นิราศภูเขาทอง ได้รับยกย่องว่าเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมที่สุดของท่านสุนทรภู่ ท่านแต่งเรื่องนี้ เมื่อครั้งเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าไปในราวปี พ.ศ.๒๓๗๑ หลังจากเกิดมีเรื่องมีราวที่วัดราชบูรณะฯ ขณะนั้นท่าน มีอายุราว ๔๒ ปี
นิราศเรื่องนี้ไม่ยาวนัก แต่พร้อมไปด้วยกระบวนกลอนอันไพเราะ และแง่คิดสำหรับการดำรงชีวิต อาจเป็นด้วยท่านสุนทรภู่ได้บวชมาหลายพรรษาแล้ว และได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น เส้นทางเดินทางจะคล้ายกับนิราศ พระบาท เพราะออกจากพระนครทวนแม่น้ำขึ้นไปทางเหนือ ขอให้สังเกตความเปรียบเทียบในนิราศภูเขาทองกับนิราศพระบาท ซึ่งท่านแต่งขึ้นเมื่อรุ่นหนุ่มอายุเพียง ๒๑ ปีว่า ท่านสุนทรภู่คิดเห็นสุขุมขึ้นอย่างไร
นอกจากนี้ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตไปหลายปีแล้วก็ตาม แต่ความจงรักภักดีของท่านสุนทรภู่ ในพระองค์ก็มิได้เสื่อมคลายไปแม้แต่น้อย ด้วยท่านยังคร่ำครวญรำพันถึงพระองค์อยู่ตลอดการเดินทางในนิราศเรื่องนี้
๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา | ||
รับกฐินภิญโญโมทนา | ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย | |
ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส | เมื่อตรุษสารทพระพรรษาได้อาศัย | |
สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย | มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น | |
โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร | แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น | |
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น | เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง | |
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง | ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง | |
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง | มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร ฯ | |
๏ ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด | คิดถึงบาทบพิตรอดิศร | |
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร | แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น | |
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด | ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ | |
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น | ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา | |
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย | ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา | |
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา | ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป ฯ |
๏ | ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง | คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล |
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย | แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง | |
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ | เคยรับราชโองการอ่านฉลอง | |
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง | มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา | |
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ | ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา | |
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา | วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ | |
๏ | ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ | ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล |
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล | ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์ฯ | |
ถึงอารามนามวัดประโคนปัก | ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน | |
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน | มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา | |
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย | แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา | |
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา | อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง | |
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ | แพประจำจอดรายเขาขายของ | |
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง | ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ | |
๏ | ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง | มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา |
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา | ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย | |
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ | สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย | |
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย | ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป | |
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก | สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน | |
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป | แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ | |
๏ | ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง | มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน |
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน | จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง | |
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง | เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง | |
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง | ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน | |
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์ | ร่มนิโรธรุกขมูลให้พูนผล | |
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล | ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ | |
๏ | ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง | มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย |
ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย | พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง | |
จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน | ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง | |
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง | พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืนฯ | |
๏ | โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ | มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น |
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน | ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา | |
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง | เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา | |
เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา | พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน | |
ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเป็นเกลียวกลอก | กลับกระฉอกฉาดฉันฉวัดเฉวียน | |
บ้างพลุ่งพลุ่งวุ้งวงเหมือนกงเกวียน | ดูเปลี่ยนเปลี่ยนคว้างคว้างเป็นหว่างวน | |
ทั้งหัวท้ายกรายแจวกระชากจ้วง | ครรไลล่วงเลยทางมากลางหน | |
โอ้เรือพ้นวนมาในสาชล | ใจยังวนหวังสวาทไม่คลาดคลาฯ | |
๏ | ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง | สองฟากฝั่งก็แต่ล้วนสวนพฤกษา |
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา | เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ | |
เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง | ทั้งรักแซงแซมสวาทประหลาดเหลือ | |
เหมือนโศกพี่ที่ระกำก็ซ้ำเจือ | เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย | |
ถึงแขวงนนท์ชลมารคตลาดขวัญ | มีพ่วงแพแพรพรรณเขาค้าขาย | |
ทั้งของสวนล้วนแต่เรือเรียงราย | พวกหญิงชายชุมกันทุกวันคืนฯ | |
๏ | มาถึงบางธรณีทวีโศก | ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น |
โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น | ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร | |
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ | ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย | |
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ | เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ | |
๏ | ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า | ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา |
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา | ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย | |
โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง | เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย | |
นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ | ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิดฯ | |
๏ | ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ | มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต |
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร | จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ | |
๏ | ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน | จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา |
ขอให้สมคะเนเถิดเทวา | จะได้ผาสุกสวัสดิ์จำกัดภัย | |
ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด | บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้ | |
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน | อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา | |
ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก | สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา | |
เป็นล่วงพ้นรนราคราคา | ถึงนางฟ้าจะมาให้ไม่ไยดีฯ | |
๏ | ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า | พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี | ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว | |
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง | แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว | |
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว | ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ | |
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ | ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย | |
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด | ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี | |
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง | อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี | |
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี | ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมาฯ | |
๏ | ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่งิ้วละลิ่วสูง | ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา |
ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา | นึกก็น่ากลัวหนามขามขามใจ | |
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม | ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว | |
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย | ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง | |
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว | ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง | |
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง | เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไรฯ | |
๏ | โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด | ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว |
ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ | ถึงเกาะใหญ่ราชครามพอยามเย็น | |
ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง | ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ | |
เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น | เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอาฯ | |
๏ | พระสุริยงลงลับพยับฝน | ดูมัวมนมืดมิดทุกทิศา |
ถึงทางลัดตัดทางมากลางนา | ทั้งแฝกคาแขมกกขึ้นรกเรี้ยว | |
เป็นเงาง้ำน้ำเจิ่งดูเวิ้งว้าง | ทั้งกว้างขวางขวัญหายไม่วายเหลียว | |
เห็นดุ่มดุ่มหนุ่มสาวเสียงกราวเกรียว | ล้วนเรือเพรียวพร้อมหน้าพวกปลาเลย | |
เขาถ่อคล่องว่องไวไปเป็นยืด | เรือเราฝืดเฝือมานิจจาเอ๋ย | |
ต้องถ่อค้ำร่ำไปทั้งไม่เคย | ประเดี๋ยวเสยสวบตรงเข้าพงรก | |
กลับถอยหลังรั้งรอเฝ้าถ่อถอน | เรือขย่อนโยกโยนกระโถนหก | |
เงียบสงัดสัตว์ป่าคณานก | น้ำค้างตกพร่างพรายพระพายพัด | |
ไม่เห็นคลองต้องค้างอยู่กลางทุ่ง | พอหยุดยุงฉู่ชุมมารุมกัด | |
เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกายเหมือนทรายซัด | ต้องนั่งปัดแปะไปมิได้นอนฯ | |
๏ | แสนวิตกอกเอ๋ยมาอ้างว้าง | ในทุ่งกว้างเห็นแต่แขมแซมสลอน |
จนดึกดาวพราวพร่างกลางอัมพร | กาเรียนร่อนร้องก้องเมื่อสองยาม | |
ทั้งกบเขียดเกรียดกรีดจังหรีดเรื่อย | พระพายเฉื่อยฉิวฉิววะหวิวหวาม | |
วังเวงจิตคิดคะนึงรำพึงความ | ถึงเมื่อยามยังอุดมโสมนัส | |
สำรวลกับเพื่อนรักสะพรักพร้อม | อยู่แวดล้อมหลายคนปรนนิบัติ | |
โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด | ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย | |
จนเดือนเด่นเห็นกอกระจับจอก | ระดะดอกบัวเผื่อนเมื่อเดือนหงาย | |
เห็นร่องน้ำลำคลองทั้งสองฝ่าย | ข้างหน้าท้ายถ่อมาในสาคร | |
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันเห็นพันธุ์ผัก | ดูน่ารักบรรจงส่งเกสร | |
เหล่าบัวเผื่อนแลสล้างริมทางจร | ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา | |
สายติ่งแกมแซมสลับต้นตับเต่า | เป็นเหล่าเหล่าแลรายทั้งซ้ายขวา | |
กระจับจอกดอกบัวบานผกา | ดาษดาดูขาวดั่งดาวพราย | |
โอ้เช่นนี้สีกาได้มาเห็น | จะลงเล่นกลางทุ่งเหมือนมุ่งหมาย | |
ที่มีเรือน้อยน้อยจะลอยพาย | เที่ยวถอนสายบัวผันสันตวา | |
ถึงตัวเราเล่าถ้ายังมีโยมหญิง | ไหนจะนิ่งดูดายอายบุปผา | |
คงจะใช้ให้ศิษย์ที่ติดมา | อุตส่าห์หาเอาไปฝากตามยากจน | |
นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ | ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน | |
พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน | ถึงตำบลกรุงเก่ายิ่งเศร้าใจฯ | |
๏ | มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง | คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล |
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย | ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน | |
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก | อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล | |
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร | จะต้องม้วนหน้ากลับอัปประมาณฯ | |
๏ | มาจอดท่าหน้าวัดพระเมรุข้าม | ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน |
บ้างขึ้นล่องร้องลำเล่นสำราญ | ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง | |
บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ | ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง | |
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง | เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู | |
อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก | ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู | |
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู | จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอนฯ | |
๏ | ได้ฟังเล่นต่างต่างที่ข้างวัด | จนสงัดเงียบหลับลงกับหมอน |
ประมาณสามยามคล้ำในอัมพร | อ้ายโจรจรจู่จ้วงเข้าล้วงเรือ | |
นาวาเอียงเสียงกุกลุกขึ้นร้อง | มันดำล่องน้ำไปช่างไวเหลือ | |
ไม่เห็นหน้าสานุศิษย์ที่ชิดเชื้อ | เหมือนเนื้อเบื้อบ้าเคอะดูเซอะซะ | |
แต่หนูพัดจัดแจงจุดเทียนส่อง | ไม่เสียของขาวเหลืองเครื่องอัฏฐะ | |
ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ | ชัยชนะมารได้ดังใจปองฯ | |
๏ | ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ | เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง |
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง | ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย | |
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น | เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส | |
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได | คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน | |
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด | ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น | |
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน | เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม | |
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น | ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม | |
ประทักษิณจินตนาพยายาม | ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์ | |
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย | ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน | |
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์ | แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก | |
ทั้งองค์ฐานราญร้าวถึงเก้าแสก | เผลอแยกยอดสุดก็หลุดหัก | |
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก | เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น | |
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ | จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น | |
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น | คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้นฯ | |
๏ | ขอเดชะพระเจดีย์คีรีมาศ | บรรจุธาตุที่ตั้งนรังสรรค์ |
ข้าอุตส่าห์มาเคารพอภิวันท์ | เป็นอนันต์อานิสงส์ดำรงกาย | |
จะเกิดชาติใดใดในมนุษย์ | ให้บริสุทธิ์สมจิตที่คิดหมาย | |
ทั้งทุกข์โศกโรคภัยอย่าใกล้กราย | แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงศ์ | |
ทั้งโลโภโทโสแลโมหะ | ให้ชนะใจได้อย่าใหลหลง | |
ขอฟุ้งเฟื่องเรืองวิชาปัญญายง | ทั้งให้ทรงศีลขันธ์ในสันดาน | |
อีกสองสิ่งหญิงร้ายแลชายชั่ว | อย่าเมามัวหมายรักสมัครสมาน | |
ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ | ตราบนิพพานภาคหน้าให้ถาวรฯ | |
๏ | พอกราบพระปะดอกปทุมชาติ | พบพระธาตุสถิตในเกสร |
สมถวิลยินดีชุลีกร | ประคองซ้อนเชิญองค์ลงนาวา | |
กับหนูพัดมัสการสำเร็จแล้ว | ใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้เกศา | |
มานอนกรุงรุ่งขึ้นจะบูชา | ไม่ปะตาตันอกยิ่งตกใจ | |
แสนเสียดายหมายจะชมบรมธาตุ | ใจจะขาดคิดมาน้ำตาไหล | |
โอ้บุญน้อยลอยลับครรไลไกล | เสียน้ำใจเจียนจะดิ้นสิ้นชีวัน | |
สุดจะอยู่ดูอื่นไม่ฝืนโศก | กำเริบโรคร้อนฤทัยเฝ้าใฝ่ฝัน | |
พอตรู่ตรู่สุริย์ฉายขึ้นพรายพรรณ | ให้ล่องวันหนึ่งมาถึงธานีฯ | |
๏ | ประทับท่าหน้าอรุณอารามหลวง | ค่อยสร่างทรวงทรงศีลพระชินสีห์ |
นิราศเรื่องเมืองเก่าของเรานี้ | ไว้เป็นที่โสมนัสทัศนา | |
ด้วยได้ไปเคารพพระพุทธรูป | ทั้งสถูปบรมธาตุพระศาสนา | |
เป็นนิสัยไว้เหมือนเตือนศรัทธา | ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ | |
ใช่จะมีที่รักสมัครมาด | แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย | |
ซึ่งครวญคร่ำทำทีพิรี้พิไร | ตามนิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา | |
เหมือนแม่ครัวคั่วแกงแพนงผัด | สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา | |
อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา | ต้องโรยน่าเสียสักหน่อยอร่อยใจฯ | |
จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น | อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน | |
นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ | จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอยฯ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น