วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ พ.ศ.2312 - 2339

 

ล้านนาแยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม 

นับตั้งแต่การเสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พระเจ้าบุเรงนองในพ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี ในพ.ศ. 2312 สะโตมังถาง หรือโป่มะยุง่วน มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมัยการปกครองของโป่มะยุง่วนเป็นสมัยแห่งการกดขี่ พม่ามีคำสั่งให้ชายชาวล้านนาทั้งปวงสักขาดำตามแบบพม่า และหญิงล้านนาให้เจาะหูแบบพม่า เรียกว่า “สักขาถ่างหู” พญาจ่าบ้าน (บุญมา) แห่งเชียงใหม่ และนายกาวิละ บุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วเจ้าเมืองลำปาง เกิดความขัดแย้งกับโป่มะยุง่วน ในเรื่องที่โป่มะยุง่วนลิดรอนอำนาจของขุนนางล้านนาพื้นเมืองเดิม พญาจ่าบ้านและนายกาวิละไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามังระแห่งพม่าราชวงศ์โก้นบองที่กรุงอังวะ เพื่อร้องเรียนการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของโป่มะยุง่วน พระเจ้ามังระพระราชทานท้องตราให้แก่พญาจ่าบ้านมายังเมืองเชียงใหม่ มีพระราชโองการให้โป่มะยุง่วนคืนอำนาจให้แก่ขุนนางล้านนา แต่โป่มะยุง่วนไม่รับท้องตรา ยกทัพมาจับกุมตัวพญาจ่าบ้าน (บุญมา) จึงเกิดการปะทะกันระหว่างพญาจ่าบ้านและโป่มะยุง่วนขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ พญาจ่าบ้านสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปหาโปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) ที่เมืองหลวงพระบาง โปสุพลาจึงนำพญาจ่าบ้านกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่

ในพ.ศ. 2317 โปสุพลาเตรียมการยกทัพพม่าจากเชียงใหม่ลงมาโจมตีธนบุรี พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และนายกาวิละแห่งลำปางมีความคิดที่จะเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม พญาจ่าบ้านขออาสาต่อโปสุพลาไปขุดลอกเส้นทางแม่น้ำปิงเพื่อเตรียมการให้ทัพเรือพม่ายกลงไป เมื่อพญาจ่าบ้าน (บุญมา) เดินทางลงไปถึงเมืองฮอด ก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองตาก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่สองในพ.ศ. 2317 เจ้าพระยาจักรียกทัพไปถึงเมืองลำปาง นายกาวิละจึงลุกฮือขึ้นสังหารขุนนางและทหารพม่าในลำปางไปจนเกือบหมดสิ้น นายกาวิละนำทางทัพของเจ้าพระยาจักรีไปถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์สามารถเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ นับตั้งแต่นั้นหัวเมืองล้านนาได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ จึงแยกตัวจากพม่ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในขณะที่หัวเมืองล้านนาฝ่ายเหนือได้แก่เชียงแสน เชียงราย ฝาง พะเยา ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนายกาวิละขึ้นเป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงแสนจึงกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าในดินแดนล้านนา

ในพ.ศ. 2318 พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ปรากฏว่าในเวลานั้น พระเจ้าจิงกูจา  แห่งพม่าส่งทัพจำนวนถึง 90,000 คน มาเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังพลไม่เพียงต่อการป้องกันเมืองเชียงใหม่ จึงละทิ้งเมืองเชียงใหม่ถอยไปอยู่ที่เมืองตาก ทัพพม่ายกไปตีเมืองลำปาง พระยากาวิละต้านทานทัพพม่าไม่ได้เช่นกัน จึงทิ้งเมืองลำปางลงใต้ไปอยู่ที่เมืองสวรรคโลก จากนั้นทัพพม่าจึงกลับไป พระยากาวิละกลับมาครองเมืองลำปาง ในพ.ศ. 2319 พระยากาวิละส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองทางเหนือต่อล้านนาต่าง ๆให้เป็นกบฏแยกตัวจากพม่า เจ้าฟ้าเมืองยอง เจ้าเมืองฝาง และพระยาแพร่มังไชยซึ่งถูกจับกุมตัวไปไว้ที่เชียงแสนตั้งแต่สงครามเก้าทัพ จึงลุกฮือขึ้นก่อกบฏต่อพม่า  ในปีต่อมาพระยาวิเชียรปราการพยายามที่จะรื้อฟื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ เดินทางไปธนบุรีแล้วกลับขึ้นมาใหม่โยกย้ายไปมาหลายแห่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีท้องตราเรียกตัวพระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ลงมาสอบสวนที่ธนบุรี พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ถูกจำคุกถึงแก่กรรมในคุกนั้น นับแต่นั้นมาเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองรกร้างปราศจากผู้คนป่าขึ้นทึบสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ บ้านเมืองล้านนาโดยรวมตกอยู่ในสภาพ “บ้านห่าง นาห่าง บ้านอุก เมืองรก ไพทางใต้ค็กลัวเสือไพทางเหนือค็กลัวช้าง บ้านเมืองบ่หมั่นบ่เที่ยง”    

สงครามกับพม่า

พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้นายน้อยธรรมน้องชายของพระยากาวิละเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ แต่ในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างยังไม่สามารถตั้งเมืองอยู่ได้ พระยากาวิละจึงมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซาง (หรือป่าช้าง) เพื่อรวบรวมผู้คนไปตั้งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปางและเวียงป่าซางของพระยากาวิละกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของล้านนาและสยามในการต้านทานการรุกรานของพม่า ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 เจ้าชายปะกันแมงสะโดสิริมหาอุจนาพระอนุชาของพระเจ้าปดุงยกทัพหัวเมืองไทใหญ่มาที่เมืองเชียงแสน เจ้าชายสะโดสิริมหาอุจนาและธาปะระกามะนี (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) ยกทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนจำนวน 30,000 คน เข้าโจมตีและล้อมเมืองลำปาง นำไปสู่การล้อมเมืองลำปาง นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังยกทัพไปตีเมืองแพร่จับกุมตัวพระยาแพร่มังไชยเจ้าเมืองแพร่กลับไปเป็นเชลย พญากาวิละรักษาเมืองลำปางอยู่ได้เกือบสามเดือน ทางฝ่ายกรุงเทพฯ จึงส่งทัพขึ้นมานำโดยพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ช่วยเหลือขับไล่พม่าให้พ้นไปจากเมืองลำปางได้สำเร็จใน พ.ศ. 2329 กองทัพพม่าถอยทัพกลับไป แต่ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน

ต่อมาในพ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงส่งทัพมาปราบเมืองฝางได้ และตั้งทัพที่เมืองฝางเตรียมเข้ารุกรานลำปางต่อไป ธาปะระกามะนีนำกองทัพเข้ามาสมทบก่อนกลับเมืองเชียงแสน เจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่านเข้าขอสวามิภักดิ์ต่อสยาม พระยาแพร่มังไชยอยู่ที่เมืองยองร่วมมือกับเจ้าฟ้ากองเมืองยอง ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนีหลบหนีไปเมืองเชียงราย พระยาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายจับตัวธาปะระกามะนีส่งให้แก่พระยากาวิละ พระยากาวิละจึงส่งตัวธาปะระกามะนีลงมาที่กรุงเทพฯ  ฝ่ายพม่าตีเมืองเชียงแสนคืนไปได้และยกทัพจากเชียงแสนและเมืองฝาง เข้าโจมตีเมืองลำปางและยกมาทางเมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง) เข้าตีเมืองป่าซาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองลำปาง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสามารถขับทัพพม่าออกไปจากลำปางได้สำเร็จ หลังจากที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองร้างเป็นเวลาประมาณสิบเอ็ดปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้ตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งให้เรียบร้อย เพื่อเป็นเมืองสำหรับการรับศึกพม่าทางเหนือ ให้พระยากาวิละรวบรวมผู้คนจากลำปางมาตั้งเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละยังคงอยู่ที่เวียงป่าซางอยู่จนถึง พ.ศ. 2339 จึงเข้าครองเมืองเชียงใหม่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง