วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

นางสิบสอง พระรถเมรี



บทละครเรื่องพระรถเมรีเป็นวรรณคดีที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งในสมัยใด แต่มีผู้สันนิษฐานว่าเรื่องพระรถเมรีคงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมานานแล้วดังปรากฏเป็นคำประพันธ์รูปแบบต่างๆ เช่น กาพย์ขับไม้ กลอนอ่าน กลอนนิราศ คำฉันท์ ฯลฯ ในส่วนของบทละครสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าคงจะมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ไม่ทรงแน่พระทัยว่าจะเป็นละครในสมัยอยุธยา ธนบุรี หรือสมัยรัชกาลที่ 1

เรื่องย่อ นางสิบสอง

กล่าวถึงเมืองไพศาลี มีพระรถสิทธิ์เป็นผู้ปกครองนคร ครั้งนั้นมีเศรษฐีร่ำรวยมากคนหนึ่งชื่อ พรหมจันทร์มีภรรยาอยู่กินกันมานานแต่ไม่มีบุตรธิดา ทั้งสองจึงพากันไปหาพระฤๅษีเพื่อขอบุตรธิดา    พระฤๅษีจึงให้เก็บก้อนกรวดที่ปากบ่อน้ำ หน้าอาศรม  และให้นึกถึงพระฤๅษีทุกครั้งเมื่อภาวนา

เศรษฐีกับภรรยาก็เก็บก้อนกรวดไปสิบสองก้อน   หลังจากนั้นภรรยาได้ตั้งท้องมีธิดาติดต่อกันมาเรื่อยมาจนได้สิบสองคน   เศรษฐีก็เลี้ยงลูกสาวด้วยความเอ็นดู     อยู่ต่อมาเศรษฐีค้าขายขาดทุนจนไม่มีอาหารเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสิบสองคน ในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะนำลูกสาวทั้งหมดไปปล่อยป่า  ขณะที่ปรึกษากันระหว่างผัวเมียนางเภาลูกสาวคนสุดท้องแอบได้ยินจึงไปเก็บก้อนกรวดไว้เป็นจำนวนมาก     ครั้งเมื่อพอพาเข้าป่าไปตัดฟืนนางเภาจะเดินรั้งท้ายและเอาก้อนกรวดทิ้งตามรายทางเพื่อเป็นเครื่องหมาย    เมื่อไปถึงป่าพ่อใช้ให้ลูกๆแยกย้ายกันไปตัดฟืนหาผลไม้ในป่ากว้าง    ส่วนพ่อเห็นลูกจากไปในป่าหมดแล้วก็หลบหนีกลับบ้าน

ครั้นตกเย็น ลูกสาวทั้งสิบสองคน ได้กลับมายังที่นัดพบ  รออยู่นาน ไม่เห็นพ่อต่างร้องไห้คร่ำคราญ    นางเภาจึงบอกพี่ๆ ว่าตนจะพากลับบ้าน   นางเภาก็พาพี่ๆเดินตามก้อนกรวดที่นางได้โปรยเอาไว้ตอนเดินทางมา   ส่วนพ่อแม่ซึ่งอดอยากกันมานาน ตั้งใจจะกินข้าวกินปลาให้อิ่มหมีพลีมันเสียที   ขณะที่จะลงมือกินข้าวลูกๆ ก็กลับมาถึงบ้าน

เศรษฐีก็ได้หาวิธีที่จะไปปล่อยลูกสาวในป่ากันอีกครั้ง   ครั้งสุดท้ายนางเภาไม่มีโอกาส ที่จะเก็บก้อนกรวดเหมือนครั้งก่อน    เมื่อพ่อพาไปป่าหาฟืนหาผลไม้ก็จำยอมไปและได้เอาขนมที่พ่อแม่ให้กินระหว่างเดินทางโปรยตามทางเพื่อเป็นเครื่องหมายกลับบ้าน   แต่นกกาเห็นขนมก็ตามจิกกินขนมจนหมดสิ้น    ครั้นพ่อหนีกลับบ้าน นางทั้งสิบสองจึงไม่สามารถจะเดินทางกลับบ้านได้    ทั้งสิบสองคนพากันร่อนเร่ พเนจรไปเรื่อยๆหาทิศทางไม่ได้     ในที่สุดหลงเข้าไปในเมืองยักษ์ชื่อว่านางสันทมาร เมื่อนางยักษ์เห็นนางสิบสองก็เกิดเอ็นดูจึงรับเลี้ยงเป็นลูก โดยนางแปลงกายเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งให้ยักษ์ทุกตนแปลงกายเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน ยักษ์สันทมารเป็นแม่หม้ายมีลูกสาวบุญธรรม ชื่อนางเมรี     นางสิบสองไม่ทราบว่านางสันทมารเป็นยักษ์จึงอาศัยอยู่ด้วย    นางสันทมารต้องออกป่าไปจับสัตว์กินเป็นอาหารเสมอๆ โดยทุกครั้งที่จะออกไปนางจะสั่งนางทั้งสิบสองว่าห้ามไปเล่นท้ายวังเป็นอันขาด

วันหนึ่งนางสิบสองซุกซนไปตรวจดูสิ่งต่างๆได้พบกระดูกคนและสัตว์จำนวนมาก     พวกนางจึงรู้ว่านางสันทมารนั้นเป็นยักษ์ จึงพากันหนีด้วยความกลัว      นางสันทมารกลับมา ทราบจากเมรีว่านางสิบสองหนีไปก็โกรธจึงออกติดตามหวังจะจับกินเป็นอาหาร       แต่ด้วยบุญญาธิการของนางสิบสองยังมีอยู่บ้าง พวกสัตว์ ป่า เสือ ช้าง ช่วยกันกำบังนางสิบสองไว้ไม่ให้นางสันทมารเห็น

ในทีสุดนางสิบสองก็เดินกลับมายังเมืองไพศาลี      ขณะนั้นพระรถสิทธิ์เจ้าเมืองเสด็จมาพบเข้าทรงพอพระทัยมากจึงรับนางสิบสองคนมาเป็นพระมเหสี         ส่วนนางสันทมารได้ติดตามมาจนถึงเมืองไพศาลี เมื่อทราบว่านางสิบสองได้เป็นพระมเหสีของพระรถสิทธิก็ยิ่งเคียดแค้น     จึงแปลงกายเป็น หญิงงาม ทำอุบาย ร้องห่มร้องไห้ จนได้เฝ้าพระรถสิทธิ์     เล่าว่าตนชื่อ นางสมุดชาถูกบิดาบังคับให้แต่งงานกับเศรษฐี   นางจึงหนีมา     พระรถสิทธิ์รับนางสมุดชาไว้เป็นชายา        นางสมุดชามีความเคียดแค้นนางสิบสองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว      จึงทำเสน่ห์มารยาให้พระรถสิทธิ์หลงใหลจนลืมมเหสีเก่าทั้งสิบสอง

วันหนึ่ง นางสมุดชาทำอุบาย  โดยนางแกล้งป่วยแล้วหมอหลวงเยียวยารักษาไม่หายนอกจากจะต้องใช้ดวงตาของสาวที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน 12 นาง เป็นเครื่องยาเท่านั้น จึงจะรักษาหาย           ด้วยเวทมนต์ของนางยักษ์สันทมาร พระรถสิทธิ์จึงสั่งควักลูกตานางสิบสองมาเป็นเครื่องยา   แต่นางเภาถูกควักลูกตาเพียงข้างเดียวเพราะเมื่อครั้งหนีนางยักษ์สันทมารนั้นนางทั้งสิบสองคนจับปลากินประทังความหิว   พี่ๆ จับปลาได้ก็จะร้อยกับเชือกโดยแทงตาทะลุทั้งสองข้าง    ส่วนนางเภานั้นร้อยปลาจากปากปลาไปทะลุตาข้างเดียวฉะนั้นนางจึงถูกควักลูกตาข้างเดียว เพราะผลกรรมครั้งนั้น

ขณะนั้นมเหสีทั้งสิบสองได้ตั้งครรภ์กับพระรถสิทธิ์ทุกคน    นางสันทมารจึงให้ทหารจับไปขังไว้ในอุโมงค์มืดๆ  มีอาหารกินบ้างอดบ้าง     ส่วนพระรถสิทธิ์ไม่ทราบว่ามเหสีทั้งสิบสองคนตั้งครรภ์เพราะตกอยู่ในอำนาจเสน่ห์มารยาของนางยักษ์        นางทั้งสิบสองคนต่างหิวโซอยู่ในอุโมงค์มืดนั้นจนคลอดบุตร  เมื่อพี่สาวใหญ่คลอดบุตรออกมาต่างก็ช่วยกันฉีกเนื้อแบ่งกันกิน   เภาน้องคนสุดท้องไม่ยอมกินเนื้อ แต่รับส่วนแบ่งเก็บไว้ได้ 11 ชิ้น ครั้นตนคลอดบุตรออกมาบ้างก็นำเนื้อเด็กทั้ง 11 ชิ้น ส่งให้พี่ๆ  ฉะนั้นลูกของเภาจึงรอดชีวิต   เภาก็เลี้ยงลูกมาในอุโมงค์นั้นจนเจริญวัยได้ตั้งชื่อว่า “รถเสน”

พระอินทร์ทราบเรื่องนางสิบสองถูกทรมานจึงมาช่วยโดยแปลงกายเป็นไก่มาหากินอยู่หน้าอุโมงค์ พระรถเสนเลี้ยงไก่พระอินทร์และนำไก่มาท้าชนพนันกับชาวบ้านแล้วก็ได้ชัยชนะทุกครั้ง แลกเป็นข้าวอาหารมาเลี้ยงแม่และป้าๆ จนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว          ความทราบถึงพระกรรณพระรถสิทธิ์ พระองค์เรียกเข้าเฝ้าทรงไต่สวนหาที่มาที่ไปทำให้ทราบว่า พระรถเสนเป็นพระโอรส     เมื่อนางสมุดชาทราบเรื่องจึงจะคิดกำจัดพระรถเสนเสีย ด้วยการหาอุบายให้พระรถสิทธิ์สั่งพระรถเสนให้เดินทางไปยังเมืองยักษ์เพื่อนำ มะม่วงไม่รู้หาว   มะนาวไม่รู้โห่ มาเป็นเครื่องยารักษานางอีก      โดยนางสมุดชาเขียนสารให้พระรถเสนถือไปหานางเมรีโดยเขียนสั่งว่า “ถึงกลางวันให้ฆ่ากลางวัน  ถึงกลางคืนให้ฆ่ากลางคืน”

พระรถเสนก็ควบม้าไปยังเมืองยักษ์ตามคำสั่งพระบิดา  ม้าของพระรถเสนนี้เป็นม้ากายสิทธิ์ วิ่งราวกับลมพัดและพูดได้ด้วย        ครั้นมาถึงอาศรมพระฤๅษีก็ขอหยุดพักหลับนอน    พระฤๅษีผู้มีญาณพิเศษทราบเหตุการณ์จึงแอบแก้ข้อความในจดหมายที่เรียกว่า “ฤๅษีแปลงสาร” เสียใหม่ว่า “ถึงกลางวันให้แต่งกลางวัน   ถึงกลางคืนให้ แต่งกลางคืน”

เมื่อพระรถเสนไปถึงเมืองยักษ์พบนางเมรี ก็นำสารของนางสมุดชามอบให้เพื่อจะได้ขอมะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ นางเมรีทราบเรื่องราวตามสารก็ทำตามคำสั่งแม่ทุกประการ คือ อภิเษกสมรสและยกเมืองให้พระรถเสนครอง

พระรถเสนอยู่ในเมืองยักษ์ด้วยความสุข  แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังระลึกถึงมารดาและป้าของพระองค์    จึงคิดหาอุบายโดยการจัดเลี้ยงสุราอาหาร   นางเมรีเมามาย พระรถเสนจึงหลอกถามถึงห่อดวงตานางสิบสอง อีกทั้งกล่องบรรจุดวงใจของนางสันทมาร      นางเมรีก็พูดด้วยความมึนเมา บอกเรื่องราวและที่เก็บสิ่งของสำคัญตลอดจนยาวิเศษขนานต่างๆ แก่พระรถเสนจนหมดสิ้น       พระรถเสนจึงนำกล่องดวงใจ  ห่อดวงตาและยารักษารวมทั้งยาวิเศษที่โปรยเป็นภูเขา เป็นไฟ   เป็นมหาสมุทร ติดตัว หนีออกจากเมืองไป

ครั้นเมื่อนางเมรีหายจากความมึนเมาไม่เห็นพระรถเสน    นางจึงรู้ว่าพระรถเสนหนีไปแล้ว นางกับเสนายักษ์ได้ออกติดตามพระรถเสนด้วยความรัก       พระรถเสนควบม้าหนีมาแต่นางเมรีก็ตามทัน   พระรถเสนจึงโปรยยาให้เป็นมหาสมุทร    นางเมรีสิ้นแรงฤทธิ์ไม่สามารถจะข้ามมหาสมุทรได้    นางเฝ้ารำพันอ้อนวอนให้พระรถเสนกลับเมืองไปอยู่กับนาง   แต่ม้าได้ทัดทานไว้ นางเมรีเศร้าโศกคร่ำคราญจนดวงใจแตกสลายแล้วสิ้นใจตายอยู่ตรงนั้น     พระรถเสนกล่าวขอโทษต่อหน้าศพนางแล้วให้เสนายักษ์นำร่างนางกลับเมือง   แล้วพระรถเสนก็กลับเมืองไปช่วยมารดาและป้าๆ

เมื่อกลับมาถึงเมืองไพศาลี พระรถเสนนำดวงตามารดาและป้าๆ พร้อมกับยา รักษาจนสามารถมองเห็นได้ทั้งสิบสองนาง พระรถเสนเข้าเฝ้าพระราชบิดาพร้อมกับทูลว่านางสมุดชาเป็นยักษิณี นางสมุดชารู้เรื่องจึงแปลงกายเป็นยักษ์หวังจะฆ่าพระรถเสนเสีย    แต่พระรถเสนต่อสู้กับนางสมุดชาและสามารถทำลายกล่องดวงใจของนางสมุดชาได้ จนนางสิ้นใจตาย       พระรถสิทธิ์จึงง้องอนมเหสีทั้งสิบสองนาง พร้อมทั้งขอโทษที่พระองค์ลงทัณฑ์นางเพราะความมัวเมาในเสน่ห์มารยาของนางยักษิณี     ในที่สุดพระรถสิทธิ์ก็ครองเมืองกับมเหสีทั้งสิบสองคนอย่างสันติสุขเรื่อยมา

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา

 


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนปัจจุบัน เป็นผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึง 2557 และเคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 และเป็นคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถึง 2562

พลเอกประยุทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ณ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมดสี่คน  

เขาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่เขาเคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 ในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63

พลเอกประยุทธ์ รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ "ทหารเสือราชีนี" มาโดยตลอด โดยเริ่มมาจากตำแหน่งผู้บังคับกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 เขาเป็นสมาชิก "บูรพาพยัคฆ์" ในกองทัพ เช่นเดียวกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

28 เมษายน พ.ศ. 2530 - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เป็น ราชองครักษ์เวร
พ.ศ. 2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 2 รอ.)
พ.ศ. 2541 – ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)
พ.ศ. 2546 – ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.)
พ.ศ. 2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 )

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พลตรีประยุทธ์เป็นผู้รับคำสั่งตรงจากพลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีประยุทธ์ได้เลื่อนชั้นยศเป็น "พลโท" และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ระหว่างวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึง 14 กันยายน พ.ศ. 2551 เขาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบก และต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบกในขณะนั้นจนสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลงนามแต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ถึง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในนายทหารที่ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พลเอกประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 เรื่อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ออกคำสั่งยึด หรือ อายัด สินค้าหรือวัตถุอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คำสั่งดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจนต้องยกเลิกในที่สุด

เขายังเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2554 และในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เขาประกาศกฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร อีก 2 วันต่อมาเขาก่อรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 10/2557 ให้อำนาจเขาเสมือนนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหาร เขาแต่งตั้งตัวเองเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ และเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาจัดรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" รายสัปดาห์

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงมติดังกล่าว ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่ต้องอยู่ในห้องประชุมและไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ ต่อมามีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์เป็นนายทหารอาชีพคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีนับแต่พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 เขายังเป็นผู้นำรัฐประหารคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 เขายกเลิกกฎอัยการศึก จากนั้นเขาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ในการดูแลความสงบเรียบร้อยแทน

หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มีการตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน สมาชิกวุฒิสภาทุกคนเลือกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เช่นเดียวกับมีพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรค

พลเอกประยุทธ์ ได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ตามมติของศาลรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรักษาการแทน


พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา สมรสกับ อดีตรองศาสตราจารย์สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีลูกสาวฝาแฝด 2 คน

ปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารวมสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เขาประกาศรับเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เขาบอกว่าหน้าที่หลักก็คือ ดูแลชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตรย์กษัตริย์ และประชาชน เขาย้ำว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายหลังจากมีบางฝ่ายบิดเบือนทำให้แตกแยก

ปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อายุ 69 ปี 


เลือกตั้งคราวหน้า เรามาดูกันว่าพอเอกประยุทธ์ จันทรโอชาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ หรือใครจะมาแทนที่เขา


******************

 






วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

 


ก่อนครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามเดิมว่า ฉิม ทรงประสูติเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 7 คํ่า เดือน 3 ปีกุน

เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ขณะทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกรบัตรเมืองราชบุรี) ประสูติแต่ท่านผู้หญิงนาค (ภายหลังเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) เมื่อเจริญพระชนม์ได้ทรงศึกษาในสำนักพระพนรัตน์ (ทองอยู่) วัดบางว้าใหญ่ และได้ติดตามสมเด็จพระบรมชนกนาถไปในการสงครามทุกครั้ง

ในปี พ.ศ. 2349 เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถปราบดาภิเษกแล้ว จึงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ถึงวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล พ.ศ. 2449 (นับแบบปัจจุบันเป็นวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2350) จึงได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล


พระราชกรณียกิจที่สําคัญ

          พ.ศ. 2317 ขณะที่เพิ่งมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้ติดตามไปสงครามเชียงใหม่ อยู่ในเหตุการณ์ครั้งที่บิดามีราชการไปปราบปรามเมืองนางรอง นครจําปาศักดิ์ และบางแก้ว ราชบุรี จนถึงอายุ 11 พรรษา
          พ.ศ. 2322 พระราชบิดาไปราชการสงครามกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ติดตามไป
          พ.ศ. 2323 พระชนมายุ 13 พรรษา ได้เข้าเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่ )
          พ.ศ. 2324 พระราชบิดาได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ไปร่วมปราบปรามเขมรกับพระบิดา
          พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร"
          พ.ศ. 2329 พระชนมายุ 19 พรรษา ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามตําบลลาดหญ้า และทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ
          พ.ศ. 2330 ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามที่ตําบลท่าดินแดง และตีเมืองทวาย
          พ.ศ. 2331 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่อุปสมบทในวัดนี้ เสด็จไปจําพรรษา เมื่อครบสามเดือน ณ วัดสมอราย ปัจจุบันคือวัดราชาธิราช ครั้นทรงลาผนวชในปีนั้น ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในพระพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์
          พ.ศ. 2336 โดยเสด็จพระราชบิดาไปตีเมืองทวาย ครั้งที่ 2
          พ.ศ. 2349 ( วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 7 คํ่า ปีขาล ) ทรงพระชนมายุได้ 40 พรรษาได้รับสถาปนาเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ซึ่งดํารงตําแหน่งพระมหาอุปราชขึ้นแทน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ที่ได้สวรรคตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2346

ครองราชย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประชวรพระโสภะอยู่ 3 ปีก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ได้นานถึง 27 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้สำเร็จราชการแผ่นดินต่อมา เมื่อจัดการพระบรมศพเสร็จแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ขุนนางและพระราชาคณะจึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นผ่านพิภพ

ต่อมาวันที่ 10 กันยายน พบหนังสือฟ้องว่าเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตกับพวกร่วมกันคิดการขบถ ไต่สวนแล้วโปรดให้ประหารชีวิตทั้งหมดในวันที่ 13 กันยายน

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2352 โดยย้ายมาทำพิธีที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เนื่องจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งสร้างขึ้นแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทอันเป็นสถานที่ทำพิธีปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอยู่ ในรัชกาลต่อ ๆ มาจึงใช้หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นสถานที่จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ตั้งพระบรมศพ หลังจากเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์จึงเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี


ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด" กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น

 พระองค์มีพระราชนิพนธ์ที่เป็นบทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา โดยเรื่องอิเหนานี้ เรื่องเดิมมีความยาวมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องยาวที่สุดของพระองค์ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องให้เป็นยอดบทละครรำที่แต่งดี ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอนและกระบวนการเล่นทั้งร้องและรำ นอกจากนี้ยังมีละครนอกอื่น ๆ เช่น ไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย ได้ทรงเลือกเอาของเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บางตอน และยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนอีกหลายชุด เช่น ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ และชุดพรหมาสตร์ ซึ่งล้วนมีความไพเราะซาบซึ้งเป็นอมตะใช้แสดงมาจนทุกวันนี้


นอกจากจะทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังได้ทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของไทยด้วยพระองค์เอง ซึ่งลักษณะและทรวดทรงของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบอย่างที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 2 นี้เอง ส่วนด้านการช่างฝีมือและการแกะสลักลวดลายในรัชกาลของพระองค์ได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก และพระองค์เองก็ทรงเป็นช่างทั้งการปั้นและการแกะสลักที่เชี่ยวชาญยิ่งพระองค์หนึ่งอย่างยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ นอกจากฝีพระหัตถ์ในการปั้นพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลกแล้ว ยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย

ด้านดนตรี

กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่าด้านละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด" และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า" แต่ต่อมามักจะเรียกว่า "เพลงทรงพระสุบิน" เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน) ของพระองค์เอง โดยเล่ากันว่าคืนหนึ่งหลังจากได้ทรงซอสามสายจนดึก ก็เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จไปยังดินแดนที่สวยงามดุจสวรรค์ ณ ที่นั่น มีพระจันทร์อันกระจ่างได้ลอยมาใกล้พระองค์ พร้อมกับมีเสียงทิพยดนตรีอันไพเราะยิ่ง ประทับแน่นในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นบรรทมก็ยังทรงจดจำเพลงนั้นได้ จึงได้เรียกพนักงานดนตรีมาต่อเพลงนั้นไว้ และทรงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ได้ เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้


    พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา


    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโอรสพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 73 พระองค์ โดยประสูติเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร 47 พระองค์ ประสูติเมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 4 พระองค์ และประสูติภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว 22 พระองค์

    สวรรคต

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมพรรษาได้ 56 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี



    วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566

    สิงโตฮกเกี้ยน

     


    福建 = ชาวฮกเกี้ยน / สิงโตฮกเกี้ยน
    (คณะสิงโตฮกเกี้ยน เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพเต้ออี้ถาง)

    สิงโตฮากกา

     


    客家 = ชาวฮากกา / สิงโตทองฮากกา
    (คณะสิงโตทองฮากกา นครสวรรค์)

    สิงโตปักกิ่ง

     


    潮州 = ชาวแต้จิ๋ว / สิงโตแต้จิ๋ว (ปักกิ่ง)
    (คณะสิงโต ปักกิ่ง กวางเจา เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ)

    สิงโตกวางตุ้ง

     






    廣東 = ชาวกวางตุ้ง / สิงโตกวางตุ้ง
    (สมาคมกว๋องสิว นครสวรรค์)

    เสือไหหลำ

     


    海南 = ชาวไหหนำ / เสือไหหลำ
    (คณะเสือไหหลํา ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม แควใหญ่ นครสวรรค์)

    ตำนานการเเสดง เสือเพียง 1 เดียว ที่อยู่รวมกับ 4สิงโต ก็คือ “เสือไหหลำ” นั่นเอง  การละเล่นที่ดุดัน เสียงเครื่องดนตรีเร้าใจ   บอกกล่าวเล่าขานถึงเนื้อเรื่องของการเเสดงว่า “เสือกินเด็ก”

    “เสือ” ตามความเชื่อของชาวจีนไหหนำ เป็นสัญลักษณ์ของ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดีคือ “เจ้าพ่อเทพารักษ์” 

    เสือเป็นเสมือนสัตว์ที่คอยเบิกทางก่อนที่เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากงจะเสด็จ คอยปกป้องภยันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามมาย่างกราย ดังนั้นชาวไหหลำซึ่งนับถือเทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง จึงนำเสือมาเป็นสัญลักษณ์ใช้เชิดในเทศกาลและงานพิธีมงคลต่างๆเพื่อให้ตนเองและครอบครัวประสพแต่โชคดี และนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล 

    สำหรับประวัติความเป็นมาของการเชิดเสือ มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ..

    ณ หมู่บ้านหนึ่งของอำเภอบุ้นเชียง ในหมู่เกาะไหหลำมีศาลเจ้าซึ่งเป็นที่ประดิษฐ์รูปจำลองของ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น และที่บริเวณใกล้กับศาลเจ้าฯ เป็นที่อยู่ของเสือตัวหนึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง”เลี้ยงไว้ ซึ่งโดยปรกติเสือตัวนี้จะเป็นสัตว์ที่ไม่เคยทำอันตรายแก่ผู้ใด จวบจนวันหนึ่งมีเด็กชายซึ่งเป็นบุตรของหญิงในหมู่บ้านนั้น ด้วยความซุกซนจึงได้แหย่เสือตัวนี้ซึ่งกำลังหลับอยู่ เสือตัวนี้จึงตื่นขึ้นมาด้วยความโกรธ จึงคำรามลั่นและมุ่งตรงเข้ามาทำร้ายเด็กและได้กลืนเด็กลงท้องไปเรื่องรู้ถึงแม่ของเด็กก็ตกใจจึงได้ออกตามผู้กล้าทั้งหลายในหมู่บ้านให้มาช่วยเหลือลูกของตนแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แม่ของเด็กก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ความล่วงรู้ถึง “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” ด้วยทิพย์ญาณที่เสือได้กลืนเอาเด็กลงท้อง จึงบัญชาให้องครักษ์ 2 องศ์มาช่วยชีวิตเด็ก ดังนั้นองครักษ์ทั้ง 2 องค์จึงได้ปรากฏกายมาสยบเสือและได้ช่วยให้เสือยอมคายเด็กออกมาโดยปลอดภัย 

    ดังนั้นชาวจีนไหหลำได้นำตำนานเรื่องนี้ มาเป็นการแสดงในตอนหนึ่งของการเชิดเสือ และเมื่อชาวจีนไหหลำได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ชุมชนปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้น้ำเอาวัฒนธรรมประเพณีของการเชิดเสือเข้ามาเผยแพร่ให้ลูกหลานของชนรุ่นหลังได้สืบทอดวัฒนธรรมการเชิดเสือจนแพร่หลาย และยังได้อัญเชิญ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” มาประดิษฐ์สถานเพื่อสักการบูชา ซึ่งปัจจุบันองค์จำลองของ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” หรือ “เจ้าพ่อเทพารักษ์” ได้ประดิษฐานรวมกับ “เจ้าพ่อกวนอู” “เจ้าแม่ทับทิม” “เจ้าแม่สวรรค์” ณ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิมแควใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดปากน้ำโพซึ่งเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ..


    วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566

    ตุ๊กตาล้มลุก



    จงทำตัวแบบตุ๊กตาล้มลุก
    เพราะ "ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้ง"
    ก็จะลุกขึ้นมาใหม่อย่าง "เข้มแข็งเสมอ"

    คุณย่าของโนบิตะได้กล่าวไว้



    6

    วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566

    สาวนครสวรรค์ - สายใย & ไหมพรม อุดมพร



    คิดถึงที่รักฟากฟ้าไกล
    เจอครั้งสุดท้าย

    ที่ท่าตะโกเมื่อตอนสงกรานต์

    นานนานเจอหน

    ยิ่งซึ้งใจคนนครสวรรค์

    ชุมสายปิงวังยมน่าน

    สักขีพยานแห่งสองใจเรา


    คนแดนอีสานอย่าผันแปร

    ให้สาวสี่แควขื่นขมดวงแด

    เพราะรอแล้วฟาวล์

    บึงบอระเพ็ดขื่นขมนักเอย

    น้องเลยหนาวหนาว

    พี่จ๋าอย่าลืมความเก่า

    คราวเที่ยวสงกรานต์เขาน้อยปีผ่านมา


    งานเชิดสิงโตที่ปากน้ำโพ

    เราเที่ยวด้วยกันสำราญเริงร่า

    ชุมแสงทับกฤช

    นั่งรถไฟเที่ยวชี้ชมนกปลา

    เขตบึงกว้างไกลปลายฟ้า

    ข้างทางลานตาบัวตูมบัวบาน

    รักพ่อจอมขวัญหนุ่มบ้านไกล

    อยากให้พี่ชายได้ย้อนมาเยือน

    เหมือนตอนสงกรานต์

    สะออนเหลือแสน

    น้องคิดถึงแฟนบ่าวแดนอีสาน

    สี่แควปิงวังยมน่าน

    นครสวรรค์แหงนคอรอคอย

     

    งานเชิดสิงโตที่ปากน้ำโพ

    เราเที่ยวด้วยกันสำราญเริงร่า

    ชุมแสงทับกฤช

    นั่งรถไฟเที่ยวชี้ชมนกปลา

    เขตบึงกว้างไกลปลายฟ้า

    ข้างทางลานตาบัวตูมบัวบาน

    รักพ่อจอมขวัญหนุ่มบ้านไกล

    อยากให้พี่ชายได้ย้อนมาเยือน

    เหมือนตอนสงกรานต์

    สะออนเหลือแสน

    น้องคิดถึงแฟนบ่าวแดนอีสาน

    สี่แควปิงวังยมน่าน

    นครสวรรค์แหงนคอรอคอย

    เนื้อเพลง