วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ไชยเชษฐ์

 ไชยเชษฐ์ 

นิทานพื้นบ้าน สมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี มีผู้นำนิทานเรื่องนี้มาเล่นเป็นละครเพราะเป็นเรื่องสนุก ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงนำนิทาน เรื่องไชยเชษฐ์มาพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอก เดิมละครนอกเป็นละครที่ราษฎรเล่นกัน ให้ผู้ชายแสดงเป็นตัวละครทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไชยเชษฐ์ เพื่อให้เป็นบทละครนอกของหลวง และทรงให้ผู้หญิงที่เป็นละครหลวงแสดงอย่างละครนอก

เนื้อเรื่อง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วท้าวอภัยนุราชเจ้าเมืองเวสาลี มีพระธิดาองค์หนึ่ง ประทานนามว่า นางจำปาทอง เพราะเมื่อนางร้องไห้จะมีดอกจำปาทองร่วงลงมา ครั้นพระธิดาจำปาทองเจริญวัยขึ้น นางได้นำไข่จระเข้าจากสระในสวนมาฟักจนเป็นตัวและเลี้ยงจระเข้ไว้ในวัง ครั้นจระเข้เติบใหญ่ขึ้น ก็ดุร้ายตามวิสัยของมัน มันเที่ยวไล่กัดชาวเมืองจนชาวเมืองเดือดร้อนไปทั่ว ท้าวอภัยนุราชทรงขัดเคืองพระทัยยิ่งนักจึงขับไล่นางจำปาทองออกจากเมืองเวสาลี นางแมวซึ่งเป็นแมวที่นางจำปาทองเลี้ยงไว้ได้ติดตามนางไปด้วย นางจำปางทองกับนางแมวเดินซัดเซพเนจรอยู่ในป่า จนไปพบยักษ์ตนหนึ่งชื่อ นนทยักษ์ ซึ่งกำลังจะไปเฝ้าท้าวสิงหล นางตกใจกลัวจึงวิ่งหนีไปนางได้พบพระฤๅษีตนหนึ่ง พระฤๅษีจึงช่วยนางไว้ นางจำปาทองกับนางแมวจึงขออาศัยอยู่รับใช้พระฤๅษีในป่านั้น

กล่าวถึงท้าวสิงหลเป็นยักษ์ครองเมืองสิงหล ไม่มีโอรสและธิดา คืนหนึ่งท้าวสิงหลบรรเทาหลับและทรงพระสุบินว่า มียักษ์ตนหนึ่งมาจากป่านำดอกจำปามาถวาย ดอกจำปามีสีเหลือเหมือนทองคำงดงามยิ่งนัก ท้าวสิงหลจึงทรงให้โหรทำนายพระสุบิน โหรทำนายว่าท้าวสิงหลจะได้พระธิดา วันนั้นนนทยักษ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหลและทูลว่าพบหญิงสาวอาศัยอยู่กับพระฤๅษีที่ในป่า ท้าวสิงหลจึงเสด็จไปหาพระฤๅษี และขอนางจำปาทองมาเป็นธิดา ประทานนามว่านางสุวิญชา

ฝ่ายพระไชยเชษฐ์เป็นโอรสเจ้าเมืองเหมันต์ พระไชยเชษฐ์มีพระสนมอยู่ 7 คน วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสป่า และหลงทางเข้าไปในสวนเมืองสิงหล นางสุวิญชา มาเที่ยวชมสวนพบพระไชยเชษฐ์จึงนำความทูลให้ท้าวสิงหลทราบ ท้าวสิงหลให้พระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้า พระไชยเชษฐ์จึงทูลขอรับราชการในเมืองสิงหล ต่อมามีข้าศึกยกทัพมาตีเมืองสิงหล พระไชยเชษฐ์อาสาสู้ศึกจนได้รับชัยชนะ ท้าวสิงหลจึงทรงยกนางสุวิญชาให้เป็นชายาพระไชยเชษฐ์ พระไชยเชษฐ์จึงพานางสุวิญชากลับเมืองเหมันต์

ฝ่ายนางสนมทั้ง 7 คน ต่างก็ริษยานางสุวิญชาที่พระไชยเชษฐ์ทรงรักนางสุวิญชามากกว่าใครๆ นางสนมทั้ง 7 คนก็คิดแต่จะกำจัดนางสุวิญชาอยู่ตลอดเวลา ครั้นนางสุวิญชาทรงครรภ์จวนจะถึงกำหนดคลอดนางสนมทั้ง 7 คน ก็ออกอุบายว่ามีช้างเผือกอยู่ในป่า พระไชยเชษฐ์จึงออกไปคล้องช้างเผือก ฝ่ายนางสุวิญชาคลอดลูกเป็นกุมารมีศรกับพระขรรค์ติดดัวมาด้วย นางสนมทั้ง 7 คน นำพระกุมารใส่หีบไปฝังที่ใต้ต้นไทรในป่า เทวดาประจำต้นไม้ช่วยชีวิตพระกุมารไว้ เมื่อพระไชยเชษฐ์เสด็จกลับจากคล้องช้างเผือก นางสนมทั้ง 7 คน ทูลว่านางสุวิญชาคลอดลูกเป็นท่อนไม้ พระไชยเชษฐ์จึงขับไล่นางสุวิญชาออกจากเมือง ขณะที่นางสุวิญชาคลอดกุมารนั้น นางแมวแอบเห็นการกระทำของนางสนมทั้ง 7 คน จึงพานางสุวิญชาไปขุดหีบที่ใต้ต้นไทร แล้วพาพระกุมารกลับไปยังเมืองสิงหล ท้าวสิงหลตั้งชื่อพระกุมารว่า พระนารายณ์ธิเบศร์

ต่อมาพระไชยเชษฐ์ทรงรู้ความจริงว่านางสุวิญชาถูกใส่ร้าย จึงออกติดตามนางสุวิญชาไปเมืองสิงหลและได้พบกับพระนารายณ์ธิเบศร์ ซึ่งกำลังประพาศป่ากับพระพี่เลี้ยงอยู่ พระไชยเชษฐ์เห็นพระนารายณ์ธิเบศร์เป็นเด็กน่ารัก มีหน้าตาคล้ายพระองค์ก็ทรงนึกรักใคร่เอ็นดู จึงเข้าไปขออุ้มและเอาขนมนมเนยให้ พระนารายณ์ธิเบศร์ไม่ไว้ใจว่าเป็นคนแปลกหน้า จึงไม่ให้จับต้องและไม่ยอมเสวยขนม พระไชยเชษฐ์พยายามเอาอกเอาใจแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ พระนารายณ์ธิเบศร์โกรธพระไชยเชษฐ์มากที่มาจับต้องตัวและจับหัวของพระพี่เลี้ยงของตนจึงใช้ศรธนูหมายจะฆ่าให้ตายแต่ธนูที่ยิงออกไปนั้นกลับกลายเป็นดอกไม้กระจายเติมพื้นดิน จึงทำให้พระไชยเชษฐ์เกิดความประหลายใจยิ่งนัก จึงอธิฐานจิตว่าถ้ากุมารองค์นี้เป็นลูกของตนที่เกิดกับนางสุวิญชาขอให้ธนูที่ยิงออกไปนั้นกลายเป็นอาหาร ทันใดนั้นพระไชยเชษฐ์ก็แผลงศรออกไป และศรธนุที่ยิงออกไปนั้นก็กลายเป็นอาหารมากมายเต็มพื้น จึงทำให้พระไชยเชษฐ์มั่นใจเป็นแน่แท้ว่าเป็นโอรสของตนจริงๆ

พระไชยเชษฐ์ทรงไต่ถามพระนารายณ์ธิเบศร์เกี่ยวกับมารดา เพราะทรงจำแหวนที่พระนารายณ์ธิเบศร์สวมได้ พระนารายณ์ธิเบศร์บอกว่านางสุวิญชาเป็นแม่และท้าวสิงหลเป็นพ่อ พระไชยเชษฐ์จึงทรงเล่าเรื่องเดิมให้พระนารายณ์ธิเบศร์ฟัง ทั้งสองจึงทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน พระนารายณ์ธิเบศร์จึงพาพระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหล 

พระไชยเชษฐ์ขอโทษนางสุวิญชาที่ทรงขับไล่นางเพราะหลงเขื่อคำของนางสนมทั้ง 7 แต่นางสุวิญชาไม่ยอมคืนดีด้วย พระนารายณ์ธิเบศร์จึงช่วยทูลนางสุวิญชาให้หายโกรธพระบิดา นางสุวิญชาจึงใจอ่อนยอมยกโทษให้ 
พระไชยเชษฐ์ นางสุวิญชา และพระนารายณ์ธิเบศร์ สามคนพ่อแม่ลูกจึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง