมาจากมีสาเหตุขึ้นก่อน

หมากัดอย่ากัดตอบ หมายถึงอย่าโต้ตอบกับคนพาล

หมาลอบกัด หมายถึง ลอบทำร้าย

หมาเห่าไม่กัด หมายถึง ปากเก่ง ดีแต่พูด แต่ไม่ทำใคร

หุงข้าวประชดหมา หมายถึง ทำประชดให้เสียหายมากขึ้น

ขี้หมูราขี้หมาแห้ง หมายถึง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

 

หมู

ดินพอกหางหมู หมายถึง นิสัยที่ปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม เกียจคร้านไม่ยอมทำสิ่งนั้นให้สำเร็จโดยเร็ว จนในที่สุดก็พอกพูนจนทำสำเร็จได้ยาก

ยื่นหมูยื่นแมว หมายถึง แลกเปลี่ยนโดยมีของให้รับพร้อมๆ กัน

 

เต่า

ข้าเก่าเต่าเลี้ยง หมายถึง คนที่เคยรับใช้หรือเลี้ยงดูมานาน

โง่เง่าเต่าตุ่น หมายถึง โง่เหลือขนาด ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เต่าใหญ่ไข่กลบ หมายถึง ทำผิดแล้วพยายามกลบเกลื่อนปิดบังความผิดไม่ให้คนอื่นรับรู้

 

คน

คนดีผีคุ้ม หมายถึง คนทำดีย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา คอยคุ้มครอง ไม่มีภัย

คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หมายถึง การทำอะไรที่มีความเสี่ยงไม่ควรทำตามลำพัง

คนตายขายคนเป็น หมายถึง จัดงานศพใหญ่โตอาจทำให้สิ้นเปลืองจนถึงขั้นยากจน เดือดร้อนเพราะคนที่ตายไปแล้ว

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า หมายถึง คนที่มีความคิดเห็นสวนทางกัน คนไม่เคยเห็นเคยเจอก็อยากเห็นอยากเจอ คนที่เคยเห็นเคยเจอแล้วก็ไม่อยากอยู่ในสภาพนั้น

คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ หมายถึง คนรักมีน้อยกว่าคนที่เกลียดชัง

คนล้มอย่าข้าม หมายถึง อย่าดูถูกคนที่พลาดพลั้งหรือตกต่ำ

คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบหาสมาคมกับใครควรพินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อน

อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา หมายถึง ให้อภัยคนที่ขาดสติ

คนจรหมอนหมิ่น หมายถึง คนพเนจรไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง คบคนชั่วก็ถูกชักพาไปทำชั่ว คบคนดีก็จะพากันทำดี

 

 

เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5

เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5



ย้อนกลับไปเกือบ 150 ปีก่อน บนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในเอเชียอย่างยากที่จะยับยั้ง ความคิด”อย่างฝรั่ง” มีอิทธิพลมากถึงขนาดกลืนกลินวัฒนธรรมในบางประเทศไปจนหมดสิ้น ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดอ่าน และตั้งรับเรื่องนี้ด้วยการให้เหล่าราชวงศ์ทั้งผู้น้อง พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ทุกองค์ เล่าเรียนภาษาอังกฤษให้แตกฉาน ซึ่งอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงถือเป็นกษัตริย์ในทวีปเอเชียคนหนึ่งเลยทีเดียว ที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามเมื่อพระองค์ทรงพบปะกับกษัตริย์ และพระราชินีของประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสามารถตรัสสนธนาได้อย่างเป็นกันเอง และสนิทสนมกับเหล่าบรรดาเชื้อพระวงศ์ตะวันตกอย่างแน่นแฟ้น อันนำเอาประโยชน์ต่างๆ มาสู่สยามมากมาย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน เป็นครูและลูกศิษย์ที่มีความผูกพันธ์กันตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงพระเยาว์ แต่ด้วยความที่เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เมื่อคราวโตขึ้น แม้ทั้งคู่จะนัดแนะเจอกันสักขนาดไหน ก็มีเหตุให้การพบปะกันนั้นต้องเป็นการล้มเหลวไปทุกครั้งจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งต้องจบชีวิตไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้พบหน้ากันเลย สร้างความโศรกเศร้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้ทรงบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ “ความทรงจำ”พระนิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลังจากที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จกลับจากการประพาสอินเดีย ได้ทรงริเริ่มความคิดขึ้นมาหนึ่งอย่าง คือในปี พ.ศ.2415 ทรงได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ อันเป็นความคิดที่ทรงดำริมานานแล้ว แต่ไม่สามารถหาครูผู้สอนได้ แต่ในเวลานั้น ได้มีครูชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางมาเยี่ยมน้าชายของเขาในสยาม เขาคนนั้นคือ นาย “ฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน” เขาผู้นี้คือหลานชายของหลวงรัถยาพิบาลบัญชา (กัปตัน Samuel Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษผู้รับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาการกองโปลิศ(กรมตำรวจ)ของสยามเป็นคนแรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบ ก็ทรงโปรดให้ว่าจ้างไว้เป็นครูนั่นเอง
ในเหล่าบรรดาลูกศิษย์ที่ได้ร่วมเรียนในเวลานั้นมีเชื้อพระวงศ์อยู่หลายพระองค์ รวมทั้งเหล่าบรรดามหาดเล็กด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าบรรดาเจ้านายผู้พี่ เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจต้องช่วยราชการ รวมไปถึงพวกบรรดามหาดเล็กก็ติดงานหน้าที่ ทำให้เหลือจำนวนนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด เหลือเพียงเจ้านายที่เป็นลูกศิษย์รัก (Favorite Pulpils) เพียง 4 พระองค์เท่านั้น อันได้แก่ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ, สมเด็จพระราชปิตุลาฯ,สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในช่วงแรกที่ทรงได้เปิดการเรียนการสอน ก็ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล เพราะศิษย์ก็ไม่เข้าใจภาษาของครู ครูก็ไม่เข้าใจภาษาของศิษย์ ต้องคอยเปิดหนังสือ “สัพพะพะวะจะนะ” อันเป็นพจนานุกรมที่สังฆราชปาลกัวทรงแต่งไว้ อย่างเป็นประจำ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าว่า มีครั้งหนึ่ง ท่านทรงได้แกล้งเพื่อนนักเรียน จนถูกครูแป๊ตเตอร์สันจับให้ยืนขึ้นบนเก้าอี้ที่มุมห้องเป็นเวลา 15 นาที ท่านเล่าว่าครั้งนั้นอาจถือเป็นครั้งแรกที่เด็กชาวไทยถูกทำโทษด้วยวิธีแบบฝรั่ง เมื่อเพื่อนนักเรียนต่างไม่เคยเห็น ก็พากันจ้องดูกันอย่างสนใจ พร้อมกับหัวเราะเยาะกันสนุกสนาน ด้วยความอับอายทำให้ท่านเหงื่อแตกโทรมไปหมดทั้งตัวหลังจากนั้นมาก็เข็ดหลาบ ไม่กล้าทำผิดอีกเลย
เมื่อเวลาล่วงเลยไป เจ้านายรุ่นพี่ทั้งสองพระองค์ก็เจริญพระชันษาขึ้น ต้องออกไปช่วยราชการบ้านเมือง ทำให้นักเรียนเหลือเพียง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรสรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนกระทั่งถึงปีระกา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงไปผนวชเป็นสามเณร ทำให้เหลือท่านเป็นลูกศิษย์รักของครูเพียงคนเดียวในท้ายที่สุด
เมื่อท่านเป็นลูกศิษย์ที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวทำให้ทรงใกล้ชิดกับครูแป๊ตเตอร์สันเป็นอย่างมาก เมื่อร่ำเรียนเสร็จแล้ว ครูแป๊ตเตอร์สันจะไปทำธุระที่ไหน หรือไปพบเพื่อนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบางกอกก็จะชักชวนให้พระองค์ทรงขึ้นรถไปด้วย ทำให้พระองค์ทรงคุ้นชินกับชาวต่างชาติตั้งแต่ในเวลานั้นเป็นต้นมา

เมื่อครบตามสัญญาการว่าจ้างที่ทำไว้กับสยาม 3 ปี ครูแป๊ตเตอร์สันก็ได้ออกจากสยาม และถูกรัฐบาลอังกฤษส่งไปเป็นครูที่เกาะมอรีเซียส ในมหาสมุทรอินเดียต่อไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของครูแป๊ตเตอร์สันอีกเลย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ในสมัยรัชกาลที่ ๖ อยู่ดีๆวันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงได้รับจดหมายจ่าหน้าถึงท่านว่า“ถึง พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” อันเป็นชื่อในวัยเด็กของท่าน คนที่ไปรษณีย์บางคนมีความรู้เรื่อง
ประวัติอยู่บ้าง จึงได้ทำการส่งมาให้ท่านถูก เมื่อเปิดซองทอดพระเนตรดูท่านก็ทรงดีใจเป็นอันมากเมื่อพบว่าเป็นจดหมายของครูชาวต่างชาติที่ท่านรักในวัยเด็ก ในจดหมายบอกเล่าเรื่องราวของครูแป๊ตเตอร์สันที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันตัวเขาได้เกษียณราชการและกลับไปอยู่ที่เกาะอังกฤษเรียบร้อยแล้วโดยได้อาศัยอยู่กับหลานชายที่เป็นนักพรตตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต อยู่ดีๆ นึกคิดถึงศิษย์เก่าในสยาม จึงได้ทำการเขียนจดหมายมาถามถึงว่า ศิษย์รักของท่านทั้ง 4 พระองค์ยังเป็นอยู่สบายดีรึเปล่า แต่ในเวลานั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และสมเด็จพระมหาสมณฯ ได้ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วเหลือแต่เพียงสมเด็จพระปิตุลาฯ และตัวท่าน ท่านจึงได้นำเอาจดหมายฉบับนั้นไปถวายสมเด็จพระปิตุลาฯ ทอดพระเนตร เมื่อสมเด็จพระปิตุลาฯทรงอ่านจดหมายก็ดีใจเป็นอันมาก ทรงได้เขียนจดหมายตอบ พร้อมพระรูป และเงินไปประทานเช่นเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง อีกทั้งท่านยังได้ทรงอธิบายไปถึงครูแป๊ตเตอร์สันในจดหมายว่า ปัจจุบันท่านใช้ชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนยศเมื่อทรงได้ช่วยราชการเมื่อเจริญพรรษาขึ้น ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ไม่นานก็มีจดหมายตอบจากครูแป๊ตเตอร์สันมาอีกครั้งว่า เสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ เพราะในปี 2434 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อนานมาแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ครูแป๊ตเตอร์สันกลับไปเยี่ยมบ้านที่อังกฤษพอดี มีข่าวครึกโครมว่ามีเจ้านายไทยพระองค์หนึ่งนามว่า “ปริ๊นซ์ ดำรง” ทรงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนได้ข่าวก็มาถามครูแป๊ตเตอร์สันว่ารู้จัก ปริ๊นซ์ ดำรง หรือไม่ ท่านก็ได้ตอบกลับไปว่า ไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่อปริ๊นซ์ ดำรงเลย และแสดงความเสียใจว่า “ไม่รู้เลย ว่าคือศิษย์รักของตัวเอง ถ้ารู้จะรีบไปหา” หลังจากนั้นพระองค์กับครูแป๊ตเตอร์สันก็ทรงเขียนจดหมายติดต่อกันเรื่อยมา

จนกระทั่งในปี 2473 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปพบครูรักของท่านในวัยเด็กให้ได้ ซึ่งเวลานั้นครูแป๊ตเตอร์สันมีอายุถึง 85 ปีแล้ว และอาศัยอยู่ที่เมืองคลอยส์เตอร์ กะว่าเมื่อไปพบจะทรงชวนฉายพระรูปฉายาลักษณ์ร่วมกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเด็ก เพื่อเอามาให้ลูกหลานของพระองค์ดู เมื่อท่านทรงเดินทางไปถึงกรุงลอนดอน เหล่าบรรดานักหนังสือพิมพ์ก็มารุมทำข่าว เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ ทุกคนถามท่านว่า “ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน” ท่านจึงได้ทรงตอบว่า เรียนในบ้านเมืองของตนเอง พวกนักหนังสือพิมพ์ก็พากันแปลกใจว่าใครไปสอนให้ ท่านจึงทรงตอบว่า
ชื่อมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แป๊ตเตอร์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันกลับมาอาศัยอยู่ที่เกาะอังกฤษแล้ว และจะทรงพยายามไปพบครูที่เมืองคลอยส์เตอร์ให้ได้ จากนั้นหนังสือพิมพ์จึงพากันตีพิมพ์ขึ้นสรรเสริญครูแป๊ตเตอร์สันกันอย่างแพร่หลายโด่งดังไปทั่วอังกฤษ จนกระทั่งพระองค์ทรงเสร็จสิ้นธุระในลอนดอน จึงได้ทรงให้อุปทูตติดต่อไปยังหลานชายของครูแป๊ตเตอร์สันที่เป็นนักพรต ว่าพระองค์มีพระประสงค์จะไปพบมิสเตอร์แป๊ตเตอร์สัน จะสะดวกวันใดบ้าง แต่คำตอบที่ได้ก็สร้างความตกใจให้พระองค์เป็นอย่างมาก หลานชายผู้เป็นนักพรตได้ตอบว่าตอนนี้ครูแป๊ตเตอร์สันประสบกับโรคชรา มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย และตั้งแต่ที่ได้ยินข่าวจาก
วิทยุว่าพระองค์ทรงเดินทางมาที่อังกฤษ ก็คิดจะบอกให้ครูแป๊ตเตอร์สันทราบ เพราะท่านทรงรักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาก แต่ด้วยที่มีอาการแทรกซ้อนมากเหลือเกิน จึงได้เอาไปปรึกษากับหมอก่อน ซึ่งหมอได้สั่งห้ามบอกครูเด็ดขาดเพราะเกรงว่าอารมณ์ความยินดีที่จะจู่โจมขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงทรงทราบดังนั้นก็จนใจ เพราะทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล หลังจากพระองค์ทรงออกจากกรุงลอนดอนมาได้ไม่นาน ก็ได้รับจดหมายจากนักพรตว่า ครูแป๊ตเตอร์สัน ถึงแก่กรรมแล้ว สร้างความโศรกเศร้าเสียใจให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก และเสียดายที่ไม่ได้พบครูที่ท่านรักในวัยเด็กสมประสงค์ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเศร้าทีเดียว เรื่องของพระองค์ท่านได้สอนให้เรารู้อย่างหนึ่งว่าบางครั้งโอกาสกับโชคชะตามักเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในที บางครั้งโอกาสที่เราได้รับ อาจไม่ได้ถูกยอมรับจากโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตมาเสมอไป 13 ปีต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสิ้นพระชนม์ในปี 2486

เนื้อเพลง