วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566

พระนางสามผิว

 


“พระนางสามผิว” เป็นเรื่องราวที่อาจเป็นตำนานหรือประวัติศาสตร์ของเมืองฝาง ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เนื้อเรื่องเป็นเสมือนนิยายปรำปราหรือตำนาน แต่การสร้างอนุสาวรีย์ของพระนางและพระสวามีผู้สร้างเมืองฝาง ทั้งประชาชนกับทางราชการยังจัดงานรำลึกอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี ย่อมแสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นิยายที่เลื่อนลอย

พระเจ้าฝางอุดมสิน พระนามเดินชื่อ “พระยาเชียงแสน” เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาปกครองเมืองฝาง ในปี พ.ศ. ๒๑๗๒


เรื่องราวของพระนางสามผิวเริ่มในปี พ.ศ. ๒๑๗๒ เมื่อ พระยาเชียงแสน ราชบุตรพระเจ้าเชียงแสน ได้พาชาวเมืองประมาณ ๕๐๐ ครอบครัวอพยพล่องมาตามลำน้ำกก จนมาถึงบริเวณที่เป็นเมืองร้างแห่งหนึ่ง เห็นว่าเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์น่าเป็นที่อยู่อาศัย เมืองนี้ก็คือเมืองฝางที่เป็นเมืองโบราณมีอายุราวพันปี และถูกทิ้งร้างมาหลายสมัย จึงช่วยกันปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ จนเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ชาวเมืองจึงขนานพระนามพระยาเชียงแสนใหม่ว่าว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน 

พระเจ้าฝางอุดมสินมีมเหสีที่ทรงพระสิริโฉมโสภาเกินกว่านางใดในหล้า และยังทรงมีความมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครเหมือน ด้วยผิวพระวรกายเปลี่ยนสีได้ตามเวลา ตือ
ยามเช้า ผิวกายพระนางจะมีสีขาวบริสุทธิ์ดุจปุยฝ้าย
ยามบ่าย ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงดุจลูกตำลึงสุก
ยามเย็นตะวันอ่อน ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู

รู้กันแต่ว่าพระนางเป็นราชธิดาพระเจ้าล้านช้าง พระนามเดิมไม่ปรากฏ เรียกกันทั่วไปว่า “พระนางสามผิว”
กิตติศัพท์ความงามและความมหัศจรรย์ของพระนางร่ำลือไปถึง พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่า จึงมีพระราชประสงค์ที่จะได้ยลโฉมพระนางด้วยพระองค์เอง ว่าจะทรงพระศิริโฉมสมตามคำเล่าลือเพียงใด จึงปลอมพระองค์เป็นพ่อค้า คุมขบวนสินค้ามาเมืองฝาง และขอเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อดีต่อพระนาง
ครั้นได้ยลโฉมพระนางสามผิวอย่างใกล้ชิด กษัตริย์พม่าก็ต้องตะลึงในความงาม และเมื่อกลับไปแล้วความงามของพระนางก็ฝังอยู่ในพระราชหฤทัยจนอดรนทนต่อไปไม่ได้ ในที่สุดก็ยกกองทัพมาเมืองฝาง เพื่อจะชิงนางไปให้ได้

พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว มีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “พระนางมัลลิกา” ในขณะที่พระองค์มาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ซ่องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรัง โดยไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า ซึ่งทางพม่าได้ล่วงรู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข้งข้อต่อตน จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า “พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา” เป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปี พ.ศ. 2176  พระเจ้าฝางนำกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้

          พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยนำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ พร้อมทั้งตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง หรือที่เราเรียกว่า “เวียงสุทโธ” ในปัจจุบันนี้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟ (ปืนใหญ่) เข้าใส่เมืองฝางทำให้บ้านเมืองฝางเกิดระส่ำระส่าย ประชาชนเสียขวัญและทหารล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

เมืองฝางถูกล้อมอยู่ ๓ ปี ทั้งทหารและราษฎรต่างก็ขาดแคลนอาหาร ขณะเดียวกันพระเจ้าสุทโธธรรมราชาก็เกณฑ์ทัพเมืองต่างๆที่เป็นเมืองขึ้นของพม่ามาเพิ่มกำลังอีก จนเมืองฝางเห็นทีว่าจะรับทัพพม่าไม่ไหวแล้ว พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวดำริว่า ความพินาศของเมืองฝางในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ราษฎรต้องตกอยู่ในอันตรายและลำบากยากเข็ญ เนื่องมาจากตนเป็นต้นเหตุ อีกทั้งพระนางสามผิวก็ไม่อาจที่จะรับสภาพเป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์พม่าได้ ทั้งสองพระองค์จึงจะขอรับผิดชอบที่จะปลิดชีพด้วยการกระโดดลง “บ่อน้ำซาววา” ที่ลึกถึง๒๐ วาด้วยกัน

และในคืนขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 เหนือปี พ.ศ. 2180  พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดบ่อน้ำซาววา และในตอนรุ่งสางของวันนั้น กองทัพพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาก็ตีและบุกเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก และได้ยกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ ประเทศพม่า โดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด


แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ข้าราชบริพารทั้งหลายได้แสดงความจงรักภักดี โดยรับจะตีฝ่าข้าศึกนำทั้งสองพระองค์หนีออกไปให้ได้ และนางข้าหลวงคนหนึ่งจะถวายชีวิตโดยกระโดดลงบ่อซาววาไปเอง เพื่อให้ข้าศึกเชื่อว่าพระนางเสียชีวิตจริง จะได้ไม่ติดตามทั้งสองพระองค์ต่อไป

แต่ทั้ง ๒ กรณี ไม่ว่าพระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวจะกระโดดลงบ่อหรือหนีไปได้ เมืองฝางก็ต้องเสียแก่พม่า กรณีนี้น่าจะคล้ายกับกรณีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ช้างเผือกมาสู่บุญบารมีถึง ๗ เชือก ได้รับสมญาว่าเป็น “พระเจ้าช้างเผือก” ทำให้เป็นที่อิจฉาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองของพม่า ครั้งพระเจ้าจะเบงชะเวตี้อ้างว่าจะขอแบ่งช้างเผือก ก็ทำให้ต้องสูญเสียพระมเหสี คือ พระศรีสุริโยทัย และเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนองอิจฉา ก็ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ก็อ้างเรื่องขอช้างเผือกเหมือนกัน ก็เพราะมีบุญมากไป เช่นเดียวกับพระนางสามผิวสวยเกินไปนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง