วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๑ กำเนิดขุนช้างขุนแผน

 

ขุนช้างขุนแผน 
เป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทย เค้าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวสยามในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง จนนักภาษาศาสตร์ นามวิลเลี่ยม เก็ดนี่ย์ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามักคิดบ่อยๆว่า หากความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเกิดสูญหายไปหมด ทุกอย่างอาจจะถูกสร้างขึ้นมาได้ใหม่ จากข้อเขียนที่อัศจรรย์นี้"
เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ถูกสันนิษฐานว่าเป็นการแต่งขึ้นร้องแบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) เพื่อความบันเทิง ในลักษณะเดียวกับมหากาพย์ของยุโรป อย่างเช่นของโฮเมอร์ โดยคงจะเริ่มแต่งตั้งแต่ราวอยุธยาตอนกลาง (ราว พ.ศ. 2143) และมีการเพิ่มเติม หรือตัดทอนเรื่อยมา จนมีรายละเอียดและความยาวอย่างที่สืบทอดกันอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงไว้เป็นกิจลักษณะ เนื่องจากบุคคลชั้นสูงสมัยนั้นเห็นว่าเป็นกลอนชาวบ้าน ที่มีเนื้อหาบางตอนหยาบโลน และไม่มีการใช้ฉันทลักษณ์อย่างวิจิตร ดังนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายในปี พ.ศ. 2310 จึงไม่มีต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนเหลืออยู่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความนิยมสูงในหมู่ชาวไทย จึงมีผู้ที่จำเนื้อหาได้อยู่มาก และทำให้ถูกฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก
สำหรับเนื้อหาของขุนช้างขุนแผนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนพระองค์เองร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ขี้นเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา และได้รับประทับราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ไว้เป็นเครื่องหมายของการยกย่องนั้นด้วย
หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านกันเล่น เพื่อได้รับรสวรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจเท่านั้น หากแต่บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานที่ให้ความรู้ในเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมกับที่มีคำกล่าวว่า วรรณคดีเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบด้วย....(ตัดตอนส่วนหนึ่งจากคำนำของกรมศิลปากรที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์บรรณาคารจัดพิมพ์ขึ้นจำหน่าย ในการพิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2513).....
วรรณกรรมไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2553 โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย และนายคริส เบเกอร์ 

เรื่องย่อ

ล่าวถึงกำเนิดของตัวละครสำคัญสามตัว คือ ขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลย 

พลายแก้วเป็นลูกของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี เมื่อบิดาถูกสมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ประหารชีวิต เพราะความผิดที่ได้ฆ่ากระบือเป็นจำนวนมากหน้าพระที่นั่ง เนื่องจากกระบือแตกตื่นขวิดผู้คน เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเพื่อล่ากระบือ มารดาจึงพาไปอยู่กับญาติที่เมืองกาญจนบุรี 

ขุนช้างเป็นลูกของขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง บิดาถูกโจรฆ่าตาย 

นางพิมเป็นลูกของพันศรโยธากับนางศรีประจัน บิดาเป็นไข้ป่าถึงแก่ความตาย

ทั้งพลายแก้ว ขุนช้าง และนางพิมเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก 

พลายแก้วได้บวชเป็นสามเณรและ เล่าเรียนวิชาที่กาญจนบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่วัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ 

ส่วนขุนช้างแต่งงานกับนางแก่นแก้วได้ปีกว่าภรรยาก็ตาย 

นางพิมพบกับเณรแก้วที่วัดเมื่อคราวไปทำบุญกับมารดา ต่างก็จำกันได้จึงมีจิตผูกรักต่อกัน 

ต่อมาได้นางสายทองพี่เลี้ยงของนางพิมเป็นสื่อนัดแนะ จนเณรแก้วได้เสียกับนางพิม และได้นาง สายทองด้วยเมื่อถูกสมภารให้ออกจากวัดป่าเลไลยก์ ก็ไปอยู่กับสมภารคงวัดแค และได้เล่าเรียนวิชาทางไสยศาสตร์หลายอย่าง ต่อมาเมื่อทราบว่าขุนช้างได้มาสู่ขอนางพิม เณรแก้วจึงลาอาจารย์สึกแล้วให้มารดาสู่ขอนางพิมและแต่งงานกันตามประเพณีเมื่อเกิดศึกเชียงใหม่ยกมาตีเมืองเชียงทอง อันเป็นอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาทรงทราบถึงความสามารถของพลายแก้ว ก็รับสั่งให้เข้าเฝ้า และแต่งตั้งให้แม่ทัพไปรบที่เชียงทอง จนตีเมือง เชียงทองได้ชัยชนะ แล้วยกทัพตามทัพเชียงใหม่ไปถึงลำพูน ตั้งค่ายที่บ้านจอมทอง 

แสนคำแมนได้ยกนาง ลาวทองให้เป็นภริยา หลังจากพลายแก้วไปแล้วไม่นาน นางพิมได้ล้มป่วย เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นวันทองจึงหายป่วย 

ขุนช้างซึ่งยังต้องการนางเป็นภริยาได้ใช้อุบายต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าพลายแก้วตายแล้ว และอ้างว่าเมื่อสามีไปทัพตายภรรยาจะถูกริบเป็นม่ายหลวง ประกอบทั้งถูกมารดาบังคับเฆี่ยนตี นางวันทองจึงเข้าพิธีแต่งงานกับขุนช้าง แต่ยังรออยู่ไม่ยอมร่วมหอ

              ฝ่ายพลายแก้ว เมื่อมีชัยชนะกลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน คุมไพร่พลห้าร้อยมีหน้าที่รักษาเขตแดนทางเมืองกาญจนบุรี เมื่อเดินทางมาสุพรรณบุรีทราบเรื่องจากนางวันทอง ก็มีความโกรธจะฆ่าขุนช้าง แต่นางลาวทองซึ่งมากับขุนแผนด้วยได้ห้ามไว้ นางวันทองกับนางลาวทองเกิดทะเลาะกันด้วยความหึงหวง เป็นเหตุให้นางวันทองกล่าวถ้อยคำก้าวร้าวขุนแผน ขุนแผนโกรธถึงกับจะฆ่านางวันทองพร้อมทั้งแสดงอาการไม่ไยดี พานางลาวทองไปอยู่กาญจนบุรี 

นางวันทองคิดว่าขุนแผนสิ้นรักนางแล้วจึงยอมเป็นภริยาขุนช้าง

 ต่อมาขุนแผนลอบขึ้นเรือนขุนช้าง ใช้มนต์สะกดผู้คนในเรือนแล้วเข้าห้อง เห็นขุนช้างนอนอยู่กับนางวันทองก็โกรธ จึงมัดขุนช้างกับนางวันทองติดกัน แล้วให้ตามผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาให้รับรู้ พร้อมแจ้งให้กำนันทราบแล้วก็กลับไป ต่อมามีรับสั่งให้ขุนแผนเข้าไปฝึกหัดราชการที่กรุศรีอยุธยา พอถึงเวรขุนแผน บังเอิญนางลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนฝากเวรไว้กับขุนช้างซึ่งได้รับราชการอยู่ด้วยกัน แล้วออกไปเผ้าไข้ นางลาวทอง เมื่อสมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการไม่เห็นขุนแผนก็รับสั่งถามถึง ขุนช้างคิดกำจัดขุนแผน จึงทูลว่าขุนแผนละทิ้งหน้าที่ไปหาภริยาจึงทรงกริ้ว สั่งลงโทษขุนแผนให้ออกตระเวนอยู่ตามชายแดน ห้ามเข้ามาในกรุงและกักขังนางลาวทองไว้ในพระราชวัง ขุนแผนเมื่อทราบความจริง จึงผูกพยาบาทขุนช้าง ขณะเดียวกันก็แสวงหาของวิเศษที่ทำให้มีฤทธิ์มาก คือกุมารทอง ดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอก โดยได้ฝากตัวอยู่กับหมื่นหาญซึ่งเป็นนายซ่องโจรได้นาง บัวคลี่ ลูกสาวหมื่นหาญเป็นภริยา ต่อมาหมื่นหาญไม่พอใจที่ขุนแผนไม่ยอมออกปล้น จึงคิดกำจัดเสีย โดยให้นางบัวคลี่วางยาพิษ แต่พรายได้กระซิบให้ขุนแผนรู้ ขุนแผนจึงฆ่าบัวคลี่ ควักเอาลูกในท้องไปทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง เมื่อกลับมากาญจนบุรีก็ทำพิธีตีดาบตามตำรามหาศาสตราคม ให้ชื่อว่าดาบฟ้าฟื้น แล้วเดินทางไปแสวงหาม้าสีหมอกตามตำราที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อได้แล้วก็เดินทางกลับกาญจนบุรี

                ต่อมาขุนแผนคิดถึงนางวันทองจึงเดินทางไปสุพรรณบุรี ขึ้นเรือนขุนช้างในเวลากลางคืน สะกดผู้คนให้หลับแล้วเดินหาห้องนางวันทอง พบนางแก้วกิริยาบุตรีพระยาสุโขทัยซึ่งบิดานำมาขายให้ขุนช้าง ได้เป็นภริยาแล้วมอบเงินให้ไว้ไถ่ตัว ขุนแผนได้พานางวันทองหนีไปจากบ้านขุนช้าง ชุนช้างพาพวกพ้องติดตามไปทันในป่าแต่สู้ขุนแผนไม่ได้ จึงเข้ากราบทูลกล่าวโทษขุนแผนต่อพระพันวษา พระพันวษาจึงมีหมายรับสั่งให้จับขุนแผนกับนางวันทองส่งมากรุงศรีอยุธยา ขุนแผนพานางวันทองซึ่งกำลังมีครรภ์ เข้ามอบตัวต่อเจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรทำใบบอกส่งตัวขุนแผนกับนางวันทองเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา นางแก้วกิริยาซึ่งได้ไถ่ตัวเป็นอิสระแล้ว ได้พบขุนแผนกับนางวันทองซึ่งถูกจองจำโซ่ตรวนระหว่างถูกส่งตัวเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ชำระคดีระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง คณะตุลาการตัดสินให้ขุนแผนชนะคดีและได้นางวันทองคืนไป
            เมื่อขุนแผนชนะความแล้วไม่นานก็คิดถึงนางลาวทอง ซึ่งถูกกักขังอยู่ จึงขอให้จมื่นศรีเสาวรักษ์ ผู้ที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วยทูลขออภัยโทษให้นางลาวทอง พอกราบทูล พระพันวษาทรงกริ้วมากสั่งให้เอาขุนแผนไปจองจำไว้ นางแก้วกิริยาได้เข้าไปปรนนิบัติขุนแผนอยู่ในคุก ส่วนนางวันทองถูกขุนช้างกับบ่าวไพร่มาฉุดคร่าไปสุพรรณบุรี นางจึงอยู่กับขุนช้างจนคลอดบุตรให้ชื่อว่า พลายงามขุนช้างคิดกำจัดพลายงามอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้ว่าเป็นลูกขุนแผน เมื่อพลายงามอายุ 10 ขวบ ขุนช้างได้ลวงพลายงามไปป่าเพื่อฆ่าให้ตาย แต่ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ นางวันทองให้พลายงามเดินทางไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี นางทองประศรีได้เลี้ยงดูพลายงาม และพาไปเยี่ยมขุนแผนในคุก นางได้สั่งสอนคาถาอาคมต่าง ๆ ตามตำราของขุนแผนให้จนแก่กล้าเหมือนขุนแผน พออายุได้ 13 ปี พลายงามก็มาอยู่กับ จมื่นศรีฯ เพื่อให้พาเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

ต่อมาเกิดศึกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากพระเจ้าล้านช้างได้ส่งนางสร้อยทองราชธิดามาถวายสมเด็จพระพันวษา และพระเจ้าเชียงใหม่ได้มาชิงนางสร้อยทองไปในระหว่างทาง สมเด็จพระพันวษาโปรดโปรดให้หาผู้อาสายกทัพไปรบ จมื่นศรีฯได้นำพลายงามเข้าอาสา ทรงโปรดให้พลายงามยกทัพไปพร้อมกับพระราชทานอภัยโทษให้ขุนแผนและนางลาวทอง โปรดให้ขุนแผนไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ด้วย ก่อนไปขุนแผนให้รับนางทองประศรีมาอยู่กับนางลาวทองและนางแก้วกิริยาในกรุงศรีอยุธยา ตอนขุนแผนกรีธาทัพไปตีเชียงใหม่นางแก้วกิริยาก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า พลายชุมพล

            ระหว่างเดินทัพไปตีเชียงใหม่ ขุนแผนได้แวะเยี่ยมเจ้าเมืองพิจิตร และรับม้าสีหมอก ซึ่งฝากไว้เมื่อคราวเข้ามอบตัวด้วย พลายงามได้สู้รบกับทัพเมืองเชียงใหม่จนได้ชัยชนะ ได้นางสร้อยทองคืน ในการยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ขุนแผนได้นำพระเจ้าเชียงใหม่ มเหสี และนางสร้อยฟ้าผู้เป็นธิดาลงมาด้วย สมเด็จพระพันวษาทรงแต่งตั้งให้ขุนแผนเป็นพระสุรินทรฦาไชย ครองเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลายงามให้เป็นจมื่นไวยวรนาถ ให้พระเจ้าเชียงใหม่กลับไปครองเมืองเช่นเดิม ทรงแต่งตั้งนางสร้อยทองให้เป็นพระสนม และพระราชทานสร้อยฟ้าแก่จมื่นไวย ฯ ซึ่งได้แต่งงานกับนางสร้อยฟ้าและศรีมาลาพร้อมกัน

             ในวันแต่งงาน ขุนช้างซึ่งมาในงานด้วยได้ดื่มเหล้าจนเมาแล้วเกิดทะเลาะกัน จมื่นไวย ฯ บันดาลโทสะทำร้ายขุนช้าง ต่อมาขุนช้างเข้าเฝ้ากราบทูลกล่าวโทษจมื่นไวย ฯ เมื่อมีการสืบเรื่องที่ขุนช้างทำร้ายจมื่นไวย ฯ สมัยเมื่อเป็นเด็กขึ้น ขุนช้างปฏิเสธ จึงมีการพิสูจน์โดยการดำน้ำก็ปรากฏว่าขุนช้างแพ้ รับสั่งให้ประหารชีวิตขุนช้าง แต่จมื่นไวย ฯ ได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ต่อมาจมื่นไวย ฯ คิดแค้นที่แม่ไปอยู่กับขุนช้าง จึงลอบขึ้นเรือนขุนช้างกลางดึก อ้อนวอนและบังคับนางวันทองไปกับตน นางไม่อาจขัดขืนได้ก็ยอมไป ขุนช้างแค้นเคืองมากที่จมื่นไวยฯ ลักนางวันทองไป จึงทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกากล่าวโทษจมื่นไวยฯ เมื่อโปรดให้ไต่สวนคดีตามฎีกาของขุนช้าง ให้นางวันทองซึ่งเป็นคนกลางตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับขุนช้าง ขุนแผน หรือจมื่นไวย ฯ นางทูลตอบว่ารักทั้ง 3 คนเท่า ๆ กัน สมเด็จพระพันวษาทรงกริ้วหาว่าเป็นคนสองใจ จึงรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิต แม้ว่าจมื่นไวยฯ ได้กลับไปเข้าเฝ้าทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และทรงโปรดพระราชทานก็ตาม แต่เพชฌฆาตได้ลงดาบก่อนที่จะยับยั้งไว้ทัน นางวันทองจึงถูกประหารชีวิต

ฝ่ายนางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลา ภริยาของจมื่นไวย ฯ มีเรื่องทะเลาะ
วิวาทกันด้วยความหึงหวงอยู่เสมอ เนื่องจากหมื่นไวย ฯ รักนางศรีมาลา

มากกว่า นางสร้อยฟ้าจึงให้เถรขวาดทำเสน่ห์เพื่อจมื่นไวย ฯ จะได้หลงรัก จมื่นไวย ฯ หลงเสน่ห์จนถึงกับทุบตีนางศรีมาลา และพลายชุมพลได้เข้าขัดขวาง พลายชุมพลจึงหนีไปพบพ่อและแม่ที่กาญจนบุรี เล่าเรื่องจมื่นไวย ฯ ให้พ่อแม่ฟัง แล้วไปอยู่กับตายายที่สุโขทัย ฝ่ายขุนแผนก็มากรุงศรีอยุธยาเพื่อแก้เสน่ห์ ส่วนนางศรีมาลาก็แจ้งข่าวไปเมืองพิจิตรว่าตนป่วย ให้พ่อกับแม่รีบลงมา เมื่อทุกคนมาพร้อมกันก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ซ้ำขุนแผนกลับทะเลาะกับจมื่นไวย ฯ ถึงขนาดตัดพ่อตัดลูก จนต้องเดินทางกลับกาญจนบุรีด้วยความแค้น
             พลายชุมพลเมื่อไปอยู่กับตายายที่สุโขทัยก็บวชเป็นเณร ได้เล่าเรียนหนังสือและวิชาคาถาอาคมจนเชี่ยวชาญ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ตนหนีมาก็แค้นใจมาก จึงได้นัดหมายกับขุนแผนจะไปล้างแค้นจมื่นไวย ฯ จึงสึกจากเณรแล้วปลอมตัวเป็นมอญใหม่ คุมทัพหุ่นยกมาทำทีจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ขุนแผนยกไปต่อสู้ ขุนแผนทำเป็นแพ้ให้พลายชุมพลจับตัวไป จมื่นไวย ฯ อาสาออกรบเดินทัพมาพบเปรตนางวันทองห้ามทัพไว้แต่ไม่สำเร็จ เมื่อจมื่นไวย ฯ กับพลายชุมพลรบติดพันกันอยู่ ขุนแผนเข้ามาจะฟันจมื่นไวย ฯ จมื่นไวย ฯ จึงหนีเข้ามากราบทูลให้สมเด็จพระวษาทรงทราบ จึงโปรดให้นางศรีมาลาไปรับขุนแผนและพลายชุมพลเข้ามา ขุนแผนกราบทูลเรื่องจมื่นไวย ฯ ถูกเสน่ห์ พลายชุมพลกับจมื่นไวยฯ อาสาไปจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวนำของมึนเมาไปมอมเถรขวาด จนรู้รายละเอียดแล้วจึงจับเถรขวาดขังไว้ แต่เถรขวาดก็สะเดาะโซ่ตรวน แปลงตัวเป็นจระเข้หนีไปได้
               เมื่อโปรดให้มีการไต่สวนคดีทำเสน่ห์ โดยให้นางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลาลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นางสร้อยฟ้าเป็นฝ่ายแพ้ จึงโปรดให้ประหารชีวิตนางสร้อยฟ้า แต่นางศรีมาลาทูลขอพระราชทานชีวิตไว้ เพราะนางสร้อยฟ้ากำลังมีครรภ์ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยา นางสร้อยฟ้าจึงเดินทางไปเชียงใหม่ พบเถรขวาดระหว่างทาง จึงเดินทางไปด้วยกัน ต่อมานางคลอดบุตรให้ชื่อว่าพลายยงพงศ์นพรัตน์ ฝ่ายนางศรีมาลาก็คลอดลูกเป็นชายเช่นกัน ขุนแผนตั้งชื่อให้ว่า พลายเพชร ฝ่ายเถรขวาดซึ่งได้เป็นสังฆราชเชียงใหม่คิดจะแก้แค้นพลายชุมพล จึงแปลงตัวเป็นจระเข้อาละวาดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ถูกพลายชุมพลจับได้ และถูกลงโทษประหารชีวิต แล้วพลายชุมพลได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงนายฤทธิ์มหาดเล็กรักษาพระองค์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง