วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ตำนานรัก วังบัวบาน

ตำนานรักวังบัวบานแห่งน้ำตกห้วยแก้ว

เพลง วังบัวบาน


ร้อนลมหน้าแล้ง 
ใบไม้แห้งร่วงลอย
หล่นทยอยเกลื่อนตา 
ไหลตามกระแสน้ำพา 
ลอยมาทั้งกลีบดอกไม้ 
จากหุบผาไหลมาสู่ในวังน้ำ 
สุสานเทวีผู้มีความช้ำ เหนือใคร 
ดอกไม้ใบไม้ไหลมา
คล้ายพวงหรีดร้อยมาลา 
ไหลมาบูชาบัวบาน
น้ำวังนี้หนอ 
เป็นที่ก่อเหตุการณ์ 
ที่บัวบานฝังกาย 
ยึดเอาเป็นหอเรือนตาย 
รองกายไว้ด้วยแผ่นน้ำ 
จากหุบเขาแนวไพรสู่ในเวียงฟ้า 
ฝากไว้เพียงชื่อเลื่องลือเนิ่นช้า 
ฝังจำฝากคำสัตย์นำนึกตรอง
หลงทางสุดหวังคืนครอง 
หลงตัวจำต้องลาระทม
เอาวังน้ำไหลเย็น 
นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม
เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม 
เป็นเสียงประโลมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย
 
***

"บัวบาน" มีตำนานเล่าขานถึง 4-5 เรื่อง 
จึงไม่แน่ใจว่าเป็น"บัวบาน"ไหนที่ถูกต้อง แต่ทั้งหมดก็คือที่มาของ “วังบัวบาน” วังน้ำที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูงบริเวณเหนือน้ำตกห้วยแก้ว อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ วังน้ำนี้เดิมเรียกว่า "วังคูลวา" หรือ "วังกุลา" ตามเรื่องเล่าถึง"คูลวา-กุลา" ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่งพลัดตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ ซึ่งคำว่า "คูลวา-กุลา" ในภาษาล้านนาหมายถึงแขกหรือฝรั่งชาวต่างชาติซึ่งถือว่าไม่เป็นที่พึงต้อนรับ
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดี บันทึกไว้ว่า วังน้ำแห่งนี้ เปลี่ยนชื่อ เป็น"วังบัวบาน" เมื่อ พ.ศ.2497 เมื่อมีเหตุหญิงสาวชื่อ "บัวบาน" ตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ อุดม รุ่งเรืองศรี ได้เขียนถึง"บัวบาน"ไว้ในเวบ lannaworld ถึงการเสียชีวิตว่ามีทั้งเชื่อว่าอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และถูกฆาตรกรรม แต่ทุกตำนาน มีเรื่องที่เหมือนกัน นั่นคือ"บูชารัก" โดยกล่าวถึงที่มาของทั้งหมดจาก 4-5 ที่มา ศิริพงษ์ ศรีโกศัย นักจัดรายการวิทยุที่ใช้นามแฝงว่า"ย่าบุญ" เล่าเรื่อง"บัวบาน"เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ว่าที่ตั้งบ้านของบัวบาน ปัจจุบันอยู่ฟากถนนตรงกันข้ามกับอาคารอำนวยการหลังเก่าของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่

บัวบาน เป็นครูสอนในโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนซินเซิง โรงเรียนฮั่วเคี้ยวและโรงเรียนฮั่วเอง มีคนรักเป็นนายทหารรักษาพระองค์ ต่อมา ครูบัวบานถูกทหารคนดังกล่าวสลัดรัก ทำให้เจ้าตัวเสียใจมากและได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในวังน้ำแห่งนั้น
ขณะที่ เจ้าบุญศรี ณ เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ตุลาคม 2541 โดยยืนยันว่า บ้านของครูบัวบานที่ศิริพงษ์กล่าวมานั้นถูกต้อง แต่ข้อมูลที่แตกต่างกันก็คือ ครูบัวบานเป็นคนสวยที่ถูกกล่าวขานทั้งล้านนา ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2482-2488)
เจ้าบุญศรีเล่าวว่า ครูบัวบาน สอนที่โรงเรียนวัดฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง เชียงใหม่ และในช่วงสงครามนั้น ก็มีทหารหน่วยราบจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งฐานทัพที่วัดฟ้าฮ่าม นายทหารหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อครูบัวบานคนสวย ก็สนิทสนมและคยหาเป็นคู่รักกัน ต่อมา นายร้อยตรีผู้นั้น ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ แต่ได้สัญญากับครูบัวบานว่าจะขึ้นมาแต่งงานกัน แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะนายทหารหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ระหว่างที่รอ ครูบัวบานที่เริ่มตั้งท้องก่อนนายทหารหนุ่มกลับกรุงเทพฯก็เริ่มครรภ์โตมากขึ้น และเมื่อรู้ความจริงว่าเธอถูกหลอก ครูสาวคนสวยจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำตาย

อย่างไรก็ตาม ในบทความชื่อ "วังบัวบาน" ของสมาน ไชยวัณณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร "คนเมือง ฉบับดำหัว" ฉบับต้อนรับสงกรานต์ 2511 กลับชี้ว่า ครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ โดยบทความดังกล่าว ได้อ้างเอาคำสารภาพก่อนตายของอดีตครูประชาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรักของครูบัวบาน ผู้เขียนบทความกล่าวว่า ตนรู้จักกับครูบัวบานเป็นอย่างดี โดยครูบัวบาน เกิดมาในครอบครัวของผู้มีชื่อเสียงดี ฐานะดี จบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อในตัวเมืองเชียงใหม่ และมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับครูประชาบาลคนหนึ่ง บังเอิญครูประชาบาลหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว สมานเขียนในบทความนี้ว่า วันหนึ่ง ครูประชาบาลคนรักเก่าของครูบัวบานป่วยหนักอยู่ในบ้านกลางเมืองเชียงใหม่ เจ้าตัวก็ได้สารภาพกับภรรยา บุตรและญาติสนิทว่า ตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูบัวบาน ทั้งๆที่ตนก็มีภรรยาอยู่แล้ว จากนั้น เมื่อครูบัวบานตั้งครรภ์ ก็ได้นัดครูประชาบาลคนรักไปตกลงกันในที่ปลอดคนแห่งหนึ่งบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว ครูบัวบานรู้เรื่องครอบครัวของแฟนหนุ่ม แต่ได้ขอให้เขาจัดวานแต่งกับตนเพื่อมิให้เป็นที่ละอายแก่ชาวบ้าน และเพื่อลูก หลังเจรจาพูดคุยกันอยู่พักหนึ่ง ครูหนุ่มก็บอกว่าตนไม่อาจด่วนทำอะไรลงไปได้ เพราะมีลูกเมียอยู่แล้ว ครูบัวบานไม่อาจทนฟังต่อไปได้ จึงผละจากแล้ววิ่งหนีไปโดยระมัดระวัง จนเกิดอุบัติเหตุตกจากหน้าผาลงสู่ "วังคูลวา-กุลา" สมานเขียนด้วยว่า ผลกรรมที่ทำให้ครูบัวบานเสียชีวิต ทำให้ครูหนุ่มคนนั้นต้องกลายเป็นอัมพาต เพราะเกิดพายุใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้มะพร้าวต้นหนึ่งล้มฟาดลงมาทับหลังของครูประชาบาลผู้นั้นจนหลังหักและกลายเป็นอัมพาต เจ้าตัวจึงยอมเปิดปากสารภาพกับสมาน และย้ำว่าครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ

แต่ในวิทยานพินธ์ปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณ-กรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2531 ของสุธาทิพย์ สว่างผล กลับเป็นอีกเรื่อง โดยสุธาทิพย์อ้างอิงจากนิทานพื้นบ้านไทย ของ วสันต์ ปัณฑวงศ์ พ.ศ.2522 ที่กล่าวถึงครูบัวบาน ว่ามีปลัดอำเภอหนุ่ม รักกับลูกสาวคหบดีชื่อบัวบาน และได้หมั้นหมายกันไว้โดยที่ไม่มีผู้ใดขัดข้อง แต่อุปสรรครักก็มี เพราะปลัดอำเภอเป็นทาสการพนันทุกชนิด จนติดหนี้ติดสินไปทั่วเมือง และทำผิดด้วยการยักยอกเงินของทางราชการไปใช้หนี้และเล่นการพนัน ต่อมา ปลัดหนุ่มคนนั้น ได้ขอเงินจากบัวบานว่าจะไปใช้หนี้ราชการ แต่กลับนำไปเล่นการพนันอีกจนหมด เมื่อหมดตัว ลัดอำเภอหนุ่มก็ได้นัดบัวบานไปสารภาพผิดที่หน้าผา แต่ทั้งคู่กลับทะเลาะกันอย่างรุนแรง ทำให้บัวบานทนไม่ได้ จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย
สุธาทิพย์ สว่างผล ได้ไปสัมภาษณ์คนที่สนิทกับครอบครัวของครูบัวบานผู้หนึ่ง คือนางอรุณ หมู่ละสุคนธ์ เลขที่ 130 ถนนแก้วนวรัฐ อ.เมือง เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 นางอรุณเล่าว่า บัวบานและหนุ่มชาวภาคกลาง รักกันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และเมื่อเกิดเรื่อง บัวบานเสียชีวิตชายหนุ่มก็หายหน้าไป ทำให้ญาติของบัวบานคิดว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ผู้เล่าเห็นว่าน่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือบัวบานกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายมากกว่า
ทั้งหลายทั้งหมดคือความอาภัพรักของ"บัวบาน" สิ่งที่เหมือนกันในทุกเรื่องก็คือ บัวบานเป็นสาวสวยและผิดหวังในความรัก ก่อนจะเสียชีวิตที่"วังบัวบาน" จากเรื่องราวดังกล่าว มีเรื่องเล่าต่อว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ได้นำเรื่องนี้มาแต่งเป็นคำกลอนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โดยใช้นามปากกา"เลิศ ลานนา" (มีคนกล่าวว่าเป็นนามปากกาของบุญเลิศ พิงค์พราวดี) บ้างก็ว่าภิกษุที่แต่งกลอนนั้น เป็นพระอยู่ที่วัดดอยสุเทพ ต่อมา "สนิท ส." (สนิท สิริวิสูตร) นักแต่งเพลงชาวเชียงใหม่ ก็ได้นำบทกลอนดังกล่าวมาปรับปรุงให้เป็นเพลง คือเพลง"วังบัวบาน" โดยให้ อรุณ หงสวีณ แต่งทำนอง และ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง อัดแผ่นเสียง  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง