วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8



 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีสมเด็จพระเชษฐภคินีคือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  และเป็นพระบรมราชปิตุลาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา และประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

พระราชประวัติ

ขณะทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดิลแบร์ค สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ขณะที่สมเด็จพระราชชนกทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมนี โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท  พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 


เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว 

พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน "เอกอลนูแวลเดอลาซืออิสโรมองต์" และทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ

การขึ้นทรงราชย์

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลที่มีพระชันษาเพียง 9 ปี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 8 พรรษา และยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทำให้ต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) 

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร

การเสด็จนิวัตพระนคร

รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์แข็งแรงจึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัตพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด

หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และทรงประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัตประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ร่วมกับเหตุการณ์การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ กองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานและเข้ายึดครองประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จออกนอกประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนาย ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 ไทยที่ถูกยึดครองได้กลายเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิญี่ปุ่นและเป็นสมาชิกของฝ่ายอักษะ ภายใต้การนำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้สำเร็จราชการได้ปฏิเสธที่จะลงนามในปฏิญญาฉบับนี้จึงทำให้ตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย สมาชิกจำนวนมากของรัฐบาลไทย รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยในญี่ปุ่น ได้ทำหน้าที่เป็นสายลับโดยพฤตินัยในขบวนการใต้ดินเสรีไทยที่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ได้คอยส่งข้อมูลลับไปยังหน่วยข่าวกรองบริติช และสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ใน พ.ศ. 2487 ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายแพ้สงคราม กรุงเทพมหานครถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักโดยฝ่ายสัมพันธมิตร บวกเข้ากับความยากลำบากทางเศรษฐกิจทำให้สงครามและรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่เป็นที่นิยมอย่างมาก ในเดือนกรกฎาคม จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกขับไล่โดยรัฐบาลไทยที่ถูกเสรีไทยเข้าแทรกซึม รัฐสภาไทยได้เรียกการประชุมและแต่งตั้งให้ทนายความฝ่ายเสรีนิยม นาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นได้ยอมจำนน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และความรับผิดชอบทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรสำหรับประเทศไทยได้ตกเป็นของบริติช

หลังสงครามโลก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลงทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร นี่จึงเป็นการเสด็จนิวัตพระนครครั้งที่สองในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 พร้อมกับปริญญาด้านนิติศาสตร์ แม้ว่าพระองค์จะยังทรงพระเยาว์และไร้ประสบการณ์ แต่กลับเอาชนะใจของปวงชนชาวไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งยังคงให้ความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดช่วงยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2473 และ พ.ศ. 2483 ชาวไทยรู้สึกยินดีปรีดาที่มีพระเจ้าอยู่หัวมาอยู่ท่ามกลางพวกเขาอีกครั้ง พระราชกรณียกิจซึ่งเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดีของพระองค์คือ การเสด็จเยือนย่านสำเพ็ง(ซอยสำเพ็ง) ไชนาทาวน์ในกรุงเทพ ซึ่งพระองค์ได้รับการต้อนรับเสด็จอย่างล้นหลาม โดยมีพระราชประสงค์เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดหลังสงครามที่ดูอ้อยอิ่งระหว่างชาวไทยและชาวจีนในกรุงเทพ

เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชาวไทยตระหนักถึงเกียรติภูมิของชาติว่าจำเป็นต้องรักษา คือ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน แห่งกองทัพอังกฤษ ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้ามาในพระนครและมีการตรวจพลสวนสนามกองฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 พระบามสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จออกทรงรับการตรวจพลสวนสนามในฐานะองค์พระประมุขของประเทศพร้อมกับ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน เป็นการเสด็จออกอย่างสง่างามสมพระเกียรติ ในฉลองพระองค์จอมทัพไทย ส่งผลให้ความขัดข้องในจิตใจคนไทยว่าเมืองไทยจะอยู่ในฐานะถูกยึดครองนั้นหมดไปทันที และมีกำลังใจในการต่อสู้กับความทุกข์ยากอันเกิดจากผลของสงครามมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ เชื่อกันว่าอานันทมหิดลทรงไม่ต้องการที่จะเป็นพระเจ้าอยู่หัวและทรงมีพระราชฤทัยว่าการครองราชย์ของพระองค์คงจะอยู่ได้ไม่นาน หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนที่ 1 แห่งพม่า ผู้บัญชาการกองทัพบริติชในเอเชียตะวันออกได้เยือนสู่กรุงเทพในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 และได้พรรณาถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า "ทรงเป็นเด็กผู้ชายที่มีสายตาสั้นที่ดูขวัญอ่อน ไหล่ที่ลาดเอียงและหน้าอกบอบบางซึ่งประดับด้วยเครื่องประดับเพชรที่สวยงาม รูปร่างที่น่าสงสารและอ้างว้าง" ในงานสาธารณะ เมานต์แบ็ตเทนได้เขียนว่า 'ด้วยความวิตกกังวลของเขาได้เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนเขาในกรณีที่พระองค์เกิดหมดพระสติ"

การเฉลิมพระปรมาภิไธย


ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2489 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฏศักตอัครนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร 

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

พระราชกรณียกิจ

การปกครอง

พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง มีพระราชดำริว่า หากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป

การศาสนา

ในการเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้

พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร

การศึกษา


ในการเสด็จนิวัตพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต

สวรรคต


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวรและจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน คณะแพทย์ผู้ชันสูตรกว่าสามในสี่ลงความเห็นว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ และเป็นสมมุติฐานที่ได้รับการยอมรับในคำพิพากษาศาลฎีกา สิริพระชนมพรรษา 21 พรรษา  ครองราชสมบัติ 11 ปี


หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง