วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา

 


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนปัจจุบัน เป็นผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึง 2557 และเคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 และเป็นคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถึง 2562

พลเอกประยุทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ณ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมดสี่คน  

เขาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่เขาเคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 ในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63

พลเอกประยุทธ์ รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ "ทหารเสือราชีนี" มาโดยตลอด โดยเริ่มมาจากตำแหน่งผู้บังคับกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 เขาเป็นสมาชิก "บูรพาพยัคฆ์" ในกองทัพ เช่นเดียวกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

28 เมษายน พ.ศ. 2530 - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เป็น ราชองครักษ์เวร
พ.ศ. 2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 2 รอ.)
พ.ศ. 2541 – ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)
พ.ศ. 2546 – ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.)
พ.ศ. 2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 )

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พลตรีประยุทธ์เป็นผู้รับคำสั่งตรงจากพลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีประยุทธ์ได้เลื่อนชั้นยศเป็น "พลโท" และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ระหว่างวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึง 14 กันยายน พ.ศ. 2551 เขาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบก และต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบกในขณะนั้นจนสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลงนามแต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ถึง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในนายทหารที่ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พลเอกประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 เรื่อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ออกคำสั่งยึด หรือ อายัด สินค้าหรือวัตถุอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คำสั่งดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจนต้องยกเลิกในที่สุด

เขายังเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2554 และในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เขาประกาศกฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร อีก 2 วันต่อมาเขาก่อรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 10/2557 ให้อำนาจเขาเสมือนนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหาร เขาแต่งตั้งตัวเองเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ และเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาจัดรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" รายสัปดาห์

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงมติดังกล่าว ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่ต้องอยู่ในห้องประชุมและไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ ต่อมามีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์เป็นนายทหารอาชีพคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีนับแต่พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 เขายังเป็นผู้นำรัฐประหารคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 เขายกเลิกกฎอัยการศึก จากนั้นเขาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ในการดูแลความสงบเรียบร้อยแทน

หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มีการตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน สมาชิกวุฒิสภาทุกคนเลือกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เช่นเดียวกับมีพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรค

พลเอกประยุทธ์ ได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ตามมติของศาลรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรักษาการแทน


พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา สมรสกับ อดีตรองศาสตราจารย์สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีลูกสาวฝาแฝด 2 คน

ปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารวมสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เขาประกาศรับเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เขาบอกว่าหน้าที่หลักก็คือ ดูแลชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตรย์กษัตริย์ และประชาชน เขาย้ำว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายหลังจากมีบางฝ่ายบิดเบือนทำให้แตกแยก

ปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อายุ 69 ปี 


เลือกตั้งคราวหน้า เรามาดูกันว่าพอเอกประยุทธ์ จันทรโอชาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ หรือใครจะมาแทนที่เขา


******************

 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง