วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับการยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่สหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี พ.ศ. 2505 และนอกจากจะทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ยังทรงวางรากฐานความเจริญไว้ให้กับประเทศไทยอีกหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน โบราณคดี การศึกษา วรรณคดี อักษรศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์ เป็นต้น



แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเปรียบสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสมือนเพ็ชรประดับพระมงกุฎ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านทรงเป็นผู้มีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในการปฏิรูประบบราชการของแผ่นดิน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 4 รัชกาล

  •  ประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนามเดิมคือพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระโอรสองค์ที่ 57 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 เวลา 4 นาฬิกา 17 นาที ตรงกับวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ จ.ศ. 1224

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอนั้น ทรงเขียนลายพระราชหัตถ์ เป็น 2 ฉบับ ฉบับ 1 เป็นอักษรภาษาไทย อีกฉบับ 1 เป็นอักษรอริยกะ เมื่อพระเจ้า ลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นองค์ชายจะได้พระราชทานพระขรรค์ 1 เล่มกับปืนพก 1 กระบอก ครั้นประสูติได้ 3 วัน จะจัดให้มีพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จลงเป็นประธาน ทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมพระราชทาน

พระนาม “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” ที่ได้รับพระราชทานมานั้น ในทางพระศาสนาถือว่าเป็นสิริมงคล เป็นทั้งพระนามพระพุทธเจ้าและพระนามของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงมีเกียรติในการอุปถัมภกพระพุทธศาสนา และตามหนังสือ “ความทรงจำ” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เอานามคุณตาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาพระราชทาน ซึ่งท่านชื่อ “ดิศ” เป็นพระยาบำเรอภักดีอยู่ในเวลานั้น เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความซื่อตรง และความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง


การศึกษาขั้นต้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับการศึกษาแบบราชกุมารครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงเริ่มเรียนอักษรตั้งแต่มีพระชนมายุก่อนครบ 3 พรรษา มีคุณแสง เสมียน เป็นครูสอน ไม่นานนักก็ย้ายไปเรียนกับคุณปาน เป็นธิดาสมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ โดยมีสมุดหนังสือปฐม ก.กา ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใช้เป็นแบบเรียน ทรงเรียนจนอ่านหนังสือได้แตกฉาน จนอ่านหนังสือเป็นเล่ม เช่น สามก๊ก

การศึกษาภาคปฏิบัติในราชสำนักของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มเมื่อพระชนม์ได้ 4 พรรษา ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาเพื่อทรงใช้สอยเสมอ บางครั้งก็ตามเสด็จออกนอกวัง และครั้งหลังสุดได้ตามเสด็จไปดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากอินเดีย และโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในกรมมหาดเล็กคู่กับโรงเรียนสอนภาษาไทย มีมิสเตอร์ฟรานซิล จอร์ช แบตเตอร์สัน ชาวอังกฤษเป็นผู้สอน และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงศึกษาในโรงเรียนนี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2417 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีพระชนมายุครบ 13 พรรษา ทรงรับราชการประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษาขั้นกลาง

พ.ศ. 2418 เดือน 8 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงผนวชเป็นสามเณร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับที่วัดบวรนิเวศกับสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีพระกิจวัตร คือ เวลา 19.00 น. ต้องทรงฟังคำสอนพระธรรมวินัยทุกวัน จนถึงเวลา 20.00 น. จึงทำวัตรค่ำ และซ้อมสวดมนต์ไปจนถึง 23.00 น. พระองค์ทรงท่อง “อนุญญาสิโข” ได้แม่นยำ และมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดมาก และให้เข้าเฝ้าเสมอฯ โดยทรงเล่าเรื่องโบราณต่าง ๆ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ฟัง เป็นเหตุให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสนพระทัยวิชาประวัติศาสตร์และการศาสนา และพระองค์ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองเป็นอย่างมาก ทำให้ได้สมญาว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์”

นอกจากนี้ ยังทรงเรียนคาถาอาคมและวิชาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันด้วยเวทย์มนต์และเครื่องรางต่าง ๆ ซึ่งทรงเชื่อถืออย่างมาก อาจารย์ที่สำคัญคือ นักองค์วัตถา น้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา และทรงสะสมเครื่องรางของขลังเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2418 ในช่วงออกพรรษาเมื่อกลับจากนำกฐินพระราชทานไปทอดที่วัดคงคารามเพชรบุรีแล้ว กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงลาสิกขาบทจากสามเณร

การศึกษาขั้นปลาย

เมื่อลาสิกขาบทจากสามเณร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็ก เมื่อพระชนม์ได้ 14 พรรษา ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารในสำนักของหลวงรัดรณยุทธ (เล็ก) ซึ่งประจำอยู่ในวังบริเวณวัดพระแก้ว ขณะเมื่อยังเป็นพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ศึกษาอยู่เป็นเวลาหนึ่งปีจึงสำเร็จหลักสูตรนักเรียนนายร้อย ได้รับพระราชทานยศทหารเป็นร้อยตรีทหารมหาดเล็กในปี พ.ศ. 2420 ตั้งแต่ชันษายังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์

พระกรณียกิจเมื่อแรกทรงรับราชการ

พระองค์ทรงได้รับราชการทหารในตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ดังนี้

พ.ศ. 2420 เป็นนายร้อยตรีทหารราบ ตำแหน่งผู้บังคับกองแตรวง

พ.ศ. 2422 เป็นว่าที่นายร้อยโท ตำแหน่งผู้บังคับการทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็ก

พ.ศ. 2422 เป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งราชองครักษ์ประจำพระองค์ และว่ากรมครัวเข้าต้น

พ.ศ. 2423 เป็นนายพันตรี ตำแหน่งผู้รับพระบรมราชโองการ และว่ากรมกองแก้วจินดา (ปืนใหญ่)

พ.ศ. 2428 เป็นนายพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กและราชองครักษ์ประจำพระองค์

กรมทหารมหาดเล็กเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 และทรงสนับสนุนเจ้านายชั้นต่าง ๆ ให้มาสมัครเรียน จนกิจการเจริญก้าวหน้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ทหารมหาดเล็กภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนที่พระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ เรียกว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ในปี 2425 เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการฝึกสอนไปถึงผู้ที่จะเข้ารับราชการอย่างอื่นด้วย และยังทรงมีรับสั่งให้จัดตั้งโรงเรียนให้แพร่หลายออกไปฝึกสอนราษฎรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงมีหน้าที่จัดโรงเรียนอันเป็นการฝ่ายพลเรือน เพิ่มขึ้นแต่ในเวลาเมื่อยังเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ดังนั้นถือได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของประเทศไทย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นใหม่ และโปรดให้กรมนี้ขึ้นอยู่กับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ มีหน้าที่จัดทำแผนที่ตามชายแดนของประเทศให้เรียบร้อย การที่พระองค์เจ้าดิศวรกุมารได้ทรงมีโอกาสบังคับบัญชากรมแผนที่ ทำให้พระองค์คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศของชาติ และทราบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรับหน้าที่จัดการปกครองในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมพยาบาล และกรมพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเคยเป็นกรมอิสระอยู่ก่อน เข้ากับกรมศึกษาธิการ ยกขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ และทรงแต่งตั้งให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นพระยศในขณะนั้น) เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการคนแรก และเมื่องานราชการดำเนินไปได้ด้วยดี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพย้ายขาดจากตำแหน่งทางทหาร มารับราชการทางฝ่ายพลเรือนด้านเดียวในปี พ.ศ. 2433

พระประวัติเมื่อดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย

เมื่อมีการแก้ไขระเบียบการปกครองแผ่นดินวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่สำคัญสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งนี้สามารถปฏิรูปและวางรากฐานงานของกระทรวงมหาดไทย เพื่อยึดถือเป็นหลักในการขยายกิจการงานปกครอง ออกสู่หัวเมืองต่าง ๆ ภายในราชอาณาจักรต่อไป ซึ่งกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงวางรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

ในปีพ.ศ. 2442 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนกรมหมื่นดำรงราชานุภาพขึ้นเป็นกรมหลวงฯ ดำรงตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ และพระองค์ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตลอดสมัยรัชกาลที่ 5

ในปีพ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ยังททรงวางพระราชหฤทัยให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อไปอีก จนกระทั่งได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2458 เนื่องมาจากเหตุผลด้านสุขภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานที่เป็นภาระหนัก รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งเสนาบดียาวนานถึง 23 ปีเศษ

ในปีพ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ เลื่อนกรมหลวงดำรงราชานุภาพให้มีฐานันดรเป็นกรมพระยาอันเป็นหลักฐานในการประกาศถึงคุณความดีที่ได้ทรงดำเนินกิจการงานปกครองและทำนุบำรุงประชาราษฎร และบ้านเมืองได้ตามพระราชประสงค์อันมาจากการวางรากฐานมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ยังทรงรับราชการในตำแหน่งพิเศษอื่นอีกหลายตำแหน่ง ดังนี้

พ.ศ. 2437 เป็นรัฐมนตรี

พ.ศ. 2438 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 1

พ.ศ. 2439 เป็นสาราณียกรหอพระสมุดวชิรญาณ

พ.ศ. 2440 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 2

พ.ศ. 2443 เป็นกรรมการจัดตั้งหอพุทธสาสนสังคหะ

พ.ศ. 2444 เป็นผู้ได้รับเลือกเข้าเป็นผู้บำรุงราชกรีฑาสโมสร

พ.ศ. 2446 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3

พ.ศ. 2447 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 4 ได้รับเลือกเป็นอนูปถัมภกสยามสมาคม

พ.ศ. 2448 เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญารเมื่อทรงตั้งเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร

พ.ศ. 2451 เป็นกรรมการตรวจกฎหมายลักษณะอาญา

พ.ศ. 2453 เป็นกรรมการสภานายกจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

พ.ศ. 2457 เป็นกรรมการตรวจโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

อนึ่ง พระองค์ทรงมีโอกาสตามเสร็จรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2439 และ 2444 และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2440 และพ.ศ. 2450

ภายหลังพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

เมื่อทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ 7 วัน ก็ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2458 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา เทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ สิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และในปีเดียวกันนั้น ทรงได้รับพระราชทานยศทหารเป็นนายพลเอก ราชองครักษ์พิเศษอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง