วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2566

วันแรงงาน

 

ประวัติความเป็นมา 

"วันแรงงานแห่งชาติ" 1 พ.ค. มีความสำคัญอย่างไร?

ประวัติวันแรงงานสากล

เมื่อ 130 กว่าปีก่อนขณะที่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2432 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่นตามความเหมาะสม กลายเป็นการชุมนุมที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต

การปะทะระหว่างแรงงานและตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทั่วโลกยกย่องความกล้าหาญของการต่อรองครั้งนั้นระหว่างขบวนการแรงงานและรัฐ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day)

การปะทะกันระหว่างแรงงานกับรัฐเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อเจรจาต่อรองให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงจัดสวัสดิการที่เหมาะสมด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของแรงงานขณะทำงาน ตัวอย่างประเทศที่หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อฉลองวันเมย์เดย์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน เยอรมนี, เดนมาร์ก, บัลแกเรีย, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ, อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, ลาว, ไทย เป็นต้น

ชาวยุโรปถือว่าวันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลเกษตรกรรม ทำพิธีบวงสรวงตามความเชื่อเพื่อขอให้ปลูกพืชผลได้มีผลผลิตที่ดี ส่วนประเทศไทยเราก็มีวันพืชมงคล เป็นวันฤกษ์ดีด้านการเพาะปลูกเกษตรกรรมเช่นกัน

ประวัติวันแรงงานแห่งชาติไทย

วันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500

ในยุคแรกของวันแรงงานนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ด้วย และใช้เวลาถึง 17 ปี จึงได้ประกาศเป็นวันหยุดให้แรงงานได้มีช่วงเวลาเฉลิมฉลองวันแรงงานในปี พ.ศ. 2517

เนื่องจากวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ใกล้เคียงกันคือวันพืชมงคล แรงงานที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรจึงมักใช้โอกาสนี้เดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเริ่มฤดูกาลหว่านไถ ถือเป็นฤกษ์มงคลในการเพาะปลูกรอรับน้ำฝนในช่วงเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน

วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566

อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง

 ศึกกะหมังกุหนิง




          กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง  องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิงมีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ  องค์รองครองเมืองปาหยัง  องค์สุดท้องครองเมืองปะหมันสลัด
          อยู่มาวันหนึ่งวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิง  เสด็จประพาสป่าแล้วพบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไปก็คลั่งไคล้หลงถึงกับสลบเช่นกัน  ท้าวกะหมันกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมาก  จึงให้คนไปสืบว่านางในภาพนั้นเป็นใครแล้วให้แต่งทูตไปขอ  แต่ท้าวดาหามอบนางบุษบาให้จรกาแล้วจึงปฏิเสธไป  เมื่อไม่สมหวังท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมาชิงนางบุษบา  โดยแจ้งระตูปาหยังและระตูปะหมันน้องชายและหัวเมืองทั้งหลายยกทัพมาช่วยรบด้วย
          ท้าวกุเรปันจึงเรียกตัวอิเหนาจากเมืองหมันหยามาช่วยท้าวดาหาทำศึกกับท้าวกะหมังกุหนิง

         ครั้นแล้วท้าวกะหมังกุหนิงเสด็จนั่งที่ประทับที่ประดับด้วยมณีทั้งหลาย พระองค์มองเห็นถึงพระอนุชาทั้ง ๒ คน จึงเรียกให้มานั่งที่ประทับพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน และบอกถึงความประสงค์ของตนว่าที่เรียกอนุชาทั้ง 2 มาเพื่อจะให้ช่วยไปตีเมืองดาหาขอให้ทั้งสอง ช่วยตีเมืองให้ได้ชัยชนะเร็วไว 
เมื่ออนุชาทั้งสองได้ฟังถึงเรื่องราวทั้งหมดจึงได้คัดค้านไปว่าเมืองที่จะไปตีนั้น มีความเก่งกาจและชำนาญเรื่องการรบ อีกทั้งทางทหารในเมืองนั้นก็เก่งในเรื่องการรบ เลื่องลือในแคว้นชวาและต่างเกรงกลัวในฤทธิ์เดชเมืองเขาเป็นเมืองใหญ่เมือง เราเป็นเมืองน้อยเปรียบเหมือนหิ่งห้อยจะเปล่งแสงแข่งกับดวงอาทิตย์ ทั้งสองคิดว่าจะผิดจากเดิมมา ผู้หญิงงามไม่ได้มีคนเดียวในแผ่นดิน
เจ้าเมืองน้อยทั้งสองได้ขอให้ท้าวกะหมังกุหนิงได้คิดเสียใหม่ ไม่อย่างนั้นประชาชนจะเดือดร้อนได้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ยังยืนยันจะทำศึกเพราะตอนนี้ลูกสาวของท้าวดาหา จะถูกยกให้จรการูปชั่วตัวดำ พวกเราจะต้องยกทัพไปรบเพื่อชิงนาง
เจ้าเมืองน้อยทั้งสองก็ได้ตอบกลับไปว่า นางยังอยู่กับผู้เป็นพ่อที่เมืองดาหา หากเกิดสงครามชิงลูกสาว ท้าวดาหาคงไม่นิ่งดูดาย และอาจจะส่งทัพเข้ามาร่วมรบก็เป็นได้ และเราอาจจะถูกล้อม หากทางเราเสียท่าและแพ้ขึ้นมา จะอับอายจรกาได้
ท้าวกะหมังกุหนิงจึงได้แย้งขึ้นว่า เจ้าทั้งสองนี้ไม่เข้าใจอะไรเลย ทั้งเสนาต่างๆ ก็ขัดแย้งข้ากันไปหมด ไปอยู่เมืองหมันหยามาหลายปี หากที่ไหนจะยกทัพมาจะกลัวอะไรหนักหนา เราก็มีตั้ง ๓ เมืองก็ใหญ่เหมือนกัน เราไม่ต้องกลัว ถ้าเราตีพวกนั้นให้แตกเดี๋ยวพวกนั้นก็มันก็วิ่งเข้าป่า พวกเจ้าอย่ากลัวเลย สงสารวิหยาสะกำเถอะ ถ้าไม่ได้นางมาคงจะขาดใจตาย แม้นวิหยาสะกำสิ้นชีวิตตนคงได้ตายตามเป็นแน่ ไหนๆแล้วก็จะตายถึงช้าเร็วก็ไม่ต่างกัน แม้นว่าผิดก็จะลองทำสงครามดู หากเคราะห์ดีก็คงจะได้สมดังใจนึก เมื่อสองเจ้าเมืองได้ฟัง ก็ก้มหน้าไม่พูดจา
กล่าวถึงท้าวดาหา เสนาบดีตำแหน่งยาสาได้บังคมทูลเบิกทูตนำราชสารให้พระองค์ ในสารนั้นบอกถึงองค์ผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิงขอถวายบังคมถึงพระองค์ ขอพระองค์ทรงประนีประนอมไม่เขื้องโกรธกัน ด้วยว่าตนมีโอรสอยู่องหนึ่งได้ไปท่องป่าล่าสัตว์และได้พบเจอกับรูปของพระธิดาในกลางป่า เชื่อว่าคงเป็นบุพเพสันนิวาส  อาจเกิดจากเทวานำพาให้ พระโอรสตกอยู่ในเสน่หาและมีความอาลัย เฝ้าแต่หลงใหล ใฝ่ฝันหาพระธิดาน่ารันทดยิ่ง หวังเพียงรับใช้รองบาทพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์วงศ์เทวัญ ขอพระธิดาผู้สูงศักดิ์ให้กับโอรสของตนได้สมดังใจหวัง อันกรุงของเราทั้งสองจะได้เป็นทองแผ่นเดียวกันในวันข้างหน้า และขออาศัยพึ่งพิงบารมีไปจนกว่าจะสิ้นชีวัน
เมื่อองค์ท้าวดาหาผู้เป็นใหญ่ได้รับฟังสารทราบถึงข้อความแล้ว จึงรับสั่งแต่เสนาทั้งสองของท้าวกะหมังกุหนิงที่มาเข้าเฝ้าว่าอันนางบุษบาพระธิดาของเรานั้น ในครั้งก่อนเราไปยกให้แก่จรกาที่มาหมายหมั้นไว้ไปก่อนแล้ว และได้ปลงใจจะให้แต่งงานกันแล้ว อันจะรับของสู่ของท้าวกะหมังกุหนิงนี้ ก็ดูจะผิดประเพณียิ่งนัก เหล่าประชาราชอาจนินทาได้ จึงขอให้นำสิ่งของเหล่านี้กลับคืนไป
เหล่าทูตเมื่อรับแจ้งแล้วก็ทูลบอกพระองค์ว่า ท้าวกะหมังกุหนิงรับสั่งให้ตนทูลพระองค์ว่าถ้าแม้นพระองค์ไม่ยินยอมยกพระราชธิดาให้ ก็ให้ระวังพระองค์ให้ดี ให้สร้างบ้านเมืองของพระองค์ให้มั่นคง ครั้นแล้วองค์ท้าวดาหาก็ประกาศิตอย่างองอาจว่า หากจะยังคงทำสงครามก็ตามใจ ฝ่ายทูตก็ได้ออกจากเมืองดาหาพากันกลับทันใด ฝ่ายองค์ดาหา มีบัญชาสั่งเสนาให้เร่งไปทูลเหตุการณ์แก่ผู้เป็นพี่ของพระองค์ และทูลกับผู้เป็นน้องอีกสองคนของพระองค์ ไปบอกระตูจรกาว่าอย่ามัวชักช้าเพราะจะมีข้าศึกยกทัพมาชิงตัวบุษบา
ฝ่ายท้าวกุเรปันได้รับแจ้งว่าจะมีข้าศึกมารุกราน จึงให้แต่งสารหนังสือลับแล้วสั่งให้สองเสนาถือไปยังเมืองหมันหยา ฉบับหนึ่งเร่งนำกองทัพกำชับให้อิเหนาเร่งยกมาช่วย อีกฉบับหนึ่งไปให้กับเจ้าเมืองผู้ครองเมืองหมันหยา แล้วสั่งให้รีบไปให้ถึงเมืองหมันหยาภายใน 15 คืน  หลังจากที่ขุนนางได้ทูลลาไปแล้วพระองค์ก็ตรึกตรองในคดีความด้วยพระปรีชา แล้วตรัสกับกะหรัดตะปาตี ว่าสงครามนี้เห็นว่าจะสาหัส หากกลัวอนุชาจะเปล่าเปลี่ยวเศร้าใจ ไม่มีที่ปรึกษา จึงรับสั่งให้ยกพลยกกองทัพ ไปสมทบกับทัพของอิเหนาให้ทันอย่างเร็วไว อย่าให้ข้าศึกทันยกทัพมาประชิดเมืองได้
ฝ่ายกะหรัดตะปาตีผู้เป็นโอรสทูลสนองรับสั่งแล้วบอกว่าจะถวายบังคมลาในวันพรุ่งนี้ ครั้นถึงรุ่งสางก็เสด็จขึ้นทรงม้าแล้วรับสั่งให้เคลื่อนพลออกไป รอนแรมอยู่ในป่าจนถึงทางร่วมเข้าสู้เมืองหมันหยาแล้วสั่งให้หยุดพลทัพไว้ คอยทัพของอิเหนาที่จะตามมา 
ฝ่ายขุนนางตำมะหงงกาหลังรวมทั้งดะหมังและมหาเสนาใน ก็เร่งเกณฑ์ทัพในทันใด ได้จัดทหารอาสาผู้มีพื้นฐานการรบที่แข็งขันจำนวนห้าหมื่นคน มีช้างม้าและอาวุธอย่างครบครัน มีพลธงที่สำคัญคอยนำกองทัพ สองจอมทัพขึ้นขี่ม้ากองทัพแน่นอัดเต็มถนนข้ารับใช้เดินเคียงคอยกางสัปทน แล้วเคลื่อนพลออกจากเมืองไป
เมื่อมาถึงทางร่วมริมป่าก็พบกับกองทัพของกะหรัดตะปาตี ทั้งสองกองทัพได้สมทบกันพากันเคลื่อนตามทางมาพร้อมกัน
ฝ่ายทูตทั้งสองของท้าวกะหมังกุหนิงซึ่งได้ถือสารไปเมืองดาหานั้นก็พากันกลับมายังเมืองของตน จนถึงตัวเมืองกะหมังกุหนิง ก็ตรงดิ่งมายังวังใหญ่ เมื่อถึงเวลาก็เข้าเฝ้ากะหมังกุหนิงเหนือหัวในท้องพระโรง แล้วจึงก้มกราบบังคมทูลเหนือหัว ว่าได้ไปถวายสารมาแล้ว องค์ท้าวดาหาได้ทราบเนื้อความทุกประการ ทรงตรัสอย่างเฉียบขาดว่าพระธิดาของพระองค์นั้น มีจรกามาสู่ขอและได้ยกให้ทั้งยังได้กำหนดนัดหมายงานวิวาห์ไปแล้ว ส่วนบรรดาของถวายนั้นท่านไม่รับ ให้ส่งกลับมาทั้งหมด ท่านไม่ได้คิดเกรงองค์พระ คอยแต่จะตัดรอนซะทุกเรื่อง และได้ทูลความตามได้รับสาร ถ้าท้าวดาหาไม่ให้พระธิดา ก็จงรีบเร่งทำการปรับแต่งพระนครให้มั่นคง รับทัพเหนือหัวที่จะยกมา จะชิงพระธิดาให้ได้หากใครที่ได้รับชัยชนะจะสมปรารถนา แต่องค์ท้าวดาหากลับตรัสว่าแล้วแต่ตามวิญญาณ์ ขอพระองค์จงทราบด้วย
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงได้สดับฟังทั้งสองทูตทูลความดังนั้นก็โกรธอย่างยิ่ง จึงมีบัญชาตรัสออกมาด้วยความขัดเคืองใจว่า ดูดู๋เจ้าเมืองดาหา เราอุตส่าห์อ่อนน้อมง้อขอไปในสาร จะรับไว้ก็ไม่มีเลย ถึงแม้จรกามาขอนางไว้ แล้วได้ยกนางให้เขาไปก่อนก็สมควรอยู่ที่จะปราศรัยมาให้ดี แล้วดูสิมาตัดไม่ตรีให้ขาดกัน เรานั้นก็มีศักดามีบารมีมาก อาณาจักรก็กว้างขวางอยู่พอที่ จำเป็นจะต้องมีความพยายามไม่ละวาง จะต้องชิงนางบุษบามาให้ได้ หากไม่ได้สมดั่งใจหมายก็จะไม่ขอกลับคืนพระนครแห่งนี้อีก จะทำสงครามตามรังควาญอยู่ทุกครา จนกว่าชีวิตจะหาไม่
สองทูตทูลความอีกครั้ง ข้าได้ยินได้ตระหนักในใจว่าท้าวดาหาตรัสให้เสนารีบไปแจ้งเหตุแก่เชษฐา กับเมืองสิงหัสส่าหรี อีกทั้งพระอนุชาแห่งกาหลัง ทั้งยังเมืองแห่งระตูจรกา เห็นว่ากษัตริย์ทั้งสี่เมืองนั้นจะมาช่วยป้องกันเมืองดาหา เมื่อตอนที่ข้าออกมาจากเมืองนั้น เสนาก็ไปพร้อมกันด้วย
ฝ่ายท้าวกะหมังกุหนิงได้ฟังก็ยิ่งกริ้วโกรธยิ่งนัก จึงประภาษไป ถึงว่ากษัตริย์ทั้งสี่เมืองจะมาช่วยท้าวดาหารบเป็นศึกใหญ่ ตัวกูก็ไม่เกรงกลัวใคร จะหักล้างให้เป็นธุลีจงได้ พูดพร้อมสั่งอำมาตย์ดะหมังตำมะหงงให้เร่งเกณฑ์ไพร่พลที่มากความสามารถในสงคราม ให้เลือกสรรทหารทั้งสี่หมู่ที่เคยทำลายค่ายทำลายศัตรูมาแต่กองร้อยให้มารบในฉับพลับอย่าได้ครั่นคร้าม หาให้ได้ครบสามสิบหมื่นนายที่มีพื้นฐานการรบดี นำเอาวิหยาสะกำเป็นกองหน้า คอยตรวจตราเตรียมกระบวนทัพให้ถี่ถ้วน ส่วนกองหลังรั้งที่พลมนตรีของทั้งสองอนุชา กูจะเป็นจอมพลทัพ คอยหนุนทัพลูกให้เข้าโจมตี ไม่เกรงวงศ์เทวาแต่อย่างใด ให้ปรากฏถึงยศศักดิ์ในครั้งนี้ ครั้นแล้วเสด็จสั่งมหาเสนาถามขุนโหราทั้งสี่คนว่าการที่เราจะยกทัพไปต่อตีในวันพรุ่งนี้ จะดีร้ายประการใด
เมื่อโหราได้ฟังองกษัตริย์กล่าวดังนั้นจึงคลี่ตำราพลางคำนวณเหตุเทียบดวงชะตาของ พระองค์กับโอรสจึงเห็นว่าอาจถึงฆาต ทั้งโชคที่ไม่อาจชัดเจนอีกทั้งเคราะห์ในตอนนี้ที่เป็นตัวบดบังฤกษ์ทั้งหลาย จึงทูลไปว่าถ้าหากยกทัพในวันพรุ่งนี้ จะไม่อาจมีชัยเป็นแน่ ขอให้งดไปเจ็ดวัน ถ้าพ้นจากเจ็ดวันนี้ก็ยังพอทำเนาได้ ขอให้พระองค์ทรงสั่งให้งดศึกแล้วหาเวลาเพื่อให้ตัวโหราเองหาฤกษ์ใหม่ เพราะการศึกชิงชัยชนะนี้ต้องหนักหน่วงน้ำพระทัยให้มั่น
ฝ่ายเท้ากะหมังกุหนิงได้ฟังดังนั้นก็บอกกลับไปว่าเมื่อตนนั้นมีคำสั่งให้จัดทัพ ออกไปแล้วจะต้องสั่งยกเลิกไปให้อับอายเหล่าเสนาหรือประชาชนได้อย่างไร พวกเขาจะคิดเอาว่าตนนั้นเกรงกลัวต่ออำนาจของฝ่ายตรงข้าม จึงจำเป็นต้องออกทัพไปสู้ศึกเพราะถึงตัวตายก็ไม่อาจให้ใครดูหมิ่นได้ จะทิ้งเกียรติยศให้จารึกไว้ในแผ่นดินตราบจนวันที่โลกจะสูญสิ้นไป อีกทั้งถ้ายังยกทัพไปช้ากว่านี้เกรงว่าทางดาหาจะมีทัพใหญ่มาช่วย แล้วการศึกจะยากยิ่งกว่านี้ไปอีก จึงสุดแท้แต่บุญกับกรรมเท่านั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จออกไปยังที่พักโดยไม่ฟังคำกล่าวของโหราเลย
ฝ่ายวิหยาสะกำสั่งให้เตรียมทัพทุกหมู่ยกพลไปตีเมืองทุกเมืองที่เดินทางผ่านเป็นเวลาสิบวันที่เดินทางอยู่ในป่าก็พ้นออกมายังทุ่งของกรุงดาหา เห็นถึงกำแพงเมืองและมหาปราสาทเรียงรายจึงหยุดไว้ แล้วตั้งค่าย กองทัพนับแสนคนที่แน่นขนัดจึงหยุดพร้อมกันที่ชายป่า
ฝ่ายเท้ากะหมังกุหนิงก็รีบเกณฑ์ทัพพลมาใกล้ๆกับทุ่งเห็นลำธารน้ำที่ไหลเอื่อย อีกทั้งร่มไทรจึงสั่งให้ตั้งทัพ
ส่วนดะหมังได้ฟังคำสั่งจึงเกณฑ์คนให้ถางที่แล้วทำค่ายหน้าหลังบรรจบกัน
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงเห็นค่ายเสร็จมั่นคงแล้วก็ชวนบุตรและน้องชายทั้งสองให้เสด็จลงจากรถพร้อมด้วยเหล่ามหาดเล็กแล้วเดินทางไปยังที่พัก
ฝ่ายกองร้อยรักษาการณ์รอบข้างดาหาออกสอดแนมอยู่นอกเมือง ได้เห็นทัพที่ยกมาถึงชายป่า กระบวนทัพทั้งหน้าหลังล้อมตั้งหนาแน่น ผืนธงซ้อนทับกันมากมายจนมิอาจนับได้ ทั้งเสียงคนอื้ออึง เสียงตัดไม้ ราบไปทั้งป่า ต่างคนต่างก็รีบขึ้นหลังม้าแล้วกะสายตาดูกองทัพอย่างถี่ถ้วน จึงอ้อมออกมานอกทุ่งแล้วควบม้าคู่กายเข้าเมืองทันที
เมื่อเข้าสู่เมืองจึงรีบไปแจ้งข่าวแก่เสนาชั้นผู้ใหญ่ เล่าความถึงสิ่งที่ได้เห็นมาทุกๆสิ่งตั้งแต่ต้นจนจบ
ครั้นเสนาได้ยินข่าวดังนั้นก็ตกใจหวั่นไหว จึงให้เหล่าทหารจดเอาใจความคำสำคัญแล้วรีบพาเข้าไปยังท้องพระโรงทันที
เสนาก้มหัวบังคมทูลท้าวดาหาถึงข่าวว่ามีทัพตีเมืองยกมา ไพร่พลในกองทัพมากมาย ทั้งเสียงม้า เสียงรถ และเสียงช้าง ต่างอื้ออึงคั่นครื้นไม่ขาดสาย และในตอนนี้ทัพนั้นก็ได้เข้ามาตั้งอยู่ ณ เนินทรายที่เชื่อมต่อของชายทุ่งแล้ว
เมื่อท้าวดาหาได้ฟังดังนั้นแล้วในใจก็ทรงคิดไตร่ตรองถึงสาเหตุของศึกนี้ที่มีเพราะตัวพระองค์เองที่ไม่สามารถยกบุษบาให้แก่ฝ่ายนั้นได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดศัตรู ครั้นแล้วก็นึกน้อยใจไปถึงอิเหนาผู้เป็นหลานที่แกล้งให้เกิดเหตุการณ์ วุ่นวายเช่นนี้ ทั้งร้อนรนไปทั่วทุกเขต ทั้งเสื่อมเสียไปยังชื่อเสียงวงศ์เทวา อีกทั้งศึกก็มาถึงเมืองแล้ว คิดพลางก็สั่งให้เหล่าเสนาอำมาตย์ให้เร่งมือเกณฑ์คนเข้ารบ รักษาเมืองไว้ให้มั่นคง พลางรับสั่งให้ดูท่าทีข้าศึกที่ยกมา เหตุหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะรอดูข่าวจากม้าเร็วที่สั่งให้ไปแจ้งเหตุกับผู้เป็นพี่และอีกสองผู้เป็นน้องว่าจะมาช่วยหรือไม่ แม้ว่าเมื่อทั้งสามนครไม่มาช่วยอาจจะมีขุ่นเคืองน้ำใจอยู่บ้าง แต่อย่างไรตนก็จะปราบศัตรูยุติสงครามแม้จะยากเย็นเท่าไรก็ตาม
กล่าวไปถึงฝ่ายสุหรานากงกับเหล่าเสนาเมืองกาหลังได้ยกพลกองทัพเร่งรีบเดินทางมา รอนแรมกินนอนในป่าเป็นเวลาทั้งสิ้นสิบห้าวันก็ถึงเขตเมืองดาหาได้ยินถึงข่าวศัตรูที่ยกทัพมาประชิดเมืองแล้วก็เร่งเดินทางเข้าไปในเมืองทันที
เมื่อเดินทางมาถึงกลางเมือง สุหรานากงก็หยุดพลกองทัพไว้และชวนตำมะหงงเดินทางไปเข้าเฝ้าท้าวดาหา
เมื่อท้าวดาหาได้ทอดพระเนตรเห็นถึงสุหรานากงผู้เป็นหลานกับเหล่าเสนาแห่งเมืองกาหลังก็ได้พูดคุยและขอบคุณน้องชายของพระองค์ทั้งสองที่ยกทัพมาช่วยตน แต่สงครามครั้งนี้นั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เพราะเหตุของมันคือลูกสาวของตนที่อัปลักษณ์จะมีคู่ทั้งทีฝ่ายชายก็ไม่รัก จึงหักหาญน้ำใจกันเช่นนี้ แล้วไตร่ถามถึงผู้เป็นพี่ว่าจะส่งให้ใครมาหรือไม่ สุหรานากงก็ตอบไปว่าท้าวกุเรปันได้ให้กะหรัดตะปาตียกทัพมาสมทบกับอิเหนา
ท้าวดาหาได้ฟังเช่นนั้นก็ประชดอิเหนาว่า กะหรัดตะปาตีมาช่วยก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ แต่อิเหนาเล่า เขาจะมาทำไม ท้าวกุเรปันเรียกให้กลับกี่ครั้งก็ไม่ยอมจากเมืองหมันหยาจนตัดขาดการแต่งงาน  มีศึกประชิดเมืองก็เพราะใคร เห็นทีคงจะรักเมียมากกว่าญาติ ถ้ามาก็เห็นว่าคงจะมาเพราะกลัวท้าวกุเรปันเสียมากกว่า แล้วท้าวดาหาบอกสุหรานากงว่าคงไม่ต้องคอยอิเหนาหรอก แล้วให้สุหรานากงไปพักผ่อน  สุหรานากงจึงขอถวายชีวิตให้เพื่อรับใช้ท้าวดาหา และอาสาไปออกรบกับทัพของท้าวกะหมังกุหนิง
กล่าวถึงดะหมังจากเมืองกุเรปัน เมื่อเดินทางมาถึงเมืองหมันหยาก็ตรงไปยังเรือนพักของอิเหนาเข้าเฝ้าถวายพระราชสารแก่อิเหนา 
อิเหนาคลี่สารของท้าวกุเรปันออกอ่าน ซึ่งในสารนั้นกล่าวว่าตอนนี้มีข้าศึกมาตั้งทัพประชิดเมืองดาหา ขอให้อิเหนารีบยกพลไปตีให้ทันท่วงที ถึงไม่เห็นแก่บุษบาก็ขอให้เห็นแก่ท้าวดาหาผู้เป็นอา ศึกครั้งนี้เกิดขึ้นก็เพราะใครไปทำงามหน้าไว้ให้เสียคำพูดให้อายชาวเมืองดาหา ครั้งนี้จะเมินเฉยอีกทำให้เสียศักดิ์ศรีก็แล้วแต่ใจ ถ้าไม่มาช่วยก็ขาดกันอย่าได้เผาผีกันอีกเลย เมื่ออิเหนาได้อ่านดังนั้น ก็ถอนใจด้วยความสงสัยว่าบุษบาจะงามถึงเพียงไหนเชียวจึงถูกใจระตูทุกเมือง แค่เพียงเห็นรูปก็จะพากันมาตายเสียแล้ว หากงามเหมือนจินตะหราก็ว่าไปอย่าง จึงบอกแก่ดะหมังไปว่าจะยกทัพไปในอีก ๗ วัน แต่ดะหมังรีบทูลว่าต้องรีบไปในทันที เพราะตอนนี้ข้าศึกยกทัพมาติดพระนครแล้ว
อิเหนาเกรงกลัวท้าวกุเรปันพระบิดาสุดที่จะเลื่อนวันไป ทั้งรักทั้งกลัวห่วงหน้าพะวงหลังคิดแล้วก็ทอดถอนใจจึงสั่งตำมะหงงให้รีบจัดทัพใหญ่ทั้งทัพม้า ทัพรถ ทัพช้างเลือกทหารที่มีความสามารถทั้งทหารปืนและทหารดาบ อิเหนาจะตัดศึกใหญ่ด้วยกำลังที่เข้มแข็งแม้นข้าศึกหนีก็จะทำลาย ให้สิ้นไป ถือเอาฤกษ์พรุ่งนี้จะยกทัพไปช่วยเมืองดาหาเมื่อสั่งเสร็จอิเหนา ก็ไปเข้าเฝ้าท้าวหมันหยา เมื่อไปถึงเขตวังในก็ลงจากหลังม้าเข้าท้องพระโรงทันที ดะหมังเมืองกุเรปันก็เข้าเฝ้าท้าวหมันหยาเช่นกันแล้วถวายสารแก่ เจ้าเมืองหมันหยา
ท้าวหมันหยารับสารจากดะหมังคลี่ออกอ่านทันทีในสารมีใจความว่า ตัวท้าวหมันหยามีลูกสาวให้แต่งตัวยั่วชายจนอิเหนาต้องร้างคู่ไป หลงรักไปติดพันช่างไม่อายผู้คน ตอนนี้มีศึกประชิดเมืองดาหา จนเกิดเรื่องวุ่นวายเสียงานการวิวาห์ไปหมดต่างคนก็หมางใจกัน ในการสงครามครั้งนี้ถ้าไม่ไปช่วยก็จะตัดญาติขาดมิตรกันไป ก็แล้วแต่ใจเมื่ออ่านสารแล้วท้าวหมันหยากลัวท้าวกุเรปันขุ่นเคืองจึงยื่นสารให้แก่อิเหนาและกล่าวว่า เห็นหรือไม่อิเหนาหลานรักเจ้าไม่เชื่อฟังคำจึงทำให้มีความผิดไปด้วย แล้วเร่งให้อิเหนารีบยกทัพไปช่วยเมืองดาหาหากไม่ไปก็จะไม่ให้อยู่กับนางจินตะหรา พร้อมทั้งให้ระเด่นดาหยนคุมกองทัพของเมืองหมันหยาไปด้วย ได้ฤกษ์ยกทัพไปในตอนเช้าพรุ่งนี้
อิเหนารับคำสั่งแล้วลาไปยังปราสาทนางจินตะหรา เมื่อไปถึงก็เข้าแนบชิดนางทอดถอนใจแล้วแจ้งเรื่องราวแก่นางว่าดะหมังถือสารจากพระบิดาว่าเมืองดาหาเกิดศึกให้อิเหนารีบยกทัพไปช่วยในวันพรุ่งนี้ขอให้นางจงอยู่ดีอย่าโศกเศร้าเสียใจเสร็จศึกแล้วจะรีบกลับทันที
นางจินตะหรา ได้ฟังก็แค้นใจสะบัดหน้าหันหลังให้พร้อมกับตัดพ้อต่อว่าอิเหนาว่าจะไปปราบข้าศึกหรือจะกลับไปหวนคืนสู่คู่หมั้นเก่ากันแน่ ไหนบอกว่าจะไม่ไปไหนจนกว่าจะตายจากกัน นางก็หลงเชื่อ ไม่รู้ว่าภายหลังจะมาเป็นเช่นนี้ แล้วอีกนานเท่าไหร่เล่าอิเหนาจะกลับมา
อิเหนาชี้แจงว่าไม่เคยคลายความรักในตัวจินตะหราเลย แต่ตนมีเหตุจำเป็นต้องไป เพราะท้าวกุเรปันให้กลับสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้เกิดศึกสงคราม ไม่อาจจะขัดได้ แล้วจึงยื่นสารให้จินตะหราอ่าน นางจินตะหราก็รู้สึกคับแค้นใจไม่มองดูสารแล้วคร่ำครวญว่า อนิจจาความรักนั้นก็เหมือนน้ำที่ไหลเชี่ยว ไฉนเล่าจะไหลกลับคืนมา คงไม่มีหญิงใดจะเจ็บช้ำไปกว่านาง เพราะหลงเชื่อ หลงรัก ถึงตอนนี้แล้วจะไปโทษใครได้ เสียแรงหวังที่จะฝากชีวิตไว้กับอิเหนาแต่ก็ไม่ปราณี  ที่จักรีบเสด็จไปนั้นก็เข้าใจเพราะนางบุษบานั้นคู่ควรกับอิเหนา ไม่ต่ำศักดิ์เหมือนนาง ต่อไปชาวเมืองดาหาก็จะนินทาได้ นางเอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญ อิเหนาปลอบโยนให้จินตะหราคลายความโศกเศร้า ว่าที่อิเหนาไปนั้น แม้บุษบาจะสวยก็จริง แต่อิเหนาตัดสัมพันธ์ไปแล้ว จรกาจึงมาทำการสู่ขอและเตรียมการวิวาห์พอท้าวกะหมังกุหนิงทราบก็มาสู่ขอนางอีกเมื่อไม่ได้นางจึงเกิดศึกในเมืองดาหาเพื่อช่วงชิงนางบุษบาไม่ใช่ว่านางไม่มีใคร อันข่าวลือที่ว่าบุษบางามนักนั้นแต่ก็งามสู้นางจินตะหราไม่ได้ ครั้งนี้จำเป็นจึงต้องจำจากไปเพราะเกรงกลัวท้าวกุเรปันบิดาต่างหาก หากเสียเมืองดาหาก็เหมือนเสียถึงวงศ์ตระกูลมีแต่จะถูกนินทา ขอให้นางคิดให้ดีเมื่อไปแล้วก็ไม่อยู่นานจะรีบกลับมาหานาง นางอย่าได้โศกเศร้าเสียใจ อิเหนาหอมแก้มนางและประคองขึ้นบนตัก นางจิตะหราเห็นสารแล้วค่อยบรรเทาความทุกข์ความแคลงใจ นางบอกอิเหนาว่าจะไปทำศึกก็ตามใจแต่เมื่อเสร็จศึกให้คิดถึงเมืองหมันหยาและรีบกลับมานางจะรอ อิเหนารับขวัญนางแล้วว่าคงเป็นเวรกรรมที่ต้องจากไปก็ขอฝากนางมาหยารัศมีและนางสการะวาตีให้จินตะหราดูแลเพราะนางทั้งสองห่างไกลบิดามารดาอย่าได้เคียดแค้นหึงหวงถ้าผิดก็ให้เมตตานางทั้งสอง อย่าถือโทษโกรธเคือง แล้วถอดสังวาลให้นางจินตะหราไว้ดูต่างหน้า
อิเหนาทูลลาท้าวหมันหยาและประไหมสุหรี  ต่างองค์ต่างอวยพรให้เดินทางปลอดภัยและให้ข้าศึกศัตรูพ่ายแพ้  แล้วอิเหนาก็ทูลลากลับมาที่ตำหนักของตน
พอรุ่งเช้า อิเหนาทรงช้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ โหราและชีพราหมณ์พอได้ฤกษ์ก็ลั่นฆ้องดังสนั่นกึกก้องไปทั้งสนาม ปุโรหิตทำพิธีตัดไม้ข่มนามตามตำราพิชัยสงคราม ทั้งทัพหน้า ทัพหลัง ทัพหลวงพร้อมกัน ทหารโบกธงทองกระบี่ครุฑ พวกฝรั่งจุดปืนใหญ่ให้สัญญาณ ชีพราหมณ์ทำพิธีเบิกโขลนทวารอ่านคาถาอาคม เคลื่อนกองทัพ ออกจากเหมืองหมันหยา มุ่งตรงไปเมืองดาหา ระหว่างทางอิเหนาโศกเศร้าเสียใจอาลัยรักนางทั้งสามยิ่งนัก ว่าป่านนี้จะคร่ำครวญหา ใครจะปลอบนาง  คิดถึงความหลังแล้งยิ่งใจหายคิดไปก็อายพวกไพร่พลจึงชักม่านปิดทั้งสี่ทิศเหมือนจะบังแสงดวงอาทิตย์ ลมพัดกลิ่นดอกไม้เหมือนกลิ่นผ้านางที่เปลี่ยนมา ได้ยินเสียงนกยูงร้องก็คิดว่าเป็นเสียงของนาง จึงเผยม่านออกมาเห็นแต่ต้นไม้ใบไม้จึงเอนตัวลงพิงหมอนเอามือก่ายหน้าผากคิดถึงความรักก็ยิ่งเศร้าใจจนน้ำตาไหลออกมา ประสันตาพี่เลี้ยงเห็นเช่นนั้นก็ขี่ช้างมาข้างท้ายชี้ชวนให้ชมธรรมชาติของป่าไปตลอดทาง ว่าป่านี้แปลกตากว่าป่าไหนๆ ไว้เสร็จศึกแล้วน่าจะชวนนางทั้งสามมาเที่ยวพักผ่อนให้สบาย อิเหนานิ่งฟังอยู่นานก็คลายทุกข์แล้วลุกขึ้นถามว่าป่านี้หรือสนุกว่าพลางอิเหนาก็มองไปถามว่าไหนล่ะอย่าโกหกกัน
ประสันตาแกล้งทำตกใจทูลว่าอยู่ดงนี้เพราะช้างเดินเลยมาแล้วแต่ดงข้างหน้ายังมี อิเหนายิ้มแล้วตอบว่าโกหกซึ่ง ๆ หน้าช่างไม่อาย ยังมาเฉไฉไปอีกคนอะไรน่าจะผลักให้ตกจากช้างท่าจะดี
อิเหนาชมนกชมไม้ต่าง ๆ เห็นนกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนกเบญจวรรณ นกนางนวล นกจากพราก นกแขกเต้าที่กำลังเกาะต้นเต่าร้าง นกแก้ว นกตระเวนไพร นกเค้าโมง นกคับแค ก็ให้นึกไปถึงนางทั้งสามตลอดทาง เดินทางมาหลายวันก็มาถึงทางร่วมเมืองกุเรปันพบกับกองทัพของกะหรัดตะปาตีอิเหนาก็ให้หยุดกองทัพ
กะหรัดตะปาตีพี่ชายอิเหนาเห็นทัพอิเหนายกมาก็ดีใจ บอกว่าท้าวกุเรปันบิดาให้คุมทัพมารอทัพอิเหนาเพื่อไปช่วยเมืองดาหามาคอยอยู่หลายวันแล้วข่าวว่าข้าศึกประชิดเมืองแล้วจะได้รีบไป อิเหนาจึงว่าการเดินทางทัพนั้นอ้อมกว่ากุเรปัน แล้วทั้งสองทัพก็จัดทัพเข้ากระบวนเดียวกันเร่งรีบยกทัพไปยังกรุงดาหาทันที เมื่อถึงชายแดนเมืองดาหา อิเหนาก็หยุดตั้งค่ายนามครุฑตามตำราพิชัยสงคราม แล้วให้ตำมะหงงรีบไปกราบทูลท้าวดาหา ให้กราบทูลอย่าให้ขุ่นเคืองใจ ตำมะหงงรับคำสั่งแล้วควบม้าไปทันทีเมื่อไปถึงก็แจ้งยาสาเสนาเมืองดาหาว่าบัดนี้อิเหนา และกะหรัดตะปาตีจากกุเรปันยกทัพมาช่วยพระธิดาดาหาแล้วจงพาเข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องราวให้กระจ่าง
ยาสาดีใจมากพาตำมะหงงเข้าไปท้องพระโรงทันที ตำมะหงงกราบทูลว่าบัดนี้อิเหนากับกะหรัดตะปาตียกทัพมามากมายหลายแสนตั้งอยู่ปลายแดนเมืองดาหา ท้าวดาหารู้ว่าอิเหนายกทัพมาช่วยก็มีความดีใจเพราะอิเหนามีความ เก่งกล้าสมารถเห็นว่านางบุษบาจะไม่เป็นอันตราย แต่ไม่แสดงออกให้ใครเห็น ยิ้มแล้วกล่าวว่าอิเหนายกทัพมาช่วยก็ขอขอบใจ แล้วให้ตำมะหงงไปเชิญให้เข้ามาในเมืองจะได้พักผ่อนให้สบาย ตำมะหงงกราบทูลว่าอิเหนารู้ตัวดีว่ามีความผิดติดตัวอยู่ จึงขอทำศึกให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะเข้ามาถวายบังคม ท้าวดาหาจึงไม่ได้รับสั่งอะไร แต่ถามสุหรานากงว่าจะทำศึกในเมือง หรือจะไปช่วยพี่ ๆรบ
สุหรานากงทูลว่ามาอยู่ดาหานานแล้วจึงขออาสาออกไปช่วยอิเหนาและกะหรัดตะปาตีออกรบ เมื่อท้าวดาหาอนุญาต สุหรานากงก็กราบทูลลาออกมาเตรียมไพร่พลแล้วยกพลออกจากเมืองไปยังค่ายของอิเหนา เมื่อไปถึงก็เข้าเฝ้าอิเหนาสนทนากันด้วยความยินดีเล่าเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบว่า เมื่อวันที่สุหรานากงมาถึงเมืองดาหาได้ทูลว่าอิเหนาจะยกทัพมาช่วย  ดูท่าทางท้าวดาหาจะขัดเคืองว่าไหนเลยจะจากเมืองหมันหยามาเพราะรักเมียดังแก้วตาคงไม่มาแน่นอน เกิดศึกก็เพราะใครจนเดือดร้อนไปทั้งเมือง นับประสาอะไรกับท้าวดาหาแม้นตายก็คงไม่เผาผี อิเหนาได้ฟังก็ตอบว่าที่ท้าวดาหาขุ่นเคืองนั้นก็รู้กันอยู่อิเหนาไม่ถือโทษโกรธตอบคิดแต่จะทำศึกให้ได้ชัยชนะแล้วเข้าเฝ้าจะด่า ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ตำมะหงงทูลว่าท้าวดาหารับสั่งให้ทูลอิเหนาว่าท่านขอบใจมากเชิญเข้าในเมืองจะได้พักพล แต่ตำมะหงงทูลท้าวดาหาว่าอิเหนาจะขอทำศึกแก้ตัวก่อนเสร็จศึกแล้วจึงจะเข้าเฝ้าดูท่าทีจะคลายความโกรธเคืองลงแล้ว อิเหนาได้ฟังตำมะหงงทูลก็รู้สึกสบายใจเสด็จกลับเข้าข้างใน  สุหรานากงก็กลับไปยังที่พัก
อิเหนาได้ฟังพี่เลี้ยงเล่าเรื่องราวให้ฟังจึงสั่งตำมะหงงให้เร่งจัดทัพ ตำมะหงงรับคำสั่งแล้วรีบออกไปจัดทัพทันที 
ฝ่ายท้าวกะหมังกุหนิง เห็นกองทัพใหญ่ตั้งมั่นขวางเมืองไว้จึงเรียกวิหยาสะกำโอรสและระตูปาหยัง กับระตูประหมันน้องชายรีบกระตุ้นม้าออกไปประจำที่กองทัพ แล้วประกาศให้เร่งตีทัพดาหาให้ได้ในวันนี้ ดะหมังรับคำสั่งก็รีบเข้าโจมตีทันที บ้างจุดปืนใหญ่ (ฉัตรชัย มณฑก นกสับ) นายกองแกว่งดาบควบม้าเข้าชิงชัยกัน ทหารเมืองกุเรปันใช้ปืนตับยิงสกัดไว้แล้วไล่ประจัญบานกัน ต่างฝ่ายต่างมีฝีมือ ต่อสู้กันจนถึงอาวุธสั้น ดาบสองมือโถมเข้าทะลวงฟัน พวกใช้กริชต่อสู้ก็ต่อสู้กันพลวัน ทหารหอกก็ป้องปัดอาวุธไม่หลบหนี ทหารม้ารำทวนเข้าสู้กัน บ้างสกัดหอกที่ซัดมา บ้างพุ่งหอก บ้างยิงเกาทัณฑ์ เข้าตะลุมบอนกันกลางสนามรบ  ส่วนที่ตายทับกันเหมือนกองฟาง เลือดไหลนองไปทั่วท้องทุ่ง กองหลังก็หนุนขึ้นไปไม่ขาดสาย
สังคามาระคาเห็นข้าศึกโจมตีไม่หยุดก็โกรธมากแกว่งดาบขับม้าเข้าโจมตีข้าศึก ตามลำพัง อิเหนากับระเด่นทั้งสามหันไปดูเห็นสังคามาระตากล้าหาญไม่กลัวเกรงข้าศึกจึงขับม้าตามไป
ท้าวกะหมังกุหนิงมองเห็นอิเหนาและระเด่นทั้งสามจึงถามว่าใครคือจรกา อิเหนายิ้มแล้วตอบว่ายกทัพมาจากเมืองกุเรปันเพื่อสังหารข้าศึกที่มาติดเมืองดาหา มาถามหาจรกานั้นไม่อยู่ในกองทัพนี้ ท้าวกะหมังกุหนิงรู้ว่าเป็นอิเหนาก็รู้สึกกลัวอยู่ลึก ๆ แต่แข็งใจตอบว่า อิเหนาอายุยังน้อยและรูปร่างก็สวยงามพอได้เห็นก็น่าเสียดายที่ต้องมาตายเสียเปล่าไม่ควรต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิง เพราะท้าวกะหมังกุหนิงกับอิเหนาไม่มีข้อขัดข้องหมองใจกันให้จรกามารบเถิดจะได้ดูเล่นเป็นขวัญตา
อิเหนาจึงตอบว่าอันตัวจรกานั้นไม่ได้อยู่ที่เมืองดาหานี้เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงหลับหูหลับตามารบผิดเมือง ทำให้ไพร่พลล้มตายเสียเปล่า ถ้าจะรบกับจรกาก็ต้องไปเมืองของจรกา หากไม่รู้จักทาง อิเหนาจะช่วยชี้ทางให้ แต่ถ้ายังขืนตั้งทัพประชิดดาหาอยู่อีก ก็คงจะต้องรบกัน เพราะถึงระตูจรกาจะไม่ยกทัพมา ตัวอิเหนาเองในฐานะพี่ชาย ก็ต้องปกป้องบุษบาผู้เป็นน้องให้ปลอดภัย
ท้าวกะหมังกุหนิงจึงชี้แจงว่า ที่ยกกองทัพมาหมายจะชิงตัวนางบุษบา เพราะถึงท้าวดาหาจะรับของหมั้นจากจรกาไว้แล้ว แต่ก็ยังมิได้อภิเษกสมรสกัน จรกาไม่ได้มาด้วยก็ดี จะได้ไม่มีก้างขวางคอ การชิงนางเช่นนี้ย่อมไม่ผิดธรรมเนียมเพราะเป็นประเพณีมาแต่โบราณ สุดแต่ว่าใครจะมีฝีมือมากกว่าก็ได้นางไป ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่ใช่ธุระกงการอะไรของพี่ชาย เพราะฉะนั้นจงยกทัพกลับไปเสียดีกว่า อิเหนาจึงท้ารบกับท้าวกะหมังกุหนิง แล้วบอกว่าหากรักตัวกลัวตาย ก็ให้รีบมาก้มกราบแล้วยกทัพกลับเมืองไปเสีย
วิหยาสะกำได้ยินแล้วเคียดแค้นแทนท้าวกะหมังกุหนิง จึงกล่าวกับอิเหนาว่าอย่าปากกล้าโอหังลบหลู่ผู้ใหญ่ อย่าทะนงตัวว่าเก่ง เมื่อรบกัน ไม่ใครก็ใครก็ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง นี่ยังไม่ทันรบเลยก็มาพูดจาข่มขู่ให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้เสียแล้ว สังคามาระตาฟังวิหยาสะกำพูดดังนั้นก็โกรธ ขออาสารบกับวิหยากะกำ อิเหนาก็อนุญาตแต่กำชับเตือนว่าอย่าลงจากหลังม้า เพราะไม่ชำนาญเพลงดาบ ให้รบด้วยทวนบนหลังม้าซึ่งชำนาญดีแล้วจะได้มีชัยชนะในการรบ สังคามาระตาจึงขับม้าไปหยุดที่หน้าวิหยาสะกำ ร้องท้าให้รบด้วยเพลงทวน และแกล้งเยาะเย้ยว่าหากมีฝีมือควรคู่กับวงศ์เทวัญก็จะยกนางบุษบาให้
วิหยาสะกำแค้นใจยิ่งนัก จึงถามออกไปว่าเจ้าผู้เก่งกล้ามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร อยู่เมืองไหนเป็นเชื้อสายตระกูลใด หรือเป็นเชื้อสายในวงศ์เทวัญของสี่เมืองจึงมาท้ารบช่างไม่กลัวตาย และผู้ที่ทรงม้าอยู่ในร่มมีใครบ้าง แล้วค่อยมารบกัน สังคามาระตาได้ฟังก็โกรธมาก ก็ชี้แจงว่ามีอิเหนาเมืองกุเรปัน กะหรัดตะปาตีพี่ชายอิเหนา สุหรานากง แห่งเมืองสิงหัดส่าหรี ระเด่นดาหยนจากเมืองหมันหยา ตัวเราชื่อสังคามาระตาบุตรท้าวปักมาหงันเป็นน้องของอิเหนา วิหยาสะกำยิ้มเยาะแล้วว่ายังสงสัยว่าตัวสังคามาระตานั้นเป็นน้องอิเหนาได้อย่างไร หรือมีความรักใคร่กันขอให้บอกมาตามตรง
สังคามาระตาโกรธมากร้องว่าไอ้ข้าศึกวาจาหยาบคายมาถามเอาอะไรนักหนา จึงตอบว่า สุดแต่ว่าจิตพิศวาส  ก็นับเป็นวงศ์ญาติกันได้ หลังจากที่เจรจาได้สักพักก็ลงมือรบกัน ทั้งสองสู้ด้วยทวนบนหลังม้าอย่างกล้าหาญ สง่างามร่ายรำยักย้ายเปลี่ยนแปลกระบวนท่าเพลงทวนอย่างชำนิชำนาญ ในที่สุดสังคามาระตา ก็แกล้งลวงให้วิหยาสะกำแทงทวนแล้วทำทีพ่ายหนี วิหยาสะกำหลงกลชักม้าเลี้ยวตาม สังคามาระตาตลบหลังกลับมาทันที แล้วแทงทวนสอดลอดเกราะของวิหยาสะกำทำให้วิหยาสะกำตกจากหลังม้าตายทันที
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงเห็นวิหยาสะกำถูกอาวุธตกจากหลังม้าก็โกรธ ยิ่งนัก ชักม้าแกว่งหอกเข้าใส่สังคามาระตาทันที อิเหนาจึงรีบควบม้าเข้ามาขวาง พุ่งหอกสกัดไว้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็รับไว้ได้ ทั้งสองรุกไล่กันไปมา ในที่สุดอิเหนาชักม้าออกรอ ไม่บุกเข้าไป คิดว่าท้าวกะหมังกุหนิงนั้นมีฝีมือในการใช้เพลงทวนบนหลังม้า ยากต่อการเอาชนะ จึงต้องออกอุบายให้รบด้วยเพลงดาบ จึงจะสามารถเอาชนะได้ อิเหนาจึงท้าให้ท้าวกะหมังกุหนิงมาสู้กันด้วยดาบ
ท้าวกะหมังกุ หนิงก็รับคำ ชักดาบออกมาจ้วงฟันอย่างคล่องแคล่ว เมื่อผ่านไปได้พักใหญ่ อิเหนานึกในใจว่าท้าวกะหมังกุหนิงก็เก่งเพลงดาบ ยากที่ใครจะทัดเทียม จึงต้องสู้ด้วยกริชซึ่งองค์เทวัญประทานให้ จึงจะเอาชนะได้ อิเหนาก็ร้องท้าท้าวกะหมังกุหนิงให้มารำกริชสู้อีกเช่นกัน ท้าวกะหมังกุหนิงก็ชักกริชเข้าปะทะต่อสู้อย่างไม่ครั่นคร้าม จนเมื่ออิเหนาเห็นท้าวกะหมังกุหนิงก้าวเท้าผิด จึงแทงกริชทะลุอกไปถึงหลังทำให้ท้าวกะหมังกุหนิงสิ้นใจตายทันที
กะหรัดตะปาตี ระเด่นดาหยน สุหรานากง เห็นอิเหนาสังหารท้าวกะหมังกุหนิงสิ้นชีวิตลง  ทั้งสามจึงชักม้าเข้าสังหารข้าศึก จนระตูปาหยังกับระตูประหมันพ่ายหนีไป ไพร่พลต่างกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง บ้างปลอมปนกับพลทหาร บ้างบ่าวหามใส่บ่าพาวิ่งหนี เครื่องแป้งทิ้งตกกระจายเกลื่อน บ้างหนามเกี่ยวหัวหูก็ไม่รู้สึกตัว บ้างก็หนีไปตามลำพัง บ้างก็ทิ้งปืนหนีไปแอบหลังเพื่อน พวกถูกปืนก็เซซังคลานหนี ระตูทั้งสองเมื่อกลับถึงค่ายก็ปรึกษากันขอยอมแพ้แก่อิเหนา เพื่อเป็นการรักษาชีวิตและรี้พลไว้ แล้วระตูทั้งสองก็เข้าเฝ้าอิเหนา
ระตูปะหมันและระตูปาหยังต่างกลัวจนตัวสั่นแจ้งแก่อิเหนาว่าทั้ง สองมีความผิดหนักหนาแต่ขอประทานชีวิตไว้จะขอเป็นข้ารับใช้ต่ออิ เหนาจนกว่าจะตายและจะส่งบรรณาการมาถวายตามประเพณี อิเหนาก็รับไว้เป็นเมืองขึ้น แล้วให้ทั้งสองนำศพของท้าวกะหมังกุหนิง และวิหยาสะกำไปทำพิธีตามราชประเพณี แล้วอิเหนาก็มาดูศพวิหยาสะกำ เห็นศพถูกทิ้งอยู่พิจารณาดูแล้วก็ใจหายเพราะยังเป็นหนุ่มอยู่รูปร่างก็สวยงามนับว่าสมชายชาตรี ฟันแดงดังแสงทับทิม หน้าตางดงามรับกับคิ้ว ผมปลายงอนงามรูปร่างสมส่วนอย่างนี้บิดาจึงรักนักหนาจนต้องมาตายเพราะลูก หากจรกางดงามอย่างวิหยาสะกำก็จะไม่ร้อนใจว่าจะมาปะปนศักดิ์กัน แล้วอิเหนาก็ขึ้นม้ากลับที่พักไป
ระตูปะหมันและระตูปาหยังกอดศพท้าวกะหมังกุหนิงพี่ชายร้องไห้รำพันออกมาด้วยความเศร้าว่าท้าวกะหมังกุหนิงนั้นมีชื่อเสียงเกียรติยศปรากฏไปทั่วทุกแผ่นดินทำสงครามทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นเพราะคิดประมาทรักลูกมากเกินไปจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง อนิจจาวิหยาสะกำคงเป็นเวรกรรมแต่ครั้งก่อน เสียแรงที่มีกำลังมีความกล้าหาญต้องมาตายตั้งแต่ยังอายุน้อย ต่อไปนี้คงไม่ได้เห็นหน้า กลับบ้านเมืองไปคงจะมีแต่ความเงียบเหงา ทั้งสองระตูต่างโศกเศร้าเสียใจ



 

เนื้อเพลง