วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566

พระนางสามผิว

 


“พระนางสามผิว” เป็นเรื่องราวที่อาจเป็นตำนานหรือประวัติศาสตร์ของเมืองฝาง ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เนื้อเรื่องเป็นเสมือนนิยายปรำปราหรือตำนาน แต่การสร้างอนุสาวรีย์ของพระนางและพระสวามีผู้สร้างเมืองฝาง ทั้งประชาชนกับทางราชการยังจัดงานรำลึกอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี ย่อมแสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นิยายที่เลื่อนลอย

พระเจ้าฝางอุดมสิน พระนามเดินชื่อ “พระยาเชียงแสน” เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาปกครองเมืองฝาง ในปี พ.ศ. ๒๑๗๒


เรื่องราวของพระนางสามผิวเริ่มในปี พ.ศ. ๒๑๗๒ เมื่อ พระยาเชียงแสน ราชบุตรพระเจ้าเชียงแสน ได้พาชาวเมืองประมาณ ๕๐๐ ครอบครัวอพยพล่องมาตามลำน้ำกก จนมาถึงบริเวณที่เป็นเมืองร้างแห่งหนึ่ง เห็นว่าเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์น่าเป็นที่อยู่อาศัย เมืองนี้ก็คือเมืองฝางที่เป็นเมืองโบราณมีอายุราวพันปี และถูกทิ้งร้างมาหลายสมัย จึงช่วยกันปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ จนเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ชาวเมืองจึงขนานพระนามพระยาเชียงแสนใหม่ว่าว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน 

พระเจ้าฝางอุดมสินมีมเหสีที่ทรงพระสิริโฉมโสภาเกินกว่านางใดในหล้า และยังทรงมีความมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครเหมือน ด้วยผิวพระวรกายเปลี่ยนสีได้ตามเวลา ตือ
ยามเช้า ผิวกายพระนางจะมีสีขาวบริสุทธิ์ดุจปุยฝ้าย
ยามบ่าย ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงดุจลูกตำลึงสุก
ยามเย็นตะวันอ่อน ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู

รู้กันแต่ว่าพระนางเป็นราชธิดาพระเจ้าล้านช้าง พระนามเดิมไม่ปรากฏ เรียกกันทั่วไปว่า “พระนางสามผิว”
กิตติศัพท์ความงามและความมหัศจรรย์ของพระนางร่ำลือไปถึง พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่า จึงมีพระราชประสงค์ที่จะได้ยลโฉมพระนางด้วยพระองค์เอง ว่าจะทรงพระศิริโฉมสมตามคำเล่าลือเพียงใด จึงปลอมพระองค์เป็นพ่อค้า คุมขบวนสินค้ามาเมืองฝาง และขอเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อดีต่อพระนาง
ครั้นได้ยลโฉมพระนางสามผิวอย่างใกล้ชิด กษัตริย์พม่าก็ต้องตะลึงในความงาม และเมื่อกลับไปแล้วความงามของพระนางก็ฝังอยู่ในพระราชหฤทัยจนอดรนทนต่อไปไม่ได้ ในที่สุดก็ยกกองทัพมาเมืองฝาง เพื่อจะชิงนางไปให้ได้

พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว มีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “พระนางมัลลิกา” ในขณะที่พระองค์มาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ซ่องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรัง โดยไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า ซึ่งทางพม่าได้ล่วงรู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข้งข้อต่อตน จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า “พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา” เป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปี พ.ศ. 2176  พระเจ้าฝางนำกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้

          พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยนำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ พร้อมทั้งตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง หรือที่เราเรียกว่า “เวียงสุทโธ” ในปัจจุบันนี้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟ (ปืนใหญ่) เข้าใส่เมืองฝางทำให้บ้านเมืองฝางเกิดระส่ำระส่าย ประชาชนเสียขวัญและทหารล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

เมืองฝางถูกล้อมอยู่ ๓ ปี ทั้งทหารและราษฎรต่างก็ขาดแคลนอาหาร ขณะเดียวกันพระเจ้าสุทโธธรรมราชาก็เกณฑ์ทัพเมืองต่างๆที่เป็นเมืองขึ้นของพม่ามาเพิ่มกำลังอีก จนเมืองฝางเห็นทีว่าจะรับทัพพม่าไม่ไหวแล้ว พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวดำริว่า ความพินาศของเมืองฝางในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ราษฎรต้องตกอยู่ในอันตรายและลำบากยากเข็ญ เนื่องมาจากตนเป็นต้นเหตุ อีกทั้งพระนางสามผิวก็ไม่อาจที่จะรับสภาพเป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์พม่าได้ ทั้งสองพระองค์จึงจะขอรับผิดชอบที่จะปลิดชีพด้วยการกระโดดลง “บ่อน้ำซาววา” ที่ลึกถึง๒๐ วาด้วยกัน

และในคืนขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 เหนือปี พ.ศ. 2180  พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดบ่อน้ำซาววา และในตอนรุ่งสางของวันนั้น กองทัพพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาก็ตีและบุกเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก และได้ยกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ ประเทศพม่า โดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด


แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ข้าราชบริพารทั้งหลายได้แสดงความจงรักภักดี โดยรับจะตีฝ่าข้าศึกนำทั้งสองพระองค์หนีออกไปให้ได้ และนางข้าหลวงคนหนึ่งจะถวายชีวิตโดยกระโดดลงบ่อซาววาไปเอง เพื่อให้ข้าศึกเชื่อว่าพระนางเสียชีวิตจริง จะได้ไม่ติดตามทั้งสองพระองค์ต่อไป

แต่ทั้ง ๒ กรณี ไม่ว่าพระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวจะกระโดดลงบ่อหรือหนีไปได้ เมืองฝางก็ต้องเสียแก่พม่า กรณีนี้น่าจะคล้ายกับกรณีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ช้างเผือกมาสู่บุญบารมีถึง ๗ เชือก ได้รับสมญาว่าเป็น “พระเจ้าช้างเผือก” ทำให้เป็นที่อิจฉาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองของพม่า ครั้งพระเจ้าจะเบงชะเวตี้อ้างว่าจะขอแบ่งช้างเผือก ก็ทำให้ต้องสูญเสียพระมเหสี คือ พระศรีสุริโยทัย และเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนองอิจฉา ก็ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ก็อ้างเรื่องขอช้างเผือกเหมือนกัน ก็เพราะมีบุญมากไป เช่นเดียวกับพระนางสามผิวสวยเกินไปนั่นเอง

วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2566

ลาวดวงเดือน (ลาวดำเนินเกวียน) ประวัติ

 


เพชร พนมรุ้ง

 

นักร้องเพลงลูกทุ่งที่ใช้ลีลาเพลงโห่

และเล่นเครื่องดนตรีแบนโจ แบบในหนังคาวบอยตะวันตกของไทย



เพชร พนมรุ้ง มีชื่อจริงว่า นายจเร ภักดีพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2484 ที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ บิดา ครูสิน มารดา นางชวน เรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบุรีรัมย์วิทยา มีพี่น้อง 11 คน ชาย 6 หญิง 5 เข้ามากรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง กรุงเทพมหานคร แต่งงานมีครอบครัว ภรรยาชื่อ ระพีพรรณ มีบุตรชาย 1 คน

เพชร พนมรุ้ง เป็นศิลปินที่มีความสามารถในการขับร้องเพลงลูกทุ่งอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น คือการ "โห่" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ตะวันตก ประเภทขี่ม้ายิงปืน "คาวบอยตะวันตก" ที่มีมาฉายในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 ซึ่งจะมีเพลงประกอบที่มีทำนองเนื้อร้อง ที่เราเรียกว่า "โห่" เอาไว้ ทำใหเขาเกิดความสนใจในแนวทางนี้ จึงคิดนำมาประยุกต์และดัดแปลงเข้ากับทำนองเพลงลูกทุ่งไทย

ด้วยความหลงใหลและสนใจในกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งตะวันตก ทำให้ เพชร พนมรุ้ง จำลีลาการร้องลูกคอแบบฮาร์โมนิกจากศิลปินท่านอื่นๆ และยังได้ฝึกหัดเล่น "กีตาร์แบนโจ" จากพี่ชาย ที่ได้เรียนรู้มาจากนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาเล่นดนตรีในประเทศไทย ซึ่งในสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยมีการใช้เครื่องดนตรีสากลมากนัก

ต่อมาเพชร พนมรุ้ง ได้เข้าประกวดร้องเพลงโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง ในเวทีงานภูเขาท้อง วัดสระเกศ จนทำให้ ครูพยงค์ มุกดา เห็นแววและชื่นชอบในการร้องเพลงแบบโห่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หล้งจากนั้นไม่นานก็ทำให้ผู้คนรู้จัก เพชร พนมรุ้ง ในนามศิลปินเพลงโห่ของเมืองไทย ผลงานเพลงแรกๆ ที่ครูพยงค์ มุกดา ได้ประพันธ์ให้ เช่น ใกล้รุ่ง, อย่ากลัว เป็นต้น แต่เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เพชร พนมรุ้ง มากที่สุดคือเพลง "เมื่อเธอขาดฉัน" ประพันธ์โดย ชัยชนะ บุญนะโชติ

นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงอีกมากที่ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนเพลง เช่น ลูกทุ่งเสียงทอง, ธรรมชาติบ้านนา 1, บางปู 1, หนุ่มนักเพลง, ประกายเดือน ฯลฯ จนทำให้ เพชร พนมรุ้ง ได้รับฉายา "ราชาเพลงโห่" หรือที่เราคุ้นเคยในนาม "จังโก้ไทยแลนด์" เพชร พนมรุ้ง ยังได้มีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์ เสน่ห์บางกอก กับพระเอกนักเพลง พร ภิรมย์ และมีงานโชว์ตัวนอกสถานที่ตามต่างจังหวัดในรูปแบบผจญภัย อย่างเช่น ออกโชว์ตัวบนเรือแพ ตามล่องน้ำเมืองกาญจนบุรี รวมถึงการเดินป่าชมธรรมชาติ อันเป็นสิ่งหนึ่งที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตของศิลปินเพลงผู้นี้ นอกเหนือไปจากการวางตัวสมถะ พออยู่พอกินไม่ฟุ้งเฟ้อ กระทั่งเกิดสงครามเวียดนาม เพชร พนมรุ้ง จึงได้ไปขุดทองอยู่ในแคมป์จีไอที่โคราชนานหลายปี จากนั้นก็มารับแสดงตามคลับในกรุงเทพฯ จนถูก กำธร ทัพคัลไลย ชวนให้ไปเล่นหนัง ทายาทป๋องแป๋ง กับพระเอกดัง สมบัติ เมทะนีในปี พ.ศ. 2539

เพชร พนมรุ้ง นับเป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีแนวการร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการนำทำนองเพลงของตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับคำร้อง/เนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยได้อย่างลงตัว จนทำให้เพลงในแนวนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟังในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับเหรียญพระราชทานสังคีตมงคล จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานเพลงดีเด่น จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 จากเพลง "ลูกทุ่งเสียงทอง" ซึ่งประพันธ์โดยครูพยงค์ มุกดา

นายจเร ภักดีพิพัฒน์ หรือ เพชร พนมรุ้ง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกีรตืให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2556 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ครูใหญ่(สมาน) นภายน อธิบายว่า “เพลงโห่” นั้น เอาอย่างมาจากเพลง yodel ของพวกคนเลี้ยงแกะตามภูเขาในในยุโรป ต่อมา yodel ก็ตามพวกอพยพเข้าไปในสหรัฐ และไปแพร่หลายปะปนกับเพลงคันทรี่ของชาวใต้ของสหรัฐ เราจึงได้ยินเพลงคันทรี่หลายเพลงมีการโห่ปะปนอยู่ด้วย ต้นแบบการโห่เร้าใจก็ Jimmie Rodgers ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพลงโห่นี้คนโห่ต้องมีเสียงสูง ถึงจะ โห่ โฮรีเร ฮี้ เร โฮ ฮี้ เร ฮี้ยย ฮี้ยย ได้เอร็ดอร่อยสนุกนัก

yodel หมายถึงแบบการร้องเพลงชนิดหนึ่งที่ไม่มีคำร้อง (ร้องแบบโห่) นิยมกันในหมู่ชาวเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย ลักษณะของเพลงคือเปลี่ยนเสียงจากเสียงต่ำในช่วงอกไปยังเสียงฟอลเซทโต (falsetto : เสียงที่ร้องดัดให้สูงขึ้นกว่าเสียงร้องตามปกติ) อย่างรวดเร็วและสลับไปมา

"เพชร พนมรุ้ง" นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เจ้าของฉายา "ราชาเพลงโห่" เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 เมื่อเวลา 16.15 น. ขณะมีอายุ 79 ปี ด้วยโรคน้ำท่วมปอด หลังจากพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น แต่ผ่าตัดได้ 2 เส้น  



เนื้อเพลง