วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร



ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ชื่อเล่น ปู เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ด้วยวัย 44 ปีถือเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่อายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเพื่อไทย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม

ยิ่งลักษณ์เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 

ยิ่งลักษณ์เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายเลิศ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และนางยินดี ชินวัตร ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าจันทร์ทิพย์ ระมิงค์วงศ์ (หลานตาของเจ้าไชยสงคราม สมพมิตร ณ เชียงใหม่ ซึ่งสืบเชื้อสายจากพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระเจ้านครเชียงใหม่) 

ยิ่งลักษณ์มีพี่น้อง 10 คน ซึ่งรวมถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, เยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ, เยาวภา วงศ์สวัสดิ์, และพายัพ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นน้องสะใภ้ของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเยาวภาผู้เป็นพี่สาว

ยิ่งลักษณ์เป็นหลานอาของสุเจตน์ ชินวัตร อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และสุรพันธ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยพลเอก ชัยสิทธิ์เป็นบุตรชายของพันเอกพิเศษ ศักดิ์ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชายคนโตของเลิศ ยิ่งลักษณ์ยังเป็นญาติของพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านทางคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาของทักษิณอีกด้วย

การศึกษา

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย 

มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 

สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต 

ต่อมา เป็นผู้บริหารในธุรกิจที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ผู้เป็นพี่ชาย ก่อตั้งขึ้น 

ภายหลัง ยิ่งลักษณ์ได้เป็นประธานบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ดร.ทักษิณ เสนอชื่อยิ่งลักษณ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา จากนั้น ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554


ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

ยิ่งลักษณ์สมรสกับอนุสรณ์ อมรฉัตร อดีตผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็มลิงก์เอเชียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยมีธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานในพิธีมงคลสมรส[9] แต่มิได้จดทะเบียนสมรส[10] โดยมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนคือ ศุภเสกข์ อมรฉัตร (ชื่อเล่น: ไปค์)


อาชีพธุรกิจ

เมื่อปี พ.ศ. 2534 ยิ่งลักษณ์เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเทเลอินโฟมีเดีย จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลและการสื่อสาร ในตำแหน่งพนักงานฝึกหัดด้านการตลาดและการขาย 

หลังจากนั้นในปีเดียวกัน เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ จนกระทั่งสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตในเวลาต่อมา 

จากนั้น พ.ศ. 2537 จึงมาเป็นผู้จัดการทั่วไป ของบริษัทเรนโบว์ มีเดีย ซึ่งเดิมเป็นแผนกงานโฆษณา ของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอบีซี; ปัจจุบันคือทรูวิชั่นส์) โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากไอบีซีคือรองกรรมการผู้อำนวยการ 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2545 เข้าสู่แวดวงธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์และการสื่อสาร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น โดยขึ้นถึงประธานกรรมการบริหารบริษัทเป็นตำแหน่งสุดท้าย

หลังจากสกุลชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ให้แก่เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยิ่งลักษณ์ก็ลาออกจากตำแหน่งในเอไอเอส โดยก่อนหน้านั้น เธอขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 เพื่อไปบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือ บริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวชินวัตรโดยตรง ด้วยการเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ดูแลพอร์ตการลงทุนพัฒนาที่ดินทั้งหมดแทนบุษบา ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549 และยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในยุคที่ดร.ทักษิณเป็นประธานสโมสรฯ 

นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ของวุฒิสภา  

บทบาททางการเมือง

พรรคเพื่อไทย

เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ในราวปลายปี พ.ศ. 2551 และหลังจากนั้นก็มี ส.ส.กับสมาชิกพรรคจำนวนมาก ย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ก็เป็นทางเลือกแรกของ ดร.ทักษิณ ที่จะให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 

อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธโดยกล่าวว่า ตนไม่เคยต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี และเพียงแต่สนใจจะทำธุรกิจของตนเท่านั้น โดยเธอจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นบางครั้ง เฉพาะเมื่อทางพรรคส่งจดหมายเชิญเท่านั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จึงได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแทน 

ปลายปี พ.ศ. 2553 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ แสดงเจตจำนงว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ท่ามกลางภาวะคาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งอย่างกะทันหันในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 ยิ่งเพิ่มการโต้เถียงภายในพรรค เกี่ยวกับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตัวเต็งคือยิ่งลักษณ์กับมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลผสม ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ยังคงไม่ยอมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยย้ำว่าเธอต้องการมุ่งความสนใจไปยังการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตามเธอได้รับการหนุนหลังจากนักการเมืองอาวุโส  

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกยิ่งลักษณ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 3 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม เธอมิได้เป็นหัวหน้าพรรค และมิได้เข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นของดร.ทักษิณ โดยเขาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า "เธอเป็นโคลนของผม" และ "เธอสามารถตอบ 'ใช่' หรือ 'ไม่' ในนามของผมได้"

ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

ผลการหยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้งชี้ว่า พรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลาย โดยคาดว่าจะได้สูงถึง 310 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 

ผลอย่างเป็นทางการออกมาว่า พรรคเพื่อไทยได้ 265 ที่นั่ง โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75.03% มีบัตรเสียจำนวน 3 ล้านบัตร  

ยิ่งลักษณ์จัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว กับพรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) พรรคมหาชน (1 ที่นั่ง) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) รวมแล้วมี 300 ที่นั่ง

 รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณกล่าวว่า เขายอมรับผลการเลือกตั้ง และหลังจากที่พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว จะไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง ด้านผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโดยปกติแล้วจะให้สัมภาษณ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ใด ๆ

สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 296 ต่อ 3 (งดออกเสียง 197 ไม่เข้าประชุม 4) เลือกยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 

และมีการจัดเตรียมพิธีรับพระบรมราชโองการไว้พร้อมแล้ว ณ อาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน แต่จากนั้นให้หลังอีกสามวัน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีลงมา ในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม ทว่าประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม 

จากนั้นยิ่งลักษณ์จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 10 สิงหาคม

นักวิจารณ์รีบชี้ให้ความขาดประสบการณ์การเมืองของยิ่งลักษณ์ โดยว่า เหตุผลหลักที่เธอได้ตำแหน่งเพราะเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท. ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งแนะว่า บทบาทหลักของเธอคือเพื่อผนึกกำลังผู้ภักดีต่อทักษิณ คือ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งชนบทยากจนเป็นหลักผู้รักษาเขาในอำนาจ แล้วทำหน้าที่เป็นผู้แทนโดยเขาปกครองจากโพ้นทะเล

การทูต

ยิ่งลักษณ์เดินทางเยือนต่างประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี 36 ประเทศ เข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ 21 ครั้ง

พ.ศ. 2554  หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อุทกภัยลุกลามจากภาคเหนือ ไปยังที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางอย่างรวดเร็ว และจนถึงต้นเดือนตุลาคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด อุทกภัยในประเทศไทยครั้งนี้ นับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 50 ปี ยิ่งลักษณ์จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนกลาง ราวกลางเดือนตุลาคม และออกตรวจเยี่ยมจังหวัดที่ประสบภัย ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม ยิ่งลักษณ์ยังให้สัญญาว่า จะลงทุนในโครงการป้องกันอุทกภัยระยะยาว รวมทั้งการก่อสร้างคลองระบายน้ำ มาตรการลดอุทกภัยถูกขัดขวาง โดยการพิพาทระหว่างประชาชน จากสองฝั่งของกำแพงกั้นน้ำ โดยฝั่งที่ถูกน้ำท่วมเข้าทำลายกำแพงกั้นน้ำในหลายกรณี และบางครั้งส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้นำทหาร เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจแก่ทหารมากขึ้น ในการรับมือกับปัญหาการทำลายกำแพงกั้นน้ำ ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่าไม่ช่วยให้การจัดการอุทกภัยดีขึ้น เธอประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และออกประกาศให้พื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลมากขึ้น ในการจัดการการควบคุมอุทกภัยและการระบายน้ำแทน อย่างไรก็ตามเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติเนื่องจากพื้นที่ใดเมื่อเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจะได้รับเงินและงบประมาณลงไปในการช่วยเหลือพื้นที่นั้น

การคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

นับแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน  ซึ่งเดิมวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นผู้เสนอร่าง แต่ภายหลังมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ นำโดยประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการ และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จนมีการคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ การคัดค้านดังกล่าวยังมีนิสิต-นักศึกษา นักวิชาการบางส่วน พนักงานเอกชน และนักแสดงส่วนหนึ่ง ทั้งในการชุมนุมต่าง ๆ และในเครือข่ายสังคม โดยนัดหมายให้เปลี่ยนภาพอวตาร ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นตามรูปแบบของป้ายจราจรทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีดำ มีข้อความว่า "คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" คนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คัดค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้ใช้อำนาจบริหารและเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น ซึ่งออกและรับคำสั่งให้ใช้กระสุนจริงกับประชาชน อาทิ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง

หลังจากนั้น นส.ยิ่งลักษณ์นายกรัฐมนตรีประกาศว่า สภาผู้แทนราษฎรลงมติถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการปรองดองแห่งชาติอีก 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระทั้งหมดแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ยุติการชุมนุม ด้านสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำเวทีราชดำเนิน ประกาศว่าจะชุมนุมต่อ จนกว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ถอนร่างเอง

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้จัดเวทีชุมนุมที่ลานอเนกประสงค์หลังสนามฟุตบอลเอสซีจี เมืองทองธานี ในวันที่ 10 พฤศจิกายน เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ได้กล่าวว่า "การชุมนุมวันนี้มีคนเสื้อแดงกทม. ปริมณฑล และในภาคกลาง เดินทางมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก อาทิ จ.นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี และสมุทรปราการ ทั้งนี้ แกนนำนปช.และพรรคเพื่อไทยได้ประสานความร่วมมือกันเดินสายจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและต่อต้านการล้มประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐบาล"

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของวุฒิสภานั้น มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ร้องขอให้ประธานวุฒิสภา นิคม ไวยรัชพานิช เลื่อนประชุมเป็นวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนจากเดิมวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อลงมติถอนร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวให้ตกไปโดยเร็ว อันจะเป็นการลดความตึงเครียด ของสถานการณ์บ้านเมือง แต่กลุ่ม 40 ส.ว. ไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน แล้วรวมตัวกันอยู่ภายในห้องประชุมเล็ก อาคารรัฐสภา 2 โดยอ้างมติคณะกรรมการประสานงาน (วิป) วุฒิสภา ที่กำหนดให้มีการประชุม ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน แม้ประธานวุฒิสภา และสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่หนึ่ง จะเข้าเจรจาให้ร่วมการประชุมแล้วก็ตาม ซึ่งสมชาย แสวงการ สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ได้อ้างว่า ไม่พอใจการเลื่อนนัดวันประชุม โดยเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้เป็นเวลา 180 วัน ก่อนจะส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หลังช่วงที่การเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพนานสองปี จนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ประกาศทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาขอยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะรัฐมนตรีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

การสอบสวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง พ.ศ. 2557

ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ยิ่งลักษณ์กำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนบทบาทในโครงการรับจำนำข้าวหลังดำเนินคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเป็นทางการกับรัฐมนตรีสองคน ป.ป.ช. จะตรวจสอบดูว่าเธอประมาทในฐานะประธาน กขช. หรือไม่ แม้เป็นประธานคณะกรรมการฯ แต่ยิ่งลักษณ์ยอมรับในการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2556 ว่า เธอไม่เคยร่วมการประชุมของ กขช.

วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ฟ้องคดีอาญายิ่งลักษณ์ในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าชาวนาหลายล้านคนยังไม่ได้เงิน

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิเสธการเพิ่มหลักฐาน 72 ชิ้นในคดีรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ มีกำหนดการนั่งพิจารณาคดีถอดถอนจากตำแหน่งครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม 2558[68] มีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 9 คน[69]

วันที่ 23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลให้เธอถูกห้ามเล่นการเมืองห้าปี นอกจากนี้ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาต่อโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอีกหากพบว่ามีความผิด หลังมีมติดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ถูกห้ามแถลงข่าว

ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

รวมดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ปี 275 วัน

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี  

แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 15 วัน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติรัฐประหาร จึงทำให้นิวัฒน์ธำรงและคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง


หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

   วันที่ 19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 และไต่สวนนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560

วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีดังกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีหกเดือน รวม 26 นัดไต่สวนโดยไม่เคยขาดแม้แต่นัดเดียว ด้วยความมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำตามข้อกล่าวหาและไม่เคยได้รับการไต่สวนภายใต้หลักนิติธรรมจากป.ป.ช. และอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ ความตอนหนึ่งว่า

"ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ ให้กับชาวนา"

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฯ นัดอ่านคำพิพากษา แต่ยิ่งลักษณ์ไม่มาศาลฯ จึงมีการออกหมายจับและริบเงินประกัน 30 ล้านบาท มีรายงานว่ายิ่งลักษณ์หลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนวันนัด มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 27 กันยายน 2560 อัตราโทษของยิ่งลักษณ์อาจมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีและถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดชีวิต ในวันที่ 26 สิงหาคม 2560 สมาชิกอาวุโสพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เธอหลบหนีออกนอกประเทศไปดูไบตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ศาลฯ มีคำสั่งออกหมายจับยิ่งลักษณ์ วันเดียวกันมีการอ่านคำพิพากษาในคดีระบายข้าวจีทูจี ว่า จำเลยมีความผิดฐานทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐปลอม โดยศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยให้จำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปีฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต

ในเดือนเมษายน 2564 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วมูลค่า 49.5 ล้านบาท แต่ศาลพิเคราะห์ว่าหน่วยงานทั้งสองไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง จึงไม่ต้องรับผิด


ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร อายุ 54 ปี


 

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย  อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 9 สมัยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า "มาร์ค" เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เขามีเชื้อสายจีนฮั่น จากฮกเกี้ยน บิดาชื่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ มารดาชื่อ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ

ภิสิทธิ์ เป็นบุตรชายคนเดียว ในจำนวนบุตร 3 คน ของศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สดใส เวชชาชีวะ มีพี่สาว คือ ศาสตราจารย์ อลิสา วัชรสินธุ แพทย์ และงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนและนักแปล

เมื่อยังมีอายุไม่ถึงหนึ่งปี ครอบครัวเวชชาชีวะได้เดินทางกลับประเทศไทย 

การศึกษา

อภิสิทธิ์ได้เข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร 

ระดับประถมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

จากนั้นได้ย้ายกลับประเทศอังกฤษเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเอกชน ระดับเตรียมอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของลอนดอน 

ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมืองและ เศรษฐศาสตร์ (philosophy, politics and economics, PPE) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในสาขาวิชานี้ ต่อจากพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล)

หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อภิสิทธิ์เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ระหว่างปี พ.ศ. 2530–2531 และได้รับการแต่งตั้งยศร้อยตรีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 

ก่อนจะลาออกจากราชการกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอีกครั้ง ปริญญานิพนธ์ของอภิสิทธิ์ได้รับการยอมรับในระดับดีมาก โดยเทียบได้กับเกียรตินิยมอันดับ 1 

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

หลังจากนั้นยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจนสำเร็จปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในปี พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า

ต้นปี พ.ศ. 2549 อภิสิทธิ์ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากการใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 

และต้นปี พ.ศ. 2554 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเมือง

อภิสิทธิ์ เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงให้กับพิชัย รัตตกุล ในเขตคลองเตย ช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมาเมืองไทย ต่อมาได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ 

และได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี ซึ่งนับว่าเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น และเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง ท่ามกลางกระแส "มหาจำลองฟีเวอร์" กับการเป็นนักการเมือง "หน้าใหม่" ที่เพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 อภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมปราศรัยและคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก สุจินดา คราประยูร ที่ สนามหลวง และลานพระบรมรูปทรงม้า ในฐานะนักวิชาการ และตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในครั้งนั้นประกาศไม่เข้าร่วมรัฐบาลสุจินดา คราประยูร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลงานทางการเมืองที่สำคัญ คือการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่ดำเนินการจัดทำจนสำเร็จในช่วงเวลาที่อภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อมอบสิทธิแก่เยาวชนไทยในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 43 โดยอภิสิทธิ์มีบทบาทดูแลทั้งด้านนโยบาย หลักการและรายละเอียด รวมทั้งผลักดันให้ผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา และได้ดูแลจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษาประกาศใช้

ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตกรรมการการศึกษาแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยให้ความเห็นไว้ว่า อภิสิทธิ์เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของ พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการปฏิรูปการศึกษาของไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง

หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากบัญญัติ บรรทัดฐาน ตั้งแต่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย คนที่ 7 หลังแพ้การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2548 และมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี และได้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ทำการรัฐประหารโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

อภิสิทธิ์ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังแพ้การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2550 ให้กับสมัคร สุนทรเวช และต่อมาในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา 


จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังศารัฐธรรมนูญ 

ยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล เพราะนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึงมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และเนื่องจากนายยงยุทธเป็นกรรมการบริหารพรรค จึงถือว่าพรรคผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 สรุปความได้ว่าการซื้อเสียงดังกล่าว ถือว่าพรรคพลังประชาชนกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิชอบ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งบทลงโทษของพรรคการเมืองที่ผิดมาตรานี้คือต้องถูกยุบพรรค เพราะการซื้อเสียงถือเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี 

จึงทำให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

ต่อมาได้มีการโหวตในสภาโดยฝั่งอดีตพรรคพลังประชาชนได้ส่งตัวแทนคือ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เข้ามาเป็นตัวแทน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ส่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลการโหวตปรากฏว่าฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ชนะเนื่องจากมี ส.ส.บางส่วนของอดีตพรรคพลังประชาชนโหวตสวนมติพรรคจึงทำให้นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะชนะการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในวัย 44 ปี 

อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงวิกฤตการณ์การเงินโลก และความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น 

รัฐบาลอภิสิทธิ์เผชิญการประท้วงใหญ่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 

 ในปี พ.ศ. 2552 ระหว่างเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามสังหาร ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นความพยายามฆ่านายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ต้องหาจำนวน 20 ราย

และเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์ดำเนินโครงการปรองดองเพื่อสืบสวนเหตุสลายการชุมนุม แต่การทำงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกลับถูกทหารและหน่วยงานของรัฐขัดขวาง กองทัพไทยปะทะกับกัมพูชาหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. 2552−2553 ซึ่งเป็นการสู้รบนองเลือดที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ เหตุความไม่สงบในชายแดนภาคใต้บานปลายขึ้นระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรายงานการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น

จนกระทั่งอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อมาจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และพ้นจากตำแหน่งไป 

หลังแพ้การเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายอภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แต่ได้รับเลือกใหม่ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ลาออกทั้งหมด ในเดือนเดียวกัน เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาฆ่าคนจากการสลายการชุมนุมเมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 90 คน

จากนั้นไม่นาน เขาก็ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย สมัยที่ 3 ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 และได้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ก็พ้นจากตำแหน่งไปเนื่องด้วย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่บ้านพักอภิสิทธิ์ บ้านเลขที่ 32 ซอยสุขุมวิท 31

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดให้มีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ซึ่งผลปรากฎว่า อภิสิทธิ์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง โดยเอาชนะนายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้นำ กปปส. ไปได้ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 และไม่สามารถทำที่นั่งได้ตามเป้าหมาย อภิสิทธิ์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาประกาศจะไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ฝ่ายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จึงตอบโต้ว่า ไม่ใช่แค่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์ แต่ต้องไม่เอาพรรคพลังประชารัฐด้วย เชื่อว่ามีบางพรรคที่บอกว่าไม่เอาพลเอกประยุทธ์ แต่อยากจับมือพลังประชารัฐเพื่อชูตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ[106] สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ระบุว่า อภิสิทธิ์น่าจะแพ้เลือกตั้ง เพราะไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง[107] 24 มีนาคม 2562 เขาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ที่นั่งต่ำกว่า 100 ที่นั่ง[108] ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 อภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาลและสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ


ปัจจุบันอายุ 57 ปี


เนื้อเพลง