วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ทูล ทองใจ

 ทูล ทองใจ (1 มีนาคม พ.ศ. 2472 - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) มีชื่อจริงว่า น้อย ทองใจ เป็นนักร้องเพลงไทยสากลชายชาวไทย ผู้ที่ได้รับฉายาในวงการว่า "เจ้าชายแห่งรัตติกาล,เทพบุตรเสียงกังสดาล,นักร้องเสียงดุเหว่าแว่ว,สุภาพบุรุษลูกทุ่ง"

ทูล ทองใจ เดิมชื่อ น้อย ทองใจ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2472  ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ภายหลังครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอแม่กลอง พ่อของเขาเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ใช้สกุล "แซ่กิม" ต่อมาพ่อของเขาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น "ทองใจ" ส่วนแม่ของเขามีชื่อว่า "นิ่ม ทองใจ" ทูลเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาลูกทั้ง 4 คน

เวลาต่อมาพ่อของเขาได้เสียชีวิตตั้งแต่ทูลและพี่น้องของเขายังเล็ก ส่วนแม่ของเขาจึงได้สมรสใหม่และได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลมหาชัย และมีลูกด้วยกันอีก 1 คนเป็นผู้หญิง ทูลได้ช่วยเลี้ยงน้อง, ช่วยแม่ขายของ และหาบน้ำขาย

ทูลจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 เขาชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาเขาขึ้นเวทีร้องเพลงประกวดครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี เพลงที่ชื่นชอบเป็นพิเศษในช่วงนั้นคือ "ค่ำแล้วในฤดูหนาว" ของครูล้วน ควันธรรม และเพลง "หยาดฟ้ามาดิน" ของครูสมยศ ทัศนพันธ์ เขาไปประกวดที่เวทีไหน เขาจะนำ 2 เพลงนี้ขึ้นไปร้องประกวดเสมอและชนะเลิศทุกครั้ง

ในขณะที่อายุได้ 19 ปี เขาได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดร้อง นับเป็นกรรมการที่มีอายุน้อยที่สุด ทำให้เขาภูมิใจไม่เคยลืม หลังจากนั้นครูชาญชัย บังบังศร แนะนำให้ไปร้องเพลงอยู่ที่ห้องอาหารจังหวัดภูเก็ต ทนลำบากอยู่หลายปีเหมือนกัน จึงหวนกลับกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง

ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องอาชีพเริ่มเป็นจริง เมื่อได้เข้ารับราชการเป็นทหาร สังกัด ขส.ทบ. ความสามารถในการร้องเพลง ทำให้เขาได้เป็นนักร้องประจำวง “ลูกมาตุลี” ซึ่งเป็นวงดนตรีชื่อดังของกรมการขนส่งทหารบกในสมัยนั้น และได้รับยศทางทหารเป็นสิบตรี

เมื่อออกจากวง “ลูกมาตุลี” ของ ขส.ทบ. ขณะนั้นมียศสิบเอก ครูสิทธิ์ โมรกรานต์ นำไปพบกับครู “เบญจมินทร์” ครูเบญจมินทร์แต่งเพลงแรกให้ร้องบันทึกเสียง เมื่อปี พ.ศ.2499 ในเพลง “ทุยหน้าทื่อ” ต่อมาในปี พ.ศ.2500 หลังจากครูเบญจมินทร์เดินทางกลับจากประเทศเกาหลี ก็นำเพลงมาให้ครูรูมงคล อมาตยกุล เรียบเรียงเสียงประสาน จำนวน 4 เพลง มีเพลง “รำเต้ย” “รักแท้จากหนุ่มไทย” ครูร้องเอง “เสียงครวญจากเกาหลี” สมศรี ม่วงศรเขียว ขับร้อง และเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ให้ ทูล ทองใจ ขับร้อง ปรากฏว่าเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ดังมาก ทำให้ชื่อของทูลเกิดขึ้นในวงการเพลง


ต่อมาครูเบญจมินทร์แต่งให้ร้องอีกหลายเพลง เช่น “ปรารถนา” และหลายต่อหลายเพลง เนื่องจากครูเบญจมินทร์มีงานล้นมือ ทั้งงานด้านดนตรีและงานภาพยนตร์ จึงฝากทูล ทองใจ ให้ครูมงคลอุปการะต่อ และได้ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงให้อีกแรงหนึ่ง ทำให้ชื่อเสียงของทูล ทองใจ โด่งดังเป็นดาวค้าฟ้ามาตั้งแต่บัดนั้น

เมื่อออกจากวง “จุฬารัตน์” ก็ร่วมกับภรรยา “นวลสวาท ชื่นชมบุญ” ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง เมื่อปี พ.ศ.2511 พอมาถึงปี

พ.ศ.2515 ทูล ทองใจ สุขภาพไม่ค่อยดี “นวลสวาท ชื่นชมบุญ” จึงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงเอง นำทีมงานนักร้องนักดนตรีประมาณ 60 ชีวิต รับใช้แฟนเพลงอยู่ได้ระยะหนึ่งก็เลิกวง ทั้งทูลและนวลสวาทหันไปร้องเพลงประจำห้องอาหาร และร้องเรื่อยมาจนบั้นปลายของชีวิต ในช่วงหลังสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ลูก ๆ พยายามทัดทานให่หยุดร้องเพลง แต่เขาก็ไม่ยอม เนื่องจากได้ตั้งปณิธานเอาไว้แล้วว่า จะขับกล่อมเสียงเพลงให้ความสุขกับประชาชนจนลมหายใจสุดท้าย เพราะชีวิตเขาเกิดมาจากเพลง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2538 ก่อนเสียชีวิต 2 วัน ทูล ทองใจ ได้ไปที่ร้านเสริมสวยซึ่งอยู่ในซอยโรงเรียนช่างกลปัญจะ แถวสะพานควาย เพื่อหา “น้าออน” เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบให้กับเขาในบั้นปลายของชีวิต เนื่องจากวันนั้นเธอไปเสริมสวย เมื่อทูลไปถึงก็ถือโอกาสเสริมความงามให้กับตัวเองเสียเลย ทั้งสระผม ดัดผมให้เป็นลอนหยักศก ตัดเล็บมือเล็บเท้า เรียกว่าวันนั้นหล่อเป็นพิเศษเลยทีเดียว และคืนนั้นทูลก็ไปค้างคืนที่บ้าน “น้าออน” รุ่งเช้าก็กลับบ้านแถววัดน้อย ตอนเย็นของคืนวันที่ 30 มกราคม ก็ไปนอนค้างคืนที่บ้านของ “น้าออน” เช่นเดิม หลังจากรับประทานอาหารค่ำซึ่งเป็นมือสุดท้าย มีผัดคะน้ากับหมู ปลาทูปลาสลิต แล้วก็เข้านอน

เวลาประมาณ 01.00 น. ย่างเข้าสู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ “น้าออน” ได้ยินเสียงเขาหายใจติดขัด เสียงดังคล่อก ๆ สักพักก็หลับไป

กระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. “น้าออน” ต้องตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงทูลอาเจียนโอ้กอ้าก กับทั้งขับอุจจาระปัสสาวะออกมาโดยไม่รู้ตัว “น้าออน” จึงหายาให้ดม และเช็ดเนื้อตัวที่เปื้อนจนสะอาด พบว่าทูลขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ ร่างกายซีกซ้ายชา จึงตัดสินใจเรียกตำรวจ 5 – 6 นาย ช่วยนำส่งโรงพยาบาลวชิระ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดีใจหาย ใช้รถตำรวจเปิด “ไซเรน” รีบบึ่งนำร่างของทูล ทองใจ ส่งถึงโรงพยาลเพียงไม่กี่นาที แพทย์และพยาบาลนำร่างของทูลเข้าห้องฉุกเฉิน พยายามช่วยชีวิตเต็มที่

กระทั่งเวลา 20.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 คุณหมอไม่อาจยื้อชีวิตของเขาไว้ได้ ทูล ทองใจ ได้จากแฟนเพลงไปอย่างสงบ ด้วยโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตกจนเลือดคั่งในสมอง ในขณะที่มีอายุเพียง 67 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ของภรรยาและลูก ญาติมิตร ตลอดทั้งแฟนเพลงทั่วประเทศ ทิ้งไว้แต่เสียงเพลงที่เขาร้องหลายร้อยเพลง ซึ่งล้วนแต่เป็นอมตะ ให้เราได้ฟังกันอย่างมีความสุขจนถึงปัจจุบันนี้ เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) วงศ์สว่างซอย 7 ตั้งแต่คืนวันที่ 2 – 8 ก.พ.38 แล้วบรรจุศพเก็บไว้ 100 วัน

ทูล ทองใจ สมรสกับ นางนวลสวาท ชื่นชมบุญ มีบุตร 3 คน คนโตชื่อ พิณนภา ทองใจ (แหม่ม) คนที่ 2 ชื่อนวลน้อย ทองใจ (เจี๊ยบ) คนที่ 3 เป็นผู้ชาย ชื่อ อำนาจ ทองใจ (อยู่ต่างประเทศ)

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

1. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดชิงชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2509 ในเพลง “รักใครไม่เท่าน้อง” ผลงานของครู พยงค์ มุกดา

2. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดชิงชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2514 ในเพลง “นางรอง” ผลงานของครู พยงค์ มุกดา

3. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดแผ่นเสียงทองคำ ปี พ.ศ.2522 ในเพลงความหลังฝังใจ” คำร้อง “อิงอร” ทำนอง- ดนตรี-เรียบเรียงเสียงประสานโดยครูมงคล อมาตยกุล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง