วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567

ที่สุดแห่งเจ้าจอม รัชกาลที่ ๕

ที่สุดแห่งเจ้าจอม ร.5

ร.5 มีเจ้าจอมมารดา 27 คน
เจ้าจอม 116 คน
รวม 143 คน

1.เจ้าจอมคนแรกสุด
(นับจากเวลาประสูติพระเจ้าลูกเธอ)
คือ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ แข พึ่งบุญ
เดิมเป็นพระพี่เลี้ยง ร.5
ขณะเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 14 ปี
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แข
ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของ ร.5
คือพระองค์เจ้าผ่องประไพ
2.เจ้าจอมที่เป็นรักแรกสุด
คือ เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค
ร.4 โปรดสู่ขอมาเป็นสะใภ้หลวง
ตามราชประเพณี
ร.5 โปรดแต่งตั้งเป็น
เจ้าคุณจอมมารดา
เหนือกว่าพระสนมทั้งปวง
เจ้าคุณจอมมารดาแพ
ประสูติพระราชธิดาล้วน 3 พระองค์
3.เจ้าจอมที่ประสูติพระราชบุตร
มากที่สุด มี 2 คน
คือเจ้าจอมมารดาแสง กัลยาณมิตร
ประสูติพระราชโอรส 2
พระราชธิดา 2 รวม 4 พระองค์
และเจ้าจอมมารดาพร้อม
ประสูติพระราชโอรส 1
พระราชธิดา 3 รวม 4 พระองค์
4. เจ้าจอมจากสกุลบุนนาค
มีมากที่สุดรวม 21 คน
(ไม่รวมพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
ซึ่งมีเชื้อสายบุนนาคเช่นกัน)
ล้วนเป็นหลานเหลนลื่อ
ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต)
ประกอบด้วย
1. เจ้าคุณจอมมารดาแพ
2. เจ้าจอมมารดาโหมด
3. เจ้าจอมมารดาอ่อน
4. เจ้าจอมเอี่ยม
5. เจ้าจอมเอิบ
6. เจ้าจอมอาบ
7. เจ้าจอมเอื้อน
8. เจ้าจอมแส
9. เจ้าจอมแก้ว
10. เจ้าจอมแถม
11. เจ้าจอมโหมด
12. เจ้าจอมพิศว์
13. เจ้าจอมอ้น
14. เจ้าจอมเหลียน
15. เจ้าจอมเลียม
16. เจ้าจอมอบ
17. เจ้าจอมเชย
18. เจ้าจอมปุก
19. เจ้าจอมจีน
20. เจ้าจอมเยื้อน
21. เจ้าจอมวอน
5. เจ้าจอมที่มีอายุยืนมากที่สุด
คือเจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค
เกิดปลาย ร.4 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2411
ถึงแก่อนิจกรรมใน ร.9 วันที่ 29 มกราคม 2512 (100 ปี)
เจ้าจอมมารดาอ่อน เป็นพี่คนโต
ของกลุ่มเจ้าจอม “ก๊กออ”
ประสูติพระราชธิดา 2 พระองค์
คือพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
กับพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา
และตกพระโลหิตไม่เป็นพระองค์อีก 2 ครั้ง
เจ้าจอมมารดาอ่อนอายุยืนมาก
จนพระราชธิดา
ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อน
ทั้ง 2 พระองค์
6. เจ้าจอมที่ถวายตัวเป็นคนท้ายสุด
คือเจ้าจอมแส บุนนาค
น้องสาวต่างแม่ของกลุ่มเจ้าจอม “ก๊กออ”
ถวายตัวในปี 2451 ขณะอายุ 16 ปี
ถวายตัวได้เพียง 2 ปี
ร.5 ก็สวรรคตในปี 2453
เจ้าจอมแส มีอายุยืนยาวถึงสมัย ร.9
ถึงแก่อนิจกรรม 7 ตุลาคม 2521 (86 ปี)
บางแห่งว่า
เจ้าจอมแถม บุนนาค
ถวายตัวเป็นคนสุดท้าย
ซึ่งอย่างไรก็ตาม
ทั้งสองท่านก็ถวายตัวในปีเดียวกัน
7. เจ้าจอมที่มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้าย
คือเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์
ถวายตัวปี 2449 ขณะอายุ 15 ปี
ถึงแก่อนิจกรรมสมัย ร.9
วันที่ 3 มิถุนายน 2526 (93 ปี)
8. เจ้าจอมที่เกือบได้เป็นเจ้าจอมมารดา
เนื่องจากตั้งครรภ์แต่แท้งเสียก่อน
คือเจ้าจอมเอี่ยม กลุ่มเจ้าจอมก๊กออ
แท้ง 2 ครั้ง
เจ้าจอมเจิม ธิดาพระยาวิเศษสัจธาดา
แท้ง 1 ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้าจอม ร.5
ที่น่าสนใจ เช่น
เจ้าจอมที่ลาบวชชีตลอดชีวิต
เจ้าจอมที่โกหกว่าตั้งครรภ์
เจ้าจอมนับถือมุสลิม
เจ้าจอมนับถือศาสนาพราหมณ์
เจ้าจอมเชื้อสายจีน
เจ้าจอมที่ขอลาออกเพื่อสมรสใหม่
เจ้าจอมที่ได้บรรดาศักดิ์เป็น “คุณท้าวนาง”


























10 เรื่องน่ารู้ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 10 เรื่องน่ารู้ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


1.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “ ทองด้วง ” ประสูติที่พระนครศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ทรงเป็นพระราชโอรสในหลวงพินิจอักษร(ทองดี) และพระนางดาวเรือง(หยก) โดยมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมอุทรตามลำดับ คือ
1.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี (สา)
2.ขุนรามณรงค์
3.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)
4.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และ 5.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) พระอนุชาซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชาหรือวังหน้าในรัชสมัยของพระองค์(รัชกาลที่ 1)

2.เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระชนมายุ 22พรรษาได้เข้ารับราชการตำแหน่งมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอุทุมพร / 25 พรรษา เป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ /32 พรรษา รับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ /33พรรษา เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ /34 พรรษา เป็นพระยายมราช / 35 พรรษา เป็นเจ้าพระยาจักรี / 41 พรรษา เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก / ครั้นพระชนมายุ 46 พรรษา ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์

3. ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินี (นามเดิมว่า นาก) ซึ่งเป็นชาวอัมพวา มีพระโอรสธิดา 9 พระองค์ หนึ่งในเก้าพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นอกจากนี้ยังทรงมีพระโอรสธิดากับเจ้าจอมอื่นๆอีก เมื่อรวมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอในแผ่นดินของพระองค์จะมีทั้งสิ้น 42 พระองค์โดยประสูติก่อนปราบดาภิเษก 10 พระองค์ และหลังปราบดาภิเษก 32 พระองค์

4.รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏหลังปราบดาภิเษกว่า “ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพดิศัยเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฏประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ” ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน

5.พระนามที่เรียกขานกันสั้นๆ คือ “ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ” ต่อมาคนทั้งหลายมักเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “ แผ่นดินต้น ” และเรียกรัชกาลที่ 2ว่า “ แผ่นดินกลาง ” รัชกาลที่ 3 ทรงรังเกียจว่านามสมญาเช่นนี้จะเป็นอัปมงคลเพราะเมื่อมีต้น มีกลางก็ต้องมีปลาย ซึ่งดูเสมือนว่าพระองค์จะเป็นรัชกาลสุดท้าย จึงมีพระบรมราชโองการให้ถวายพระนามสมเด็จพระอดีตกษัตริย์สองรัชกาลก่อน ตามพระนามพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและสมเด็จพระบรมราชบิดาว่า “ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ” และ “ พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ” ตามลำดับ (ต่อมารัชกาลที่ 4ได้เปลี่ยนเป็น “ นภาลัย ” )

6.รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองสร้างพระนครขึ้นใหม่เยื้องกรุงธนบุรีราชธานีเดิม และได้พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ” (สมัยรัชกาลที่4 เปลี่ยนบวรรัตนโกสินทร์ เป็นอมรรัตนโกสินทร์) ได้มีผู้แปลนามกรุงเทพฯไว้ว่า หมายถึง “ พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่ที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่งคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) พระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ ”

7.กรุงเทพมหานครฯหรือพระนครแห่งใหม่นี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปี มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ วัดวาอาราม และพระที่นั่งต่างๆ ดังนี้ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูณยพิมาน และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (เดิมชื่อพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท) ฯลฯ

8.ส่วนกำแพงพระนครมีความยาว 188 เส้นเศษ สูง 1.6 เมตร หนาเกือบ 2 เมตร มีประตูใหญ่ 13 ประตูได้แก่ ประตู รัตนพิศาล พิมานเทเวศน์ วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์ สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ์ วิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร สุนทรทิศา เทวาภิรมย์ และอุดมสุดารักษ์ และมี ป้อม 14 ป้อม ได้แก่ พระสุเมรุ /ยุคนธร /มหาปราบ /มหากาฬ /หมูทะลวง(หมูหลวง) /เสือทะยาน /มหาไชย /จักรเพชร /ผีเสื้อ /มหาฤกษ์ /มหายักษ์ /พระจันทร์ /พระอาทิตย์ และอิสินธร

9.วัดสำคัญในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
โปรดให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังทำนองเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย / วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมชื่อวัดโพธาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเพทราชา รัชกาลที่ 1ให้บูรณะปฏิสังขรณ์อยู่นานถึง 12 ปีแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ” (รัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนจาก วาส เป็น ราม )ถือ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 /
วัดมหาธาตุ เดิมชื่อวัดสลัก มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระราชทานนามให้ว่า “ วัดนิพพานาราม ” ครั้นเมื่อมีการสังคยานาพระไตรปิฎกปีพ.ศ. 2331 และได้สร้างมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ” เมื่อกรมพระราชวังบวรฯทิวงคต รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และพระราชทานนามให้ว่า “ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ” / วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2350 เพื่อให้เป็นวัดกลางเมืองเช่นเดียวกับวัดพนัญเชิงสมัยกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานที่นี่ และรัชกาลที่ 2 ได้ทรงแกะสลักบานประตูหน้าพระวิหารไว้ด้วย / วัดสระเกศ เดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 ทรงทำพิธีสรงสนาน (สระหัว)ตามประเพณี ครั้นเมื่อเสวย์ราชย์แล้วจึงได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ วัดสระเกศ ”

10.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา และเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 สิริรวมพระชนมายุ 74 พรรษา ทรงอยู่ในสิริราชสมบัติ 27 ปี ทรงเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี ทรงปกป้องคุ้มครองรักษาผืนแผ่นดินอันเป็นที่รักของเราชาวไทยให้อยู่รอดปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองมาจวบจนทุกวันนี้ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาของพระองค์ว่า “ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ” ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปีพ.ศ. 2525
อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา จอมนางผู้ทรงเป็นปดิวรัดาในรัชกาลที่๕

 เรื่องเล่าจากในวัง จอมนางผู้ทรงเป็นปดิวรัดาในรัชกาลที่๕



พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าทรงอิสริยยศเป็นพระมเหสี ตำแหน่ง พระอรรคชายาเธอ มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน อีกทั้งทรงเป็นผู้ที่ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง อุทิศพระกุศลประทานพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาเลี้ยงดู สอนให้เล่าเรียน และฝึกวิชาชีพทั้งหญิงและชาย ทรงเป็นองค์อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ในสมัยหนึ่งอีกด้วย
พระวิมาดาเธอฯ ประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์สิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยได้รับพระราชทานโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพและได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ในวันออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ (พระโกศทองใหญ่ เป็นพระโกศชั้นสูงสุดสำหรับทรงพระบรมศพ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี)พระอิสริยยศสุดท้ายนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามและเลื่อนกรม
ทั้งนี้ คำว่า "วิมาดา" แปลว่า แม่เลี้ยง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาไว้ในพระอิสริยศักดิ์นี้อย่างเป็นทางการ ส่วนสร้อยพระนาม "ปิยมหาราชปดิวรัดา" นั้น คำว่า "ปดิวรัดา" (อ่านว่า ปะดิวะรัดดา) แปลว่า ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี นั่นเอง
(ภาพพระฉายาลักษณ์ในช่วงปลายพระชนม์ พระวิมาดาเธอฯทรงฉายร่วมกับ พระโอรส พระธิดา พระสุนิสา และพระราชนัดดาจากหนังสือสมุดภาพพระราชโอรส พระราชธิดาในรัชกาลที่๕ จากแนวบน ; พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพรฯ //แถวนั่งกลาง ;สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา พระวิมาดาเธอฯ สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล //แถวนั่งล่าง ; พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

 ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ วันประสูติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา (๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๗๐ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม



พระประวัติ
พระชนม์ชีพช่วงต้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) นางสนองพระโอษฐ์คนแรกของสยาม ธิดาของพระยามงคลรัตนมนตรี (ช่วง) กับขรัวยายไข่ มีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี (๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๓ — ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒ู๖๑) หรือ เสด็จพระองค์เล็ก เมื่อพระชันษาได้ ๒๑ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ปีต่อมาเจ้าจอมมารดาชุ่มก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาย้ายออกจากพระบรมมหาราชวังไปประทับที่พระตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต (ปัจจุบันคืออาคารอาทรทิพยนิวาสน์ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๖๒ เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดอย่างหนัก พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี พระขนิษฐาเพียงพระองค์เดียวก็สิ้นพระชนม์ลง พระองค์จึงประทับอยู่ในพระตำหนักลำพัง และทรงรับข้าหลวงของพระองค์เจ้าสุจิตราภรณีมาไว้ในพระอุปถัมภ์ทุกคน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เสด็จออกไปประทับ ณ ตำหนักทิพย์ ถนนราชวิถี บนที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระชนม์เยี่ยงคนสามัญ ประทับอยู่ในตำหนักทิพย์ร่วมกันกับเจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงสนิทสนมกัน และพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ หลานชายที่พระองค์ทรงรับอุปการะ
พ.ศ. ๒๔๘๗ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการทิ้งระเบิดหลายลูกใกล้ตำหนักทิพย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาเสด็จไปประทับที่พระตำหนักเก่าของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระราชวังบางปะอิน โดยมีเจ้าจอมอาบตามเสด็จไปด้วย
สิ้นพระชนม์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ ประดิษฐานพระศพ ณ ตำหนักทิพย์ ถนนราชวิถี และมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
ชีวิตส่วนพระองค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงสนพระทัยด้านดนตรีไทย พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการเล่นจะเข้ และโปรดให้มีการจัดมโหรีภายในพระตำหนักส่วนพระองค์อยู่เนือง ๆ ทำให้พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงสนิทสนมกับเจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ ๕ ที่ชอบเล่นจะเข้เช่นกัน ทรงตั้งวงเครื่องสายหญิงที่ขึ้นชื่อภายในสวนสุนันทา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงทรงยกเลิกวงเครื่องสายนี้ไป แล้วย้ายออกไปประทับที่ตำหนักทิพย์ ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงอุปการะพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นหลาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ขณะอายุได้สามเดือน พระองค์ไม่เคยเลี้ยงเด็กอ่อนมาก่อนจึงเป็นการลำบาก เจ้าจอมอาบจึงช่วยเลี้ยงและย้ายไปอยู่กับพระองค์ที่พระตำหนักมาตั้งแต่นั้น ทรงดำรงพระชนม์ชีพเยี่ยงคนสามัญทั่วไป และเลี้ยงหลานชายประดุจพระโอรส
เมื่อพระองค์เสด็จไปฟังธรรมเทศนา หรือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในหรือต่างประเทศ ก็จะมีเจ้าจอมอาบโดยเสด็จด้วยเสมอ หลังพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาสิ้นพระชนม์ไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เจ้าจอมอาบก็ยังคงอาศัยอยู่ในตำหนักทิพย์จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ปัจจุบันตำหนักทิพย์ถูกเรียกว่าบ้านซังฮี้ เป็นที่อยู่อาศัยของศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ และครอบครัว

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

สมเด็จพระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕

 “สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี 



อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยเรือพระประเทียบล่มขณะกำลังเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ถือเป็นกรณีสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต่างไปจากทุกพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากพระโรคใดพระโรคหนึ่ง แต่สมเด็จพระนางเรือล่มสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำจากที่เรือพระประเทียบล่ม

พระประวัติ “พระนางเรือล่ม” พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 พระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวัง

ทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษา ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ ขณะเสด็จฯ มายัง พระราชวังบางปะอินพระองค์ก็ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน

เหตุเศร้าสลด “สมเด็จพระนางเรือล่ม” 

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ ต่อมาพระองค์ได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปีที่แน่นอน แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2421) และได้ประสูติพระราชธิดาองค์แรกคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421

ขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นที่โปรดปรานเสน่หาในพระราชสวามีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความชื่นชมโสมนัสของรัชกาลที่ 5 ได้สิ้นสุดลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างไม่คาดคิดกับเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ อีก 2 ปีต่อมา

ก่อนการเสด็จพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ว่า

“พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะทรงพระราชดำเนินข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นในพระทัยอยู่เหมือนกันว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย แต่สุดท้ายก็ได้ตามเสด็จไปตามพระราชประสงค์”

การเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากกรุงเทพมหานครไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 บรรณาธิการหนังสือ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ที่เขียนโดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า

“เส้นทางเสด็จจะเสด็จทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางปะอิน โดยการเสด็จครั้งนี้ได้มีการจัดขบวนเรือเสด็จ โดยจัดเรือเก๋งที่ประทับพระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระพี่เลี้ยงที่ตามเสด็จครอบครัวละหนึ่งลำ โดยใช้เรือกลไฟลากจูงนำหน้า ซึ่งขบวนเสด็จนั้นก็จะเสด็จไปพร้อม ๆ กัน แบบเรียงหน้ากระดาน เริ่มด้วยเรือกลไฟราชสีห์ ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เรือโสรวาลลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เรือปานมารุตลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เรือยอร์ชอยู่ติดชายฝั่ง ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และถัดมาเป็นเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ตามลำดับ

ขบวนเรือพระประเทียบทั้งหมดออกจากท่าราชวรดิษฐ์มุ่งหน้าสู่พระราชวังบางปะอิน แต่ขณะนั้นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จตามไปในทันที เพราะยังติดพระราชกรณียกิจอยู่ในพระบรมหาราชวัง ก่อนจะลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดีตามเสด็จไป”

เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาด จวนจะเข้าเกร็ดพบเรือราชสีห์ จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า เรือพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด เนื่องจากเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ชนกับเรือโสรวาร พระองค์จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปที่บางพูด

เมื่อพระองค์เสด็จไปถึง พระยามหามนตรีทูลว่า เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้าใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวาลซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน  เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรงแล่นกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวาล 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ ก็เบนหัวออก ศีรษะเรือไปโดนเรือโสรวาล น้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงนี้เกิดจากความประมาทในการเดินเรือเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กระนั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดาในที่สุด

อนุสรณ์ถึงการพลักพราก 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญ เหตุการณ์ครั้งนั้นกลับไม่ได้ผ่านพ้นไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ตามมายังคงเป็นอนุสรณ์ถึงการพลัดพราก รวมทั้งยังถูกสร้างสีสันผสมผสานกับศรัทธาของราษฎรสมัยหลัง

ความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดา นอกจากปรากฏผ่านการเตรียมงานพระศพอย่างสมพระเกียรติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งของถวายเป็นพระราชกุศลอย่างการหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลายแห่งที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน อาทิ โรงเรียนสุนันทาลัย อนุสาวรีย์ที่สวนสราญรมย์ อนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน อนุสาวรีย์ที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี พระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี

สถานที่เกิดเหตุนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในหมู่ราษฎร โดยเฉพาะ วัดกู้ นนทบุรี ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นสถานที่กู้เรือพระศพและเรือพระที่นั่ง ซึ่งทางวัดได้จัดแสดงเรือโบราณลำหนึ่งในศาลเป็นหลักฐาน (ปัจจุบันศาลหลังนี้ได้ถูกรื้อและบูรณะเป็นศาลหลังใหม่เรียบร้อยแล้ว) ขณะเดียวกันผู้รู้ในท้องถิ่น คือ พิศาล บุญผูก ได้ให้ข้อมูลว่า

“แท้จริงแล้วสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หน้าวัดเกาะพญาเจ่ง หรือวัดเกาะบางพูด เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทรงระฆังภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสี่ทิศ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพระพี่เลี้ยงแก้ว”

คำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่สืบต่อมา และบันทึกพระราชกิจรายวันในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังระบุว่า เรือพระที่นั่งล่มลงบริเวณหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง มีการอัญเชิญพระบรมศพและพลิกเรือให้หงายขึ้นในบริเวณนั้น รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์เป็นพระราชอนุเสาวรีย์ขึ้นยังตำแหน่งที่เกิดเหตุ มิได้กู้เรือขึ้นไว้บนฝั่งแต่อย่างใด เพราะทำเลวัดอยู่ห่างชายฝั่งมาก ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง

แต่จากเอกสาร ข้อเขียน และป้ายแสดงพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ปรากฏอยู่ในวัดกู้หลายแห่ง ทำให้มีแนวโน้มว่า มีการกู้ซากเรือขึ้นไว้บนบก รวมทั้งอัญเชิญพระศพขึ้นที่หน้าวัดกู้ แต่หากพิจารณาจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันแล้วจะพบว่า เรือพระประเทียบแค่เกยทรายจมลง สามารถกู้และนำกลับพระนครที่แห่งนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องปล่อยให้เรือพระประเทียบล่องไปทางวัดกู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป

เรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และรัชกาลที่ 5 สร้างความประทับใจแก่ราษฎร โดยเฉพาะเรื่องความรักและการพลัดพราก ปัจจุบันศาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังใหม่ของวัดกู้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระองค์ ผู้คนที่มาสักการะยังศาลแห่งนี้มักมาด้วยความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถดลบันดาลให้สมความปรารถนาตามแต่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ได้มีเรื่องน่าพิศวงจากอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย เช่น ผู้ที่มาศาลส่วนใหญ่มักเล่าว่าตนเองฝันเห็นสตรีสูงศักดิ์ หรือ เด็กทารก และเมื่อมาศาลแล้วก็จะมีอาการเศร้าโศกเสียใจ เรื่องนี้ได้สร้างความประทับใจและความศรัทธามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการถวายของบูชาต่างๆ ณ อนุสาวรีย์ที่สวนสุนันทา โดยมักจะมีผู้นำดอกกุหลาบสีชมพูไปถวาย เพราะเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในความรัก การบูชาลักษณะดังกล่าวแสดงถึงความใกล้ชิดที่ราษฎรมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ มากขึ้น

เรื่องราวของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ผู้ล่วงลับ มิได้ล่วงเลยตามกาลเวลา แต่ยังคงถูกบอกเล่าและปฏิบัติสักการะด้วยความเคารพบูชาตามแบบของแต่ละบุคคลจนถึงปัจจุบัน






“พระนางเรือล่ม” สิ้นพระชนม์เพราะไม่มีคนกล้าช่วย! กลัวจะหัวขาดด้วยกฎมณเฑียรบาล!!
โดย: โรม บุนนาค
เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๒๓ ได้เกิดเหตุสลดใจครั้งใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อัครมเหสีองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสบอุบัติเหตุจากการเสด็จประพาสทางเรือ สิ้นพระชนม์ในขณะทรงครรภ์ได้ ๕ เดือน พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาองค์แรก ซึ่งยังความสุดเศร้าโศกแก่สมเด็จพระปิยะมหาราชอย่างใหญ่หลวง จนไม่อาจทนฟังเสียงปี่พาทย์ที่ประโคมพระศพได้
ในวันเกิดเหตุวิปโยค เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอิน ในเวลา ๒ โมงเช้าทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบ หรือเรือฝ่ายในล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จน ๒ โมงเศษ จึงประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ซึ่งเป็นเรือกลไฟฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้นตามไป เมื่อไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้าได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอัครมเหสีก็สิ้นพระชนม์ด้วย
เหตุการณ์นี้ปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความตอนหนึ่งว่า
“...จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปถึงบางพูดเช้า ๕ โมง เห็นเรือไฟและเรือพระประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระเกียรติหน่อย ประทับเรือพระที่นั่งเข้าที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมอดิสรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระมหามนตรีทูลว่าเรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรง แล่นตรงกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลางระหว่างเรือ ห่างเรือโสรวารสัก ๑๐ ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกประทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ดำน้ำลงไปถึงในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิสรซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า ๑๐ ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรด้เกล้าฯให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่นๆทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย กับแก้ว พระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยู่ในเก๋งออกมาไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่า เมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงช่วยกันหงายเรือขึ้น การหงายนั้นช้าอยู่มากกว่าครึ่งชั่วโมงจึงได้เสียท่วงที เมื่อเชิญพระศพขึ้นมาที่เรือปานมารุตแล้วก็ช่วยแก้ไขกันมาก ครั้งนี้เผอิญให้หลวงราโชมาในเรือปานมารุตด้วย ได้ช่วยแก้เต็มกำลังก็ไม่ฟื้น ชาวบ้านที่แก้พวกข้าหลวงรอดหลายคนเอามาแก้ก็ไม่ฟื้นได้ เมื่อได้ความดังนี้แล้วจึงได้ทราบฝ่าละอองฯว่าพระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย เมื่อเรือพระที่นั่งมาประทับไล่เลียงอยู่นั้นสัก ๑๐ มินิตกว่าก็ไม่ทราบ ไม่มีใครกราบบังคมทูล และกรมสมเด็จพระสุดารัตน์กับเจ้านายก็มาประชุมพร้อมกันอยู่ในเรือปานมารุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นไปประทับบนเรือปานมารุตให้ช่วยกันแก้ไขด้วยพระองคยังร้อนๆอยู่ จนบ่าย ๒ โมงก็ไม่ฟื้นขึ้นได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก...”
ในขณะเกิดเหตุนั้น มีข้าราชบริพารอยู่ในขบวนเรือเสด็จเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีชาวบ้านที่ดำทรายอยู่หลายคน กล่าวกันว่าหลายคนจะเข้าไปช่วย แต่พระยามหามนตรีได้สั่งห้าม เพราะมีกฎมณเฑียรบาลว่าการแตะต้ององค์พระมเหสีมีโทษถึงตาย และยังมีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรือพระประเทียบล่มไว้ด้วยว่า
“อนึ่ง หัวหมื่นหัวพันูดาษจ่าชาวเลือกชาววังบันดาลงเรือนั้น ยังมิทันถึงที่ประทับแลหยุดเรือประเทียบ โทษถึงตาย ถ้าประเทียบเข้าประทับแลเรือประเทียบเข้าติดแล้ว ให้ลงว่ายน้ำขึ้นบก ถ้าอยู่กับเรือโทษฟันคอ
อนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่ม ให้ชาวเรือว่ายน้ำหนี ถ้าอยู่กับเรือโทษถึงตาย
ถ้าเรือประเทียบล่มก็ดี ประเทียบตกน้ำก็ดี แลว่ายน้ำอยู่บันดาดาย ให้ดูดาษแลชาวเรือยื่นเสร้าแลซัดหมากพร้าวให้เกาะตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายึด ถ้ายึดขึ้นให้รอดโทษถึงตาย ถ้าซัดหมากพร้าวให้รอด รางวัลเงินสิบตำลึงขันทองหนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่มมีผู้อื่นเห็นซัดหมากพร้าวเอาขึ้นให้รอด โทษทวีคูณตายทั้งโคตร...”
ช่วยให้รอดชีวิต แต่คนช่วยกลับตายทั้งโคตร แล้วใครจะกล้าช่วย
กฎหมายนี้มีมาแต่โบราณกาล ก็เพื่อกันการก่อกบฏ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลายสิ่งหลายอย่างก็คลี่คลายทันสมัยขึ้นแล้ว แต่คนไม่ลึกซึ้งกฎหมายใครจะกล้าเสี่ยง
ได้มีการประชุมชำระความเรื่องนี้ สอบถามคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ได้ความว่า เมื่อเรือล่ม ถ้ารีบช่วยกันหงายเรือขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าและพระราชธิดาก็จะไม่เป็นอันตราย แต่พระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจขวา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลขบวนเรือ แทนที่จะให้คนรีบโดดน้ำลงไปหงายเรือ กลับมัวแต่เรียกเรือสำปั้นที่พายอยู่ มิหนำซ้ำเมื่อชาวบ้านจะมาช่วยก็ห้ามอีก ที่กราบทูลว่าตัวเองเป็นคนดำน้ำลงไปนำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมา บางคนก็ว่าไม่ได้ลง การที่ทูลจะจริงหรือเท็จก็ไม่ได้ความแน่ชัด
ในที่สุดการตัดสินในวันที่ ๖ มิถุนายนต่อมา พระยามหามนตรีก็รับความผิดไปคนเดียว ถูกออกจากราชการและจำคุกไว้ ๓ ปี แต่เมื่อพ้นโทษแล้วก็ได้กลับมารับราชการอีก ได้เป็นพระยาพิชัยสงคราม ผู้บังคับการกรมทหารหน้า
นี่ก็เป็นบทเรียนครั้งสำคัญเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์


เนื้อเพลง