วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567

พระนางวิสุทธิเทวี กษัตริย์องค์ที่ ๑๗ (องค์สุดท้าย) ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระนางวิสุทธิเทวี หรือ สมเด็จเจ้าราชวิศุทธ (? — พ.ศ. 2121) เป็นขัตติยราชนารีพระองค์หนึ่งที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนา และเป็นพระกษัตรีย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ก่อนที่การปกครองอาณาจักรล้านนาจะตกไปสู่การปกครองของราชวงศ์ตองอู

พระนางวิสุทธิเทวีได้ให้การยอมรับอำนาจของพม่า เป็นที่รู้จักในนามพระมหาเทวี ( ผู้สนองนโยบายการขยายอำนาจจากล้านนาไปสู่กรุงศรีอยุธยาและล้านช้างโดยใช้ล้านนาเป็นที่มั่น ทรงส่งกองทัพเข้าร่วมรบกับเชียงใหม่ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 และ พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ส่งกองทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองกองทัพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีมากของพระเจ้าบุเรงนอง รวมไปถึงพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนาง

ด้วยที่ทรงพระราชฐานะที่พระนางเป็นเจ้านายอาวุโสตำแหน่งพระมหาเทวี หรือกษัตรีย์แห่งล้านนาที่ให้ความร่วมมือแก่พม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเมืองเชียงใหม่ ดังการพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะ และหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี

ข้อสันนิษฐาน

กรณีพระตนคำ

แต่เดิมศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล เคยสันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีเดิมมีพระนามว่า "พระตนคำ" ผู้เป็นพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้าที่พระเจ้าบุเรงนองนำไปเป็นองค์ประกันและเรียนรู้วัฒนธรรมพม่า และภายหลังได้ตกเป็นมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองโดยปริยาย

ครั้นเมื่อ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้สอบทำเนียบพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองอย่างละเอียดก็มิพบนาม พระตนคำ, วิสุทธิเทวี หรือราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่เลยแต่อย่างใด แต่พบนามของสตรีเชียงใหม่ตำแหน่งบาทบริจาริกานางหนึ่ง ความว่า "นางผู้เป็นชาวเชียงใหม่ (Zinme) นามว่าเคงเก้า (Khin Kank) ซึ่งให้กำเนิดพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองนางหนึ่งนามว่าราชมิตร"

ภายหลังศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ และเห็นว่านรธาเมงสอมิใช่เชื้อพระวงศ์มังรายอย่างที่เข้าใจ ส่วนพระนางเคงเก้าจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือพระวิสุทธิเทวี หรือพระวิสุทธิเทวีจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป

กรณีเป็นพระราชชนนีของนรธาเมงสอ

และเชื่อกันมาแต่เดิมว่า นางอาจเป็นพระราชชนนีในนรธาเมงสอ พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งครองราชย์สืบต่อจากพระนาง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการตีความโคลงบทหนึ่งของ "โครงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่" ที่มีเนื้อความระบุว่า

ได้แล้วภิเษกท้าวเทวี
เป็นแม่มังทราศรีเร่งเรื่อง
เมืองมวลส่วยสินมีตามแต่ เดิมเอ่
บ่ถอดถอนบั้นเบื้องว่องไว้วางมวล

นักภาษาศาสตร์ทั้ง ดร. ประเสริฐ ณ นคร และสิงฆะ วรรณสัย ถอดความดังกล่าวได้ว่า

"แล้วอภิเษกมหาเทวี [มหาเทวีวิสุทธิ] ผู้เป็นแม่มังทรา [นรธาเมงสอ เจ้าเมืองสาวัตถี–ตามความเข้าใจของผู้แปล] ขึ้นเสวยราชย์เหมือนเดิม ให้รวบรวมสินส่งส่วยเหมือนแต่ก่อน ไม่ทรงถอดถอนออก แต่มอบอำนาจให้ปกครองเมืองทั้งสิ้น"

รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ให้ความเห็นว่า "มังทรา" มาจากคำว่า "เมงตะยา" อันมีความหมายตรงตัวในภาษาพม่าว่า "ธรรมราชา" เป็นสมัญญานามที่ใช้ระบุหรือนำหน้ากษัตริย์พม่าทั่วไป และในโคลงบทที่ 12 นี้ได้ใช้คำว่า มังทรา แทนพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นคำว่า แม่มังทราศรี ก็จะหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดิน และมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นแม่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดไป ซึ่งก็อาจจะเป็นมารดาของอดีตกษัตริย์ คือ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็เป็นไปได้

รวมทั้งโคลงบทที่ 15 ของเรื่องเดียวกันนั้นที่กล่าวถึงภูมิหลังของนรธาเมงสอ ก็ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นพระโอรสของพระนางแต่อย่างใด เช่นเดียวกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับพม่า (Zinme Yazawin) หรือแม้แต่พงศาวดารโยนกก็มิได้ระบุเช่นกัน

กรณีเป็นพระราชชนนีของพระเมกุฏิ[

จากการศึกษาของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ โดยใช้หลักฐานของพม่าคือพงศาวดารมหายาสะวินเต๊ะ (Mahayazawinthet) กลับพบว่า พระมารดาของนรธาเมงสอ ชื่อ "ราชเทวี" มเหสีอันดับ 3 ของบุเรงนอง พระนางเป็นธิดาของสตุกามณีแห่งดีมเยง มีนามเดิมว่า เชงทเวละ พระนางสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2106 ก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะสถาปนาพระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2107 ฉะนั้นพระนางวิสุทธิเทวี จึงมิใช่พระมารดาของนรธาเมงสอ แต่มหาเทวีวิสุทธิอาจเป็นมารดาของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์

โดย รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้นำตัวพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ไปหงสาวดี และสถาปนามหาเทวีวิสุทธิซึ่งชราภาพแล้วครองล้านนา เพื่อที่มหาเทวีจะได้ไม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า ด้วยเหตุผลนี้พระเมกุฏิสุทธิวงศ์อาจมีฐานะเป็นพระโอรสของมหาเทวีวิสุทธิก็เป็นได้

ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะเห็นตรงกับ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นพระราชชนนีของพระเมกุฏิ แต่ได้เพิ่มเติมด้วยว่าพระนางวิสุทธิเทวีคงเป็นพระชายาของพระเมืองแก้ว

พระประวัติ

ตราครั่งประจำพระองค์ (ด้านหน้า) เป็นรูปดอกบัวในกรอบวงกลม
ตราครั่งประจำพระองค์ (ด้านหลัง) จารึกพระนาม "สมเดจเจ้าราชวิศุทธ" ด้วยอักษรฝักขาม

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้านายดั้งเดิมมาจากที่ไหน หรือทรงสืบเชื้อสายมาจากผู้ใดไม่เป็นที่ทราบ ซึ่งใน จารึกวัดชัยพระเกียรติ ที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าโดยขุนนางพม่าของพระเจ้าบุเรงนอง ระบุพระนามของพระนางวิสุทธิเทวีว่า "...สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าตนเป็นเหง้าในนพบุรี..." ซึ่งคำว่า "เหง้า" นี้ ฮันส์ เพนธ์สันนิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 ว่าที่จารึกใช้คำว่าเหง้านี้ อาจเป็นเพราะมหาเทวีพระองค์นี้ทรงมีเชื้อสายพญามังราย กอปรกับชื่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าก็เป็นชื่อตั้งเพื่อถวายพระเกียรติพญามังรายและพระมหาเทวีวิสุทธิผู้มีเชื้อสายของพญามังราย ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะอธิบายว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงมาจากเมืองนาย ซึ่งถูกส่งมาเป็นพระชายากษัตริย์ล้านนาตามพระราชธรรมเนียม อย่างไรก็ตามพระราชประวัติอันมืดมนซึ่งปรากฏบทบาทของพระองค์เพียงช่วงครองราชย์เท่านั้น ทำให้ไม่ทราบและไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับพระประวัติตอนต้นของพระองค์ จึงกลายเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป เรื่องราวของพระองค์มาปรากฏชัดเจนเมื่อครั้งมีพระอิสริยยศเป็นพระมหาเทวี คือเป็น "พระราชชนนีของพระมหากษัตริย์"

ทั้งนี้ตำแหน่งพระมหาเทวีเป็นตำแหน่งที่มีบทบาททางการเมืองสูง ดังจะเห็นจะได้จากพระราชประวัติของมหาเทวีจิรประภา และมหาเทวีสิริยศวดี และเป็นที่แน่นอนว่าพระองค์ต้องเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่' ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระราชชนนีในพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ โดยปรากฏหลักฐานว่าพระองค์ร่วมประกอบพระราชกรณียกิจร่วมกับพระราชโอรสบ่อยครั้ง

เสวยราชย์

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2016 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ล้านช้างทรงสนับสนุน หลังพม่าเสร็จศึกที่อาณาจักรอยุธยาก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ แล้วพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับ ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ดังปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเชียงใหม่แต่ก่อนทรงนามพระวิสุทธิเทวีขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีได้ขึ้นเสวยราชสมบัติก็เมื่อพระองค์ชราภาพแล้ว หลังพระองค์ครองราชย์ได้เพียง 14 ปีก็พิราลัย โดยมีหลักฐานจากโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ได้ระบุไว้ในโคลงบทที่ 13 ที่ได้กล่าวถึงพระนางวิสุทธิเทวีที่ยืนยันเกี่ยวกับการครองราชย์เมื่อชราภาพ และทำบุญเป็นประจำ ความว่า

มหาอัคคราชท้าวเทวี
ยามหงอกกินบุรีถ่อมเถ้า
ทำทานชู่เดือนปีศีลเสพ นิรันดร์เอ่
เห็นเหตุภัยพระเจ้าราชรู้อนิจจา

แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระองค์ยังมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูงโดยมีหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ มายืนยันจากพระนามที่ปรากฏ ดังนี้ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้า ผู้ทรงเป็นใหญ่ (จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ), มหาอัครราชท้าวนารี (โคลงมังทรารบเชียงใหม่), พระนางมหาเทวี (พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า), สมเด็จพระมหาราชเทวีบรมพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว (ตราหลวงกุหลาบเงิน พ.ศ. 2110) และ มหาเทวี (ตำนานเมืองลำพูน) พระนางวิสุทธิเทวีมีพระสถาภาพเป็นมหาเทวีผู้ทรงอำนาจสูง ทรงผ่านการราชาภิเษกสองครั้ง พระองค์มีพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนางที่ให้ความร่วมมือกับพม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากกษัตริย์พม่า รวมทั้งขุนนางพม่าที่รั้งเมืองเชียงใหม่ ดังการพบเมื่อคราวมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระองค์ได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี

พระราชกรณียกิจ

การศาสนา

ในตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึง ปี พ.ศ. 2099 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเมกุ ซึ่งกษัตริย์และพระราชมารดาได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏในความหน้าลานที่ 58-59 ปริวรรตความว่า

“...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก (เพชร) และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...”

แต่อย่างไรก็ตามพระนางวิสุทธิเทวีได้ปฏิบัติตนในฐานะกษัตรีย์ที่ดี ยังสามารถทำบุญสร้างวัด และกัลปนาผู้คนและที่ดินถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อน ดังพบพระนางสร้างวัดราชวิสุทธาราม (หรือ วัดหลวงบ้านแปะ) ในเขตจอมทองใน พ.ศ. 2110 และได้ทำตราหลวงหลาบเงินเพื่อไว้คุ้มครองชาวบ้านรากราน, กองกูน, ป่ารวก, อมกูด และบ้านแปะบก ทั้งคนลัวะและคนไทยให้เป็นข้าวัดทำหน้าที่ทางพุทธศาสนา ห้ามนำมาใช้งานใด ๆ เนื่องจากได้พระราชทานวัดแล้ว โดยในสมัยของพระเจ้าตลุนมิน หรือพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้กวาดต้อนเชลยจากเชียงใหม่ พบว่ามีข้าวัดราชวิสุทธารามติดไปด้วย เมื่อพระองค์ทราบจึงได้สั่งให้ปล่อยตัวคืนกลับมาทุกคน

การต่างประเทศ

ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับและสนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก โดยเฉพาะเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า

“...พลพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น คือพลพม่ามอญในหงสาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน และเมืองประแสนิว เมืองกอง เมืองมิต เมืองตะละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัว บัวแส และเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่งทัพเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงชัย เป็นนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวงมาด้วยพระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหนึ่ง...”

และในปี พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ได้ส่งทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองทัพ

เป็นไปได้ว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนองที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง อาณาราษฎร และคงอยู่ซึ่งอำนาจของพระนางเอง ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระนางจะมีขีดจำกัด แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพหยั่งรู้สถานการณ์ แม้ว่าโครงสร้างราชวงศ์จะขาดความมั่นคงแต่ล้านนาก็จะคงอยู่ได้ด้วยพระราชอำนาจและบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ที่ซึ่งเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตร่วมสมัยมิอาจแข่งขันได้

อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจของพระนางนั้น ยังได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเชียงใหม่ ดังพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่าและข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่ประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ "สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี"

พิราลัย

พระนางวิสุทธิเทวีพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2121 โดยใน ตำนานเมืองลำพูน กล่าวถึงมหาเทวีที่กิน 14 ปีก็พิราลัย ดังความว่า "...ในปีร้วงไค้ ได้อาราทนาราชภิเสก ๒ หน มหาเทวีรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๔ ปี สุรคุตในปีเปิกยี..." พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดโลกโมฬี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา ดังปรากฏความใน พงศาวดารโยนก ความว่า

"นางวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง ณ ที่นั่น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา"

และแม้พระนางวิสุทธิเทวีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระนางก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติ ด้วยพระอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายด้านการปกครองอย่างระมัดระวังและประนีประนอมแต่ก็รักษาพระเกียรติยศไว้อย่างสมบูรณ์จนสิ้นรัชกาล


พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๖ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระเป็นเจ้าแม่กุ (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พงศาวดารโยนก) พญาเมกุ หรือเจ้าขนานแม่กุ ส่วนพม่าเรียกว่า ยูนบะหยิ่น  พระสังพระสังข์ หรือ พระสาร เป็นอดีตเจ้านายเมืองนาย และเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ผู้สืบเชื้อสายมาจากพญามังราย ภายหลังอาณาจักรล้านนาได้พ่ายแพ้แก่พม่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง พระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงถูกนำไปเป็นองค์ประกันในพม่าก่อนพิราลัยที่นั่นด้วยโรคบิด

การพิราลัยด้วยพระโรคบิดของพระองค์นั้น ทางคติพม่าถือว่าเป็นการตายร้าย น่าสังเวชเวทนา จึงกลายเป็นนัตตระกูลสูงหนึ่งจากทั้งหมดสามสิบเจ็ดตน พระสาทิสลักษณ์ของพระองค์ในรูปลักษณ์ของนัตมีลักษณะคือ ประทับนั่งชันพระชานุขวา พระหัตถ์ขวาถือพระแสงดาบพาดพระอังสาเบื้องขวา และพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุซ้าย

 

พระชนม์ชีพตอนต้น

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ มีพระนามเดิมว่าท้าวแม่กุ พระราชประวัติในช่วงต้นแทบไม่ปรากฏเลย ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมเป็นเจ้านายจากเมืองนายในหัวเมืองเงี้ยวซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏพระนามพระราชชนก ทราบแต่เพียงว่าพระราชชนกนั้นสืบเชื้อสายมาจากขุนเครือ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพญามังรายที่ไปครองเมืองนาย อันเป็นดินแดนที่มีชาวไทใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังขุนเครือทรงพยายามที่จะชิงราชบัลลังก์ของพญาไชยสงครามพระเชษฐาแต่ไม่สำเร็จ และถูกเจ้าน้ำท่วมสังหารในเวลาต่อมา บางแห่งก็ว่ายึดสำเร็จ แต่ภายหลังถูกจับได้ จึงถูกขังไว้จนถึงแก่กรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองนายจะมีเจ้านายเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ล้านนา ทว่าเมืองนายคุกคามเมืองเชียงใหม่ในบางโอกาส บางครั้งก็ตกเป็นประเทศราชของล้านนาในช่วงเวลาที่ล้านนารุ่งเรือง

ส่วนพระราชชนนีของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็ไม่ปรากฏพระนามเช่นกัน แต่พระราชชนนีนี้ยังมีพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ครองล้านนา ปรากฏพระนามในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า "พระอัครราชมาดา พระมหาเทวีเจ้า" ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระราชชนนีของพระองค์คือพระนางวิสุทธิเทวี ที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเมกุฏิสุทธิวงศ์หลังถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า

ใน พระราชพงศาวดารพม่า ระบุว่า พระเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือพระสารเป็นพระราชโอรสของพญาขยัน และเป็นพระราชนัดดาสอนะยัต (พญายอดเชียงราย) ซึ่งพญาขยันเสวยราชย์ก่อนพระอนุชาเมืองอี (พระเมืองแก้ว) ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ว่าพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นพระราชโอรสของพระเมืองแก้วกับพระนางวิสุทธิเทวี และกล่าวว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงไทใหญ่จากเมืองนาย

เสวยราชย์

ก่อนหน้านี้อาณาจักรล้านนามีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านช้างและกลายเป็นรัฐเครือญาติกันผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างนางยอดคำพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้า กับพระยาโพธิสารราชพระเจ้าล้านช้าง มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือเจ้าเชษฐวงษ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอุปโยวราช เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จสวรรคต ล้านนาเกิดกลียุคมีสงครามยาวนาน พระนางจิรประภาเทวีจึงเสวยราชย์ ช่วงนั้นได้เกิดกบฏชาวไทใหญ่และการรุกรานของอาณาจักรอยุธยา ทั้งขุนนางแห่งล้านนาเองก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์เสียด้วย ล้านช้างที่ขณะนั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจึงเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือล้านนาจนฝ่ายอยุธยาพ่ายแพ้ไป พระยาโพธิสาลราชในฐานะผู้ปกป้องล้านนาจึงมีความชอบยิ่งนัก ได้นำพระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวงษ์ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพญามังรายทางฝ่ายมารดาขึ้นครองล้านนา มหาเทวีจิรประภาสละราชสมบัติให้พระอุปโยวราชครองราชย์ในปี พ.ศ. 2089 ทรงพระนาม พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะ

ครั้นในปี พ.ศ. 2090 พระยาโพธิสาลราชสวรรคตกะทันหัน พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะเสด็จกลับไปครองราชย์ล้านช้างในปีนั้น ทรงพระนามว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และได้นำมหาเทวีจิรประภาและพระแก้วมรกตไปล้านช้างด้วย อาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์และเกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างขุนนางกลุ่มต่าง ๆ ช่วงปี พ.ศ. 2091-2094 ล้านนาได้เข้าสู่กลียุคอีกครั้ง สุดท้ายขุนนางล้านนามีมติว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงเห็นควรให้อัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ เจ้านายเมืองนายผู้มีเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายมาเสวยราชย์แทน ซึ่งจากจารึกวัดเชียงสา จะพบว่าเนื้อหาเขียนว่าพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนล้านช้างเสียด้วย

หลังพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ได้ไม่ช้านานนัก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ขณะนั้นได้เสวยราชย์ครองล้านช้างแล้วไม่พอพระราชหฤทัย ที่ขุนนางล้านนาอัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์มาเสวยราชย์โดยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมิทรงเห็นชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการขาดฐานอำนาจในเชียงใหม่ด้วยการนำขุนนางจากเมืองนายติดตามเข้ามา ขุนนางท้องถิ่นล้านนาจึงไม่พอใจนักที่ถูกลดทอนบทบาทลง ซึ่งใน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า การกระทำของพระองค์ผิดจารีตล้านนาเพราะใช้จารีตเงี้ยว ส่งผลให้บ้านเมืองเสื่อม ทั้งทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย การกระทำของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสมือนการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เพราะทรงช่วยเหลือเมืองนายที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงล้อมไว้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงดำเนินการปราบปรามล้านนาในเวลาต่อมา

ใต้การปกครองของพม่า

ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด การเมืองภายในของล้านนาเกิดความแตกแยก หัวเมืองล้านนาพยายามปลีกตัวเป็นอิสระ และโดดเดี่ยวเมืองเชียงใหม่ ไม่มีหัวเมืองใดส่งกำลังพลมาช่วยรบกับพม่า พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ ความว่า

"ครั้นจุลศักราช ๙๒๐ [พ.ศ. 2101] พระองค์ [พระเจ้าบุเรงนอง] ก็มีไชยชนะประเทศน้อยใหญ่ทั้งสิ้น คือ ประเทศเงี้ยว [รัฐชาน] ประเทศลาวญวน [ยวนหรือโยนกคือล้านนา] เชียงใหม่แต่เมืองเชียงใหม่นั้นมิได้รบพุ่ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ [พระเมกุฏิสุทธิวงศ์] เข้ายอมสวามิภักดิ์ เมื่อพระองค์สมพระราชประสงค์แล้ว ให้เจ้าเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม..."

ส่วนใน พงศาวดารโยนก ก็ได้บันทึกไว้ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงตั้งพิธีราชาภิเษกแก่พระเมกุฏิเช่นเดียวกัน หากแต่ยังคงกองกำลังไว้รั้งเมืองเชียงใหม่ ความว่า

"...สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้ตั้งพิธีราชาภิเษกสรงพระเมกุฏิให้เป็นพระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามเดิม ให้พระยาสุรโยธานายทัพ ๑ พระยาจักรวุฒิ ขุนเมืองซังเหยียบเป็นปลัดทัพ ๑ ขุนเมืองมรวดีเป็นยกกระบัตรทัพ ๑ ถือพลหมื่นอยู่รั้งเมืองเชียงใหม่กับพระเมกุฏิเจ้านครพิงค์เชียงใหม่..."

ด้านการบริหารบ้านเมืองของเชียงใหม่ พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้พระเมกุฏิมีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้การพระราชบัญชาของพระองค์ และมีพระราชบัญชาให้ขุนนางพม่าที่อยู่รั้งเมืองเชียงใหม่เคารพและน้อมรับพระราชบัญชาของกษัตริย์เชียงใหม่เสียด้วย ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล้านนาจะตกเป็นประเทศราชของพม่าแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พม่ายังทรงยกย่องให้เกียรติและยอมรับสถานะของพระเมกุฏิในฐานะเจ้าผู้ครองเชียงใหม่อย่างสมบูรณ

ในช่วงที่พระองค์ปกครองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า กองทัพพันธมิตรล้านนาที่นำโดยเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงของซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเข้าโจมตีกองทัพพม่าในเชียงใหม่หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีราว 2-3 เดือน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพใหญ่มาช่วยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2101 ประกอบไปด้วยทัพม้า 6,000 ตัว ช้าง 500 เชือก และทหาร 150,000 นาย สามารถป้องกันเชียงใหม่ได้ และสามารถรุกขึ้นไปตีเมืองเชียงรายแตก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่กำลังล้อมเมืองเชียงแสนอยู่จึงหนีออกไป

ต่อมาพระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนับสนุน แต่คราวนี้หลังพม่าเสร็จศึกที่อยุธยา ก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย โดยทรงอ้างว่าพระยาแสนหลวง เสนาบดีผู้รั้งเมืองเชียงแสน กับพระยาสามล้าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองเชียงรายสมคบกันก่อกบฏ ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ ดังปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า

"...สกได้ ๙๒๖ ตัว เจ้าท้าวแม่กุฟื้น [กบฏ] เจ้าเปิงภวะมังทราฟ้าหงสา [พระเจ้าบุเรงนอง] ฟ้ามังทรายกริพลมาคุมเอาเชียงใหม่ได้ ลวดเอาเจ้าท้าวแม่กุเมือไว้เสียเมืองหงสา ไว้นางวิสุทธเทวีกินเมืองแทนหั้นแล..."

หลังจากนั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงได้รับพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับอยู่ภายในราชธานีหงสาวดี ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อน ทรงนามพระวิสุทธิเทวี ขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ประทับอยู่ในพระตำหนักขาวในหงสาวดี จนกระทั่งพิราลัยด้วยพระโรคบิด

พระราชกรณียกิจ

เศรษฐกิจ

อาณาจักรล้านนามีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานเพราะปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางอันยาวนาน ทั้งมีปัจจัยภายนอกที่มาจากการรุนรานของรัฐที่เข้มแข็งกว่า สภาพเศรษฐกิจในรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ปรากฏในพับสาเรื่องประวัติศาสตร์ กฎหมายโบราณ ต้นฉบับของวัดป่าลาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่กล่าวถึงเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยอธิบายไว้ว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล)

...ท้าวพระญาเสนาอามาตย์บ่ควรดีลิดม้างสีมาบ้านเมืองอันใหญ่หนักแท้มี ๓ ประการ

คือม้างหลักพัน ๑ ม้างไสเมือง ๒ ทีอันหนึ่ง ลัดเบี้ยลง หื้อย้อนเสียร้อยนับว่าหื้อพอร้อย

เหตุ ๓ ประการนี้ ขึดแพ้ตัวแพ้บ้านแพ้เมืองแล [ทำร้ายตัวเองและบ้านเมือง] เปนดั่ง

พระเมืองแก้ว แต่งเบี้ย ๙๘ หื้อเปน ๑๐๐ ท้าวอ้ายเกล้า [พระเมืองเกษเกล้า] แต่งเบี้ย ๘๐ เปน ๑๐๐

ท้าวชาย แต่งเบี้ย ๗๐ เปน ๑๐๐ ท้าวอุปโย [พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช] แต่งเบี้ย ๖๐ เปน ๑๐๐

พระแม่กุ แต่งเบี้ย ๕๘ เปน ๑๐๐ เหตุ ๓ ประการนี้ แพ้เจ้าเมืองแพ้บ้านเมืองแล อันใดก็ดี บ่พอหมื่นว่าหมื่น

บ่พอ ๑๐๐๐ ว่า ๑๐๐๐ บ่พอ ๑๐๐ ว่า ๑๐๐ ย่อมหื้อวินาสฉิบหายแล...

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของล้านนาค่อย ๆ เสื่อมทรามและทรุดลงตามลำดับ เนื่องจากปัญหาค่าเงินตกต่ำหรือที่เรียกว่าการ "ลัดเบี้ยลง" คือการลดค่าเงิน เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งย่ำแย่มาตั้งแต่รัชกาลพระเมืองแก้ว เรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ถือว่าเศรษฐกิจล้านนาอยู่ในระดับหายนะขั้นสุด

และหลังพระเมกุฏิถูกถอดจากราชบัลลังก์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกส่งไปเป็นบรรณาการแก่ราชสำนักหงสาวดี บรรดาเจ้าเมืองในล้านนาที่เคยครอบครองไพร่และส่วยอากรจึงถูกดึงรายได้ และแรงงานท้องถิ่นก็ถูกใช้ในกิจการของพม่า

การศาสนา

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ และในจารึกจุลคิรีระบุว่าพระองค์เป็น "ธรรมิกราชาธิราช"

ใน ตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึงปี พ.ศ. 2099 ว่าพระองค์และพระราชชนนีได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏความว่า

...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก [เพชร] และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...

จากตำนานดังกล่าวก็สอดรับกับจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองที่บันทึกว่าในปี พ.ศ. 2099 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระราชชนนีอัญเชิญพระมหาธาตุเจ้าจอมทองไปประดิษฐาน ณ หอบาตรในพระราชวัง และมีพระราชบัญชาให้รวบรวมข้าพระจากครัวเรือนต่าง ๆ ไปดูแลพระมหาธาตุจอมทอง

นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ถวายที่ดินและข้าพระแก่วัดเชียงสา ทำนุบำรุงพระธาตุบนดอยน้อยที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้ และอุทิศข้าพระแก่อารามป่าญางเถียงแซง เป็นต้น

การต่างประเทศ

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงแต่งตั้งพระยากัมพล (พระยารัตนกัมพล) ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนแทนพระยาคำหมู่ ขุนนางล้านช้างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงแต่งตั้งไว้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2097 ทำให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชไม่พอพระทัยและยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน

นอกจากนี้ทรงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทรงสืบเชื้อสายจากเมืองนาย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย ดังในปี พ.ศ. 2098 ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างทรงยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนของล้านนา เจ้าฟ้าเมืองนายก็ทรงช่วยรบที่เมืองเชียงแสน และในปี พ.ศ. 2100 เจ้าฟ้าเมืองนายถูกทัพของพระเจ้าบุเรงนองเข้าล้อม พระเมกุฏิก็ทรงช่วยด้วยการส่งอาวุธและกองกำลังไปช่วย


สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๑๕ แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระอุปภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช หรือที่รู้จักกันดีในพระนาม สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ถือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชาติลาว ทรงเป็นผู้นำแห่งอาณาจักรล้านช้าง ผู้สถาปนากรุงเวียงจันทน์ให้เป็นศูนย์กลางอารยธรรม และเป็นศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านช้างเข้าไว้ด้วยกัน ประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระญาติหรือพระนัดดาในพระนางจิรประภาเทวีพระมหากษัตรีย์แห่งอาณาจักรล้านนา

ในรัชสมัยพระยาโพธิสารราช (พ.ศ. 2063-2090) พระองค์เป็นผู้เคร่งครัดทางศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง ได้มีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา เลิกการทรงเจ้าเข้าผีทั่วพระราชอาณาจักร ให้รื้อศาลหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมือง และให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ทรงสร้างวัดสุวรรณเทวโลกเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากประเพณีการนับถือผีนั้นมีมาช้านาน และได้ฝังเข้าไปในจิตใจของประชาชนทั่วไป จึงยากที่จะเลิกอย่างเด็ดขาดได้

ครั้นต่อมาทางอาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์ปกครอง จึงได้อัญเชิญเจ้าไชยเชษโฐหรือเชษฐวังโส พระโอรสของพระเจ้าโพธิสาร หรือเจ้าชายแห่งเมืองหลวงพระบาง(เสด็จพระราชสมภพและเติบโตอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง) ไปครองนครล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2089 ทรงครองราชเป็นกษัตย์เป็นพระองค์ที่ 15 สาเหตุที่ท่านทรงมีอำนาจในแคว้นล้านนาหรือนครเชียงใหม่ เนื่องด้วยอำนาจของบิดาที่เคยเข้าไปแทรกแซงในล้านนาเป็นสำคัญ เมื่อพระเจ้าโพธิสารเสด็จสวรรคต พ.ศ. 2090 ด้วยถูกช้างล้มทับขณะประพาสป่า ทรงกลับนครได้เพียง 3 สัปดาห์ก็สวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว พระโอรสทั้งหลายต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 2 ฝ่ายคืออาณาจักรฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ได้แก่ เจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร (เจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา) และเจ้ากิจธนวราธิราช (เจ้าท่าเรือ) ผู้เป็นพระราชโอรสองค์รองต่างพยายามจะขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ในที่สุดเจ้าท่าเรือสามารถยึดครองเมืองหลวงพระบางไว้ได้ ขุนนางล้านช้างและเจ้าศรีวรวงษาราชกุมารจึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับมานครหลวงพระบางเพื่อรับเถลิงถวัลยราชสมบัติระงับเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุปผาราม เชียงใหม่ รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วขาวไปด้วย เมื่อเสด็จถึงล้านช้าง ทรงยึดราชสมบัติจากเจ้าท่าเรือไว้ได้ โดยการสนับสนุนของเจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร(ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษาในรัชสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช และได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์องค์แรกในยุคล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าซึ่งได้รับการสนับสนุนและแต่งตั้งจากบุเรงนอง)เป็นสำคัญซึ่งทั้งช่วยเป็นทัพร่วมตีขนาบยึดเมืองหลวงพระบางจากเจ้าท่าเรือและเสนอชื่อให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ภายหลังได้รับแต่งตั้ง เมืองหลวงพระบางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงศรีสัตนาคนหุต" พระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นมหาราชองค์ที่ 2 ของลาว ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระนามว่า "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช"

พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับว่ามีความเจริญถึงขั้นขีดสุด ทรงได้สร้างวัดสำคัญมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่โตมโหฬารสมกับที่เป็นปูชนียสถานคู่แผ่นดินพระราชอาณาจักร และได้สร้างวัดในกำแพงเมืองอยู่ประมาณ 120 วัด และยังได้สร้างวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ที่นำมาจากเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนี้ได้มีการแต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น สังสินชัย การเกต พระลักพระราม เป็นต้น และทรงเป็นผู้ตราจารีต12ครรลอง14ขึ้นให้ประชาชนและบรรดาเจ้าแลพระยาทั้งหลายภายในอาณาจักรได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา หรือที่เรียกว่า "ฮีต12คอง14"นั่นเอง

สมัยนี้อาณาจักรอยุธยาได้มีความสัมพันธ์ลาวอย่างแน่นแฟ้น ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับพม่า ได้สร้างเจดีย์ "พระธาตุศรีสองรัก" ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์ แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน ของสองอาณาจักร

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงทองมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระแซกคำ (พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงค์) ไว้ที่เวียงจันทน์ เรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้างส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ บางครั้งก็เรียกชื่อว่าล้านช้างหลวงพระบาง และได้สร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพิเศษ พระองค์ได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวเมื่อ พ.ศ. 2109 ซึ่งต่อมาได้ถูกพวกปล้นจากยูนนานทำลายเสียหายไปมาก

นอกจากพระองค์จะได้ทรงสร้างพระธาตุ อื่น ๆ และพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างวัดพระธาตุ ที่จังหวัดหนองคาย และพระธาตุที่จมน้ำโขงอยู่ พระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย สร้างวัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย และพระประธานในโบสถ์ นามว่า พระไชยเชษฐา พระศรีโคตรบูร ที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิงรัง ที่แขวงสุวรรณเขต (สุวรรณเขต) พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นต้น

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนำราชอาณาจักรล้านช้างผ่านพ้นภัยการเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าในขณะนั้นอาณาจักรล้านนา (เสียแก่พม่า พ.ศ. 2101) และอาณาจักรอยุธยา (เสียแก่พม่า พ.ศ. 2107) ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว แต่หลังจากพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2114 เนื่องจากท่านต้องไปปราบกบฎที่เมืองโองการหรือเมืองอัตปือแต่ท่านกลับเสียท่าให้กับหัวหน้ากบฎชาวกูยที่แข็งเมืองซ้อนกลจนทัพของมหาราชแห่งล้านช้างต้องแตกพ่ายและท่านถูกสำเร็จโทษในเวลาต่อมา พอมาถึง พ.ศ. 2117-2118 พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ และทรงนำโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งประสูติในปีที่สวรรคต ไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนั้นมาหลายปีแผ่นดินลาวก็วุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติ

จน พ.ศ. 2134 พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปเชิญพระหน่อแก้วกุมาร ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ประเทศพม่ากลับมาครองราชย์ และในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตลง พม่าเริ่มอ่อนแอลง และพระหน่อแก้วกุมารขึ้นครองราชย์สมบัติ พ.ศ. 2135 และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าต่อไป

วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567

พระนางจิรประภาเทวี กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๔ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระนางจิรประภาเทวี   (ครองราชย์ พ.ศ. 2088–2089) หรือ มหาเทวีจิรประภา   เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี ซึ่งในรัชกาลของพระนางหัวเมืองฝ่ายเหนือเกิดการระส่ำระสายเนื่องจากบ้านเมืองเกิดการแย่งอำนาจระหว่างขุนนางกับเจ้านาย บ้านเมืองอ่อนแอมีศึกสงครามขนาบทั้งทิศเหนือและใต้ ทั้งกองทัพพม่า และอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพมาถึงเชียงใหม่

พระนางปกครองบ้านเมืองเพียงแค่เพียงปีเศษก็ได้สละราชบัลลังก์แก่ สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระราชนัดดา (หลานยาย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์โพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และภายหลังพระองค์และพระราชนัดดาได้เสด็จไปประทับในนครหลวงพระบางและมิได้นิวัติกลับมายังนครเชียงใหม่อีกเลยตลอดปลายพระชนม์ชีพ

พระราชประวัติ

พระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกศเชษฐราช กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. 2068-2081 ครองราชครั้งที่สอง พ.ศ. 2086-2088) ทรงให้ประสูติกาลพระโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ ได้แก่

  1. ท้าวซายคำ กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 2081-2086) หลังจากขุนนางปลดพระเมืองเกษเกล้า พระราชบิดาออกจากราชบัลลังก์และอัญเชิญพระองค์ครองราชสมบัติ แต่ภายหลังพระองค์ก็ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์พร้อมครอบครัว
  2. เจ้าจอมเมือง พระราชโอรสองค์ที่สอง แต่ไม่สามารถครองราชย์ได้เนื่องจากทรงอ่อนแอจนไม่สามารถขึ้นครองราชสมบัติได้ บางท่านได้อธิบายว่า พระองค์อาจทรงปัญญาอ่อน
  3. พระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาที่ต่อมาภายหลังได้เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และมีพระราชโอรสคือ พระไชยเชษฐาธิราช

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับการประสูติกาลในปีใด แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้คำนวณจากการที่ท้าวซายคำประสูติเมื่อพระเมืองเกษเกล้ามีพระชนมายุ 18 พรรษา พระนางจิรประภาเทวีอาจมีพระประสูติกาลพระโอรสเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระนางจึงน่าจะประสูติในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2042-2043 และเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังเดิมของพระเมืองเกษเกล้าที่เคยประทับในเมืองน้อย (ปัจจุบันคืออำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งถือเป็นเขตไทใหญ่ พระนางจิรประภาอาจทรงมีเชื้อสายไทใหญ่ด้วย แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้เน้นว่าเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น

ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ได้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระนางจิรประภาว่าอาจเป็นเครือญาติกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อครั้งที่ครองเมืองพิษณุโลก และสันนิษฐานว่าพระนางน่าจะเป็นเจ้านายเมืองเหนือที่สมรสกับเจ้านายแห่งเมืองเชียงใหม่ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์เป็นพระเมืองเกษเกล้าในกาลต่อมา

ขณะนี้เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ได้ค้นคว้าต่อยอดจากข้อสันนิษฐานของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่พระนางจะทรงมีความสัมพันธ์เป็นพี่-น้องกันกับสมเด็จพระไชยราชา ทั้งนี้ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าการที่พงศาวดารไม่ปรากฏที่มาของสมเด็จพระไชยราชาไว้อย่างชัดเจนนั้นเป็นเพราะพระองค์ไม่ได้อยู่เครือข่ายของผู้ที่ควรจะได้รับพระราชบัลลังก์อย่างชอบธรรม และจาการที่มีหลักฐานกล่าวว่าทางหลวงพระบางได้ยกทัพมาช่วยสมเด็จพระไชยราชาในการชิงราชสมบัติอยุธยาซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระนางจิรประภาและพระเมืองเกษเกล้าได้ยกพระนางยอดคำทิพย์ให้ไปอภิเษกกับพระโพธิสารราชไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างพระนางจิรประภากับสมเด็จพระไชยราชาคงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นเหนียว[5]

มูลเหตุของการครองราชย์

พระเมืองเกษเกล้า พระราชสวามี ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านเชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..." แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..." แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วย

  • กลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
  • กลุ่มหมื่นหัวเคียน เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
  • กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088

ครองราชย์

มหาเทวีจิรประภาครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089 เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี

สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก

ระหว่างที่พระนางจิรประภาขึ้นครองราชย์นั้น ได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้นำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2088 เนื่องจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ทำให้เชียงใหม่เกิดความอ่อนแอ เกิดความแตกแยกวุ่นวายหนัก การเดินทัพของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้รีบเร่งมาก ใช้เวลาเพียง 16 วันก็มาถึง ขณะนั้นมหาเทวีจิรประภาเพิ่งขึ้นเสวยราชย์ขณะที่พระสวามีเพิ่งสวรรคตได้ไม่นาน สภาพเมืองเชียงใหม่ก็ไม่พร้อมรับศึก เพื่อไม่ให้เมืองเชียงใหม่บอบช้ำหนัก มหาเทวีจิรประภาจึงได้ส่งเสนาอำมาตย์ไปถวายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัยด้วยการเป็นไมตรีกัน และก็ได้พระราชทานรางวัลแก่เสนาอำมาตย์ โดยฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเองก็มิได้เข้าทำร้ายเมืองเชียงใหม่

พระนางทรงใช้วิธีการกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน พระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพแทนการเข้าเวียงโดยผ่านประตูช้างเผือกตามฮีตล้านนา และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬีที่เปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า แต่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ประทับสำราญพระอิริยาบถที่เวียงเจ็ดริน พักพลที่สบกวงใต้เมืองลำพูน แล้วเสด็จกลับ

โดยในเรื่องดังกล่าว พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้สันนิษฐานว่าพระนางจิรประภา อาจจะเป็นเครือญาติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เนื่องด้วยพระไชยราชาธิราชไม่เข้าทำลายเมืองเชียงใหม่ด้วยความผูกพันระหว่างเครือญาติ และทั้งสองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันแต่อย่างใดเนื่องจากในเอกสารหลักฐานก็ไม่ได้ให้วี่แววในเรื่องราวดังกล่าวเลย

สงครามไทใหญ่

ในปีเดียวกันหลังจากกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับไป กองทัพเมืองนายและเมืองยองห้วยจากรัฐฉานยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ซ้ำร้ายได้เกิดแผ่นดินไหว เจดีย์หลวงรวมทั้งเจดีย์วัดพระสิงห์และวัดอื่น ๆ หักพังลงมาด้วยซึ่งสร้างความยุ่งยากภายในเมืองมากขึ้น แต่สงครามครั้งนี้ข้าศึกได้ล่าถอยไป 

สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

เนื่องจากในปีนั้นมีข้าศึกมาติดพันอยู่ตลอดมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากล้านช้างซึ่งเป็นอาณาจักรของพระเจ้าโพธิสารราช พระชามาดา (ลูกเขย) ของพระนางเอง ซึ่งอาณาจักรล้านช้างกำลังเจริญรุ่งเรือง ซึ่งการรวมกันของล้านช้างและล้านนา ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเฉพาะการแทรกแซงล้านนา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ขึ้นมาปราบเชียงใหม่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2089 โดยเฟอร์ดินานด์ เมนเดส ปินโต นักเดินทางชาวโปรตุเกสได้บันทึกไว้ว่า มีกำลังพล 400,000 คน เรือ 300 ลำ ช้าง 4,000 เชือก เกวียนสำหรับบรรทุกปืนใหญ่ 200 เล่ม และมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย 120 คน ในครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาสามารถตีเมืองลำพูนแตก แต่เชียงใหม่ก็ป้องกันตัวเองสำเร็จผลของสงครามคือกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงต้องกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทหารฝ่ายล้านนาและล้านช้างได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ช้าง ม้า และเชลยศึกจำนวนมาก

ทรงสละราชบัลลังก์

หลังจากสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าโพธิสารราชได้รับความดีความชอบสูง และได้นำพระราชโอรส คือ พระไชยเชษฐาขึ้นมาครองอาณาจักรล้านนา มหาเทวีจิรประภาจึงทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชนัดดา ในช่วงที่สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 แต่พระโพธิสารราชเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับล้านช้างในปี พ.ศ. 2090 โดยเสด็จไปพร้อมกับพระแก้วมรกต และพระนางจิรประภาเทวี แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์ เกิดสงครามกลางเมืองเชียงใหม่ด้วยขุนนางต่างสู้รบกัน ดังนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2091-2094 จึงถือเป็นกลียุคของล้านนา ในที่สุดขุนนางเมืองเชียงใหม่เห็นว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงได้อัญเชิญท้าวแม่กุเสวยราชย์ต่อไป ด้วยเหตุนี้พระไชยเชษฐาทรงเห็นว่าท้าวแม่กุครองราชย์โดยพระองค์มิชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098

ชีวิตบั้นปลายพระชนม์

มหาเทวีจิรประภาได้ตามเสด็จพระไชยเชษฐา ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระนาง โดยขณะที่พระนางประทับอยู่ในล้านช้าง มหาเทวีจิรประภาได้โปรดฯ ให้สร้าง ธาตุน้อย พระธาตุที่มีขนาดย่อมกว่าพระธาตุหลวงของวัดมหาธาตุ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยมีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาที่มีลักษณะรูปทรงเดียวกันกับ พระเจดีย์วัดโลกโมฬี ที่พระภัสดาของพระองค์โปรดฯ ให้สร้างนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ โดยจารึกวัดธาตุหลวงพระบาง ซึ่งกรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นผู้อ่านแล้วแปล มีข้อความระบุว่า

จุลศักราช ๙๑๐ ปีเบิกสัน เดิน ๗ ออก ๑๑ ค่ำ วันศุกร์ มื้อระวายยี่ ยามพาดลั่น ฤกษ์หัสตะ พระราชไอยกามหาเทวเจ้า ตั้งพระมหาธาตุ ก็โอกาส หยาดน้ำ ข้อยข้ากับอารามแลไพร่

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพเชื่อว่าพระนางจิรประภาเทวีได้ประทับอยู่ในหลวงพระบางจนกระทั่งเสด็จสวรรคตโดยมิได้เสด็จนิวัติกลับไปยังเชียงใหม่อีกเลย แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเสด็จสวรรคตในปีใด

ท้าวซายคำ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


ท้าวซายคำ 

ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 13 ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 - 2086 รวมระยะเวลา 5 ปี พระองค์ทรงยึดอำนาจจากพระเมืองเกษเกล้า ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์ เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้เพียง 5 ปี ก็ถูกลอบปลงพระชนม์โดยกลุ่มขุนนาง ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์ขาดความชอบธรรมในราชบัลลังก์ หลังจากนั้นกลุ่มขุนนางจึงอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้ากลับมาครองราชบัลลังก์เป็นคราวที่สอง ในสมัยของท้าวซายคำนี้ มีเหตุความวุ่นวายมากมาย เกิดการจลาจล และขุนนางต่าง ๆ แยกออกเป็นกลุ่ม ๆ ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน

ครองราชย์

พระราชบิดาของท้าวซายคำ คือ พระเมืองเกษเกล้าได้เกิดข้อขัดแย้งกับเหล่าบรรดาขุนนางในปี พ.ศ. 2078 ขุนนางลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านเชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..." แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา

ถูกลอบปลงพระชนม์

แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..." แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..." แต่อย่างไรก็ตามหลักฐานเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์ก็มีน้อยมากกว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้

เหตุการณ์ภายหลังการลอบปลงพระชนม์

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง ก่อนที่ยกพระนางจิรประภามหาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนา

พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๒ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา




           

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช 
ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 12 ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ในครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068 - 2081 (13 ปี) และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086 - พ.ศ. 2088 (2 ปี) ในการครองราชย์ครั้งแรกพระองค์ปกครองได้ 13 ปี พระองค์ก็ถูกยึดอำนาจจากพระโอรสของพระองค์คือ ท้าวซายคำ แต่ท้าวซายคำราชย์ได้แค่ 5 ปี ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ ต่อมาพญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริต พระองค์จึงถูกปลงพระชนม์เสีย
พระราชประวัติ

การครองราชย์ครั้งแรก

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือ พญาแก้ว พระราชสมภพที่เมืองน้อย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครองราชย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2068-2081 สถานภาพของพระองค์เมื่อครั้งแรกครองสิริราชสมบัตินั้น พระองค์ยังสามารถใช้ฐานอำนาจเดิมของพระราชบิดา ไม่มีความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ เช่นการสนับสนุนของเหล่าคณะสงฆ์และมหาเทวีตนย่าซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามแนวทางเดิมของพระราชบิดา โดยส่งเสริมพระภิกษุสงฆ์สำนักสีหลหรือฝ่ายป่าแดง เนื่องจากพระองค์เคยบวชในสำนักสีหลที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) จึงให้พระครูของพระองค์มาประจำที่วัดโพธารามมหาวิหารและแต่งตั้งพระภิกษุฝ่ายสีหลให้รับสมณศักดิ์เป็นสังฆราชและมหาสามี และโปรดให้พระภิกษุอุปสมบทในนิกายสีหล ดังนั้นตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ที่เขียนโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งวัดโพธารามมหาวิหาร ขณะที่พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้ 1-2 ปี ได้สรรเสริญพระเมืองเกษเกล้าว่า "...เป็นพระเจ้าธรรมิกราชโดยแท้

การถอดออกจากราชสมบัติ

พระเมืองเกษเกล้า ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล... แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย
การครองราชย์ครั้งที่สองและการสวรรคต

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..." แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วยกลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
กลุ่มหมื่นหัวเคียน เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภามหาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088

มหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีของพระองค์ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089 เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี

พระราชกรณียกิจการศาสนา

ในช่วงแรกของการครองราชย์ ขณะที่พระองค์ยังมีสถานะที่มั่นคง พระองค์ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดไปครองเมืองเชียงแสน ซึ่งถือเป็นศูนย์อำนาจทางตอนบนของอาณาจักรล้านนา และเมืองเชียงแสนนี่เองที่เป็นฐานอำนาจของพระเมืองเกษเกล้าสืบมาถึงรัชสมัยของพระนางจิรประภามหาเทวี และสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ทางด้านการปกครองมีลักษณะปรึกษาร่วมกันกับสิงเมืองและบรรดาขุนนาง เนื่องจากมีหลักฐานที่กล่าวถึง เมื่อพระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้ไม่ไม่นาน ราชเทวี (ไม่ปรากฏพระนาม) ก็ประสูติราชบุตรองค์หนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงได้สร้างพระพุทธรูป "พุทธพิมพาเจ้าราชบุตร" แล้วหารือกับสิงเมืองและเสนาอามาตย์ว่าจะนำพระพุทธรูปไว้ที่ใด เจ้าเมืองเชียงแสนจึงได้เสนอให้ไปไว้ในถ้ำปุ่ม เมืองเชียงแสน

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา โดยพระองค์ได้ให้การทำนุบำรุงพระศาสนาในเมืองต่างของล้านนา เช่น เมืองลำพูน เชียงใหม่ และเชียงแสน โดยเฉพาะการสร้างวัดโลกโมฬี ทำนองวัดประจำรัชกาลเลยทีเดียว
การต่างประเทศ

สถานะทางการเมืองในช่วงต้นของพระเมืองเกษเกล้าเป็นที่ยอมรับทางการเมืองระหว่างรัฐ โดยเฉพาะอาณาจักรล้านช้าง ดังพบว่า พระเจ้าโพธิสารราช กษัตริย์แห่งล้านช้างได้ทูลขอ นางยอดคำ หรือ พระนางยอดคำทิพย์ (เจ้านางหลวงคำผาย) ธิดาของพระเมืองเกศเกล้าเป็นพระอัครมเหสี เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักร และผนึกกำลังตอบโต้การขยายตัวของอาณาจักรอยุธยา แต่อย่างไรก็ตามหลังจาก พ.ศ. 2077 ระบอบกษัตริย์และขุนนางของอาณาจักรล้านนาก็เสียสมดุล และเกิดเหตุการณ์การถอดพระองค์ออกจากราชสมบัติ การยกพระราชโอรสของพระองค์ครองราชย์ต่อและถูกลอบปลงพระชนม์ ต่อมาเมื่อพระองค์ครองราชย์อีกครั้งก่อนที่จะถูกลอบปลงพระชนม์ในท้ายที่สุด






พญาแก้ว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๑ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา



พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือพญาแก้ว (พระเมืองแก้ว) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๑ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

ทรงครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๐๓๘ -๒๐๖๘

พญาแก้ว มีพระนามที่เรียกกันต่างๆ คือ พระเมืองแก้ว หรือพ่อท้าวแก้ว หรือเจ้ารัตนราชกุมาร หรือพญาแก้วภูตาธิปติราช หรือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ทรงเป็นพระปนัดดาของพระเจ้าติโลกราช และเป็นราชบุตรของพญายอดเชียงรายกับพระนางสิริยสวดี (เทวีปงน้อย) ประสูติในปีขาล ได้รับราชาภิเษกเมื่อชนมายุ ๑๓ ปี ในวันเพ็ญเดือน ๙ พ.ศ. ๒๐๓๙

ด้านการสงคราม ทรงรบกับอยุธยาที่ชายแดน พ.ศ.๒๐๕๐ ทรงส่งกองทัพไปตีสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๐๕๘ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) แห่งอยุธยาขึ้นมาตีลำปางแตก แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับไป
ด้านทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงให้ก่อกำแพงเมืองลำพูนด้วยอิฐ ปี พ.ศ. ๒๐๖๐ เพื่อป้องกันข้าศึก จากนั้นจึงก่อกำแพงเมืองเชียงใหม่ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการยิงด้วยปืนใหญ่ และ พ.ศ.๒๐๖๑ ให้สร้างสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำปิงที่ท่าสถานหลวง
ด้านการทำนุบำรุงศาสนา พญาแก้ว ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาและบำเพ็ญทานเป็นเอนก ทรงสร้างปูชนียสถานและถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น สร้างวัดปุพพาราม ในปีมะโรง พ.ศ.๒๐๔๐ ต่อมาปีมะเมียทรงสร้างปราสาทในวัดนั้น ปีระกาทรงฉลองพระไตรปิฏกฉบับลงทอง และหอพระมณเฑียรธรรมที่โปรดให้สร้างไว้ ณ วัดปุพพาราม
นับตั้งแต่พระองค์ได้รับราชาภิเษกมา 1 ปี คือปีมะโรง เดือน 5 แรม 7 ค่ำ วันอังคาร จุลศักราช 855 พ.ศ.2036 พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช พระองค์ได้ทรงรับสั่งให้สร้างพระอารามๆ หนึ่งไว้ ณ ที่พระราชอุทยาน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นพระอัยกา(เจ้าปู่)และเป็นที่ประทับของพระราชบิดา พระองค์จึงขนานนามของวัดว่า “วัดบุพพาราม” ทั้งนี้เพราะถือเอานิมิตว่าได้ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาแห่งนับพิสิราชธานี (นครพิงค์เชียงใหม่) ต่อมาเมื่อพระองค์สร้างวัดบุพพารามแล้ว ได้ 3 ปี คือ ปีมะเมีย พระองค์ทรงสร้างปราสาทไว้ ณ ท่ามกลางมหาวิหารอีก 1 หลัง เพื่อประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยทองแดงล้วน มีสนธิ 8 แห่ง น้ำหนัก 1 โกฏิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังใหญ่) ต่อมาอีก 4 ปี ในปีระกา พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราชได้รับสั่งให้สร้างหอมณเฑียรธรรมอีก 1 หลัง สำหรับประดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับลงทองของล้านนาไทย ศิลปหัตถกรรมล้านนาประดับตกแต่งอย่างปราณีตสวยงามเหมือนเวชยันตปราสาท ในปี พ.ศ.2439 จ.ศ.1358 จำเดิมแต่การสร้างวัดมา มีอายุได้ 502 ปีหมายเหตุ ส่วนอาณาเขตของวัด ประวัติ (ตำนาน) ไม่ได้กล่าวไว้ในสมัยนั้น ว่ามีเนื้อที่กว้างยาวเท่าไหร่ ได้ความจากผู้เฒ่าผู้แก่เพียงว่า วัดอุปาหรือวัดอุปาราม (บุพพาราม) มีเนื้อที่กว้างยาวมาก ทิศตะวันออกจรดถึงคลองแม่ข่า ทิศตะวันตกจรดถึงวัดมหาวัน ความจริงจะกว้างยาวเท่าไหร่นั้น ก็ไม่ทราบได้ แต่น่าจะพิสูจน์จากคำสันนิษฐานผู้สูงอายุตรงที่บ้านของพ่อหนานมังคละ แม่หมูปวรธิสรรค์ ถนนท่าแพ ขณะนี้ยังมีมูลอิฐปรากฏเป็นหลักฐาน บางคนก็อ้างว่าเป็นฐานของอุโบสถวัดอุปาราม คือเป็นอารามที่มีอาณาเขต กว้าง ยาว มากนั่นเอง ปัจจุบันมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา คือทิศเหนือติดกับถนนท่าแพ มี 2 เส้น 13 วา ทิศใต้ติดกับบ้าน มี 2 เสิน 4 วา ติดตะวันตกติดกับถนนท่าแพซอย 2 ร่มโพธิ์ มี 2 เส้น 19 วา ตามที่ได้สำรวจแล้ว ก็มีในบริเวณกำแพงล้อมรอบวัดเท่านั้น ถือเอาตามความเป็นจริงในปัจจุบันเพียงเท่านี้

เนื้อเพลง