วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567

มะกะโท

 ราชาธิราช ตอน กำเนิดมะกะโท

"มะกะโท เป็นบุตรชายของมะปะนาย บิดาของเขาเป็นพ่อค้าใหญ่ที่บ้านเกาะวาน แขวงเมืองเมาะตะมะ มะกะโท มีน้องสาวชื่อนางอุ่นเรือน มีน้องชายชื่อ มักกะตา เมื่ออายุได้สิบสี่สิบห้าปี บิดาของเขาเสียชีวิต มะกะโทจึงได้เป็นพ่อค้าตั้งแต่อายุยังน้อย วันหนึ่งมะกะโทพร้อมด้วยลูกหาบ เดินทางไปค้าขายที่เมืองสุโขทัย ระหว่างทางเขาได้พบเหตุการณ์ประหลาดมหัศจรรย์หลายอย่าง มะกะโทจึงเดินไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เพื่อหาบัณฑิตผู้รู้ ให้ทำนายเหตุการณ์ประหลาด นั้น..."

…ในบ้านนั้นมีผู้ใหญ่เป็นบัณฑิตผู้หนึ่ง มีสติปัญญา รู้ทำนายนิมิต มะกะโทจึงแต่งเครื่องสักการบูชาอันสมควรแล้ว ก็ไปหาผู้นั้น จึงแจ้งนิมิตอันเป็นมหัศจรรย์ให้ฟังทุกประการ ผู้รู้ทำนายนิมิตนั้นจึงว่าแก่มะกะโทว่า นิมิตของท่านนี้ใหญ่หลวงนัก จงเอาทรัพย์มากองลงสูงเพียงศีรษะเมื่อใดแล้ว เราจึงจะทำนายให้แก่ท่าน มะกะโทจึงคิดแต่ในใจว่า ครั้งนี้เรามาในที่กันดาร มีเงินอยู่แต่สามสิบบาทจะทำเป็นประการใด ในเมื่อขณะคิดอยู่นั้น พอมะกะโทแลเห็นจอมปลวกอันหนึ่ง อยู่ในที่นั้นสูงเทียมศีรษะ มะกะโทคิดขึ้นได้ด้วยอุบายปัญญา จึงเอาเงินตราสามสิบบาทวางขึ้นบนจอมปลวก กระทำสักการบูชาแล้วจึงบอกแก่ผู้ทำนายนิมิตนั้นว่า ข้าพเจ้าบูชาแล้ว ผู้ทำนายนั้นจึงคิดว่าบุรุษผู้นี้มีปัญญาฉลาดในอุบายยิ่งนัก ควรที่จะมีบุญอยู่แล้วจึงทำนายว่าแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า หาบไม่ต้องบ่าท่านแล้ว ซึ่งจะค้าขายสืบไปนั้นท่านอย่าได้กระทำเลยหาเป็นประโยชน์ไม่ ท่านจงอาสาท้าวพระยาเถิด ซึ่งว่าฝ่าย บุรพทิศเห็นเป็นแสงอรุณสว่างขึ้น จะมีพระมหากษัตริย์ องค์หนึ่งในทิศตะวันออก จะอนุเคราะห์ตกแต่งให้มียศถาบรรดาศักดิ์แก่ท่านเป็นประถมก่อน และซึ่งฝ่ายประจิมทิศ สายฟ้าแลบขึ้นเห็นวิมานและปรางค์ปราสาทปรากฏแก่ตานั้น ท่านจะได้เป็นใหญ่ในทิศตะวันออก จะมีบุญญาธิการ ทรงศักดานุภาพเป็นอันมาก ท่านอย่าได้สงสัยเลย


"มะกะโทครั้นได้ฟังคำทำนาย ก็มีความยินดี จึงอำลาบุรุษผู้นั้น ยกออกจากบ้านมะเตวะ ก็มายังเมืองสุโขทัย ให้ลูกค้าหาบเที่ยวขายสิ่งของ ครั้นขายสิ่งของเสร็จแล้ว ก็ให้ลูกค้าทั้งปวงกลับคืนไปยังเมืองเมาะตะมะ แต่ตัวมะกะโทนั้น เชื่อคำทำนายนิมิต มิได้กลับคืนไป จึงเที่ยวหาที่พึ่งซึ่งจะ ผูกพันอาศัยนั้น จึงคิดว่าถ้าเราจะไปฝากตัวอยู่ด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่บัดนี้เล่า ก็ยังหาผ้านุ่งห่มที่ดีมิได้ จึงเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยนายช้างพระเจ้าสุโขทัย มะกะโทอุตสาหะมิได้เกียจคร้าน ช่วยชำระมูลช้าง ทอดหญ้าช้างทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด นายช้างเห็นมะกะโทมีความอุตสาหะก็รักใคร่เป็นอันมาก ครั้นนายช้างได้รับพระราชทานเงินเดือนครั้งใด ก็แบ่งปันให้มะกะโท ทุกครั้ง

อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไป ณ โรงช้าง ขึ้นทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งอยู่บนเกย ทอดพระเนตรเห็นมะกะโทกวาดหญ้าช้างอยู่ จึงตรัสถามนายช้างว่า อ้ายคนนี้เป็นบุตรของผู้ใด นายช้างจึงกราบทูลสมเด็จพระร่วงเจ้าว่า มะกะโทคนนี้ เป็นบุตรรามัญเข้ามาอยู่ด้วยข้าพระพุทธเจ้า ช่วยทอดหญ้าช้างและชำระมูลช้าง มีความอุตสาหะเป็น อันมาก สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพระเมตตาแก่มะกะโท จึงตรัสสั่งนายช้างให้เลี้ยงดูมะกะโทไว้อย่าให้ขัดสน เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรช้างอยู่นั้น คายพระสลาออก แล้วบ้วนพระโอษฐ์ลงเหนือแผ่นดิน ๆ กระจายออกไป ทอดพระเนตรเห็นเบี้ย ๆ หนึ่ง จึงตรัสว่าลูกรามัญน้อยจงเก็บเอาเบี้ย ๆ หนึ่งไว้ มะกะโทกราบถวายบังคมแล้วจึงเก็บเอาเบี้ยตามรับสั่ง ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรช้างแล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง ฝ่ายมะกะโทได้เบี้ย ๆ หนึ่งก็มีความยินดีนัก จึงคิดว่าแต่เรามาอยู่ทำราชการด้วยนายช้าง พึ่งได้รับพระราชทานใน วันนี้ เบี้ย ๆ เดียวนี้จะทำกระไรดี อย่าเลยจะเอาไปซื้อพันธุ์ผักกาดมาปลูกไว้ มะกะโทคิดแล้ว จึงเอาเบี้ยไปซื้อพันธุ์ ผักกาด เจ้าของพันธุ์ผักกาดจึงว่าเบี้ยของเจ้าเบี้ยเดียวนี้ เรามิรู้ที่จะตวงพันธุ์ผักกาดให้ มะกะโทจึงว่าเบี้ยของเราเบี้ยนี้ เราเอาแต่พอติดนิ้วเดียว เจ้าของพันธุ์ผักกาดจึงว่าเอาเถอะ มะกะโทจึงเอานิ้วมือชุบเขฬะแล้วก็จิ้มลงในกระทายพันธุ์ ผักกาดนั้น ฝ่ายเจ้าของพันธุ์ผักกาดจึงสรรเสริญแต่ในใจว่า บุตรรามัญ ผู้นี้มีปัญญาฉลาดนัก นานไปจะได้เป็นผู้ดีมั่นคง

ฝ่ายมะกะโทได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้ว จึงมาขุดดินกระทำที่ด้วยมูลช้างจึงปลูกเมล็ดพันธุ์ ผักกาดไว้ อุตส่าห์บำรุงรดน้ำก็งอกเงยขึ้น ครั้นอยู่มา พระร่วงเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตรช้างอีกครั้งหนึ่งมะกะโทจึงเลือกเก็บพันธุ์ผักกาดมาชำระเสียให้หมดมูลดินแล้ว จึงขอยืมโต๊ะพานนายช้างใส่พันธุ์ผักกาด นำเข้าถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ๆ จึงตรัสถามว่า เอ็งได้พันธุ์ผักกาดนี้ มาแต่ไหน มะกะโทจึงกราบทูลว่าเบี้ยซึ่งพระองค์พระราชทานข้าพระพุทธเจ้าเบี้ยหนึ่งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเอาไปซื้อพันธุ์ ผักกาดมาปลูก จึงได้นำมาทูลเกล้า ฯ ถวาย สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงดำริว่า บุตรรามัญน้อยนี้ฉลาด ประกอบด้วยความเพียร จะเอาไปเลี้ยงไว้ใกล้เราจึงจะชอบ จึงตรัสแก่นายช้างว่า ลูกรามัญน้อยนี้เราจะขอไปเลี้ยงไว้ นายช้างก็ถวายมะกะโทไปแก่สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงมอบให้ไปอยู่ด้วยหัวป่าก์พ่อครัว มะกะโทครั้นไปอยู่ด้วย พ่อครัวก็มิได้เกียจคร้าน สมเด็จพระร่วงเจ้า ครั้นเห็นมะกะโทอุตสาหะเป็นอันดี ก็ชอบพระอัชฌาสัยจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นขุนวัง มอบให้ว่ากล่าวในนอกพระราชวัง สมเด็จ พระร่วงเจ้าทรงพระเมตตานักดุจหนึ่งบุตรในอุทร มะกะโท ผู้เป็นขุนวังมีความอุตสาหะรักษาพระองค์กลางคืนเป็นกลางวัน พระร่วงเจ้าทรงพระเมตตายิ่งขึ้นไป ข้าราชการน้อยใหญ่ ทั้งปวง ก็มีความรักใคร่และยำเกรงแก่ขุนวังเป็นอันมาก"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง