วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

สมเด็จพระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕

 “สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี 



อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยเรือพระประเทียบล่มขณะกำลังเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ถือเป็นกรณีสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต่างไปจากทุกพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากพระโรคใดพระโรคหนึ่ง แต่สมเด็จพระนางเรือล่มสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำจากที่เรือพระประเทียบล่ม

พระประวัติ “พระนางเรือล่ม” พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 พระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวัง

ทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษา ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ ขณะเสด็จฯ มายัง พระราชวังบางปะอินพระองค์ก็ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน

เหตุเศร้าสลด “สมเด็จพระนางเรือล่ม” 

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ ต่อมาพระองค์ได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปีที่แน่นอน แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2421) และได้ประสูติพระราชธิดาองค์แรกคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421

ขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นที่โปรดปรานเสน่หาในพระราชสวามีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความชื่นชมโสมนัสของรัชกาลที่ 5 ได้สิ้นสุดลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างไม่คาดคิดกับเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ อีก 2 ปีต่อมา

ก่อนการเสด็จพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ว่า

“พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะทรงพระราชดำเนินข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นในพระทัยอยู่เหมือนกันว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย แต่สุดท้ายก็ได้ตามเสด็จไปตามพระราชประสงค์”

การเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากกรุงเทพมหานครไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 บรรณาธิการหนังสือ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ที่เขียนโดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า

“เส้นทางเสด็จจะเสด็จทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางปะอิน โดยการเสด็จครั้งนี้ได้มีการจัดขบวนเรือเสด็จ โดยจัดเรือเก๋งที่ประทับพระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระพี่เลี้ยงที่ตามเสด็จครอบครัวละหนึ่งลำ โดยใช้เรือกลไฟลากจูงนำหน้า ซึ่งขบวนเสด็จนั้นก็จะเสด็จไปพร้อม ๆ กัน แบบเรียงหน้ากระดาน เริ่มด้วยเรือกลไฟราชสีห์ ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เรือโสรวาลลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เรือปานมารุตลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เรือยอร์ชอยู่ติดชายฝั่ง ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และถัดมาเป็นเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ตามลำดับ

ขบวนเรือพระประเทียบทั้งหมดออกจากท่าราชวรดิษฐ์มุ่งหน้าสู่พระราชวังบางปะอิน แต่ขณะนั้นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จตามไปในทันที เพราะยังติดพระราชกรณียกิจอยู่ในพระบรมหาราชวัง ก่อนจะลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดีตามเสด็จไป”

เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาด จวนจะเข้าเกร็ดพบเรือราชสีห์ จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า เรือพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด เนื่องจากเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ชนกับเรือโสรวาร พระองค์จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปที่บางพูด

เมื่อพระองค์เสด็จไปถึง พระยามหามนตรีทูลว่า เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้าใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวาลซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน  เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรงแล่นกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวาล 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ ก็เบนหัวออก ศีรษะเรือไปโดนเรือโสรวาล น้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงนี้เกิดจากความประมาทในการเดินเรือเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กระนั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดาในที่สุด

อนุสรณ์ถึงการพลักพราก 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญ เหตุการณ์ครั้งนั้นกลับไม่ได้ผ่านพ้นไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ตามมายังคงเป็นอนุสรณ์ถึงการพลัดพราก รวมทั้งยังถูกสร้างสีสันผสมผสานกับศรัทธาของราษฎรสมัยหลัง

ความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดา นอกจากปรากฏผ่านการเตรียมงานพระศพอย่างสมพระเกียรติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งของถวายเป็นพระราชกุศลอย่างการหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลายแห่งที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน อาทิ โรงเรียนสุนันทาลัย อนุสาวรีย์ที่สวนสราญรมย์ อนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน อนุสาวรีย์ที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี พระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี

สถานที่เกิดเหตุนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในหมู่ราษฎร โดยเฉพาะ วัดกู้ นนทบุรี ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นสถานที่กู้เรือพระศพและเรือพระที่นั่ง ซึ่งทางวัดได้จัดแสดงเรือโบราณลำหนึ่งในศาลเป็นหลักฐาน (ปัจจุบันศาลหลังนี้ได้ถูกรื้อและบูรณะเป็นศาลหลังใหม่เรียบร้อยแล้ว) ขณะเดียวกันผู้รู้ในท้องถิ่น คือ พิศาล บุญผูก ได้ให้ข้อมูลว่า

“แท้จริงแล้วสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หน้าวัดเกาะพญาเจ่ง หรือวัดเกาะบางพูด เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทรงระฆังภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสี่ทิศ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพระพี่เลี้ยงแก้ว”

คำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่สืบต่อมา และบันทึกพระราชกิจรายวันในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังระบุว่า เรือพระที่นั่งล่มลงบริเวณหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง มีการอัญเชิญพระบรมศพและพลิกเรือให้หงายขึ้นในบริเวณนั้น รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์เป็นพระราชอนุเสาวรีย์ขึ้นยังตำแหน่งที่เกิดเหตุ มิได้กู้เรือขึ้นไว้บนฝั่งแต่อย่างใด เพราะทำเลวัดอยู่ห่างชายฝั่งมาก ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง

แต่จากเอกสาร ข้อเขียน และป้ายแสดงพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ปรากฏอยู่ในวัดกู้หลายแห่ง ทำให้มีแนวโน้มว่า มีการกู้ซากเรือขึ้นไว้บนบก รวมทั้งอัญเชิญพระศพขึ้นที่หน้าวัดกู้ แต่หากพิจารณาจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันแล้วจะพบว่า เรือพระประเทียบแค่เกยทรายจมลง สามารถกู้และนำกลับพระนครที่แห่งนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องปล่อยให้เรือพระประเทียบล่องไปทางวัดกู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป

เรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และรัชกาลที่ 5 สร้างความประทับใจแก่ราษฎร โดยเฉพาะเรื่องความรักและการพลัดพราก ปัจจุบันศาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังใหม่ของวัดกู้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระองค์ ผู้คนที่มาสักการะยังศาลแห่งนี้มักมาด้วยความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถดลบันดาลให้สมความปรารถนาตามแต่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ได้มีเรื่องน่าพิศวงจากอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย เช่น ผู้ที่มาศาลส่วนใหญ่มักเล่าว่าตนเองฝันเห็นสตรีสูงศักดิ์ หรือ เด็กทารก และเมื่อมาศาลแล้วก็จะมีอาการเศร้าโศกเสียใจ เรื่องนี้ได้สร้างความประทับใจและความศรัทธามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการถวายของบูชาต่างๆ ณ อนุสาวรีย์ที่สวนสุนันทา โดยมักจะมีผู้นำดอกกุหลาบสีชมพูไปถวาย เพราะเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในความรัก การบูชาลักษณะดังกล่าวแสดงถึงความใกล้ชิดที่ราษฎรมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ มากขึ้น

เรื่องราวของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ผู้ล่วงลับ มิได้ล่วงเลยตามกาลเวลา แต่ยังคงถูกบอกเล่าและปฏิบัติสักการะด้วยความเคารพบูชาตามแบบของแต่ละบุคคลจนถึงปัจจุบัน






“พระนางเรือล่ม” สิ้นพระชนม์เพราะไม่มีคนกล้าช่วย! กลัวจะหัวขาดด้วยกฎมณเฑียรบาล!!
โดย: โรม บุนนาค
เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๒๓ ได้เกิดเหตุสลดใจครั้งใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อัครมเหสีองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสบอุบัติเหตุจากการเสด็จประพาสทางเรือ สิ้นพระชนม์ในขณะทรงครรภ์ได้ ๕ เดือน พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาองค์แรก ซึ่งยังความสุดเศร้าโศกแก่สมเด็จพระปิยะมหาราชอย่างใหญ่หลวง จนไม่อาจทนฟังเสียงปี่พาทย์ที่ประโคมพระศพได้
ในวันเกิดเหตุวิปโยค เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอิน ในเวลา ๒ โมงเช้าทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบ หรือเรือฝ่ายในล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จน ๒ โมงเศษ จึงประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ซึ่งเป็นเรือกลไฟฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้นตามไป เมื่อไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้าได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอัครมเหสีก็สิ้นพระชนม์ด้วย
เหตุการณ์นี้ปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความตอนหนึ่งว่า
“...จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปถึงบางพูดเช้า ๕ โมง เห็นเรือไฟและเรือพระประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระเกียรติหน่อย ประทับเรือพระที่นั่งเข้าที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมอดิสรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระมหามนตรีทูลว่าเรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรง แล่นตรงกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลางระหว่างเรือ ห่างเรือโสรวารสัก ๑๐ ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกประทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ดำน้ำลงไปถึงในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิสรซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า ๑๐ ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรด้เกล้าฯให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่นๆทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย กับแก้ว พระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยู่ในเก๋งออกมาไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่า เมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงช่วยกันหงายเรือขึ้น การหงายนั้นช้าอยู่มากกว่าครึ่งชั่วโมงจึงได้เสียท่วงที เมื่อเชิญพระศพขึ้นมาที่เรือปานมารุตแล้วก็ช่วยแก้ไขกันมาก ครั้งนี้เผอิญให้หลวงราโชมาในเรือปานมารุตด้วย ได้ช่วยแก้เต็มกำลังก็ไม่ฟื้น ชาวบ้านที่แก้พวกข้าหลวงรอดหลายคนเอามาแก้ก็ไม่ฟื้นได้ เมื่อได้ความดังนี้แล้วจึงได้ทราบฝ่าละอองฯว่าพระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย เมื่อเรือพระที่นั่งมาประทับไล่เลียงอยู่นั้นสัก ๑๐ มินิตกว่าก็ไม่ทราบ ไม่มีใครกราบบังคมทูล และกรมสมเด็จพระสุดารัตน์กับเจ้านายก็มาประชุมพร้อมกันอยู่ในเรือปานมารุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นไปประทับบนเรือปานมารุตให้ช่วยกันแก้ไขด้วยพระองคยังร้อนๆอยู่ จนบ่าย ๒ โมงก็ไม่ฟื้นขึ้นได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก...”
ในขณะเกิดเหตุนั้น มีข้าราชบริพารอยู่ในขบวนเรือเสด็จเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีชาวบ้านที่ดำทรายอยู่หลายคน กล่าวกันว่าหลายคนจะเข้าไปช่วย แต่พระยามหามนตรีได้สั่งห้าม เพราะมีกฎมณเฑียรบาลว่าการแตะต้ององค์พระมเหสีมีโทษถึงตาย และยังมีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรือพระประเทียบล่มไว้ด้วยว่า
“อนึ่ง หัวหมื่นหัวพันูดาษจ่าชาวเลือกชาววังบันดาลงเรือนั้น ยังมิทันถึงที่ประทับแลหยุดเรือประเทียบ โทษถึงตาย ถ้าประเทียบเข้าประทับแลเรือประเทียบเข้าติดแล้ว ให้ลงว่ายน้ำขึ้นบก ถ้าอยู่กับเรือโทษฟันคอ
อนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่ม ให้ชาวเรือว่ายน้ำหนี ถ้าอยู่กับเรือโทษถึงตาย
ถ้าเรือประเทียบล่มก็ดี ประเทียบตกน้ำก็ดี แลว่ายน้ำอยู่บันดาดาย ให้ดูดาษแลชาวเรือยื่นเสร้าแลซัดหมากพร้าวให้เกาะตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายึด ถ้ายึดขึ้นให้รอดโทษถึงตาย ถ้าซัดหมากพร้าวให้รอด รางวัลเงินสิบตำลึงขันทองหนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่มมีผู้อื่นเห็นซัดหมากพร้าวเอาขึ้นให้รอด โทษทวีคูณตายทั้งโคตร...”
ช่วยให้รอดชีวิต แต่คนช่วยกลับตายทั้งโคตร แล้วใครจะกล้าช่วย
กฎหมายนี้มีมาแต่โบราณกาล ก็เพื่อกันการก่อกบฏ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลายสิ่งหลายอย่างก็คลี่คลายทันสมัยขึ้นแล้ว แต่คนไม่ลึกซึ้งกฎหมายใครจะกล้าเสี่ยง
ได้มีการประชุมชำระความเรื่องนี้ สอบถามคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ได้ความว่า เมื่อเรือล่ม ถ้ารีบช่วยกันหงายเรือขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าและพระราชธิดาก็จะไม่เป็นอันตราย แต่พระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจขวา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลขบวนเรือ แทนที่จะให้คนรีบโดดน้ำลงไปหงายเรือ กลับมัวแต่เรียกเรือสำปั้นที่พายอยู่ มิหนำซ้ำเมื่อชาวบ้านจะมาช่วยก็ห้ามอีก ที่กราบทูลว่าตัวเองเป็นคนดำน้ำลงไปนำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมา บางคนก็ว่าไม่ได้ลง การที่ทูลจะจริงหรือเท็จก็ไม่ได้ความแน่ชัด
ในที่สุดการตัดสินในวันที่ ๖ มิถุนายนต่อมา พระยามหามนตรีก็รับความผิดไปคนเดียว ถูกออกจากราชการและจำคุกไว้ ๓ ปี แต่เมื่อพ้นโทษแล้วก็ได้กลับมารับราชการอีก ได้เป็นพระยาพิชัยสงคราม ผู้บังคับการกรมทหารหน้า
นี่ก็เป็นบทเรียนครั้งสำคัญเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์


พระบรมราโชวาท ในหลวงรัชกาลที่ ๙

พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส
ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
ในหลวงรัชกาลที่ ๙


๙ เรื่อง ที่ทรงพระราชทานแก่ประชาชนในวโรกาสต่างๆ  

การปกครองแผ่นดิน
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
พระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.249
การทำความดี
"การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการเสริมสร้างและสะสมความดี"
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ อาคาร สวนอัมพร วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2525
การทำงาน
"เมื่อมีโอกาสและมีงานทำควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น"
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2530
การศึกษา
"การที่บุคคลจะพัฒนาได้ก็ด้วยปัจจัยประการเดียวคือการศึกษา การศึกษานั้นแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษาด้านวิชาการส่วนหนึ่ง กับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ดีใฝ่เจริญ มีปรกติละอายชั่วกลัวบาป ส่วนหนึ่ง การพัฒนาบุคคลจะต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทั้งสองส่วน เพื่อให้บุคคลได้มีความรู้ไว้ใช้ประกอบการ และมีความดีไว้เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติทุกอย่าง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร และอำนวยผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์"
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 24 มกราคม 2540
การกีฬา
"การกีฬานั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแรง ให้มีความสามารถในกีฬาของตน เพื่อพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันและได้ชัยชนะมา ถึงเวลาเข้าแข่งขันก็จะต้องตั้งสติให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติได้เต็มที่ตามที่ได้ฝึกฝนมา"
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 5 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
การรักษาทรัพยากร
"ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย"
พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2521
การปลูกป่า
"ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง"
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502
เศรษฐกิจพอเพียง
"เศรษฐกิจพอเพียง จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้"
พระราชดำรัส พระราชทาน ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2541
การอดออม
"การประหยัดอดออม เป็นรากฐานในการสร้างตัว สร้างฐานะของบุคคล ตลอดจนความเจริญมั่นคงของสังคม และชาติบ้านเมือง"
พระราชดำรัส ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2559


วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

มิตร ชัยบัญชา

          มิตร ชัยบัญชา พระเอกอมตะตลอดกาล



ประวัติ มิตร ชัยบัญชาชีวิตช่วงแรกและการศึกษา มิตร ชัยบัญชา เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรชายของพลฯ ชม ระวีแสง ตำรวจชั้นประทวน กับนางยี หรือ สงวน ระวีแสง สาวตลาดท่ายาง นางยีให้กำเนิดลูกน้อย ขณะที่สามีไม่ได้ดูแลใส่ใจเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ มิตร ชัยบัญชา เดิมเรียกกันว่า "บุญทิ้ง" เพราะพ่อแม่แยกทางกัน เมื่อมิตร ชัยบัญชาอายุได้ 1 ขวบ นางยีก็เข้ามาเป็นแม่ค้าขายผักในกรุงเทพ โดยฝากลูกชายไว้กับนายรื่นและนางผาด ซึ่งเป็นปู่และย่าของมิตร ชัยบัญชา ที่หมู่บ้านไสค้าน
เมื่อนายรื่นและนางผาด เห็นว่าตนอายุมากขึ้นทุกวัน จวนจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าทุกที จึงฝากเลี้ยงไว้กับสามเณรแช่ม ระวีแสง ผู้เป็นอา ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดท่ากระเทียม ชีวิตในวัยเด็กของมิตร ต้องติดสอยห้อยตามสามเณรแช่มซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดสนามพราหมณ์ เป็นเด็กวัดที่อาศัยข้าวก้นบาตรกิน ในเพลง"ข้าวก้นบาตร" ที่แต่งโดย สมโภชน์ ล้ำพงษ์และ บำเทอง เชิดชูตระกูล มีเนื้อเพลงบางท่อนกล่าวถึงชีวิตของ มิตร ชัยบัญชาในช่วงนี้ มิตร ชัยบัญชา สมัยเรียนอยู่โรงเรียนฝึกการบินต่อมา ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดไสค้าน และย้ายมาที่โรงเรียนประชาบาลวัดจันทร์ เมื่อมารดามีฐานะดีขึ้นจึงมาขอรับมิตรย้ายมาอยู่กรุงเทพ ที่บ้านย่านนางเลิ้ง เยื้องกับวัดแคนางเลิ้ง เมื่ออายุประมาณ 9 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนกรุงเกษม โดยเป็นบุตรบุญธรรมของน้ากับน้าเขย จากชื่อ บุญทิ้ง มาเป็น สุพิศ นิลศรีทอง (นามสกุลน้าเขย) และ สุพิศ พุ่มเหม (นามสกุลของนายเฉลิมพ่อเลี้ยง)
เมื่อโอนกลับมาเป็นบุตรบุญธรรมของแม่กับพ่อเลี้ยง หลังเรียนจบมัธยม ก่อนเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ มิตรเป็นเด็กเรียนดี เก่งศิลปะ งานช่าง และ ภาษาอังกฤษ นอกจากการเรียนและทำงานรับจ้างสารพัดแล้วมิตรก็เลี้ยงปลากัด ช้อนลูกน้ำขาย รวมถึงนำจักรยานเก่ามาซ่อมให้เช่าหัดถีบ เพื่อหาเงินใช้เองโดยไม่ต้องพึ่งครอบครัว เนื่องจากแม่มีหลานหลายคนที่ต้องดูแล มิตร ชัยบัญชานอกจากนี้ยังชอบเล่นกีฬา และ หัดชกมวยไว้ป้องกันตัว ทั้งนี้เขาสามารถคว้าเหรียญทองมวยนักเรียน 2 ปี ในรุ่นเฟเธอร์เวท และ ไลท์เวท (135 ปอนด์) พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2494 จากนั้น เขาได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ จังหวัดเพชรบุรีอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเรียนต่อระดับเตรียมอุดมที่ โรงเรียนพระนครวิทยาลัย และลาออกเพื่อมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ เพื่อรับราชการทหารอากาศ จังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนักบิน เริ่มการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นนักเรียนการบินรุ่นที่ ป.15 ของโรงเรียนการบินโคราช และ นักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม เมื่อ พ.ศ. 2499 จ่าโทสมจ้อยได้ส่งรูปและแนะนำมิตร ชัยบัญชา หรือ จ่าเชษฐ์ ในขณะนั้น ให้รู้จักกับ ก. แก้วประเสริฐ เพื่อให้เล่นหนังเพราะเห็นท่าทาง รูปร่างหน้าตาที่หล่อและสูงสง่าของมิตร ประกอบกับบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน กระทั่งได้พบกับ ภราดร ศักดา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง
ภราดรได้เสนอกับผู้สร้างหนังหลายราย จ่าสมจ้อยและจ่าเชษฐ์ก็ไปถ่ายรูปและส่งไปตามโรงพิมพ์ โดยกิ่ง แก้วประเสริฐเป็นผู้พลักดันพาไปพบผู้สร้างหนังรายต่างๆ ตามกองถ่าย เพราะเห็นความตั้งใจจริงของจ่าเชษฐ์ รวมถึงส่งภาพให้ผู้สร้าง และ ถ่ายภาพลงประกอบนวนิยายในนิตยสารด้วย จนกระทั่งได้รับการตอบรับให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำใจปฏิเสธไปเพราะติดราชการสำคัญ ไม่สามารถไปพบผู้สร้างได้ หลังจากนั้นก็มักได้รับการปฏิเสธ ติจมูก ติโหนกแก้ม โดยเฉพาะเรื่องความสูง ที่จะหานางเอกมาเล่นด้วยลำบาก และจ่าเชษฐ์เองก็ไม่รับเล่นบทอื่นด้วย นอกจากพระเอก ต่อมาได้พบกับ สุรัตน์ พุกกะเวส จนกระทั่งนัดให้ กิ่ง แก้วประเสริฐ พาจ่าเชษฐ์ ไปพบทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ ซึ่งวางตัวเอกไว้แต่แรก หลายคนรวมทั้ง ชนะ ศรีอุบล แต่ ประทีป โกมลภิส ไม่ถูกใจเลยสักคน ต้องการดาราหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อพบแล้วทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ก็พอใจบุคลิก ลักษณะ ของจ่าเชษฐ์ จึงได้รับจ่าเชษฐ์เข้าสู่วงการหนังไทย และตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเมื่อประทีปตั้งคำถามให้ตอบ ข้อ 1 "ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด" มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน" (เป็นที่มาของชื่อ มิตร) ข้อ 2 "ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด" มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา (เป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา")
ก้าวสู่วงการแสดง ภาพยนตร์ ชาติเสือ บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต กำกับโดย ประทีป โกมลภิส เป็นเรื่องแรกที่มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน เช่น เรวดี ศิริวิไล นัยนา ถนอมทรัพย์ ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก เป็นภาพยนตร์ที่เริ่มถ่ายทำในปลาย พ.ศ. 2500 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้นทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชน มิตร ชัยบัญชาในบท อินทรีแดง เรื่อง จ้าวนักเลงมิตรโด่งดังเป็นอย่างมาก จากบท "โรม ฤทธิไกร" หรือ "อินทรีแดง" ในภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง (2502) ซึ่งเป็นบทที่มิตร ชัยบัญชา ต้องการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากได้อ่านหนังสือ จนทีมผู้สร้าง ชาติเสือ ตัดสินใจไปพบ เศก ดุสิต พร้อม มิตร ชัยบัญชา เพื่อขอซื้อเรื่องมาทำเป็นภาพยนตร์ เศก ดุสิต พูดต่อมิตร ชัยบัญชาว่า "...คุณคือ อินทรีแดง ของผม..." ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้มากและมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายเรื่อง ต่อมามีภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้มิตรอีกหลายเรื่อง เช่น เหนือมนุษย์ แสงสูรย์ ค่าน้ำนม ร้ายก็รัก ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเก้า หงษ์ฟ้า ทับสมิงคลา
ในปี พ.ศ. 2502 (ปีเดียวกับที่สร้างภาพยนตร์ จ้าวนักเลง) คู่ขวัญ มิตร-เพชรามิตร ชัยบัญชา มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบทบาทการแสดงที่ประชาชนชื่นชอบ และจากวินัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงนิสัย และอัธยาศัยต่อเพื่อนร่วมงาน มิตรเป็นพระเอกดาวรุ่งที่โด่งดังอยู่ เมื่อแสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรา เชาวราษฎร์นางเอกใหม่ เรื่อง บันทึกรักพิมพ์ฉวี เป็นเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ออกฉาย พ.ศ. 2505 มิตรเริ่มก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกอันดับ 1 ของประเทศ ที่เป็นที่รักของประชาชน ซึ่งต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ได้แสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรามากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จึงเป็นคู่ขวัญได้แสดงภาพยนตร์คู่กันมากที่สุดตลอดมา รับบทคู่รักในภาพยนตร์ ประมาณ 200 เรื่อง จนแฟนภาพยนตร์เรียกว่า มิตร-เพชรา (แฟนหนังบางส่วนเข้าใจผิดว่ามิตร นามสกุล เพชรา) มีแฟนภาพยนตร์จำนวนมากที่ชื่นชอบในตัวมิตร ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีชื่อมิตรแสดงก็เดินทางกลับ ไม่ดูหนัง ทั้งที่เดินทางมาไกล แม้แฟนภาพยนตร์มักเข้าใจว่าเป็นคู่รัก แต่ก็เป็นเพียงในภาพยนตร์ ในความเป็นจริงแล้วทั้งคู่มีความสนิทสนมจริงใจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน มิตรรักเพชราเหมือนน้องสาว คอยปกป้องและเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาให้เพชรา แต่ก็มักโกรธกันอยู่บ่อย ๆ บางครั้งไม่พูดกันเป็นเดือน ทั้ง ๆ ที่แสดงหนังร่วมกันอยู่ โดยเพชรา เคยกล่าวว่า มิตรเป็นคนช่างน้อยใจ
ปลาย พ.ศ. 2504 มิตรประสบอุบัติเหตุ จากการเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง ทวนสุริยะ ของ ปรีชา บุญยเกียรติ เป็นเหตุให้มิตร สะบ้าแตก หน้าแข้งหัก กระโหลกศีรษะกลางหน้าผากเจาะ และฟันหน้าบิ่น เกือบพิการ ถูกตัดขา แต่ในที่สุดก็ใส่สะบ้าเทียมและดามเหล็กยาวที่หน้าแข้ง ต้องฝึกเดินอยู่นานจึงหายเป็นปกติ แต่อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ ปรีชา บุญยเกียรติ เสียชีวิต พ.ศ. 2505 มิตรร่วมกับเพื่อนในวงการภาพยนตร์ เช่น อนุชา รัตนมาล แดน กฤษดา ไพรัช สังวริบุตร จัดตั้ง วชิรนทร์ภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ยอดขวัญจิต และ ทับสมิงคลา (ภาคหนึ่งของอินทรีแดง) พ.ศ. 2506 มิตร ชัยบัญชา ก่อตั้ง ชัยบัญชาภาพยนตร์ ของตัวเอง สร้างภาพยนตร์เรื่อง เหยี่ยวดำ (ครุฑดำ) ซึ่งแม้ว่าชื่อเรื่องจะมีปัญหา แต่มิตรก็ฝ่าฟัน ลงทุนแก้ไข จนออกฉายได้ โดยไม่ขาดทุน ท่ามกลางความเห็นใจของประชาชนและผู้อยู่รอบข้าง มีการกล่าวกันว่า ถ้าไม่ใช่หนังของ มิตร ชัยบัญชา คงจะล่มขาดทุนไปแล้ว
ลาออกจากอาชีพทหารอากาศ เมื่อ พ.ศ. 2506 จำต้องลาออกจากอาชีพทหารอากาศ ขณะมียศพันจ่าอากาศโท เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ครุฑดำ โดย ชัยบัญชาภาพยนตร์ จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ที่เขาถูกกล่าวหาว่านำสัญลักษณ์ตราครุฑมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ครุฑดำ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเหยี่ยวดำ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพอากาศขณะนั้นเห็นควรให้เลือกทำเพียงอาชีพเดียว มิตร ชัยบัญชา กล่าวกับแฟนๆ ที่หน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงขณะยืนแจกภาพถ่ายในเครื่องแบบทหารอากาศ ในวันที่ " เหยี่ยวดำ " เข้าฉาย เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ว่า ... ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ
สู่การแสดงอย่างเต็มตัว หลังจากนั้นเขาจึงได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่กับการแสดง ทำให้มีผลงานมากถึง 35-40 เรื่องต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากถึงครึ่งหนึ่ง หรือ มากกว่าครึ่งของจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายทั้งปี กิ่งดาว ดารณี เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร ว่า มิตร ชัยบัญชา มีภาพยนตร์ต้องถ่ายเดือนละประมาณ 30 เรื่อง
ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมา ได้เพิ่มชื่อเสียงให้กับมิตร ชัยบัญชา ได้แก่ ใจเดียว, ใจเพชร, จำเลยรัก, เพลิงทรนง, อวสานอินทรีแดง, นางสาวโพระดก, เก้ามหากาฬ, ชายชาตรี, ร้อยป่า, สมิงบ้านไร่, หัวใจเถื่อน, สาวเครือฟ้า, ทับเทวา, สิงห์ล่าสิงห์, 5 พยัคฆ์ร้าย, ทาสผยอง, อินทรีมหากาฬ, เดือนร้าว, ดาวพระศุกร์, มือนาง, พนาสวรรค์, ลมหนาว, แสงเทียน, พระอภัยมณี, ปีศาจดำ, พระลอ, ทรชนคนสวย, 7 พระกาฬ, พยัคฆ์ร้ายใต้สมุทร, ชุมทางเขาชุมทอง, ไฟเสน่หา, ฟ้าเพียงดิน, เงิน เงิน เงิน, เพชรตัดเพชร ฯลฯ ในช่วงนั้นมิตรมีรายได้เข้าบัญชีธนาคารเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 แสนกว่าบาท ซึ่งเขาก็สละเวลา 1 วันในแต่ละปีเพื่อไปชำระภาษีอากรอย่างถูกต้อง ภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงินพ.ศ. 2507 และ 2508 ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวโพระดก และ สาวเครือฟ้า ที่มิตร แสดงนำคู่กับ พิศมัย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี
เมื่อ พ.ศ. 2509 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยมีความคิดที่จะจัดงานมอบรางวัลให้กับดารา นักแสดง ที่มีคุณสมบัติที่ดีในการทำงาน เป็นที่รักของคนในอาชีพเดียวกัน เป็นที่รักของประชาชน มีความรับผิดชอบ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมงาน โดยมิตร ชัยบัญชา ได้รับพระราชทานรางวัล "ดาราทอง" สาขานักแสดงนำภาพยนตร์ ฝ่ายชาย และพิศมัย วิไลศักดิ์ ฝ่ายหญิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2510 จากคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ] โดยก่อนหน้านั้น พ.ศ. 2508 มิตร แสดงภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน เป็นภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน ร่วมแสดงกับ เพชรา เชาวราษฎร์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์] และมิตร-เพชรา ได้รับพระราชทานโล่ห์เกียรตินิยม ของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำ พ.ศ. 2508 เมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ในฐานะนักแสดงนำที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร สามารถทำรายได้สูงกว่า เงิน เงิน เงิน 13 มีนาคม พ.ศ. 2510 มิตร ชัยบัญชา ขอเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอดุสิต โดยขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า "ชัยบัญชา" หลังจากอยู่วงการภาพยนตร์ร่วม 10 ปี โดยตามบัตรประชาชนใบใหม่ที่ออกให้เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2512 หมดอายุ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อและนามสกุลว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา
มิตร ชัยบัญชาสู่บทบาทอื่นๆ พ.ศ. 2510 หลังจากที่มิตร ชัยบัญชา ประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว มีทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อม หลักฐานมั่นคง จึงคิดช่วยให้เพื่อนๆ ตั้งตัวได้ โดยตั้ง สหชัยภาพยนตร์ ขึ้น ให้สลับกันเป็นผู้อำนวยการสร้าง มิตร เป็นพระเอกให้โดยไม่คิดค่าแสดง หากมีปัญหาเรื่องเงินทุนก็ช่วยเหลือกัน และมีภาพยนตร์หลายเรื่องในช่วงนี้จนถึง พ.ศ. 2513 ที่มิตร ร่วมทุนสร้างด้วย เช่น จอมโจรมเหศวร, สวรรค์เบี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่อดุลย์ ดุลยรัตน์ เป็นผู้กำกับการแสดง โดยมิตร แนะนำให้ผู้สร้างคือ วิเชียร สงวนไทย ติดต่ออดุลย์ และบอกว่าอดุลย์ จะเป็นผู้กำกับที่มีฝีมือในอนาคต ผลงานเด่นๆ ในช่วงนี้มีหลายเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงเสมอ เช่น จุฬาตรีคูณ, แสนรัก, เหนือเกล้า, ไทรโศก, แสนสงสาร, อีแตน, สมบัติแม่น้ำแคว, จ้าวอินทรี, รอยพราน, สองฟากฟ้า, รักเอย, 7 พระกาฬ, ทรชนคนสวย, คนเหนือคน และผลงานที่แสดงถึงความสามารถของมิตรอีกจำนวนมาก แต่ไม่มีการจัดงานตุ๊กตาทองแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2509
ปลาย พ.ศ. 2511 มิตร ชัยบัญชาได้ผันตัวเองเข้าสู่การเมือง ขณะนั้นมิตร มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตก ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้มิตรหวังว่าชื่อเสียงเหล่านี้จะสามารถชนะใจประชาชนเหมือนเช่นการแสดงภาพยนตร์ ทำให้มิตรตัดสินใจหยั่งเสียงตัวเองเป็นครั้งแรกด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในนามกลุ่ม หนุ่ม เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2511 หาเสียงในเขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่เขาก็ไม่ได้รับเลือก เขาไปพักผ่อนเข้าป่าไทรโยคที่ จังหวัดกาญจนบุรีกับรังสี ทัศนพยัคฆ์ ล้อต๊อก กิ่งดาว และเพื่อน แล้วออกมาทำงานต่อ ภาพข่าว มิตร ชัยบัญชา หาเสียงเลือกตั้งต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2512 มิตรได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์ความนิยมในตัวเองอีกครั้ง ตามคำขอของเพื่อน แต่ไม่ใช่ระดับท้องถิ่นอีกต่อไป เพราะเขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระนคร กับ ปราโมทย์ คชสุนทร เพื่อหวังทำงานรับใช้ประชาชน และต้องการช่วยนักแสดง ให้การแสดงเป็นอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการ ได้รับการดูแลเหมือนอาชีพเฉพาะทางอื่นๆ โดยขณะหาเสียงมิตรยังคงมีงานถ่ายภาพยนตร์อยู่มากหลายเรื่อง รวมทั้งต้องเคลียร์คิวหนังไปถ่ายต่างประเทศด้วย 2 เรื่อง เรื่องแรกไปถ่ายที่ญี่ปุ่น อีกเรื่องไปถ่ายที่ปีนัง โดยคู่แข่งขันกล่าวกับประชาชนว่า ถ้ามิตร ชัยบัญชา ได้รับเลือกตั้งก็จะไม่ได้มาแสดงภาพยนตร์ให้ดูอีก มิตรไม่ได้รับเลือกเป็นครั้งที่ 2 ด้วยคะแนนที่สูงพอสมควรแต่ขาดไปเพียง 500 คะแนน ได้เป็นที่ 16 จากความต้องการ 15 คน
การลงสมัครเลือกตั้งนี้เองทำให้เงินทองและทรัพย์สินของมิตรร่อยหรอลงไปหลายล้านบาท พร้อมกับบ้าน 1 หลังที่จำนองกับธนาคาร เขาเก็บความผิดหวังไว้เงียบๆ และอีกความเจ็บปวด คือ หญิงคนที่รักมากได้ตีห่างจากไป (เพราะเหตุผลว่าเขาผิดสัญญาที่ลงเล่นการเมืองเป็นครั้งที่ 2 และเลือกประชาชน มากกว่า เลือกเธอ) ทำให้มิตรเสียใจมาก เขาพยายามตั้งใจ อดทนสู้ใหม่ รับงานหนังอีกหลายเรื่อง เช่น 7 สิงห์คืนถิ่น, วิมานไฟ, จอมโจรมเหศวร, ทรชนเดนตาย, ฟ้าเพียงดิน, ไอ้หนึ่ง, ชาติลำชี, ขุนทาส, สมิงเจ้าท่า, แม่ย่านาง, ลมเหนือ, 2สิงห์จ้าวพยัคฆ์, กำแพงเงินตรา, วิญญาณดอกประดู่, สวรรค์เบี่ยง, ฝนเดือนหก ฯลฯ และปีเดียวกัน มิตรได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง รอยพราน ในนามชัยบัญชาภาพยนตร์ ด้วย พ.ศ. 2513 เขารวบรวมที่ดินทั้งหมดที่มีอยู่ จำนองกับธนาคารเอเชีย 4 ล้าน 6 แสนบาท และจำนองบ้านพักทั้ง 3 หลังรวมทั้งขายที่ดินที่จังหวัดสระบุรีอีก 7 แสนบาท นำเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินตรงเชิงสะพานผ่านฟ้า เนื้อที่ 514 ตารางวา ราคา 7 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดมาตรฐานเพื่อฉายหนังไทยโดยเฉพาะ มีร้านค้า และที่จอดรถ แบบทันสมัย โดยหวังช่วยเหลือผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยให้ไม่ต้องรอโปรแกรมฉายต่อจากภาพยนตร์ต่างประเทศ การออกแบบเรียบร้อย และ ดำเนินการปรับพื้นที่แล้ว รวมทั้งมีโครงการสร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง เพื่อฉายรับโรงภาพยนตร์ใหม่ เป็นการวางอนาคตของมิตร ชัยบัญชา ผู้เป็นความหวังและที่พึ่งของเพื่อนที่ร่วมโครงการนี้
และเมื่อ พ.ศ. 2513 นี้มิตรรับงานแสดงภาพยนตร์ไว้ประมาณ 50 เรื่อง และยังมีการแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกง ที่รับไว้ตั้งแต่ปีก่อน เรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ โดยได้แสดงร่วมกับ เถียนเหย่, กว่างหลิง และเรื่อง จอมดาบพิชัยยุทธ (ส่วนอีกเรื่องเมื่อมิตรเสียชีวิตก็ให้ไชยา สุริยัน แสดงแทนในดาบคู่สะท้านโลกันต์) ปีเดียวกัน มิตรแสดงภาพยนตร์ร่วมกับเพชราในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ที่มิตรมีส่วนร่วมในการคิดเรื่อง และช่วยงานจนภาพยนตร์เสร็จ แม้ว่าจะหมดบทของมิตรแล้ว โดยมิตรร้องเพลงลูกทุ่งในเรื่อง 2 เพลง จาก 14 เพลง ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ฉายในกรุงเทพได้นานถึง 6 เดือน ทำรายได้ 6 ล้านบาท และรายได้ทั่วประเทศมากกว่า 13 ล้านบาท ปลุกกระแส มิตร-เพชรา ให้โด่งดังมากขึ้นอีก และเกิดความนิยมเพลงลูกทุ่งในกรุงเทพเป็นปรากฏการณ์
การเสียชีวิต การถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่อง อินทรีทองเมื่อ พ.ศ. 2513 มิตรมีโครงการภาพยนตร์ ที่แสดงนำและกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชุด "อินทรีแดง" เรื่องที่ 6 ที่มิตรแสดงในบท โรม ฤทธิไกรหรือ อินทรีแดง ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม รับบทโดยครรชิต ขวัญประชา แสดงร่วมกับ เพชรา เชาวราษฎร์ รับบทวาสนา การถ่ายทำสำเร็จได้ด้วยดีจนถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 9.00 น. ในเรื่องหลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีวาสนาเป็นผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงบินลับหายไป เพื่อความสมจริง และความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตรตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่างละเอียด แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคที่มิตรไม่อาจรู้ได้ เพราะกำลังแสดงอยู่ ปรากฏว่าด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น โดยที่มิตรไม่ได้เหยียบบนบันได และต้องโหนตัวอยู่กับบันได เครื่องไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้องแล้ว มิตร พยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน
ในขณะที่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ ทำให้มิตรไม่สามารถโหนตัวต่อไปได้ ตกลงมาจากเฮลิคอปเตอร์กระแทกกับพื้น จากความสูง 300 ฟุต เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีราชาด้วย เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่สายเกินไป จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตทันที เพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น. มิตร ชัยบัญชา9 ตุลาคม พ.ศ. 2513
หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวข้อข่าวการตายของเขา ซึ่งกระจายข่าวไปถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน หลังจากข่าวการตายของเขา ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาถูกเคลื่อนย้ายออกจากบ้านทั้ง 3 หลัง ไม่มีเสื้อผ้าเหลือแม้แต่ชุดเดียวที่จะสวมใส่ให้ใหม่ตอนรดน้ำศพ ศพของมิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง หลังจากครบ 100 วัน พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 มีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงานจำนวนหลายหมื่นคน สำหรับการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทร์ มีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงานกว่า 3 แสนคน จนกระทั่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567

๘ ราชวงศ์ แห่งราชอาณาจักรไทย

 


รูปปั้น ๗ มหาราช


๘ ราชวงศ์ แห่งราชอาณาจักรไทย

๑. ราชวงศ์พระร่วง
๒. ราชวงศ์อู่ทอง
๓  ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
๔. ราชวงศ์สุโขทัย
๕. ราชวงศ์ปราสาททอง
๖. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
๗. ราชวงศ์ธนบุรี
๘. ราชวงศ์จักรี
 
ประเทศไทยเราถือกันว่า เริ่มขึ้นเมื่อ พ่อขุนอินทรทิตย์ ขึ้นครองราชย์พร้อมกับสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานีใน พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นปฐมกษัตริย์ของ “ราชวงศ์พระร่วง” ก็มีกษัตริย์ปกครองต่อมารวม ๙ พระองค์ จนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) ซึ่งสวรรคตใน พ.ศ. ๑๙๘๑ ได้ถูกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาอย่าง โดยพระเจ้าสามพระยา กษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของกรุงศรีอยุธยา ทรงส่งพระราเมศวร พระราชโอรสขณะมีพระชนม์ ๗ พรรษา ประสูติจากเจ้าหญิงในราชวงศ์พระร่วง ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย 
ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นศูนย์การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้น 

และเมื่อเจ้าสามพระยาสวรรคตในอีก ๑๐ ปีต่อมา พระราเมศวรก็ขึ้นครองราชย์บัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์จึงครองราชบัลลังก์ทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงสุโขทัย แต่เพื่อให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น พระองค์จึงประทับว่าราชการอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตลอดรัชกาล ทรงครองราชย์ถึง ๔๐ ปี ยาวนานกว่ากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ทำให้กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

ราชวงศ์พระร่วงมีมหาราช ๑ พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นมหาราชพระองค์แรกของชาติไทย ทรงรวบรวมอาณาจักร์ไทยเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง และทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น จารึกเรื่องราวในยุคนั้นไว้ในหลักศิลา ทำให้สืบทอดศิลปะวัฒนธรรมและวิชาการมาจนถึงปัจจุบัน

ราชวงศ์แรกของกรุงศรีอยุธยาก็คือ “ราชวงศ์อู่ทอง” พระเจ้าอู่ทองเป็นปฐมกษัตริย์ พร้อมกับสถาปนาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใน พ.ศ. ๑๘๙๓ หลังกรุงสุโขทัย ๙๓ ปี แต่มีกษัตริย์เพียง ๓ พระองค์เท่านั้นในราชวงศ์นี้ และผู้ที่ทำให้ราชวงศ์อู่ทองสิ้นสุดลงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นญาติฝ่ายมเหสีของพระเจ้าอู่ทองนั่นเอง ทั้งนี้เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคต พระราเมศวร พระราชโอรสพระชนมายุ ๒๘ พรรษาขึ้นครองราชย์ แต่ประทับราชบัลลังก์ได้ไม่ถึงปี ขุนหลวงพะงั่ว พระอนุชาของพระมเหสีพระเจ้าอู่ทองซึ่งครองเมืองสุพรรณบุรี ก็ยกทัพมากรุงศรีอยุธยา พระราเมศวรทรงรู้ฝีพระหัตถ์ของพระมาตุลาดีจึงออกไปต้อนรับ อัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์แต่โดยดี ส่วนพระองค์กลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม

ขุนหลวงพะงั่วขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๑๙๓๑ สมเด็จพระเจ้าทองลัน ราชโอรสพระชนมายุ ๑๔ พรรษาขึ้นเป็นยุวกษัตริย์ แต่ครองราชย์ได้ ๗ วัน พระราเมศวรก็ยกพลจากเมืองลพบุรีมายึดราชบัลลังก์ สำเร็จโทษพระเจ้าทองลัน ณ วัดโคกพระยา ขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒

พระราเมศวรครองราชย์ได้อีก ๗ ปี สวรรคตใน พ.ศ. ๑๙๓๘ สมเด็จพระเจ้ารามราชา พระราชโอรสพระชนมายุ ๒๑ พรรษาสืบราชสมบัติต่อ จนถึง พ.ศ. ๑๙๕๒ ได้เกิดเรื่องทรงพิโรธเจ้าเสนาบดีรับสั่งให้จับ แต่เจ้าเสนาบดีหนีไปอยู่ฟากปทาคูจาม นอกเกาะกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดพุทไธศวรรย์ แล้วกราบทูลไปยังเจ้านครอินทร์ ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี ว่าจะยึดกรุงศรีอยุธยาถวาย เมื่อเจ้านครอินทร์เสด็จมา เจ้าเสนาบดีก็นำกำลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา จับสมเด็จพระรามราชาสำเร็จโทษ บ้างก็ว่าให้ไปอยู่ที่ปทาคูจาม แล้วอัญเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอินทราชา เป็นการกลับมาของราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกครั้ง และปิดฉากราชวงศ์อู่ทอง

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งเริ่มจากขุนหลวงพะงั่ว เป็นราชวงศ์ที่แข็งแกร่ง ประกอบด้วยกษัตริย์ถึง ๑๓ พระองค์ ครองราชย์รวมกันยาวนานที่สุดของกรุงศรีอยุธยาถึง ๑๗๘ ปี กษัตริย์ของราชวงศ์นี้ซึ่งมีบทบาทในประวัติอยู่มากก็เช่น พระเจ้าสามพระยา ราชโอรสของสมเด็จพระอินทราชา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชโอรสของเจ้าสามพระยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชพระสวามีของนางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าช้างเผือก และพระสวามีของพระสุริโยทัย จนสิ้นสุดที่สมเด็จพระมหินทราธิราช ซึ่งเสียกรุงครั้งแรกแก่พระเจ้าบุเรงนองใน พ.ศ.๒๑๑๒

ราชวงศ์สุโขทัย ต้นราชวงศ์นี้ก็คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งเดิมเป็นขุนนางปลายแถว คือ ขุนพิเรนทรเทพ มีบทบาทสำคัญในการกำจัด ขุนวรวงศาและเจ้าแม่อยู่หัวศรีสดาจันทร์ แล้วอัญเชิญพระเทียรราชาซึ่งทรงผนวชอยู่ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้ขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็น พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ครองเมืองพิษณุโลก พร้อมพระราชทานพระราชธิดาให้เป็นมเหสี

หลังจากเสียกรุงครั้งที่ ๑ พระเจ้าบุเรงนองได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นราชวงศ์สุโขทัย เหตุที่ถือว่าเป็นราชวงศ์สุโขทัยก็เนื่องจากสืบสาวเชื้อสายแล้ว ปรากฏว่าสืบไปถึงราชวงศ์พระร่วง

กษัตริย์ในราชวงศ์นี้มี ๗ พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเชษฐาธิราช และพระอาทิตยวงศ์ ครองราชย์ติดต่อกัน ๖๑ ปี

ในราชวงศ์นี้ได้เกิดมหาราชพระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีในรัชกาลทรงอุทิศพระชนมชีพเพื่อความมั่นคงให้ราชอาณาจักรไทย จนแทบจะไม่มีเวลาเป็นส่วนพระองค์เลย กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์จึงเป็นที่มั่นใจของพ่อค้าวาณิชที่จะเข้ามาค้าขายว่าปลอดภัยและสงบสุข ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาจึงฟื้นกลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกทั้ง มีผู้คนเข้ามาพึ่งพระบรมสมภารมากมาย

ราชวงศ์ปราสาททอง ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ก็คือ พระเจ้าปราสาททอง เป็นที่รู้กันว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถกับสาวชาวบ้านบางปะอิน พระราชบิดาทรงรับไปเลี้ยงดูในกรุงศรีอยุธยา โดยมอบให้พระยาศรีธรรมมาธิราช เป็นผู้ดูแลในฐานะบิดาเลี้ยง แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าแท้ที่จริงแล้วเด็กชายผู้นี้เป็นใคร จึงเรียกกันว่า “พระองค์ไล” ครั้นพระองค์ไลเติบโตขึ้น ก็โปรดให้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อายุ ๑๔ ได้เป็นมหาดเล็กหุ้มแพร พออายุ ๑๗ ได้เป็น จมื่นศรีสรรักษ์ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก

ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ขณะพระองค์ไลเป็นพระยามหาอำมาตย์ เหตุการณ์ก็สร้างวีรบุรุษขึ้น เมื่อพ่อค้าญี่ปุ่น ๕๐๐ คนเปิดตัวว่าเป็นซามูไร บุกวังหลวงเข้าจับกุมพระเจ้าแผ่นดินเนื่องจากไม่พอใจเรื่องการค้า พระยามหาอำมาตย์ได้ร่วมกับสหายชาวเปอร์เซียนำกำลังเข้าขัดขวาง ไล่ซามูไรญี่ปุ่นลงสำเภาหนีไป สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงตอบแทนความดีความชอบโปรดเกล้าฯพระยามหาอำมาตย์ขึ้นเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ คุมกำลังทหารโดยเด็ดขาด

เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เจ้าพระยากลาโหมที่ชอบเล่นเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาแต่เด็กก็ยังไม่ผลีผลาม อัญเชิญพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าทรงธรรม พระชนมายุ ๑๕ พรรษาขึ้นครองราชย์ แต่ครองราชย์บัลลังก์ได้ ๑ ปี ๗ เดือน เจ้าพระยากลาโหมจัดงานศพมารดา มีขุนนางข้าราชการไปกันแน่นวัด จนท้องพระโรงไม่มีใครมาประชุม มีผู้เพ็ดทูลพระเชษฐาว่าเจ้าพระยากลาโหมคิดกบฏ พระเชษฐาหลงเชื่อสั่งทหารขึ้นป้อมล้อมวัง แล้วส่งคนไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาเฝ้า เจ้าพระยากลาโหมเลยได้โอกาส ยกกำลังจากงานศพมาจับพระเชษฐาสำเร็จโทษ

แม้จะมีโอกาสอีกครั้ง แต่เจ้าพระยากลาโหมก็ยังไม่รีบร้อนอยู่ดี อัญเชิญพระอาทิตย์วงศ์ พระราชโอรสพระเจ้าทรงธรรมอีกองค์ พระชนมายุแค่ ๙ พรรษาขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังเล่นเหมือนเด็กทั่วไป เจ้าพนักงานต้องคอยนำเครื่องทรงและเครื่องเสวยตามเสด็จ เพียง ๖ เดือนขุนนางข้าราชการจึงร้องขอให้ถอดสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ออกจากราชสมบัติ อัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์สุโขทัย

ราชวงศ์ปราสาททองมีพระมหากษัตริย์ ๔ พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์เป็นเวลา ๒๕ ปี สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์ต่อได้เพียง ๙ เดือนก็ถูกพระนารายณ์ พระอนุชาต่างมารดา ร่วมกับพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองชิงราชสมบัติจับสำเร็จโทษ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๒ เดือน ๒๐ วัน ก็ถูกพระนารายณ์ชิงราชสมบัติและสำเร็จโทษ พระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์ ครองราชย์อยู่ ๓๒ ปี ได้รับการถวามพระราชสมัญญาว่า มหาราช พระองค์ที่ ๒ ของกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงสมัยของราชวงศ์ปราสาททอง ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งเด็ดขาด และดูจะโหดด้วย ในรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองจึงสงบราบคาบ แม้อริราชศัตรูก็เกรงขาม ไม่กล้าเข้ามาระราน ส่วนในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงดำเนินนโยบายล้ำหน้ากษัตริย์ในภาคพื้นตะวันออก ด้วยการส่งคณะทูตของโกษาปานไปถึงราชสำนักยุโรป ทรงคบฝรั่งเศสเพื่อคานอำนาจฮอลันดา แต่ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ ทหารฝรั่งเศสที่ส่งมาช่วยคุ้มครองได้รับคำสั่งลับให้ยึดกรุงธนบุรีและตะนาวศรีเป็นเมืองท่าให้ได้ ส่วนคณะบาทหลวงก็รับหน้าที่เปลี่ยนศาสนาพระเจ้ากรุงสยามให้เข้ารีต แต่พระองค์ก็ทรงนำชาติรอดปลอดภัยมาได้ด้วยพระอัจฉริยภาพ

ส่วนเรื่องการรบ แม้พระองค์จะมีพระวรกายเล็ก และไม่ห้าวหาญเหมือนพระราชบิดา แต่ในสงครามไทยพม่า ซึ่งพม่าเป็นฝ่ายรุกรานทุกครั้ง มีแค่ ๒ รัชกาลเท่านั้นที่กองทัพไทยบุกไปตีเมืองพม่าเป็นการตอบแทน ก็คือในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์ที่ ๕ และราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา บ้านพลูหลวง เป็นหมู่บ้านหนึ่งในแขวงเมืองสุพรรณบุรี ปัจจุบันคือบ้านพลูหลวง ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมคชบาล และมีพระขนิษฐาเป็นพระสนมของสมเด็จพระนารายณ์ คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) มีกษัตริย์รวม ๖ พระองค์ ครองราชย์รวมกัน ๗๙ ปี คือ สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือพระเจ้าเสือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่เสียเมืองอย่างย่อยยับ

เมื่อพระเพทราชากับขุนหลวงสรศักดิ์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งความจริงเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ ร่วมกันชิงราชสมบัติเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก กรุงศรีอยุธยาก็อ่อนแอลง นอกจากสองพ่อลูกจะโหดอำมหิตแล้ว ทายาทต่อๆมายังแย่งชิงราชสมบัติกันเอง บ้านเมืองแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ต่างก็อยากมีอำนาจโดยไม่ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง นอกจากจะสิ้นราชวงศ์แล้วยังทำให้กรุงศรีอยุธยาย่อยยับจนไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้

ราชวงศ์ธนบุรี หลังจากที่พระเจ้าตากสินทรงกู้ชาติและสถาปนาเมืองหลวงใหม่ขึ้นในขณะที่ประชาชนต้องอดอยากถึงขั้นไม่มีข้าวจะกิน จึงเป็นพระราชภาระของพระองค์ที่ต้องกู้ทั้งชาติและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีในรัชกาล พระองค์ต้องทำสงครามและแพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้ก็หมายถึงการล่มสลายของชาติอีกครั้ง แรงกดดันเหล่านี้ทำให้ทรงเครียดหนัก ในปลายรัชกาลทรงมีพระอารมณ์แปรปรวนไปในทางเสียพระสติ ทำให้เกิดจลาจลขึ้นโดยพระยาสรรค์เป็นกบฏ บังคับให้พระองค์ทรงผนวช เมื่อมีผู้ส่งข่าวไปถึงสมเด็จเจ้าพระยากษัตริย์ศึกที่กำลังทำศึกอยู่กัมพูชา จึงได้รีบกลับมาปราบปรามการจลาจล และสืบสวนสาเหตุของความวุ่นวายแล้ว จึงสำเร็จโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย เป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ธนบุรี

แต่อย่างไรก็ดี พระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้ประเทศขยายพระราชอาณาจักรออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ก็เป็นที่ยอมรับต่อมาทุกรัชกาล และได้รับการถวายพระราชสมัญญามหาราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ราชวงศ์จักรี คือราชวงศ์ที่ปกครองประเทศไทยยาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๔๒ ปีแล้ว ที่สำคัญคือทุกรัชกาลไม่มีการแย่งชิงราชสมบัติเหมือนในสมัยอื่นๆ

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มาอยู่ฝั่งตะวันออกเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ สถาปนาขึ้นเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ บัดนี้กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ ได้กลายเป็นมหานครที่ติดอันดับความสวยงาม มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และสงบผาสุกแห่งหนึ่งของโลก

กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีได้รับการถวายพระราชสมัญญามหาราชถึง ๔ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๑ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” รัชกาลที่ ๕ “สมเด็จพระปิยมหาราช” รัชกาลที่ ๙ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

 และเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ ถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช” และที่อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชชาติไทย ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของ “พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช” ประดิษฐ์สถานอยู่ด้วย

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2567

ตำนานนางสงกรานต์

ตำนานนางสงกรานต์

นางสงกรานต์ เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศรีษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์ โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่
1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

2. นางสงกรานต์โคราดเทวี
โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

3. นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี
กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)

6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

นางสงกรานต์ 2567 นามว่า “นางมโหธรเทวี" คำทำนาย

 

นางสงกรานต์ 2567 นามว่า “นางมโหธรเทวี
เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์

คำทำนาย
นางสงกรานต์ 2567 นามว่า “นางมโหธรเทวี"

ตามการประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2567 จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ว่า ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช 1386 ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เวลา 22 นาฬิกา 24 นาที
มีนางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลังมยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ โดยปีนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้แต่งตั้งนางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 ประจำปี 2023 เป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567

วันที่ 16 เมษายน เวลา 02 นาฬิกา 15 นาที 00 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1386 ปีนี้วันอังคารเป็นธงชัย วันพฤหัสบดี เป็นอธิบดี วันจันทร์เป็นอุบากศ์ วันเสาร์เป็นโลกาวินาศ

ปีนี้ อังคารเป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า นาคให้น้ำ 7 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินา จะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียงกึ่ง
เกณฑ์ธาราธุคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย

เนื้อเพลง