วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๘ เรื่องของพราหมณ์จันทรสวามิน กับฤๅษีปาศุบต



นิทานเรื่องที่
๑๘



ในป่าช้าผีดิบที่เวตาลพำนักอยู่บนกิ่งอโศกนั้น เต็มไปด้วยเปลวไฟที่แลบเลียอยู่บนจิตกาธานที่ใช้เผาศพ เปลวอัคคีอันแรงร้อนวูบวาบดูราวกับลิ้นของพวกรากษสที่ตวัดไปมาในการเสพเนื้อมนุษย์สด ๆ แต่ภาพอันน่าสะพรึงกลัวดังกล่าวหาได้ทำให้พระราชาทรงหวาดหวั่นไม่ ขณะที่ทรงดำเนินฝ่าไปจนถึงต้นอโศก

และ ณ ที่สุดสานผีดิบนั่นเอง โดยไม่คาดฝัน พระราชาประสบภาพสิ่งอันน่าเกลียดต่าง ๆ คือ มีศพของบุคคลต่าง ๆ หน้าตากประหลาดคล้ายคลึงกันแขวนอยู่บนกิ่งไม้เหมือนกับตัวเวตาลนับร้อยนับพันห้อยอยู่ พระเจ้าตริวิกรมเสนทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงรำพึงในพระทัยว่า “อา นี่มันอะไรกัน หรือว่านี่เป็นภาพมายาที่เวตาลเนรมิตขึ้น เพื่อจะถ่วงเวลาเราเล่น และเราจะต้องเสียเวลาสักเท่าไร จึงจะหาได้ถูกต้องว่าศพไหนคือเวตาลตัวจริง ถ้าเราจะต้องเสียเวลาทั้งคืน เราก็คงจะทำภาพรกิจให้เสร็จไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราจะเข้ากองไฟเสียดดีกว่า แทนที่จะทนรับความอัปยศเพราะเรื่องอย่างนี้” ฝ่ายเวตาลเมื่อทราบวาระน้ำจิตของพระราชาเช่นนั้น ก็มีความพอใจในความกล้าหาญมานะเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง จึงคลายมายาเวททั้งปวง ทำให้พระราชาแลเห็นตคัวจริงของตน คือ เวตาลที่เป็นซากศพแขวนอยู่บนกิ่งไม้แต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่รูปมายาทั้งหลายอันตรธานหายไป พระราชาทรงปลดเวตาลลงจากกิ่งโศก เอาพาดพระอังสาแล้วเสด็จกลับไปตามหนทางเดิม ขณะที่มาตามทางเวตาลก็กล่าวกะพระราชาว่า “ราชะ ความแข็งแรงของพระองค์เป็นที่น่าสรรเสริญอยู่ ถ้ากระไรลองฟังนิทานของข้าอีกสักหนึ่งเรื่องเป็นอย่างไร”

เรื่องมีว่า มีนครอันงดงามแห่งหนึ่งบนโลกนี้ชื่อนรครอุชชยินี เมืองนี้จะงามเป็นรองก็แต่นครโภควดี (ของวาสุกินาคราช) และนครอมราวดี(ของพระอนิทร์) เท่านั้น ซึ่งพระศิวะผู้ทรงเล่นพนันกับพระเคารีเทวีได้ทรงเลือกเป็นที่ทรงพระสำราญร่วมกันในโลก เพราะนครอุชชยินีนั้นงามยิ่งกว่างาม เลิศยิ่งกว่าเลิศ ในพระนครนี้มีสิ่งบันเทิงใจนานาประการ ซึ่งผู้มาเยือนที่มีเกียรติยศเด่นหรือฐานร่ำรวยเท่านั้นที่จะถูกต้อนรับเป็นอย่างดี ณ ที่นี้สิ่งที่ตึงเต่งก็คือ ถันนารี สิ่งที่โค้งสลวยก็คือคิ้วเรียวงามเหมือนจันทรกลา (เสี้ยวพระจันทร์) สิ่งที่กลอกกลับไปมาเนืองนิจก็คือเนตรดำขลับอันเหลือบชม้ายของผองพธู สิ่งที่ดูมืดก็คือราตรี สิ่งที่คดงอไปมาได้ก็คือ บทกวีนิพนธ์อันมีหลายแง่ของกวี สิ่งที่เห็นบ้าคลั่งคือคชสารเมามัน สิ่งที่เป็นความเย็นเยือกก็คือ มุกดามณี น้ำจัณฑ์ และดวงศศี

ในเมืองนั้น มีพราหมณ์ชำนาญเวทอยู่คนหนึ่งชื่อ เทวสวามิน ผู้กระทำยัชญพิธีสังเวยเทพมามากมายหลายครั้ง และพราหมณ์ผู้นี้ก็คือ พราหมณ์มหาศาลร่ำรวยด้วยสินทรัพย์นับไม่ถ้วน เป็นที่เคารพยกยอ่งของพระราชาแห่งแว่นแคว้น ผู้มีพระนามว่า จันทรประภะ ในกาลต่อมา พราหมณ์เทวสวามินมีบุตรชายชื่อจันทรสวามิน ผู้ซึ่งได้เล่าเรียนศลิปวิทยาเป็นอันมากเมื่อจำเริญวัยเป็นหนุ่มฉกรรจ์ แต่เขาก็หาได้นำวิชาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับหลงใหลมัวเมาในการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ คราวหนึ่งพราหมณ์หนุ่มจันทรสวามินเข้าไปในบ่อนการพนันเพื่อจะเล่นการพนัน ทำให้เกิดปั่นป่วนโกลาหลในบ่อนขึ้น เพราะนักการพนันในที่นั้นแลเห็นขาใหญ่มือระดับมหาเศรษฐีเข้ามาเล่น ก็เฮกันเข้ามาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น จันทรสวามินหนุ่มผู้มีเงินเต็มกระเป๋า พอย่างเข้ามาก็คุยโอ่ว่า “ไหน – ไหน ใครในห้องนี้จะถูกข้าต้อนเหมือนแพะบ้าง ถ้าอยากเป็นก็เข้ามาเลย ข้านี่แหละจำทำให้หมดตัว ต่อให้มีทรัพย์ล้นโลกอย่างท้าวกุเวรเจ้านครอลกา (ชื่อเมืองสวยงาม ตั้งอยู่บนไหล่เขาหิมาลัย เป็นที่ประทับของพระกุเวร พญายักษ์สามขาโลกบาลประจำทิศเหนือ และเป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งปวงในโลก) ข้าก็ยังตุ๋นแทนบจะหมดตัวมาแล้ว” พราหมณ์หนุ่มลงมือเล่นพนันสกาอย่างสนุกสนานด้วยความเหิมเกริม มิช้าก็ถูกกินเรียบด้วยฝีมือของนักพนันยอดโกงในที่นั้น ชายหนุ่มเสียหมดทุกอย่างแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่นุ่งห่มอยู่ และเมื่อกู้ยืมเงินเจ้าของบ่อนมาเล่นแก้ตัวก็เสียหมดอีก ด้วยเหตุนี้พอถูกเจ้าของบ่อนทวงหนี้ ชายหนุ่มจึงไม่มีอะไรจะให้ ทำให้เจ้าของบ่อนโกรธมาก สั่งให้ลูกน้องจับจันทรสวามินนอนลงแล้วโบยตีด้วยหวาย จนเป็นริ้วรอยไปทั้งตัว นอนสลบไม่ไหวติงเหมือนก้อนหิน ร่างที่นอนไม่กระดุกกระดิกของชายหนุ่มดูเหมือนคนตาย จนเวลาผ่านไปสองสามวันก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีก แต่ยังไม่กระดุกกระดิกตามเคย เจ้าของบ่อนแลเห็นก็โกรธมาก และกล่าวแก่พวกบริวารในโรงบ่อนและนักการพนันที่มาเล่นพนันเป็นขาประจำของบ่อนว่า “เจ้าคนนี้พยายามใช้เล่ห์หลบเลี่ยงหนี้ บิดตะกูดฉ้อโกงไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้น จงจับอ้ายคนโสโครกนี้ไปโยนทิ้งที่บ่อแห้ง ซึ่งเป็นบ่อน้ำเก่าข้างนอกนั่น ข้าจะให้เงินแก่ผู้ที่ทำตามคำสั่งของข้าเป็นรางวัล”

เมื่อหัวหน้าบ่อนประกาศแก่นักพนันดังนี้ คนเหล่านั้นก็ช่วยกันแบกร่างจันทรสวามินเข้าไปในป่า มองหาบ่อน้ำเก่าอย่างที่ว่าก็ไม่พบ นักพนันแก่ผู้หนึ่งจึงพูดกับพรรคพวกว่า “เจ้าหนุ่มนี่มันตายแล้ว จะต้องลำบากไปหาบ่อน้ำที่ไหนให้มันวุ่นวายเปล่า ๆ เราปล่อยมันไว้ตรงนี้แหละ แล้วไปบอกนายบ่อนว่าเราโยนมันลงบ่อไปแล้ว” ทุกคนได้ฟังก็เห็นด้วยและตกลงทำตามคำสั่ง

ด้วยประการฉะนี้ พวกนักพนันก็ทิ้งร่างของจันทรสวามินไว้ในป่า แล้วแยกย้ายกันกลับไป จันทรสวามินเห็นว่าปลอดอันตรายแล้วก็ลุกขึ้น แลเข้าไปสู่เทวาลัยของพระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ นั้น ชายหนุ่มค่อยพักฟื้นมีเรี่ยวแรงขึ้นบ้าง ก็รำพึงแก่ตัวเองด้วยความเศร้าใจว่า “อนิจจา เพราะข้าไปหลงกลของอ้ายพวกขี้โกงพวกนั้นแท้ ๆ ข้าถูกมันหลอกต้มเสียป่นปี้ จนไม่มีอะไรเหลือติดตัวเลย ข้าจะออกไปเดินที่ไหนได้เล่าในสภาพเช่นนี้ ร่างเปลือยเปล่ามิพอ ยังรอยที่ถูกเฆี่ยนเต็มไปทั้งตัว และเปื้อนฝุ่นมอมแมมสกปรกอย่างน้ นี่ถ้าพ่อแลเห็นข้าในสภาพเช่นนี้ หรือญาติของข้าตลอดจนเพื่อน ๆ ของข้าก็ตาม เมื่อแลเห็นข้าเข้าเขาจะนึกอย่างไร เพราะฉะนั้นข้าจะหลบอยู่ในเทวาลัยตลอดวัน ถึงเวลากลางคืนค่อยออกไปหาอาหารมายาไส้พอประทังหิว ขณะที่เขากำลังตรีกตรองเรื่องความหิวและร่างกายที่เปลือยเปล่าอยู่นี้ พระอาทิตย์ก็ค่อนผ่อนคลายความแรงร้อนลง และกำลังสลัดอาภรณ์ที่นุ่งห่มคือนภากาศ ให้เคลื่อนคล้อยลงสู่อัสดง ณ หลังเขาอันไกลสุดขอบฟ้า จนลับดวงไปในที่สุด

ขณะนั้นฤษีประเภทปาศุบต (ปาศุปต) (ชื่อฤษีพวกนหนึ่งซึ่งเป็นสาวกของพระปศุบดี หรือพระศิวะ ผู้เป็นใหญ่ในสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย) ผู้หนึ่งก็เข้ามาในเทวาลัย มีร่างกายอันชะโลมด้วยเถ้าถ่านกระดูก (จากจิตกาธาน) มีมวยผมมุ่นไว้บนศรีษะ มือถือสามง่ามด้ามยาว (ตรีศูล) ดูราวกับพระศิวะองค์ที่สอง เมื่อแลเห็นจันทรสวามินก็ถามว่า “เจ้าคือใคร” จันทรสวามินก็เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด และก้มศรีษะแสดงความเคารพอย่างนอบน้อม ฤษีเมื่อได้ฟังดังนั้นก็กล่าวด้วยความเมตตาว่า “เจ้าหนุ่มเอ๋ย เจ้ากระเซอะกระเซิงมาถึงที่นี่ ซึ่งเป็นอาศรมของข้าโดยไม่นึกไม่ฝัน จงเป็นแขกของข้าเถิด ลุกขึ้น ไปอาบน้ำเสียก่อนแล้วค่อยมากินอาหาร ซึ่งข้าภิกษาจารมาเมื่อเช้านี้” เมื่อฤษีกล่าวดังนี้ จันทรสวามินก็กล่าวด้วยความเคารพว่า “ท่าสาธุที่เคารพ ตัวข้าเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด ข้าจะกินอาหารที่ท่านภิกษาจารมาได้อย่างไรเล่าขอรับ”

เมื่อฤษีผู้ใจดี ผู้ชำนาญพระเวทมนตรา ได้ฟังดังนั้นก็เดินเข้าไปในบรรณาศรม นั่งลงเข้าฌานสมาธิสักครู่หนึ่งก็เรียกรูปวิทยาให้ปรากก รูปวิทยานี้สามารถเนรมิตทุกสิ่งตามคำสั่งของผู้เป็นนายได้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฎต่อหน้าฤษีแล้วก็กล่าวว่า “ท่านจะใช้ให้ข้าพเจ้าทำอะไร จงบอกมาเถิด” ฤษีจึงบัญชาว่า “จงเตรียมของให้พร้อมสรรพเพื่อต้อนรับอาคันตุกะของข้า” รูปวิทยาก็ตอบว่า “ข้าจะทำทุกอย่างตามที่ท่านสั่ง” ทันใดนั้นจันทรสวามินก็แลเห็นกนกนคร (เมืองทอง) ปรากฎขึ้นต่อหน้า ประกอบด้วยอุทยานอันงามวิจิตร มีหญิงบาทบริจาริกาอยู่ในนั้นเป็นอันมาก นางเหล่านั้นเข้ามาใกล้จันทรสวามิน ผู้แลดูด้วยความอัศจรรย์ใจเป็นล้นพ้น นางกล่าวว่า “โปรดลุกขึ้นเถิด ตามข้ามา จงบริโภคอาหารอร่อยให้เต็มที่ แล้วลืมความเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเสียให้หมด” นางเหล่านั้นพาชายหนุ่มเข้าไปในเมืองทอง อาบน้ำให้ และลูบไล้ด้วยผงจันทน์หอม หลังจากนั้นก็ตกแต่งร่างกายของพราหมณ์หนุ่มด้วยภูษาภรณ์อันงามระยับ เสร็จแล้วก็นำจันทนสวามินไปยังอีกห้องหนึ่ง ณ ที่นั้นชายหนุ่มแลเห็นหญิงสาวผู้หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าของบริจาริกาพวกนั้น นางมีความสวยงามทุกสัดส่วนจนหาที่ติมิได้ จนดูราวกับว่า พระธาดาพรหมเป็นผู้สร้างนางขึ้นมาเป็นสมบัติของโลกโดยแท้ และพระองค์ทรงลืมไปแล้วว่าพระองค์ทรงสร้างนางขึ้นด้วยสาระวิเศษสิ่งใดบ้าง

นางลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงว่องไวเพื่อต้อนรับชายหนุ่ม และลงไปเชิญเขาให้ขึ้นมานั่งบนบัลลังก์ทองคู่กับนาง และชายหนุ่มก็ได้รับประทานอาหารซึ่งมีรสทิพย์ร่วมกับนาง และกินหมากซึ่งมีรสชาติเหมือนผลไม้ห้าชนิด

ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น จันทรสวามินตื่นขึ้นก็พบตัวเองนอนอยู่ในเทวาลัยพระศิวะ ไม่มีทั้งนครทอง เทพธิดาและแม้นางบาทบริจาริกาก็มิได้ปรากฎให้เห็นอีก ทันใดฤษีก็ออกมาจากอาศรมด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และถามว่าชายหนุ่มได้ผ่านราตรีนั้นมาด้วยความสุขวิเศษหรือไม่ จันทรสวามินซึ่งยังมีอาการงงงวยจับต้นชนปลายไม่ติด ตอบว่า “ข้าแต่สาธุผู้ประเสริฐ ด้วยความอนุเคราะห์ของท่าน ข้าพเจ้าหลับอย่างสุขสบายตลอดทั้งคืน แต่ในบัดนี้สิเมื่อตื่นขึ้นมา นางฟ้าของข้าพเจ้าก็หายไปแล้ว ข้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าปราศจากนาง” เมื่อฤษีได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะด้วยอารมณ์ดี กล่าวปลอบใจว่า “จงอยู่ที่นี่ต่อไปเถอะ แล้วเจ้าจะได้พบเห็นสิ่งที่เจ้าปรารถนาทุกอย่างในคืนนี้” เมื่อได้ยินดังนั้นจันทรสวามินก็ตกลงว่าจะอยู่ต่อไปอีก และด้วยความช่วยเหลือของฤษี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นและเป็นไปเหมือนคืนก่อน ทำให้ชายหนุ่มมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับภาพมายาทุกคืน

แต่ในที่สุด ชายหนุ่มก็รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เขาได้พบได้เห็นนั้นล้วนเกิดจากมายาทั้งสิ้น ดังนั้นในวันหนึ่ง ด้วยชะตากรรมบันดาล ชายหนุ่มเข้าไปหาฤษีและทำการประจบประแจงให้ฤษีพอใจ แล้วกล่าวว่า “ท่านสาธุขอรับ ถ้าท่านจะมีเมตตาสงสารข้าพเจ้าผู้เคราะห์ร้าย หนีมาพึ่งพาท่านเพราะไร้ที่พึ่งอื่นอีกแล้ว ขอท่านจงช่วยอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า ช่วยสั่งสอนวิทยาคมอันยิ่งใหญ่นี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

เมื่อถูกรบเร้าหนักเข้า ฤษีก็กล่าวว่า “คนอย่างเจ้าเข้าไม่ถึงวิชานี้หรอก เพราะมันจะต้องลงไปฝึกถึงใต้น้ำ และระหว่างที่ผู้ฝึกกำลังท่องมนตร์อยู่ใต้ท้องน้ำ รูปวิทยานี้ก็จะสร้างภาพหลอนให้ปรากฎแก่เขา เช่นทำให้เขารู้สึกเหมือนเกิดใหม่เป็นทารก แล้วเจริญวัยเป็นเด็ก จากนั้นก็เป็นหนุ่มแล้วก็แต่งงานตัวของผู้ทำพิธีจะเกิดจิตหลอนว่าตัวเองมีลูกชาย และลูกขายของเขาก็จะถูกหลอกให้เกิดความหลงผิดว่า เขามีเพื่อนที่เป็นคนดีคนหนึ่ง และเป็นศัตรูอีกคนหนึ่ง ตัวเขาจะหลงลืมแม้กระทั่งชาติกำเนิดที่บอกให้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้ตัวแม้แต่ว่าตนกำลังร่ายมนตร์ภาวนาเพื่อเข้าถึงวิชาอะไร แต่ใครก็ตาม เมื่อรู้สึกว่าเขาได้พากเพียรมาจนถึงยี่สิบสี่ปีแล้ว ก็จะกลับคืนสติตามเดิมด้วยมนตร์ของอาจารย์ และจะมีกำลังจิตที่มั่นคง สามารถจดจำชีวิตของตนเองได้ และรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เกิดจากมายา และถึงแม้ว่าเขาจะตกอยู่ในอิทธิพลของมายา เขาก็รู้จักมันดีที่สุด เขาได้เข้าถึงกองไฟซึ่งเผาไหม้ภาพมายาเหล่านั้น และสำเร็จวิทยาที่ต้องการในที่สุด หลังจากนี้เขาจะขึ้นมาจากน้ำ ได้แลเห็นความจริงในที่สุด แต่ถ้าศิษย์ผู้แสวงหาวิชานั้นยังไม่สามารถจะบรรลุถึงวิทยาอันสูงสุดได้ทั้ง ๆ ที่ข้าได้ทุ่มเทให้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ข้าก็ต้องพลอยสิ้นสูญไปด้วย บัดนี้ข้าว่าเจ้าก็ได้วิทยาที่ข้ามีจนหมดสิ้นแล้ว จะรีรออยู่ทำไมเล่า จงรู้ไว้เถอะวาวิทยาของข้าไม่มีวันตายหรอก เจ้าตระหนักดังนี้แล้วก็จงมีความยินดีเถิดว่า ความสุขสมปรารถนาของเจ้านั้นก็จะไม่สิ้นสูญเช่นเดียวกัน”

เมื่อฤษีกล่าวดังนี้แล้ว จันทรสวามินก็ยืนยันว่า “ข้ารับรองว่าข้าสามารถทำทุกสิ่งได้ตามใจปรารถนาแล้ว ท่านอย่ากังวลไปเลย”

อย่างไรก็ดี รูปวิทยานั้นเป็นสิ่งที่ได้ยาก ได้รับแล้วก็ปกครองยาก บังคับยาก เมื่อพลังจิตของผู้ฝึกยังไม่เข้มแข็งถึงที่สุดรูปวิทยาก็หนีไป ต้องฝึกกันต่อไปอีก ในกรณีของจันทรสวามินก็เช่นเดียวกัน ฤษีผู้เป็นอาจารย์รู้วาระน้ำจิตของลูกศิษย์ดีว่ายังไม่แกร่งเพียงพอที่จะผจญมายาได้ถึงที่สุด จะถูกล่อหลอกต่อไปอีกอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ปาศุบตนักพรตคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินไปยังฝั่งแม่น้ำ และกล่าแก่พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ว่า “ลูกเอ๋ย ขณะที่ร่ายมหามนตรานี้แล้ว เจ้าก็จะได้พบกับมาาอันเป็นภาพลวงตาลวงใจ ทำให้เกิดความสงสัยและเข้าใจไปต่าง ๆ นานา เพราะฉะนั้นข้าจะคอยส่งกระแสจิตตรวจดูเจ้าตลอดเวลา เมื่อเกิดติดขัดอันใด ข้าจะช่วยแก้ไขให้เจ้าอยู่บนฝั่วแม่น้ำนี้ตลอดเวลา” เมื่อจอมนักพรตกล่าวดังี้แล้วก็นั่งลงสำรวมจิตตั้งสมาธิยังจิตใจให้บริสุทธิ์คอยท่าอยู่ เพื่อติดตามจันทรสวามินต่อไป ซึ่งฝ่ายจันทรสวามินก็ชำระล้างหน้าให้บริสุทธิ์ และอมน้ำบ้วนปากหลายครั้งจนสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพรหมณ์หนุ่มก็เข้ามากระทำนมัสการต่อผู้เป็นอาจารย์ด้วยความเคารพ แล้วก็โผลงสู่แม่น้ำดำดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำทันที

เมื่อเขาร่ายมหามนตราอยู่ใต้แม่น้ำนั้น เขาก็เห็นภาพมายาปรากฎขึ้น ทำให้เขาลืมชาติกำเนิดของตนเองสิ้น เขาเห็นภาพตนเองในชาติกำเนิดใหม่ว่า เขาเป็นคนที่เกิดอยู่ในเมืองอื่นเมืองหนึ่งที่ไม่รู้จัก เป็นลูกของพราหมณ์คนหนึ่ง และตัวเขาเองค่อย ๆ เจริญวัยขึ้นทีละน้อย ๆ ในที่สุดเขาก็ได้สวมยัชโญปวีตสายธุรํามงคลอันแสดงถึงการเป็นพราหมณ์เต็มตัว และเขาได้ศึกษาคัมภีร์ พระเวทตามประเพณีพราหมณ์ด้วย จากนั้นก็แต่งงานมีภรรยา มีชีวิตเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างตามฐานะของคนที่แต่งงานแล้ว ในกาลต่อมาเขาก็มีบุตรชายคนหนึ่งและเขายังอาศัยอยู่ในเมืองนั้น วุ่นวายด้วยธุรกิจทำมาหากิน เลี้ยงดูลูกชายที่แสนรักและภรรยาที่แสนดี แวดล้อมด้วยพ่อแม่ญาติและบริวารทั้งปวง

ในขณะที่เขาดำรงชีวิตอยู่ตามภาพมายานั้น เขาก็เหินห่างจากความจริงคือชีวิตแท้ ๆ ซึ่งเขาเคยมีอยู่ นักพรตผู้เป็นครูซึ่งส่งกระแสจิตตามไปควบคุมโดยใกล้ชิ มิให้เขาหลงอยู่ในวงมายาที่ทำให้ห่างเหินไปจากความเป็นจริงไปทุกที ทันใดนั้นจันทรสวามินก็ตื่นจากภวังค์ในทันที เพราะกระแสจิตของผู้เป็นครูเข้าคุมอยู่โดยเข้มงวด ทำให้เขาได้สติกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และรู้ว่าแท้จริงสิ่งที่เขาพบผ่านมาเมื่อครู่ยามนั้นหาได้มีความจริงอยู่เลยแม้แต่น้อย เขาเห็นและรู้สึกไปเองโดยห้วงมายาโดยแท้ การหลุดจากมายาทำให้เขาคิดว่าตัวเองสำเร็จแล้ว หลุดพ้นแล้ว บังเกิดความกระหายที่เข้าสู่กองไฟเพื่อหวังวิทยาอันสุดยอดในทันที แต่เขาก็ถูกห้อมล้อมมะรุมมะตุ้มด้วยเพื่อนอาวุโส และเจ้านาย และวงศาคณาญาติ ผู้พยายามจะกีดขวางความสำเร็จของเขา แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะใช้วิธีการหลอกล่อเขาสักเพียงไรก็ไม่สำเร็จ ผลสุดท้ายหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมให้เคลิ้มกับการไปสู่สวรรค์เพื่อความบันเทิงสุขนิรันดร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มก็ยินยอมพาคนเหล่านั้นไปสู่ฝั่งแม่น้ำ และตระเตรียมกองไฟใหญ่ที่นั้น จันทรสวามินแลไป เห็นบิดามารดาผู้ชราของตนและภรรยา พร้อมที่จะเข้าสู่กองไฟด้วยความเศร้าโศก และบรรดาลูก ๆ ก็ร้องกระจองอแงไปหมด ในความสับสนของเหตุการณ์อันเกิดจากมายานั้น ชายหนุ่มกล่าวแก่ตนเองว่า “อนิจจาเอ๋ย บัดนี้ญาติพี่น้องของเราทั้งหมดกำลังจะตายถ้าเราเข้าสู่กองไฟ และเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คำมั่นสัญญาของอาจารย์จะจริงหรือไม่จริง จะให้เราเข้ากองไฟอย่างนั้นหรือ หรือเราจะไม่เข้าดีกว่า แต่คิดไปคิดมา คำมั่นสัญญาจะผิดได้หรือ เพราะเท่าที่ท่านสั่งไว้เป็นขั้นตอนมันก็ถูกอย่างที่ท่านว่า เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นสมจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจเข้ากองไฟละ” เมื่อพราหมณ์จันทรสวามินไตร่ตรองโดยตลอดแล้วก็เดินเข้าไปในกองไฟ

ทันใดที่เขาเข้าไปในกองไฟ ชายหนุ่มก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะไฟนันแทนที่จะร้อนแรงผลาญร่างกายดังที่คิด กลับเย็นยะเยือกดังหิมะ เขาก็ผลุดจากแม่น้ำทันที และมายาทั้งปวงถึงจุดอวสาน ชายหนุ่มรีบเดินไปตามฝั่งแม่น้ำเพื่อหาอาจารย์ ในที่สุดก็แลเห็นฤษีปาศุบตนั่งอยู่ริมแม่น้ำ ก็เดินเข้าไปลดตัวลงกราบแทบเท้าอาจารย์ และเมื่อผู้เป็นอาจารย์ซักถาม เขาก็บรรยาให้ทราบเรื่องที่เกิดจากมายาทุกสิ่งทุกอย่าง และจบลงด้วยเรื่องไฟเย็น เมื่อได้ฟังดังนี้ ผู้เป็นอาจารย์ก็กล่าวกะเขาว่า “ลูกเอ๋ย ข้าเกรงว่าเจ้าจะทำอะไรผิดตอนร่ายมหาเวทเสียละกระมัง หาไม่แล้วไฟจะเย็นสำหรับเจ้าได้อย่างไร ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ปรากฎแก่เจ้าในการแสวงหารูปวิทยานั้น ต้องผิดพลาดแน่ ๆ” เมือ่จันทรสวามินได้ยินการวิพากษ์ของอาจารย์ ดังนั้นก็ตอบว่า “ท่านสาธุขอรับ ข้าพเจ้าแน่ใจยว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”

ปาศุบตผู้เป็นอาจารย์เห็นว่าเรื่องนี้มีอะไรที่ผิดความคาดหมายอยู่ จึงตั้งใจจะสืบสวนเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง จึงตั้งสมาธิเพ่งรูปวิทยาให้ปรากฎในฌาน แต่รูปวิทยาไม่ปรากฎให้ทั้งอาจารย์และศิษย์ ดังนั้นทั้องสองคนก็ได้ประจักษ์ว่ารูปวิทยานั้นหนีไปแล้ว ทั้งสองก็เดินคอตกกลับไปอย่างสิ้นหวัง

เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลงก็ตั้งคำถามต่อพระเจ้าตริวิกรมเสน หลังจากที่ทูลเตือนพระราชาให้ตระหนักถึงเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อกันมาก่อนว่า “โอ ราชะ ขอได้โปรดแก้ปัญหาให้ข้าหน่อย ทรงเฉลยมาสิว่า ทำไมรูปวิทยาจึงสูญหายไปจากคนทั้งสอง ในเมื่อเขาร่ายมหาเวทอย่างถูกต้องตามที่บรรยายไว้ทุกประการ” เมื่อพระวีรกษัตริย์ได้ฟังคำถามของเวตาลเช่นนั้น ก็ตอบว่า “ข้ารู้ เจ้าจอมขมังเวทเจ้ากำลังหลอกล่อให้ข้าเสียเวลาเปล่า แต่เอาเถอะ ข้าจะตอบเจ้า คนเราจะเข้าถึงความสำเร็จเพราะการปะกอบพิธีรีตองที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวก็หามิได้ ทั้งนี้เว้นไว้เสียแต่ว่า จิตของเขาจะมั่นคงเด็ดขาด ตั้งอยู่ในความกล้าหาญอันไร้มลทินโทษโดยสิ้นเชิง ไม่หยุดยั้งรีรอในการติดสินใจให้แน่วแน่ ปราศจากความกวัดแกว่งไม่แน่นอน ถึงแม้ครูของเขาจะส่งพลังจิตไปช่วยแล้วก็ตาม ดังนั้น มหาเวทที่เขาร่ายอยู่จึงไม่ทำให้เขาได้บรรลุความสำเร็จ ส่วนครูของเขาเองก็สูญเสียอำนาจในการควบคุมมายาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะเขาให้สิ่งที่ดีต่อคนที่ไม่สมควรจะได้รับ”

เมื่อพระราชาทรงอธิบายดังนี้ เวตาลผู้ยิ่งใหญ่ก็ละจากพระอังสาของพระราชาทันที ด้วยมนตร์เวทที่กำบังสายตามิให้ใครเห็น กลับคืนไปสู่สำนักของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับไปจับตัวมันมาอีกครั้งหนึ่ง

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๗ เรื่องของพระเจ้ายโศธน กับ นางอุนมาทินี บุตรีเศรษฐี

นิทานเรื่องที่
๑๗



พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องจำพระทัยเสด็จย้อนกลับไปที่เก่า ถึงต้นอโศก ก็จับตัวเวตาลมาเกาะที่พระอังสาตามเดิม เมื่อเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็พูดออกมาจากย่ามที่พระราชาทรงคล้องไว้ที่พระอังสาว่า “ฟังนี่แน่ะราชะ เพื่อไม่ให้เกิดการเดินทางที่ไร้รสชาติ ข้ามีเรื่องสนุกจะเล่าถวาย ดังต่อไปนี้

มีนครหนึ่งชื่อกนกนคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ความบาปความชั่วหาอาจเข้าถึงไม่ ในนครนี้มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้ายโศธน ผู้มีความแข็งแกร่งประดุจหินผาริมฝั่งทะเลที่คอยกั้นขวางมิให้แผ่นดินต้องถล่มทลายลง พระราชาถึงแม้จะไม่ชำนิชำนาญในการเข่นฆ่าศัตรูในดินแดนใกล้เคียง แต่ก็ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปศาสตร์แทบทุกสาขา บรรดาไพร่ฟ้าประชากรต่างสดุดีพระองค์ว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมและเกรงกลัวต่อบาป ไม่ทรงเบียดเบียนก้าวก่ายละเมิดต่อภรรยาของผู้อื่น พระองค์มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความรัก

ในพระนครของพระราชาองค์นี้ มีวาณิชมหาศาลอยู่คนหนึ่ง มีบุตรหญิงที่ยังมิได้แต่งงานชื่อ อุนมาทินี ผู้ซึ่งใครก็ตามถ้าได้ยลโฉมนางก็จะพิศวงงงงวยเคลิบเคลิ้มเสียสติไปทุกราย เพราะนางนั้นงามนัก แม้พระกามเทพเอง ถ้าได้เห็นนางก็คงจะเผลอไผลอารมณ์หลงรูปของนางอย่างแน่นอน ต่อมานางเจริญวัยขึ้นเป็นสาวเต็มตัว พ่อค้าผู้เป็นบิดาของนางเป็นคนหัวใส แลเห็นว่านางจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ตน จึงพานางไปเผ้าพระราชายโศธนและกราบทูลว่า “โอ้พระนรบดี ข้ามีธิดาคนหนึ่งสมควรแก่การจะออกเรือนแล้ว นางเปรียบประดุจดวงมุกดาของทั้งสามโลก ข้ามิอาจจะยกนางให้แก่ชายใดได้ โดยมิได้กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบก่อน โอ นฤเบศร บรรดามณีรัตน์ทั่วไปในแหล่งหล้าล้วนเป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ธิดาของข้าก็เช่นเดียวกัน เป็นมณีดวงหนึ่งในแหล่งหล้านี้ ข้าจึงขอถวายนางให้แก่พระองค์ จะทรงรับไว้ หรือจะทรงปฏิเสธก็สุดแต่พระวินิจฉัยของพระองค์เถิด”

เมื่อพระราชาได้ฟังดังนั้น ก็ทรงส่งพราหมณ์คณะหนึ่งของพระองค์ออกไปตรวจดูว่า นางอุนมาทินีเป็นผู้มีบุณยลักษณะของกัลยาณีครบถ้วนหรือเปล่า คณะพราหมณ์เดินทางไปถึงคฤหาสน์ของพ่อค้า ได้แลเห็นโฉมนางอุนมาทินีผู้มียอดมงกุฏของนางงามในไตรโลก ก็เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงเหมือนคนบ้าไปชั่วขณะ ในที่สุดรวบรวมสติได้ก็รำพึงว่า “ถ้าพระราชาของเราได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงผู้นี้แล้วไซร้ พระราชอาณาจักของพระองค์คงถึงความวินาศเป็นแน่เท้ เพราะพระหฤทัยของพระงอค์คงจะปั่นป่วนวุ่นวายหาความสงบมิได้ เมื่อเป็นดังนี้พระองค์จะปกครองแว่นแคว้นต่อไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะไม่กราบทูลพระราชาว่าหญิงนี้มีสิริอันควรแก่การยกย่องแต่อย่างใด” เมื่อได้สดับถ้อยคำของคณะพราหมณ์ พระราชาก็มีพระทัยเอนเอียงไปตามคำเพ็ดทูลนั้น และไม่ไยดีต่อนางอีก

และโดยพระราชโองการของพระราชา อนุญาตให้นางอนุมาทินีแต่งงานกับคนอื่นได้ บิดาของนางจึงให้นางแต่งงานกับเสนาบดี (แม่ทัพ) ของแว่นแคว้นผู้มีชื่อว่า พลธร นางอยู่กับสามีด้วยความสุขในบ้านของนางมาช้านาน แต่นางก็ไม่วายผู้ใจเจ็บพระราชาที่ไม่ไยดีต่อนาง ด้วยเหตุผลว่านางเป็นคนไม่มีสิริ นางจะต้องให้พระราชาสำนึกในวันหนึ่งในให้จงได้

แล้วเวลาก็ผ่านไป ในที่สุดสีหราชแห่งฤดูวสันต์ก็เข้ามาเยือน ฆ่าคชสารแห่งฤดูเหมันต์ผู้มีงาอันขาวนวลคือเถามะลิเลื้อย และเป็นผู้เหยียบย่ำกอบัวให้แหลกลาญด้วยงวงของมัน (ช้างเหยียบย่ำกอบัวแหลกลาญ หมายความว่าในฤดูหนาวนั้น ดอกบัวต่างก็เหี่ยวเฉาตายไปเป็นอันมาก ท่านจึงว่าฤดูหนาวเป็นศัตรูอันร้ายกาจของบัว ในข้อความนี้มีการเปรียบฤดูหนาวเหมือนช้าง ซึ่งเป็นผู้ทำลายกอบัวเช่นเดียวกัน) และในวนารัญอันไพศาลนั้นแล พญาสีหราชก็เล่นสนุกระเริงตนอย่างเต็มที่ มันมีสร้อยคอยาวสวยคือลัดามาลีที่แกว่งไกวไปมาตามกระแสลม และมันมีอุ้งเท้าคือช่อมะม่วงอันเป็นพุ่มพวงทุกกิ่งก้านของพฤกษา ในฤดูแห่งความบันเทิงเบิกบานนี้แล พระราชายโศธนก็เสด็จมาทอดพระเนตรการฉลองฤดูในพระนครตามปกติเช่นที่กระทำมา พระองค์เสด็จทรงพระคชาธารตัวประเสริฐ ทอดพระเนตรสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความเพลิดเพลินพระทัย ระหว่างที่เสด็จไปนั้น พนักงานนำเสด็จก็ตีกลองชนะเป็นสัญญาณให้ผู้คนในถนนหลบหลีกไปให้พ้นทางเสด็จ ราวกับว่าการจ้องดูพระสิริโฉมของพระองค์ย่อมนำมาซึ่งความพินาศ

เมื่อนางอุนมาทินีได้ยินเสียงกลองนำเสด็จมาตามทาง นางก็รู้ว่าพระราชากำลังจะเสด็จผ่านมาทางบ้านของนาง จึงรีบขึ้นไปปรากฏตัวบนดาดฟ้าของคฤหาสน์ที่นางอยู่เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินแลเห็น นางจ้องดูขบวนเสด็จอย่างใจจดใจจ่อด้วยความพยาบาท เพราะพระราชาเคยปฏิเสธไม่ยอมรับนางในครั้งก่อน โดยอ้างว่านางไร้สิริมงคล นางรออยู่มินานกระบวนเสด็จก็ผ่านมาถึง พระราชาทอดพระเนตรขึ้นไปบนดาดฟ้า แลเห็นนางอุนมาทินีก็สะดุ้งพระทัยเหมือนถูกศรชัยของกามเทพเสียบพระทัย มีความรู้สึกเหมือนถูกไฟแผดเผาให้ร้อนรุ่มมิรู้คลาย ถึงแม้ลมอ่อนแห่งฤดูวสันต์ที่โชยมาจากภูเขามลยะ ก็มิได้ช่วยให้เย็นพระทัยขึ้นเลยขบวนเสด็จเคลื่อนต่อไปจนรอบพระนครแล้วกลับเข้าสู่พระราชวัง พระราชาผู้ทรงหลงใหลและดื่มด่ำในรสเสน่หาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เรียกมนตรีและคณะพราหมณ์เข้ามาสอบถาม ว่าหญิงที่อยู่บนดาดฟ้าของบ้านพ่อค้าใหญ่ คือธิดาของพ่อค้าที่เคยคิดจนำนางมาถวายพระองค์ แต่พระองค์ปฏิเสธนางไปใช่หรือไม่ ด้วยเหตุที่นางไร้สิริมงคล พรรรคพวกที่ถูกไต่สวนก็ยอมรับว่าจริง พระราชาทรงพระพิโรธยิ่งนัก สั่งให้เนรเทศคนเหล่านั้นออกจากราชอาณาจักรโดยทันที เมื่อเนครเทศคนต้นเหตุไปแล้ว พระราชาก็เก็บพระองค์อยู่ตามลำพังเงียบ ๆ เฝ้าคิดถึงนางผู้เป็นยอดพิสมัยทุกค่ำคืน และรำพันว่า “อา ทำไมจิตวิญญาณของข้าจึงมืดทึบนัก และพระจันทร์เล่าก็หายางอายมิได้ พยายามที่จะขึ้นมาสะเออะอวดโฉม ทั้ง ๆ ที่นางผู้พิมลพักตร์ของข้าก็อยู่แค่นี้เอง ใครจะเปรียบกับนางผู้เป็นมิ่งขวัญของข้าได้เล่า” ดำริในพระทัยเช่นนี้แล้ว พระราชาผู้ถูกไฟรักเผาผลาญก็ปลีกพระองค์ห่างจากคนทั้งหลาย หลบลี้อยู่แต่พระองค์เดียว วันแล้ววันเล่าไม่ยอมพบใคร ๆ แต่ในที่สุด ด้วยความความละอายพระทัยพระองค์ทรงเรียกมหาดเล็กคนสนิทให้เข้ามาเฝ้า ตรัสถามว่าพระองค์จะทำอย่างไรดีในสถานการณ์เช่นนี้ เสวกคตนสนิทก็กราบทูลแนะว่า “ข้าแต่พระนรบดีไฉนพระองค์ทรงวิตกเช่นนี้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร พระองค์เป็นเจ้าแผ่นดิน ทุกอย่างเป็นของพระองค์ เมื่อมีพระประสงค์ในตัวนางก็พานางมาสิพระเจ้าข้า นางจะขัดขืนได้อย่างไร ถ้าพระองค์มีบัญชา” พระราชาทรงเป็นผู้ทรงคุณธรรม ได้ฟังคำแนะนำดังนั้น เห็นผิดระบอบชอบธรรม ก็ไม่อาจจะทำตามได้ จึงทรงนิ่งเสีย

ฝ่ายพลธรอัครเสนาบดีได้ทราบข่าวที่แพร่ออกมาดังนี้ ก็ไม่มีความสบายใจ เพราะเขาเป็นผู้จงรักภักดีและยินยอมสละทุกอย่างเพื่อพระเจ้าแผ่นดินอย่างแท้จริง ก็รีบเข้าเฝ้าพระราชาโดยทอดตัวเองลงแทบพระบาทและกราบทูลว่า “โอ้พระนฤบดินทร์ ขอพระองค์ทรงรับนางทาสผู้นี้ไว้เถิด โดยทรงคิดเสียว่า นางเป็นทาสของพระองค์มิใช่เป็นเมียของเสนาบดีอย่างข้าพระบาทหรือของใคร ๆ และข้าขอถวายนางต่อพระองค์ด้วยความเต็มใจ โปรดทรงรับนางไว้เถิด หรือมิฉะนั้นข้าจะสละนางให้เป็นเทพทาสีในเทวาลัย อันจะทำให้นางเป็นอิสระมิได้เป็นของชายใดโดยเฉพาะ และด้วยประการฉะนี้ พระองค์จะได้ไม่ต้องทรงคิดต่อไปว่านางเป็นเมียของคนอื่น” เมื่ออัครเสนาบดีกราบทูลวิงวอนดังนี้ พระราชาก็กล่าวตอบอย่างทรงพิโรธว่า “ข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ข้าจะทำสิ่งที่ไร้คุณธรรมเช่นนั้นได้อย่างไร ถ้าข้าจะละทิ้งความชอบธรรมเสียแล้ว ใครเล่าจะซื่อสัตย์ต่อนห้าที่ของตนต่อไปอีก และสำรหับตัวเจ้าผู้มีความจงรักภักดีต่อข้า ทำไมมายุให้ข้าทำบาปเช่นนี้ ซึ่งแน่ละมันอาจจะให้ความบันเทิง สุขชั่วแล่น แต่ข้าจะมีความผิดมหันต์ จะต้องชดใช้กรรมในปรโลก และถ้าเจ้ายังคิดที่สละเมียให้แก่ข้าอีก ข้าก็จะไม่ปล่อยให้เจ้าลอยนวลต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษ เพราะใครก็ตามที่อยู่ในฐานะอย่างข้าจะทนทานต่อความไร้ศีลธรรมได้หรือ เพราะฉะนั้นข้าว่าความตายเท่านั้นที่สมควรแก่ข้าในภาวะเช่นนี้”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ที่คัดค้ามิให้พระราชายอมรับข้อเสนอของแม่ทัพได้ เพราะทรงถือว่าเกิดเป็นผู้มีเกียรติแล้ว สู้ยอมตายเสียดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ การตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดของพระราชาเช่นนี้ ทำให้ทุกคนตระหนักว่าจะทูลเสนอเรื่องทำนองนี้สักเท่าใดก็จะมีผลอย่างเดียวกัน คือถูกปฏิเสธ

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ ก็ไม่มีทางจะเยียวยาอีก พระราชาซูบผอมลงทุกวัน บรรทมแซ่วอยู่บนพระที่ ถูกทรมานด้วยไฟเสน่หาอันมีความรุนแรงเผาไหม้อยู่ตลอดวันตลอดคืน คงเหลือแต่พระนามและพระเกียรติเท่านั้นทียังคงอยู่มิได้สิ้นสูญไปตามกำลังความร้อน แต่อัครเสนาบดีพลธรผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชาของตน ไม่อาจจะปล่อยให้พระราชาต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป อันจะนำความพินาศมาสู่พระองค์ในที่สุด ดังนั้นเขาจึงเข้ากองไฟเผาตัวเองจนสิ้นชีวิต ในฐานที่เป็นจอมทัพผู้ไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือเจ้านายของตนเองให้รอดพ้นจากความตาย

เมื่อเวตาลซึ่งนั่งอยู่บนอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่าเรื่องจบ่ลงก็ทูลถามพระเจ้าแผ่นดินว่า “โปรดทรงตัดสินด้วยเถิดราชัน ในระหว่างบุคคลทั้งสองในเรื่องนี้ ใครเป็นคนสัตย์ซื่อยิ่งกว่ากัน จอมพล หรือพระราชา แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทรงตอบ โปรดรำลึกไว้ด้วยว่า เรามีข้อตกลงกันว่าอย่างไร ข้ายังถือสัญญานั้นอยู่นะพระเจ้าข้า” เมื่อเวตาลกล่าวดังนี้ พระราชาก็ทรงนิ่งไปครู่หนึ่งแต่จะไม่ตอบปัญหาก็ทนอยู่ไม่ได้จึงตรัสว่า “ในระหว่างบุคคลทั้งสองนั้น ข้าว่าพระเจ้าแผ่นดินนั่นแหละซื่อสัตย์ที่สุด” เมื่อเวตาลได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวต่อพระราชาเชิงตำหนิว่า “ทรงเฉลยมาสิว่าเหตุใดพระองค์จึงเห็นว่าพระราชาเหนือกว่าแม่ทัพในกรณีนี้ เพราะถ้าจะพูดอย่างยุติธรรมจริง ๆ แล้ว อัครเสนาบดีควรจะมีความสัตย์ซื่อเหนือกว่า ชายผู้นี้รู้จักเสน่ห์อันลึกซึ้งของหญิงผู้เป็นภรรยาของเขาอยู่เต็มอกในฐานะที่อยู่กินกันมาช้านาน เขารักนางเพียงไรใคร ๆ ก็รู้ แต่แม้กระนั้นเขาก็ยังเสียสละ โดยถวายนางให้แก่พระราชา เพราะเขารักพระองค์มากกว่า และเมื่อพระราชาสิ้นชีวิตแล้วเขาก็ยอมตายตามพระองค์โดยเข้าสู่กองไฟ แต่พระราชานั่นสิมิได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับนางเลย ยังปฏิเสธไม่ยอมรับนางด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ผู้เป็นสามีต้องเสียสละอย่างสุดยอด มอบนางให้แก่พระองค์ด้วยความเต็มใจ”

เมื่อเวตาลกล่าววิจารณ์ดังนี้ พระเจ้าตริวิกรมเสนก็ทรงพระสรวลด้วยความขบขัน และตรัสว่า “เจ้าจงยอมรับความจริงในเรื่องนี้สิ ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจในเรื่องนี้สักนิด ความจริงก็คือ อัครเสนาบดีผู้นั้นเป็นผู้มีสกุลรุนชาติสูงก็จริง และการที่เขาแสดงออกซึ่งความภักดีต่อเจ้านายเช่นนั้นเป็นสิ่งแปลกหาได้ยากนักหรือ เพราะใครที่รับใช้เจ้านายเช่นนั้น ก็ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้านายของตนเป็นธรรมดา แม้จะยอมเสียสละชีวิตของตนก็ไม่เห็นแปลกอะไร มันเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่ผู้ที่เป็นพระราชานั้นโดยปกติเป็นผู้มีความเย่อหยิ่ง ยากที่ใครจะบังคับได้ มีลักษณะเหมือนช้างป่าที่ควบคุมมิได้ เมื่อคนประเภทนี้เกิดความหมกมุ่นหลงใหลในกามสุขแล้วไซร้ สายโซ่แห่งศีลธรรมหรือคุณธรรมก็รั้งไว้ไม่อยู่ ต้องขาดผึงออกจากกันทันที ทั้งนี้ก็เพราะจิตใจของเขาท่วมท้นไปด้วยแรงเสน่หาเสียแล้ว และความรับผิดชอบใด ๆ ก็ถูกชำระล้างออกไปจากใจ เหมือนบุคคลเหล่านั้น ถึงแม้จะได้รับน้ำอภิเษกในพิธี แต่ก็ถูกกวาดหายไปหมด และถ้าจะเปรียบเหมือนพัดวาลวิชนีที่เคยรำเพยลมอ่อน ๆ ต่อผู้ที่คร่ำเคร่งในการศึกษาอย่างใจจดใจจ่อต่อพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้เย็นชื่นใจอย่างละเมียดละไม ก็กลายเป็นพัดที่โบกมาเพื่อไล่แมลงหรือยุงเท่านั้น หรือจะเปรียบอีกทีก็เหมือนฉัตรที่ใช้กำบังแสงพระอาทิตย์เท่านั้น ทั้งที่มันควรจะกางกั้นความจริงมิให้เป็นอันตรายมากกว่า ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินผู้ชนะตลอดสามโลกอย่างพระจักรพรรดินหุษผู้เกรียงไกรยังหลงเล่ห์ของพญามาร ทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่พระราชายโศธนองค์นี้ ถึงจะมีฉัตรอันสูงใหญ่ปกทั่วพิภพ ก็หาได้ยอมตกอยู่ใต้เสน่ห์ของนางอุนมาทินี ผู้งามละม้ายแม้นพระลักษมีเทวี ว่าตามจริง พระราชานั้นถึงสภาพการณ์จะเป็นเช่นไรก็หาได้เหยียบพระบาทลงบนทางผิดไม่ พระองค์สู้ยอมเสียชีวิตโดยประกาศไม่ยอมทำผิดจารีตอันเป็นหลักแห่งความประพฤติของบุคคลทุกคน สู้สละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจธรรมโดยแท้ พระองค์จึงประเสริฐกว่าอัครเสนาบดีแน่นอน

เมื่อเวตาลได้ยินคำเฉลยของพระเจ้าตริวิกรมเสนดังนั้น ก็ไม่ยอมเสียเวลาต่อไปแม้แต่ชั่วอึดใจ รีบเผ่นจากพระอังสาของพระราชา หายวับไปในความมืดกลับไปสู่ที่พำนักของตนตามเดิม พระราชาต้องเสด็จติดตามไปอย่างรวดเร็ว จนถึงต้นอโศกและดึงตัวเวตาลกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมหาบุรุษจะละทิ้งกิจธุระของตนไว้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยเริ่มต้นมาแล้วอย่างลำบากยากเย็นแสนเข็ญหาได้ไม่ ถึงจะมีอุปสรรคก็จะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๖ เรื่องของเจ้าชาย ชีมูตวาหน กับนาคชื่อ ศังขจูฑะ

 นิทานเรื่องที่
๑๖


            พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศก ดึงเวตาลลงจากกิ่ง เอาพาดไว้บนพระอังสาตามเดิม และในขณะที่เดินทางกลับไปทางเก่านั้น เวตาลก็กล่าวขึ้นอีกว่า "ราชะ โปรดฟังข้าสักนิด ข้ามีเรื่องดี ๆ จะเล่าให้พระองค์ฟัง"

            ในโลกอันไพศาลนี้ มีขุนเขาอันใหญ่มหึมา ชื่อภูเขาหิมวัต อุดมด้วยรัตนากรมากมายเป็นล้นพ้น และ ณ ที่นี้ก็เป็นที่เกิดของเทวีพี่น้องคือ พระคงคาและพระเคารี (พระอุมา) ผู้เป็นที่โปรดปรานของพระศิวะ ภูเขาอันมีนามกระฉ่อนนี้ยังหาได้มีคนหนึ่งคนใดเคยปีนขึ้นไปถึงยอดไม่ มหาบรรพตนี้จึงชูยอดตระหง่านล้ำภูเขาทั้งปวง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้แล จึงมีเหล่ากวีแต่งเพลงขับร้องสดุดีไปตลอดทั้งสามโลก ที่ไหล่เขาหิมวัตนี้เองเป็นที่ตั้งของเมืองกนกนคร (เมืองทอง) ซึ่งมีความสว่างไสวแพรวพราวราวกับแสงแห่งสูรยะที่ส่องระดมลงมายังพื้นพิภพโดยเฉพาะ

            แต่กาลนานลึกดึกดำบรรพ์มาแล้ว เมืองทองดังกล่าวนี้เป็นที่อยู่ของเหล่าวิทยาธรทั้งหลาย ซึ่งมีพระเจ้าชีมูตเกตุเป็นพระราชา งามสง่าดังพระอินทร์ประทับอยู่บนเขาพระสุเมรุ ในพระราชอุทยานของพระองค์มีต้นไม้สารพัดนึก (กัลปพฤกษ์) ่ต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่หวงแหนของราชตระกูลเป็นอย่างยิ่ง ต้นไม้ต้นนี้มิได้มีชื่อว่า "ผู้ให้ตามใจปรารถนา" โดยไร้เหตุผลก็หามิได้ พระราชานับถือบูชาต้นไม้สวรรค์ต้นนี้อย่างจริงใจ และทรงขอพระโอรสองค์หนึ่ง ในกาลต่อมาพระองค์ก็ได้โอรสสมความปรารถนา พระกุมารองค์นี้สามารถระลึกชาติได้ และเป็นพระโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิด เจ้าชายเป็นผู้ที่กล้าหาญยิ่งและมีความเก่งกล้าสมเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้มีน้ำพระทัยเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกทั้งหลายโดยทั่วหน้า เจ้าชายผู้ทรงคุณธรรมอันโดดเด่นนี้ มีพระนามว่า ชีมูตวาหน และเมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาก็สถานปนาให้เป็นมกุฏราชกุมาร เพราะทรงมีคุณสมบัติดีเลิศ เป็นที่พึ่งของอำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลาย

            เมื่อชีมูตวาหนได้เป็นเจ้าชายรัชทายาทใหม่ ๆ ปรากฎว่าเหล่ามนตรีมีความเป็นห่วงในเรื่องสมบัติอันประเสริฐของแว่นแคว้นคือ ต้นกัลปพฤกษ์เป็นอันมาก ได้พากันมาเฝ้าและทูลว่า "ข้าแต่พระกุมาร บ้านเมืองของเรานี้เจริญรุ่งเรืองก็เพราะเรามีต้นกัลปพฤกษ์อันสุดประเสริฐหาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้เป็นหลักบ้านเมืองอยู่ ตราบใดที่เรายังมีต้นไม้นี้อยู่ แม้พระอินทร์และศัตรูเหล่าร้ายใด ๆ ก็หาอาจทำอันตรายเราได้ไม่" ชีมูตวาหนได้ฟังดังนั้นก็รำพึงว่า "อนิจจาเอ๋ย บรรพบุรุษของเรา และแม้คนปัจจุบันเหล่านั้น จะมีต้นไม้อันประเสริฐนี้อยู่ ก็หาได้อะไรอันสมควรจากต้นไม้นี้ไม่ เขาปราถนากันแต่เพียงสมบัติพัสถานเพื่อตนเองแทบทั้งสิ้น เขาทำให้ค่าของตนต่ำทรามลง และทำให้ต้นไม้นี้พลอยถูกเหยียดหยามไปด้วย ดีละ ข้าจะทำอะไรดังที่ข้าคิดไว้มั่ง" คิดดังนั้นแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระบิดาในที่ประทับรโหฐานและทูลว่า "พระบิดาเจ้าข้า ข้ามีความคิดว่า บรรดาชาวโลกทั้งหลายนี้ล้วนมีความคิดว่าชีวิตนี้เป็นที่รื่นรมย์หาที่สุดมิได้ เกิดมาแล้วต้องเสวยสุขให้เต็มที่ หารู้ไม่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ ชีวิตของคนเราสั้นนัก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนคลื่นในทะเลที่วิ่งเข้าสู่ฝั่งแล้วก็แตกทำลายไป ทรัพย์ศฤงคารที่ได้มาก็เช่นเดียวกัน มันเกิดได้ มันก็เสื่อมสูญได้ ทางที่สมควรซึ่งคนเราควรประพฤติปฏิบัติก็คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน นั่นต่างหากที่เป็นหลักธรรมอันควรประพฤติร่วมกัน หลักนี้ปรากฏอยู่ยงคงทนมาแล้วนับร้อย ๆ ยุค พระบิดาเจ้าข้า ขอให้ข้าได้ทำสิ่งที่ต้องการตามความมุ่งหมายของข้าเถิด ข้าจะขอสิ่งอันพึงปรารถนาให้แก่เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมโลก ให้เขามีความสุขโดยทั่วหน้าเถิด"

            เมื่อพระบิดาตรัสว่า "ตามใจเจ้าเถิด" ชีมูตวาหนก็ถวายบังคมลาออกไปยังต้นกัลปพฤกษ์ และกล่าวแก่ต้นไม้ทิพย์ว่า "โอ เทวะ พระองค์ได้ประสิทธิ์ประสาทสิ่งอันใคร ๆ ปรารถนามาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน ครั้งนี้ข้าทูลขออย่างเดียวเท่านั้น ข้าขอให้ชาวโลกจงปราศจากความยากจน และขอความมีโชคจงสถิตอยู่กับเขาเหล่านั้น จงไปเถิด ขอให้ทำได้สำเร็จสมความมุ่งหมาย ข้ายกเจ้าให้แก่โลกของผู้ที่ปรารถนาความมั่งคั่งร่ำรวยเหล่านั้นแล้ว จงไปเถิด" เมื่อชีมูตวาหนกล่าวพร้อมกับพนมมือแสดงความเคารพเช่นนี้แล้ว ก็มีเสียงมาจากต้นกัลปพฤกษ์ว่า "เมื่อท่านปล่อยข้าแล้ว ข้าก็ขอลาจากท่าน ณ บัดนี้" และในฉับพลันนั้น ต้นไม้สารพัดนึกก็ลอยขึ้นสู่สวรรค์ และหลั่งฝนแห่งแก้วแหวนเงินทองโปรยพรั่งพรูลงสู่โลกมากมาย และคนยากจนทั้งหลายทั่วโลกก็ได้รับสมบัตินั้นโดยทั่วหน้ากัน มิได้ละเว้นผู้ใดแม้แต่คนเดียว ด้วยผลแห่งการทำความดีเช่นนี้ ทำให้ชีมูตวาหนได้รับการแซ่ซ้องสาธุการตลอดสามโลก

            การกระทำครั้งนี้ ทำให้บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงเดือดร้อนและแค้นมากเพราะ "ผู้ให้สมบัติ" คือกัลปพฤกษ์ต้นนั้นได้ลอยไปสู่สวรรค์แล้ว เพราะฝีมือของชีมูตวาหน ทำให้พวกตนพลอยหมดลาภไปด้วย จึงรวมหัวกันนำบริวารมาล้อมวังเพื่อจะขับไล่ชีมูตวาหน และบิดา ออกไปจากราชอาณาจักร ชีมูตวาหนแลเห็นดังนั้นก็กล่าวแก่พระเจ้าชีมูตเกตุผู้บิดาว่า "ท่านพ่อ เราจะเกณฑ์กำลังคนไปสู้กับพวกเขาเราก็ทำได้ แต่นั่นหมายถึงสงครามและการเสียเลือดเนื้อ ถ้าคนใจกว้างมีความปรารถนาจะครองอาณาจักรแล้วละก็ เขาจะต้องฆ่าฟันพวกญาติพี่น้องของเขาตายเป็นเบือ เพียงเพื่อสนองความปรารถนาของเขาเท่านั้นหรือ เขาจะต้องทำอย่างนี้แลหรือ ดังนั้นราไชศวรรย์จะมีประโยชน์อันใดแก่เราสองพ่อลูกอีกต่อไปเล่า ลูกว่าเราควรจะเป็นฝ่ายจากไปดีกว่า ไปหาที่อยู่ใหม่ที่ไม่วุ่นวาย เป็นที่สงบสุขเหมาะแก่การบำเพ็ญพรตภาวนา ปล่อยให้พวกญาติที่น่าสงสารเหล่านั้นผจญกันเอง เพราะความโลภเป็นสาเหตุ เขาอยากได้อาณาจักรก็ให้เขาเอาไปเถอะ"

            เมื่อชีมูตวาหนกล่าวดังนี้ พระเจ้าชีมูตเกตุผู้เป็นบิดาก็ตรัสว่า "ลูกเอ๋ย พ่ออยากได้อาณาก็เพื่อลูกเท่านั้น ถ้าเจ้าผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมต้องการสละมัน มันจะมีค่าอะไรสำหรับพ่ออีกเล่า พ่อแก่แล้วจะปรารถนาอะไรอีก"

            เมื่อพระเจ้าชีมูตเกตเห็นชอบด้วยตามข้อสเนอของโอรส ชีมูตวาหนก็พาบิดาพร้อมด้วยมารดาหนีออกจากวัง เดินทางไปยังภูเขามาลยะ สละราชสมบัติไว้เบื้องหลังอย่างสิ้นอาลัยไยดี ณ ที่นั้นชายหนุ่มก็เสาะแสวงหาชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งอาศรม และได้พบหุบเขาซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน มีป่าจันทน์ห้อมล้อมรอบดูมิดชิดดี ก็ลงมือสร้างบรรณาศรมอยู่ ณ ที่นั้น และดำรงชีวิตอย่างผาสุกปรนนิบัติพ่อแม่ด้วยความรักความอาทร มีความสงบสุขไร้ความกังวลใด ๆ ในกาลต่อมาชีมูตวาหนก็ได้เพื่อนใหม่คนหนึ่งชื่อ มิตราวสุ เป็นบุตรของหัวหน้าคณะนักสิทธิ์ผู้พำนักอยู่บนภูเขามาลยะแห่งนั้น

            วันหนึ่ง ขณะที่ชีมูตวาหนกำลังเดินเที่ยวอยู่ ณ บริเวณป่าแห่งนั้น ก็แลเห็นวิหารของพระแม่เจ้าเคารี ซึ่งตั้งอยู่ในสวนจึงจะเข้าไปทำการสัการบูชาต่อเทวรูปนั้น ณ เทวาลัยนั้นเอง เจ้าชายหนุ่มก็แลเห็นหญิงสาวผู้หนึ่งมีสรีรรูปงดงามแวดล้อมด้วยเหล่านางบริจาริกากำลังบรรเลงพิณอยู่ เป็นการน้อมถวายพระธิดาแห่งขุนเขาหิมวัต ความไพเราะของเสียงพิณเป็นที่จับจิตจับใจมาก ขนาดเนิื้อทรายยังยืนนิ่งไม่กระดุกกระดิก เพื่อเงี่ยหูสดับเสียงแห่งพิณทิพย์นั้นด้วย นัยน์ตาอันกลมโตแจ่มแจ๋วไร้เดียงสา หญิงสาวผู้นั้นมีร่างเล็กแบบบางและมีเอวอันกลมกลึง ราวกับว่าพระธาดาพรหมได้กดแม่แบบของนางด้วยนิ้่วพระหัตถ์อันงามเรียว เพียงครั้งแรกที่ชีมูตวาหนได้เห็นภาพนางก็ตกตะลึง รู้สึกเหมือนว่านางได้แทงทะลุนัยน์ตาของเขาลงไปเสียบก้นบึ้งแห่งหัวใจ และหญิงสาวเมื่อแลเห็นรูปลักษณ์อันงามสง่าสมชายของเจ้าชายหนุ่ม ดวงจิตของนางก็ปั่นป่วนไปหมด มีความรู้สึกเหมือนแลเห็นพระวสันตเทพบุตรมาปรากฏกายเฉพาะหน้า แสดงความอาลัยในการถูกเผาไหม้ของพระกามเทพผู้เป็นปิยสหายของพระองค์ หญิงสามีอาการงุนงงเหมือนจิตไม่อยู่กับร่าง จนเผลอตัวลืมดีดพิณปล่อยให้เสียงเพลงหยุดชะงักและหยุดนิ่งในที่สุด

            เมื่อชีมูตวาหนได้สติ ก็เกิดความใคร่รู้ว่านางเป็นใครกันแน่ จึงถามนางกำนัลผู้คอยรับใช้นางว่า ผู้เลอโฉมมีนามว่ากระไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร เมื่อนางกำนัลได้ฟังก็ตอบว่า "นางชื่อมลยวตี เป็นน้องของมิตราวสุ และบิดาของนางคือวิศวาวสุ ราชาแห่งสิทธะทั้งหลาย" เมื่อนางกล่าวดังนี้แก่ชีมูตวาหน เป็นการเผยประวัติของนางมลยวตี และวงศ์ตระกูลแล้วก็ถามประวัติของฤษีหนุ่มชีมูตวาหนและราชฤษีทั้งสอง คือบิดาและมารดาของฤษีหนุ่มที่ติดตามออกมาบวชด้วย ว่าเป็นใครมาจากไหน หลังจากนี้นางก็รายงานต่อมลยวตีให้ทราบโดยย่อ ๆ นางมลยวตีได้ฟังก็กล่าวยิ้ม ๆ ว่า "ทำไมไม่ทูลเชิญเจ้าชายแห่งวิทยาธรผู้มาเยือนมาที่นี่เล่า เพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงเกียรติเป็นที่ยกย่องของคนทั้งโลก" เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ราชธิดาโฉมงามของราชาแห่งสิทธะก็นั่งเงียบอยู่ และก้มหน้าลงซ่อนความขวยเขิน นางข้าหลวงจึงกล่าวแก่ชีมูตวาหนว่า "พระธิดาทรงขวยอาย ขอให้หม่อมฉันทำคารวะพระองค์แทนนางก็แล้วกัน กล่าวจบนางก็ถวายพวงมาลาแก่เจ้าชาย เจ้าชายผู้หลงรักนางเพียงดวงใจก็ยินดีรับพวงมาลานั้นมาสวมคอนางมลยวตี ส่วนางผู้พิศวาสเจ้าชายอย่างลึกซึ้งก็สวมคอเจ้าชายหนุ่มด้วยพวงมาลาดอกบัวอินทีวร (บัวสีน้ำเงิน)

            ด้วยประการฉะนี้แล เจ้าชายและเจ้าหญิงก็ผ่านพิธีเลือกคู่ไปอย่างเงียบ ๆ ทั้งสองฝ่าย ทันใดนางบิจาริกาผู้หนึ่งก็เข้ามาทูลเจ้าหญิงว่า "โอ ราชกุมารีเสด็จแม่ให้หม่อมฉันมาตามพระองค์ไปเฝ้า รีบเสด็จไปเดี๋ยวนี้เถิด" นางได้ฟังดังนั้นก็จำใจผละจากชายสุดที่รักของนางไปอย่างเสียดายและไม่เต็มใจ เพราะนางถูกศรกามเทพเสียบอุระเสียแล้ว แต่นางก็ไม่ขัดขืน เดินไปสู่ตำหนักของนางโดยดี ส่วนชีมูตวาหนผู้หลงรักปักใจต่อนางเช่นกัน ก็แยกทางกลับไปอาศรมของตน

            ฝ่ายมลยวตีแลเห็นมารดาของนาง นางก็แล่นปราดไปยังบรรจถรณ์ทุ่มตัวลงกลิ้งเกลือกไปมา ทุรนทุรายเพราะความวิปโยค (พลัดพราก) จากชายคนรัก น้ำตาไหลพรากไม่ขาดสาย ร่างกายถูกทรมานด้วยไฟเสน่หา ถึงแม้นางข้าหลวงจะชะโลมร่างนางด้วยผลไม้จันทน์และเครื่องลูบไล้ต่าง ๆ และพัดวีด้วยใบบัว แต่อาการร้อนรุ่มของนางก็หาได้บรรเทาลงไม่ ไม่ว่าจะอยู่บนเดียง อยู่บนตักของพี่เลี้ยง หรือบนพื้นก็ตาม เมื่อถึงเวลาสายัณห์่ตะวันรอน พระอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว ดวงศศีก็เยี่ยมเมฆขึ้นมาทางทิศตะวันออกส่องแสงเป็นนวลใย แต่ความเย็นของเสงจันทร์หาได้ช่วยให้นางสบายใจไม่ จะมีก็แต่ดอกบัวที่ขยายกลีบในยามกลางคืนเพื่อรับแสงนิศากรเท่านั้น

            ฝ่ายเจ้าชายชีมูตวาหน พอรุ่งเช้าก็รีบเดินทางไปยังเทวาลัยของพระเคารี ซึ่งเป็์นสถานที่ตนเองได้พบธิดาของราชแห่งสิทธะ ชายหนุ่มเดินทางมาคอยพบนางด้วยดวงจิตอันร้อนรุ่มเพราะถูกเผาผลาญด้วยไฟเสน่หา และมีลูกฤษีที่เป็นบริวารคอยปลอบโยนอยู่ไม่ห่าง ณ ที่นั้นนางมลยวตีก็เดินทางมาคอยพบอยู่ด้วยเพราะทนต่อความคิดถึงไม่ไหว นางแอบมาอย่างลับ ๆ แต่ลำพัง มิให้ใครติดตามมา แต่เมื่อมาถึงเทวาลัยก็หาได้พบชายผู้เป็นยอดดวงใจไม่ เพราะชายหนุ่มยืนอยู่หลังต้นไม้ต้นหนึ่ง จึงกล่าวต่อเทวรูปพระแม่เจ้าเคารีด้วยใบหน้านองน้ำตาว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้เป็นที่พึ่งของข้า ลูกได้บำเพ็ญภักดีต่อพระแม่เจ้ามาชั่วเวลาช้านานแล้ว แต่ลูกก็หาได้ชีมูตวาหนเป็นสามีในชาตินี้ไม่ ลูกคงต้องรอเขาไปถึงชาติหน้าเป็นแน่แท้" กล่าวจบนางก็ดึงเชือกที่ร้อยเสื้อของนางออกมาทำเป็นบ่วงคล้องกิ่งอโศกต้นหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่ข้างหน้าเทวาลัยของพระเคารี และกล่าวด้วยความละห้อยน้อยใจว่า "เจ้าชายชีมูตวาหนของข้าผู้เป็นเจ้าแห่งปวงชนทั่วโลก ด้วยเหตุผลอันใดเล่า พระองค์ผู้มีความเมตตากรุณาเห็นปานนี้จึงทอดทิ้งข้าได้ลงคอ" กล่าวจบนางก็เอาบ่วงคล้องคอเตรียมกระตุกให้รัดคอของนางให้แน่นเข้า แต่ในช่วงเวลาอันคับขันนั้นเอง ก็มีเสียงลอยลงมาจากอากาศว่า "ลูกเอ๋ย อย่าร้อนรนไปเลยลูก เพราะชีมูตวาหนเจ้าชายแห่งวิทยาธร ผู้จะเป็นจักรพรรดิโลกในอนาคตกาลนี้แล จะเป็นสวามีของเจ้า"

            ขณะเมื่อพระเทวีตรัสดังนี้ ชีมู่ตวาหนก็พลอยได้ยินด้วย จึงเดินตรงเข้าไปหานาง ตามติดด้วยบุตรฤษีผู้เป็นสหาย บุตรฤษีกล่าวแก่นางว่า "เห็นไหมนี่แหละคือเจ้าบ่าวผู้ซึ่งพระเทวีประทานให้เจ้า" ชีมูตวาหนได้กล่าวต่อนางด้วยน้ำเสียงอันอ่อนละมุนเล้าโลมนางให้ชื่นใจ พลางแก้บ่วงออกจากคอของนางและดื่มด่ำในความรู้สึกต่อกันเหมือนได้เสพละอองไอแห่งน้ำทิพย์อันเป็นอมตะ นางมลยวตีสุดแสนที่จะขวยเขิน ได้แต่ก้มลงขีดเขียนอะไรเล่นบนพื้นดิน ขณะนั้นนางพี่เลี้ยงก็โผล่เข้ามา และกล่าวด้วยความปิติว่า "น้องเอ๋ย เจ้าช่างโชคดีนัก ในที่สุดเจ้าก็ได้สิ่งที่เจ้าปรารถนามากที่สุด เพราะวันนี้เองที่พี่ชายของเจ้าคือมิตราวสุได้ทูลพระบิดาของเจ้า ข้าแอบได้ยินมาว่าดังนี้ "พระบิดาเจ้าข้า พญาวิทยาธรคือชีมูตวาหนผู้นั้น ผู้เป็นที่ยกย่องของคนทั้งโลก ผู้ยอมสละแม้แต่ของมีค่าที่สุดคือต้นไม้สวรรค์กัลปพฤกษ์ให้เป็นทาน บัดนี้พระองค์ได้เสด็จมาอยู่ปลายแว่นแคว้นอาณาจักรของเรา เพื่อแสวงหาความสันโดษ พวกเราสมควรจะต้อนรับพระองค์ด้วยใจยินดี ในฐานะเป็นอาคันตุกะของเรา และยกมลวตีผู้เป็นมุกดามณีของอาณาจักรเราให้แก่เขา" พระราชาได้ฟังก็เห็นชอบด้วย ตรัสว่า "จงเป็นเช่นนั้นเถิด" และบัดนีั้พระมิตราวสุผู้เชษฐาของเจ้า กำลังเดินทางไปที่อาศรมของเจ้าชายด้วยเรื่องนี้ และข้าทราบยิ่งกว่านั้นด้วยว่าการอภิเษกสมรสของเจ้าจะเกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้นจงรีบกลับวังเถิด ส่วนเจ้าชายยอดบุรุษก็กำลังจะรีบกลับอาศรมเช่นเดียวกัน" เมื่อพี่เลี้ยงของเจ้าหญิงกล่าวดังนี้แล้วก็รีบพานางกลับไป

            ฝ่ายชีมูตวาหนเมื่อได้ยินคำพี่เลี้ยงของนางกล่าวเช่นนั้นก็รีบเร่งกลับไปอาศรมทันที และได้ฟังจากปากของมิตราวสุยืนยันเรื่องการวิวาห์ก็มีความยินดียิ่งนัก และเมื่อเจ้าชายรำลึกชาติปางก่อนได้ ก็ทราบว่าในชาติที่แล้วมิตราวสุเป็นเพื่อนสนิทของตน และนางมลยวตีนั้นก็เป็นภริยาของตนนั่นเอง เม่ือมิตราวสุได้ทราบก็ยิ่งยินดีมากขึ้น และนำเรืื่องราวทั้งหมดไปแจ้งแก่บิดาและมารดาให้ทราบ และในวันนั้นนั่นเอง มิตราวสุก็นำชีมูตาวาหนไปยังปราสาทของเขา และเตรียมงานมงคลวิวาห์อย่างมโหฬารให้แก่สหาย และน้องสาวของตน จากนั้นชีมูตวาหนจอมวิทยาธรก็ได้ดำเนินชีวิตอย่างผาสุกพร้อมกับมลยวตีชายาของตน

            อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ชีมูตวาหนกับมิตราวสุท่องเที่ยวไปตามทิวเขามลยะตามประสาผู้ใคร่รู้ใคร่เห็นในสิ่งต่าง ๆ อยู่นั้น ทังสองคนก็เดินทางมาถึงป่าแห่งหนึ่งซึ่งทอดเป็นทิวยาวริมฝั่งทะเล ณ ที่นั้นมีกระดูกกองพะเนินเทินทึกอยู่ริมหาด ชีมู่ตวาหนแลเห็นก็เกิดความสงสัย จึงถามมิตราวสุว่า "สหายเอ๋ย นี่มันกองกระดูกของอะไร" มิตราวสุผู้เป็นพี่เขยได้ฟังก็ตอบว่า "ฟังเถิด เรื่องนี้เป็นมาอย่างไรข้าจะเล่าให้เจ้าฟัง ในอดีตกาลนานแสนนานมาแล้ว นางกัทรูมารดาของพวกนาคทั้งปวง มีชัยชนะโดยการพนันกับนางวินตามารดาของครุฑโดยใช้กลโกง ทำให้นางวินตาผู้เป็นพี่สาวต้องตกเป็นทาสของนาง นางวินตาต้องตกระกำลำบากอยู่ช้านาน จนในที่สุดนางคลอดลูกเป็นครุฑ พญาเทพปักษินผู้มีพลังยิ่งใหญ่หาใครเสมอมิได้ ครุฑมีความเคียดแค้นผูกพยาบาทพวกนาคทั้งหลายผู้เป็นลูกนางกัทรู แม้นางวินตาแม่ของตนจะได้อิสรภาพแล้วก็ตาม จึงจับพวกนาคกินเป็นอาหารนับไม่ถ้วน โดยติดตามพวกนาคลงไปเมืองบาดาล ประหารพวกนาคอย่างไม่มีความปรานี จับนาคฟาดฟันอย่างโหดเหี้ยม เพียงแต่เห็นหน้าครุฑพวกนาคก็ตกใจตายเสียแล้ว

            พญาวาสุกิผู้เป็นราชาแห่งนาคประสบภัยพิบัติเช่นนี้ก็ตกใจมาก บังเกิดความหวาดกลัวว่าพวกนาคจะถูกครุฑฆ่าตายจนสิ้นเผ่าพันธุ์ จึงขอเจรจายุติการจองล้างจองผลาญกับครุฑโดยกล่าวว่า "โอ พญาราชปักษิน ข้าจะส่งนาคมาให้ท่านกินวันละตัวที่ชายหาดแห่งทะเลทักษิณนี้ทุกวัน ขอท่านจงอย่าได้ลงไปย่ำยีเมืองบาดาลอีกเลย" เมื่อราชาแห่งนาคกล่าวดังนี้ พญาครุฑเห็นว่าตนได้เปรียบก็ยินยอมตกลงด้วย นับจากนั้นเป็นต้นมา ครุฑมากินนาคทุกวันที่ชายหาดตามคำสัญญาของพญานาควาสุกิ ดังนั้น สหายเอ๋ย กองกระดูกมหึมาที่ท่านแลเห็นอยู่นีั้แหละ จงทราบเถิดว่า เป็นกระดูกของพวกนาคที่ครุฑสังหารเสียมากมายจนกระทั่งถึงวันนี้แหละ"

                เมื่อชีมูตวาหนผู้ยิ่งด้วยความเมตตากรุณาและความกล้าหาญ ได้ฟังดังนี้ตามเรื่องที่มิตราวสุเล่า ก็มีความเศร้าใจยิ่งนัก จึงตอบมิตราวสุว่า "ใครก็ตามที่รู้รเื่องที่วาสุกินาคราชทำแก่ประชากรของตนอย่างขี้ขลาด และเห็นแก่ตัวอย่างนั้น ก็คงจะอดเศร้าใจมิได้ พญาวสุกิมีหัวตั้งพัน มีปากตั้งพัน ทำไมหัวหด ไม่มีแม้แต่ปากใดปากหนึ่งที่จะอาสาตัวเองต่อพญาครุฑว่า "กินข้าก่อนเถอะ" วาสุกิผู้ขี้ชลาดจะกล่าวดังนั้นแลหรือ เขาทนได้อย่างไรที่จะเห็นพญาครุฑทำลายเผ่าพันธุ์ของเขาไปทีละตัว ๆ เขาทำหูทวนลมต่อเสียงคร่ำครวญของบริวารอย่างไม่แยแสทุก ๆว ัน มีแต่ความเศร้าระทม แม่พรากจากลูก ลูกพรากจากแม่ เพราะความตายที่วาสุกินนาคราชหยิบยื่นให้ ข้างฝ่ายครุฑนั้นเล่า ก็พอกัน ถึงแม้จะมีศักดิ์สูง เป็นถึงโอรสของพระกัศยปเทพบิดร และเป็นวีรบุรุษผู้เกรียงไกร และยังมีเกียรติศักดิ์อันสูงเด่น คือได้เป็นถึงเทพพาหนะขององค์พระกฤษณะ (พระนารายณ์) แต่ก็ยังทำชั่วบาปไม่ละอายแก่ใจ"

                เมื่อชีมูตวาหนได้กล่าวตำหนิคู่กรณีดังนั้นแล้ว ก็ประกาศเจตนาในหัวใจว่า "ขอให้ข้าได้มีโอกาสเสียสละแก่สัตว์โลก โดยเอาชีวิตของตัวเองแลกกับชีวิตของผู้อื่นที่จะต้องตาย ถ้าเป็นไปได้ข้าขอพลีชีวิตเพื่อแลกกับชีวิตของนาคผู้ไร้ที่พึ่ง โดยข้าขอเสนอร่างกายของข้านี้ให้แก่ครุฑ เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนแทนนาคผู้จะต้องตกเป็นเหยื่อของครุฑนั้นด้วยเถิด"

                ขณะที่ชีมูตวาหนกำลังใคร่ครวญคำนึงอยู่นั้น นายทวารบาลตำหนักของบิดามิตราวสุก็ตามมาเรียกและบอกให้ทราบว่ามีคำสั่งให้เข้าเฝ้า ชีมูตวาหนจึงกล่าวแก่สหายว่า "เจ้ากลับไปก่อนเถอะ ข้าจะตามไปทีหลัง" เมื่อส่งมิตราวสุไปแล้ว ชีมูตวาหนก็ท่องเที่ยวในบริเวณป่านั้นตามลำพัง ชั่วเวลามินานก็ได้ยินเสียงร้องโหยหวนดังมาจากบริเวณชายป่าข้างหน้า แสดงความทุกข์ลำเค็ญแสนสาหัส เจ้าชายรีบวิ่งไปตามเสียงนั้น เมื่อถึงชายเขาริมทะเล ก็แลเห็นแท่นหินตั้งอยู่บนเนินผาลาดแห่งหนึ่ง และที่ใกล้เคียงกันนั้น ชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งกำลังนั่งคร่ำครวญร่ำไห้อยู่ ดูเหมือนว่าเขาจะถูกฉุดลากให้ขึ้นมาที่แท่นหินอย่างไม่ปรานีปราศรัย จากชายร่างกำยำคนหนึ่งแต่งกายเหมือนราชมัลของพระราชาองค์ใดองค์หนึ่งที่เพิ่งเดินจากไป ชายหนุ่มที่แลเห็นนั้นกำลังแสดงอาการปลอบโยนหญิงแก่คนหนึ่ง เพื่อให้นางจากเขาไปเสีย แต่หญิงชราผู้นั้นก็ไม่ยอมจากไป พยายามยื้อยุดชายหนุ่มไว้เพื่อให้เขากลับไป

                ชีมูตวาหนแอบดูหลังชะง่อนหินและสังเกตเห็นว่า หญิงชราผู้นั้นมองดูชายหนุ่มอย่างเศร้าสร้อยครั้งแล้วครั้งเล่า พลางร่ำไห้คร่ำครวญว่า "อนิจจา ศังขจูฑะลูกแม่ หัวใจแม่เหมือนถูกแทงครั้งแล้วครั้งเล่าสักร้อยครั้ง อนิจจาเอ๋ย ลูกเป็นคนซื่อบริสุทธิ์ ลูกของแม่เอ๋ย ไฉนลูกจึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้เล่า เจ้าเป็นความหวังเพียงสิ่งเดียวของตระกูลเรา ตั้งแต่นี้ต่อไปแม่่คงจะไม่ได้เห็นหน้าเจ้าอีกแล้ว ยอดรักของแม่ เมื่อเจ้าผู้มีหน้าดังเดือนเพ็ญ เป็นที่สว่างตาสว่างใจแม่จะต้องหายลับไปในคราวนี้ แม่จะต้องทนอยู่ในความมืดตลอดกาลได้อย่างไร แล้วพ่อของเจ้าเล่า เขาจะทนมีชีวิตอยู่ต่อไปจนแก่เฒ่าไ้ละหรือ ร่างของเจ้าก็แบบบาง ผ่องผิวละเอียดอ่อน ทนได้แต่แสงอาทิตย์ที่สองรังสีมาลูบโลม เจ้าจะทนความเจ็บปวดแสนสาหัสยามเมื่อถูกครุฑฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ ได้อย่างไรเล่า แม่ไม่เข้าใจเหมือนกัน พิภพนี้แสนจะกว้างใหญ่ เหตุไฉนราชาของเจ้าจะมีปัญญาสืบเสาหาเจ้าพบจนได้"

                เมื่อได้ฟังคำคร่ำครวญของมารดา นาคหนุ่มน้อยก็กล่าวว่า "แม่จ๋า เวลานี้ลูกก็ทนทุกข์ทรมานแสสาหัสอยู่แล้ว ทำไมแม่มาทำให้ลูกต้องทุกข์หนักยิ่งขึ้นอีกเล่า กลับบ้านเถอะ ขอให้ฉันกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายต่อแม่ไว้ตรงนี้เถิด เพราะอีกไม่ช้าครุฑก็จะมาถึงที่นี่แล้ว" เมื่อหญิงเฒ่าได้ฟังถ้อยคำเช่นนั้น ก็เหลียวดูโดยรอบขอบฟ้า และร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง กล่าวว่า "ข้าหมดหวังแล้ว ใครเล่าจะมาช่วยชีวิตลูกของข้าได้"

                ขณะนั้น ชีมูตวาหนผู้มีน้ำใจเป็นพระโพธิสัตว์ ได้แลเห็นภาพและได้ยินเสียงโศกาดูรโดยตลอด ก็มีใจอันท่วมท้นไปด้วยความสังเวชอย่างลึกซึ้ง รำพึงว่า "ข้าเห็นละ นี่ต้องเป็นนาคที่เดือดร้อนแสนสาหัสแน่ ๆ นาคหนุ่มนี่ชื่อ ศังขจูฑะผู้ถูกวาสุกินาคราชส่งตัวมาเป็นเครื่องสังเวยพญาครุฑแน่ ๆ และนั่นก็คือแม่ผู้ชราของเขาผู้มีลูกเพียงคนเดียว นางสู้อุตส่าห์ติดตามลูกมาอย่างไม่ลดละ และครวญคร่ำร่ำไห้ด้วยความเศร้าใจอย่างสุดซึ้ง อนิจจาเอ๋ย ถ้าข้าจะไม่ช่วยสัตว์ผู้ยากนี้โดยอุทิศร่างของข้าแทนเขา ข้าจะทนอยู่ได้อย่างไร ชีวิตของข้าทั้งชีวิตก็จะว่างเปล่าหาประโยชน์อันใดมิได้ ข้าจะเกิดมาเพื่อประโยชน์อันใดเล่า?"

                เมื่อชีมูตวาหนใคร่ครวญโดยตลอดแล้ว ก็รีบตรงเข้าไปหาหญิงชราและกล่าวแก่นางว่า "แม่เฒ่าอย่าวิตกต่อไปเลย ข้าจะช่วยลูกท่านเอง" หญิงชราฟังไม่ทันได้พิจารณาอะไร คิดว่าครุฑมาแล้วก็ตกใจ ตะโกนละล่ำละลักว่า "กินข้าสิ ครุฑ กินข้าเถิด" ศังขจูฑะแลเห็นดังนั้นก็กล่าวว่า "แม่จ๋า อย่ากลัวไปเลย เขาไม่ใช่พญาครุฑดอก เป็นคนละคนแน่เทียว นี่เป็นบุรุษผู้เพ็ญพักตร์ดั่งดวงจันทร์ หาใช่ครุฑผู้กักขฬะหยาบช้าไม่" เมื่อศังขจูฑะอธิบายดังนี้ ชีมูตวาหนก็กล่าวว่า "แม่เอ๋ย ข้าเป็นวิทยาธรมาช่วยลูกของท่านให้พ้นอันตราย โดยข้าจะพลีร่างของข้าให้ครุฑผู้หิวโหยกินแทน แม่จงพาลูกชายของแม่กลับไปบ้านเถอะ"

                เมื่อหญิงชราได้ฟังก็กล่าวว่า "จะคิดอย่างไรก็ตาม เจ้าก็เหมือนลูกของข้าแท้ ๆ เพราะเจ้าห่วงใยเราด้วยใจจริง เหมือนกับลูกรักคนหนึ่งของแม่แท้ ๆ " ชีมูตวาหนได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวตอบว่า "ท่านทั้งสองจงรีบไปเถิด อย่าทำให้ข้าต้องผิดหวังในการกระทำของข้าเลย" เมื่อถูกเร่งดังนี้ศังขจูฑะก็กล่าวว่า "ว่าตามจริง ท่านผู้มีใจงามก็ได้แสดงน้ำใจอันประเสริฐอย่างยิ่งแล้ว แต่ข้าไม่เห็นด้วยกับการที่ท่านจะช่วยชีวิตข้าโดยยอมพลีชีวิตของท่านเองเช่นนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการช่วยรักษาก้อนหินไว้โดยสละดวงมณีแทน โลกนี้เต็มไปด้วยบุคคลอย่างตัวข้า ผู้ที่มีแต่ความเห็นแก่ตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่บุคคลอย่างท่านมีแต่ความสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คนอย่างนี้มีน้อยนัก แทบจะหาไม่ได้ด้วยซ้ำนอกจากนี้ ท่านสาธุชนที่เคารพ ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะทำให้เกิดจุดด่างดำขึ้นได้ในพงศ์เผ่าของศังขบาล เหมือนรอยด่างดำบนดวงจันทร์นั้นดอก"

                เมื่อศังขจูฑะกล่าวเบี่ยงเบนความหวังดีของเจ้าชายหนุ่มคนธรรพ์ดังนั้นแล้ว ก็หันมาเร่งมารดาว่า "แม่จ๋า กลับไปเถิดเร็ว ๆ เข้า ทิ้งสถานที่แห่งความโหดร้ายนี้ไปเสีย แม่ไม่เห็นหรือว่า ผาลาดแห่งนี้อันเป็นตะแลแกงของพวกนาค มีคราบเลือดแดงฉานติดอยู่ทุกหนทุกแห่ง น่ากลัวราวกับแท่นประหารของมัจจุราช ตอนนี้ฉันจะต้องรีบไปถวายการบูชาแด่พระโคกรรณ (พระศิวะ) ในเทวาลัยข้างล่างเสียก่อน แล้วจะรีบกลับขึ้นมาที่นี่ก่อนครุฑจะมาถึง" เมื่อศังขจูฑะกล่าวดังนี้แล้ว ก็อำลามารดาด้วยความเคารพก่อนจากกัน แล้วก็รีบวิ่งลงไปยังเทวาลัยเบื้องล่าง เพื่อกระทำการบูชาเทวรูปพระโคกรรณ

                ฝ่ายชีมูตวาหนก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำตามความตั้งใจของตน คือคอยให้ครุฑมาถึง แล้วจะขอร้องครุฑให้กินตนแทนเพื่อช่วยนาคเอาไว้ ระหว่างที่กำลังคิดอยู่ก็แลเห็นต้นไม้ใหญ่น้อยเบื้องหน้าลู่ตามลมพายุซึ่งพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง ประหนึ่งจะถอนรากถอนโคนหมู่ไม้ให้ย่อยยับลง ลมพายุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนี้ก็คือแรงกระพือปีกของพญาครุฑ ซึ่งกำลังบินอย่างเร็วรุดมาจากสุดขอบฟ้านั่นเอง ปรากฏการณ์ทีเ่กิดขึ้นโดยกระทันหัน แสดงให้รู้ว่าพญาเทพปักษินผู้ทรงพลังมหาศาลกำลังจะมาถึงที่หมายคือแท่นสังเวยแล้ว ชีมูตวาหนรู้ดังนี้ก็รีบปีนป่ายขึ้นไปที่แท่นสังเวยโดยรวดเร็ว ทันใดนั้นครุฑผู้ทรงอำนาจก็ร่อนราถาลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว จิกร่างของเจ้าชายผู้นอนอยู่บนแท่นสังเวย ในพริบตาพาบินไปสู่ยอดเขามลยคีรี เพื่อจะกินเป็นภักษาหาร ณ ที่นั้นขณะที่ถูกขุนสุบรรณจิกกระชากเนื้อหลุดเป็นชิ้น ๆ นั่นเอง จอมวิทยาธรก็ตั้งจิตอุทิศร่างกายต่อมัจจุราชผู้กำลังจมทำลายชีวิตของตนให้สิ้นสูญอย่างทะนงองอาจโดยกล่าวว่า "ข้าขออุทิศร่างของข้าเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ข้าจะหวังสวรรคสมบัติอันใดก็หาไม่ ข้าขอเพียงแต่ว่าให้เกิดมาใหม่ทุก ๆ ชาติ เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นทุกชาติไป ให้เขาพ้นทุกข์ แม้ข้าจะตายแล้วตายอีก เกิดแล้วเกิดอีกชั่วกัปแสนกัลป์อนันตชาติข้าก็ยินดี ถ้าข้าสามารถทำให้คนอื่นเป็นสุขสมความปรารถนา" เมื่อจอมวิทยาธรตั้งจิตประกาศปณิธานดังนี้ ก็ปรากฏฝนบุปผชาติ โปรยปรายลงมาเหมือนทวยเทพพากันอนุโมทนาด้วยใจยินดี

                ระหว่างนั้น มงกุฏเพชรซึ่งเปื้อนเลือดหยากหยดย้อยก็หล่นลงจากศีรษะของชีมูตวาหน ตกกลิ้งอยู่ต่อหน้ามลยวตีผู้ติดตามหาสามีของนางมาอย่างรีบเร่ง พอนางแลเห็นก็จำได้ทันทีว่าเป็นมงกุฏของสามี แต่ตัวของสามีหายไปไม่ทราบว่าหายไปไหน จึงรีบนำมงกุฏเลือดมาให้พ่อผัวและแม่ผัวด้วยน้ำตาอันนองหน้า คนทั้งสองแลเห็นก็จำได้แม่นยำว่าเป็นมงกุฏของผู้เป็นโอรสสุดที่รัก แต่เหตุใดเจ้าของมงกุฏจึงหายไป พระเจ้าชีมูตเกตุและชายาคือพระนางกนกวตี จึงสงบสติอารมรณ์เข้าฌานอยู่ครู่หนึ่งก็รู้สาเหตุและความเป็นไปทั้งหมด ต่างคนเมื่อรู้ดังนั้นแล้วก็รีบออกเดินทางพร้อมด้วยพระสุณิสา(สะใภ้) เร่งรีบไปยังจุดที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นที่พญาครุฑกำลังจิกกินเนื้อหนังมังสาของชีมูตวาหนอยู่ ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น พอดีศังขจูฑะกลับมาจากการลงไปนมัสการพระโคกรรณในเทวาลัย เมื่อขึ้นไปถึงแท่นสังเวยก็แลเห็นรอยเลือดสด ๆ หยดเรี่ยรายอยู่ก็รู้ว่าครุฑมาโฉบเอาเหยื่อไปกินแล้ว และเหยื่อนั้นก็คือเจ้าชายชีมูตวาหนผู้เสียสละพระองค์ มาไถ่ชีวิตของตนนั่นเอง ศังขจูฑะยิ่งคิดก็ยิ่งเสียใจนัก คร่ำครวญว่า "อนิจจาเอ๋ย เป็นความผิดของข้าแท้ ๆ ทีเดียวที่มาทำให้พระองค์ต้องสิ้นชีวิตเช่นนี้ ไม่สมควรเลย จะทำอย่างไรดีล่ะ อย่งก็ไรก็ดี ข้าจะต้องรีบออกติดตามไปให้ทัน ก่อนที่สัตว์จอมพยาบาทจะฆ่าพระองค์เสีย" กล่าวดังนั้นแล้ว นาคหนุ่มก็ออกติดตามรอยเลือดไปเพื่อจะให้ทันก่อนที่ครุฑจะฆ่าชีมูตวาหนเสีย

                ระหว่างนั้น ครุฑกำลังเขมือบเนื้อและเลือดสด ๆ จากร่างของชีมูตวาหนอยู่ เมื่อก้มลงดูหน้าของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก็ประหลาดใจยิ่งนักที่เห็นเหยื่อนอนสงบนิ่ง มิได้ดิ้นรนหนีความตายแต่ประการใด ใบหน้ามีแต่ความสงบเยือกเย็นและยิ้มน้อย ๆ เหมือนจะให้อภัยแก่ผู้ที่จะทำลายชีวิตของตน ครุฑแลเห็นดังนั้นก็หยุดกึกทันทีด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น และกล่าวแก่ตนเองว่า "ช่างประหลาดนัก ร่างนี้คงเป็นชายผู้มหาวีระหาผู้ใดจะเปรียบได้ไม่ เขาคงเป็นผู้มหาตมะ (ผู้มีใจใหญ่) แน่ทีเดียว แม้เราจะจิกกระชากเนื้อและเลือดจากร่างของเขา เขาก็ยังไม่สะดุ้งสะเทือน มิได้เสียดายแก่ชีวิตเลย แม้โลมชาติ (เส้นขน) ก็ยังตั้งชูชัน แสดงความยินดีในทานที่ตนกำลังให้อยู่ นัยน์ตาของเขาก็มองเราอย่างอ่อนโยน ไม่แสดงความโกรธความชิงชังให้ปรากฏแม้แต่น้อย เขาทำเหมือนกับว่าเราเป็นผู้กระทำคุณแก่เขาด้วยซ้ำ ฉะนั้นบุรุษผู้นี้ต้องมิใช่นาคแน่นอน เขาคงจะเป็นอริยบุคคลคนใดคนหนึ่งกระมังหนอ เราควรจะหยุดทำร้ายเขา และซักถามดูให้เรู้เรื่องว่ามีความเป็นมาอย่างไร" เมื่อครุฑหยุดไตร่ตรองดังนีั้ก็หยุดชะงักไปชั่วขณะ ชีมูตวาหนจึงกล่าวถามว่า "ข้าแต่พญาราชปักษิน ท่านหยุดไปทำไมเล่า ข้ายังมี่เลือดและเนื้ออีกถมไป และท่านก็ยังไม่อิ่มนี่ จงกินต่อไปเถิด" เมื่อพญาสุบรรณราชได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวตอบด้วยความสนเท่ห์ว่า "ท่านผู้มหาตมะ ท่านนี้หาได้เป็นนาคไม่ ฉะนั้นจงบอกมาเถิดว่าท่านคือใคร" แต่ชีมูตวาหนก็แกล้งปกปิดความจริงเสีย ตอบว่า "กล่าวตามความเป็นจริง ข้านี่แหละคือนาค ท่านมาถามดังนี้มีความหมายอย่างไร ได้โปรดเถอะ จะมีใครที่ไหลเล่าที่โง่เง่าเสียจนไม่รู้ว่าตัวเป็นใคร ถ้าข้ามิใช่นาค ข้าจะมานอนรออยู่ที่แท่นสังเวยให้ครุฑมาฉีกเนื้อกินกระนั้นหรือ นี่เป็นชะตากรรมของนาคเท่านั้นที่จะต้องยอมรับเป็นหน้าที่ของตน และจะต้องมาสังเวยแก่ครุฑวันละตัวทุกวัน ข้าก็เป็นหนึ่งในบรรดานาคที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้น"

                ขณะที่ชีมูตวาหนกำลังตอบแก้ความสงสัยของครุฑอยู่นี้ ศังขจูฑะก็ตะโกนมาแต่ไกลว่า "ข้าแต่บุตรของนางวินตา ท่านจงงดเถอะ อย่าทำร้ายชายหนุ่มผู้นี้เลย เขามิได้เป็นนาคหรอก ข้านี่แหละคือนาคที่ถูกกำหนดให้มาสังเวยแก่ท่าน" ศังขจูฑะเมื่อประกาศดังนี้แล้วก็รีบปีนป่ายขึ้นไปบนยอดเขาอย่างรวดเร็ว และขึ้นมายืนคั่นกลางระหว่างบุรุษทั้งสอง และเมื่อเห็นครุฑกำลังแสดงความประกหลาดใจจนพูดไม่ออกดังนั้น ศังขจูฑะก็กล่าวต่อไปว่า "พญาสุบรรณราช ท่านจะประหลาดใจไปไย ท่านไม่เห็นหรือว่า ข้ามีพังพานแผ่อยู่เหนือศีรษะและมีลิ้นเป็นสองแฉก ตรงกันข้ามกับรูปลักษณ์อันงามวิจิตรหาที่ติมิได้ของวิทยาธรผู้นี้" ระหว่างที่ศังขจูฑะกำลังบรรยายอยู่นั้น ชายาของชีมูตวาหนและบิดามารดาทั้งสอง ก็ขึ้นมาถึงที่นั้นด้วยการวิ่งอย่างสุดกำลังวังชา บิดามารดาของชายหนุ่มพูดอย่างกระหืดกระหอบว่า "โอ้ ลูกรัก เจ้าชีมูตวาหนผู้เปื่ยมด้วยความกรุณา จนถึงกับพลีชีวิตของตนเพื่อผู้อื่นได้ น่าสงสารนัก ดูหรือเลือดออกโทรมตัว เป็นฝีมือของเจ้าใช่ไหม บุตรของนางวินตา ทำไมเจ้าจึงไร้สติอย่างนี้ กล้ากระทำบาปมหันต์ถึงกับจะปลงชีวิตพระโพธิสัตว์ผู้ทรงกระทำแต่คุณความดีได้ลงคอ เจ้ารู้หรือไม่ว่าบุรุษผู้นี้คือชีมูตวาหนผู้ยอมพลีชีพเพราะเห็นแก่สัตว์โลก และเป็นผู้มีเกียรติคุณปรากฏกระเดื่องทั่วทั้งสามโลก จงดูสิ บัดนี้เขากำลังจะตายแล้ว บัดนี้ก็ถึงคราวข้าจะต้องเข้ากองไฟตายตามเขาไปด้วย อนิจจาเอ๋ย ผลแห่งความชั่วความบาปจากต้นไม้พิษ ยังจะให้ผลสุกหวานหอมแก่ใครได้เล่า" ในขณะที่ครุฑยังไม่อาจคุมสติของตนได้นั้น ชีมูตวาหนก็ทอดสายตาดูผู้เป็นที่รักในครอบครัว คือพ่อแม่และเมีย เป็นการอำลาและล้มลมสิ้นใจ

                บิดามารดาของชีมูตวาหนแลเห็นลูกชายล้มลมตายต่อหน้าก็ใจหายสุดที่จะกลั้นโศกได้ ก็ร่ำไห้คร่ำครวญเพียงหัวใจจะแตกสลาย ข้างศังขจูฑะนั้นก็พร่ำตำหนิตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าเป็นต้นเหตุแห่งการตายของชีมูตวาหนในครั้งนี้ ในที่นั้นแม่แต่มลยวตีผู้เดียวที่มิได้เศร้าโศกเหมือนผู้อื่น ถึงแม้จะมีน้ำตานองหน้าแต่ก็มิได้คร่ำครวญ นางช้อนตาขึ้นดูสวรรค์ด้วยความชิงชัง และกล่าวพ้อเทวีอัมพิกา (พระอุมา) ผู้เคยประทานพรแก่นางในอดีตว่า "โอ พระแม่เจ้าเคารี พระองค์ได้ให้สัญญาแก่ข้าว่า จะให้สามีแก่ข้า และว่าเขานั้นคือพระจอมจักรพรรดิของวิทยาธร และจะได้เป็นที่เคารพของมนุษย์ทั่วพื้นพิภพ พระแม่เจ้าเป็นผู้ผิดสัญญาเสียแล้ว ไหนล่ะพระจอมจักรพรรรดิของโลกผู้เป็นสามีสุดที่รักของลูก เขาคือยอดบุรุษผู้นอนตายอยู่ตรงนี้หรือพระเจ้าข้า" เมื่อถูกตัดพ้อเช่นนี้พระเคารีก็ปรากฏพระองค์ให้เห็น และตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แม่จะตระบัดสัตย์ได้อย่างไร เจ้าจงตั้งตาดูให้เถอะ" ตรัสเสร็จพระมหาเทวีก็หลั่งน้ำทิพย์จากพระเต้าษิณทก โปรยปรายประหนึ่งสายฝนประพรมร่างของชีมูตวาหนจนทั่ว ทันใดชีมูตวาหนก็กลับฟื้นคืนชีวิต มีความเปล่งปลั่งงดงามยิ่งกว่าแต่ก่อน บาดแผลตามร่างกายก็อันตรธานหายไปหมด

                เจ้าชายลุกขึ้นอย่างว่องไว และตรงไปกราบพระเทวีด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง และคนอื่น ๆ ก็กระทำเช่นเดียวกัน พระโลกมาตาจึงตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แม่ซาบซึ้งในน้ำจิตน้ำใจในการเสียสละอย่างอุกฤษฏ์ของเจ้านัก บัดนี้แม่จะทำพิธีอภิเษกเจ้าเป็นพระจักรพรรดิแห่งวิทยาธรด้วยมือของแม่เอง ขออวยพรให้เจ้าดำรงตำแหน่งนี้ยั่งยืนไปชั่วกัลป์เถิด" เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระเคารีก็ประพรมชีมูตวาหนด้วยน้ำทิพย์จากพระเต้าษิโณทก แสดงจักรพรรดิยาภิเษกอันทรงเกียรติแก่โลก แล้วพระปรเมศวรีก็อันตรธานไปจากที่นั้น ขณะเดียวกันบุปผามาลัยอันหอมชื่นก็โปรยปรายลงมาจากสรวงสวรรค์ พร้อมกับเสียงเภรีอันเป็นทิพย์ก็บันลือลั่นสนั่นนินนาทไปทั่วทั้งจักรวาล

                ขณะนั้นพญาครุฑเทพปักษินก็เข้ามาก้มศีรษะด้วยความนอบน้อมต่อหน้าชีมูตวาหน และกล่าวว่า "ข้าแต่องค์จักรพรรดิ ข้าพเจ้าซาบซึ้งในวีรกรรมของท่านยิ่งนัก ท่านเป็นวีรบุรุษที่หาใครเทียมมิได้แล้วในโลกทั้งสามนี้ มีจิตใจอันเผื่อแผ่ไปให้แก่ชนทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้า และยอมเสียสละแม้ชีวิตอันเป็นที่รักของตนเอง การกระทำอันน่าอัศจรรย์ของท่านนี้จะถูกจารึกไว้ในที่อันสมควรที่สุด แม้กระทั่งพราหมาณฑ์ (ไข่พรหม)(ฟองไข่สากล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งจักรวาล บางทีเรียกว่า หิรัณยครรภ(ไข่ทอง) ซึ่งด้วยอำนาจแห่งความร้อนหรือตบะ ได้แตกออกเป็นสองซีก ซีกบนคือสวรรค์ และซีกล่างเรียกว่า ปฤถิวี หรือแผ่นดินโลก) อันเป็นต้นกำเนิดแห่งจักรวาลนี้แล ดังนั้นเพื่อเป็นการสดุดีเกียรติยศของท่าน ข้าพเจ้าเต็มใจประสาทพรแก่ท่าน ท่านจะขอพระอะไร ข้าพเจ้ายินดีจะให้ทุกอย่าง"

                เมื่อครุฑกล่าวแล้วดังนี้ ชีมูตาวาหนผู้มหาตมันก็ขอพรว่า "ท่านจงสำนึกผิดไม่คิดที่จะประหัตประหารพวกนาคทั้งหลายอีก และช่วยบรรดานาคที่ถูกท่านฆ่าตายเพื่อเป็นอาหาร อันเหลือแต่กระดูกตกเรี่ยรายเกลื่อนกล่อนโดยรอบบริเวณนี้ จงกลับฟื้่นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่" ครุฑได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ข้ายอมประสิทธิ์พรนี้แก่ท่าน และนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าสัญญาว่าจะเลิกกินนาคโดยเด็ดขาด ขอให้บรรดานาคทั้งปวงที่ถูกข้าพเจ้าทำลายชีวิตในอดีตกาลจงมีชีวิตกลับคืนเถิด"

                สิ้นถ้อยคำของพญาครุฑ บรรดานาคที่ถูกฆ่าตายในอดีต มีกระดูกอันเกลื่อนกลาดเรี่ยรายในที่นั้น ก็ได้กลับคืนมีชีวิตตามเดิม ด้วยอำนาจอันเป็นประดุจน้ำทิพย์ของพรนั้น บรรดาทวยเทพ คณะฤษีที่มาชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้น ต่างก็เปล่งเสียงสาธุการโดยทั่วหน้ากัน ครั้งนั้นภูเขามลยะก็มีชื่อเลื่องลือไปตลอดสามโลกว่าเป็นอนุสรณ์สถานของวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะดำรงคงอยู่ไปชั่วฟ้าดิน

                ขณะนั้นบรรดาราชาทั้งหลายของเหล่าวิทยาธร ได้ทราบจากพระเคารีถึงกิติกรรมอันโด่งดังของพระโพธิสัตว์ชีมูตวาหน ต่างก็เร่งรีบพากันมาเฝ้าแสดงความจงรักภักดี และพาชีมูตวาหนไปยังภูเขาหิมาลัยอันเป็นที่อยู่ของบรรดามิตรสหาย และญาติในครอบครัยวของพระจักรพรรดิแห่งวิทยาธรผู้เพิ่งได้รับอภิะษกจากพระเทวีมาไม่นาน ณ ที่นั้นชีมูตวาหนก็ถูกแวดล้อมด้วยบิดามารดามิตราวสุผู้เป็นมิตร มลยวตีผู้เป็นชายา ศังขจูฑะและมารดาของตนผู้กลับไปยังที่อยู่ของฃตนและแจ้งข่าวดีแก่ญาติสนิทมิตรสหาย และรีบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาอวยพรแก่พระจักรพรรดิแห่งวิทยาธรทั้งหลาย ผู้ได้รับตำแหน่งมาใหม่ ๆ เพราะความเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ และประกอบวีรกรรมอย่างยอดเยี่ยม

                หลังจากที่เล่านิทานอันทรงคุณค่าและมีคติอันดีงามเรื่องนี้จบลง เวตาลก็ไม่รีรอที่จะตั้งคำถามแก้ความสงสัยของตนต่อพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "ได้โปรดเถิดราชะ ในหว่างศังขจูฑะและชีมูตาวาหนนั้น ใครเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อความทุกข์อันแสนสาหัสยิ่งกว่ากัน ขอให้ท่านตอบโดยพิจารณาจากรเื่องที่เกิดขึ้นแล้ว" เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนได้ฟังคำถามของเวตาลว่าดังนั้น ทรงเกรงคำสาปของเวตาลถ้าไม่ทรงตอบ จึงตรัสว่า "พฤติกรรมเช่นนี้ไม่อัศจรรย์อะไรสำหรับชีมูตวาหน เพราะเขาได้ชื่อเสียงเกียรติคุณเช่นนี้มาหลายยุคหลายสมัยที่เขาเกิดมาในโลกนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่น่าอัศจรรย์อันใด แต่ศังขจูฑะนั่นต่างหากที่สมควรจะได้รับการยกย่อง เพราะหลังจากที่เขารอดชีวิตไปแล้ว เขามิได้หนีเตลิดไปด้วยความกลัว แต่กลับวิ่งตามพญาครุฑผู้เป็นมัจจุราชของตนไป ด้วยหวังจะช่วยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายคือชีมูตวาหนผู้นั้น เป็นระยะทางไกลจนทันและตะโกนบอกครุฑให้มาจับตนกินเสีย โดยมิเกรงว่าครุฑจะหันมาฆ่าตน นับเป็นการแสดงความกล้าหาญและเสียสละที่เหนือกว่าในกรณีดังกล่าวนี้"

                เมื่อเวตาลผู้ฉลาดล้ำได้ฟังคำตอบของพระราชาดังนั้น ก็ยิ้มเยาะโดยไม่กล่าวว่าอะไร ผละจากพระอังสาของพระราชา ลอยละลิ่วกลับไปยังต้นอโศก ทำให้พระราชาต้องเสด็จย้อนกลับไปทางเดิมอีกวาระหนึ่ง

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๕ เรื่องของความรักของเจ้าหญิง ศศิประภา

นิทานเรื่องที่
๑๕



แล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปสู่ต้นอโศก ทรงดึงตัวเวตาลลงมา และเริ่มออกเดินทางต่อไป ขณะที่ดำเนินไปข้างหน้า เวตาลซึ่งอยู่บนบ่าของพระองค์ก็ชวนคุยขึ้นว่า "แน่ะ ราชะ ขอทรงเงี่ยโสดสดับเถิด ข้ามีเรื่องสนุก ๆ จะเล่าถวาย"

ครั้งหนึ่งในอาณาจักรเนปาล มีนครตั้งอยู่ชื่อนครศิวปุระ และที่นครนี้ พระราชาทรงนามว่ายศเกตุทรงปกครองอยู่ พระองค์มีราชเสวกผู้ใกล้ชิดอยู่คนหนึ่งชื่อ ปรัชญาสาคร และทรงไว้วางพระทัยให้เขาดูแลราชกิจทุกอย่าง ส่วนพระองค์เองทรงใช้เวลาสำราญพระทัยอยู่กับพระมเหสีคือ พระนางจันทรประภา เวลาผ่านไป พระราชาทรงได้พระธิดาองค์หนึ่งอันประสูติแต่พระราชเทวี ทรงตั้งพระนามให้ว่าเจ้าหญิงศศิประภา พระราชกุมารีพระองค์นี้มีวรรณะอันผุดผ่องดั่งแสงพระจันทร์ผู้เป็นประหนึ่งดวงเนตรของโลก

จำเนียรกาลสืบมา พระราชธิดาทรงจำเริญวัยเป็นสตรีแรกรุ่นมีสิริโฉมงดงามยิ่งนัก วันหนึ่งในฤดูวสันต์ เจ้าหญิงเสด็จชมราชอุทยานพร้อมด้วยนางบาทบริจาริกาแวดล้อมโดยรอบเพื่อชมการแสดงฉลองฤดูใบไม้ผลินั้น และที่แห่งหนึ่งในอุทยานนี้เอง พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งชื่อ มนสวามิน บุตรชายของเศรษฐีได้เข้ามาเที่ยวด้วย มาณพหนุ่มแลเห็นเจ้าหญิงกำลังเก็บดอกไม้อยู่ แขนของนางที่เคลื่อนไหวนั้นดูแฉล้มเฉลายิ่งนัก แสดงให้เห็นทรวดทรงอันงามจับตาหาที่ติมิได้ ยามนางกรีดกรายนิ้วเด็ดกิ่งดอกไม้ก็ดูงามสลวยไม่ขัดตา เมื่อหนุ่มน้อยมนสวามินได้เห็นนาง เขารู้สึกในบัดดลว่านางได้เด็ดเอาหัวใจของเขาไปด้วย ทำให้เขางงงวยด้วยความรักนางจนแทบจะระงับสติไว้ไม่อยู่ ชายหนุ่มรำพึงแก่ตัวเองว่า "นี่คือนางรตี(รตี แปลว่า รักใคร่, พอใจ, รื่นรมย์ เป็นชายาของพระกามเทพ (เทพแห่งความรัก) นางเป็นธิดาของพระทักษะพรหมฤษีประชาบดี เป็นผู้ที่มีบทบาทเหมือนกับเทวีอโฟรโดต์ของกรีก หรือวีนัสของโรมัน ในกาลครั้งบหนึ่ง พระศิวะทรงเศร้าโศกอย่างหนักเนื่องจากพระสตีผู้เป็นชายาของพระองค์กลั้นใจตาย เพราะทักษะบิดาของนางดูหมิ่นพระศิวะ ความเศร้าโศกของพระศิวะโดยไม่สนใจไยดีต่อโลก ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ในกาลนั้นพระสตีไปเกิดใหม่เป็นพระอุมา ธิดาท้าวหิมวัต เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย ทวยเทพทั้งหลายจึงคิดจะให้นางได้เป็นชายาของพระศิวะ เพื่อจะได้บังเกิดโอรสเป็นเทพแห่งสงครามจะได้ไปปราบศัตรูของทวยเพท จึงขอความอนุเคราะห์จากพระกามเทพให้ช่วยเหลือ พระกามเทพจึงยิงศรดอกไม้ไปที่พระศิวะ ทำให้พระองค์ลืมพระเนตรขึ้นแลเห็นพระอุมาก็หลงรักนาง แต่พอรู้ว่ากามเทพเป็นผู้ยิงพระองค์ด้วยบุษปศร ก็โกรธ จึงลืมพระเนตรที่สามเป็นไฟกรดเผาผลาญกามเทพกลายเป็นจุณไป พระกามเทพจึงไม่มีร่างกาย ได้นามใหม่ว่าพระอนงค์ (ผู้ไม่มีร่างกาย) ไป นางรติมีความเศร้าโศกเสียใจมาก ทูลขอสามีคืนจากพระศิวะหลายครั้ง ในที่สุดพระศิวะให้พระกามเทพลงไปเกิดเป็นโอรสของพระกฤษณะในสงครามมหาภารตะชื่อ พระประทยุมน์ และให้นางรตีลงไปเกิดเป็นภรรยาอสูรชื่อมายาวดี ต่อมานางได้ประทยุมน์กุมารจากท้องปลาใหญ่ นางเลี้ยงดูประทยุมน์มาจนเป็นหนุ่ม และได้ประทยุมน์เป็นสามี เพราะพระนารทฤษีบอกนางว่า นางคือนางรตีในชาติก่อน และประทยุมน์นั้นก็คือกามเทพนั่นเอง รตี มีฉายาต่าง ๆ กันดังนี้

๑. เรวา, กามิ, ปรีติ = ผู้ยังให้เกิดความรักใคร่ยินดี

๒. กามปัตนี = เมียของกามเทพ

๓. กามกลา = ผู้เป็นส่วนของกามเทพ

๔. กามปรียา = ผู้เป็นที่รักของกามเทพ

๕. ราคลตา = ไม้เลื้อยแห่งความกำหนัด

๖. มายาวดี = ผู้มีเล่ห์กล

๗. เกลิกิลา = ยวนเสน่ห์

๘. ศภางคี = ผู้งามทั้งร่าง ฯลฯ)


(ชายากามเทพ) หรือไฉน นางปรากฎร่างเพื่อมาเก็บรวมรวมบุปผามาลีที่เกลื่อนกล่อนในฤดูวสันต์เพื่อเอาไปทำบุษปศรถวายพระมันมถะ (มันมถะ แปลว่า ผู้ก่อกวนใจ เป็นฉายานามหนึ่งของกามเทพ เพราะกามเทพนั้นทำให้หัวใจมนุษย์ที่ถูกยิงด้วยบุษปศรต้องปั่นป่วนรัญจวนด้วยความรัก) (กามเทพ) แน่เทียว และหรือว่านี่คืออรัญญานี (นางไม้) ที่ปรากฏร่างขึ้นเพื่อกระทำสักการะต่อพระวสันตเทพบุตร (วสันตะ, วสันต์ ชื่อเทพองค์หนึ่งที่ทำให้เกิดวสันตฤดู หรือฤดูใบไม้ผลอันสวยงามยิ่งกว่าฤดูใด ๆ เพราะมีธรรมชาติอันตระการตาชวนให้เพลิดเพลิน วสันตะเป็นเพื่อนสนิทของกามเทพ ไม่ปรากฏว่าเป็นโอรสของใคร) ในฤดูกาลเช่นนี้กระมัง ขณะที่ชายหนุ่มกำลังรำพึงแก่ตัวเองอยู่นั้น เจ้าหญิงก็เหลือบมาเห็นเข้าพอดี นางรู้สึกเหมือนกับว่าเทพแห่งความรัก (พระอนงค์) ผู้หาพระกายมิได้แล้วกลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง นางตะลึงต่อภาพที่เห็นเบื้องหน้า ลืมเก็บดอกไม้ ลืมเคลื่อนไหว ลืมหมดทุก ๆ อย่าง

ในระหว่างที่บุคคลทั้งสองกำลังจ้องมองกันอยู่ด้วยความรักอันดื่มด่ำหลงใหลนี้เอง พลันก็มีเสียงร้องตะโกนเอะอะด้วยความตื่นตกใจ คนทั้งสองได้ยินก็ชะเง้อคอดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทันใดก็แลเห็นที่มาแห่งเสียง คือช้างพลายเชือกหนึ่งวิ่งมาแต่ไกลเพราะได้กลิ่นนางช้าง มันสลัดเครื่องพันธนาการหลุดออก เหวี่ยงควาญช้างกระเด็น แล้วตะลุยฝ่าไม้ไล่หักโผงผางเตลิดมาตามทาง นางบาทบริจาริกาที่แวดล้อมเจ้าหญิงอยู่ต่างก็พากันวิ่งหนีเอาชีวิตรอดด้วยความตกใจกลัวสุดขีด แต่มนสวามินได้สติก่อน เขาวิ่งถลันตรงมาที่นาง และอุ้มนางไว้ในอ้อมกอด นางกอดเขาไว้อย่างขลาด ๆ ความรู้สึกสับสนด้วยความกลัว ความรัก และความละอาย ชายหนุ่มตระกองกอดนางไว้แน่น วิ่งหนีไปได้ระยะทางไกล พ้นเขตที่ช้างเมามันจะตามมาทัน ในที่สุดนางกำนัลทั้งหลายก็ตามมาทัน กล่าวคำยกย่องสรรเสริญพราหมณ์หนุ่มเป็นอันมากที่ช่วยพระธิดาไว้ แล้วพานางกลับวัง แต่ระหว่างทางที่นางจากไป นางเหลียวหลังกลับมาดูเขาบ่อย ๆ ด้วยความอาวรณ์ เมื่อกลับสู่วังแล้วนางก็โศกครวญหวนหาแต่เขาผู้เป็นวีรบุรุษในใจของนางทิวาและราตรีก็ผ่านไปด้วยความตรอมใจในความรักที่นางมีต่อเขา

ส่วนมนสวามิน ก็ออกจากอุทยาน แลตามนางไปจนกระทั่งนางหายลับเข้าตำหนักไป เขากล่าวแก่ตัวเองว่า "ข้าอยู่โดยปราศจากนางไม่ได้ ที่พึ่งของข้าในยามนี้ก็เห็นจะมีแต่มูลเทวะ จอมเจ้าเล่ห์ที่เชียวชาญทางไสยเวทเท่านั้น"

รำลึกฉะนี้แล้ว ก็เตรียมจะไปพบจอมขมังเวทย์ผู้นั้น ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ชายหนุ่มออกเดินทางไปยังสำนักของมูลเทวะผู้เป็นบดีแห่งมายาวินทั้งหลาย แลเห็นจอมขมังเวทย์กับศศินผู้เป็นสหาย กำลังทดลองมนตร์ไสยต่าง ๆ หลายแบบหลายวิธี สะเทือนฟ้าสะเทือนเดินราวกับสงครามที่อสูรขับเคี่ยวกับทวยเทพกำลังดำเนินอยู่ ชายหนุ่มเข้าไปแสดงคารวะต่อเจ้าสำนักอย่างขลาด ๆ แล้วแจ้งความประสงค์ของตนให้ทราบ มูลเทวะได้ฟังก็หัวเราะยกใหญ่ แต่ในทีี่สุดก็ยอมรับว่าจะช่วยให้ชายหนุ่มได้สัมฤทธิ์ผล จอมขมังเวทย์มนุษย์เจ้าเล่ห์หยิบเม็ดยากลม ๆ เล็ก ๆ ที่ปลุกเสกแล้วเม็ดหนึ่งใส่ลงไปในปากของตนเอง ทันใดก็กลายเป็นรูปพราหมณ์แก่ แล้วเอายาเม็ดที่สองใส่ปากของมนสวามิน ทำให้ชายหนุ่มกลายร่างเป็นหญิงสาวรูปงาม จากนั้นราชาไสยเวทก็จูงมือสาวน้อยไปสู่งท้องพระโรงของกษัตริย์ผู้เป็นพระบิดาของเจ้าหญิงศศิประภา และทูลว่า "โอ ราชะ ข้ามีลูกชายอยู่เพียงคนเดียว ข้าได้ไปสู่ขอหญิงงามคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยาของเขา และอุตส่าห์เดินทางดั้นด้นมาแต่ไกล เพื่อจะมอบนางให้แก่ลูกของข้า แต่ไม่พบเขา ข้าจะต้องออกติดตามให้เจอเขาให้ได้ ข้าจำเป็นจะต้องทูลขอร้องพระองค์ให้่วยดูแลหญิงผู้นี้ไว้ให้ข้าด้วย จนกว่าข้าจะตามเจอลูกชายของข้า ที่ข้ามาทูลต่อพระองค์เช่นนี้ ก็เพราะพระราชานั้นได้ชื่อว่า นฤบาล เป็นผู้คุ้มครองคนทั้งหลาย และทรงเป็นผู้พิทักษ์โลกอีกด้วย"

เมื่อพระเจ้ายศเกตุได้ฟังคำขอร้องของพราหมณ์เช่นนั้น ก็รีบรับคำเพราะทรงเกรงกลัวคำสาปของพราหมณ์ถ้าทรงปฏิเสธ จึงตรัสเรียกพระราชธิดาศศิประภามาเฝ้า ดำรัสว่า "ลูกหญิง เอาหญิงผู้นี้ไปไว้ที่ตำหนักของลูก เลี้ยงดูนางให้ดี ให้นางนอนกับเจ้า และกินอาหารร่วมกับเจ้าทุกวัน" เจ้าหญิงก็ดำรัสแล้วก็พามนสวามินผู้แปลงร่างเป็นสาวน้อยตามไปที่ตำหนักของนาง ส่วนมูลเทวะผู้แปลงรูปเป็นพราหมณ์แก่ก็เดินทางท่องเที่ยวไปตามอัธยาศัย และมนสวามินก็ได้อยู่กับเจ้าหญิงที่ตนรักในสภาพที่ตนเป็นหญิงเช่นเดียวกัน

ในเวลาไม่นานนักนางก็มีความสนิทสนมและให้ความรักความเอ็นดูแก่สหายคนใหม่ของนาง และแล้ววันหนึ่งเจ้าหญิงก็เริ่มมีอาการเศร้าสร้อย และแสดงอาการแหนงหน่ายต่อสิ่งทั้งหลายที่นางเคยรักเคยใคร่ พลิกซ้ายป่ายขวากลับไปกลับมาอยู่บนบรรจถรณ์ไม่หยุดหย่อน มนสวามินผู้นอนอยู่บนเตียงถัดไปในสภาพของหญิงสาวจึงปลอบถามนางว่า "ศศิประภายอดรัก ทำไมเจ้าจึงดูซีดเซียวนัก และร่างกายก็ซูบผอมลงทุกวัน ดูราวกับคนที่พลัดพรากจากคู่รักของตนต้องตรอมใจโหยหานึกถึงคนรัก บอกข้าสิ ถ้าเจ้ายังไว้ใจข้าผู้เป็นเพื่อนของเจ้าคนนี้ ดีละ ถ้าเจ้ายังไม่ยอมพูด ข้าจะอดอาหารตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าเจ้าจะบอกความจริงแก่ข้า"

เจ้าหญิงได้ฟังดังนั้นก็ถอนใจ ในที่สุดก็ยอมเล่าเรื่อง นางกล่าวว่า "ข้าจะไม่เชื่อใจเจ้าได้อย่างไรเล่า ฟังให้ดีนะ ข้าจะเล่าสาเหตุให้เจ้าฟัง ครั้งหนึ่งเมื่อวสันตฤดูมาเยือน ข้าไปเที่ยวที่สวนดอกไม้เพื่อความเพลิดเพลิน และที่นั้นเอง ข้าได้เจอพราหมณ์หนุ่มรูปงามคนหนึ่ง ผู้งามสดใสปานฤดูใบไม้ผลิ และผุดผ่องดังรัศมีพระจันทร์ เขาทำให้ข้าตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็น และทำให้ข้าชื่นใจราวกับได้ทิพยรสในดวงจันทร์ (หมายถึง อาหารอันเป็นทิพย์ที่มีอยู่ในดวงจันทร์ เมื่ออาหารนี้ถูกกินนาน ๆ เข้า จำนวนก็ลดน้อยลงทำให้พระจันทร์เรียวลง ๆ เป็นรูปโค้ง ในที่สุดก็หมดดวง ยามนี้คือข้างแรม ต่อมาพระจันทร์ก็มีเสี้ยวใหญ่ขึ้น ๆ จนเต็มที่ นั่นคือ สมบูรณจันทร์หรือพระจันทร์เต็มดวง อันแสดงว่าทิพยาหารในดวงจันทร์เริ่มสะสมขึ้นมาใหม่) นั้น กำลังมองดูเขาด้วยใจอันเผลอไผลนั้นเอง ก็พอดีช้างใหญ่เชือกหนึ่งหลุดจากปลอกพันธนาการวิ่งเตลิดผ่านเข้ามาในอุทยาน รูปร่างของมันกำยำดำมืดเหมือนเมฆฝน พวกนางกำนัลทั้งหลายของข้าก็แตกกระเจิงวิ่งหนีไปหมด และระหว่างที่ข้ายังละล้าละลังไม่รู้จะทำอย่างไร พราหมณ์หนุ่มก็ถลันเข้ามาอุ้มข้าไว้ทันที พาหนีจากที่นั้น การสัมผัสกับร่างกายของชายหนุ่มเป็นความรู้สึกแปลกใหม่ที่ข้าไม่เคยประสบมาก่อน การกอดอย่างนิ่มนวลละมุนละไมของเขาทำให้ข้ารู้สึกเหมือนถูกชะโลมลูบด้วยผงจันทร์อันหอมกรุ่น และรู้สึกเต็มตื้นด้วยความอิ่มเอิบใจ ราวกับได้ลิ้มรสทิพยาหารในดวงเดือน ข้ารู้สึกเป็นสุขเหลือที่จะบรรยายออกมาได้ หลังจากนั้นมินาน บรรดาสาวสรรพ์กำนัลของข้าก็กลับมาชุมนุมกันดังเก่า และเขาก็พาข้ากลับวัง ทั้ง ๆ ที่ข้าไม่เต็มใจเลย ทำให้รู้สึกเหมือนว่าข้าถูกเหวี่ยงจากสวรรค์ลงมาสู่ดินในพริบตา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาใจของข้าก็เฝ้าแต่คิดถึงเขามิรู้วาย ยามตื่นก็รู้สึกเหมือนเขาอยู่เคียงข้าง และแม้ยามหลับข้าก็แลเห็นเขาในความฝัน ว่าเขาประคองกอดและจุมพิตข้าอย่างนิ่มนวล แต่แม้กระนั้นข้าก็ยังลืมถามชื่อเขา และส่วนอื่น ๆ อันเกี่ยวกับตัวเขา ดังนั้นข้าจึงต้องทนทุกข์ทรมานอย่างที่เจ้าเห็นนี่แหละ เขาทำให้หัวใจของข้าต้องร้อนรุ่มด้วยไฟแห่งความทุกข์ เพราะการพรากจากเขาผู้เป็นบดีแห่งชีวิตของข้า"

พอมนสวามินได้ยินเรื่องราวของนาง เขาก็รู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ มีความอิ่มเอิบราวกับได้รับอมฤตรส เพราะวาจาของนางผู้เป็นที่รัก แม้เขาจะอยู่ในร่างของหญิงสาว ณ ที่นั้นก็ตาม เมื่อประจักษ์ความจริงดังนี้ ชายหนุ่มก็รู้ว่าบัดนี้ถึงเวลาที่เขาจะเปิดเผยตัวเองได้แล้ว จึงคายเม็ดยาวิเศษออกจากปาก และแสดงรูปร่างอันแท้จริงให้ประจักษ์ พลางกล่าวว่า "แม่ตากลมแลดูข้าสิ ข้านี่แหละคือพราหมณ์หนุ่มคนที่เจ้าถวิลหาตั้งแต่พบกันในสวนเป็นครั้งแรก และข้าก็ตกเป็นทาสของเจ้าตามความหมายของ "ทาส" ที่แท้จริงทุกประการ ตั้งแต่เราหยุดชะงักเพราะช้างใหญ่วิ่งเข้ามา การได้อุ้มเจ้าหนีอันตรายก็เป็นสิ่งที่มิได้คาดถึง จนเมื่อเจ้าจากไปแล้วข้าก็คิดถึงเจ้ามิวาย จึงต้องหาวิธีที่จะได้พบเจ้าอีก ก็อย่างที่เห็นในรูปร่างผู้หญิงนี่แหละ เพราะฉะนั้น เจ้าผู้เป็นที่รักของข้าเอ๋ย ขอให้ความโศกศัลย์เพราะการพลัดพรากของเราทั้งสองจงถึงที่สุดเถิด เราได้ทนทุกข์ทรมานมามากพอแล้ว อย่าให้เราต้องอดทนอีกเลย เพราะพระกามเทพเองก็ไม่อาจจะทนรอโอกาสให้เราอีกต่อไปแล้ว" ฝ่ายเจ้าหญิงเมื่อได้แลเห็นรูปร่างอันแท้จริงของชายในหทัยของนางปรากฏต่อหน้าและกล่าวถ้อยคำดังกล่าว นางก็เต็มตื้นใจเป็นล้นพ้น ดังนั้นทั้งสองก็กระทำการสมรสกันโดยแบบคานธรรพวิวาห์ (คานธรรพวิวาห์ แปลว่า แต่งงาน หรือได้เสีย กันเองด้วยความสมัครใจของชายและหญิง ถือว่าเป็นการวิวาห์อย่างหนึ่งในแปดอย่างที่ใช้ได้แม้จะไม่เปิดเผยแก่สาธารณชนก็ตาม วิวาห์ ๘ แบบได้แก่

๑. พราหมวิวาหะ หมายถึง การแต่งงานที่ได้หมั้นกันเรียบร้อยด้วยทรัพย์ และมีการทำพิธีถูกต้องทางศาสนา

๒. ไทววิวาหะ คือการวิวาห์ที่ฝ่ายพ่อแม่ยกลูกสาวให้แก่พระผู้ทำพิธี ในฐานะที่ใช้เป็นของแทนค่าจ้าง

๓. อารษวิวาหะ คือการวิวาห์ที่มีสินสอดเป็นแม่โค หรือพ่อโค

๔. ปราชาปัตยวิวาหะ คือการวิวาห์ซึ่งฝ่ายพ่อแม่ยกลูกสาวให้เจ้าบ่าวโดยไม่เรียกร้อง

๕. คานธรรพวิวาหะ (คานฺธรววิวาห) คือการวิวาห์โดยความพึงพอใจของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ที่จะได้เสียกันเองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากญาติของฝ่ายหญิง

๖. อาสุรวิวาหะ คือการวิวาห์โดยการซื้อขายเหมือนสินค้า

๗. รากษสวิวาหะ คือการวิวาห์ที่ใช้วิธีตีชิงหรือปล้นเอาโดยพละกำลัง

๘. ไปศาจวิวาหะ คือการวิวาห์โดยการลักหลับผู้หญิง วางยานอนหลับหรือมอมเมาสุรา)


จากนั้นมนสวามินก็มีชีวิตอย่างผาสุกในวังของนาง โดยดำรงร่างเป็นสองแบบ กล่าวคือเมื่อถึงเวลากลางวันก็เอาเม็ดยาวิเศษอมไว้ในปาก มีรูปร่างเป็นหญิง ตกถึงเวลากลางคืนก็คายเม็ดยาออก กลายร่างเป็นชาย

ด้วยประการฉะนี้แลเวลาก็ผ่านไป ครั้นแล้วันหนึ่ง พี่เขยของพระราชายศเกตุ มีชื่อว่า มฤคางกทัตต์ ได้ยกพระธิดาชื่อมฤคางกวตีให้อภิเษกสมรสกับพราหมณ์หนุ่มลูกชายของมหาเสนาบดี ผู้เป็นอำมาตย์นายกของพระราชา ชื่อ ปรัชญาสคร และนางมฤคางกวตีได้รับทรัพย์สินจำนวนมากจากพระบิดาของนาง ในงามอภิษกสมรสครั้งนี้ เจ้าหญิงศศิประภาได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานด้วยที่วังของพระญาติองค์นี้ นางก็เสด็จแวดล้อมไปด้วยเหล่านางผู้รับใช้เป็นอันมาก ในจำนวนนี้มีมนสวามินในร่างสาวสวยตามเสด็จไปด้วย

ฝ่ายลูกชายของมหาอำมาตย์ปรัชญาสาคร ได้เห็นางแปลงคือมนสวามินในร่างหญิงสาวสวย ก็เกิดความหลงใหลเหมือนถูกเสียบด้วยศรกามเทพ เมื่อเสร็จการแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวก็พาเจ้าสาวกลับไปสู่เรือนของตน ชายหนุ่มรู้สึกใจหายที่ต้องพรากจากนางงาม มีความรู้สึกเหมือนหัวใจของตนถูกปล้อนเอาไปจากร่างฉะนั้น ชายหนุ่มเฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงนางอยู่มิวาย หลับตาลงคราใดก็แลเห็นแต่ใบหน้าของนางทุกครั้ง หัวใจก็เจ็บปวดไปหมดด้วยพิษพญางูแห่งความรักอันแรงร้าย นอนกระสับกระส่ายเดี๋ยวลุกเดี๋ยวนั่งหาความสงบมิได้ คนที่มาช่วยงานและพักอยู่ที่นั้นต่างก็งุนงงต่อภาพที่ได้เห็น ปรึกษากันว่าเกิดอะไรขึ้น และบิดาของชายหนุ่มคือ ท่านมหามนตรีปรัชญาสาคร พอได้ทราบเรื่องก็รีบมาเยี่ยม ท่านมุขมนตรีพยายามปลอบถามสาเหตุอย่างไร ๆ ก็ไม่ได้เรื่อง พอถูกซักถามหนักเข้า ชายหนุ่มก็กระโจนลงจากเตียง ส่งเสียงกรีดร้องพูดรำพันเพ้อพร่ำฟังไม่ได้ศัพท์ ทำให้ผู้เป็นพ่อกลุ้มใจยิ่งนัก และตระหนักว่าสถานการณ์นั้นร้ายแรงเกินกว่าจะเยียวยาได้ เมื่อพระราชาทราบเรื่องก็รีบเสด็จมาเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ พอเห็นอาการของชายหนุ่มก็ทรงทราบได้ทันทีว่าตกอยู่ในความทรมานเพราะพิษรักอันร้ายแรงถึงขั้นที่ ๗ ในจำนวนทั้งหมด ๑๐ ขั้น ดังนั้นพระองค์จึงตรัสแก่เหล่าอำมาตย์ว่า "ถ้าข้าได้หญิงบริสุทธิ์จากตระกูลพราหมณ์มาสักคนหนึ่ง ข้าจะลองดูซิว่า เขาจะมีความรักนางได้หรือไม่ ถ้าเขายังไม่สามารถทำใจให้รักนางได้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะต้องไปถึงขั้นที่ ๑๐ (ตาย) (๑๐ ขั้นของการทนทุกข์ทรมานเพราะความรัก ได้แก่ ๑. รักนัยน์ตาสวย ๒. ผูกพันทางใจ ๓. กระสัน ๔. นอนไม่หลับ ๕. ซูบผอม ๖. ไม่รู้หนาวรู้ร้อน ๗. ไม่รู้จักอาย ๘. ใจเลื่อนลอย ๙. ลมใส่ ๑๐. ตาย) แน่ ๆ ถ้าเขาตายลง พ่อเของเขาผู้เป็นมหามนตรีของข้าก็คงจะถึงความพินาศ ถ้าเขาถึงความพินาศ อาณาจักรของข้าก็ย่อมพลอยพินาศไปด้วย ลองบอกหน่อยทีว่า ข้าจะทำอย่างไรดี"

เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เหล่ามนตรีก็กราบทูลว่า "ราชะ มีคำท่านกล่าวไว้ว่า บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมคุ้มครองทวยราษฎร์ทั้งปวง และในหมู่ราษฎร มนตรีเป็นบุคคลที่สำคัญกว่า ถ้ามนตรีพินาศ การคุ้มครองของพระราชาก็ไม่มีผล เมื่อเป็นดังนี้ บาปย่อมเกิดเพราะความตายของบุตรมหามนตรีนี้ เพราะฉะนั้นพระองค์จะต้องไม่ทำให้เกิดบาปกรรมนี้ มิฉะนั้นพระองค์จะถูกประณามว่าทำผิดหลักธรรม และเพื่อหลักการอันนี้ พระองค์ควรทดลองแก้ไขให้ดีที่สุด อุบายในกรณีนี้ก็คือ พระองค์ควรแสวงหาหญิงตระกูลพราหมณ์ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง และงามพร้อมด้วยรูปสมบัติคุณสมบัติอันเลิศมาให้แก่บุตรมนตรี ให้เขาอยู่กับนางสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถ้าไม่ถูกใจเขาก็คงส่งนางคืน เมื่อถึงเวลานั้น เราค่อยมาปรึกษาหารือกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป"

เมื่อเหล่ามนตรีกราบทูลแสดงความคิดเห็นดังนี้่ พระราชาก็ทรงเห็นชอบด้วย ในการที่จะส่งนางแปลงไปให้แก่บุตรชายของมุขมนตรี และหลังจากที่ตรวจฤกษ์งามยามดีเรียบร้อยแล้ว พระราชาก็สั่งให้เอาตัวมนสวามินชายในร่างหญิง มาจากตำหนักของเจ้าหญิงพระราชธิดามาเฝ้า แล้วแจ้งเรื่องให้ราบ ชายหนุ่มได้ฟังจึงกราบทูลว่า "ราชะ ถ้าพระองค์ตั้งตระทัยจริงจังว่า จะส่งตัวหม่อมฉันไปเป็นเมียลูกมุขมนตรีคนนั้น หม่อมฉันก็ยอม แต่โปรดทรงระลึกว่า หม่อมฉันเป็นคนที่พราหมณ์ชราผู้หนึ่งนำมาฝากพระองค์ไว้และตัวเขาก็หายสาบสูญไป ถ้าหม่อมฉันจะต้องแต่งงานในครั้งนี้ หม่อมฉันจะต้องขอให้สามีของหม่อมฉันกระทำบุญเสียก่อน คือให้เขาออกเดินทางจาริกแสวงบุญไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามตีรถะ (ท่าน้ำ) ต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งเทวาลัยของทวยเทพ เมื่อครบ ๖ เดือนที่เขาไปประพฤติบุญยยาตราเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับมาบ้าน เมื่อนั้นแหละจึงค่อยส่งหม่อมฉันไปเป็นเมียเขา เงื่อนไขที่หม่อมฉันกราบทูลนี้จะรับได้หรือไม่ ถ้าไม่รับ แต่จะบังคับหม่อมฉันให้เป็นเมียเขา หม่อมฉันก็จะกัดลิ้นให้ขาด ฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอดไป"

เมื่อนางกล่าวดังนี้ พระราชาก็แจ้งให้บุตรชายของมหามนตรีทราบ ชายหนุ่มได้ทราบดังนี้ อาการป่วยก็หายเป็นปกติทันที และรีบรับเงื่อนไขทันทีโดยไม่มีข้อต่อรอง ชายหนุ่มรีบดำเนินการวิวาห์ต่อไปจนขบถ้วนกระบวนการ และตั้งนางมฤคางกวตีเป็นเมียหลวงอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง และให้ว่าที่เมียคนที่สองหรือหญิงปลอมอยู่บ้านเดียวกัน ให้มีคนคอยระแวดระวังรับใช้นางอย่างดีที่สุด ส่วนชายโง่เมื่อจัดการเสร็จแล้วก็จัดแจงออกเดินทางไปจาริกแสวงบุญตามตีรถะต่าง ๆ เพื่อเอาใจนางตามข้อตกลง

ฝ่ายมนสวามินอยู่ด้วยกันกับนางมฤคางกวตีเมียหลวงโดยนอนเตียงเดียวกัน กินอาหารโต๊ะเดียวกัน คืนหนึ่งในขณะที่คนทั้งสองนอนบนเตียงด้วยกัน และคนรับใช้ซึ่งอยู่นอกห้องนอนหลับหมดแล้ว นางมฤคางกวตีกล่าวแก่เพื่อนร่วมเตียงว่า "เพื่อนเอ๋ย ข้านอนไม่หลับ ช่วยเล่านิทานให้ข้าฟังสักเรื่องสิ" เมื่อมนสวามินได้ยินดังนั้นก็กล่าวว่า "ข้าจะเล่านิทานให้เจ้าฟัง เรื่องมีว่าในสมัยดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว มีราชฤษีองค์หนึ่งชื่ออิฑะ เป็นกษัตริย์สูรยวงศ์องค์หนึ่งได้ถูกคำสาปของพระเคารี (พระอุมา) กลายเป็นหญิง และพระองค์ในสภาพที่ถูกสาปเป็นหญิงเกิดไปรักพระพุธ (โอรสของพระจันทร์) ในการพบกันครั้งแรก ณ พุ่มไม้บริเวณอาศรม และได้เสียเป็นผัวเมียกันที่นั่น จนเกิดโอรสด้วยกันคือเจ้าชายปุรูรวัส" เมื่อหนุ่มเจ้าเล่ห์เล่ามาถึงตอนนี้ ก็สรุปว่า "ดังนั้น ด้วยความอนุเคราะห์จากเทพก็ดี หรือด้วยเวทมนตร์และโอสถก็ดี บางทีก็อาจทำให้ผู้ชายกลายเป็นผู้หญิง หรือในทางกลับกัน ผู้หญิงกลายเป็นชายก็ได้เหมือนกัน และด้วยวิธีนี้แม้แต่มหาบุรุษก็อาจตกเป็นผู้พ่ายแพ้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพราะความรักชักนำไปได้เหมือนกัน"

เมื่อนางมฤคางกวตี ผู้ตรอมใจเพราะถูกสามีทอดทิ้งโดยเขารีบออกเดินทางไปจาริกแสวงบุญ หลังจากพิธีวิวาห์เพิ่งเสร็จไปใหม่ ๆ ได้ฟังนิทานเรื่องนี้ นางก็กล่าวแก่หญิง (มนสวามิน) ผู้เป็นเมียน้อยของสามีและผู้เป็นที่นางไว้ใจเพราะอยู่ด้วยกันในฐานะหญิงผู้ร่วมสามีเดียวกันกับนางว่า "นิทานที่เจ้าเล่ามาทั้งหมดนี่ ทำให้กายของข้าสั่นเทิ้ม และหัวใจของข้าก็วาบหวิวไปหมด สหายเอ๋ย บอกข้าหน่อยเถอะว่าเรื่องนี้หมายความว่ากระไร" เมื่อพราหมณ์หนุ่มในร่างหญิงได้ยินดังนี้ ก็กล่าวต่อไปว่า "เพื่อนเอ๋ย นี่คือสมุฏฐานอันร้ายแรงที่เกิดจากความรัก ข้าก็ทนไม่ไหวเหมืนอกัน ข้าจะไม่ปิดบังเจ้าอีกต่อไปแล้ว" เมื่อนางแปลงกล่าวดังนี้ นางมฤคางกวตีก็กล่าวต่อไปอย่างช้า ๆ ว่า "สหายเอ๋ยข้ารักเจ้าเหมือนชีวิตของข้าเอง เพราะฉะนั้นไฉนข้าจึงไม่ควรพูดสิ่งที่ข้าคิดว่าสมควรจะเปิดเผยเช่นเดียวกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ใครก็ได้ที่ใช้กลอุบายอันชาญฉลาดอาจจะถูกพามาสู่วังนี้ได้" เมื่อศิษย์ของจอมขมังเวทได้ฟังดังนี้ เขาก็เข้าใจว่านางหมายความว่าอะไร จึงประสมประแสแต่งเรื่องเพื่ออธิบายตนเองว่า "ถ้าจะถือเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วละก็ ข้าจะตอบตามตรงว่า ข้าได้รับพรจากพระวิษณุเป็นเจ้าว่า ถ้าข้าอยากจะแปลงร่างเป็นชายในเวลากลางคืนข้าก็ทำได้ เพราะฉะนั้นข้าจะแปลงกายเป็นชายให้เจ้าดูเดี๋ยวนี้" ว่าแล้วก็คายเม็ดยาวิเศษออกจากปาก และปรากฎกายเป็นเด็กหนุ่มรูปงามต่อหน้านาง และด้วยกโลบายอันชาญฉลาดเช่นนี้ พราหมณ์หนุ่มก็ได้อยู่กันกับภรรยาของลูกมุขมนตรี โดยเป็นหญิงในเวลากลางวันและเป็นชายในเวลากลางคืน แต่หลังจากนี้มินานก็มีข่าวแจ้งมาว่าสามีของนางได้เสร็จการจาริกแสวงบุญแล้ว และกำลังเดินทางกลับบ้าน ชายหนุ่มผู้เป็นชู้ได้ทราบข่าวก็ตกใจ รีบพานางมฤคางกวตีหนีออกจากบ้านไปในยามดึก

ถึงตอนนี้ก็ปรากฏว่า จอมขมังเวทย์มูลเทวะผู้เป็นอาจารย์ของชายหนุ่มมนสวามิน หลังจากที่ท่องเที่ยวหาความสำราญใจไปในดินแดนต่าง ๆ ได้ทราบเรื่องที่ศิษย์ของตนก่อขึ้น จึงรีบแปลงกายกลับเป็นพราหมณ์ชราตามเดิม พร้อมด้วยศศินผู้เป็นสหายซึ่งแปลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่มตรงไปเฝ้าพระราชายศเกตุ กราบทูลว่า "ข้าแต่ราชะ คงจะทรงจำได้ว่าข้าคือใคร บัดนี้ข้าไปติดตามจนพบลูกชายของข้าแล้ว จึงกลับมาทูลขอคืนลูกสะใภ้ที่ข้าฝากพระองค์ไว้กลับคืน เพราะฉะนั้นขอได้ทรงคืนนางให้แก่ลูกชายของข้าเถิด" พระราชาได้ฟังดังนี้ก็ตกพระทัย กลัวจะถูกพราหมณ์สาปเอาจึงกล่าวอ้อมแอ้มแก้ตัวว่า "ท่านพราหมณ์ ข้าจะทำอย่างไรดีเล่า เพราะลูกสะใภ้ของท่านเพิ่งหนีออกจากบ้านเมื่อสองสามวันนี้เอง ไม่ทราบว่าไปไหน จนป่านนี้ยังตามตัวไม่พบเลย นี่เป็นความผิดของข้าเอง เอาอย่างนี้แล้วกัน ข้าจะมอบลูกสาวของข้าให้ท่านเป็นการทดแทนลูกสะใภ้ของท่านที่หายไป ขอท่านจงรับเอาไปเถอะ"

เมื่อคนเจ้าเล่ห์ในร่างของพราหมณ์ชราได้ยินก็ซ่อนยิ้มด้วยความพอใจ แต่แกล้งตีสีหน้าบึ้งตึงให้พระราชาเกรงกลัว เมื่อรับเจ้าหญิงมาแล้วก็มอบให้แก่ศศิน พราหมณ์หนุ่มผู้ถูกสมมุตให้เป็นลูกชายของพราหมณ์เฒ่า การวิวาห์อย่างเอิกเกริกก็ได้กระทำขึ้นในวังหลวง เสร็จพิธีแล้วมูลเทวะก็นำคนทั้งสองเดินทางกลับบ้านโดยไม่สนใจไยดีต่อทรัพย์ศฤงคารที่พระราชาประทานให้

ณ บ้านของมูลเทวะนั่นเอง มนสวามินผัวคนแรกของเจ้าหญิงก็เดินทางมาถึง เกิดการโต้เถียงยกใหญ่กับศศินผู้เป็นผัวคนใหม่ของนางต่อหน้ามูลเทวะ มนสวามินกล่าวว่า "เจ้าหญิงศศิประภาองค์นี้ควรจะถูกส่งคืนให้ข้า เพราะข้าได้เป็นสามีของนางคนแรกโดยอาศัยกลวิธีของท่านครูแท้ ๆ " ศศินตอบว่า "อ้ายหน้าโง่ เจ้ามีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับนาง นางเป็นเมียข้าแท้ ๆ เพราะพระบิดาของนางประทานนางให้แก่ข้า โดยเข้าพิธีวิวาห์ต่อหน้ากองไฟอันศักดิ์สิทธิ์" ปรากฏว่าทั้งสองชายต่างก็ถุ้มเถึยงกันอย่างไม่ลดราวาศอกให้กันและกัน ต่งก็ยืนยันสิทธิเหนือตัวนางด้วยกัน ไม่มีใครตัดสินในเรื่องนี้ได้

"โอ ราชันโปรดตอบข้าหน่อยว่าในระหว่างชายสองคนคู่พิพาทในกรณีนี้ ใครสมควรจะเป็นเจ้าของนางอย่างแท้จริง"

เมื่อพระราชาตริวกรมเสนถูกถามจากเวตาล ซึ่งอยู่บนพระอังสาของพระองค์ดังนั้น ก็ตรัสตอบปัญหาว่า "ข้าพิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีความเห็นว่าเจ้าหญิงควรเป็นภริยาของศศินโดยแท้ เพราะว่า พระราชาทรงยกนางให้แก่ศศิน และจัดพิธีวิวาห์ให้อย่างเปิดเผยต่อหน้าคนทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเจ้าหญิงจึงเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมายของศศิน เขาเท่านั้นที่เป็นเจ้าของนางโดยไม่มีที่สงสัย ส่วนเจ้าหนุ่มมนสวามินนั่น ไม่ได้เข้าพิธีวิวาห์กับนางเพียงแต่ได้เสียกันเองอย่างลับ ๆ ตามแบบคานธรรพวิวาห์เท่านั้น ไม่มีผู้รู้เห็นเป็นพยาน จะมาอ้างสิทธิเหนือนางกระไรได้"

เมื่อเวตาลได้ฟังคำตอบของพระราชา มันก็ละจากพระอังสา และลอยกลับไปยังกิ่งอโศกตามเดิม

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๔ เรื่องของนางรัตนาวดี บุตรีเศรษฐี ผู้หลงรักโจร



นิทานเรื่องที่
๑๔



พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก ปลดเวตาลลงจากกิ่งเหวี่ยงขึ้นพระอังสา เดินย้อนกลับตามทางเดิม มาได้ครู่หนึ่งเวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "ราชะ ดูพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยอยู่ ถ้ากระไรเพื่อมิให้ต้องเบื่อหน่ายเกินไปเพราะหนทางยังอยู่อีกไกล ข้าจะเล่าเรื่องสนุกให้ทรงฟังสักเรื่องหนึ่ง จะโปรดว่าอย่างไร" เมื่อเห็นพระราชาไม่ตอบ เวตาลจึงเล่าเรื่องนิทานดังนี้

มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อเมืองอโยธยา อันได้ชื่อว่าเป็นที่ประทับขององค์พระวิษณุเป็นเจ้าครั้งที่ทรงอวตารลงมาเกิดเป็นพระราม (ปรากฏเรื่องเราวในนารายณ์อวตารปางที่ ๗) ผู้ทรงทำลายเหล่ารากษสให้พินาศย่อยยับไป (รากษสนั้นคือ ทศกัณฐ์กับพวกพ้อง) นครนี้มีพระราชาผู้เกรียงไกรทรงนามวีรเกตุเป็นผู้ครองอยู่ ในเมืองนั้นมีนายวาณิชมหาเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ รัตนทัตต์เป็นไวศยบดี (หัวหน้าของพ่อค้าทั้งหลาย) แห่งพ่อค้าทั้งปวง มีภรรยาชื่อ นันทยันตี และมีธิดาชื่อรัตนวดี ซึ่งเทพทั้งหลายประทานให้มาเกิดในตระกูลของคนทั้งสอง นางรัตนวดีเจริญวัยขึ้นด้วยความฟูมฟักถนอมของบิดาและมารดา นอกจากมีสิริโฉมเป็นเลิศแล้วยังมีความเรียบร้อยน่ารักอีกด้วย ความงามของนางเป็นที่จับใจของบุรุษทั้งหลาย ฉะนั้นจึงมีผู้ชายมารักใคร่นางและสู่ขอนางเป็นภรรยา ไม่แต่เพียงบรรดาไวศยะตระกูลใหญ่ ๆ เท่านั้น แม้ราชาทั้งหลายก็หลงใหลใฝ่ฝันในตัวนาง อยากจะได้เป็นชายาด้วยกันทั้งสิ้น แต่นางมิได้ปลงใจรักใคร่บุรุษใดเลย ไม่ว่าจะเป็นใคร ต่อเป็นองค์อัมรินทร์นางก็ไม่ปรารถนา และประกาศเจตนาของนางอย่างเด็ดเดี่ยวว่า นางยินดีตายเสียดีกว่าจะคิดแต่งงานกับใคร พฤติกรรมของนางทำให้ไวศยะผู้บิดาบังเกิดความเศร้าใจ แต่ก็ไม่เคยขัดใจนางในเรื่องนี้ และข่าวคราวของนางนั้นก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งนครอโยธยา

ในกาลนั้นปรากฏว่าพวกราษฎรชาวเมืองถูกโจรปล้อนสะดมติดต่อกันบ่อย ๆ ประชาชนผู้เดือดร้อนจึงมาชุมนุมกันเรียกร้องต่อพระราชาวีรเกตุให้ช่วยเหลือ โดยกล่าวว่า

"ข้าแต่นฤบดี พวกเราทั้งหลายมีความเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะมีโจรมาปล้นแทบทุกคืน และเราก็จับมันไม่ได้ ขอพระองค์โปรดทรงช่วยเหลือด้วยเถิด"

เมื่อพระราชาได้ฟังคำร้องทุกข์ของราษฎร ก็สั่งให้วางยาม แต่งตัวปลอมเป็นชาวเมืองแยกย้ายกันไปเฝ้าในจุดต่าง ๆ เพื่อจับโจรมาลงโทษ แต่เวลาผ่านไปช้านานก็ยังจับโจรไม่ได้ การปล้อนสะดมอันอุกอาจก็ยังเกิดขึ้นเป็นประจำทุกคืน ดังนั้นพระราชาจึงต้องปลอมพระองค์ออกไปดูเหตุการณ์ด้วยพระองค์เองในคืนวันหนึ่ง

ขณะที่พระราชาทรงถืออาวุธด้อมมองมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งในพระนครนั้น ก็เจอชายคนหนึ่งทำลับ ๆ ล่อ ๆ อยู่ข้างถนนข้างหน้า มีกิริยาชวนให้สงสัย เพราะเหลียวซ้ายแลขวาลอกแลกเป็นพิรุธ พระราชาแลเห็นดังนั้นก็สะกดรอยตามไปห่าง ๆ ทรงรำพึงว่า "เจ้านี่คงจะเป็นโจรอย่างไม่ต้องสงสัยเลย มันกำลังมองหาทางเข้าบ้านเพื่อจะตัดช่องย่องเบาเอาทรัพย์ของชาวบ้านแน่ ๆ" คิดดังนี้แล้วก็ทรงเร่งฝีเท้าติดตามไปทันที ฝ่ายโจรเหลียวกลับมาเห็นเข้าก็ถามว่า "เจ้าเป็นใคร" พระราชาแสร้งตอบว่า "ข้าเป็นโจรน่ะซิ" บุรุษนั้นได้ฟังก็กล่าวว่า "เหมาะทีเดียว ข้าได้เพื่อนร่วมทางของข้าแล้ว คือเจ้านี่เอง เพราะเจ้ามีอาชีพอย่างเดียวกับข้า ไปบ้านข้าเถอะ ข้ายินดีต้อนรับเจ้า"

เมื่อได้ยินโจรกล่าวดังนั้น พระราชาก็ตอบตกลง และติดตามโจรไปยังที่อยู่ของมัน ซึ่งเป็นห้องใต้ดินอยู่ลึกเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง ห้องนัั้นตกแต่งงดงามตระการตาด้วยของมีค่าราคาแพงทั้งสิ้น เมื่อกระทบแสงตะเกียงก็สะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ ดูราวกับเป็นสวรรค์ใต้บาดาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งพลี (พลี เป็นพญาอสูรตนหนึ่งเคยราุกรานมนุษย์และเทวดาจนสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ครอบครองทั้ง ๓ โลก แต่ในที่สุดถูกรพระนารายณ์อวตาลเป็นพราหมณ์เตี้ย (วามนาวตาร) มาปราบพลีถูกไล่ลงไปครองบาดาลอันเป็นเสมือนสวรรค์ใต้ดิน และได้รับคำมั่นสัญญาจากพระวิษณุว่า ถ้าทำตัวดีต่อไปภายหน้าจะให้เป็นพระอินทร์อีกครั้ง) มิได้เป็นเจ้าของฉะนั้น

ฝ่ายพระราชา เมื่อเสด็จเข้าไปในนิวาสสถานของโจรแล้วก็ทรงแลดูโดยรอบ และนั่งลงบนพื้นที่ปูลาดด้วยพรมอันงามวิจิตร ในขณะที่นายโจรเดินหายเข้าไปในห้องชั้นใน มีนางทาสผู้หนึ่งเดินออกมาและกล่าวแก่พระราชาว่า

"โอ วีระ ท่านเข้ามาในที่นี้ทำไม รู้ไหมว่านี่เป็นปากแห่งมฤตยูแท้เทียว ชายคนที่ท่านตามมานี้เป็นมหาโจรจอมโหดคนหนึ่ง ประเดี๋ยวเขาออกมาจากห้อง เขาจะจัดการกับท่านอย่างไม่ต้องสงสัย ข้าขอเตือนท่านว่า โจรคนนี้เป็นคนเจ้าเล่ห์แสนกล มีอุบายสารพัด จงรีบหนีไปโดยเร็วเถิด"

พระราชาได้ฟังดังนั้น ก็รีบเสด็จกลับวังทันที เมื่อถึงวังแล้วก็เรียกทหารมีฝีมือพวกหนึ่งมาประชุม สั่งให้เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ทรงนำทหารไปจุดช่องทางเข้าสำนักโจรและเรียงรายล้อมเอาไว้ทุกด้าน ฝ่ายโจรเมื่อรู้ว่าสำนักถูกล้อมก็รู้ว่าความลับของตนแตกเสียแล้ว ก็วิ่งถลันออกมาต่อสู้อย่างยอมตายถวายชีวิต

เมื่อนายโจรออกมาเผชิญหน้ากับกองทหาร ก็ร่ายมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ป้องกันตนเอง และกวัดแว่งดาบฟันฉับลงที่งวงช้างจนขาดกระเด็นแล้วฟันขาม้าจนขาดสะบั้น จากนั้นก็เด็ดศีรษะทหารที่รุมล้อมด้วยอาวุธอ้นคมกริบ พระราชาและเห็นความอุกอาจกล้าหาญของโจรใจฉกาจเช่นนั้นก็กวัดแว่งขรรคาวุธคู่พระหัตถ์ปราดเข้ารับมือโจรทันที ทรงใช้ฝีมืออันชำนาญคล่องแคล่วจนโจรเสียท่าหงายหลังลงกับพื้น แล้วทรงเหยีบบร่างมันไว้ จับมัดมือไขว้หลังลากถูลู่ถูกังกลับวัง และให้ริบทรัพย์สมบัติบรรดามีของโจรเข้าเก็บไว้ในท้องพระคลังหลวง ทรงพิจารณาว่าโจรนั้นได้ก่อกรรมทำเข็ญต่อราษฎรมาแล้วมากมาย จึงตัดสินให้ประหารชีวิตเสีย โดยเอาไปเสียบเสียในวันรุ่งขึ้น

เมื่อได้เวลาประหาร โจรก็ถูกมัดเดินไปตามท้องถนนพร้อมกับมีกองทหารรัวกลองเป็นจังหวะติดตามไป พาไปสู่ตะแลงแกงที่ประหาร ระหว่างทางที่ผ่านไป นางรัตนวดีลูกสาวเศรษฐีเปิดหน้าต่างปราสาทมองลงมา แลเห็นโจรหนุ่มมีร่างอันเปรอะเปื้อนด้วยโลหิตและมอมแมมไปด้วยฝุ่น ก็บังเกิดความสงสารและความพิศวาสในฉับพลัน นางจึงวิ่งเข้าไปหาบิดาอย่างร้อนรนและกล่วกระหืดกระหอบว่า "ท่านพ่อ ช่วยข้าด้วย ข้าเห็นนายโจรถูกตระเวนผ่านไปเดี๋ยวนี้ ข้ารักเขา ข้าเลือกเขาเป็นสามีแล้ว แต่เขากำลังจะถูกนำไปสู่ตะแลงแกง พ่อต้องเอาเงินไปไถ่ตัวเขาให้เป็นอิสระ ถ้าพ่อไม่ทำตามใจข้า ข้าจะยอมตายพร้อมกับเขาในวันนี้แหละ"

รัตนทัตต์เศรษฐีได้ฟังนางกล่าวก็ประหลาดใจ กล่าวว่า

"ลูกเอ๋ย เจ้าเอาอะไรมาพูด แต่ก่อนนี้ผู้ชายทั้งรูปงาม มีทรัพย์และมีคุณธรรมมากมายหลายคน มางอนง้อต่อเจ้าเลือกเขาเป็นสามี เจ้าก็ไม่ไยดี ปฏิเสธไปหมดทุกราย มาบัดนี้เจ้ากลับมาเลือกโจรต่ำช้าเป็นสามี เจ้าคิดอย่างไรเล่าลูกเอ๋ย"

ถึงแม้บิดาจะคัดค้านและเตือนสติมากมาย แต่นางก็ยืนกรานความปรารถนาของนางอย่างดื้อดึง และไม่ยอมเปลี่ยนใจ จนในที่สุดเศรษฐีก็ใจอ่อน รีบไปเฝ้าพระราชา ทูลขอไถ่ตัวนักโทษด้วยเงินจำนวนมหาศาลหลายร้อยโกฏิ แต่พระราชาก็ไม่ทรงฟัง เพราะโจรผู้นี้ได้ปล้นสะดมทรัพย์สินราษฎรมาแล้วเป็นมูลค่ามหาศาล และทำร้ายผู้คนมามากมายนับไม่ถ้วน ยิ่งกว่านั้นกว่าจะจับมันมาได้พระองค์ต้องเสี่ยงเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จงไม่สามารถจะปล่อยโจรให้เป็นอิสระได้

เศรษฐีได้ฟังคำปฏิเสธจากพระราชาดังนั้น ก็เดินคอตกกลับมาบ้านด้วยความผิดหวัง นางรัตนวดีแจ้งว่าบิดาทำงานไม่สำเร็จก็ประกาศยืนยันเจตนาของนางว่า นางยินดีจะตายตาโจรหนุ่มไปปรโลกโดยไม่อาลัยต่อชีวิต ไม่ว่าบิดาหรือญาติพี่น้องจะเกลี้ยกล่อมเพียงใดก็ตาม นางจัดแจงอาบน้ำแต่งตัวแล้วขึ้นวอมีสัปทนกางกั้นตรงไปสู่ลานประหารโดยด่วน มีบิดามารดากับญาติติดตามไปด้วยความเป็นห่วง ต่างคนต่างเศร้าโศก เพราะรู้ว่าคงจะไม่ได้พบหน้านางอีกต่อไป

ก่อนที่ขบวนของเศรษฐีจะเดินทางไปถึง นายโจรก็ถูกเสียบประจานอยู่บนขาหยั่งแล้ว และลมหายใจกำลังแผ่วลงทุกทีใกล้จะถึงแก่ความตาย เมื่อเห็นนางรัตนวดีพร้อมด้วยกลุ่มผู้ติดตามเดินเข้ามายังลานประหารก็ประหลาดใจ จึงไต่ถามจนทราบความจริงแล้วก็ร้องไห้ต่อหน้าคนทั้งหลาย สักครู่หนึ่งก็เปลี่ยนเป็นหัวเราะแล้วขาดใจตาย นางรัตนวดีตรงเข้ากอดร่างของโจรด้วยความอาลัย แล้วให้นำโจรลงจากที่ประหาร พาไปยังกองไฟที่ก่อขึ้น วางร่างโจรลงบนจิตกาธาน แล้วขึ้นไปนอนเคียงข้างกันในท่ามกลางกองไฟอันลุกโชติช่วงโดยรอบ

ทันใดนั้น องค์พระศิวะวิสุทธิเทพผู้ประทับอยู่ในสุสานโดยไม่มีใครมองเห็น ก็เปล่งเสียงดังได้ยินมาทางอากาศว่า "อะโห เจ้าผู้เป็นปดิวรัดาช่างมีใจภักดี ยากจะหาใครเสมอเหมือน เจ้าจงเลือกขอพรต่อข้าเถิด ข้าจะให้เจ้าสมความปรารถนาทุกประการ"

เมื่อนางรัตนวดีได้ยินสำเนียงทิพย์ดังนั้น ก็ยกมือกระทำอัญชลีต่อพระผู้เป็นเจ้า และทูลขอพรว่า "ข้าแต่พระมเหศวร บิดาของหม่อมฉันเป็นคนไร้บุตรชายที่จะสืบสกุล ขอโปรดประทานพรให้ท่านมีบุตรชายสักร้อยคนเถิด เพราะถ้าท่านไม่มีบุตรชาย และข้าสิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านก็คงจะต้องตายตามหม่อมฉันไปอย่างแน่นอน"

พระผู้ทัดจันทร์เป็นปิ่น (พระจันทรเศขร พระศิวะเอาพระจันทร์มาเสียบเป็นปิ่นปักพระเมาลี หลังจากยุติข้อพิพาทระหว่างพระจันทร์กับพระพฤหัสบดีเรื่องนางดาราแล้ว เพราะจะช่วยให้พระจันทร์ได้เข้าสู่เทวสภาอีกครั้งหนึ่ง) ได้ฟังคำนางก็สบพระทัยยิ่งนัก ตรัสว่า

"เอาเถิด ข้าจะให้บิดาของเจ้ามีลูกชายร้อยคน จงขอพรอีกข้อหนึ่งเถิด เพราะหญิงที่ประเสริฐสุดอย่างเจ้าสมควรจะได้อะไรที่เจ้าเห็นสมควรอีก ข้าจะให้เจ้า"

เมื่อได้ฟังเทวดำรัสเช่นนี้ รัตนวดีโฉมงามจึงกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด หากจะทรงเมตตาแก่หม่อมฉันแล้วไซร้ ขอได้โปรดชุบชีวิตของสามีหม่อมฉันด้วยเถิด ให้เขาได้ดำรงชีวิตเป็นคนดีสืบไปชั่วกาลนาน"

เมื่อพระศัมภู (พระผู้มีความสุข เป็นพระฉายานามหนึ่งในจำนวน ๑,๐๐๐ นาม ของพระศิวะ) ได้ฟังถ้อยคำของนางก็ตรัสตอบมาโดยอากาศ อันใคร ๆ หาได้แลเห็นพระองค์ไม่ว่า

"จงเป็นเช่นนั้นเถิด ขอให้สามีของเจ้าจงลุกออกมาจากกองไฟ และมีชีวิตอีกครั้งหตึ่ง ขอให้เขาประพฤติตนเป็นคนดีสืบไป และให้พระราชาวีรเกตุยกโทษให้แก่เขาด้วยเถิด"

ทันใดนั้น นายโจรก็ลุกออกมาจากกองไฟ มีชีวิตและปราศจากบาดแผลทั้งปวงในร่างกาย เศรษฐีรัตนทัตต์แลเห็นภาพอัศจรรย์ที่นายโจรและธดาของตนรอดชีวิตมาทั้งคู่ บรรดาญาติทั้งหลายทีี่่มาชุมนุม ณ ที่นั้นก็มีความพิศวงตื่นเต้นไปตามกัน เมื่อกลับเข้าในปราสาทที่พำนักแล้ว เศรษฐีก็จัดการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ และทำพิธีบวงสรวงองค์พระศิวะที่ได้ประทานพรแก่ตนและวงศ์ตระกูล ให้มีลูกชายเกิดมาถึงร้อยคน พระราชาวีรเกตุก็เช่นเดียวกัน แลเห็นว่าโจรผู้มีฝืมือนั้นได้กลับตัวเป็นคนดีแล้วก็โปรดให้เข้ามาเฝ้า ทรงแต่งตั้งเป็นยอดขุนพลประจำกองทัพ และโปรดให้ทำพิธีแต่งงานระหว่างยอดขุนพลกับนางรัตนวดีอย่างสมเกียรติ

ฝ่ายเวตาลผู้นั่งอยู่บนอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่านิทานของตนจบลงแล้ว ก็ทูลถามปัญหาต่อพระราชา โดยคุกคามให้พระองค์ตระหนักในคำสาปอย่างที่เคยขู่มาแล้วทุกครั้งว่า

"โอ ราชะ โปรดตอบหน่อยเถิดว่า เหตุใดนายโจรผู้ถูกเสียบประจานนั้น เมื่อเห็นนางรัตนวดีและบิดาของนางเดินเข้ามาหา จึงแสดงอาการประหลาดคือ ร้องไห้ในตอนแรกและหัวเราะในตอนหลัง"

พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า "นายโจรร้องไห้เพราะตระหนักในบุญคุณของเศรษฐีที่ยอมสละทรัพย์หลายสิบโกฏิเพื่อจะไถ่โทษตน ซึ่งน้ำใจเช่นนี้ตนหาได้มีโอกาสจะทดแทนได้ไม่ ส่วนนางรัตนวดีนั้นเล่า ช่างน่าขำนักที่นางมีโอกาสจะได้อภิเษกกับพระราชาทั้งหลาย แต่ก็กลับปฏิเสธไปหมด นางมาเลือกเราเด้วยประโยชน์อันใดเล่า หัวใจของผู้หญิงนี้หนอ ช่างลึกลับซับซ้อนดังเขาวงกต ใครเล่าจะเข้าใจได้

เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลผู้ทรงพลังก็ใช้มนตร์วิเศษของตน บันดาลกายหายวับไปกับตา ปล่อยให้พระราชาต้องเหน็ดเหนื่อยพระทัย เสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวมันมาไว้ที่พระอังสาตามเดิม

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๓ เรื่องของพราหมณ์ชื่อ หริสวามิน ผู้อาภัพ



นิทานเรื่องที่
๑๓



เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับมาเอาเวตาลคืนไปแล้ว ก็เสด็จต่อไปตามเส้นทางเดิม ระหว่างทางเวตาลผู้นั่งอยู่บนบ่าก็เริ่มขยับตัวและพูดขึ้นว่า การเดินทางเป็นเรื่องน่าเบื่ออย่างหนึ่ง ข้าจึงคิดจะแก้เบื่อโดยเล่านิทานถวายอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์น่าจะทรงฟังไว้บ้าง เรื่องมีมาว่าดังนี้

มีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ วาราณสี เป็นที่ประทับของพระศิวะบนโลกนี้ ในนครนี้มีพราหมณ์ผู้หนึี่งชื่อว่า เทวสวามินอาศัยอยู่ เป็นผู้ที่พระราชาเคารพนับถือมาก พราหมณ์เศรษฐีผู้นี้มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ หริสวามิน ตัวหริสวามินเองเป็นผู้มีโชคเพราะภรรยามีความงามเป็นเลิศชื่อ ลาวัณยดี ข้าคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าคงจะทรงสร้างนางขึ้นมาภายหลังจากที่ทรงสร้างนางติโลตตมาขึ้น พร้อม ๆ กับนางเทพอัปสรอื่น ๆ ในสวรรค์เป็นแน่ นางจึงงามประเสริฐอย่างหาที่ติมิได้

ราตรีหนึ่ง หริสวามินนอนหลับอยู่ในปราสาทพร้อมด้วยนางลาวัณยวดีผู้เป็นที่รัก ในบรรยากาศที่เย็นละไมด้วยแสงจันทร์ ขณะนั้นเองเจ้าชายแห่งวิทยาธรชื่อมทนเวค ท่องเที่ยวเหาะไปในอากาศ แลเห็นนางลาวัณยวดีนอนแนบข้างสวามีของนางบนเตียง มีพัสตราภรณ์อันเลื่อนหลุดโดยไม่รู้ตัว เปิดเผยให้เห็นร่างงามอรชรและขาอันกลมเรียวสมส่วน หัวใจของวิทยาธรหนุ่มก็วาบหวานหลงใหลในตัวนางอย่างสุดระงับ และเพราะความคลั่งไคล้ด้วยแรงเสน่หา วิทยาธรจึงโฉบลงอุ้มนางพาเหาะไปในอากาศทันที

ฝ่ายหริสวามินรู้สึกตัวตื่นขึ้น มองไม่เห็นภรรรยาก็ตกใจ ลุกขึ้นมองหาโดยรอบก็มิได้พบ รำพันด้วยความตระหนกว่า "นี่มันอะไรกัน นางหายไปไหน นางล้อข้าเล่นหรือแกล้งซ่อนตัวกันแน่"

ชายหนุ่มเที่ยวตามหานางตลอดคืนทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บนหลังคาปราสาทและในสวน เมื่อหาจนสิ้นปัญญาแล้วแต่มิได้พบก็มีความเศร้าโศกยิ่งนัก ทรุดลงนั่งอย่างอ่อนแรง ทอดอาลัยตายอยาก คร่ำครวญว่า

"อนิจจาเอ๋ย เจ้าผู้มีพักตร์ดังจันทรมณฑล ยอดดวงใจของข้า เจ้าผู้ผ่องละมุนดังแสงศศิธร ก็ดวงจันทร์นั้นอิจฉาความงามของเจ้าหรือไฉน จึงพรากนางไปเสียจากข้า โอ้เจ้าช่างโหดร้ายเสียเหลือเกิน เจ้าลวงข้าให้หลงใหลในความงามของเจ้า แล้วไฉนจึงเสียบแทงข้าด้วยศรอาบยาพิษของเจ้า ทำให้ใจข้าต้องร้อนรนกระวนกระวายถึงเพียงนี้ เจ้าเอายอดดวงใจของข้าไปซ่อนไว้ที่ไหนกันเล่า"

เมื่อหริสวามินคร่ำครวญมิหยุดหย่อนด้วยหัวใจแทบแตกสลายนี้ ราตรีอันยาวนานก็ผ่านไป และแสงอุษาก็เริ่มฉายจับท้องฟ้าเป็นสัญญาณว่าราตรีนั้นสิ้นแล้ว เขาและนางคงจะต้องแยกกันแน่นอน ไม่เหมือนนกจากพราก (ชื่อนกชนิดหนึ่ง เป็ดแดงหรือเป็ดพราหมณ์ก็เรียก เป็นนกที่หากินตอนกลางคืน ตัวผู้กับตัวเมียอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ส่งเสียงร้องหากันตลอดทั้องคืน ถึงเวลาเช้าจึงได้กลับคืนรัง พบกันอีกครั้งหนึ่ง) ที่จากกันตลอดคืน แต่ได้พบคู่ของมันอีกเมื่อสิ้นราตรี ก็เขาเล่าราตรีที่สิ้นสุดลงจะมีความหมายอะไร

พราหมณ์หนุ่มผู้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะไฟเสน่หา ยังพร่ำเพ้อถึงนางมิขาดปาก แม้บรรดาญาติพี่น้องจะปลอบโยนด้วยประการใด ๆ ก็ไร้ประโยชน์ หริสวามินผู้เพ้อคลั่งเที่ยวกระเซอะกระเซิงหานางทางโน้นและทางนี้ ปากก็คร่ำครวญว่า "นางเคยยืนตรงนี้ นางเคยสระสนานในที่นี้่ นี่ก็เป็นที่ที่นางแต่งตัว และที่ตรงนี้นางก็เคยสรวลสันต์หรรษาด้วยความชื่นบานยามที่นางอยู่กับข้า โธ่เอ๋ย นางหนีข้าไปไหนเล่า"

บรรดาญาติสนิทมิตรสหายแลเห็นเหตุการณ์ ต่างก็พากันเป็นห่วงจึงกล่าวเตือนสติว่า

"จะตีโพยตีพายไปทำไม นางยังไม่ตายหรอก เจ้าอย่าคิดฆ่าตัวตายเลย ถ้าเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เจ้าก็คงจะได้พบนางอีก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำใจดี ๆ ไว้เถอะ ค่อยค้นหานางต่อไป ในโลกนี้คนที่ตั้งใจจริงเท่านั้นที่จะได้สิ่งอันพึงปรารถนา"

เมื่อหริสวามินได้ยินญาติสนิทมิตรสหายกล่าวดังนั้น ก็ค่อยมีกำลังใจขึ้น คิดจะอยู่สู้โลกต่อไปอีก เพื่อจะได้ติดตามหานางอันเป็นสุดที่รัก ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด กล่าวแก่ตนเองว่า

"ข้าจะบริจาคทุก ๆ สิ่งที่ข้ามีอยู่ให้แก่พราหมณ์ แล้วจะออกจาริกแสวงบุณย์ไปตามตีรถะ เพื่อจะได้ชำระบาปให้สิ้นไป บางทีในระหว่างการธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ข้าอาจจะได้พบสุดที่รักของข้าเข้าสักวันหนึ่ง"

หลังจากที่ใคร่ครวญตามความคิดนี้อยู่ชั่วครู่หนึ่ง เขาก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะทำตามที่คิดไว้ วันรุ่งขึ้นเขาก็เชิญพราหมณ์มาเลี้ยงอาหารอันประณีต เสร็จแล้วก็มอบทรัพย์สินบรรดามีให้แก่พราหมณ์จนหมดสิ้น โดยมิได้อาลัยไยดีแม้แต่น้อย หลังจากให้ทานเสร็จแล้ว เขาก็ออกเดินทางไปนมัสการสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และชำระสระสนานกายตามตีรถะอันมีชื่อสเียงเพื่อขจัดบาปให้สิ้นไป ในระหว่างที่เดินทางร่อนเร่ไปนั้น เขาก็ต้องผจญกับความร้อนอันสาหัสจากแสงอาทิตย์ที่แผดกล้าในฤดูครีษมะ (ฤดูร้อน) อย่างจะเผาผลาญทุกสิ่งให้วอดวายเป็นผุยผง สายลมร้อนที่พัดกรรโชกอย่างรุนแรง ส่งเสียงกึก้องเหมือนเสียงโอดโอยด้วยความเจ็บปวดของคู่รักที่ต้องพรากจากกัน และโหยหากันด้วยหัวใจอันแตกสลาย บรรดาห้วยหนองคลองบึงที่แลเห็น ต่างก็เหือดแห้งเพราะแสงอันแรงร้อนของดวงอาทิตย์แผดเผาจนเหลือแต่โคลน และบรรดาต้นไม้ริมทางก็ยืนต้นเหี่ยวเฉาเหมือนจะไว้อาลัยต่อวสันตฤดู (ฤดูใบไม้ผลิ) ที่จากไป หริสวามินเดินโซเซอย่างอ่อนแรงเพราะความร้อน ความหิวและความกระหายน้ำ มาตามทางที่ผ่านมา ที่มิได้เจอผู้คนแม้แต่คนเดียว ในที่สุด ก่อนจะหมดแรง เขาก็แลเห็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ข้างหน้า เมื่อมาถึงก็ได้พบกับพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปัทมนาภ กำลังทำพิธียัชญะสังเวยเทพอยู่ เมื่อแลเห็นพวกพราหมณ์กำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในบ้านของตน หริสวามินก็เินเข้าไปใกล้ เขาก็เข้าไปยืนเกาเสาประตูบ้านด้วยความอ่อนแรง ขณะนั้นนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาของปัทมนาภแลเห็นเขายืนเกาะเสาแน่วนิ่งไม่ไหวติงก็บังเกิดความสงสาร รำพึงแต่ตัวเองว่า "อนิจจาเอ๋ย ความหิวนี้เป็นทุกข์จริงหนอ ใครจะช่วยบรรเทาได้บ้าง ดูซิที่ประตูนี้มีคนอดโซคนหนึ่งมายืนเกาะอยู่ ดูท่าจะเป็นคฤหัสถ์เป็นแน่ ดูเขาซิ ยืนก้มหน้าด้วยความอับอาย ชะรอยจะเป็นนักเดินทางไกลแน่เทียว ท่าทางหิวโหยโรยแรงเหมือนอดอาหารมานาน น่าสังเวชนัก เราควรจะให้อาหารแก่เขาบ้าง"

เมื่อคิดดังนี้ นางพราหมณีผู้มีใจเมตตาก็เข้าไปในบ้าน เอาอาหารใส่ชามมาจนเต็ม คือข้าวที่ต้มด้วยน้ำนม พร้อมด้วยเนยใสและน้ำตาล นางยื่นชามข้าวให้แก่เขาและกล่าวว่า "เอ้านี่ เอาไปกินซิ ไปนั่งกินริมบึงนั่นแหละ เพราะที่นี่ไม่เหมาะที่เจ้าจะมานั่งกิน เพราะพราหมณ์เขากำลังกินอาหารกันอยู่" หริสวามินแลเห็นก็ดีใจ รับชามอาหารมาจากนาง และกล่าวว่า "ข้าจะทำตามท่านว่า" แล้วเดินไปหาที่นั่งใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำไม่ห่างไกลจากที่นั้น จัดการล้างมือล้างเท้าและบ้วนปากจนสะอาด หลังจากนั้นก็นั่งลงบริโภคอาหารด้วยใจยินดี

ขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งคาบงูด้วยปาก และจับไว้แน่นด้วยกรงเล็บ พาบินมาเกาะอยู่บนกิ่งไม้ต้นนั้น ปรากฏว่างูตัวนั้นตายแล้ว และมีน้ำลายปนพิษไหลหยดลงมาในชามข้างของหริสวามินซึ่งวางอยู่ใต้ต้นไม้พอดี พราหมณ์หนุ่มไม่ทันสังเกตเพราะกำลังหิวจัด ก็กินข้าวจนหมดชาม พิษงูก็ซาบซ่านเข้าสู่ร่าง ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นอันมาก จึงร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า "อะโห โชคชะตาของมนุษย์นี่หนอ เวลาเคราะห์หามยามร้าย อะไร ๆ ก็หนีไปหมด ดูแต่ในชามนี้สิ แม้แต่จะปรุงแต่งด้วยของดีเลิศ คือน้ำนม น้ำตาล และเนยใส ก็ยังมาเปลี่ยนเป็นยาพิษไปได้"

กล่าวดังนั้นแล้ว ชายหนุ่มก็กัดฟันลุกขึ้นเดินโซซัดโซเซไปที่บ้านพราหมณ์ด้วยความลำบากแสนสาหัส แลเห็นนางพราหมณีผู้ให้อาหารกำลังนั่งอยู่ที่นั้น ก็กล่าวแก่นางว่า "เมื่อตะกี้ข้ากินข้างของนางเข้าไปปรากฏว่ามียาพิษปนอยู่ ข้าคงจะตายแน่ ช่วยตามหาหมอมารักษาข้าด้วย เร็ว ๆ นะ ขืนชักช้าข้าตายลง บาปจะตกแก่เจ้า เพราะเจ้าทำให้พราหมณ์ถึงแก่ความตาย"

พอจบคำพูด ยังมิทันจะแก้ไขแต่ประการใด หริสวามินทนพิษร้ายไม่ไหว ก็ขาดใจตาย ทำให้นางพราหมณีตกใจแทบสิ้นสติ ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตผู้เป็นสามีของนางเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็โกรธจึงขับไล่นางออกจากบ้าน ทั้ง ๆ ที่นางเป็นคนบริสุทธิ์และมีใจเมตตากรุณา นางถูกกล่าวโทษโดยไร้ความผิดเช่นนั้น ก็มีความเสียใจมาก เมื่อรู้ว่านางมิได้ทำบาปแม้แต่น้อย แต่ต้องมาได้รับโทษ จึงเดินไปยังท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะชำระล้างบาปของตน

ปัญหาของเรื่องที่เกิดนี้ก็คือ ในบุคคลทั้งสี่ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เหยี่ยว งู และพราหมณ์สามีภรรยาทั้งสองนั้น ใครเป็นผู้ผิดในกรณีการตายของหริสวามิน เรื่องนี้ยังหาได้มีการเฉลยปัญหาไม่

เวตาลจึงกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่พระราชาตริวกรมเสน โปรดตอบข้าว่า ใครเป็นคนผิดในกรณีนี้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงตอบก็ขอให้ตระหนักว่า คำสาปอันใดจะเกิดแก่พระองค์"

เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลทูลบังคับให้ตอบดังนั้น ก็ทรงเฉลยว่า

"ในเรื่องนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่เห็นจะมีผู้ผิดเลย แน่ละสำหรับงูตัวนั้นมันตายสนิทมาก่อนแล้ว จะทำผิดได้อย่างไร ถึงแม้เหยี่ยวจะคาบมันมาที่นั่นก็ตาม ส่วนเหยี่ยวนั้นเล่า มันคาบเหยื่อของมันมาเพื่อจะกินเป็นอาหารมันจะทำผิดอะไรเล่า ขณะเดียวกันสองพราหมณ์ผัวเมียก็ไม่ผิด เพราะเขาเป็นผู้ชอบธรรม คนหนึ่งให้ทานด้วยใจบริสุทธิ์ อีกคนหนึ่งก็ทำถูกจารีต อะไรผิดอะไรบาปก็ว่ากันไปตามกฏเกณฑ์แห่งศาสนา เพราะฉะนั้นเขาย่อมไม่ผิด ตกลงไม่มีใครผิดในกรณีนี้ ตรงกันข้ามข้ากลับมีความคิดว่า ธรรมดายาพิษไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับใครก็เป็นอันตรายแก่ชีวิตทั้งสิ้น ไม่เลือกว่าพราหมณ์ หรือคนวรรณะอื่น ใครเล่าจะโง่เขลาถึงกับจะคิดเลยเถิดหาความผิดในความไม่ผิดได้เล่า"

พอพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็หัวเราะด้วยความชอบใจ ผละจากอังสาของพระราชาหายแวบไปสู่สำนักของตนโดยทันที และพระราชาก็ต้องย้อนกลับไปลากตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เนื้อเพลง