วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ท้าวเวสสุวรรณ

ท้าวเวสสุวรรณ 
ประวัติเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง พร้อมเคล็ดลับบูชาอย่างถูกวิธี

หากพูดถึง “ท้าวเวสสุวรรณ” แล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเติบโตมาพร้อมกับความทรงจำเกี่ยวกับท่านในวัยเด็ก เนื่องจากตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วคนไทยนิยมนำผ้ายันต์รูปยักษ์ผูกไว้ที่หัวเตียงเด็กเพื่อป้องกันวิญญาณ รวมถึงสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ไม่ให้มารังควานเด็ก ซึ่งยักษ์ในรูปนั้นก็คือท้าวเวสสุวรรณนั่นเอง  

ความเชื่อ

     

ท้าวเวสสุวรรณ คือใคร

          ท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวเวสสุวัน) หรือในภาษาพราหมณ์เรียกว่า "ท้าวกุเวร" ถ้าในพระพุทธศาสนาจะเรียก "ท้าวไพสพ" เป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลายโดย ท้าวเวสสุวรรณ เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ผู้คุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ประทับทางทิศเหนือมีอสูร รากษส และภูตผีปีศาจเป็นบริวารพร้อมถือว่าท่านเป็นหัวหน้าของท้าวจตุโลกบาล อันประกอบไปด้วย "พระอินทร์" (ท้าวธตรฐ) ปกครองโลกด้านทิศตะวันออก , "พระยม" (ท้าววิรุฬหก) ปกครองโลกด้านทิศใต้ และ "พระวรุณ" (ท้าววิรูปักษ์) ปกครองโลกด้านทิศตะวันตก

ทำไมต้องมีรูปท้าวเวสสุวรรณตั้งเหนือเปลเด็กอ่อน

          สาเหตุที่เรามักจะเห็นคนโบราณนำรูปท้าวเวสสุวรรณมาแขวนไว้บนเปลเด็กอ่อน เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าท่านเป็น เจ้าแห่งอสูร จึงช่วยป้องกันภูตผีปีศาจไม่ให้มารบกวนเด็กเล็กได้นั่นเอง อีกทั้งยังนิยมทำผ้ายันต์รูปท้าวเวสสุวรรณ จำหลักรูปท้าวเวสสุวรรณ ไว้ที่มีดหมอของสัปเหร่อเพื่อกำราบวิญญาณ หรือบางคนก็พกรูปของท่านเพื่อป้องกันภัยจากวิญญาณอีกด้วย

ท้าวเวสสุวรรณกับสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

          ส่วนใหญ่แล้วเรามักเห็นภาพ ท้าวเวสสุวรรณ ในรูปลักษณ์ของยักษ์ ยืนถือกระบองยาว หรือไม้เท้าขนาดใหญ่อยู่ระหว่างขา เหมือนมีขาสามขา เพื่อพิทักษ์รักษาพุทธสถานหากใครที่เดินทางไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่จังหวัดพิษณุโลก ก็จะพบรูปหล่อปิดทองด้านซ้ายของฐานองค์พระพุทธชินราช ทำเป็นรูป ท้าวเวสสุวรรณ เพื่อปกปักคุ้มครองพระพุทธศาสนาไม่ให้หมู่มารมารังควาน และปกป้องคุ้มครองแก่ผู้นั่งสมาธิปฏิบัติพระกรรมฐาน

          ดังนั้น เราอาจจะเคยเห็นว่า วัดวาอารามต่าง ๆ มีรูปปั้นยักษ์ตั้งอยู่ หากยักษ์ยืนอยู่เพียงตนเดียว นั่นก็คือ ท้าวเวสสุวรรณ แต่ถ้าหากมี 2 ตน ก็คือบริวารของ ท้าวเวสสุวรรณ ที่จะมาคอยปกปักรักษาบริเวณวัด และนอกจาก ท้าวเวสสุวรรณ จะมีหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนาแล้ว ท้าวเวสสุวรรณ ยังมีหน้าที่จดความดีของคนทางทิศเหนือไปจารึก และประกาศให้เทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้รับรู้อีกด้วย

ความเชื่อ

ตำนานความเชื่อของ ท้าวเวสสุวรรณ

          ตามตำนานทางพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่า ในอดีตชาติ ท้าวเวสสุวรรณ เคยเป็นพราหมณ์ เปิดโรงงานค้าขายหีบอ้อยจนร่ำรวย ด้วยความใจบุญจึงได้นำเงินทองไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ และด้วยกุศลผลบุญที่ ท้าวเวสสุวรรณ บำเพ็ญมานับหลายพันปี พระพรหม และ พระอิศวร จึงให้พรแก่ ท้าวเวสสุวรรณ ให้เป็นอมตะ และเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติทั่วปฐพี เป็นเทพแห่งความร่ำรวย ดังนั้นผู้คนจึงนิยมจำหลักรูป ท้าวเวสสุวรรณ ไว้เคารพบูชาเพื่อความมั่งคั่งอีกหนึ่งประการ ตรงตามความหมายของชื่อ "ท้าวเวสสุวรรณ" คือ คำว่า "เวส" แปลว่า พ่อค้า จึงหมายถึงพ่อค้าอันมีทรัพย์ ได้แก่ ทองคำ

          นอกจากนี้อีกหนึ่งตำนานในพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่า ในชาติหนึ่ง ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเดิมชื่อ กุเวรพราหมณ์ ได้ทำบุญกุศลมาก จนชาติต่อมา ได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงราชคฤห์ พระนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร และทรงเป็นพระสหายกับเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จนบรรลุเป็นโสดาบัน และได้ถวายพระเวฬุวันมหาวิหาร ให้พระพุทธเจ้าได้เข้าประทับ จึงเป็นอานิสงส์ให้ได้วิมานอันสวยงาม และการที่พระเจ้าพิมพิสารถวายทานบ่อย ๆ จึงเป็นปัจจัยให้มีทิพยสมบัติมากมาย เมื่อได้เป็นเทวดาก็ทรงมีอำนาจมาก

          ขณะที่ตามตำนานของพรามหณ์ เชื่อกันว่า ท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร หรือ กุเปรัน เป็นพี่ชายต่างมารดาของทศกัณฐ์ แต่ไปนับถือท้าวมหาพรหมผู้เป็นเทวดา เพราะปรารถนาจะบำเพ็ญบารมี ทำให้ผิดใจกับพ่อซึ่งอยู่ในตระกูลยักษ์ โดยท้าวมหาพรหมทรงโปรดปรานท้าวกุเวร จึงประทานบุษบกให้ เพื่อให้ล่องลอยไปไหนมาได้ตามใจปรารถนา ก่อนที่ทศกัณฐ์จะไปแย่งบุษบกของท้าวกุเวรที่พระมหาพรหมประทานให้ไป และยึดกรุงลงกาที่ท้าวกุเวรปกครองอยู่มาได้สำเร็จ ท้าวมหาพรหมจึงสร้างนคร "อลกา" ให้ท้าวกุเวรใหม่

ความเชื่อ

คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ

          ในคัมภีร์โบราณ กล่าวไว้ว่าผู้ใดหวังความเจริญในลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา ให้บูชารูปท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร ตามคาถาบูชาต่อไปนี้

คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร (บูชาประจำวัน)

ตั้ง นะโม 3 จบ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ


อิติปิโสภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ

มรณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

ท้าวเวสสุวรรณโณ จาตุมหาราชิกา ยักขะพันตา ภัทภูริโต

เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโมพุทธายะ

          จะเห็นได้ว่าประวัติของท้าวเวสสุวรรณไม่ว่าจากตำนานใด ก็ล้วนแต่เป็นบทบาทของผู้ให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนทั้งสิ้น นับเป็นคุณธรรมที่น่ายึดตามมากทีเดียว

นอกจากท้าวเวสสุวรรณจะช่วยปัดเป่าวิญญาณร้าย สิ่งชั่วร้าย รวมถึงสิ่งอัปมงคลทั้งหลายแล้ว ท่านยังช่วยบันดาลโชคลาภ ดึงดูดเงินทองให้ไหลมาเทมา มีอำนาจวาสนา ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เจริญในลาภยศ และนำพาสิ่งดี ๆ มาสู่ตัวผู้บูชาด้วยค่ะ หากสวดบูชาเป็นประจำแล้วชีวิตของคุณจะเจริญก้าวหน้า พบเจอแต่สิ่งที่เป็นมงคล มีโชคมีลาภตลอดไม่ขาดมือ

 

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สุภาษิตสอนชาย

 


จะสาธก ยกชาย ให้คำสอน

ให้ดูดี มีธรรม ตามคำกลอน
จะว่าวอน สอนดู ให้รู้กัน
เกิดเป็นชาย ชาตรี ต้องมีศักดิ์
อย่าหลงรัก เริงโลก ให้โศกศัลย์
รู้ระวัง ยั้งคิด ชีวิตพลัน
อย่าหุนหัน พลันเล่น ไม่เป็นการ
เมื่อเป็นเด็ก เล็กอยู่ รู้ภาษา
ไม่ต้องว่า วอนสั่ง เรื่องสังขาร
พ่อแม่รัก อักโข คำโบราณ
ให้หลีกพาล พบปราชญ์ ฉลาดครัน
เมื่อเยาว์วัย ใจหาญ การศึกษา
วิริยา พาเพียร ไม่เหียนหัน
สู้อดทน จนยาก ลำบากครัน
ไม่ไหวหวั่น วิ่งถอย คอยชะตา
พ่อแม่สอน วอนสั่ง ไม่พลั้งพลาด
ชาญฉลาด เชื่อฟัง ไม่กังขา
เชื่อฟังครู รู้ดี ตามวิชา
ไม่เสียท่า ถ้อยชน หลงคนพาล
เมื่อวัยเรียน ไม่เพียร ซึ่งเพศรัก
จะเสียหลัก พักเรียน เพียรสถาน
ใจอาวรณ์ อ่อนเพลีย จะเสียการ
จะเสียงาน การเรียน ที่เพียรมา
รู้รักษา พาตน หาคนรู้
มาเป็นครู เป็นเพื่อน คอยเตือนหนา
คอยชี้นำ พร่ำสั่ง ให้ตั้งตา
หาวิชา พาตน เป็นคนดี
ไม่ติดยา เสพติด ชีวิตผง
นำให้หลง ลืมค่า หมดราศี
ร่างผอมแห้ง แรงน้อย ตามถ้อยที
ว่าเหมือนผี เดินดิน ก็สิ้นกัน
เกิดเป็นชาย ชาตรี ไม่หนีทหาร
พอถึงกาล หาญคิด ไม่ผิดผัน
จับฉลาก หากถูก ต้องผูกพัน
จิตสุขสันต์ เสริมให้ ชายชาตรี
เกิดเป็นชาย ได้เป็น เช่นทหาร
ไม่เสียการ เกิดมา พาศักดิ์ศรี
สมเป็นชาย ชาญชัย ปราบไพรี
ให้โลกนี้ นั้นสงบ พบสบาย
จบทหาร การเมือง สิ้นเรื่องรบ
ก็มาพบ บรรพชิต ทางคิดหน่าย
มาบวชจิต คิดสวด หรือบวชกาย
มาบวชให้ ห่มเหลือง สีเรืองรอง
บวชแทนคุณ บุญล้ำ ค่าน้ำนม
ให้เหมาะสม ศรีศักดิ์ คนรักสอง
คือพ่อแม่ แก่เฒ่า เข้าทำนอง
เห็นลูกครอง กาสาว์ น้ำตาพรู
เมื่อยามบวช สวดเก่ง เร่งทำกิจ
เป็นลูกศิษย์ สอนง่าย เงี่ยหงายหู
รู้จักจำ คำสั่ง เชื่อฟังครู
ไม่นอกรู้ ครูสอน แต่ก่อนกาล
บวชเป็นพระ ละกาม คามวสี
ยามสวดผี อจิรัง เรื่องสังขาร
รู้ปลงตก ยกจิต ขบคิดนาน
ไม่หลงกาล พาลชั่ว ให้มัวใจ
รู้ขบคิด พิจารณา โลกากว้าง
ต้องมาร้าง เรื่องรัก หักสงสัย
เห็นเกิดตาย หายหลง มาปลงใจ
รู้ภายใน แน่นอน มาสอนตน
ใช้เวลา พาเพียร เรียนธรรมะ
ลดเลิกละ พาหนุน บุญกุศล
สร้างกรรมดี มีครู สาธุชน
มั่นฝึกฝน ตนเอง ตามเพลงธรรม
ปฏิบัติ วัดวา ครูอาจารย์
ให้สถาน ที่อยู่ ดูงามขำ
เป็นระเบียบ เรียบร้อย ค่อยค่อยทำ
เป็นประจำ จัดกัน ทุกวันไป
บวชเป็นพระ สละ ซึ่งกิเลส
เหมาะกับเพศ บรรพชิต จิตสงสัย
รู้จักปลง ลงวาง เรื่องทางใน
ทำให้ใจ หมดจด จิตงดงาม
เร่งขยัน หมั่นเพียร เรียนศึกษา
อยู่วัดวา สนใจ หมั่นไต่ถาม
ให้เข้าใจ ไม่เหลือ บทเนื้อความ
ไม่ต้องถาม ต่อไป ให้ใจสบาย
ออกพรรษา พาสอง อย่าข้องขัด
อย่านั่งนัด นับวัน กันเช้าสาย
เพื่อสึกหา ลาเพศ ทุเรศกาย
จงจำไว้ ให้มั่น ว่าฉันเตือน
อย่าคิดหวัง คลั่งไคล้ สายสมร
อรชร เอวบาง นางเสมือน
จิตลังเล เหลียวแล ให้แชเชือน
เพราะไม่เตือน ตนเอง โฉงเฉงกัน
อย่าจับกลุ่ม ชุมนุม ให้กลุ้มกลัด
จะวิบัติ วัตรพระ เพราะกระสัน
คุยเรื่องราว ชาวบ้าน รำคาญครัน
ให้จิตหวั่น กันใหญ่ เพราะใจพา
ถ้าใจพิศ พาใจ หลงใหลสาว
ใจแตกร้าว รวนเร นอกเคหา
ประพฤติธรรม จำเจ เสียเวลา
เพราะเสียท่า พาใจ หลงใหลนาง
เมื่อสิ้นบุญ หนุนส่ง มาลงหมด
สละพรต พรหมจรรย์ มาหันหาง
เปลี่ยนวิถี ชีวิต มาปลิดทาง
สู่โลกกว้าง โลกีย์ เสียทีกัน
สละเพศ สมณะ ไปหาบ้าน
สู่สถาน ทุกข์เข็ญ ลำเข็ญขันธ์
ต้องดิ้นรน ทนสู้ คู่ชีวัน
ช่างทุกข์ขันธ์ ขื่นขม ระทมใจ
ไม่เสียที ที่เห็น เคยเป็นพระ
มีธรรมะ มาใช้ เตือนให้ไข
ให้ไขคิด ขบธรรม ประจำใจ
สมสมัย ใจพา สู้หากิน
จะทำงาน การใด สู้ไม่ถอย
จะไม่คอย โชคช่วย ด้วยทรัพย์สิน
ไม่นำพา วาสนา โชคราคิน
จะเดินดิน ดั้นด้น สู้จนตาย
จะบากบั่น สรรหา เวลาเหลือ
ทำงานเจือ จุนคูณ ไม่สูญหาย
ใช้เวลา ค้าขาย เช้าสายจ่าย
จัดสรรให้ ได้ทำ ประจำกาล
เห็นเวลา ค่ามี นาทีเพชร
งานสำเร็จ เสร็จสรรพ มาขับขาน
เหมือนได้เพชร เด็ดดึง น้ำหนึ่งนาน
บริหาร งานดี ที่เวลา
เมื่องานดี มีเงิน เป็นหมื่นแสน
เที่ยวดินแดน ได้งาม ตามยะถา
ใช้จ่ายใด ได้ประสงค์ จำนงมา
เพชรมีค่า ใครขาย ได้ดังใจ
วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ
ไม่เสียที ที่เรียน พากเพียรใหญ่
จดจำไว้ ได้ทำ กรรมใดใด
สู้ทนไหว ใจมั่น ไม่สั่นคลอน
ทุกข์เพราะจน ทนทุกข์ พ้นยุคภัย
หมดทุกข์ใจ ภัยจน เพราะคนสอน
ให้ขยัน มั่นเพียร อาเศียรธร
ยึดคำสอน สั่งฝาก ฝีปากครู
เมื่อมีทรัพย์ นับค่า มหาศาล
ไม่เที่ยวผลาญ ผิดถ้อย อร่อยหู
เห็นเนื้อหนัง มังสา ยอดพธู
ให้คิดดู ได้ความ อย่าตามใจ
รู้หักห้าม ความคิด ชีวิตหลง
รู้จักปลง หลงผิด คิดไถล
รู้ระวัง ตั้งเนื้อ อย่าเชื่อใคร
เดี๋ยวเจ็บใจ เจ็บอก เหมือนตกตาล
รู้แบ่งทรัพย์ สี่ส่วน ที่ควรแบ่ง
หนึ่งจัดแจง จ่ายหา ในสถาน
สองเก็บไว้ จ่ายสิ้น เพื่อกินนาน
เหลือสองฐาน ทำทุน อุดหนุนกัน
อีกคบมิตร คิดหา ใช่ว่าง่าย
เหลียวขวาซ้าย ชายดู เป็นคู่สรรค์
เป็นคู่สร้าง ทางดี เพิ่มชีวัน
ช่วยกันขัน ขบคิด ทางทิศเดียว
มีเพื่อนดี เพียงหนึ่ง แม้ถึงยาก
ดีกว่ามาก มิตรปลอก เที่ยวหลอกเหลียว
แม้มีเกลือ ก้อนหนึ่ง ถึงน้อยเทียว
ดีกว่าเคี่ยว น้ำเค็ม เต็มทะเล
อีกจ่ายทรัพย์ นับค่า กว่าหาได้
อย่าใช้จ่าย ง่ายหนัก จะหักเห
จะจ่ายการ ชาญฉลาด คาดคะเน
อนาคะเต ตั้งขาน คิดการไกล
อันชายดี มีทรัพย์ คนนับหน้า
หญิงสาวมา มุ่งมอง ต้องขานไข
มีเสน่ห์ มากแม้น ขุนแผนใด
จะอยู่ไหน ใครรัก สมัครกัน
ถึงตอนนี้ ทีท่า อย่าว่าขัด
รู้มองชัด ใช่หญิง เป็นจริงสรรค์
มองหาสาว เข้าท่า รู้จาบรรณ
รู้จักขัน ขบคิด ที่จิตใจ
ได้หญิงดี มีศักดิ์ ญาติรักถ้วน
เห็นสมควร คู่ครอง หมดหมองใส
รักกันจริง อิงให้ เป็นสายใย
หาสุขไหน ไม่ได้ ซื้อขายกัน
เลือกคู่สร้าง คู่สม ภิรมย์หมาย
อยู่กันได้ คลายทุกข์ ร่วมสุขสันต์
รักกลมเกลียว เกี่ยวข้อง ปรองดองกัน
ร่วมสร้างสรรค์ เสริมคิด ชีวิตครอง
สิ่งสำคัญ สรรคู่ ให้รู้หลัก
ต้องรู้จัก รักดี ไม่มีหมอง
ประเพณี ดีล้ำ เข้าทำนอง
ให้ถูกต้อง ขอลูก ทำถูกการ
ได้แต่งงาน ท่านชม ยามสมรส
ถูกตามบท แบบรัก เป็นหลักฐาน
ต่างอวยพร สอนสั่ง ให้ตั้งการณ์
ให้สำราญ สุขสันต์ ถึงวันตาย
เมื่อมีคู่ อยู่กัน ร่วมสรรค์คิด
เว้นทางผิด เพิ่มดี มีความหมาย
ช่วยกันขัน ขบคิด ให้จิตคลาย
ให้ทุกข์หาย หมดทุกข์ มาสุขแทน
ร่วมกันหา พาสร้าง ทางกุศล
จักพาตน ขนทรัพย์ นับหมื่นแสน
ผลบุญญา พากิน ทั่วดินแดน
ไม่ขาดแคลน หมื่นทรัพย์ เห็นกับตา
เมื่อมีคู่ รู้รัก ปักที่ใจ
ไม่ไปไหน นอกทาง ห่างเคหา
ไม่นอกจิต ผิดผัน ภรรยา
รักเอกา กมล ไม่สนใคร
รู้รักษา กาเม ไม่เฉทิศ
รักษาจิต ให้ดี เป็นนิสัย
ไม่ผิดลูก ผิดเมีย ให้เสียใจ
จะอยู่ไหน ใจผูก รักลูกเมีย
เมื่อมีลูก ปลูกนึก ทางศึกษา
วิริยา พาผัน ป้องกันเสีย
กันขี้เกียจ เสนียดตัว ให้นัวเนีย
มันจะเสีย สกูล ให้สูญการ
มั่นสอนลูก ปลูกรัก ให้มักคิด
หลีกทางผิด ทำดี วจีขาน
ตนถูกผิด คิดดู รู้วิจารณ์
ให้แตกฉาน เฉกเพื่อน ตักเตือนมาลย์
ต้นไม้ดี ดูดี ที่มีผล
ส่วนดีคน เข้าที ดีลูกหลาน
พ่อแม่ดี ดังเทียบ ที่เปรียบปาน
เพราะลูกหลาน เหลนดี มีศีลธรรม
เกิดเป็นชาย ชาตรี ทั้งทีหนา
อย่าเสียท่า อิตถี นารีขำ
นารีชั่ว มั่วตน คนระยำ
ผิดศีลธรรม กรรมชั่ว หมองมัวใจ
พึ่งตัวตน ค้นคิด ไม่ผิดหลัก
รู้จักรัก ภักดี ไม่หนีไหน
สร้างคุณ งาม ความดี มากมีไป
จะอยู่ไหน ใครด่า ไม่ว่าความ
ถือหลักคน ทนไว้ ให้ได้แน่
ตามกระแส ศาสน์ธรรม ตอบคำถาม
พุทธองค์ ทรงตรัส ฝึกหัดความ
ให้ทั้งสาม สดใส ไตรทวาร
ที่สอนมา ว่าหมด ของบทสอน
แต่งเป็นกลอน สอนเสก เอกสาร
เพื่อมนต์ขลัง ตั้งไว้ อยู่ได้นาน
ให้ลูกหลาน หลังเกิด เปิดอ่านดู
มรดก ตกทอด ที่สอดแทรก
ธรรมจำแนก นั้นเลิศ ให้เปิดหู
ทั้งเปิดใจ เปิดตา ว่าตามครู
สัพพัญญู รู้ธรรม พระสัมมา
ใช่บรรเลง เพลงธรรม ประจำโลก
คลายทุกข์โศก สุขงาม ตามภาษา
เมื่อทุกท่าน อ่านแล้ว นะแก้วตา
จงช่วยมา พาคิด พินิจจารณ์
ที่สอนมา ว่าหมด ทุกบทคิด
สุภาษิต สอดรับ บทขับขาน
เป็นทำนอง ของธรรม ประจำกาล
ไม่ดักดาน ดีเลิศ ประเสริฐบรรณ
ทั้งสอนหญิง หรือชาย ให้ได้คิด
เพื่อชีวิต คิดแล มาแปรผัน
มาประพฤติ นึกคิด จิตสุขพลัน
ให้อยู่กัน ก่อเกิด ประเสริฐใจ
ถ้าสอนมาก ยากนาน รำคาญจิต
มากลิขิต ขีดขาน อ่านไม่ไหว
พอบรรเลง เพลงธรรม ประจำใจ
สรุปใน เนื้อกลอน มาสอนกัน
ถึงนิดหน่อย ร้อยกรอง เป็นของฝาก
แต่มาจาก จิตใจ ที่ใฝ่ฝัน
เคยเขียนไว้ หลายวรรค ว่าสักวัน
จะแต่งสรรค์ เสริมกลอน มาสอนใจ
ขอจบลง คงไว้ นะชายหญิง
ด้วยใจจริง จากจิต พิสมัย
ไม่เลือกชั้น วรรณะ ว่าใครใคร
อยู่มุมไหน ในโลก หมดโศกเอย.

เนื้อเพลง