วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พญาสามฝั่งแกน กษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังราย

 พระญาพญ


พญาสามฝั่งแกน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนาพระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ ๓ ของพระญาแสนเมืองมากับพระนางรายา พระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากสิบสองพันนาโดยมีพระเชษฐาต่างพระมารดาพระนามว่าท้าวยี่กุมกาม ในกรณีของลำดับองค์ราชบุตรพระญาสามฝั่งแกนนั้น สงวน โชติสุขรัตน์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ‘‘เข้าใจว่าคงจะเป็นโอรสองค์ที่ ๓ เพราะตามธรรมเนียมไทโบราณ มีวิธีนับและเรียกลูกคนโตว่า พี่อ้าย” คนต่อมาก็จะเรียกว่า ยี่-สาม-สี่-งั่ว-ลก-ตามลำดับ แต่ราชโอรสหรือราชธิดาองค์แรกนั้น อาจจะสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่มีพระนามปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์’’

                   ฝ่ายพระญาสามฝั่งแกนทรงมีโอรสต่างมารดาทั้งหมด ๑๐ องค์ดังนี้ ๑.ท้าวอ้าย ๒.ท้าวยี่ ๓.ท้าวสาม ๔.ท้าวไส ๕.ท้าวงั่ว ๖.ท้าวลก ๗.ท้าวเจ็ด ๘.ท้าวแปด ๙.ท้าวเก้า ๑๐.ท้าวสิบหรือท้าวซ้อย
                   ท้าวอ้าย พระบิดาคิดยกราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ตั้งวังอยู่ที่ใกล้เวียงเจ็ดลินได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา
                   ท้าวงั่ว หรือเจ้าเชียงล้าน พระบิดาให้ครองพันนาเชียงเรือ
                   ท้าวลก พระบิดาให้ครองเมืองพร้าว แบ่งสรรที่ดินชาวพร้าวังหินให้ ๕๐๐ พันนา
                   ท้าวเจ็ด พระบิดาให้ครองเมืองเชียงราย
                   ท้าวซ้อย พระบิดาให้ครองเมืองฝาง
ส่วนพระโอรสที่เหลืออีก ๕ องค์นั้น คือ ท้าวยี่ ท้าวใส ท้าวแปด และท้าวเก้า พระบิดาปล่อยให้ไปตามทางเดินชีวิตของตนเอง
                   ในตำนานเก่าแก่แต่โบราณมีการเรียกนามของพระญาสามฝั่งแกนต่างกันไปนาๆ เช่น  ดิษฐกุมาร(เจ้าดิสกุมาร) หรือ เจ้าดิส” ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ พระเจ้าสามปรายงค์แม่ใน” ในตำนานไม่ปรากฏพระนามและ พญาสามประหญาฝั่งแกนหรือ สามแม่ใน ในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล เป็นต้น      ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ กล่าวถึงที่มาของพระนามพระญาสามฝั่งแกนว่า ทรงได้รับการตั้งพระนามตามสถานที่ประสูติ ช่วงนั้นพระราชมารดาของพระองค์ทรงครรภ์ได้ ๘ เดือน เจ้าแสนเมืองมาพาเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆ ถึงสิบสองปันนาลื้อ พอล่วง ๗ เดือนผ่านไป จึงเสด็จกลับมาที่พันนาสามฝั่งแกน และประสูติราชบุตรที่นั่น ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่ที่ ตำบลอินทขิล อำเภอ แม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ โดยบริเวณเมืองเก่านี้มีแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ๑. แม่น้ำแกน ๒. แม่น้ำปิง และ๓. แม่น้ำสงัด หรืองัด
                ในงานวิจัย รายงานการสำรวจพื้นฐาน ทุ่งพันแอกพันเฝือเมืองแกน ของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้สันนิษฐานว่าพระนามของพระองค์อาจมาจากทั้งชื่อเมืองพันนาฝั่งแกน หรือชื่อแม่น้ำสามฝั่งแกน ในกรณีของชื่อแม่น้ำแกน อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า อาจมาจากคำว่า กั่งแก๊น” ซึ่งตำนานเมืองแกนกล่าวว่า เป็นอาการคับแค้นใจของประชาชนในเมืองแกนที่ถูกศัตรูรุกราน แล้วกวาดต้อนผู้คนไปทำให้พลัดพรากกัน หรืออาจมาจากคำว่า แก๊น” แปลว่ากลาง
 ภายหลังจากพระญาแสนเมืองมาผู้เป็นพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ในปีพ.ศ. ๑๙๔๕ ราชบุตรเจ้าสามฝั่งแกน ก็ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา การครองราชย์ของพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากพระราชบิดาและเจ้าอา ซึ่งต่อมาพระองค์จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าอาไปเป็นเจ้าสี่หมื่น ครองเมืองพะเยาส่วนพระราชมารดา พระองค์ได้สถาปนาไว้ในที่สมเด็จพระชนนีพันปีหลวง พระมหาเทวีโลกะจุกราชเทวี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่
                ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ได้ตำหนิพระญาสามฝั่งแกนไว้ในตอน สีหฬสาสนาคมนกาล ว่า เจ้าดิสกุมารมีศรัทธาในศาสนาน้อย ทรงเลื่อมใสแต่สิ่งภายนอก ไม่คบหาสัตบุรุษ บวงสรวงแต่ภูติผีปีศาจ สวน ต้นไม้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาและป่า ทรงเซ่นไหว้บวงสรวงด้วยโคและกระบือ เป็นต้น
                ทรงสร้างมหาวิหารที่ตำบลฝั่งแกน อันเป็นที่ประสูติของพระองค์ ปรากฏชื่อว่า วัดมุงเมือง ทรงแบ่งนาไร่ถวายแก่มหาวิหารนั้นเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงวัด และทรงแบ่งเอาไร่นาที่เขาถวายเป็นพุทธบูชาในที่ต่างๆ ทั่วแคว้นล้านนาโอนมาถวายแก่มหาวิหารด้วย
               ในรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นและเกิดศึกกับอาณาจักรสุโขทัย เริ่มแต่ตอนต้นรัชกาล โดยขณะนั้นท้าวยี่กุมกามพระเชษฐาทรงครองเมืองเชียงรายอยู่ ครั้นพระองค์ได้ทราบข่าวว่าข้าราชการเสนาอำมาตย์ได้เชิญพระอนุชาขึ้นครองเมืองเชียงใหม่เป็นพระญาสามฝั่งแกน หลังจากที่พระราชบิดาทิวงคตแล้ว พระองค์ทรงกริ้วมากที่พระองค์ไม่ได้ครองราชย์ จึงได้ยกรี้พลจากเชียงรายเข้าล้อมหมายจะรบชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ทางฝั่งเมืองเชียงใหม่เองก็ทราบดีว่าไม่ช้านานจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงได้มีการเตรียมกองทัพไว้ล่วงหน้าแต่เมื่อแรกยกราชสมบัติให้เจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเจ้าท้าวยี่กุมกามยกทัพมา ฝ่ายเชียงใหม่ก็ยกทัพออกรบสู้ป้องกันเมืองจนกองทัพเชียงรายไม่สามารถเข้าหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้ จำต้องล่าถอยหนีไป กระนั้นก็ตาม ฝ่ายกองทัพเชียงใหม่ยังได้ตั้งกองทัพสกัดทางเท้ายี่กุมกามที่จะเข้าเมืองเชียงราย จนพ่ายแพ้ยับเยินเสียรี้พลเป็นอันมาก เมื่อท้าวยี่กุมกามรู้แน่แล้วว่าตนเองไม่สามารถกินเมืองเชียงใหม่ได้ จึงหนีไปเพิ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระญาไสลือไท) ณ กรุงสุโขทัย
ฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เองก็ทรงเห็นชอบ สั่งให้จัดกองทัพหลวงขึ้นมารบ โดยยกไพร่พลไปตามลำน้ำยมเพื่อเข้าไปตีเมืองพะเยาซึ่งอยู่ฝ่ายเหนือก่อน เมื่อเข้าประชิดเมืองพะเยานั้น ให้ปลูกหอเรือกสูง ๑๒ วา ที่ตำบลหนองเต่า เพื่อจะเอาปืนยิงขึ้นกวาดในเมือง ฝ่ายข้างชาวเมืองพะเยาก็ไปรื้อเอาทองเหลืองกระเบื้องมุงหลังคาวัดมหาพนมาหล่อปืนใหญ่เล่มหนึ่ง ใหญ่ ๔ กำ หนักสามล้านทอง เสร็จแล้วเซ่นสรวงพลีด้วยกระบือเผือก ๑ กระบือ แล้วก็บรรจุลูกกระสุนดินดำ ยิงไปทำลายหอเรือกนั้นพังลง พระมหาธรรมราชาที่ ๓เห็นร้าย จึงให้ท้าวยี่กุมกามนำทัพลาดขึ้นไปทางบ้านแจ้พรานไปเมืองเชียงราย พักบำรุงไพร่พลพอหายอิดโรยแล้ว ก็ยกลงมาทางเมืองฝาง
ตกวันเสาร์ก็เดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งกองทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวง ใช้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่เป็นใจความว่า ท้าวยี่กุมกามเป็นพี่ควรจะได้สืบราชสมบัติแทนบิดา ถ้าไม่ให้ท้าวยี่กุมกามเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็จะให้พลโยธาเข้าหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ ท้าวขุนเสนาในนครพิงค์เชียงใหม่มีหนังสือตอบไปว่า ท้าวยี่กุมกามไม่สมควรจะได้เป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ถึงแม้เป็นพี่ก็หาสติปัญญาและบุญญาภิสมภารมิได้ เพราะเหตุฉะนั้น การที่จะรบกันด้วยกำลังพลโยธา ไพร่พลก็คงจะล้มตายลงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าจะให้รู้ว่าเจ้าท้าวยี่กุมกามกับเจ้าท้าวสามฝั่งแกน ใครจะมีบุญญาภิสมภารยิ่งกว่ากัน ขอให้จัดสรรทหารที่มีฝีมือเพลงอาวุธอย่างดีฝ่ายละคนให้ต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าคนทั้งสองที่สู้กันนั้น ฝ่ายใดแพ้และชนะ กองทัพฝ่ายนั้นก็เป็นแพ้ด้วยชนะด้วย เป็นการเสี่ยงบุญวาสนาแห่งเจ้าทั้งสองนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๓ได้ฟังตอบเช่นนั้นก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงให้เลือกสรรได้คนไทยผู้หนึ่ง เป็นผู้ชำนาญเพลงดาบสองมือหาผู้ใดเสมอมิได้ ฝ่ายข้างชาวเชียงใหม่เลือกได้หาญยอดใจเพชรชำนาญดาบเขน ทั้งสองฝ่ายจึงประชุมกันตั้งสนามที่ตำบลเชียงขวาง ครั้นคนทั้งสองเข้าสู้รบกัน ถ้อยทีมีฝีมือปัดป้องว่องไวด้วยกันทั้งสองข้าง แต่ต่อสู้กันอยู่ช้านาน ประหารกันและกันมิได้ ในที่สุดหาญยอดใจเพชรได้ท่วงที ก็ฟันถูกนิ้วแม่เท้าทหารไทยผู้นั้นเพิกไปนิดหนึ่ง ฝ่ายไทยก็เป็นแพ้แก่ชาวเชียงใหม่
ขณะที่กองทัพไทยมาตั้งอยู่นั้น มีชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ผู้หนึ่งชื่อเพ็ดยศ รวบรวมคนหนุ่มฉกรรจ์ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไปถึง ๓๐ ปี ได้ประมาณ ๒๐๐ คน ขึ้นไปตั้งซุ่มอยู่บนดอยอุสุจบรรต คอยดูชาวทัพไทยออกลาดหาหญ้าช้าง ครั้นได้ทีก็ออกทะลวงฟัน ได้ศีรษะมาถวายพระญาสามฝั่งแกนทุกวัน พระญาสามฝั่งแกนตรัสชมว่าเขาเหล่านี้เป็นเด็กชายน้อยยังมีใจสวามิภักดิ์กล้าหาญถึงปานนี้ จึงตั้งให้ เพ็ดยศที่เป็นหัวศึกสี่หมู่ มีตำแหน่งว่า พญาเด็กชายสืบแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ (ตำแหน่งหัวศึกขุนพล) สี่หมู่นั้นคือ พญาแสนหลวง ๑ พญาสามล้าน ๑ พญาจ่าบ้าน ๑ พญาเด็กชาย ๑
ครั้นอยู่มาได้ ๗ วันพระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลิน แล้วก็ขึ้นไปสรงน้ำดำเศียรยังดอยผาลาดหลวง แล้วก็เลิกทัพกลับไปข้ามน้ำแม่ระมิงค์ที่ท่าสบกาง (ปากน้ำกาง) ไปทางตะวันออกแต่งกองทัพซุ่มไว้รั้งท้ายเป็นสามกอง ณ ใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่ง ฝ่ายพระญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ จึงแต่งให้หมื่นมะขาม ๑ หมื่นสามหมาก ๑ หมื่นเข็ม ๑ หมื่นเขือ ๑ ถือพลยกไปตามตีตัดท้ายพลพระมหาธรรมราชาที่ ๓ หมื่นทั้งสี่คนยกกองทัพไปจวบกองทัพไทยที่ซุ่มไว้ จึงได้ตกเข้าอยู่ในที่ล้อม กองทัพไทยล้อมไว้ ได้สู้รบกันถึงตะลุมบอนฟันแทงกันเป็นบั้นเป็นบ่อนตายกลาดอยู่ที่ใกล้หนองแสนท่อนนั้น
                      ในช่วงที่ เชียงใหม่กับสุโขทัยได้ทำการประลองยุทธ์สู้รบด้วยการส่งทหารที่มีฝีมือเพลงดาบ ผลปรากฏว่าสุโขทัยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถอยกำลังออกไปตั้งค่ายพักกำลังพลอยู่ที่ดอยเจ็ดลินตลอดเวลาที่อยู่ ณ ที่นั่น พระองค์ทรงสุบินเห็นแต่ช้างไล่ราชสีห์ติดต่อกัน ๗ คืน ยิ่งมาทราบข่าวว่า ทางเชียงใหม่ได้จัดตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน ๒๒๐ เล่มเกวียนตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ก็ทำให้ทรงมีความกลัวเกรงยิ่งนัก เกิดมีใจครั่นคร้ามจนเลิกทัพกลับไป
ด้วยเหตุนี้ พระญาสามฝั่งแกนจึงได้ถือเอานิมิตของพระมหาธรรมราชาที่ ๓นั้นมาสถาปนาเวียงเจ็ดลินขึ้น วัตถุประสงค์ในการสร้างเวียงเจ็ดลิน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พระองค์สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานเชียงใหม่ทางด้านตะวันตก รวมทั้งใช้เป็นพระราชวัง ในการแปรพระราชฐานของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดังหลักฐานในการเสด็จย้ายเคราะห์มาประทับ ณ เวียงเจ็ดลินเป็นระยะนับแต่พระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. ๑๙๕๔) ถึงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๘๙)
กรณีของการสถาปนาเวียงเจ็ดลินนี้อาจหมายความถึงการกระจายความเจริญเข้ามาสู่เขตพื้นที่เชิงดอยสุเทพ โดยการให้ขุนนางหรือบุคคลในราชวงศ์มาปกครองดูแลขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ภายหลังจากที่เป็นเขตชุมชนที่อาศัยของกลุ่มคนพื้นเมืองตั้งแต่ระยะก่อนสมัยล้านนา
                      ครั้นศึกพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เลิกกลับไปแล้ว อยู่มามินานก็เกิดศึกกับฮ่อขึ้น พระญาฮ่อลุ่มฟ้าเมืองแสนหลวง (ฮุน- หนำ) ใช้ให้คนมาทวงบรรณาการเป็นส่วยสองหมื่นคาน (สองหมื่นหาบ) พระญาสามฝั่งแกนตอบว่าส่วนข้าวซึ่งแต่ก่อนเคยส่งเก้าพันคานนั้น หากได้เลิกละเสียแล้วตั้งแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าพระญากือนาเป็นต้นมา(เหตุที่ฮ่อยกทัพมาประชิดก็เพราะล้านนาไม่ส่งส่วยให้ นับตั้งแต่สมัยของพระญากือนาแล้ว จึงในปี พ.ศ. (๑๙๔๗-๑๙๔๘) เสนาฮ่อกลับไปทูลพระญาฮ่อเจ้าลุ่มฟ้า พระญาฮ่อจึงให้ฝ่ายฟ้าเมืองแสยกพลศึกเป็นอันมากเข้ามาติดเมืองเชียงแสน พระญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่จึงมอบให้เจ้าแสนคำเรืองเป็นที่เจ้าแสนชัยปราบศัตรู ยกพลชาวเชียงใหม่แปดหมื่นขึ้นไปรักษาเมืองเชียงแสน ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนก็ประมวลรี้พลชาวเชียงแสนและชาวเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองพะเยา รวมพลสองแสนสองหมื่น แต่งรักษาเมืองเชียงแสนทั้งภายนอกภายในอย่างมั่นคง แล้วแต่งสนามรบเหนือเมืองเชียงแสนแห่งหนึ่งยาว ๕๐๐๐ วา กว้าง ๑๗๐๐ วา ในเวลากลางคืนแต่งกันไปขุดหลุมไว้หลายแห่ง สานเรือกปิดปากหลุม กรุใบไม้เกลี่ยดินกลบปากหลุมให้เสมอเหมือนพื้นดินธรรมดาไว้ระยะห่างกัน ๑ วาต่อหลุมนั้นๆ กว้าง ๑ วา ลึก ๑ วา ทุกหลุมทำทางไว้ด้านเหนือและด้านตะวันตก ตะวันออกกว้าง ๑๐๐ วา จึงให้ทัพเมืองเชียงรายเมืองฝางเป็นปีกขวา ทัพเมืองเชียงของเมืองเทิงเป็นปีกซ้าย ทัพเมืองเชียงใหม่เมืองพะเยาเป็นองค์ แล้วจัดกองทัพม้า ๕๐๐ ออกยั่วทัพฮ่อ วันนั้นเป็นยามแตรใกล้เที่ยง ฮ่อก็ยกพลศึกเข้ามา ฝ่ายกองทัพชาวล้านนาไทยก็แยกปีกกายอพลศึกเข้าต่อรบตามทางโดยแผนที่ๆ แต่งไว้นั้น และตีฆ้องกลองโห่ร้องเป็นโกลาหล เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งติดพันกันแล้ว ฝ่ายทัพชาวล้านนาก็แสร้งล่าถอยลงมาตามทางที่ทำหลุมไว้นั้น ฮ่อก็ยกพลไพร่รบตะลุยลงมาถึงหลุมที่แต่งไว้ ก็ตกหลุมลงไปเป็นอันมาก กองทัพชาวล้านนากลับรุกล้อม เข้ามารบราฆ่าฟันฮ่อตายในหลุมเป็นอันมาก อยู่มาอีกสามวัน กองทัพฮ่อยกหนุนมาอีก เข้าปล้นเวียงเชียงแสน ชาวล้านนานำกองทหารอาสาออกทะลวงฟันต่อยุทธ์กันถึงตะลุมบอน ฝ่ายพลฮ่อมีเกราะเหล็กเกราะหนัง ฟันแทงไม่เป็นอันตราย ชาวเมืองจึงเอากรวดทรายมาคั่วไฟให้ร้อน และโปรยสาดให้เข้าไปในเกราะนั้นร้อนไหม้ ฮ่อจึงพ่ายแพ้เลิกถอยไป
ถัดนั้นมาได้ ๓ ปี ถึงปีระกา สัปตศก จุลศักราชได้ ๗๒๗ กองทัพฮ่อยกมาติดเมืองเชียงแสนอีกหลายทัพหลายกอง มีรี้พลมากนัก ครั้งนั้นมหาเถรศิริวังโสบวชอยู่วัดดอนแท่นเมืองเชียงแสนเป็นผู้รอบรู้ศิลปะศาสตร์และวิทยาอาคม มีสติปัญญาสามารถ พระญาสามฝั่งแกนอาราธนาให้ไปครองอารามกู่หลวง รับอาสาแต่งการพิธีพลีกรรมกระทำวิทยา ให้บังเกิดลมพายุและฝนใหญ่อัสนีบาตตกในกองทัพฮ่อ ต้องนายทัพและรี้พลฮ่อเป็นอันตรายหลายคน ทัพฮ่อก็เลิกถอยไปตั้งอยู่เมืองยอง พระญาสามฝั่งแกนจึงปูนบำเหน็จสถาปนาพระมหาศิริวังโสขึ้นเป็นราชครู ยกแคว้นดอนแท่นให้เป็นกัลปนาแล้ว จึงให้หมื่นเมืองพร้าวอยู่ครองเมืองเชียงแสน
ฝ่ายกองทัพฮ่อไปตั้งอยู่เมืองยองสิบสองพันนาลื้ออาฬวิเชียงรุ้ง เมืองแรมนานได้ ๓ ปี ไพร่พลเมืองแตกฉานออกอยู่ป่าอยู่เถื่อน ไม่เป็นบ้านเป็นเมือง พระญาสามฝั่งแกนจึงมอบหมายให้เจ้าขุนแสนลูกพระยาวังพร้าวเป็นแม่ทัพ ยกพลขึ้นไปรบฮ่อยังเมืองยอง ฮ่อทั้งหลายก็พ่ายหนีไป เจ้าขุนแสนตามตีฮ่อไปถึงที่สุดดินแดนสิบสองพันนาแล้ว ก็กลับมาตั้งทัพอยู่เมืองยอง ให้ตั้งเวียง ณ ตำบลดอนดาบสทิศตะวันออกเมืองยองเรียกว่า เวียงเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระญาแสนฟ้าเมืองอาฬวิเชียงรุ้งและเมืองแรมเมืองเขมรัฐ ก็มากระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นไมตรีกับเจ้าขุนแสน แล้วจึงปักปันเขตแดนแว่นแคว้นเชียงรุ้งกับเชียงแสนต่อกัน ตั้งแต่น้ำโอน้ำดำลงมาภายใต้เป็นแดนเมืองยอง และเมืองยองเป็นเมืองขึ้นเชียงใหม่แต่นั้นมา เจ้าขุนแสนจึงตั้งเจ้าเมืองยองเป็นที่พญาอนุรุธ เป็นประธานแก่เมืองทั้งหลาย อยู่อุปัฏฐากมหาธาตุเจ้าจอมยองตามโบราณประเพณีแต่ครั้งพญาอโสกราชตั้งไว้ และเมืองนี้เป็นเมืองอุปัฏฐากมหาธาตุเจ้ามาแต่โบราณกาล พลเมืองทั้งหลายหากเป็นข้าพระธาตุทั้งสิ้น เหตุฉะนั้น จึงไม่ต้องส่งส่วย นอกจากบรรณาการปีละครั้ง
เจ้าขุนแสนจัดการเมืองยองสำเร็จแล้ว ก็พาเอาเชลยฮ่อและช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบลงมาถวายพระญาสามฝั่งแกนยังเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ทรงพระโสมนัสยินดียิ่งนักจึงสถาปนาเจ้าขุนแสน ให้เป็นเจ้าพญาศรีสุวรรณคำล้านนาไชยสงครามครองเมืองชัยบุรีเชียงแสน เป็นใหญ่แก่ล้านนาเชียงแสนทั้งมวล มีอาณาเขตฝ่ายใต้ตั้งแต่น้ำตกแม่ของ ฝ่ายตะวันตกถึงริมน้ำแม่คง ฝ่ายเหนือถึงน้ำโอน้ำดำ ฝ่ายตะวันออกถึงดอยหลวงเชียงชีเป็นอาณาเขตมลฑลเชียงแสนส่วนหนึ่ง

ตอนต้นรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกนจึงมีการรบทั้ง ๒ ด้าน คือจากด้านใต้และด้านเหนือ ครั้นยุติสงครามกับฮ่อแล้ว ความสงบสุขก็คืนมาตลอดปลายรัชสมัย พระญาสามฝั่งแกนทรงมีพระปรีชาสามารถในการรักษาบ้านเมืองในยามศึกสงคราม ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นยังทรงพยายามปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผน โดยการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ไว้ในตำแหน่งอุปราช อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ที่เชียงใหม่

เมื่อพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์สายรามัญแพร่หลายในล้านนา สมัยพญากือนา พระภิกษุชาวล้านนา ก็ได้ให้ความสนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ ครั้นผ่านรัชสมัยของพระญาแสนเมืองมา เข้าสู่รัชสมัยพระญาสามฝั่งแกน ก็ปรากฏมีพระสงฆ์กลุ่มลังกาวงศ์ใหม่ หรือลังกาวงศ์รุ่น ๒ เข้ามาสู่ล้านนาสาเหตุของการสถาปนานิกายสงฆ์ใหม่นั้นก็คือสืบเนื่องมาจากความไม่พอใจของบรรดาพระสงฆ์ที่มีต่อพระญาสามฝั่งแกนที่ยกเลิกเอากัลปนาค่าส่วยสำหรับพระสงฆ์ในที่ต่างๆ ไปขึ้นกับวัดวัดบุรณฉันท์ หรือวัดศรีมุงเมือง ผลคือพระมหาเถรทั้งหลายที่เป็นพหูสูต ผู้รู้ปริยัติ พากันออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ไปศึกษาพระธรรมที่เมืองลังกา
เมื่ออยู่ที่เมืองลังกาก็เกิดฝนแล้งข้าวแพง บรรดาพระเถรานุเถระเหล่านี้เห็นว่าจะอยู่ต่อไปไม่สุข จึงชักชวนกันกลับจากลังกาทวีป ได้ชวนเอาพระภิกษุชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ มีพรรษาได้ ๑๕ พรรษารูปหนึ่ง ชื่อพระอุดมปัญญา มีพรรษาได้ ๑๐ พรรษาอีกรูปหนึ่ง พอถึงปีพ.ศ. ๑๙๗๓ (จุลศักราช ๗๙๒ ปีระกา โทศก) พระเหล่านี้ได้พากันขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ สำนักอยู่ ณ รัตนมหาวิหาร คือวัดป่าแดงหลวง ในปีพ.ศ. ๑๙๗๕ (จุลศักราช ๗๙๔ ปีชวด จัตวาศก) ได้เดินทางไปเมือง เขลางค์นคร กระทำสังฆกรรม ณ อุทกสีมา ในแม่น้ำวัง บวชพระจันทรเถร เป็นต้น และกุลบุตรอื่นเป็นอันมาก ล่วงในปีพ.ศ. ๑๙๗๗ (ลุจุลศักราช ๗๙๖ ปีเถาะ ฉศก) ได้ขึ้นไปเมืองเชียงแสน บวชกุลบุตรในเกาะชื่อว่าปักลังกทิปะกะในแม่น้ำของ มีพระมหาธรรมเสนาบดีกุลวงษ์เป็นต้น
 จากการสถาปนานิกายนี้ส่งผลทำให้พระสงฆ์ล้านนามีความรู้ความสามารถทางพุทธศาสนาสูงมาก ส่งผลให้มีการทำสังคายนาสอบชำระพระไตรปิฏกขึ้นที่วัดเจ็ดยอดเชียงใหม่ในสมัยต่อมา ใน พ.ศ.๒๐๒๐ และปรากฏผลงานวรรณคดีบาลีของพระภิกษุชาวล้านนาที่โดดเด่น ต่อมาในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘ เหตุเกิดพระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ (รุ่น ๒) หรือนิกายสิงหล มีดังนี้

ใน จ.ศ. ๙๘๕ (พ.ศ.๑๙๖๖) ซึ่งอยู่ช่วงรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน มีพระสงฆ์ล้านนากลุ่มหนึ่งจำนวน ๒๕ รูป นำโดยพระมหาธัมมคัมภีร์ พระมหาเมธังกร พระมหาญาณมงคล พระมหาศีลวงศ์ พระมหาสาริบุตร พระมหารัตนากร และพระพุทธสาคร เป็นต้น ได้เดินทางไปสู่สำนักพระมหาสวามีวนรัต ที่ลังกาทวีปเพื่อเรียนอักขระบาลี การอ่านออกเสียง การสวดตามอักขระบาลีในลังกาทวีป และขออุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปา ในแม่น้ำกัลยาณี พ.ศ. ๑๙๖๘ (จ.ศ.๗๘๖) จากนั้นก็จาริกไปนมัสการพระทันตธาตุ รอยพระบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ และมหาสถานอีก ๑๖ แห่ง หลังจากอยู่ในลังกาได้ ๔ เดือนท่านเหล่านั้นประสบทุพภิกขภัย จึงกลับมาโดยได้นำพระเถระชาวลังกา ๒ รูป คือพระมหาวิกกมพาหุและพระมหาอุตตมปัญญา มาด้วยเพื่อทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์

ใน พ.ศ. ๑๙๗๔ (จ.ศ. ๗๙๒) พระเถระเหล่านั้นได้มาถึงเชียงใหม่ และเข้าจำพรรษาอยู่ในวัดป่าแดงมหาวิหาร (รัตตวนมหาวิหาร) เชิงดอยสุเทพ ท่านเหล่านั้นได้เดินทางไปเผยแผ่นิกายสิงหลโดยทำอุปสมบทกรรม บนแพขนานกลางแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำวัง นครเขลางค์ แม่น้ำปิง เมืองหริภุญชัย ท่าน้ำกาดกุมกาม เกาะดอนแท่นเมืองเชียงแสน และสร้างวิหารป่าแดงหลวงขึ้นที่เชิงดอยจอมกิตติ สุวัณณปาสาณกะเมืองเชียงราย ฯลฯ
ในปีพ.ศ. ๑๙๗๙ ณ เมืองเชียงราย เกิดอัสนีบาตฟาดใส่พระสถูปใหญ่ที่วัดพระแก้วจนพังครืนลงมา ต่อมาได้มีผู้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่ง จึงได้มีการเชิญเข้าไปไว้ในวัดนั้น กาลเวลาผ่านไป รักปิดทองที่ลงไว้เกิดหลุดลอกออกมาจนเห็นเป็นสีเขียวมรกต เมื่อเจ้าอาวาสมาพบเข้าจึงได้นำมาชำระขัดสี แล้วพบว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วมรกตทั้งองค์ ท่านจึงดีใจเป็นล้นพ้นเลยนำมาจัดการให้สระสรงตามประเพณีนิยม จากนั้นปรากฏว่ามีผู้คนมาเคารพสักการะเป็นอันมาก
ต่อมาเรื่องราวทราบไปถึงพระกรรณของพระญาสามฝั่งแกน จึงมีรับสั่งให้เชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงรายจึงเชิญพระแก้วขึ้นสถิตบนหลังช้าง แล้วเดินออกไปเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกจะไปทางเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง และไปยังเมืองลำปางทางหนึ่งช้างก็ตื่นหนีไปทางเมืองลำปางทุกครั้ง หมื่นด้งนครพระญาติของพระญาสามฝั่งแกน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองลำปางก็ทูลขอพระแก้วไว้ที่เมืองลำปาง พระองค์ก็ทรงอนุญาต
 สำหรับด้านการปกครองสมัยของพระองค์นั้นกษัตริย์จะใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นหลักในการปกครอง กล่าวคือ ส่งเชื้อพระวงศ์ที่ทรงวางพระทัยไปปกครองเมืองต่างๆ ในลักษณะการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ดังเห็นได้จาก พระญาสามฝั่งแกนส่งโอรสหลายองค์ไปครองเมืองตามที่ต่างๆ เช่น ท้าวลกครองเมืองพร้าว ท้าวเจ็ดครองเมืองเชียงราย ท้าวสิบครองเมืองฝาง เป็นต้นนอกจากนั้นยังใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการอภิเษกสมรสกับธิดาของกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พระญาแสนเมืองมาอภิเษกสมรสกับธิดาของเจ้าเมืองในเขตสิบสองพันนา แล้วกำเนิดพระญาสามฝั่งแกน เป็นต้น
ในสมัยเริ่มแรกของพระองค์พบว่าการปกครองยังหละหลวมอยู่ อีกทั้งที่ตั้งเมืองก็อยู่แยกกันทำให้หัวเมืองมีอำนาจทางการเมืองสูง พร้อมที่จะแข็งข้อได้ง่าย ด้านการเมืองการปกครองนั้น กษัตริย์มีอำนาจปกครองจำกัดอยู่เพียงเมืองราชธานี ส่วนเมืองอื่นที่ขึ้นต่อนั้นจะปล่อยให้เจ้าเมืองมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการตามลำพัง ลักษณะนี้พบเห็นได้จากการไม่มีสายบังคับบัญชาเชื่อมโยงไปสู่หัวเมือง ในแง่ของระบบพันนา รวมถึงไพร่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ กล่าวคือ หน่วยพันนาของที่ดินจะเป็นตัวกำหนดไพร่ในสังกัด ยิ่งทั้งสองส่วนนี้มีมากเท่าใดก็จะเป็นต่อสูง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเสบียงจากที่ดิน (พันนา) และกำลังคน (ไพร่ที่สังกัดในพันนา) ลักษณะดังกล่าวทำให้หัวเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง หากย้อนมาดูเหตุการณ์ที่ท้าวยี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงรายที่คิดการชิงราชสมบัติของพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นอนุชานั้นก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีไพร่จำนวนมาก พันนาในสังกัดมากถึง ๓๒ พันนา สามารถปลูกข้าวได้มาก อีกทั้งที่ตั้งยังเป็นฐานเศรษฐกิจใช้ส่งผ่านสินค้า
ภายหลังพระญาสามฝั่งแกนพยายามจัดการปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น มีการควบคุมหัวเมืองที่ไม่ให้เป็นภัยต่อราชธานี เท่าที่พบคือ การแต่งตั้งและย้ายตำแหน่ง พระองค์จะใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในการสั่งให้บุคคลที่ไว้วางใจไปครองเมืองต่างๆ กล่าวคือส่งท้าวลก ซึ่งเดิมกินเมือง พร้าว ไปกินเมืองยวมใต้ เป็นต้น นอกจากนั้นมีการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ใกล้ชิดพระองค์ที่เมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เมืองเชียงรายลดความสำคัญลงกลายเป็นเมืองอุปราช              
                          ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๙๕๒ ท้าวลกราชบุตรของพระญาสามฝั่งแกนทรงครองเมืองพร้าวอยู่ไม่นานเท่าใด ก็ทำความผิดอาชญาจนพระบิดาทรงพิโรธ ให้นำตัวไปไว้ยังเมืองยวมใต้ ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๙๘๕ ได้เกิดเหตุการณ์ กบฏท้าวลกชิงราชสมบัติ ทำให้รัชสมัยพญาสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด
ช่วงเวลานั้นพระญาสามฝั่งแกนผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ทรงประทับสำราญอยู่ ณ เวียงเจ็ดลิน ก็ได้มีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าสามเด็กย้อย คิดไม่ซื่อจึงแปรพักตร์เข้ารับใช้ท้าวลก คิดการไกลถึงกับจะเอาราชสมบัติให้พระองค์ หลังจากนั้นสามเด็กย้อยจึงรวบรวมซ่องสุมกำลังจนพร้อม แล้วจึงลอบไปรับเจ้าท้าวลกจากเมืองยวมใต้ มาซุ่มซ่อนไว้ในเวียงเชียงใหม่ เมื่อเจ้าท้าวลกกับขุนสามเด็กย้อยเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้ว ตกเวลาเที่ยงคืนก็ให้คนลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินไหม้ขึ้น พระญาสามฝั่งแกนจึงทรงม้าหนีออกมาเข้าในเวียง พระองค์นั้นหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นท้าวลกนั้นยึดครองราชย์มนเทียรอยู่ พอเข้ามาถึงคุ้ม ท้าวลกก็ให้กุมเอาตัวพระญาสามฝั่งแกนพระบิดาไว้บังคับให้มอบราชสมบัติแก่ตน
ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พระญาสามฝั่งแกนได้นิมนต์ชาวเจ้าสังฆะเข้าประชุมในพระราชมณเฑียร แล้วจึงประกาศมอบราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่ราชบุตรในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ให้ท้าวลกเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามความประสงค์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ตั้งการ ปราบดาภิเษกเจ้าท้าวลกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ใ นปีจอ จัตวาศก จุลศักราชได้ ๘๐๔ เดือนแปด (คือเดือนหก) เพ็ญวันศุกร์ ถวายพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อได้เถลิงราชสมบัติพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษาจึงปูนบำเหน็จหมื่นสามเด็กย้อยผู้ต้นคิดเอาราชสมบัติให้นั้น ตั้งให้เป็นเจ้าครองพันนาขาน ชื่อเจ้าแสนขาน ส่วนพระญาสามฝั่งแกนนั้นพระเจ้าติโลกราชเนรเทศไปไว้เมืองสาด
ฝ่ายเจ้าท้าวช้อย พระอนุชาท้าวลกผู้ครองเมืองฝาง รู้ข่าวว่าเจ้าท้าวลกเป็นขบถ แย่งราชสมบัติบิดา แล้วเนรเทศพระบิดาไปไว้เมืองสาดก็มีความแค้นเจ้าท้าวลกพระเชษฐายิ่งนัก จึงให้ไปรับเสด็จพระบิดาจากเมืองสาดมาไว้ในเวียงเมืองฝาง เตรียมกำลังตั้งมั่นแข็งเมืองอยู่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้ทราบข่าวดังนั้น จึงให้หมื่นหาญแต่งตั้งผู้ครองเมืองเขลางค์ยกพลหนึ่งหมื่นไปตีเมืองฝาง ชาวฝางรู้ข่าวก็ยกกองทัพออกโจมตีหมื่นหาญแต่ท้องแต่กลางทาง หมื่นหาญแต่ท้องเสียที แตกฝ่ายหนีมา พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นโลกสามล้าน (คือหมื่นด้งนคร) ยกพลสี่หมื่นเศษพันไปตีเมืองฝางให้จงได้ ครั้งหลังนี้ชาวฝางต้านทางกำลังไม่ได้ ทัพเชียงใหม่จึงเข้าปล้นเอาเมืองฝางได้ จับได้ตัวพระญาสามฝั่งแกนส่งมาเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ แต่เจ้าท้าวช้อยนั้นหนีไปเมืองเทิง เจ้าท้าวช้อยสู้รบเป็นสามารถ จนสิ้นพระชนม์ในที่รบ
                            ล่วงถึงปี พ.ศ. ๑๙๙๐ พระญาสามฝั่งแกนก็ถึงแก่สวรรคต พระเจ้าติโลกราชจัดการปลงพระศพ ณ ป่าแดงหลวง แล้วสถาปนา พระสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ สถานที่นั้น

พญาแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังราย


พญาแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่๗ แห่งล้านนา ทรงเป็นพระโอรสของพญากือนา สาเหตุที่ได้พระนามว่า "แสนเมืองมา" นั้นเป็นเพราะในช่วงที่ประสูตินั้นอาณาจักรล้านนากำลังรุ่งเรือง มีท้าวพญาต่างเมืองนำบรรณาการจำนวนมากมาถวายแด่พญากือนา

พญาแสนเมืองมาทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๑๙๒๘ ขณะทรงมีพระชนมายุได้ ๒๓ปี เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ แต่ก็ยังไม่อาจทำพิธีราชาภิเษกได้ เนื่องจากเจ้าท้าวมหาพรหม เจ้าอาของพระองค์ซึ่งพญากือนาให้ไปครองเมืองเชียงรายนั้น ได้ยกกองทัพมาจะแย่งชิงราชสมบัติที่นครเชียงใหม่ แต่พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากแสนผานองขุนนางคนสำคัญ ได้ทำการปราบเจ้าท้าวมหาพรหมที่คิดกบฏจนกองทัพของเจ้าท้าวมหาพรหมต้องถอยร่นไปยังเมืองเชลียงเมื่อเจ้าท้าวมหาพรหมทำการไม่สำเร็จ เจ้าท้าวมหาพรหมจึงไปขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑(ขุนหลวงพะงั่ว) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใน พ.ศ.๑๙๒๙ กองทัพอยุธยาได้ยกทัพมาตีล้านนา โดยเข้าตีเมืองลำปาง แต่ไม่สำเร็จจึงล่าถอยกลับไป นับเป็นครั้งแรกที่ทัพอยุธยายกขึ้นมารบกับล้านนา เจ้าท้าวมหาพรหม ครั้นภายหลังขัดแย้งกับทางอยุธยาจึงหันกลับมาสวามิภักดิ์ต่อล้านนาอีก ก่อนที่จะคืนกลับมายังล้านนา ท้าวมหาพรหมได้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกต(ขโมย)จากเมืองชากังราวและนำไปซ่อนไว้ในพระเจดีย์วัดป่าเยียะ(วัดพระแก้วเชียงราย)โดยได้โพกปูนโบกทับไว้ และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปขอเป็นไมตรีกับพญาแสนเมืองมาโดยทางเรือทวนน้ำไปยังเมืองฝางแล้วต่อด้วยทางบกและทางเรือล่องทางแม่น้ำปิงมาถึงเวลารุ่งสางที่ท่าวังสิงห์คำ เวลานั้นแสงตะวันส่องต้ององค์พระอร่าเรืองรองไปกระทบยังฝั่งตรงกันข้าม ตำบลแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "ฟ้าฮ่าม"ดังนั้นพญาแสนเมืองมาจึงส่งเจ้าอาไปครองเมืองเชียงรายตามเดิม ต่อมาพญาแสนเมืองมาได้พยายามขยายอาณาเขตลงสู่ทางใต้ เพราะสุโขทัยกำลังต่อสู้กับกองทัพอยุธยา ทัพสุโขทัยโจมตีกองทัพล้านนาจนต้องล่าถอยกลับมาระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๑ ตั้งแต่นั้นมาพญาแสนเมืองมาก็ทรงมุ่งทำนุบำรุงพุทธศาสนา พระกรณียกิจด้านศาสนาที่สำคัญคือ โปรดให้สร้างเจดีย์หลวง ใน พ.ศ. ๑๙๓๔ ขณะที่ทรงครองราชย์ในปีที่ ๑๖ (พระชนมายุ ๓๙ ปี) ณ กลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ (มเหสีของพระองค์ได้สร้างยอดพระธาตุเจดีย์หลวงต่อมาจนสำเร็จ) และโปรดให้หุ้มพระธาตุเจดีย์ในวัดพระธาตุหริภุญชัยด้วยแผ่นทองคำหนักสองแสนหนึ่งหมื่น (เท่ากับ ๒๕๒ กิโลกรัม) อาณาจักรล้านนาในสมัยพญาแสนเมืองมา ยังคงมีความเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจดี
ทรงมีราชบุตร ๓ องค์คือ เจ้าอ้าย เจ้ายี่กุมกาม และเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าอ้ายไม่ปรากฏพระประวัติ ส่วนเจ้ายี่กุมกามทรงประสูติในเวียงกุมกาม ส่วนเจ้าสามฝั่งแกนทรงประสูติที่พันนาฝั่งแกน ขณะที่พระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากสิบสองปันนา กำลังเดินทางกลับจากสิบสองปันนามาเชียงใหม่ เจ้าสามฝั่งแกนได้รับความไว้วางใจจากพญาแสนเมืองมาผู้เป็นพระบิดา โดยที่ได้ทรงเตรียมการไว้ให้เจ้าสามฝั่งแกนขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา

พญาแสนเมืองมา สวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๔๔

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย

 


พญากือนาธรรมิกราช (ตื้อนา หรือ กิลนา) พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นพระราชโอรสของพระญาผายู ทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๘ ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาและมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆ ทรงปกครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม บ้านเมืองมีความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ก็คือ การรับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาท ลังกาวงศ์สายรามัญมาจากสุโขทัย แต่เดิมพุทธศาสนาในล้านนาสมัยพระญามังรายจนถึงสมัยพระญาผายู เป็นพุทธศาสนาเถรวาทที่สืบทอดมาจากหริภุญชัยและผสมกับพุทธศาสนาที่มาจากหงสาวดีและอังวะหรือพุกาม


ในรัชสมัยของพระองค์พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์สายรามัญ ได้แพร่หลายเข้ามาสู่เชียงใหม่ครั้งแรกในรัชสมัยของพระญากือนา โดยผ่านทางเมืองสุโขทัย โดยครั้งนั้นพระญากือนาทรงมีพระประสงค์ให้พระภิกษุอรัญญวาสีมาอยู่ที่เชียงใหม่ และเพื่อให้ทำสังฆกรรมได้ครบทุกประการ จึงได้ทรงอาราธนาพระสุมนเถระชาวสุโขทัยมาจากสุโขทัยในราวปี พ.ศ. ๑๙๑๒ พระสุมนเถระมาถึงหริภุญชัยได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืน พระญากือนาทรงเลื่อมใสในพระสุมนเถระด้วยทรงเห็นว่า ท่านเป็นฝ่ายอรัญญวาสีมีความรู้สึกซึ้งในศาสนา โดยเฉพาะท่านได้บวชมาในสายรามัญ ซึ่งทำสังฆกรรมถูกต้องตาม พระวินัยบัญญัติ พระญากือนาจึงโปรดให้พระพื้นเมืองในล้านนา หรือนิกายเดิมที่สืบต่อกันมาแต่ครั้งพระนางจามเทวี เข้าพิธีอุปสมบทใหม่กับพระสุมนเถระจำนวนหลายพันรูป ในสมัยโบราณก่อนที่จะรับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในล้านนา จากหลักฐานทางโบราณคดีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างสันนิษฐานว่าล้านนานับถือพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เป็นนิกายมหายาน โดยได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวาราวดีที่หริภุญชัย และพบธรณีย์มนต์ตามคติมหายานที่อำเภอเชียงแสนและล้านนา มีประเพณีทำบุญปอยข้าวสัง อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายประเพณีนี้เหมือนพิธีกงเต๊กตามคติมหายาน จึงสันนิษฐานได้ว่าล้านนามีการนับถือภูตผีปีศาจวิญญาณ และนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ ในขณะเดียวกันแคว้นหริภุญชัยได้มีการนับถือพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระนางจามเทวี เชื่อกันว่าแคว้นหริภุญชัยจะเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาตลอดมา จนถึงสมัยพระญากือนา เมื่อพุทธศาสนาจากแคว้นสุโขทัยได้เข้ามาแพร่หลายในล้านนา มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนากับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม และประเพณี สมัยต่อมาพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนาพระสงฆ์ได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามาก บทบาทของพระสงฆ์มีหลายด้านด้วยกันอาทิเช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน ด้านการเมืองตั้งแต่สมัยพญากือนาเป็นต้นไปพบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง และจากหลักฐานตำนานราชวงศ์พื้นเมืองเชียงใหม่เขียนว่า พระสงฆ์มีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนพระมหากษัตริย์ล้านนาผู้ประพฤติไม่ถูกต้อง และยังเป็นที่พึ่งของราษฎรในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น สงคราม
พระญากือนาสร้างวัดบุปผาราม (สวนดอก) ขึ้นในอุทยานป่าไม้พยอม สำหรับเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระในปี พ.ศ. ๑๙๑๔ และจัดทำเวียงสวนดอกให้เป็นเวียงพระธาตุเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖ ต่อมาทรงโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยจัดสร้างขึ้น ๒ แห่ง คือ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และที่วัดสวนดอก

ครั้นพระสุมนเถระเข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม (สวนดอก) แล้ว ได้ดำเนินการเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ได้ศึกษามาจากพระอุปัชฌาย์ (พระอุทุมพรมหาสวามีในรามัญประเทศ) และเมื่อพำนักอยู่วัดสวนดอกต่อมาได้ ๑๘ ปีท่านก็ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๑๙๓๒

ดังนั้นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ในรัชสมัยของพระญากือนา จึงเป็นศูนย์กลางของสายรามัญ ต่อมาเรียก ลังกาวงศ์รุ่นแรก นิกายสวนดอก หรือนิกายรามัญ เนื่องจากพระสุมนเถระได้บวชเรียนมาจากสำนักของพระมหาสวามีอุทุมพรที่เมืองเมาะตะมะในรามัญประเทศ พระญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่างๆ เช่น เชียงแสน เชียงตุง เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระธรรมวินัย นับเป็นความพยายามที่จะให้เชียงใหม่และล้านนาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแทนหริภุญชัยซึ่งเคยมีบทบาทมาก่อนหน้านั้น

การรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยในสมัยพญากือนา เป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวทางด้านภูมิปัญญาศาสนา ซึ่งนำไปสู่ความเจริญของพุทธศาสนาในยุคทองของล้านนา ต่อมาอาณาจักรล้านนาในสมัยพระญากือนาจึงมีเสถียรภาพทั้งด้านการเมืองและการปกครองมากขึ้น
ต่อมาพระญากือนาได้ทรงยกเลิกการส่งส่วยต่อฮ่อ ซึ่งได้เคยปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น ดังนั้นพอถึง พ.ศ. ๑๙๐๘ พระญาฮ่อลุ่มฟ้าจึงทวงถามเอาส่วยข้าว ๙๐๐๐ คานงาช้าง ๒๐ หาบ ผ้าขาว ๔๐๐ รำ ถ้วยแช่สัก ๑๐๐๐ ลาย ๕๐๐ เขียว ๒๐๐ ขาว ๓๐๐ เป็นส่วยแก่เจ้าลุ่มฟ้า พระญากือนาจึงปฏิเสธไม่ส่งส่วยต่อฮ่ออีก การไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้กษัตริย์เชียงใหม่องค์ต่อๆ มา คือ พระญาแสนเมืองมา และพระญาสามฝั่งแกน ก็พลอยไม่ส่งส่วยด้วย ภายหลังกองทัพฮ่อจึงยกมาทวงส่วยในสมัยของพระญาสามฝั่งแกน เมื่อพระองค์ไม่ยอมส่งให้ กองทัพฮ่อจึงเข้าล้อมเมืองเชียงแสน จนเกิดการรบและฮ่อก็พ่ายแพ้ไป

พระญากือนาทรงสวรรคตขณะมีพระชนมายุ ๔๖ พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ ๓๐ ปี สถานที่ที่ทรงสวรรคตคือคุ้มเวียงบัว อันตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดป่าเป้า ริมคูเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ ต่อมาคุ้มนี้ในสมัยของพระญาสามฝั่งแกน ได้สร้างเป็นวัดพราหมณ์ และต่อมาได้ปรับเป็นวัดของชนชาติไทใหญ่ คราหลังยุคฟื้นม่าน

พญาผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังราย

 


พญาผายู คือกษัตริย์ปกครองอาณาจักรล้านนาองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นพระราชโอรสในพญาคำฟูกษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 4  โดยรัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นในปี พ.ศ.1879 - พ.ศ.1898 ระยะเวลา 19 ปี ในสมัยของพระองค์เป็นสมัยที่มีความสงบสุขร่มเย็น ไม่ได้มีสงครามใหญ่ครั้งใดแถมยังเริ่มสร้างอาณาจักรล้านนาของตนให้เข้มแข็งอีกด้วย

หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งล้านนาแล้ว ไม่นานนักพระองค์ก็มีพระราชดำริที่จะย้ายราชธานีจากเมืองเชียงแสนที่เป็นเมืองหลวงของล้านนาในขณะนั้น กลับไปยังเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นราชธานีเดิมอีกครั้งนึง ซึ่งพระองค์เห็นว่าเมืองเชียงแสนนั้นไม่ค่อยมความมั่นคงที่จะปกครองหัวเมืองต่างๆ และโปรดเมืองเชียงใหม่มากกว่าเชียงแสน การย้ายเมืองหลวงเป็นไปอย่างราบรื่น เมืองเชียงใหม่กลายเป็นราชธานีส่วนเมืองเชียงแสนได้กลายเป็นเมืองป้อมปราการที่แร่งที่สุดเมืองหนึ่งของล้านนา

หลังจากที่พระองค์ย้ายเมืองหลวงจากเชียงแสนไปอยู่ที่เชียงใหม่ พระองค์โปรดให้สร้างวัดเพื่อเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพญาคำฟูพระราชบิดา โดยวัดที่พระองค์สร้างขึ้นนั่นก็คือวัดพระสิงห์วรมหาวิหารนั่นเอง หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็อภิเษกกับพระนางจิตราเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงของ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักร 
มีพระราชบุตร 2 พระองค์คือ พญากือนา และท้าวมหาพรหม


ถึงแม้ประวัติที่เกี่ยวข้องในสมัยนี้จะมีไม่มาก แต่หลักฐานต่างๆที่กล่าวถึงช่วงนี้ต่างเขียนไว้ว่า พระองค์ปกครองบ้านเมืองโดยหลักทศพิธราชธรรมเป็นหลัก ศาสนาเจริญรุ่งเรือง ไม่มีสงครามใหญ่มากนัก บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข อาณาประชาราษฎร์มีความสุขสมบูรณ์ตลอดรัชสมัย

พระองค์ครองราชย์นาน 19 ปี สวรรคตในปี พ.ศ.1898 ขณะพระชนม์มายุประมาณ 57 พรรษา เหล่าขุนนางเสนาอำมาตย์ จึงยกราชสมบัติให้พระราชโอรสของพระองค์คือท้าวกือนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งล้านนาสืบต่อไป

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พญาคำฟู กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์มังราย

 


พญาคำฟู
หรือที่เรียกกันว่า เจ้าคำฟู หรือท้าวคำฟู เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ ในราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๗๗ - ๑๘๗๙ รวมระยะเวลาการครองราชย์ ๒ ปี

พญาคำฟูเป็นพระราชโอรสในพญาแสนภู ตามตำนานสิบห้าราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า

"เจ้าพระญาแสนภูก็แต่งลูกตน เจ้าพ่อท้าวคำฟู อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนตนเจ้าก็ไปส่งสะกาน เจ้าพระญาไชยสงครามพ่อในเมืองเชียงรายได้ ๑ เดือนบัวระมวลชุอัน ท้าวก็ลวดอยู่เสวยเมืองเชียงรายหั้นแล แล้วก็แต่งหื้ออภิเษกพ่อท้าวคำฟูลูกตนอายุได้ ๒๖ ปี หื้อเป็นพระญาในเมืองเชียงใหม่ ในปีเปิกสี ศักราชได้ ๖๙๐ ตัวปีหั้นแล"

สรุปคือ พญาคำฟู เป็นหลานของขุนคราม หรือพญาไชยสงคราม โอรสพระองค์ที่ ๒ ในพญามังราย (ขุนเครื่อง ขุนคราม และ ขุนเครือ)

หลังจากเจ้าคำฟูได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พญาแสนภูก็ทรงย้ายเมืองหลวง จากเชียงใหม่ไปไว้ที่เชียงแสน ภายหลังพญาแสนภูเสด็จสวรรคตเจ้าคำฟูจึงได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนา
ระหว่าง พ.ศ.๑๘๗๗-๑๘๗๙

พญาคำฟูได้พัฒนา ปกครองนครเชียงใหม่ให้เกิดความผาสุก ร่มเย็นในรัชสมัยของพระองค์
แม้จะเป็นเวลาเพียง ๒ ปีแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรือง สงบสุขไม่มีศึกสงคราม ในยุคสมัยของพญาคำฟูนี้พระองค์ทรงร่วมมือกับพญาผานองเจ้าเมืองปัว เข้าตีเมืองพะเยาและ สามารถที่จะผนวกเอารัฐพะเยาที่เป็นอิสระอยู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้


พญาคำฟูสวรรคตจากการถูกเงือก หรือ จระเข้ กัดถือเป็นการตายร้าย จึงได้รับการบูชาเป็นผีอารักษ์ ปกป้องเมืองเชียงใหม่

การที่ทรงสิ้นพระชนม์เพราะจระเข้กัดตายนั้นตามตำนานเล่าว่า เป็นเพราะพญาคำฟูเสียสัตย์สาบานกษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่สวรรคตยังแม่น้ำคำเพราะเงือก(จระเข้)ขบ

เรื่องนี้ปรากฏในพงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้บันทึกตรงกันว่าพญาคำฟู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายรัชกาลที่๖ได้กระทำผิดสาบานที่ได้ให้ไว้กับสหายเศรษฐีชื่อ งัวหง
ว่าจะไม่คิดร้ายต่อกันแต่พญาคำฟูกลับเสียสัตย์ลักลอบกระทำมิจฉาจาร กับ ภรรยาของงัวหง
การกระทำครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสวรรคตในสังคมสมัยนั้นเชื่อเรื่องลี้ลับมากดังปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า....

“พญาได้เห็นภรรยา ของสหายนั้นทรงรูปลักษณะงามท่วงทีดี ก็มีใจปฏิพัทธ์จึงลอบลักสมัครสังวาส กระทำมิจฉาจารด้วยนางผู้เป็นภรรยาของสหายนั้นด้วยเหตุพญาได้เสียสัตย์สาบานดังนี้
อยู่มาได้เจ็ดวันพญาคำฟู ลงอาบน้ำดำเศียรในลำน้ำแม่คำ เงือกใหญ่ตัวหนึ่งออกมาจากเงื้อมผามาขบคาบสรีระพญาคำฟูพญาคำฟูก็ถึงกาลกิริยาในแม่น้ำนั้น ต่อครบเจ็ดวัน ศพพญาคำฟูจึงลอยขึ้นมาคนทังหลายจึงรู้ว่าพญาคำฟูสิ้นชีพวายชนม์แล้ว”

กู่อัฐิของพญาคำฟู เป็นกู่เล็ก ๆ ลักษณะเป็นทรงกลมเส้นรอบวงประมาณเมตรครึ่งด้านบนเป็นแผ่นศิลาทรงกลมปิดไว้อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศเหนือเยื้องขวา ไปประมาณ ๑๐ เมตร
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระธาตุหลวงเป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู

ในปี ๒๔๖๙ ครูบาศรีวิชัย มาแผ้วถางบูรณะวัดพระสิงห์ วรมหาวิหารได้พบกู่อัฐิค้นพบข้างในมีผอบบรรจุอัฐิซ้อนกัน ๓ ใบ 
ชั้นนอกทำด้วยทองเหลืองหนัก ๒๕๔ บาท ๓ สลึง สูง ๒๓ นิ้ว
ชั้นกลางทำด้วยเงินหนัก ๑๘๕ บาท ๒ สลึง สูง ๑๘ นิ้ว
ชั้นในสุด ทำด้วยทองคำหนัก ๑๒๒ บาท ๒ สลึง สูง ๑๔ นิ้ว

และ ยังพบแผ่นทองจารึกเรื่องราวต่าง ๆสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอัฐิของพญาคำฟู ผู้สร้างวัด
ทางราชการได้นำไปเก็บไว้ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่ที่ข่วงสิงห์และขณะนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาผอบทั้ง ๓ ใบ และจารึกตลอดถึงเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นได้สูญหายไปในขณะเกิดสงครามซึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๔

หลังจากพญาคำฟูเสด็จสวรรคตพระราชโอรสในพญาคำฟูขึ้นครองราชย์ต่อ ออกพระนาม พญาผายู

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พญาแสนพู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย

 


พญาแสนพู เป็นผู้ครองนครล้านนาองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังรายสืบต่อจากพระราชบิดาพญาไชยสงคราม หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์แล้วนั้นพระองค์ก็ได้เปลี่ยนเมืองหลวงอีกครั้งจากที่พระราชบิดาของพระองค์เปลี่ยนจากเชียงใหม่เป็นเมืองเชียงราย ซึ่งพญาแสนภูนั้นไม่โปรดเมืองเชียงรายจึงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เชียงแสนแทน และประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์

พญาแสนภูเป็นพระราชโอรสองค์โตของพญาไชยสงครามกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งล้านนานคร โดยพระองค์มีพระอนุชา 2 พระองค์นั่นก็คือ ท้าวน้ำท่วมและท้าวงั่ว
ในช่วงก่อนขึ้นครองราชย์นั้นพญาไชยสงครามได้แต่งตั้งพระราชพระองค์ใหญ่ ท้าวแสนภูขึ้นเป็นอุปราชของล้านนาและส่งให้ไปปกครองเมืองเชียงใหม่ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองลูกหลวง แต่ปกครองได้ไม่นานขุนเครือผู้มีศักดิ์เป็นน้าได้เข้ายึดเมืองเชียงใหม่ ส่วนท้าวแสนภูและครอบครัวได้อพยพไปยังเมืองเชียงราย ซึ่งขุนเครือที่ยึดเมืองเอาไว้ก็มิสามารถยึดเมืองเอาไว้ได้นานเพราะท้าวน้ำท่วมพระอนุชาของท้าวแสนภูได้ไปตีเมืองเชียงใหม่คืน และมีชัยเหนือทัพของขุนเครือและสามารถจับกุมตัวขุนเครือได้ในที่สุด ซึ่งด้วยความดีความชอบของท้าวน้ำท่วมก็ได้ทำให้พระองค์ได้ปกครองเมืองเชียงใหม่แต่ว่าหลังจากนั้นไม่นานเหล่าขุนนางในราชสำนักก็ได้บอกพญาไชยสงครามว่าท้าวน้ำท่วมจะคิดขบฏ จึงนำตัวท้าวน้ำท่วมมาไต่สวนแต่ก็ไม่พบพิรุธ แต่พระองค์ก็คลางแคลงใจอยู่จึงสั่งพระองค์ไปปกครองเมืองเชียงตุงแทนและท้าวแสนภูผู้เป็นอุปราชก็ได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ต่ออีกครั้ง
หลังจากที่พญาไชยสงครามพระราชบิดาสวรรคตในปี พ.ศ.1868 ท้าวแสนภูผู้เป็นทั้งอุปราชและพระราชโอรสของพญาไชยสงครามได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพญาแสนภูกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ที่ 3 โดยไม่นานหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ก็โปรดให้ท้าวคำฟูครองเมืองเชียงใหม่และแต่งตั้งยศอุปราชเอาไว้ให้ แล้วจากนั้นพระองค์ก็ได้สั่งให้สร้างเมืองใหม่บริเวณเมืองเงินยางเดิม ซึ่งเมืองแห่งนั้นสร้างเสร็จราวปีพ.ศ.1870 โดยพญาแสนภูได้ให้ชื่อเมืองแห่งนี้ว่า เชียงแสน และใช้เป็นราชธานีแทนเมืองเชียงรายในขณะนั้น ซึ่งการสร้างเมืองนี้ก็เพื่อป้องกันข้าศึกด้านเหนือ เพราะเชียงแสนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและสามารถใช้แม่น้ำโขงเป็นคูเมืองตามธรรมชาติได้ ตัวเมืองมีกำแพงกว้าง 700 วา ยาว 1,500 วา มีป้อมรายล้อมเมือง 8 แห่งและอีกเหตุผลนึงก็คือพระองค์ไม่โปรดเมืองเชียงรายนั่นเอง
พญาแสนภูสวรรคตที่เมืองเชียงแสนแห่งนี้หลังจากเสวยราชย์เพียงแค่ 9 ปีเท่านั้น พระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ.1877 ท้าวคำฟูพระราชโอรสที่มีสถานะเป็นอุปราชได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพญาคำฟูกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ต่อมา

พญาไชยสงคราม กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์มังราย

 


พญาไชยสงคราม 

พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่สองแห่งอาณาจักรล้านนา


หลังการสวรรคตของพญามังราย ขุนครามพระราชโอรสของพญามังราย ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพญามังราย โดยใช้ชื่อว่าพญาไชยสงครามเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์มังรายและอาณาจักรล้านนา ในช่วงก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ด้วยฝีมือการรบที่ยอดเยี่ยม พระองค์จึงเปรียบเสมือนกับมือขวาของพญามังรายอีกด้วย
พญาไชยสงครามเป็นพระราชโอรสของพญามังราย พระมหากษัตริย์คนแรกของล้านนา ซึ่งพญาไชยสงครามนั้นก็ถือได้ว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่แข็งแกร่งที่สุดคนหนึ่งเลย เพราะพระองค์ได้ช่วยพระชนกนาถทำสงครามกับแคว้นเล็ก แคว้นน้อยมากมายที่ไม่ยอมเข้าร่วมต่อล้านนา ตราบจนกระทั่งขึ้นครองราชย์แล้วก็ตาม
พญาไชยสงคราม น่าจะประสูติกาลราวปี พ.ศ.1799 โดยเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 จาก3พระองค์ของพญามังราย ชื่อเดิมก่อนขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก็คือขุนคราม เมื่อพระองค์เจริญพระชนม์พรรษามากขึ้นก็ช่วยเหลือพระบิดาของพระองค์ทำสงครามอยู่บ่อยครั้งและยังคอยช่วยเหลือและความประพฤติดีงามผิดกับพี่และน้องของพระองค์เอง ดังเช่นพี่ชายของพระองค์ขุนเครื่องได้คิดคดพยายามทรยศพระราชบิดา จึงถูกพระราชบิดาสั่งประหารชีวิต ส่วนขุนเครือผู้เป็นพระอนุชามีปัญหาขัดแย้งกับขุนครามเนื่องจากขณะที่ขุนเครือครองเมืองพร้าวอยู่นั้น ขุนเครือเกิดความรักใคร่กับชายาของขุนครามซึ่งอยู่เมืองเชียงดาว พญามังรายจึงส่งขุนเครือไปครองเมืองนายในเขตรัฐฉาน ขุนเครือจึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์มังรายที่แยกออกไปปกครองชาวไทใหญ่ ภายหลังขุนเครือกลับมาชิงเมืองเชียงใหม่จากพญาแสนภู ผู้เป็นหลาน แต่ในที่สุดก็ถูกจับและต้องโทษขังคุก(ในบริเวณที่พำนักของท้าวเฮือง ต่อมาจึงเรียกบริเวณที่เป็นแจ่งเมืองนั้นก็คือแจ่งกู่เฮือง)และไม่นานหลังจากนั้นก็สิ้นพระชนม์ไปในที่สุด
พญามังรายได้วางใจให้ขุนครามไปปกครองเมืองเชียงราย ซึ่งเชียงรายเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีความสำคัญ และนอกจากจะปกครองเมืองแล้วหลังจากที่พญาเบิกพยายามทำสงครามกับล้านนา ขุนครามก็อาสาออกไปสุ้ด้วยตัวเอง และทำการยุทธหัตถีกันระหว่างขุนครามกับพญาเบิกซึ่งผลก็คือพยาเบิกโดนหอกฟันได้รับบาดเจ็บ จึงสั่งถอยทัพกลับแต่ขุนครามได้บุกรุดหน้าต่อทำให้ทัพของพญาเบิกพ่ายแพ้ยับเยินและพญาเบิกก็ได้ถูกจับไปและถูกสำเร็จโทษในที่สุด(จุดบริเวณนั้นต่อมาจึงได้สร้างศาลเพื่อสดุดีแก่พญาเบิกเป็นเจ้าพ่อขุนตาล) ซึ่งหลังจากการศึกครั้งนี้เสร็จแล้วขุนครามก็ได้รับของพระราชทานแก้วแหวนเงินทอง เครื่องยศ ช้าง ม้า ชายา ข้าคน แก่ขุนคราม จากนั้นจึงโปรดให้สถาปนาขุนครามขึ้นเป็นอุปราชมีนามว่า เจ้าพญาไชยสงคราม ครองเมืองเชียงรายและเชียงดาว และเป็นคนที่พญามังรายไว้ใจที่สุดในราชสำนักอีกด้วย
หลังจากที่พญามังรายสวรรคตแล้วในปี พ.ศ.1854 ราชบัลลังก์จึงตกกับพญาไชยสงครามผู้เป็นอุปราช พญาไชยสงครามขึ้นครองราชย์ตอนมีพระชนม์มายุ 55 พรรษา โดยหลังจากขึ้นครองราชย์และประทับที่เมืองเชียงใหม่ได้ประมาณ 4 เดือนก็โปรดให้ย้ายเมืองหลวงไปยังเชียงรายเพราะพระองค์ไม่โปรดเมืองเชียงใหม่นั่นเอง โดยเมืองเชียงใหม่ที่ถูกลดบทบาทเป็นเมืองลูกหลวงได้ให้พระราชโอรสองค์โตอย่างท้าวแสนภูขึ้นครองเมืองเชียงใหม่และแต่งตั้งให้เป็นอุปราช

การแย่งชิงบัลลังก์ของขุนเครือ
ขุนเครือพระอนุชาของพญาไชยสงครามที่ถูกเนรเทศออกจากเมืองได้พยายามเข้ายึดเชียงใหม่ที่มีท้าวแสนภูครองเมืองอยู่ แต่ท้าวน้ำท่วมพระอนุชาของท้าวแสนภูได้ยึดเมืองเชียงใหม่คืนมาได้และจับกุมตัวขุนเครือมาได้ ด้วยความดีความชอบในครั้งนั้นท้าวน้ำท่วมจึงได้ปกครองเชียงใหม่อยู่ระยะเวลาหนึ่งแต่ด้วยความหวาดระแวงพระราชหฤทัยจากการที่มีขุนนางมากล่าวว่าท้าวน้ำท่วมจะคิดกบฏ แต่ไต่สวนแล้วก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะคิดกบฎ จึงสั่งให้ท้าวน้ำท่วมไปปกครองเชียงตุงแทน และให้ท้าวแสนภูที่เป็นอุปราชได้กลับมาปกครองเชียงใหม่อีกครั้ง
พญาไชยสงครามมีพระมเหสีหลายพระองค์แต่ไม่ปรากฏพระนามเลยแม้แต่องค์เดียว แต่มีพระราชโอรสสามพระองค์นั้นก็คือ
๑. ท้าวแสนภู ได้รับยศอุปราชปกครองเมืองเชียงใหม่
๒.ท้าวน้ำท่วม ปกครองเมืองเชียงตุง
๓.ท้าวงั่ว ปกครองเมืองเชียงของ
พญาไชยสงครามสวรรคตที่เมืองเชียงรายขณะมีพระชนม์มายุ 72 พรรษา ในปีพ.ศ.1868 ท้าวแสนภูผู้เป็นอุปราชได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เป็นกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ที่ 3
วัดที่สร้างโดยพญาไชยสงครามคือวัดงำเมืองสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๘๖๐ วัดงำเมืองเดิมมีแต่ สถูป (กู่) บรรจุพระอัฐิของพญามังรายมหาราช สร้างโดยพญาไชยสงครามโอรสพญามังรายมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หลังจากที่พญามังรายได้สวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๘๖๐ พญาไชยสงครามพระราชโอรสได้ถวายพระเพลิงพระศพพญามังรายมหาราชแล้วพระองค์ทรงไม่โปรดเมืองเชียงใหม่ ได้กลับมาครองเมืองเชียงรายและอัญเชิญพระอัฐิของพญามังรายมาประดิษฐาน ณ ดอยแห่งนี้ ต่อมา พ.ศ. ๒๐๓๐ พระยาศรรัชฎาเงินทอง ได้มาบุรณะและสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า "วัดงำเมือง" และใน พ.ศ. ๒๒๒๐ ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมมีการสร้างวิหารและเสนาสนะในวัด โดยเจ้าฟ้ายอดงำเมืองโอรสเจ้าผู้ครองนครเชียงแสน

พญามังราย

 

พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา


เนื้อเพลง