วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567

มานี มานะ ปิติ ชูใจ

 

มานี มานะ ปิติ ชูใจ 



วัติศาสตร์ “จินดามณี” ถือเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องการใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ และกลบท

จินดามณีเล่มแรกแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยพระโหราธิบดีในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการที่จินดามณีของพระโหราธิบดีเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทย ทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อมามักใช้ชื่อ “จินดามณี” เช่นเดียวกัน ได้แก่ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอสมิท และจินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์

กระทั่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นแบบเรียนหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้น จึงเลิกใช้หนังสือจินดามณีไป

สำหรับ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ถือเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยอีกยุคสมัย ช่วงปี 2521-2537 เขียนโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และรูปภาพประกอบ วาดโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน

ที่มาที่ไปเริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าแบบเรียนภาษาไทยชุดเดิมมีเนื้อหาไม่ทันยุคสมัย จึงปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 อ่านอย่างสนุกสนานและอยากเรียนภาษาไทย ซึ่งรัชนีใช้เวลาเขียนนานกว่า 4 ปี โดยจำลองจากชีวิตจริงและสถานที่จริงในอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี

ตัวละครของเรื่องมีบุคลิกและแง่มุมแตกต่างกัน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ชีวิตที่หลากหลายพร้อมๆ กับหลักสูตรภาษาไทย เช่น มานะ รักเผ่าไทย พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน มีผลการเรียนดี เป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียนที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ เมื่อจบการศึกษาชั้น ป.6

มานี รักเผ่าไทย น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้น ป.6 เพื่อนๆ เลือกตั้งเธอเป็นรองประธานนักเรียน

ปิติ พิทักษ์ถิ่น เลี้ยงม้าชื่อ เจ้าแก่ ต่อมาตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสินเป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่และตั้งชื่อว่า เจ้านิล

ชูใจ เลิศล้ำ เพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็กเพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและต่อมาเดินทางกลับมารับลูกสาวไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกอยู่กับย่าต่อไป

วีระ ประสงค์สุข มีพ่อเป็นทหาร แต่เสียชีวิตระหว่างรบตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจและเสียชีวิตหลังจากคลอดวีระได้ 15 วัน ทำให้เขาต้องอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด และเลี้ยงลิงแสมชื่อ เจ้าจ๋อ

เพชร เกิดในครอบครัวยากจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกเข้าปักงูในอุโมงค์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อน แต่ภายหลังแม่ของเขาถูกงูกัดเสียชีวิต ขณะเข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่า

จันทร เป็นเด็กหญิงพิการขาลีบข้างหนึ่ง เธอได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนโรงเรียนร้องเพลง “ความฝันอันสูงสุด” และอ่านทำนองเสนาะถวายเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทานรับเธอไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งหายเป็นปกติ

คุณครูไพลิน เป็นครูประจำชั้นตั้งแต่ชั้น ป.1-3 เมื่อคราวไฟไหม้ตลาด เธอมีโอกาสพบ ทวีป เกษตรอำเภอเป็นครั้งแรก และต่อมาลูกศิษย์ของเธอเป็นสื่อนำพาให้รู้จักคุ้นเคย และแต่งงานกันในที่สุด

ปี 2524 กระทรวงศึกษาธิการของไทยอนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ใช้แบบเรียนชุดนี้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน

ปี 2537 อัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก มีเพลงชื่อ มานี (Manee) เนื้อเพลงส่วนหนึ่งมาจากบทร้อยแก้วในแบบเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

อาจารย์รัชนี เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2473 ขณะเข้ารับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย ได้รับมอบหมายจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขียนเรื่องประกอบหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งก็คือ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” รวมทั้งมีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ทางช้างเผือก” และ “เรื่องชื่นใจ” ร่วมกับสำนักพิมพ์ในเครือนิตยสาร a day

อาจารย์รัชนีถึงแก่กรรมด้วยโรคหลอดเลือดอุดตัน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 วัย 84 ปี และแม้ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” กลายเป็นแบบเรียนเก่าๆ แต่ชื่อเด็กหญิง “มานี” กลับมามีชีวิตหลายครั้ง เป็นแบรนด์ร้านอาหารสไตล์วินเทจ ทั้งร้านชาบู “มานีมีหม้อ” และร้านเครื่องดื่ม-ขนมหวาน “มานีมีนม” ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักที่มาที่ไปของแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้เรื่อยมา.

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567

พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ประวัติย่อ

 พระเจ้าวาริหู หรือ พระเจ้าฟ้ารั่ว 

เป็นปฐมกษัตริย์ในเมืองเมาะตะมะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศพม่า ทรงครองราชสมบัติระหว่าง ค.ศ. 1287 ถึง 1307 พระองค์มีพระปรีชาสามารถทั้งด้านการต่างประเทศและการทหาร ทรงปกครองอาณาจักรมอญในพม่าตอนล่างช่วงการล่มสลายของอาณาจักรพุกามประมาณปี ค.ศ. 1280 กระทั่งพระองค์ถูกปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1307 แต่สายราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากพระองค์ก็ปกครองราชอาณาจักรหงสาวดีจนกระทั่งล่มสลายในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

พระเจ้าฟ้ารั่วประสูติ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1253 โดยมีพระนามเดิมว่า มะกะโท (แมะกะตู) ต่อมาใน ค.ศ. 1272 ขณะพระชนมายุได้ 19 พรรษาก็ติดตามบิดาไปค้าขายที่อาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนบานเมือง กษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์พระร่วง พระองค์ได้เข้ารับราชการในราชสำนักสุโขทัยโดยเริ่มจากตำแหน่งควาญช้างกระทั่งทำความดีความชอบเรื่อยมาจนได้รับปูนบำเหน็จเป็นขุนวังในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง และมีใจผูกพันรักใคร่กับเจ้านางสร้อยดาว พระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและได้พาเจ้านางสร้อยดาวหนีไป

ใน ค.ศ. 1285 เมื่อพระองค์ออกจากสุโขทัยกลับมายังเมาะตะมะ ได้มีเรื่องกระทบกระทั่งกับอลิมามาง เจ้าเมืองเมาะตะมะที่ราชสำนักพุกามส่งมาปกครอง ในที่สุดพระองค์สามารถสังหารอลิมามางสำเร็จ พร้อมกับสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์ และประกาศอิสรภาพจากอาณาจักรพุกามเมื่อ ค.ศ. 1287 เมื่อสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์เมืองเมาะตะมะแล้ว พระองค์ได้ส่งพระราชสาส์นมาขอขมาพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้พระราชทานอภัยโทษ และได้พระราชทานพระนามกษัตริย์มะกะโท ตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว แต่ชาวมอญเรียกว่า พระเจ้าวาโรตะละไตเจิญภะตาน หรือ สมิงวาโร พระองค์ใช้เวลาเกือบสิบปีจัดการศัตรูทางการเมืองจนหมดสิ้น กระทั่งสามารถรวบรวมแผ่นดินมอญให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จใน ค.ศ. 1296 พระองค์ยังได้รับการยอมรับจากราชวงศ์หยวนของจีนในปี ค.ศ. 1298

พระเจ้าฟ้ารั่วเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1307 เนื่องจากถูกปลงพระชนม์โดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าตะยาพยาแห่งกรุงหงสาวดี อดีตพันธมิตรของพระเจ้าฟ้ารั่ว เพื่อแก้แค้นให้กับพระบิดาที่ถูกพระเจ้าฟ้ารั่วจับสำเร็จโทษ และเนื่องจากพระเจ้าฟ้ารั่วสวรรคตโดยไร้รัชทายาททำให้มะกะตาพระอนุชาได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมาเป็นพระเจ้ารามประเดิด

มะกะโท

มะกะโท เป็นมอญหนุ่มที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในพงศาวดารไทยสมัยพระร่วง เข้ามารับราชการอยู่กรุงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงชุบเลี้ยงให้ได้ดิบได้ดีเป็นถึงกรมวัง พอโอกาสเหมาะ มักกะโทได้แอบพาพระราชธิดาหนีไปเมืองมอญ แต่แทนที่พ่อขุนรามคำแหงจะทรงกริ้ว กรีฑาทัพไปตาม พระร่วงเจ้ากลับทรงเห็นว่าเป็นบุพเพสันนิวาส ทั้งยังทรงอวยพรให้มอญหนุ่มและพระราชธิดาประสบแต่ความสุขสวัสดี

มะกะโทเป็นบุตรชาวบ้านธรรมดา อยู่ที่ตำบลตะเกาะวุ่น เมืองเมาะตะมะ ในรามัญประเทศ ได้ยกกองคาราวานเดินทางค้าขายกับเมืองสุโขทัย วันหนึ่งมะกะโทพร้อมกับลูกหาบ ๓๐ คนหาบสินค้ามาถึงเชิงเขานวรัตนคีรี ขณะนั้นก็ไม่ใช่ฤดูฝน แต่เกิดฝนตกฟ้าร้อง อสุนีบาตได้ผ่าลงมาที่ปลายไม้คานของมะกะโทจนแตกหัก ส่วนตัวเขากลับไม่ได้รับอันตราย เมื่อมะกะโทแหงนขึ้นมองดูท้องฟ้า ก็เห็นแสงฟ้าเป็นปราสาทราชมณเฑียรประดับด้วยราชวัตรฉัตรธง ทำให้มะกะโทประหลาดใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นนิมิตดีร้ายประการใด

ครั้นเดินทางไปถึงหมู่บ้าน มะกะโทจึงไปกราบกรานโหราจารย์ที่ชาวบ้านนับถือ ขอให้ช่วยทำนายนิมิต โหราจารย์เฒ่ารู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีบุญวาสนา จะได้เป็นใหญ่ในวันหน้า จึงบอกกับมะกะโทว่า นิมิตที่ได้เห็นนั้นเป็นสิริสวัสดิ์มงคลใหญ่หลวงยิ่งนัก ท่านจงนำเงินทองมากองให้สูงเสมอจอมปลวก เป็นการคำนับบูชาครูเราก่อนเราจะทำนายให้ มะกะโทก็คิดว่าสินค้าที่นำมาขายครั้งนี้ ถึงจะขายหมดก็ยังได้เงินไม่มากขนาดนั้น แต่ทำอย่างไรจึงจะได้เงินทองให้สูงเสมอจอมปลวก เมื่อใช้ปัญญาไตร่ตรองแล้ว มะกะโทก็ถอดแหวนที่นิ้วนำไปวางไว้เหนือจอมปลวก บอกโหราจารย์ว่า ได้บูชาคำนับครูของท่านด้วยทองเสมอจอมปลวกแล้ว ขอท่านได้เมตตาทำนายนิมิตให้ข้าพเจ้าเถิด

โหราจารย์เห็นดังนั้นก็คิดว่า บุรุษหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีปัญญาเฉียบแหลมยิ่งนัก จึงทำนายนิมิตว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ มะกะโทจะได้เป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองใหญ่โต มีอานุภาพมาก ฉะนั้นอย่าได้ค้าขายอยู่เลย จงอุตส่าห์หาช่องทางเข้าทำราชการเถิด จะได้เป็นใหญ่มียศศักดิ์รุ่งเรือง มะกะโทกับบริวารทั้งหลายได้ฟังก็ดีใจ ก้มลงกราบขอบพระคุณโหราจารย์

ครั้นขายของเที่ยวนั้นหมดแล้ว มะกะโทก็พาบริวารไปฝากไว้กับบ้านคนชอบพอกัน แล้วหาช่องเข้าทำราชการ จนได้ฝากตัวกับนายช้างพระที่นั่งโรงใน ซึ่งเป็นมงคลคเชนทร์ตัวโปรดของสมเด็จพระร่วงเจ้า ช่วยดูแลรักษาเก็บกวาดมูลช้างล้างโรงให้สะอาด นายช้างก็มีความเมตตารักใคร่มะกะโทเรียกใช้สอยอยู่ทุกวัน

สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไปที่โรงช้างนั้นเป็นประจำ ทรงแปลกพระทัยที่เห็นโรงช้างสะอาดเรียบร้อยผิดกว่าแต่ก่อน จึงรับสั่งถามนายช้าง ได้ความว่ามีมอญน้อยคนหนึ่งมาขออาศัยช่วยปัดกวาดทำความสะอาด พระร่วงจึงรับสั่งให้นายช้างเลี้ยงมอญน้อยผู้นี้ให้ดี

อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงเสด็จโรงช้าง ประทับบนพระที่นั่งใกล้ช่องพระแกล โผล่พระพักตร์ออกไปบ้วนพระโอษฐ์ เห็นเบี้ยอันหนึ่งตกอยู่ จึงตรัสเรียกมะกะโทว่า มอญน้อยจงมาเก็บเบี้ยนี้ไป มะกะโทคลานเข้าไปถวายบังคมแล้วเก็บเบี้ยนั้นไว้ มีความดีใจว่าได้รับพระราชทานเบี้ย จึงหมอบเฝ้าอยู่หน้าพระที่นั่งจนเสด็จกลับ

มะกะโทคิดไตร่ตรองว่าจะนำเบี้ยพระราชทานนี้ไปทำประการใด ให้เกิดผลสมกับเป็นเบี้ยมงคล ในที่สุดก็เห็นว่าควรจะนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาปลูก แต่แม่ค้าบอกว่าเบี้ยเดียวไม่รู้ว่าจะขายให้ได้อย่างไร มะกะโทจึงว่าขอเพียงจิ้มนิ้วลงไป เมล็ดผักติดมาแค่ไหนก็แค่นั้น แม่ค้าก็ยอมตามที่ว่า มะกะโทจึงเอานิ้วจุ่มน้ำลายในปากก่อนที่จะจุ่มลงในกระบุงเมล็ดผักกาด จึงมีเมล็ดพันธุ์ติดนิ้วขึ้นมาไม่น้อย แม่ค้าเห็นดังนั้นก็ชมว่ามอญน้อยผู้นี้ฉลาดเฉียบแหลมยิ่งนัก

มะกะโทขุดดินยกแปลงขึ้นข้างโรงช้าง เอามูลช้างผสมลงเป็นปุ๋ย เอาเมล็ดพันธุ์ผักติดนิ้วโรยลงไป ไม่ช้าผักก็ขึ้นงอกงาม ครั้นพระร่วงเสด็จมาโรงช้าง มะกะโทจึงถอนผักกาดถวาย มีรับสั่งถามว่ามอญน้อยได้พันธุ์ผักมาอย่างไร มะกะโทก็ทูลไปตามความเป็นจริง พระร่วงเจ้าทรงเห็นว่ามอญน้อยผู้นี้ปัญญาเฉียบแหลมสมควรจะเลี้ยงไว้ จึงขอตัวมะกะโทจากนายช้าง ให้เข้าไปรับราชการเป็นพวกวิเสทเครื่องต้นในพระราชวัง

ต่อมามะกะโททำความดีความชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ในพงศาวดารรามัญกล่าวว่า สมเด็จพระร่วงเจ้าโปรดเกล้าฯเลื่อนมะกะโทขึ้นเป็นขุนวัง มีตำแหน่งในกรมวัง

ครั้นอยู่มาเกิดกบฏขึ้นที่หัวเมืองชายแดน สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จกรีธาทัพออกไปปราบกบฏด้วยพระองค์เอง ตรัสสั่งให้มะกะโทกรมวังอยู่เฝ้าพระนคร ในช่วงเวลานี้ นางสุวรรณเทวี ราชธิดาของพระร่วงเจ้าได้เกิดจิตปฏิพัทธ์ผูกเสน่หากับมะกะโทขึ้น การลอบรักใคร่ของมะกะโทกับพระราชธิดานี้ข้าราชการทั้งปวงต่างก็รู้ แต่เห็นว่าพระร่วงทรงโปรดปรานมะกะโทมาก ทุกคนจึงพากันเกรงกลัว ไม่มีใครกล้าว่ากล่าวตำหนิ

ฝ่ายมะกะโทกับนางสุวรรณเทวี ก็สำนึกว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นความผิด ถ้าพระร่วงเจ้ากลับมาอาจจะต้องได้รับพระราชอาญา จึงปรึกษากันที่จะหนีไปเสียก่อน พระราชธิดาได้รวบรวมแก้วแหวนเงินทองทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทาน ส่วนมะกะโทก็เกลี้ยกล่อมผู้คนข้าทาสได้ ๓๐๐ คนเศษ พาพระราชธิดาขึ้นช้างหนีออกจากกรุงสุโขทัยไปทางด่านกะมอกะลก รีบเดินทางกันทั้งกลางวันและกลางคืน พอบรรดาเสนามาตย์รู้ว่ามะกะโทพาพระราชธิดาหนีไปก็พากันออกติดตาม แต่มะกะโทก็พาพระราชธิดาหนีข้ามแดนไปได้ จึงต้องพากันกลับมารอฟังพระราชโองการดำรัสสั่งของพระร่วงเจ้าต่อไป

มะกะโทพาพระราชธิดาและผู้คนไปที่บ้านตะเกาะวุ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน และยกย่องพระราชธิดาอย่างสูงส่ง กับจัดที่อยู่ที่ทำกินแก่บริวารทั้งกว่า ๓๐๐ คนนั้นให้มีสุขกันถ้วนหน้า

เมื่อพระร่วงเจ้าทรงปราบกบฏราบคาบ ยกทัพกลับพระนคร เสนาอำมาตย์ทั้งปวงจึงนำความเรื่องมะกะโทพาพระราชธิดาหนีไปกราบทูลให้ทรงทราบ แต่พระร่วงเจ้ากลับไม่พิโรธอย่างที่พากันคาดคิด ตรัสว่า เรารู้มาแต่เดิมแล้ว มอญน้อยผู้นี้มีลักษณะดี นานไปภายหน้าจะมีบุญได้เป็นใหญ่ เราจึงมีความรักใคร่เหมือนบุตร ถ้าเราจะสาปแช่งให้เป็นอันตราย หรือยกกองทัพติดตามไปจับมาลงทัณฑ์ก็ทำได้ทุกประการ แต่จะเป็นเวรกรรมแก่เรา แลเสียเกียรติยศของบ้านเมือง เป็นที่อัปยศแก่นานาประเทศ ซึ่งมอญน้อยพาธิดาเราไป หากตั้งตัวเป็นใหญ่ได้เมื่อใด ก็คงจะต้องแต่งตั้งให้ธิดาเราเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น จะเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย อนึ่ง บุพเพสันนิวาสแห่งธิดาเรากับมอญน้อยนั้น ก็ได้อบรมกันมาแต่ชาติปางก่อนแล้ว จึงให้มีจิตปฏิพัทธ์ต่อกันดังนี้ เพราะเหตุนี้ เราจึงจะอวยพรแก่มอญน้อยแลธิดาเรา อย่าให้มีภัยอันตรายใดๆ ให้เกิดความสิริสุขสวัสดีด้วยกันเถิด คำอำนวยอวยพรของพระร่วงเจ้าผู้มีวาจาสิทธิ์นี้ จึงได้ส่งผลแก่มะกะโทต่อไปตั้งแต่พาพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย มาอยู่บ้านตะเกาะวุ่นแล้ว มะกะโทก็มีสง่าราศีเกิดสิริมงคลยิ่งขึ้น ด้วยนางนั้นเป็นราชธิดาของกษัตริย์ผู้มีราชอิสริยยศยิ่งใหญ่ พวกชาวบ้านชาวเมืองต่างพากันเกรงกลัวรักใคร่ในมะกะโทและพระราชธิดา พากันมาสวามิภักดิ์ฝากตัวเป็นให้ใช้สอยมากขึ้นทุกที นับเป็นจำนวนได้หลายพันหลายหมื่น มะกะโทนั้นเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด จึงช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้ชนทั้งหลาย จนบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติมีความสุขกันถ้วนหน้า จึงเป็นที่นับถือแก่ชนทั่วไป

ครั้นมะกะโทเห็นว่ามีผู้ให้ความนับถือรักใคร่ตนมากแล้ว จึงประกาศเกลี้ยกล่อมทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ในรามัญประเทศ ให้ร่วมสามัคคีรวมน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อรวบรวมผู้คนเข้ามาอยู่ในอำนาจตนได้มากแล้ว มะกะโทก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติ ณ เมืองเมาะตะมะ

แม้ชนทั่วไปจะยินดีถวายพระพรชัยแก่กษัตริย์องค์ใหม่ แต่พระเจ้ามะกะโทก็หาได้ทำพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระนามไม่ ด้วยระลึกถึงพระเดชพระคุณของสมเด็จพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย จึงได้แต่งพระราชสาสน์ลงในสุพรรณบัตร แลจัดเครื่องมงคลราชบรรณาการให้อำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นราชทูต นำพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ณ กรุงสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้อำมาตย์นำราชทูตจากเมืองเมาะตะมะเข้าเฝ้า มีรับสั่งให้อ่านพระราชสาสน์มีข้อความว่า

“ข้าพระบาทผู้ชื่อว่ามะกะโท เป็นข้าสวามิภักดิ์ใต้พระบาทมุลิกากรของพระองค์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ผ่านพิภพกรุงสุโขทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาของพระองค์ ขอโอนอุตมงคเศียรเกล้ากราบถวายบังคมมาแทบพระยุคลบาทบงกชมาศของพระองค์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณชุบเลี้ยงข้าพระบาททั้งสองให้มีความร่มเย็นเป็นสุข พระเดชพระคุณปกป้องอยู่เหนือเกล้าข้าพระองค์ทั้งสองหาที่เปรียบให้สิ้นสุดมิได้ ด้วยเผอิญบุพเพสันนิวาสแห่งข้าพระบาททั้งสองมาดลบันดาลให้มีปฏิพัทธ์จิตต่อกัน ข้าพระองค์ได้ละเมิดล่วงพระราชอาญาพาพระราชธิดาของพระองค์มา โทษานุโทษมีแก่ข้าพระองค์เป็นล้นเกล้าฯ แต่บัดนี้ด้วยเดชะพระบารมีบรมเดชานุภาพของพระองค์ปกแผ่อยู่เหนือเกล้าฯข้าพระองค์ทั้งสอง ชนทั้งปวงจึงยินดีพร้อมกันอัญเชิญข้าพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติในเมืองเมาะตะมะ เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั่วไป เพราะฉะนี้ข้าพระองค์ขอพระราชทานโทษานุโทษซึ่งมีผิดมาแต่หลัง ขอพระบารมีของพระองค์เป็นที่พึ่งสืบไป ขอได้ทรงประสาทพระราชทานนามกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ประการแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ครองราชย์ใหม่ เพื่อเป็นสวัสดิชัยมงคลแก่ข้าพระองค์ทั้งสองสืบไป เมืองเมาะตะมะนี้จะได้เป็นสุพรรณปฐพีแผ่นเดียวกับกรุงสุโขทัย อยู่ใต้พระเดชานุภาพของพระองค์สืบต่อไปจนตลอดกัลป์ปาวสาน”

สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงทราบความในพระราชสาสน์แล้วก็มีพระทัยยินดี ตรัสสรรเสริญว่า มะกะโทมอญน้อยผู้นี้ เราได้ทำนายไว้แล้วว่าสืบไปจะมีบุญญาธิการ บัดนี้ได้เป็นกษัตริย์ครองรามัญประเทศแล้ว ต่อไปภายหน้านอกจากเราผู้เดียวแล้ว จะหากษัตริย์อื่นมีบุญยิ่งกว่ามะกะโทนี้มิได้ พระองค์จึงทรงพระราชทานพระนามให้มะกะโทว่า “พระเจ้าวาริหู” หรือ “ฟ้ารั่ว” หมายถึงหล่นมาจากฟ้า กับพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับกษัตริย์ ๕ ประการคือพระขรรค์ ๑ ฉัตร ๑ พระมหามงกุฎ ๑ ฉลองพระบาท ๑ พัดวาลวิชนี ๑ และโปรดพระราชทานพระราโชวาทแก่ราชทูตไปว่า ให้แผ่นดินเมาะตะมะอยู่ในทศพิธราชธรรม บำรุงปกครองแผ่นดินโดยยุติธรรม ให้ตั้งใจรักใคร่ราษฎรพลเมืองดุจบุตรในอุทร และทรงประสาทพระพรว่า ให้เจ้าแผ่นดินเมาะตะมะปราศจากภัยอันตรายทั้งภายนอกภายใน ให้ครองราชย์สมบัติเป็นสุขเจริญสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ

เมื่อราชทูตนำความกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมาะตะมะได้ทรงทราบ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการแล้ว พระเจ้ามะกะโทก็ทรงโสมนัสยินดี ผินพระพักตร์ไปทางทิศเมืองสุโขทัย กราบถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้า ระลึกพระคุณของพระองค์อันยิ่งใหญ่เหลือล้นไม่มีที่สิ้นสุด ได้พระนามว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” ตั้งแต่บัดนั้น

ในประวัติศาสตร์พม่าซึ่งเรียกมะกะโทว่า “มะกะทู” กล่าวว่า มะกะทูมีบิดาเป็นไทย มารดาเป็นมอญ เกิดที่เมืองสะเทิม เป็นนักผจญภัย เมื่อพม่าปราบกบฏพวกมอญ มะกะทูได้หนีมาอยู่กรุงสุโขทัย เข้ารับราชการกับพ่อขุนรามคำแหง และได้เป็นนายกองช้าง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๑๘๒๓ มะกะทูได้พาพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงหนีไปเมาะตะมะ มะกะทูได้เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองเมาะตะมะให้เป็นกบฏ ในขณะที่พม่ากำลังรบติดพันกับพวกมองโกล แต่เจ้าเมืองเป็นคนนิยมพม่าจึงไม่ยอม มะกะทูได้ฆ่าเจ้าเมืองแล้วประกาศตัวเป็นกษัตริย์แห่งเมาะตะมะ ทรงพระนามว่า “วาเรรุ” ซึ่งแปลว่า “กษัตริย์ที่หล่นมาจากฟ้า”

ในปี พ.ศ.๑๘๓๐ พม่าอ่อนอำนาจลง เจ้าเมืองหงสาวดี (พะโค) ซึ่งเป็นมอญได้ประกาศตนเป็นกษัตริย์อีกองค์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าตละพญา ผูกสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกับพระเจ้าวาเรรุ กษัตริย์มอญทั้ง ๒ องค์ได้ร่วมกับเจ้าฟ้าไทยใหญ่ เข้ารบกับพม่าและเป็นฝ่ายมีชัย ได้ครอบครองดินแดนพม่าตอนใต้ไว้ได้ทั้งหมด

ต่อมาพระเจ้าวาเรรุกับพระเจ้าตละพญาก็แตกคอจนรบพุ่งกันเอง พระเจ้าตละพญาเป็นฝ่ายแพ้ถูกประหาร พระเจ้าวาเรรุเลยสถาปนาราชอาณาจักรมอญขึ้นในพม่าตอนใต้ โดยมีเมาะตะเป็นเมืองหลวง จากนั้นก็ส่งทูตไปขอพระราชทานอภัยโทษพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการแด่พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทางสุโขทัยก็รับเครื่องราชบรรณาการและพระราชทานช้างเผือก ๑ เชือกเป็นของขวัญ

พระเจ้าวาเรรุได้ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตเพื่อชำระกฎหมายของมอญขึ้นแทนการใช้กฎหมายพม่าอย่างแต่ก่อน ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่นี้มีชื่อเรียกกันต่อมาว่า “ประมวลกฎหมายวาเรรุ”

แต่อย่างไรก็ตาม วัฏจักรของการชิงอำนาจก็เวียนมา พระเจ้าวาเรรุได้ถูกพระราชนัดดาองค์หนึ่งของพระเจ้าตละพญาปลงพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๘๓๙บ้างก็ว่า มะกะโทผู้มีบุญบารมีราวกับฟ้ารั่วหล่นลงมา เสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๙ ครองราชย์อยู่ ๒๓ ปี สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๑๘๕๒

มะกะโท

 ราชาธิราช ตอน กำเนิดมะกะโท

"มะกะโท เป็นบุตรชายของมะปะนาย บิดาของเขาเป็นพ่อค้าใหญ่ที่บ้านเกาะวาน แขวงเมืองเมาะตะมะ มะกะโท มีน้องสาวชื่อนางอุ่นเรือน มีน้องชายชื่อ มักกะตา เมื่ออายุได้สิบสี่สิบห้าปี บิดาของเขาเสียชีวิต มะกะโทจึงได้เป็นพ่อค้าตั้งแต่อายุยังน้อย วันหนึ่งมะกะโทพร้อมด้วยลูกหาบ เดินทางไปค้าขายที่เมืองสุโขทัย ระหว่างทางเขาได้พบเหตุการณ์ประหลาดมหัศจรรย์หลายอย่าง มะกะโทจึงเดินไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เพื่อหาบัณฑิตผู้รู้ ให้ทำนายเหตุการณ์ประหลาด นั้น..."

…ในบ้านนั้นมีผู้ใหญ่เป็นบัณฑิตผู้หนึ่ง มีสติปัญญา รู้ทำนายนิมิต มะกะโทจึงแต่งเครื่องสักการบูชาอันสมควรแล้ว ก็ไปหาผู้นั้น จึงแจ้งนิมิตอันเป็นมหัศจรรย์ให้ฟังทุกประการ ผู้รู้ทำนายนิมิตนั้นจึงว่าแก่มะกะโทว่า นิมิตของท่านนี้ใหญ่หลวงนัก จงเอาทรัพย์มากองลงสูงเพียงศีรษะเมื่อใดแล้ว เราจึงจะทำนายให้แก่ท่าน มะกะโทจึงคิดแต่ในใจว่า ครั้งนี้เรามาในที่กันดาร มีเงินอยู่แต่สามสิบบาทจะทำเป็นประการใด ในเมื่อขณะคิดอยู่นั้น พอมะกะโทแลเห็นจอมปลวกอันหนึ่ง อยู่ในที่นั้นสูงเทียมศีรษะ มะกะโทคิดขึ้นได้ด้วยอุบายปัญญา จึงเอาเงินตราสามสิบบาทวางขึ้นบนจอมปลวก กระทำสักการบูชาแล้วจึงบอกแก่ผู้ทำนายนิมิตนั้นว่า ข้าพเจ้าบูชาแล้ว ผู้ทำนายนั้นจึงคิดว่าบุรุษผู้นี้มีปัญญาฉลาดในอุบายยิ่งนัก ควรที่จะมีบุญอยู่แล้วจึงทำนายว่าแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า หาบไม่ต้องบ่าท่านแล้ว ซึ่งจะค้าขายสืบไปนั้นท่านอย่าได้กระทำเลยหาเป็นประโยชน์ไม่ ท่านจงอาสาท้าวพระยาเถิด ซึ่งว่าฝ่าย บุรพทิศเห็นเป็นแสงอรุณสว่างขึ้น จะมีพระมหากษัตริย์ องค์หนึ่งในทิศตะวันออก จะอนุเคราะห์ตกแต่งให้มียศถาบรรดาศักดิ์แก่ท่านเป็นประถมก่อน และซึ่งฝ่ายประจิมทิศ สายฟ้าแลบขึ้นเห็นวิมานและปรางค์ปราสาทปรากฏแก่ตานั้น ท่านจะได้เป็นใหญ่ในทิศตะวันออก จะมีบุญญาธิการ ทรงศักดานุภาพเป็นอันมาก ท่านอย่าได้สงสัยเลย


"มะกะโทครั้นได้ฟังคำทำนาย ก็มีความยินดี จึงอำลาบุรุษผู้นั้น ยกออกจากบ้านมะเตวะ ก็มายังเมืองสุโขทัย ให้ลูกค้าหาบเที่ยวขายสิ่งของ ครั้นขายสิ่งของเสร็จแล้ว ก็ให้ลูกค้าทั้งปวงกลับคืนไปยังเมืองเมาะตะมะ แต่ตัวมะกะโทนั้น เชื่อคำทำนายนิมิต มิได้กลับคืนไป จึงเที่ยวหาที่พึ่งซึ่งจะ ผูกพันอาศัยนั้น จึงคิดว่าถ้าเราจะไปฝากตัวอยู่ด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่บัดนี้เล่า ก็ยังหาผ้านุ่งห่มที่ดีมิได้ จึงเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยนายช้างพระเจ้าสุโขทัย มะกะโทอุตสาหะมิได้เกียจคร้าน ช่วยชำระมูลช้าง ทอดหญ้าช้างทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด นายช้างเห็นมะกะโทมีความอุตสาหะก็รักใคร่เป็นอันมาก ครั้นนายช้างได้รับพระราชทานเงินเดือนครั้งใด ก็แบ่งปันให้มะกะโท ทุกครั้ง

อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไป ณ โรงช้าง ขึ้นทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งอยู่บนเกย ทอดพระเนตรเห็นมะกะโทกวาดหญ้าช้างอยู่ จึงตรัสถามนายช้างว่า อ้ายคนนี้เป็นบุตรของผู้ใด นายช้างจึงกราบทูลสมเด็จพระร่วงเจ้าว่า มะกะโทคนนี้ เป็นบุตรรามัญเข้ามาอยู่ด้วยข้าพระพุทธเจ้า ช่วยทอดหญ้าช้างและชำระมูลช้าง มีความอุตสาหะเป็น อันมาก สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพระเมตตาแก่มะกะโท จึงตรัสสั่งนายช้างให้เลี้ยงดูมะกะโทไว้อย่าให้ขัดสน เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรช้างอยู่นั้น คายพระสลาออก แล้วบ้วนพระโอษฐ์ลงเหนือแผ่นดิน ๆ กระจายออกไป ทอดพระเนตรเห็นเบี้ย ๆ หนึ่ง จึงตรัสว่าลูกรามัญน้อยจงเก็บเอาเบี้ย ๆ หนึ่งไว้ มะกะโทกราบถวายบังคมแล้วจึงเก็บเอาเบี้ยตามรับสั่ง ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรช้างแล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง ฝ่ายมะกะโทได้เบี้ย ๆ หนึ่งก็มีความยินดีนัก จึงคิดว่าแต่เรามาอยู่ทำราชการด้วยนายช้าง พึ่งได้รับพระราชทานใน วันนี้ เบี้ย ๆ เดียวนี้จะทำกระไรดี อย่าเลยจะเอาไปซื้อพันธุ์ผักกาดมาปลูกไว้ มะกะโทคิดแล้ว จึงเอาเบี้ยไปซื้อพันธุ์ ผักกาด เจ้าของพันธุ์ผักกาดจึงว่าเบี้ยของเจ้าเบี้ยเดียวนี้ เรามิรู้ที่จะตวงพันธุ์ผักกาดให้ มะกะโทจึงว่าเบี้ยของเราเบี้ยนี้ เราเอาแต่พอติดนิ้วเดียว เจ้าของพันธุ์ผักกาดจึงว่าเอาเถอะ มะกะโทจึงเอานิ้วมือชุบเขฬะแล้วก็จิ้มลงในกระทายพันธุ์ ผักกาดนั้น ฝ่ายเจ้าของพันธุ์ผักกาดจึงสรรเสริญแต่ในใจว่า บุตรรามัญ ผู้นี้มีปัญญาฉลาดนัก นานไปจะได้เป็นผู้ดีมั่นคง

ฝ่ายมะกะโทได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้ว จึงมาขุดดินกระทำที่ด้วยมูลช้างจึงปลูกเมล็ดพันธุ์ ผักกาดไว้ อุตส่าห์บำรุงรดน้ำก็งอกเงยขึ้น ครั้นอยู่มา พระร่วงเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตรช้างอีกครั้งหนึ่งมะกะโทจึงเลือกเก็บพันธุ์ผักกาดมาชำระเสียให้หมดมูลดินแล้ว จึงขอยืมโต๊ะพานนายช้างใส่พันธุ์ผักกาด นำเข้าถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ๆ จึงตรัสถามว่า เอ็งได้พันธุ์ผักกาดนี้ มาแต่ไหน มะกะโทจึงกราบทูลว่าเบี้ยซึ่งพระองค์พระราชทานข้าพระพุทธเจ้าเบี้ยหนึ่งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเอาไปซื้อพันธุ์ ผักกาดมาปลูก จึงได้นำมาทูลเกล้า ฯ ถวาย สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงดำริว่า บุตรรามัญน้อยนี้ฉลาด ประกอบด้วยความเพียร จะเอาไปเลี้ยงไว้ใกล้เราจึงจะชอบ จึงตรัสแก่นายช้างว่า ลูกรามัญน้อยนี้เราจะขอไปเลี้ยงไว้ นายช้างก็ถวายมะกะโทไปแก่สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงมอบให้ไปอยู่ด้วยหัวป่าก์พ่อครัว มะกะโทครั้นไปอยู่ด้วย พ่อครัวก็มิได้เกียจคร้าน สมเด็จพระร่วงเจ้า ครั้นเห็นมะกะโทอุตสาหะเป็นอันดี ก็ชอบพระอัชฌาสัยจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นขุนวัง มอบให้ว่ากล่าวในนอกพระราชวัง สมเด็จ พระร่วงเจ้าทรงพระเมตตานักดุจหนึ่งบุตรในอุทร มะกะโท ผู้เป็นขุนวังมีความอุตสาหะรักษาพระองค์กลางคืนเป็นกลางวัน พระร่วงเจ้าทรงพระเมตตายิ่งขึ้นไป ข้าราชการน้อยใหญ่ ทั้งปวง ก็มีความรักใคร่และยำเกรงแก่ขุนวังเป็นอันมาก"


วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2567

เลข ๐ ศูนย์ไทย อยู่ตรงไหน ????

 เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าคะ ว่าเลขศูนย์ ไทยอยู่ตรงไหน

 เชื่อว่าต้องมีคนเคยสงสัยบ้างหละ ว่ามั๊ย!! (หรือว่ามีแต่เราคนเดียว ^^) 

  เลขไทย ๑๒๓๔๕๖๗๘๙ ทุกคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนเลขศูนย์ไทยอยู่ตรงไม้ยมก ๆ ตัวบน ซึ่งถ้าเป็นแป้นภาษาอังกฤษก็จะตรงกับตัว Q 


เลข ๐ ศูนย์ไทยอยู่ตรงนี้ค่ะ 

จ.ศ. / ร.ศ. / พ.ศ. / ม.ศ.

 

ความสับสนของศักราช ไทยเคยใช้ทั้ง จ.ศ.- ร.ศ.ก่อนเป็น พ.ศ. 

แต่ พ.ศ.ของไทยก็ไม่ตรงกับ พ.ศ.ของหลายชาติ

“ศักราช” ก็คือสิ่งที่กำหนดขึ้นหรือสมมุติขึ้นตามแต่ที่มา โดยนับเวลาเป็นปี เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์เพื่อให้รู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด และเกิดก่อนหลังกันนานแค่ไหน

ในสมัยกรุงสุโขทัย เราใช้มหาศักราช (ม.ศ.) ซึ่งเป็นศักราชที่กำหนดขึ้นโดยพระเจ้ากนิษกะ แห่งอินเดีย โดยเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระองค์มีชัยต่อแว่นแคว้นโดยรอบใน พ.ศ.๖๒๒ เป็นมหาศักราชที่ ๑ มหาศักราชจึงมีขึ้นหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี และได้แพร่เข้ามาสู่สุวรรณภูมิพร้อมกับอารยธรรมอินเดีย ใช้ในย่านนี้มาก่อนกรุงสุโขทัย ปรากฏหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกต่างๆ

ส่วนจุลศักราช (จ.ศ.) ตั้งขึ้นโดยสังฆราชบุตุโสระหัน แห่งพม่า หลังจากที่สึกออกมาชิงราชบัลลังก์ได้ใน พ.ศ.๑๑๘๒ จากนั้นได้แพร่เข้าในล้านนา เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ มีการติดต่อกับพม่าอย่างใกล้ชิดในฐานะประเทศราช จุลศักราชจึงถูกนำมาใช้ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี ๒๑๑๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้รัตนโกสินทร์ศกแทนจุลศักราช

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งอาณาจักรสุโขทัย



พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
หรือพระนามเต็ม พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช (สวรรคต พ.ศ. 1841) เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง ปกครองอาณาจักรสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.1822 ถึง พ.ศ.1841 นับเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด

พระองค์ได้รับการยกย่องในการประดิษฐ์อักษรไทยและสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทให้เป็นศาสนาประจำชาติอย่างมั่นคง

พระราชประวัติ

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง โดยพระองค์มีพระเชษฐา 2 พระองค์และพระขนิษฐา 2 พระองค์ พระเชษฐาพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาพระองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า "พระยาบานเมือง" ซึ่งได้เสวยราชสมบัติต่อจากพระบรมชนกนาถ และเมื่อพ่อขุนบานเมืองได้เสด็จสวรรคตแล้ว พ่อขุนรามคำแหงจึงเสวยราชสมบัติต่อมา

ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย พญามังรายแห่งล้านนา และพญางำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุกทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพญามังรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามคำแหงก็น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้
พระนาม

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่ในบริเวณแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระบรมชนกนาถจึงทรงขนานพระนามว่า "พระรามคำแหง" ซึ่งแปลว่า "พระรามผู้กล้าหาญ"  ภายหลังเมื่อพระบรมชนกนาถได้เสด็จสวรรคต และพ่อขุนบานเมือง พระเชษฐาธิราช ได้เสวยราชสมบัติต่อมา พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ไปเป็นเจ้าเมืองครองเมืองศรีสัชนาลัย

ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า พระนามเดิมของพระองค์คือ เจ้าราม เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า "พ่อขุนรามราช" อนึ่ง สมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งตามพระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า "พระยาพระราม" และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดา ในเหตุการณ์การแย่งชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1962 ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปรากฏเจ้าเมืองพระนามว่า "พระยาบาลเมือง" และ "พระยาราม"

การเสวยราชย์
นายตรี อมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะเสวยราชย์ พ.ศ. 1820 เพราะเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาลที่สุโขทัย

ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต จึงได้หาหลักฐานมาประกอบพบว่า กษัตริย์ไทยอาหมถือประเพณีทรงปลูกต้นไทรตอนขึ้นเสวยราชย์อย่างน้อยเจ็ดรัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยงเหมือนต้นไทร อนึ่ง ต้นตาลและต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกา

พระราชกรณียกิจ
รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล
การเมืองการปกครอง

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ "พ่อปกครองลูก" ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า คำพูด"....เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู.."

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว

ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

1) ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือภาษีผ่านทาง

2) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร

3) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ พระองค์ก็จะทรงตัดสินด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้าง "พระแท่นมนังคศิลาบาตร" ขึ้นไว้กลางดงตาล เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน

เศรษฐกิจและการค้า
โปรดให้สร้างทำนบกักน้ำที่เรียกว่า “สรีดภงส์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยแนวคันดินที่เรียกว่า “เขื่อนพระร่วง” ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในยาม ที่บ้านเมืองขาดแคลนน้ำ

ทรงส่งเสริมการค้าขายอย่างเสรีภายในราชอาณาจักรด้วยการไม่เก็บภาษีผ่านด่านหรือ “จกอบ” (จังกอบ) จากบรรดาพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในกรุงสุโขทัย ดังคำจารึกบนศิลาจารึกว่า "เจ้าเมือง บ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง" นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ปรากฏว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งเสริมให้ชาวสุโขทัยนิยมการค้าขายนั้น ปรากฏตามศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า "เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า" อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ทรงเปิดเสรีทุกประการในการค้าขายทำให้การค้าขายขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนปรากฏแหล่งการค้าสำคัญในสุโขทัยได้แก่ "ตลาดปสาน" จากศิลาจารึกกล่าวว่า "เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัย มีตลาดปสาน"

ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจอย่าง "จีน" โดยนอกจากการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีตามปกติแล้ว ยังโปรดให้นำช่างจากชาวจีนมาเพื่อก่อตั้งโรงงานตั้งเตาทำถ้วยชามทั้งเพื่อใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงได้ด้วย ถ้วยชามที่ผลิตในยุคนี้เรียกว่า "ชามสังคโลก"
ศาสนาและวัฒนธรรมภาพด้านหลังธนบัตรไทยชนิดราคา 20 บาท (ชุดที่ 16) รูปพระบรมราชานุสาวรีย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แทนตัวอักษรขอมที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เมื่อ พ.ศ. 1826 เรียกว่า “ลายสือไทย” และได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยใช้มาจนถึงทุกวันนี้

โปรดให้จารึกเรื่องราวบางส่วนที่เกิดในสมัยของพระองค์ โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ทำให้คนไทยยุคหลังได้ทราบ และนักประวัติศาสตร์ได้ใช้ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นข้อมูลหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัย

ทรงรับเอาพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากลังกา ผ่านเมืองนครศรีธรรมราช มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย และเผยแผ่ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อพระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นที่นครศรีธรรมราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองนครศรีธรรมราชไปตั้งเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรุงสุโขทัยด้วย และนับเป็นการเริ่มการเจริญสัมพันธไมตรีกับลังกา อีกทั้งทรงได้สดับกิตติศัพท์ของ "พระพุทธสิหิงค์" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เจ้าราชวงศ์ลังกาสร้างขึ้นด้วยพระพุทธลักษณะที่งดงาม และมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงให้พระยานครศรีธรรมราช เจ้าประเทศราชแต่งสาส์นให้ทูตถือไปยังลังกา เพื่อขอเป็นไมตรีและขอพระราชทานพระพุทธสิหิงค์มาเพื่อเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองไทยสืบไป

อาณาเขต
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง คือ

ทิศตะวันออก ทรงปราบได้เมืองสรหลวงสองแคว (พิษณุโลก), ลุมบาจาย, สะค้า (สองเมืองหลังนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้), ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์และเวียงคำในประเทศลาว

ทิศใต้ ทรงปราบได้คนที (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร), พระบาง (นครสวรรค์), แพรก (ชัยนาท), สุพรรณภูมิ, ราชบุรี, เพชรบุรี, และนครศรีธรรมราช โดยมีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดนไทย

ทิศตะวันตก ทรงปราบได้เมืองฉอด,มีสมุทรเป็นเขตแดนไทย

ทิศเหนือ ทรงปราบได้เมืองแพร่, เมืองน่าน, เมืองพลัว (อำเภอปัว น่าน), ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) เป็นเขตแดนไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหง, พญางำเมือง, และพญามังราย ตามลำดับ

การใช้ความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านพระพุทธศาสนาแทนการทำสงคราม ทำให้สุโขทัยมีแต่ความสงบร่มเย็น ไม่เกิดสงครามกับแคว้นต่าง ๆ ในสมัยของพระองค์ และได้หัวเมืองประเทศราชเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทรงทำพระราชไมตรีกับพญามังรายมหาราชแห่งล้านนา และพญางำเมืองแห่งพะเยา โดยทรงยินยอมให้พญามังรายมหาราชขยายอาณาเขตล้านนาทางน้ำแม่กก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก เพื่อให้เป็นกันชนระหว่างจีนกับสุโขทัย กับทั้งยังได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือพญามังรายมหาราชหาชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 ด้วย

ทางอาณาจักรมอญ มีพ่อค้าชื่อ "มะกะโท" เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มะกะโทได้ผูกสมัครรักใคร่กับ "เจ้าเทพธิดาสร้อยดาว" พระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แล้วพากันหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ แล้วจึงขออภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขอพระราชทานนาม และขอยินยอมเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้พระราชทานนามว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว"

ทางทิศใต้ ได้ทรงอาราธนาพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎกมาจากนครศรีธรรมราช ให้มาเผยแพ่พุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย

ส่วนด้านเมืองละโว้นั้นทรงปล่อยให้เป็นเอกราชอยู่ เพราะปรากฏว่ายังส่งเครื่องบรรณาการไปจีนอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1834 ถึง พ.ศ. 1840 ทั้งนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็คงจะได้ทรงผูกไมตรีกับเมืองละโว้ไว้ นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเองก็ทรงส่งราชทูตไปจีนสามครั้งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ประดิษฐกรรมศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ ม.ศ. 1205 ตรงกับ พ.ศ. 1826 อักษรดังกล่าวเรียกว่า "ลายสือไทย" และทุกตัวอักษรดัดแปลงมาจากอักษรขอม

วรรณกรรม
วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น

...ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย...เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด

นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยอย่างไรก็ดี ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีข้อสงสัยทางวิชาการว่าศิลาจารึกดังกล่าวจะมิได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และมีผู้เสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพบศิลานั้นเมื่อเสด็จจาริกธุดงค์ เป็นผู้ทรงทำศิลานั้นขึ้นเพื่อเหตุผลทางการเมืองในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ชาติตะวันตกเห็นว่ามีและรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน เป็นการป้องปัดภัยการล่าอาณานิคมในสมัยนั้น ทั้งนี้ข้อสงสัยนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

สวรรคต
ตามบันทึกประวัติศาสตร์หยวนของจีน ได้บันทึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1841 และพระยาเลอไทย พระราชโอรสของพระองค์ จึงเสวยราชสมบัติต่อมา

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2567

มาตราชั่ง ตวง วัด ในระบบเมตริก อเมริกัน-อังกฤษ และไทย

 

มาตราชั่ง ตวง วัด ในระบบเมตริก อเมริกัน-อังกฤษ และไทย

หน่วยวัดความยาว

หน่วยวัดความยาวในระบบเมตริก
10 มิลลิเมตร       เท่ากับ     1 เซนติเมตร
10 เซนติเมตร     เท่ากับ     1 เดซิเมตร
10 เดซิเมตร       เท่ากับ     1 เมตร
100 เซนติเมตร   เท่ากับ     1 เมตร
10 เมตร              เท่ากับ     1 เดคาเมตร
10 เดคาเมตร      เท่ากับ     1 เฮกโตเมตร
10 เฮกโตเมตร    เท่ากับ     1 กิโลเมตร
1,000 เมตร          เท่ากับ     1 กิโลเมตร



หน่วยวัดความยาวในระบบอเมริกัน-อังกฤษ
12 นิ้ว         เท่ากับ     1 ฟุต
3 ฟุต          เท่ากับ     1 หลา
1,760 หลา เท่ากับ     1 ไมล์



หน่วยวัดความยาวในมาตราไทย
4 นิ้ว         เท่ากับ  1 ฝ่ามือ
3 ฝ่ามือ    เท่ากับ  1 คืบ
12 นิ้ว       เท่ากับ  1 คืบ
2 คืบ        เท่ากับ  1 ศอก
4 ศอก      เท่ากับ  1 วา
20 วา       เท่ากับ  1 เส้น
400 เส้น   เท่ากับ  1 โยชน์




การเปรียบเทียบในแต่ละระบบ
2.54 เซนติเมตร       เท่ากับ     1 นิ้ว
30.48 เซนติเมตร     เท่ากับ     1 ฟุต
1.6093 กิโลเมตร     เท่ากับ     1 ไมล์
2 เมตร                     เท่ากับ     1 วา
16 กิโลเมตร            เท่ากับ     1 โยชน์

หน่วยวัดพื้นที่
หน่วยวัดพื้นที่ในระบบเมตริก
100 ตารางมิลลิเมตร         เท่ากับ     1 ตารางเซนติเมตร
10,000 ตารางเซนติเมตร  เท่ากับ     1 ตารางเมตร
1,000,000 ตารางเมตร      เท่ากับ     1 ตารางกิโลเมตร



มาตราหน่วยวัดพื้นที่ในระบบอเมริกัน-อังกฤษ
144 ตารางนิ้ว         เท่ากับ     1 ตารางฟุต
9 ตารางฟุต            เท่ากับ     1 ตารางหลา
4,840 ตารางหลา   เท่ากับ     1 เอเคอร์
640 เอเคอร์            เท่ากับ     1 ตารางไมล์



หน่วยวัดพื้นที่ในมาตราไทย
144 ตารางนิ้ว     เท่ากับ     1 ตารางคืบ
4 ตารางคืบ         เท่ากับ     1 ตารางศอก
16 ตารางศอก     เท่ากับ     1 ตารางวา
100 ตารางวา       เท่ากับ     1 งาน
4 งาน                  เท่ากับ     1 ไร่
400 ตารางวา       เท่ากับ     1 ไร่




การเปรียบเทียบในแต่ละระบบ
4 ตารางเมตร         เท่ากับ     1 ตารางวา
1600 ตารางเมตร   เท่ากับ     1 ไร่
625 ไร่                    เท่ากับ     1 ตารางกิโลเมตร
2.53 ไร่                   เท่ากับ     1 เอเคอร์

หน่วยวัดปริมาตร
หน่วยวัดปริมาตรในระบบเมตริก
1,000 ลูกบาศก์มิลลิเมตร             เท่ากับ     1 ลูกบาศก์เซนติเมตร
1,000,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร    เท่ากับ     1 ลูกบาศก์เมตร
10 มิลลิลิตร                                 เท่ากับ     1 เซนติลิตร
10 เซนติลิตร                                เท่ากับ     1 เดซิลิตร
10 เดซิลิตร                                   เท่ากับ     1 ลิตร
1,000 มิลลิลิตร                             เท่ากับ     1 ลิตร
10 ลิตร                                         เท่ากับ     1 เดคาลิตร
10 เดคาลิตร                                 เท่ากับ     1 เฮกโตลิตร
10 เฮกโตลิตร                               เท่ากับ     1 กิโลลิตร
1 ลูกบาศก์เซนติเมตร เท่ากับ 1 มิลลิลิตร
1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร เท่ากับ 1 ลิตร
1,000 ลิตร เท่ากับ 1 ลูกบาศก์เมตร



หน่วยวัดปริมาตรในระบบอเมริกัน-อังกฤษ
3 ช้อนชา เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ
16 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 1 ถ้วย
8 ออนซ์ เท่ากับ 1 ถ้วย
2 ถ้วย เท่ากับ 1 ไพนต์
2 ไพนต์ เท่ากับ 1 ควอร์ต
4 ควอร์ต เท่ากับ 1 แกลลอน
1728 ลูกบาศก์นิ้ว เท่ากับ 1 ลูกบาศก์ฟุต
27 ลูกบาศก์ฟุต เท่ากับ 1 ลูกบาศก์หลา



หน่วยวัดปริมาตรในมาตราไทย
1 ลิตร เท่ากับ 1 ทะนาน
20 ทะนาน เท่ากับ 1 ถัง
50 ถัง เท่ากับ 1 บั้น
2 บั้น เท่ากับ 1 เกวียน




การเปรียบเทียบมาตราในแต่ละระบบ

1 ช้อนชา เท่ากับ 1 ซีซีหรือ 5 ลูกบาศก์เซนติเมตร
1 ถ้วย เท่ากับ 240 ลูกบาศก์เซนติเมตร
4.55 ลิตร (อังกฤษ) เท่ากับ 1 แกลลอน

หน่วยวัดน้ำหนัก
หน่วยวัดน้ำหนักในระบบเมตริก
10 มิลลิกรัม เท่ากับ 1 เซนติกรัม
10 เซนติกรัม เท่ากับ 1 เดซิกรัม
10 เดซิกรัม เท่ากับ 1 กรัม
10 กรัม เท่ากับ 1 เดคากรัม
10 เดคากรัม เท่ากับ 1 เฮกโตกรัม
10 เฮกโตกรัม เท่ากับ 1 กิโลกรัม



หน่วยวัดน้ำหนักในระบบอเมริกัน-อังกฤษ
437.5 เกรน เท่ากับ 1 ออนซ์
16 ออนซ์ เท่ากับ 1 ปอนด์ (lb.)
2,204.6 ปอนด์ (lb.) เท่ากับ 1 ตัน


หน่วยวัดน้ำหนักในมาตราไทย
4 สลึง เท่ากับ 1 บาท
4 บาท เท่ากับ 1 ตำลึง
20 ตำลึง เท่ากับ 1 ชั่ง
50 ชั่ง เท่ากับ 1 หาบ



การเปรียบเทียบมาตราในแต่ละระบบ

2.2046 ปอนด์ เท่ากับ 1 กิโลกรัม
28.34 กรัม เท่ากับ 1 ออนซ์

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2567

ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง








ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
จารึกหลักที่
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย พุทธศักราช 1835

มีจำนวน 4 ด้าน 
มี 124 บรรทัด 
ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด
ด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด
ด้านที่ 3 มี 27 บรรทัด 
ด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด

วัตถุจารึก เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด
ลักษณะวัตถุเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม
ขนาดวัตถุกว้างด้านละ 35 ซม. สูง 111 ซม.

ปีที่พบจารึก พุทธศักราช 2376
สถานที่พบ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
ผู้พบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 1”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835”

พิมพ์เผยแพร่
1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 15-32.
2) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 4-20.

ประวัติการค้นพบ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และได้ออกเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือในราวปี พ.ศ. 2376 เมื่อครั้งเสด็จถึงเมืองเก่าสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร (สท. 3) หลักที่ 4 และ พระแท่นมนังศิลาบาตร ที่เนินปราสาทเก่าสุโขทัย ทอดพระเนตรเห็นว่าโบราณวัตถุเหล่านี้เป็น “โบราณวัตถุที่สำคัญ” จึงโปรดฯ ให้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) หนังสือศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ฉบับหอสมุดแห่งชาติ จัดสัมมนา พ.ศ. 2520 ได้กล่าวถึงประวัติศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไว้ดังนี้ “ปรากฎในสมุดจดหมายเหตุ ซึ่งเดิมเก็บอยู่ ณ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ซึ่งได้มาจากราชเลขาธิการในพระบรมมหาราชวัง ก่อนเปลี่ยนการปกครอง) และในสมุดไทย ซึ่งเดิมเป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มีข้อความตรงกันว่า “เมื่อศักราช 1195 ปีมเสง เบญศก (ตรงกับ พ.ศ. 2376 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ณ วัดราชาธิวาส เดิมเรียกว่าวัดสมอราย) จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือมัศการเจตียสฐานต่างๆ ... ครั้น ณ วันขึ้นหกค่ำกลับมาลงเรือ เจ็ดค่ำเวลาเที่ยงถึงท่าธานี เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัยถึงเวลาเยน อยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่ง อยู่ริมเนินปราสาทก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเครพย์ (เคารพ) สำคัญเป็นสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี ... รับสั่งให้ฉลองลงมา ก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเปนหนังสือเขมรฯ ที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา” “ ในสมุดไทยฉบับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังได้กล่าวถึง “เสาสิลา” อีกเสาหนึ่ง ว่าเป็นเสาศิลาที่มาแต่เมืองสุโขทัย มีข้อความเกี่ยวกับหนังสือไทยแรกมีขึ้นในเมืองนั้น และพรรณนาข้อความที่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดให้ย้ายศิลาจารึกทั้งสองหลักไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร คงจะได้ทรงพากเพียรอ่านคำจารึกอักษรไทยในช่วงเวลานี้ ส่วนจารึกภาษาเขมรนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงอ่านและแปล ครั้นเสด็จเสวยราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นำศิลาจารึกไปตั้งไว้ที่ศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สองนับจากตะวันตก จนถึง พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารวมกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ได้พบภายหลังเก็บไว้ที่ตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นที่ทำการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหนังสือตัวเขียน และศิลาจารึกของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มาเก็บไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล ให้พระที่นั่งนั้น เป็นที่ทำการของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครต่อไป พระราชทานนามตึกถาวรวัตถุใหม่ว่า หอพระสมุดวชิราวุธ ผู้ซึ่งอ่านจารึกได้เป็นคนแรก คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2379 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นแม่กองควบคุมคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิต คัดอักษรจากศิลาจารึก ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2398 เซอร์ ยอห์น โบวริง ได้เข้ามาในเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสำเนาคัดอักษรพิมพ์หิน พร้อมด้วยแปลเป็นภาษาอังกฤษบางคำ เซอร์ ยอห์น โบวริง ได้นำตัวอย่างลงตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “เดอะ คิงส์ดัม แอนด พีพึล อ๊อบว ไซแอม” นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ยังได้พระราชทานสำเนาคำอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แก่ราชฑูตฝรั่งเศสอีกชุดหนึ่ง ครั้นต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้จ้างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งคือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ มารับราชการเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ มีหน้าที่เป็นผู้ตรวจค้นสอบสวนและอ่าน แปลศิลาจารึกต่างๆ ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้ให้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2467 เนื่องในงานทำบุญฉลองอายุครบ 4 ครบ ของพระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) ให้ชื่อหนังสือว่า “ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 จารึกกรุงสุโขทัย” พิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส การพิมพ์คำอ่าน-คำปัจจุบัน และอธิบายคำจารึกพ่อขุนรามคำแหงคราวนี้ ใช้ฉบับที่ได้จากการประชุมสัมมนา ซึ่งกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรจัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นต้นฉบับ


เนื้อหาโดยสังเขป
เรื่องที่มีในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ตอน

ตอนที่ 1 ตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ ตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติใช้คำว่า “กู” เป็นพื้น


ตอนที่ 2 ตั้งแต่บรรทัดที่ 19 ไม่ได้ใช้คำว่า “กู” เลย ใช้คำว่า “พ่อขุนรามคำแหง” เล่าเรื่องประพฤติเหตุต่างๆ และธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เรื่องสร้างพระแท่นมนังศิลาเมื่อ ม.ศ. 1214 เรื่องสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัย เมื่อ ม.ศ. 1207 และที่สุดเรื่องประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1205


ตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย เข้าใจว่าได้จารึกภายหลังหลายปี เพราะตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และที่ 2 คือตัวพยัญชนะลีบกว่าทั้งสระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง ตอนที่ 3 นี้ เป็นคำสรรเสริญ และยอพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไปครั้งกระโน้น

ผู้สร้าง พ่อขุนรามคำแหง
กำหนดอายุตามปีศักราชที่ระบุไว้ในศิลาจารึก พ.ศ. 1835




พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูมีพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมยังเล็ก

ถอดความ  พ่อขุนรามคำแหงได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่ามีพ่อชื่อศรีอินทราทิตย์ มีแม่ชื่อนางเสือง มีพี่ชื่อบานเมือง มีพี่น้องร่วมสายเลือดอยู่ 5 คน ผู้ชายสามคน และผู้หญิง 2 คน พี่คนโตเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก

เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพายจะแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน

ถอดความ เมื่ออายุได้ 19 ปี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไปรบด้านซ้าย แต่ขุนสามชนมาด้านขวา เมื่อเคลื่อนทัพเข้ามาก็ทำให้ไพร่พลที่หวาดกลัววิ่งหนีกันกระเจิง แต่พ่อขุนรามคำแหงไม่หนีอีกทั้งยังขี่ช้างเข้าไปสู้กับขุนสามชน

ตนกูพุ่งช้าง ขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน

ถอดความ พ่อขุนรามคำแหงทำการชนช้างสู้กับช้างของขุนสามชนที่ชื่อมาสเมืองแล้วชนะ ทำให้ขุนสามชนแพ้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงตั้งชื่อให้ว่าพระรามคำแหง เพราะรบชนะขุนสามชน

เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดอันกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู

ถอดความ ในตอนนี้จะพูดถึงความกตัญญูของพ่อขุนรามคำแหงที่มีต่อพ่อแม่ คอยดูแล ได้เนื้อ ผลไม้ดี ๆ ก็เอามาให้พ่อแม่ ไปคล้องช้างได้ช้างดี ๆ ก็เอามาให้พ่อ

กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นางได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม

ถอดความ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงไปตีกับเมืองอื่น ได้ช้าง งวง เชลย ผู้หญิง เงิน ทอง ก็เอามาให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้วพ่อขุนบานเมืองขึ้นครองราชย์ต่อ พ่อขุนรามคำแหงก็ยังคงความกตัญญูต่อพี่ชายเหมือนที่ทำให้พระราชบิดา จนเมื่อพ่อขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์ เมืองทั้งหมดจึงตกมาเป็นของพ่อขุนรามคำแหง



เนื้อเพลง