วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

สมชาย วงศ์สวัสดิ์  


 

นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้พิพากษา อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ในขณะที่สมชายดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงยึดพื้นที่ไว้ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยใช้สนามบินดอนเมืองเป็นที่ทำการแทน


ประวัติ

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ที่ตำบลสวนขัน อำเภอฉวาง (ปัจจุบันคือ อำเภอช้างกลาง) จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายเจิม-นางดับ วงศ์สวัสดิ์ สมรสกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23

มีบุตร - ธิดา 3 คน คือ

  1. ผศ.ดร.ยศธนัน วงศ์สวัสดิ์ (เชน) สมรสกับ นางสาวนันทกานต์ บุตรสาวของนายวิโรจน์ และนางภาวิณี ศิลป์เสวีกุล เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558
  2. น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ (เชียร์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1
  3. น.ส.ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ (เชอรี่) สมรสกับ นายนัม ลีนาล เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีกัมพู­ชา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การศึกษา

สำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้นมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2513 ต่อมาปี 2516 เข้าศึกษาต่อเนติบัณฑิตไทย (นบท.) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ 2539 ปริญญาบัตร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 38 และในปี 2545 รัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต หลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

การทำงาน

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วสอบบรรจุเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2517 

ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำกระทรวง พ.ศ. 2518 

ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ พ.ศ. 2519 

จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2520 

แล้วจึงย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2526

 จากนั้นย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพังงา พ.ศ. 2529 

ต่อมาได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง พ.ศ. 2530 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2531 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2532 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาธนบุรี พ.ศ. 2533 

เลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พ.ศ. 2536 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 2 พ.ศ. 2540

ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายวิชาการ พ.ศ. 2541 

หลังจากนั้นได้ย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายบริหาร พ.ศ. 2542 

หลังจากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งสูงสุดเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม 11 พ.ย. 2542 

หลังจากนั้นจึงย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน 8 มีนาคม 2549 และได้ลาออกจากราชการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ พ.ศ. 2542–2549

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในปี พ.ศ. 2550 เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

17 กันยายน 2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ 298 เสียง ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ 163 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ทำให้นายสมชาย ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ จึงได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค

เมื่อเวลา 12.30 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน นายมณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และนายสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย ภายหลังนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย แถลงด้วยวาจาเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่รอพรรคพลังประชาชนไม่ได้ส่งตัวเข้าแถลงปิดคดีแต่อย่างใด

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคพลังประชาชน ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีมติให้ยุบพรรคมัฌชิมาฯ และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 43 คน) ตามประกาศ คปค. เช่นกัน

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรคชาติไทยตามไปอีกพรรค โดยศาลฯได้วินิจฉัยว่ามีความผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 68 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และกฎหมายได้เอาไว้เป็นเด็ดขาด แม้จะมีการโต้แย้งว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นฟังไม่ขึ้น (รวม 29 คน) ตามประกาศ คปค.


รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 75 วัน

ฉายานาม

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมทั้ง ตั้งฉายารัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ว่าเป็น รัฐบาล "ชายกระโปรง"

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 2


ปัจจุบันอายุ 74 ปี

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ที่มา ถนนวิภาวดี - รังสิต

ที่มา ถนนวิภาวดี - รังสิต

เพราะอะไรทำไมถึงตั้งถนนเส้นนี้ว่า “ถนนวิภาวดี - รังสิต”

มาจากพระนามของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ที่เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมาย

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณที่ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ ๒๕๐๐ และพระกรณียกิจที่เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ เป็นต้นมา
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ พระองค์หญิง ได้ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และเสด็จแทนพระองค์ไปเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพราะตั้งพระทัยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทรงมีพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยมเยียนบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า
จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่า มีตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกับระเบิด ๒ คน ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บ จึงรับสั่งให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับตชด. ๒ คนนั้นไปส่งโรงพยาบาล แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน
ซึ่งก่อนการสิ้นพระชนม์พระองค์ยังมีพระสติสัมปชัญญะดี ทรงเป็นห่วงตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ตลอด มีรับสั่งว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม” และ “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน” ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าอีกว่า พระองค์ตรัสขอให้พระมหาวีระและครูบาธรรมชัยกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวแทน ทรง “ขอนิพพาน” และตรัสเป็นประโยคสุดท้ายว่า ทรงเห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานที่พระองค์เห็นนั้น สวยงดงาม และ “แจ่มใสเหลือเกิน”
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว มีการรายงานข่าวอย่างละเอียดตั้งแต่การเชิญพระศพมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวกันอย่างใหญ่โต กรุงเทพโกรธเกรี้ยวต่อการสิ้นพระชนม์ เพราะรัฐบาลและทางราชสำนักถือว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูง และมีการประณามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างหนัก การสังหารเจ้านายสตรีก็เป็นสิ่งที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่คาดคิดเช่นกัน
“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ได้ทรงเล่าเรื่องอำเภอพระแสงและมาทำงานช่วยเหลือราษฎรในอำเภอนี้ตามพระราชดำริ ให้สมาชิกสมาคมสตรีนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๒ ไว้ว่า
“...ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่ออำเภอพระแสงมาแต่ก่อนเลย จนกระทั่งได้เข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานบ่ายวันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เล่าพระราชทานข้าพเจ้าถึงข้าราชการอนามัยชั้นตรีผู้หนึ่ง ซึ่งถูกส่งไปประจำสถานีอนามัยชั้น ๒ ที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุรษฎร์ธานี ซึ่งพอไปถึงก็หมดกำลังใจจะทำงาน อยากจะลาออกจากราชการให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะนอกจากไม่มีที่ให้อยู่อาศัย ถึงกับต้องพาบุตรภรรยาไปเช่าห้องแถวกลางตลาดแล้ว ในสถานีอนามัยยังแทบไม่มีหยูกยาหรือเครื่องใช้ที่จะบริการคนไข้ได้เลย ทั้ง ๆ ที่อนามัยแห่งนี้เป็นอนามัยแห่งเดียวที่มีอยู่ในตัวอำเภอ ขนาดตัวอำเภอยังติดต่อกับตัวจังหวัดหรืออำเภออื่นได้ยาก เพราะไม่มีถนนไปถึง ไม่มีทางรถไฟผ่าน ทางเดียวที่จะติดต่อกับภายนอกได้ก็คือทางลำแม่น้ำ ซึ่งจะไปไหนมาไหนก็ต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดจึงไม่เคยไปพระแสง ถึงกับพูดกันทีเล่นทีจริงในจังหวัดว่า ไปเวียดนามดีกว่าไปพระแสง
เมื่อความทุรกันดารของพระแสงทราบถึงพระกรรณโดยบังเอิญ รวมทั้งข้อขัดข้องของข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งเต็มไปด้วยความตั้งใจดี อยากจะทำงานตามหน้าที่ แต่หมดปัญญาสิ้นวิธี เพราะไม่ว่าจะคิดหาทางออกอย่างไรก็ตันไปหมดทุกทาง ก็ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชปรารถนาที่จะช่วยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชื่อ ดุสิต ผู้นั้น ได้ทำงานตามความตั้งใจให้ลุล่วงไปให้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.ประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์พิเศษ นำตัวคุณดุสิต ซึ่งบังเอิญขึ้นมากรุงเทพฯขณะนั้น มาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ที่ศาลาผกาภิรมย์ ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินช่วยเหลือคุณดุสิตให้สามารถทำงานตามหน้าที่ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อจักรยานยนต์สำหรับใช้ ๑ คัน ซื้อเวชภัณฑ์และยาตามบัญชีที่เขียนมา และยังพระราชทานเงินสดจำนวนหนึ่งสำหรับเก็บไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปตามตำบลต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบำบัดโรคแก่ราษฎร เช่นค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนขับเรือ ค่าซ่อมยานพาหนะ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะเบิกจากทางราชการมาใช้ให้ทันท่วงทีได้ นอกจากคุณดุสิตจะเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ยังทำงานละเอียดละออมาก ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายและรายงานผลงานที่เริ่มทำทันทีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯช่วยเหลือ ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอมิได้ขาด เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเล่าเรื่องพระราชทานข้าพเจ้า ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนชอบท่องเที่ยวในที่แปลก ๆ และสนใจในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็กลายเป็นหนุมานอาสาขึ้นมาทันที...”
พวงมาลาดอกไม้สดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงวางไว้หน้าพระศพของท่านหญิงนั้น มีข้อความตอนหนึ่ง จากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” จารึกไว้ดังนี้
“จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”
ส่วนพวงมาลาพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีคำไว้อาลัยปรากฏดังนี้
“ทิวาวารผ่านมาเยือนหล้าโลก
พร้อมความโศกสลดให้ฤทัยหาย
อริราชพิฆาตร่างท่านวางวาย
แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวดี”
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการสถาปนา หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้เสนอให้ตั้งชื่อ “ถนนซูเปอร์ไฮเวย์” จากดินแดงไปรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์
นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รักยิ่งของชาวอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เนื่องด้วยพระองค์เป็นผู้นำความเจริญต่าง ๆ ไปสู่พื้นที่จนได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่พระแสง” และพระองค์ยังได้ประทานชื่อตำบลบางสวรรค์ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพระแสง
---------------------------------------------
ข้อเท็จจริง
๑. การตั้งชื่อถนนตามพระนามของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” นั้น มิใช่ตั้งเพื่อความเป็นเจ้าของแต่ประการได้ หากแต่ตั้งชื่อว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ และเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี
๒. การสิ้นพระชนม์ของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” มิใช่การลอบสังหาร ถ้าลอบสังหารนั่นหมายถึง ต้องมีการเตรียมการและวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่ครั้งนั้นแม้แต่ผู้ก่อการร้ายที่ระดมยิงเอง ก็ไม่รู้เลยว่า พระองค์เจ้าวิภาวดีฯ อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ด้วย แม่แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง ก็ทราบทีหลังว่าบนเฮลิคอปเตอร์นั่นมีพระองค์เจ้าเจ้าวิภาวดีฯ อยู่ ก็ตอนที่มีการแถลงการณ์การสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพแล้ว จึงไม่ใช่การลอบสังหารแบบที่คนบางกลุ่มกำลังกล่าวอ้าง
๓. เหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ครั้งนั้น ไม่ใช่ฝีมือของชาวบ้านประชาชนทั่วไป แต่เป็นผู้ก่อการร้ายที่ได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ จนเป็นเหตุให้ท้ายที่สุดพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สิ้นพระชนม์ (ผู้ก่อการร้ายที่ต่อสู้กับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.))
๔. ไม่ใช่ระดมยิง แล้วเฮลิคอปเตอร์ตกจนสิ้นพระชนม์ แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน แล้วมาสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา

นายสมัคร สุนทรเวช

 สมัคร สุนทรเวช 



นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 25  เคยดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ประวัติ 

สมัคร สุนทรเวช เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2478 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552   เป็นบุตรของ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช; 2435–2521) กับคุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร; 2445–2524) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานนามสกุล "สุนทรเวช" และได้นำมาใช้เป็นนามสกุลร่วมกับบรรดาน้อง ๆ ของท่าน) และเป็นหลานตาของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำราชสำนัก

สมัครเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ดังนี้

  1. พันเอก (พิเศษ) แพทย์หญิง มยุรี พลางกูร - อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  2. เยาวมาลย์ ราชวังเมือง - ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  3. พลอากาศเอก สมมต สุนทรเวช - อดีตที่ปรึกษาทหารอากาศ
  4. สมัคร สุนทรเวช
  5. มโนมัย สุนทรเวช - พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  6. สุมิตร สุนทรเวช - นักการเมือง อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย

การศึกษา
  • ระดับอนุบาล: โรงเรียนสตรีบางขุนพรหม
  • ระดับประถมศึกษา: โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา
  • ระดับมัธยมศึกษา: โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
  • ระดับอาชีวศึกษา: โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์
  • ระดับอุดมศึกษา: นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มทำงานเป็นสื่อมวลชนสายการเมือง โดยเขียนบทความและความคิดเห็นทางการเมืองแบบไม่ประจำตั้งแต่ พ.ศ. 2500 หลังจากนั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2511 ลงสมัครตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ จนมามีบทบาทโดดเด่นช่วงปี 2519 เป็นผู้ถ่ายทอดพระราชประสงค์ของพระราชินี และเป็นสมาชิกกลุ่ม "ซอยราชครู" ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ ใน พ.ศ. 2519 สมัครได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อม ๆ กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และใน พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้ง พรรคประชากรไทย ละดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค

ครอบครัว

สมัคร สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช (สกุลเดิม: นาคน้อย) มีบุตรสาวฝาแฝดคือ กาญจนากร ไชยสาส์น และกานดาภา มุ่งถิ่น และเนื่องจากคุณหญิงสุรัตน์เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 สถานะการเงินจึงมั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวได้ สมัครจึงมิได้ทำงานประจำใด ๆ โดยทำงานการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 อย่างไรก็ตาม นายสมัครยังรับเป็นผู้จัดการมรดกตระกูลธรรมวัฒนะ ตามคำสั่งเสียของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ

ศึกษาเพิ่มเติม

  • ประกาศนียบัตรวิชามัคคุเทศก์: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน

  • พ.ศ. 2496: เจ้าหน้าที่สอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า National Cash Registered Co.,Ltd. (พ.ศ. 2496–2497)
  • พ.ศ. 2497: เสมียนแผนกรถยนต์ และภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Barrow Brown Co.,Ltd. (พ.ศ. 2497–2502)
  • พ.ศ. 2502: ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Loxley Bangkok Co.,Ltd. (พ.ศ. 2502–2504)
  • พ.ศ. 2504: Free Lance Guide, World Travel Service Co.,Ltd. (พ.ศ. 2504–2506)
  • พ.ศ. 2507: ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2507–2509)
  • พ.ศ. 2510: Dietary Aid, Fox River Rehabilitation Hospital, Chicago U.S.A. (พ.ศ. 2510–2511)
  • พ.ศ. 2512: ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัท เอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2512–2513)
  • พ.ศ. 2513: ผู้บริหารฝ่ายขาย John Deere Thailand Co.,Ltd. (พ.ศ. 2513–2514)
  • พ.ศ. 2514: เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2514–2516)
  • พ.ศ. 2516: ลาออกจากงานประจำและทำงานการเมืองอย่างเดียวเรื่อยมา เนื่องจากภรรยามีรายได้มั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวแล้ว

บทบาททางการเมือง

สมัครเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ พ.ศ. 2511 

 เริ่มลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2514 ได้รับเลือกตั้ง เมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2514

ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2516

และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 ในชีวิตการเมืองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง สรุปประวัติทางการเมืองได้ดังนี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 2 (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2518) แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย


พ.ศ. 2519 ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 3 เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2519 – 23 กันยายน พ.ศ. 2519

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2519–2520) ในรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520)

พ.ศ. 2522: ก่อตั้งพรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง และสถาบันการเงิน (พ.ศ. 2523–2526)

พ.ศ. 2526: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (เมษายน 2526)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 2 (30 เมษายน พ.ศ. 2526 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529)

พ.ศ. 2529: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม 2529)

ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง (พ.ศ. 2529–2531)

ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2531–2533)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534)

พ.ศ. 2535: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (มีนาคม 2535 – กันยายน 2535)

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก สุจินดา คราประยูร  (7 เมษายน พ.ศ. 2535 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535)

ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม (พ.ศ. 2535–2538)

พ.ศ. 2538: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม 2538)

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539)

พ.ศ. 2539: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (พฤศจิกายน 2539)

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540)


สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยผู้ได้คะแนนอันดับ 2 คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน

สมัคร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่าง พ.ศ. 2543-2547 นับเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 13 และเป็นคนที่ 5 ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คดีเรื่องการทุจริตกรณีจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ก็ยังมีการดำเนินการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน

หลังพ้นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อครบวาระ 4 ปี สมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2549

ผลการนับคะแนน สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 แต่ ร.ต.อ.นิติภูมิ ยังไม่ทันได้รับการรับรองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน เรื่องการไปขึ้นเวทีปราศัยของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ "หาเสียง" และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการชี้ขาดเรื่องดังกล่าว การเลือกตั้งวุฒิสภา พ.ศ. 2549 ก็ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้สมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

พ.ศ. 2550: รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2550 – 30 กันยายน 2551)

หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนที่มีเขาเป็นหัวหน้าพรรคได้จัดตั้งรัฐบาล โดยนโยบายของเขาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วยเหลือค่าครองชีพหลังวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 เขาถูกมองว่าเป็นนอมนีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2551 เขาพ้นจากตำแหน่งหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นลูกจ้างของเอกชนแห่งหนึ่ง

พ.ศ. 2551: นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (29 มกราคม – 9 กันยายน พ.ศ. 2551)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ให้สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกัน มียงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สมัคร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ แต่ยังถูกกล่าวหาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงการดำรงตำแหน่งของสมัคร สุนทรเวช นี้ว่าเป็นนอมินี (ตัวแทน) ของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกในข้อหาลงนามชื่อยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินตามกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมองค์คณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า สมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2556 วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ หนึ่งในองค์คณะฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่าการตัดสินคดีของนายสมัครนั้นมีความผิดพลาด เพราะองค์คณะฯต้องรีบทำคำวินิจฉัยให้เสร็จทันในวันตัดสินคดี คำวินิจฉัยในคดีของนายสมัครถือเป็นคำวินิจฉัยที่ผิดหลักการ เพราะนำข้อกฎหมายขึ้นก่อน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัครยังได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ (ยังไม่มีเอกสารยื่นใบลาออก) โดยให้เหตุผลว่า ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว จึงขอยุติบทบาททางการเมือง ส่วนการดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ให้ขึ้นอยู่กับพรรค

การปฏิบัติงาน

  • เสนอนโยบายการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ โดยการสร้างใช้หัวเจาะกระสุนกันน้ำซึมเข้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเจาะอุโมงค์แบบรถไฟใต้ดิน คาดว่าปริมาณแม่น้ำโขงจะไหลผ่านอุโมงค์นี้ และแจกจ่ายไปตามโครงข่ายลำน้ำอื่น ๆ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคในภาคอีสาน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "ถ้าอีสานมีน้ำ อีสานหายจน"
  • เสนอแนวคิดสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
  • ริเริ่มโครงการขนส่งสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ความมั่นคง

  • การประนีประนอมกับทหาร โดยสมัคร กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว และจะไม่เข้าไปแทรกแซงจัดการเรื่องโผการโยกย้ายนายทหาร โดยจะปล่อยให้ทางทหารนั้นจัดการกันเอง ซึ่งทำให้ทางทหารแสดงท่าทีเป็นมิตรกับสมัครด้วย
  • เสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ความเป็นธรรม การพัฒนาการศึกษา พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน และการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่

เศรษฐกิจ

  • ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%
  • ลดราคาสินค้าหมูเนื้อแดงขายจาก 120 บาท ต่อ กก. เหลือเพียง 98 บาท ต่อ กก.
  • มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • มาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยคนจน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมโดยการทำเงินภาษีมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จนรัฐบาลที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายเวลาเพิ่มในเวลาต่อมา

สิทธิมนุษยชน

  • ใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด
  • เสนอให้มีเปิดการบ่อนกาสิโนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับทั้งความเห็นชอบและคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นอย่างมาก

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ 

คดีหมิ่นประมาทดำรง ลัทธพิพัฒน์

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่กรรมโดยการประกอบอัตวินิบาต ขณะกำลังเดินทางไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากปัญหาความเครียดส่วนตัว ต่อมาสมัคร ซึ่งถูกปรับออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2529 กลายเป็นฝ่ายค้าน ได้เขียนบทความว่า ดำรงยิงตนเองให้ถึงแก่ความตายเพื่อหนีความผิดค้าเฮโรอีนข้ามประเทศ สมศรี ลัทธพิพัฒน์ (เกตุทัต) ภรรยาของดำรง มอบหมายให้บัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ ฟ้องหมิ่นประมาทสมัคร สุนทรเวช ศาลฎีกาตัดสินเมื่อเดือนธันวาคม 2531ว่า สมัครมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ และปรับ 4,000 บาท ทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ 7 วัน

กรณีคำแถลงปลอม

เมื่อ พ.ศ. 2530 สมัคร สุนทรเวช ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 43[ และได้อภิปรายไม่ไว้วางใจจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 44) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530 สมัครอภิปรายกล่าวหาว่า จิรายุรับสินบนโดยนำสำเนาคำแถลงแสดงการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเฟิสต์ อินเตอร์สเตตในสหรัฐอเมริกา มาแสดงในสภาและอภิปรายว่ามีชื่อของจิรายุเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว ซึ่งมีรายการโอนเงินค่าสินบน เป็นจำนวนเงิน 92 ล้านบาท[31] จิรายุได้ปฏิเสธและระบุว่าข้อกล่าวหาของสมัครเป็นเท็จและตนไม่เคยมีบัญชีธนาคารในสหรัฐอเมริกา

ต่อมา จากการตรวจสอบโดยคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พบว่า คำแถลงที่สมัครนำมาแสดงนั้นเป็นของปลอม และจิรายุไม่เคยมีบัญชีเงินฝากในธนาคารนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ กับสมัคร เนื่องจากมีกฎหมายให้เอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ[33] ต่อมา สมัครได้ยอมรับว่า ได้นำเอกสารเท็จมาแสดงในการอภิปรายในครั้งนั้นจริง

การจัดรายการโทรทัศน์

สมัคร ร่วมจัดรายการ สนทนาปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอ็มวีหนึ่ง (MV1) ซึ่งถูกโจมตีโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นสื่อที่เข้าข้าง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรและหลังจากที่มีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมัคร สุนทรเวช ได้เลิกรายการของตนไป

ก่อนหน้านั้น สมัครได้จัดรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ร่วมกับดุสิต ศิริวรรณ ในเวลา 11.00 น. ทุกวันจันทร์–ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระยะเวลา 30 นาที ซึ่งสมัครได้กล่าวว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ "เลือกข้างใช่ไหม" จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจของหลายฝ่าย นาวาตรี ประสงค์ สุ่นศิริ กล่าวว่า พลเอก เปรม เป็นที่เคารพของหลายฝ่าย และเป็นถึงประธานองคมนตรี ทำให้สมัครขอยุติรายการดังกล่าวไปด้วยตนเอง

คดีหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สมัคร และ ดุสิต ศิริวรรณ ซึ่งร่วมกันจัดรายการโทรทัศน์ "เช้าวันนี้ที่ช่อง 5" ทาง ททบ.5 และ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถูกสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา โดยทั้งสองกล่าวหาว่า สามารถทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครในรายการโทรทัศน์

 

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สมัครได้เคยกล่าวไว้ในรายการ สมัคร–ดุสิต คิดตามวัน ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายเพียงคนเดียว และคนนั้นเป็นญวนอีกด้วย ซึ่งสมัครได้ย้ำอีกครั้ง ในการให้สัมภาษณ์กับ แดน ริเวอส์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และยังกล่าวอีกว่า "ผมบอกว่า ถ้าผมเป็นคนเลวมาไม่ได้ไกลขนาดนี้หรอก ถ้าผมเป็นคนเกี่ยวข้องไม่ได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้ามาถึงป่านนี้หรอก"

ความขัดแย้งกับ พลตรี จำลอง ศรีเมือง

สมัครถือเป็นนักการเมืองที่เป็นเสมือน "คู่รักคู่แค้น" กับ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาโดยตลอด โดยความขัดแย้งของทั้งคู่มีมาตั้งแต่สมัยที่ พลตรี จำลอง เป็นเลขาธิการ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สมัครเป็นผู้ที่สนับสนุนกฎหมายทำแท้งเสรี แต่ พลตรี จำลอง เป็นผู้คัดค้าน จนในที่สุดกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา หลังจากนั้นเมื่อทั้งคู่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในกรุงเทพมหานครเหมือนกัน พลตรี จำลอง เมื่อลงรับสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยของสมัครได้อย่างขาดลอยถึง 2 ครั้ง 

ต่อมาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทยที่สนับสนุน พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันว่า "พรรคมาร" ขณะที่ พลตรี จำลอง เป็นผู้นำในการประท้วง พลเอก สุจินดา และเมื่อสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรี จำลอง ก็ยังเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมต่อต้านการดำรงตำแหน่งของสมัครอีก

ความสนใจ สัตว์เลี้ยง

นับได้ว่าสมัครเป็นบุคคลที่ชื่นชอบแมวมากที่สุดคนหนึ่ง เขาเริ่มเลี้ยงแมวตั้งแต่วัยเด็ก และเคยเลี้ยงแมวหลายตัวด้วยกัน โดยแมวตัวที่สมัครรักที่สุดมีชื่อว่า เหวิน เหวิน ซึ่งเมื่อเหวิน เหวินตายจากไปสมัครก็ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ จำนวน 3 บท  

โภชนาการ

สมัครเป็นบุคคลที่ชอบจ่ายตลาด และทำอาหารมาก โดยเป็นผู้ดำเนินรายการ ชิมไปบ่นไป ทาง ไอทีวี และ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ส่วน ยกโขยง 6 โมงเช้า ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อได้เดินทางไปต่างประเทศสมัครมักจะใช้เวลาช่วงเช้าก่อนเริ่มพิธีการในการจ่ายตลาด และดูความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้สมัครยังเคยทำข้าวผัดให้แก่ทหารในบริเวณชายแดนด้วย


การถึงแก่อนิจกรรมและพิธีศพ

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัครเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วตับ โดยไม่เป็นที่เปิดเผยทางสื่อมวลชนมากนัก จนกระทั่งกฤษณะ ไชยรัตน์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ เดินทางไปถ่ายทำรายการถึงโรงพยาบาล อาการป่วยของสมัครจึงเป็นที่เปิดเผยในวงกว้างต่อมา สมัครจึงเดินทางไปรักษาต่อยังสหรัฐอเมริกาและเดินทางกลับมารักษาตัวในประเทศไทยอีกครั้ง จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 08.48 น. 

สิริอายุได้ 74 ปี


 

เนื้อเพลง