วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พลเอก สุจินดา คราประยูร

 พลเอก สุจินดา คราประยูร 



นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย เป็นนายทหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ประวัติ 

พลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2476 ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเล็กของจวง กับสมพงษ์ คราประยูร มีพี่สาวสองคน โดยครอบครัวเป็นข้าราชการกรมรถไฟ สมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร (สกุลเดิม หนุนภักดี)

การศึกษา 

พลเอก สุจินดา คราประยูร เข้ารับการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนปิยะวิทยา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเศก หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปีที่ 4 – 5 ที่จังหวัดหนองคาย เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงต้องย้ายไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดหนองคาย ต่อมาได้กลับเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จาก (โรงเรียนวัดราชบพิธ) แล้วได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์จนจบมัธยมปีที่ 8 สอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้เพียงปีเดียวก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่นได้แก่ พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล พันเอก ณรงค์ กิตติขจร พลเอก ศัลย์ ศรีเพ็ญ หลักสูตรเวสท์ปอยต์ รุ่นที่ 5 ตามลำดับ ต่อมาได้ศึกษาต่อจนจบหลักสูตรผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่จากฟอร์ทซิลส์ (Fort Sill’s) รัฐโอคลาโฮม่า (Oklahoma) ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จหลักสูตรเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 44 เป็นอันดับที่ 1 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกาจากฟอร์ดลีเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth)

รับราชการทหาร 

พลเอก สุจินดา เริ่มเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้รับพระราชทานยศ ว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 

 ได้ประจำกองร้อย กรมนักเรียนโรงเรียนทหารปืนใหญ่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ต่อมารักษาราชการ ผู้ช่วยนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองบังคับการทหารปืนใหญ่ กองพลที่ 4

พ.ศ. 2502 รักษาราชการนายทหารสื่อสาร กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 และรับพระราชทานยศร้อยตรี

พ.ศ. 2503 รักษาราชการผู้บังคับกองร้อยบังคับการและบริการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21

พ.ศ. 2504 รับพระราชทานยศร้อยโท

พ.ศ. 2505 ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 และรับพระราชทานยศร้อยเอก

พ.ศ. 2507 ครูกองการศึกษา โรงเรียนทหารปืนใหญ่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่

พ.ศ. 2510 รักษาราชการอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และรับพระราชทานยศพันตรี

พ.ศ. 2512 - 2513 ราชการสงครามเวียดนาม ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

พ.ศ. 2514 รองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และรับพระราชทานยศพันโท

พ.ศ. 2517 หัวหน้าแผนกกรมข่าวทหารบก

พ.ศ. 2518 รักษาราชการนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกรมข่าวทหารบกและรับพระราชทานยศพันเอก

พ.ศ. 2522 หัวหน้ากอง กรมข่าวทหารบก

พ.ศ. 2524 รองเจ้ากรมยุทธการทหารบก

พ.ศ. 2526 นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ศ. 2525 เจ้ากรมยุทธการทหารบก ราชองครักษ์เวร และรับพระราชทานยศพลตรี

พ.ศ. 2528 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ และรับพระราชทานยศพลโท ราชองครักษ์เวร ต่อมาเป็นราชองครักษ์พิเศษ

พ.ศ. 2529 รองเสนาธิการทหารบก

พ.ศ. 2530 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรับพระราชทานยศพลเอก

พ.ศ. 2532 รองผู้บัญชาการทหารบก นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ต่อมาเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบ ที่ 2 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ กองพันที่ 21 รักษาพระองค์ และนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กองพันที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ศ. 2533 ผู้บัญชาการทหารบก

พ.ศ. 2534 ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อจากพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ที่เกษียณอายุราชการ

พลเอก สุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น พรรคร่วม 5 พรรคประกาศสนับสนุนณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ พลเอก สุจินดา ได้แต่งตั้ง พลเอก อิสรพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 48 ของรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ

 

ภายหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ยุติบทบาทการดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและการให้คำแนะนำทางด้านการเมือง การปกครอง และการปฏิวัติรัฐประหารในยุคต่อ ๆ มาจากประสบการณ์ตรง และในวันที่ 6 สิงหาคม ของทุกปี พลเอก สุจินดา คราประยูร จะเปิดบ้านให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าและนักธุรกิจเข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ณ บ้านพักซอยระนอง 2 พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์และตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประเทศไทย


รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 47 วัน

ปัจจุบันอายุ 88 ปี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง