วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ทูล ทองใจ

 ทูล ทองใจ (1 มีนาคม พ.ศ. 2472 - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) มีชื่อจริงว่า น้อย ทองใจ เป็นนักร้องเพลงไทยสากลชายชาวไทย ผู้ที่ได้รับฉายาในวงการว่า "เจ้าชายแห่งรัตติกาล,เทพบุตรเสียงกังสดาล,นักร้องเสียงดุเหว่าแว่ว,สุภาพบุรุษลูกทุ่ง"

ทูล ทองใจ เดิมชื่อ น้อย ทองใจ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2472  ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ภายหลังครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอแม่กลอง พ่อของเขาเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ใช้สกุล "แซ่กิม" ต่อมาพ่อของเขาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น "ทองใจ" ส่วนแม่ของเขามีชื่อว่า "นิ่ม ทองใจ" ทูลเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาลูกทั้ง 4 คน

เวลาต่อมาพ่อของเขาได้เสียชีวิตตั้งแต่ทูลและพี่น้องของเขายังเล็ก ส่วนแม่ของเขาจึงได้สมรสใหม่และได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลมหาชัย และมีลูกด้วยกันอีก 1 คนเป็นผู้หญิง ทูลได้ช่วยเลี้ยงน้อง, ช่วยแม่ขายของ และหาบน้ำขาย

ทูลจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 เขาชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาเขาขึ้นเวทีร้องเพลงประกวดครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี เพลงที่ชื่นชอบเป็นพิเศษในช่วงนั้นคือ "ค่ำแล้วในฤดูหนาว" ของครูล้วน ควันธรรม และเพลง "หยาดฟ้ามาดิน" ของครูสมยศ ทัศนพันธ์ เขาไปประกวดที่เวทีไหน เขาจะนำ 2 เพลงนี้ขึ้นไปร้องประกวดเสมอและชนะเลิศทุกครั้ง

ในขณะที่อายุได้ 19 ปี เขาได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดร้อง นับเป็นกรรมการที่มีอายุน้อยที่สุด ทำให้เขาภูมิใจไม่เคยลืม หลังจากนั้นครูชาญชัย บังบังศร แนะนำให้ไปร้องเพลงอยู่ที่ห้องอาหารจังหวัดภูเก็ต ทนลำบากอยู่หลายปีเหมือนกัน จึงหวนกลับกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง

ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องอาชีพเริ่มเป็นจริง เมื่อได้เข้ารับราชการเป็นทหาร สังกัด ขส.ทบ. ความสามารถในการร้องเพลง ทำให้เขาได้เป็นนักร้องประจำวง “ลูกมาตุลี” ซึ่งเป็นวงดนตรีชื่อดังของกรมการขนส่งทหารบกในสมัยนั้น และได้รับยศทางทหารเป็นสิบตรี

เมื่อออกจากวง “ลูกมาตุลี” ของ ขส.ทบ. ขณะนั้นมียศสิบเอก ครูสิทธิ์ โมรกรานต์ นำไปพบกับครู “เบญจมินทร์” ครูเบญจมินทร์แต่งเพลงแรกให้ร้องบันทึกเสียง เมื่อปี พ.ศ.2499 ในเพลง “ทุยหน้าทื่อ” ต่อมาในปี พ.ศ.2500 หลังจากครูเบญจมินทร์เดินทางกลับจากประเทศเกาหลี ก็นำเพลงมาให้ครูรูมงคล อมาตยกุล เรียบเรียงเสียงประสาน จำนวน 4 เพลง มีเพลง “รำเต้ย” “รักแท้จากหนุ่มไทย” ครูร้องเอง “เสียงครวญจากเกาหลี” สมศรี ม่วงศรเขียว ขับร้อง และเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ให้ ทูล ทองใจ ขับร้อง ปรากฏว่าเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ดังมาก ทำให้ชื่อของทูลเกิดขึ้นในวงการเพลง


ต่อมาครูเบญจมินทร์แต่งให้ร้องอีกหลายเพลง เช่น “ปรารถนา” และหลายต่อหลายเพลง เนื่องจากครูเบญจมินทร์มีงานล้นมือ ทั้งงานด้านดนตรีและงานภาพยนตร์ จึงฝากทูล ทองใจ ให้ครูมงคลอุปการะต่อ และได้ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงให้อีกแรงหนึ่ง ทำให้ชื่อเสียงของทูล ทองใจ โด่งดังเป็นดาวค้าฟ้ามาตั้งแต่บัดนั้น

เมื่อออกจากวง “จุฬารัตน์” ก็ร่วมกับภรรยา “นวลสวาท ชื่นชมบุญ” ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง เมื่อปี พ.ศ.2511 พอมาถึงปี

พ.ศ.2515 ทูล ทองใจ สุขภาพไม่ค่อยดี “นวลสวาท ชื่นชมบุญ” จึงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงเอง นำทีมงานนักร้องนักดนตรีประมาณ 60 ชีวิต รับใช้แฟนเพลงอยู่ได้ระยะหนึ่งก็เลิกวง ทั้งทูลและนวลสวาทหันไปร้องเพลงประจำห้องอาหาร และร้องเรื่อยมาจนบั้นปลายของชีวิต ในช่วงหลังสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ลูก ๆ พยายามทัดทานให่หยุดร้องเพลง แต่เขาก็ไม่ยอม เนื่องจากได้ตั้งปณิธานเอาไว้แล้วว่า จะขับกล่อมเสียงเพลงให้ความสุขกับประชาชนจนลมหายใจสุดท้าย เพราะชีวิตเขาเกิดมาจากเพลง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2538 ก่อนเสียชีวิต 2 วัน ทูล ทองใจ ได้ไปที่ร้านเสริมสวยซึ่งอยู่ในซอยโรงเรียนช่างกลปัญจะ แถวสะพานควาย เพื่อหา “น้าออน” เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบให้กับเขาในบั้นปลายของชีวิต เนื่องจากวันนั้นเธอไปเสริมสวย เมื่อทูลไปถึงก็ถือโอกาสเสริมความงามให้กับตัวเองเสียเลย ทั้งสระผม ดัดผมให้เป็นลอนหยักศก ตัดเล็บมือเล็บเท้า เรียกว่าวันนั้นหล่อเป็นพิเศษเลยทีเดียว และคืนนั้นทูลก็ไปค้างคืนที่บ้าน “น้าออน” รุ่งเช้าก็กลับบ้านแถววัดน้อย ตอนเย็นของคืนวันที่ 30 มกราคม ก็ไปนอนค้างคืนที่บ้านของ “น้าออน” เช่นเดิม หลังจากรับประทานอาหารค่ำซึ่งเป็นมือสุดท้าย มีผัดคะน้ากับหมู ปลาทูปลาสลิต แล้วก็เข้านอน

เวลาประมาณ 01.00 น. ย่างเข้าสู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ “น้าออน” ได้ยินเสียงเขาหายใจติดขัด เสียงดังคล่อก ๆ สักพักก็หลับไป

กระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. “น้าออน” ต้องตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงทูลอาเจียนโอ้กอ้าก กับทั้งขับอุจจาระปัสสาวะออกมาโดยไม่รู้ตัว “น้าออน” จึงหายาให้ดม และเช็ดเนื้อตัวที่เปื้อนจนสะอาด พบว่าทูลขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ ร่างกายซีกซ้ายชา จึงตัดสินใจเรียกตำรวจ 5 – 6 นาย ช่วยนำส่งโรงพยาบาลวชิระ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดีใจหาย ใช้รถตำรวจเปิด “ไซเรน” รีบบึ่งนำร่างของทูล ทองใจ ส่งถึงโรงพยาลเพียงไม่กี่นาที แพทย์และพยาบาลนำร่างของทูลเข้าห้องฉุกเฉิน พยายามช่วยชีวิตเต็มที่

กระทั่งเวลา 20.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 คุณหมอไม่อาจยื้อชีวิตของเขาไว้ได้ ทูล ทองใจ ได้จากแฟนเพลงไปอย่างสงบ ด้วยโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตกจนเลือดคั่งในสมอง ในขณะที่มีอายุเพียง 67 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ของภรรยาและลูก ญาติมิตร ตลอดทั้งแฟนเพลงทั่วประเทศ ทิ้งไว้แต่เสียงเพลงที่เขาร้องหลายร้อยเพลง ซึ่งล้วนแต่เป็นอมตะ ให้เราได้ฟังกันอย่างมีความสุขจนถึงปัจจุบันนี้ เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) วงศ์สว่างซอย 7 ตั้งแต่คืนวันที่ 2 – 8 ก.พ.38 แล้วบรรจุศพเก็บไว้ 100 วัน

ทูล ทองใจ สมรสกับ นางนวลสวาท ชื่นชมบุญ มีบุตร 3 คน คนโตชื่อ พิณนภา ทองใจ (แหม่ม) คนที่ 2 ชื่อนวลน้อย ทองใจ (เจี๊ยบ) คนที่ 3 เป็นผู้ชาย ชื่อ อำนาจ ทองใจ (อยู่ต่างประเทศ)

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

1. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดชิงชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2509 ในเพลง “รักใครไม่เท่าน้อง” ผลงานของครู พยงค์ มุกดา

2. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดชิงชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2514 ในเพลง “นางรอง” ผลงานของครู พยงค์ มุกดา

3. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดแผ่นเสียงทองคำ ปี พ.ศ.2522 ในเพลงความหลังฝังใจ” คำร้อง “อิงอร” ทำนอง- ดนตรี-เรียบเรียงเสียงประสานโดยครูมงคล อมาตยกุล



วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ยอดรัก สลักใจ

 ยอดรัก สลักใจ (ชื่อเล่น แอ๊ว) หรือชื่อจริง สิบตำรวจโท นิพนธ์ ไพรวัลย์ (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 — 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551) เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองไทยเป็นที่รู้จักในนาม "พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล" มีผลงานที่สร้างชื่อหลากหลายเพลง เพลงที่รู้จักกันดี ได่แก่ "30 ยังแจ๋ว"

แอ๊ว"ยอดรัก สลักใจ" มีชื่อจริงว่า "ส.ต.ต.นายนิพนธ์ ไพรวัลย์" เกิดเมื่อวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ต.งิ้วราย อ.ตะพานหิน จ. พิจิตร เป็นบุตรของนายบุญธรรม ไพรวัลย์กับนางบ่าย ไพรวัลย์มีพี่น้องรวม 8 คน ชาย 7 คน หญิง 1 คน"แอ๊ว"เป็นคนสุดท้องจบการศึกษาชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านหาดแตง ด.ช. นิพนธ์มีความใฝ่ฝันตอนเป็นเด็นว่าอยากเป็นหมอรักษาคนไข้ แต่เพราะฐานะทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียนให้จึงจำเป็นต้องลาออก ต่อมาก็มีคณะรำวงคณะ"เกตุน้อยวัฒนา"มาเล่นที่จังหวัดพิจิตร แอ๊วจึงไปสมัครร้องเพลงและเชียร์รำวง หลังเลิกก็จะได้เงินครั้งละ 5-10บาท ต่อมาได้ผันตัวเองเข้ามาร้องเพลงในห้องอาหารย่าน ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยได้ใช้เพลง"ไพรวัลย์ ลูกเพชร,ชาย เมืองสิงห์,สุรพล สมบัติเจริญ,ไวพจน์ เพชรสุพรรณ แล้ววันหนึ่ง เด็ดดวง ดอกรัก นักจัดรายการดังสถานีวิทยุ ท.อ.04 ตาคลี ฟังเพลงที่ห้องอาหารและฟังเพลงใต้เงาโศกของไพรวัลย์ ลูกเพชรที่แอ๊วร้อง เกิดความประทับ เด็ดดวง ดอกรักจึงได้พูดคุยและชักชวนเข้าสู่วงการ ตั้งชื่อให้ว่า ยอดรักลูกพิจิตรและได้บันทึกแผ่นเสียง7 เพลงที่อาจารย์ชลธี ธารทองเป็นผู้แต่งประกอบด้วยสงกรานต์บ้านทุ่ง,น้ำสังข์ น้ำตา,เต่ามองดวงจันทร์,คนบ้านนอก,จากใต้ถึงอีสาน,รักสาวมอญ,รักสาวไกลบ้าน

แต่ก่อนจะบันทึกแผ่นเสียงเด็ดดวงดอกรักนำยอดรัก ลูกพิจิตรมาฝากกับอาจารย์ชลธี ธารทอง ยอดรักอยู่เลี้ยงลูกให้อาจารย์ชลธี ธารทองมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี อาจารย์ชลธีก็หาแนวทางว่ายอดรักจะไปแนวไหนดี เพราะช่วงนั้น สายัณห์ สัญญา ดังเป็นพลุแตกในเพลงลูกสาวผู้การ,รักเธอเท่าฟ้า จึงคิดแนวทางให้ยอดรักฉีกไปอีกแบบหนึ่งกระทั่งวันหนึ่งเกิดสงครามทางชายแดนขึ้น ในปีพ.ศ.2518 เหล่าทหารที่รอดตายจากสงครามก็ได้มาออกโทรทัศน์ว่า คนที่อยู่แนวหน้าลำบากมากเหลือเกิน อยากให้แนวหลังช่วยส่งกำลังใจไปช่วยบ้าง อาจารย์ชลธีธารทอง จึงแต่งเพลง จดหมายจากแนวหน้าให้ยอดรักได้ร้องในปลายปี2518 และตอนบันทึกแผ่นเสียงเพลงจดหมายจากแนวหน้า อาจารย์ชวนชัย ฉิมพะวงศ์เปลี่ยนนามสกุลจากยอดรัก ลูกพิจิตร มาเป็น"ยอดรัก สลักใจ" โดยอาจารย์ชวนชัยให้เหตุผลไว้ว่า ชื่อยอดรักนั้นเพราะอยู่แล้วมีความหมายที่ดีเป็นที่รักของทุก ๆ คน และเมื่อมียอดรักแล้ว เราก็ต้องสลักไว้ในใจแฟนเพลง จึงเป็นที่มาของชื่อ ยอดรัก สลักใจ

วงดนตรียอดรักสลักใจ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2519 มี เด็ดดวง ดอกรัก เป็นผู้จัดการวงดนตรี แสดงที่หนองบัว จ.นครสวรรค์ และวงดนตรียอดรัก สลักใจก็ยังเป็นวงดนตรี ที่ครองแชมป์รายได้ 3 ปีซ้อน ในสมัยที่มาทำวงกับพนม นพพรในยุคของเพลงชุด โกลเด้นท์ซอง"เอาแน่,อยู่กับยาย,ยิ้มให้คุณ "ยอดรัก"มีโอกาสเข้าโรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อจนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 ปริญญาครุศาตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะ การแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี สหวิทยาลัย ผลงาน ด้านละคร"ยอดรัก สลักใจ นักร้องผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถเคยผ่านเส้นทางบนแผ่นฟิล์มและจอแก้วมาแล้วมากมาย ละคร"ล่องเรือหารัก" เป็นละครเรื่องหนึ่งที่สร้างชื่อให้ ยอดรัก สลักใจ ในฐานะนักแสดงและร้องเพลงประกอบในชื่อเดียวกัน ยอดรักแสดงคู่กับ "กบ" ปภัสรา ชุตานุพงษ์ สร้างปี 2533-2534 และนำมาฉายอีกครั้งปี 2536-2537 โดย ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้กำกับคือ ประวิทย์ ชุมฤทธิ์ ฉายทางช่อง 3

ละครเรื่องนี้ทำให้เพลง"ล่องเรือหารัก" โด่งดัง เป็นเพลงอมตะและมีนักร้องเวทีประกวดร้องเพลงต่างๆ นำไปเป็นเพลงประกวดมากมายหลายเวที โดยผู้ประพันธ์เพลงคือศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง ซึ่งเป็นเพลงที่ สุริยัน ส่องแสง นักร้องลูกทุ่งที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้ร้องเป็นต้นฉบับ แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากมายนัก เรื่องต่อมาที่ยอดรักร่วมแสดงคือ "มนต์รักลูกทุ่ง" ฉบับ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง กับ "น้ำผึ้ง" ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ นอกจากนี้ยังมี สวรรค์บ้านทุ่ง, สุรพล (คนจริง) สมบัติเจริญ, อะเมซิ่งโคกเจริญ และ มนต์รักแม่น้ำมูล ส่วนใหญ่จะเป็นละครที่มีเพลงลูกทุ่งประกอบทั้งสิ้น นอกจากละครทางจอแก้วแล้วยอดรัก สลักใจ ยังร่วมแสดงภาพยนตร์ไว้หลายเรื่องมาก เรื่องแรกที่แสดงนั้น เมื่อปี 2523 ก็ไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเพลงและเรือ นั่นคือเรื่อง "เรือเพลง" แสดงคู่กับ วาสนา สิทธิเวช เรื่องต่อมาคือ "สงครามเพลง" เข้าฉายปี 2526 แสดงคู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นหนังที่ ฉลอง ภักดีวิจิตร ทุ่มทุนสร้าง โดยระดมดารานักร้องมาร่วมแสดงมากมาย และอีก 7 ปีต่อมา เรื่องนี้นำมาสร้างอีกครั้งในภาค 2 ชื่อ สงครามเพลงแผน 2 ในปี 2533 โดย ยอดรัก แสดงคู่กับ สุนารี ราชสีมา

ปี2527 ถือเป็นปีทองของยอดรักในด้านการแสดงภาพยนตร์ เพราะมีออกมาด้วยกันหลายเรื่อง เริ่มจาก สาวนาสั่งแฟน กับ อีแต๋นไอเลิฟยู แสดงคู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ สาลิกาลิ้นทอง แสดงคู่กับ อภิรดี ภวภูตานนท์ ไอ้หนุ่มรถอีแต๋น แสดงคู่กับ ปิยะมาศ โมนยะกุล ทหารเกณฑ์เจอผี มี โน้ต เชิญยิ้ม กับ ยอด นครนายก ร่วมแสดง เรื่องที่ออกฉายไล่เลี่ยกันคือ เสน่ห์นักร้อง แสดงร่วมกับ สายัณห์ สัญญา เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่แสดงร่วมกันระหว่างสองนักร้องคู่นี้ ปัจจุบันความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นเส้นขนานไปแล้ว ยอดรักได้แสดงภาพยนตร์ประกบดาราดังหลายคนอย่างจารุณี สุขสวัสดิ์ นางเอกยอดนิยมในยุคนั้น ก็เคยแสดงร่วมกับยอดรัก ในเรื่อง นักร้องพ่อลูกอ่อน เมื่อปี 2528 ปี2530 ยอดรัก มีภาพยนตร์ 2 เรื่องออกฉาย คือ เพลงรัก เพลงปืน เล่นคู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และเรื่อง อยู่กับยาย ที่มี ศิรินทรา นิยากร นักร้องลูกทุ่งสาวร่วมแสดงด้วย และอีก 2 ปีต่อมา ศิรินทรา ได้ประกบยอดรักอีกครั้งในเรื่อง อ้อนรักแฟนเพลง ทิ้งช่วงไปราว12 ปี ต้นปี 2545 ยอดรักได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ที่รวมคนลูกทุ่งมากที่สุด ในเรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม ที่สหมงคลฟิล์ม ร่วมกับสถานีวิทยุลูกทุ่งเอฟเอ็ม สร้าง กำกับโดย บัณฑิต ทองดี ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ยอดรัก แสดงนั้น แทบทั้งหมดจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพลงทั้งสิ้น แต่มีเรื่องเดียวที่ ยอดรัก รับบทเป็นหมอ ในเรื่อง เสือ โจรพันธุ์เสือ มี อำพล ลำพูน แสดงนำ ส่วนเรื่องล่าสุดที่แสดงก่อนจะป่วยคือ อีส้มสมหวัง ที่มีนางเอกสาว สุวนันท์ คงยิ่ง แสดงนำ เข้าฉายเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา โดย ยอดรัก สลักใจ รับบทเป็นนักร้องลูกทุ่งซึ่งเป็นบทที่แสดงเป็นตัวเขาเอง ในระหว่างนั้นอาการเจ็บป่วยในช่องท้องเริ่มก่อตัวจนกระทั่งโรคมะเร็งมาแผลงฤทธิ์จนต้องนอนโรงพยาบาลในวันนี้ ผลงานเพลงของยอดรักได้รับรางวัลเกียรติยศจำนวนมาก - เสาอากาศทองคำพระราชทาน นักร้องชายยอดเยี่ยมยอดนิยม เมื่อปี พ.ศ.2520 ในเพลง ทหารเรือมาแล้ว - ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ปี พ.ศ. 2522 นักร้องชายยอดเยี่ยม จากเพลง กำนันกำใน - ได้รับรางวัล ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลงทหารใหม่ไปกอง, จักรยานคนจน - ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน นักร้องชายยอดเยี่ยม ปีพ.ศ. 2539 จากเพลง มนต์รักลูกทุ่ง - ได้รับรางวัลทีวีมาชนของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง - ปี 2523 ได้รับเกียรติให้ร้องเพลงชนะเลิศ จากการประกวดวันแม่แห่งชาติ คือ เพลง แม่พระประชาไทย,แด่พระบารมี - ได้ร้องเพลงถวายวันครบรอบ 90 พรรษา ของสมเด็จย่า ในเพลง สมเด็จย่า แต่งโดย จิ๋ว พิจิตร จัดทำโดย กองทัพบก - ปี 2535 ได้ร้องเพลงในชุดเฉลิมพระเกียรติ สดุดี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในเพลง แม่สยาม - ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน นักร้องชายยอดเยี่ยม ปีพ.ศ. 2542 จากเพลง เทพธิดาพยาบาล - ได้รับรางวัลนักร้องยอดนิยม จากเพลง ไอ้หนุ่มตู้เพลง ปี พ.ศ. 2523 - ได้รับรางวัลนักร้องยอดนิยม จากเพลง รักแม่ม่าย ปี พ.ศ. 2524 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ได้ร่วมขับร้องเพลง ชุด ลูกทุ่งดอนเจดีย์ โดยขับร้องไว้ 2 บทเพลงคือ เพลง ลูกทุ่งดอนเจดีย์ (ร้องหมู่) และเพลงกะเหรี่ยงลาตาย ในงานมหกรรมดอนเจดีย์ ที่จังหวัด สุพรรณบุรี

พ.ศ. 2550 ยอดรักถูกตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับระยะแรก และได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 01.05 น. ด้วยวัย 52 ปี พิธีศพของยอดรักได้จัดขึ้นไว้ ณ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

ในขณะที่ยอดรักเข้ารับการรักษาตัว สายัณห์ สัญญา นักร้องลูกทุ่งผู้ที่เป็นคู่แข่งกับเขานั้นได้กล่าวหาว่าเขามิได้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทำให้เสรี รุ่งสว่าง นักร้องผู้ซึ่งเป็นเพื่อนของยอดรักมาปกป้องจนมีกรณีขัดแย้งกันและหลังจากยอดรักได้ลาลับลง เสรี รุ่งสว่างจึงออกบวชอุทิศส่วนกุศลให้

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ทำไมญี่ปุ่นไม่มีทหาร



หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐเข้ามาควบคุมกำลังทหารของญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยมีข้อห้ามว่า ไม่อนุญาตให้ญี่ปุ่นทำสงครามกับประเทศใดๆเลยเว้นแต่กระทำเพื่อป้องกันประเทศตนเองเท่านั้น ที่สำคัญคือไม่มีศาลทหารและกระทรวงกลาโหม

บุคคลที่เข้ามาทำงานในกองกำลังป้องตนเองพวกเขาจะเรียกตนเองว่าเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นพลเรือนมิใช่ทหาร ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะจัดตั้งกระทรวงกลาโหมขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 แต่ว่าก็ยังคงชื่อไว้ว่า กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น

ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ครม.ญี่ปุ่นได้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นใหม่ โดยญี่ปุ่นมีสิทธิส่งกำลังทหารไปร่วมรบเพื่อปกป้องชาติพันธมิตร

โครงสร้าง

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 自衛隊 じえいたい Jieitai, จิเอไต) หรือ JSDF บางครั้งเรียกว่า JSF หรือ SDF เป็นบุคลากรจากประเทศญี่ปุ่นที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพื่อแทนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกยุบ และฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองญี่ปุ่น ในเวลาหลังสงคราม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นถูกใช้งานในเฉพาะภายในประเทศมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศอธิปไตยชาติเพียงอย่างเดียวและไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ยกเว้นในสถานการณ์ที่เป็นการป้องกันตนเองในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น แม้อาจมีภารกิจในต่างประเทศในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ แต่ล่าสุดในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ครม.ญี่ปุ่นได้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นใหม่สรุปได้ว่า กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะสามารถส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจการป้องกันตนเองร่วมได้(Collectvie-Self Defence) ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อปกป้องชาติหนึ่งจากการถูกรุกราน โดยญี่ปุ่นจะสามารถไปช่วยเหลือชาติพันธมิตรใกล้ชิดที่ถูกโจมตีได้ หากการโจมตีนั้นเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของญี่ปุ่นและไม่มีวิธีอื่นในการปกป้องชีวิตชาวญี่ปุ่น

ในด้านการพัฒนาอาวุธ ในรธน.ญี่ปุ่นถูกกำหนดห้ามพัฒนาอาวุธในเชิงรุก ส่วนในด้านการห้ามส่งออกอาวุธนั้น แม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเองเมื่อปีพ.ศ. 2510 แต่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายกฎห้ามส่งออกอาวุธ โดยสามารถส่งออกอาวุธและมีส่วนร่วมในการผลิตอาวุธกับนานาชาติได้ แต่ญี่ปุ่นจะไม่ส่งออกอาวุธให้แก่ประเทศที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง หรืออาจเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ นอกจากนี้ การจำหน่ายอาวุธก็จะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมสันติภาพสากลคือต้องเป็นยุทโธปกรณ์ที่ไม่ใช่เพื่อสังหาร และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นเอง

ส่วนในด้านการสนันสนุนกองกำลังต่างชาติ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแก้ไขกฎบัตรว่าด้วยการสนับสนุนต่างชาติ โดยสามารถมอบทุนสนับสนุนภารกิจของกองกำลังต่างชาติที่มิใช่การสู้รบ

มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังป้องกันตนเอง และในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 ก็ได้มีการจัดตั้งกระทรวงกลาโหมครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

งบประมาณกลาโหมญี่ปุ่น ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 7ของโลก 4.98 ล้านล้านเยน (ราว 1.39 ล้านล้านบาท)

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น JSDF มีจำนวนบุคลากรในปี ค.ศ. 2005 มีจำนวน 239,430 นาย แบ่งเบ็น

  • กองกำลังป้องกันตนเองทางบกจำนวน 147,737 นาย
  • กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลจำนวน 44,327 นาย
  • กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศจำนวน 45,517 นาย


วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ชลธี ธารทอง



กลายเป็นข่าวเศร้าในวงการเพลงลูกทุ่งอีกครั้ง เมื่อ ครูชลธี ธารทอง ครูเพลงชื่อดัง เสียชีวิตแล้วในวัย 85 ปี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังจากเข้ารักษาตัวด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดเมื่อ 24 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลารักษาตัวนานกว่า 3 เดือน และเสียชีวิตอย่างสงบ ณ รพ.ศิริราช

ชลธี ธารทอง มีนามเดิมว่า สมนึก ทองมา เป็นนักประพันธ์ชายเพลงไทยลูกทุ่ง มีผลงานเพลงเป็นที่รู้จัก และได้สร้างนักร้องมีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนประดับวงการเพลงในประเทศไทย ชลธี ธารทอง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) ประจำปี 2542

ชลธี ธารทอง มีชื่อจริงว่า สมนึก ทองมา[1] เกิดเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2480 [2] ที่ จ.ชลบุรี พ่อมีอาชีพรับจ้างเร่ร่อนไปทั่ว แม่เจ็บท้องคลอดตอนกำลังเกี่ยวข้าว และตกเลือดตายตั้งแต่อายุ 6 เดือน ตอนเขาเกิด แม้แต่ผ้าขี้ริ้วที่จะนำมาทำผ้าอ้อมก็ยังไม่มี ชีวิตในวัยเด็กนั้นยากจน ชลธีเข้าเรียนชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนวัดแก้วศิลาราม ที่ชลบุรี มาต่อชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนวัดโคกขี้หนอน ที่ชลบุรี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จากนั้นก็ย้ายมาอยู่กับญาติที่ราชบุรี เขาเคยผ่านงานมาหลากหลาย ทั้งทำนา ทำไร่ ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ ก่อสร้าง นักมวย ลิเกนักพากย์หนัง หางเครื่อง กรรมกร และนักร้อง  

ชลธีสนใจการร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เล็ก และเคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง เชียร์รำวงชื่อ ดังอีกวงของยุคนั้น ต่อมาสมัครเข้าเป็นนักร้องในวงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ​ ราชาเพลงลูกทุ่งไทย และได้ขึ้นเวที ในวันที่มาสมัคร แต่เนื่องจากไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปกลับต่างจังหวัด (ราชบุรี) ขณะเดียวกันก็ไม่ชำนาญเส้นทางในกรุงเทพ จึงมาเข้าวงสายตลอด 3 วันถัดมา จึงถูกไล่ออก

จากนั้นก็มีผู้ชักชวนให้มาอยู่กับวงลิเก และพากย์หนัง ก่อนจะบวช หลังจากสึกก็มาเป็นหางเครื่องอยู่กับวง เทียนชัย สมยาประเสริฐ ที่มีนักร้องดังอย่าง ผ่องศรี วรนุช ซึ่งเป็นภรรยารวมอยู่ด้วย แต่ลาออกจากวงเพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยทองของนักร้องในวงระหว่างที่รถของคณะเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ

ต่อมา ได้สมัครประกวดร้องเพลงที่จัดโดยวงรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทองโดยใช้เพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง ซึ่งเขาก็ชนะ และครูสำเนียงรับให้มาอยู่ร่วมคณะ แต่ไม่ได้ขึ้นร้องเพราะนักร้องเต็ม และครูสำเนียงเป็นคนตั้งชื่อให้เขาว่า ชลธี ธารทอง เพราะเป็นคนเมืองชลฯ หลังจากอยู่มาปีครึ่ง ชลธี จึงได้ขึ้นร้องเพลง และต่อมาได้อัดแผ่นเสียงรวม 4 เพลง แต่ไม่ดังสักเพลง ระหว่างนั้น ถ้ามีเวลาว่าง เขาก็ได้ศึกษาวิชาแต่งเพลงอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากครูสำเนียง และก็ได้นำความรู้ความสามารถในการเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้ในการแต่งเพลง

ระหว่างที่อยู่วงรวมดาวกระจายนี้เองที่เพลง "พอหรือยัง" ของชลธี ถูกศรคีรี ศรีประจวบนำไปร้องจนประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาเป็นคนแต่ง เพราะเพลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาไปหลงรักสาวร่วมวงรวมดาวกระจาย และก็อกหัก เลยแต่งเพลงนี้นำมาร้องแก้กลุ้ม พอดีมีนักร้องชายในวงอีกคนเกิดชอบ ก็มาขอไปร้องบนเวที ต่อมานักร้องคนนั้นโดนไล่ออก และได้ไปอยู่กับวงศรคีรี และเมื่อศรคีรีได้ยินเพลงนี้จึงถามว่าใครแต่ง นักร้องคนนั้นได้บอกว่าเขาแต่งเอง ศรคีรีจึงขอเอามาอัดแผ่นเสียงโดยใช้ชื่อคนแต่งว่าศรคีรี เมื่อชลธี ธารทอง ออกมา ทักท้วง ศรคีรี ก็ได้มาอธิบายจนเป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่าย

ครั้งที่อยู่กับวงรวมดาวกระจาย ชลธีมีโอกาสบันทึกเสียง 4 เพลง แต่ไม่ดังสักเพลง ต่อมาชลธี ถูกไล่ออกจากวงรวมดาวกระจาย ในข้อกล่าวหาดังแล้วแยกวง ซึ่งไม่เป็นความจริง จากนั้นก็มีนายทุนออกเงินตั้งวงให้ ชื่อวง "สุรพัฒน์" แต่ก็ไปไม่รอด ขณะที่เพลงของเขาก็ขายไม่ค่อยได้เพราะคนไม่รู้จักชื่อเสียง ก็พอดีกับศรคีรีมาขอให้ช่วยแต่งเพลงให้ แต่พอเขาแต่งเพลงชุดนั้นเสร็จ ศรคีรีก็มาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน ชลธีจึงตัดสินใจหันหลังให้วงการเพลง และหอบครอบครัวไปช่วยพ่อตาแม่ยายทำไร่ข้าวโพดที่แก่งเสือเต้น แต่ก่อนจะไปจากกรุงเทพฯ เขาบังเอิญไปพบกับเด็กล้างรถที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล ซึ่งมีเสียงถูกใจจึงได้มอบเพลง 2 เพลงที่กะจะให้ศรคีรีกับเด็กคนนั้นไปโดยไม่คิดเงิน ต่อมาเด็กคนนั้นก็คือสายัณห์ สัญญา ที่โด่งดังจากเพลง"ลูกสาวผู้การ" และ "แหม่มปลาร้า"ที่เขามอบให้ในวันนั้น

เมื่อสายัณห์โด่งดัง เขาจึงถูกมนต์ เมืองเหนือเรียกตัวกลับกรุงเทพเพื่อให้มาแต่งเพลง ทำให้ลูกศิษย์คนต่อมาของเขาก็คือ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง​ โด่งดังจากเพลง"ทหารอากาศขาดรัก" จากนั้นชลธีก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลงานและสรรหานักร้องคุณภาพออกมาประดับวงการอยู่เนืองๆ จนประสบความสำเร็จอย่างมาก และในที่สุดก็ได้รับฉายาจาก "ยิ่งยง สะเด็ดยาด" คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ว่า " เทวดาเพลง "

ชลธี ธารทองเคยหันมาจับธุรกิจทำวงดนตรีลูกทุ่ง โดยทำวงให้กับ สุริยัน ส่องแสง แต่ปรากฏว่า นักร้องนำถูกยิงตายเสียก่อน เขาเลยต้องเป็นหนี้ยกใหญ่

บทเพลงของชลธี ธารทองมีจุดเด่นในการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์มาใช้ในการแต่งเพลง เนื้อหามีสาระส่งเสริมคุณค่าวิถีชีวิตไทย ท่วงทำนองเพลงมีความไพเราะตรึงใจผู้ฟัง บทเพลงมีความดีเด่นในศิลปะการประพันธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ เป็นนักแต่งเพลงที่แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงเอง ผลงานเพลงล้วนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลง สร้างนักร้องลูกทุ่งให้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากอาทิ สายัณห์ สัญญายอดรัก สลักใจก๊อต จักรพันธ์ศรเพชร ศรสุพรรณสดใส รุ่งโพธิ์ทองเสรีย์ รุ่งสว่างเอกพจน์ วงศ์นาคแอ๊ด คาราบาวมนต์สิทธิ์ คำสร้อยดำรง วงศ์ทอง เป็นต้น

ครูชลธี มีลูก 2 คนที่เกิดกับภรรยาคนแรก คือ นายเอกรินทร์ ทองมา หรือหนุ่ม กับ นางสาวชลาลัย ทองมา หรือแนน ส่วนภรรยาคนที่ 2 คือนางศศิวิมล ทองมา หรือครูปุ้ม ซึ่งมีอายุห่างกันถึง 28 ปี


ชลธี ธารทองมีผลงานการประพันธ์เพลงมากกว่า 2,000 เพลงที่เป็นที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น

  • พอหรือยัง (สายัณห์ สัญญา)
  • จำปาลืมต้น (สายัณห์ สัญญา)
  • ไอ้หนุ่มรถไถ (สายัณห์ สัญญา)
  • วานนี้รักวันนี้ลืม (สายัณห์ สัญญา)
  • คาถามัดใจ (สายัณห์ สัญญา)
  • ปิดห้องร้องไห้ (สายัณห์ สัญญา)
  • นางฟ้ายังอาย (สายัณห์ สัญญา)
  • พบรักปากน้ำโพ (สายัณห์ สัญญา)
  • คำสั่งเตรียมพร้อม (สายัณห์ สัญญา)
  • คนซื่อที่ไร้ความหมาย (สายัณห์ สัญญา)
  • ทหารอากาศขาดรัก (สายัณห์ สัญญา)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (สายัณห์ สัญญา)
  • นักเพลงคนจน (สายัณห์ สัญญา)
  • แหม่มปลาร้า (สายัณห์ สัญญา)
  • ยินดีรับเดน (สายัณห์ สัญญา)
  • รักทรมาน (สายัณห์ สัญญา)
  • น้ำตาอีสาน (สายัณห์ สัญญา)
  • ลูกสาวผู้การ (สายัณห์ สัญญา)
  • กินอะไรถึงสวย (สายัณห์ สัญญา)
  • ของขวัญจากแฟน (สายัณห์ สัญญา)
  • ล่องเรือหารัก (สายัณห์ สัญญา)
  • ไอ้หนุ่มตังเก (สายัณห์ สัญญา)
  • ของขวัญให้แฟน (สายัณห์ สัญญา)
  • ของขวัญคนจน (สายัณห์ สัญญา)
  • เทพธิดาผ้าซิ่น (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • จดหมายจากแม่ (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • หนุ่มทุ่งกระโจมทอง (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • ร้องเพลงเพื่อแม่ (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • คนกล่อมโลก (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • กอดแก้จน (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • ยินดีรับเดน (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • รักอันตราย (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • ไอ้หนุ่มรถซุง (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • เรียกพี่ได้ไหม (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • ปิ๊กบ้านเฮาเต๊อะ (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
  • จดหมายจากแนวหน้า (ยอดรัก สลักใจ)
  • จำปาลืมต้น (ยอดรัก สลักใจ)
  • สาวผักไห่ (ยอดรัก สลักใจ)
  • ล่องเรือหารัก (ยอดรัก สลักใจ)
  • กินอะไรถึงสวย (ยอดรัก สลักใจ)
  • ทหารอากาศขาดรัก (ยอดรัก สลักใจ)
  • ห่มธงนอนตาย (ยอดรัก สลักใจ)
  • นักเพลงคนจน (ยอดรัก สลักใจ)
  • ไอ้หนุ่มตังเก (ยอดรัก สลักใจ)
  • น้ำตาอีสาน (ยอดรัก สลักใจ)
  • พอหรือยัง (ยอดรัก สลักใจ)
  • รักทรมาน (ยอดรัก สลักใจ)
  • เงินใช่ไหม (ยอดรัก สลักใจ)
  • คนบ้านนอก (ยอดรัก สลักใจ)
  • สวรรค์บ้านทุ่ง (ยอดรัก สลักใจ)
  • เลือดสีเดียวกัน (ยอดรัก สลักใจ)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (ยอดรัก สลักใจ)
  • หน้าอย่างเธอจะรักใครจริง (สดใส รุ่งโพธิ์ทอง)
  • สาวผักไห่ (สดใส รุ่งโพธิ์ทอง)
  • ไอ้ทองร้องไห้ (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • สาวผักไห่ (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • น้ำตาอีสาน (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน (ก๊อต จักรพันธ์)
  • ทหารอากาศขาดรัก (ก๊อต จักรพันธ์)
  • นางฟ้ายังอาย (ก๊อต จักรพันธ์)
  • ไอ้หนุ่มตังเก (ก๊อต จักรพันธ์)
  • กินอะไรถึงสวย (ก๊อต จักรพันธ์)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (ก๊อต จักรพันธ์)
  • ไอ้หนุ่มทุ่งกระโจมทอง (ก๊อต จักรพันธ์)
  • จดหมายจากแนวหน้า (ก๊อต จักรพันธ์)
  • ล่องเรือหารัก (ก๊อต จักรพันธ์)
  • สาวผักไห่ (ก๊อต จักรพันธ์)
  • พอหรือยัง (ก๊อต จักรพันธ์)
  • ลูกสาวผู้การ (ก๊อต จักรพันธ์)
  • เมตตาธรรม (เพลงการกุศล สมทบกองทุนเพื่อเด็กไทย)
  • ยังรักเสมอ (ดำรง วงศ์ทอง)
  • เดือนครึ่งดวง (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ผู้หญิงคนสุดท้าย (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ทหารก็มีหัวใจ (ดำรง วงศ์ทอง)
  • หนุ่มราชภัฎ (ดำรง วงศ์ทอง)
  • พอหรือยัง (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ไอ้หนุ่มตังเก (ดำรง วงศ์ทอง)
  • นางฟ้ายังอาย (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ทหารอากาศขาดรัก (ดำรง วงศ์ทอง)
  • จดหมายจากแนวหน้า (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ลูกสาวผู้การ (ดำรง วงศ์ทอง)
  • เรารอเขาลืม (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • ไอ้หนุ่ม ต.ช.ด. (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • แอบฝัน (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • เชื่อผมเถอะน่า (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • สาวโรงงานคนสวย (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • ห่มฝางต่างผ้า (มนต์สิทธิ์ คำสร้อย)
  • เทวดาเพลง (แอ๊ด คาราบาว)
  • นางฟ้ายังอาย (สันติ ดวงสว่าง)
  • กินอะไรถึงสวย (สันติ ดวงสว่าง)
  • ล่องเรือหารัก (สันติ ดวงสว่าง)
  • จำปาลืมต้น (สันติ ดวงสว่าง)
  • ไอ้หนุ่มตังเก (สันติ ดวงสว่าง)
  • จดหมายจากแม่ (สันติ ดวงสว่าง)
  • วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน (สันติ ดวงสว่าง)
  • ลูกสาวผู้การ (สันติ ดวงสว่าง)
  • พอหรือยัง (สันติ ดวงสว่าง)
  • สาวผักไห่ (สันติ ดวงสว่าง)
  • ยินดีรับเดน (สันติ ดวงสว่าง)
  • เลือดสีเดียวกัน (สันติ ดวงสว่าง)
  • ทหารอากาศขาดรัก (สันติ ดวงสว่าง)
  • จดหมายจากแนวหน้า (สันติ ดวงสว่าง)
  • คาถามัดใจ (สันติ ดวงสว่าง)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (สันติ ดวงสว่าง)
  • หนุ่มทุ่งกระโจมทอง (สนธิ สมมาตร)
  • จดหมายจากแม่ (สนธิ สมมาตร)
  • พอหรือยัง (สนธิ สมมาตร)
  • คืนลาอาลัย (สนธิ สมมาตร)
  • พบรักปากน้ำโพ (หนู มิเตอร์)
  • ล่องเรือหารัก (หนู มิเตอร์)
  • วานนี้รักวันนี้ลืม (รุ่ง สุริยา)
  • จดหมายจากแนวหน้า (กุ้ง สุธิราช)
  • กินอะไรถึงสวย (กุ้ง สุธิราช)
  • พบรักปากน้ำโพ (กุ้ง สุธิราช)
  • ทหารอากาศขาดรัก (กุ้ง สุธิราช)
  • พอหรือยัง (กุ้ง สุธิราช)
  • วานนี้รักวันนี้ลืม (กุ้ง สุธิราช)
  • จำปาลืมต้น (เทียรี่ เมฆวัฒนา)
  • พอหรือยัง (เทียรี่ เมฆวัฒนา)
  • ลูกสาวผู้การ (จ่าหรอย เฮนรี่)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (จ่าหรอย เฮนรี่)
  • สาวผักไห่ (จ่าหรอย เฮนรี่)
  • น้ำตาอีสาน (ไมค์ ภิรมย์พร)
  • ลูกสาวผู้การ (ไมค์ ภิรมย์พร)
  • วานนี้รักวันนี้ลืม (ไมค์ ภิรมย์พร)
  • ล่องเรือหารัก (ไมค์ ภิรมย์พร)
  • นางฟ้ายังอาย (ไมค์ ภิรมย์พร)
  • คนอกหักพักบ้านนี้ (ไมค์ ภิรมย์พร)
  • วานนี้รัก วันนี้ลืม (รังสี เสรีชัย)
  • จำปาลืมต้น (รังสี เสรีชัย)
  • คนกล่อมโลก (เอกราช สุวรรณภูมิ)
  • เทพธิดาผ้าซิ่น (เอกราช สุวรรณภูมิ)
  • จดหมายจากแม่ (เอกราช สุวรรณภูมิ)
  • ล่องเรือหารัก (เอกราช สุวรรณภูมิ)
  • ฟ้าร้องไห้ (เพลงถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

ปัทมา ณ เวียงฟ้า


     
          ปัทมา ณ เวียงฟ้า หรือชื่อจริง พวงทอง สุขเกษม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ปัทมา สุขเกษม ชื่อเล่น ป้อม ในบัตรประจำตัวประชาชนระบุเพียงว่า เกิด พ.ศ.2484 ปัทมาเคยเล่าประวัติย่อๆ ของเธอให้ทีมข่าวบันเทิง "คม ชัด ลึก" ฟังว่า เธอเกิดเมื่อ 29 กรกฎาคม 2486 ย่านวัดบางเสาธง บางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี พ่อชื่อจำรัส แซ่อึ้ง มีเชื้อสายจีนแม่ชื่อ ชุบ สุขเกษม มีพี่น้อง 2 คน ปัทมาเป็นคนโต แม่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็กๆ ส่วนพ่อก็ไปมีภรรยาใหม่ เธอกับน้องสาวจึงอยู่กับตาและยาย แถวเจริญผล กรุงเทพฯ เรียนหนังสือจบแค่ชั้น ป.4 เท่านั้น ต้องออกมาช่วยยายขายดอกไม้ที่ตลาดเจริญผล 
     
    ในวัยสาว ปัทมา ร้องเพลงได้ทั้งลูกทุ่งและลูกกรุง กระทั่งเพื่อนชื่อ “อร” ซึ่งเป็นนักร้องประจำวงดนตรี “ต๊อกบูม” ของป๋าต๊อก (ล้อต๊อก สวง ทรัพย์สำรวย ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ) มาหาเธอที่บ้านแล้วชักชวนให้ไปสมัครเป็นนักร้องประจำวงดนตรี “ต๊อกบูม” เธอมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องอยู่แล้วจึงตอบตกลง ป๋าต๊อกให้ร้องเพลงให้ฟัง เธอก็ร้องเพลง “สาวชาวสวน” ซึ่งเป็นเพลงที่ถนัด ป๋าต๊อกจึงรับไว้เป็นนักร้องประจำวงดนตรี “ต๊อกบูม” ตั้งแต่บัดนั้น ปัทมาอยู่วงดนตรี “ต๊อกบูม” ได้ระยะหนึ่งก็ย้ายไปอยู่กับวง “พรเกษม” ของลุงโกร่ง กางเกงแดง 
      
          ต้นปี พ.ศ.2509 วงสุรพลจะเดินสายคอนเสิร์ตในภาคใต้ แต่กลุ่มนักร้องหญิงในวงอาทิ ภาวนา ชบาไพรประท้วงและออกจากวง ครูสุรพลจึงแก้ปัญหาด้วยการให้บังเละ วงศ์อาบู ตลกชื่อดังประจำวงไปหานักร้องหญิงมาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ไปเปิดแสดงทางภาคใต้ได้ พอดีวง “พรเกษม”มาเปิดแสดงที่เขาดิน บังเละ ผ่านหน้าเวทีมาโดยบังเอิญ บังเละยืนดูด้วยความสนใจ จึงชวนปัทมาไปอยู่กับวงสุรพล ซึ่งยุคนั้นครูสุรพล สมบัติเจริญ กำลังดังสุดขีด ครูสุรพลทดสอบ เสียงปัทมาด้วยการให้ร้องเพลงให้ฟัง เธอก็ร้องเพลง “คุณไม่รักทำไมไม่บอก” ของ จันทรา ณ กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเพลงดังในยุคนั้น พอร้องจบครูสุรพล ก็รับเข้าเป็นนักร้องประจำวง ออกเดินสายคอนเสิร์ตในภาคใต้
      
          เมื่อกลับจากภาคใต้ครูสุรพลจึงแต่งเพลงให้บันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิต คือเพลง “ม่วยช้ำ” ครูตั้งชื่อให้ว่า “ปัทมา ณ เวียงฟ้า” แล้วเพลงแรกของเธอก็ดังทั่วฟ้าเมืองไทยในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมาก็ได้บันทึกเพลง “ม่วยหายช้ำ” อีก 1 เพลง แก้กับเพลง “ยิกเท้าโหละซัว” ของครูสุรพล

  ปัทมาอยู่กับวงสุรพลได้ไม่นาน เพราะมีปัญหากระทบกระทั่งกับเพื่อนๆ ในวง เธอจึงออกจากวงไป  โดยไปรับเชิญร้องกับวงอื่นบ้าง อาทิ วง “เสน่ห์ โกมารชุน” ต่อมาก็ไปร้องตามห้องอาหาร ส่วนเพลงดังที่ปัทมาเคยบันทึกเสียงอีกเพลงหนึ่งคือเพลง “ยายฉิมเก็บเห็ด” ที่ “ประไพ คำเรียบร้อย” และ “น้ำผึ้ง บริบูรณ์” ร้องไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อเธอได้ร้องเพลงในห้องอาหาร เธอก็นำเพลงนี้ไปร้อง และเต้นลีลาโชว์หน้าเวที เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงทำให้เธอมีชื่อเสียงตลอดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นเธอยังเคยแสดงเภาพยนตร์เรื่อง “เหนือบารมี” ซึ่งมี เกชา เปลี่ยนวิถี และ เนาวรัตน์ วัชรา เป็นพระเอก-นางเอก และยังร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “ปี่แก้วนางหงส์” ในเพลง “หนุ่มอ้อนสาวออด” โดยร้องคู่กับ “มิตร เมืองแมน”
     
          ในช่วงหลังมานี้ ปัทมา ณ เวียงฟ้า ได้มาร่วมกับวงดนตรีศิษย์สุรพล ซึ่งนำทีมโดย ภาวนา ชบาไพร ซึ่งมีทั้งงานการกุศลและงานทั่วไปตลอด ข้อมูลจากคนใกล้ชิดบอกว่า ปัทมาแยกทางกับสามีเป็นเวลานานแล้ว มีบุตรชาย 2 คน เสียชีวิตไปแล้ว โดยปัทมาอาศัยอยู่คนเดียว ถ้าไม่มีงานร้องเพลงจะขายเสื้อผ้ามือสอง ตลาดพระโขนง ฐานะความเป็นอยู่พออยู่ได้ไม่ขัดสนเงินทอง มีหลานสาว 2 คน เป็นลูกของน้องสาว ซึ่งดูแลกันอยู่ 

วันที่ 20 มี.ค.57 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.คลองตัน รับแจ้งเหตุมีหญิงสูงอายุเสียชีวิตภายในบ้านพัก เลขที่ 109/71 ซอยสุขุมวิท 48 จึงนำกำลังไปตรวจสอบ พบผู้เสียชีวิต คือ คุณปัทมา สุขเกษม หรือ ปัทมา ณ เวียงฟ้า อายุ 72 ปี นอนเสียชีวิตอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว โดยสภาพศพเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-5 วัน จากการสอบถามเพื่อนบ้าน ระบว่า นางปัทมา พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเพียงลำพัง โดยลูกชายทั้งสองคนได้เสียชีวิตแล้ว ขณะที่สามี ได้หายตัวไปจากบ้านตั้งแต่ เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่พบเห็น คุณปัทมา ครั้งสุดท้าย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อนบ้านเห็นหายหน้าไปหลายวัน ผิดสังเกต จึงเข้าไปตรวจสอบ จึงพบเป็นว่านอนเสียชีวิตอยู่ เบื้องต้น ตำรวจ สน.คลองตัน คาดว่า ผู้ตายเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว

 


เนื้อเพลง